อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปัณฑิตวรรค)
ฐิตา:
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เสโล ยถา เป็นต้น
พระลกุณฏกภัททิยเถระ อยู่ในวัดพระเชตวันร่วมกับภิกษุและสามเณรทั้งหลาย ด้วยเหตุที่พระเถระร่างเตี้ยท่านจึงมีสร้อยชื่อว่า ลกุณฏกะ พระลกุณฏกภัททิยะแม้จะถูกพระภิกษุหรือสามเณรที่เป็นปุถุชนกลั่นแกล้งต่างๆ เช่นมาจับที่ศีรษะบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง พลางกล่าวว่า “น้าจ้ะ น้าจ๋า น้าไม่อยากสึก ยังยินดีแน่วแน่ในพระศาสดาดีอยู่หรือ” ท่านก็ไม่โกรธ ไม่ทำการโต้ตอบพระภิกษุและสามเณรที่มากลั่นแกล้งกระเซ้าเย้าแหย่ท่าน
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงดูเถิด สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น เห็นพระลกุณฏกภัททิยเถระแล้ว ย่อมรังแกอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย”
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว เมื่อทรงทราบคำสนทนานั้นแล้ว ตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพ ย่อมไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายเลย เพราะท่านเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ”
จากนั้น พระศาสดาตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 81 ว่า
เสโล ยถา เอกฆโน
วาเตน น สมีรติ
เอวํ นินฺทาปสํสาสุ
น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตาฯ
(อ่านว่า)
เสโล ยะถา เอกะคะโน
วาเตนะ นะ สะมีระติ
เอวัง นินทาปะสังสาสุ
นะ สะมินชันติ ปันดิดา.
(แปลว่า)
ภูเขาศิลาเป็นแท่งเดียว
ไม่สั่นไหวเพราะแรงลมฉันใด
บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหว
เพราะการนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องมารดาของนางกาณา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมารดาของนางกาณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ รหโท คมฺภีโร เป็นต้น
นางกาณามาตา เป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา นางมีบุตรสาวชื่อนางกาณา ได้แต่งงานกับชายต่างตำบลผู้หนึ่ง ขณะที่นางกาณากลับมาเยี่ยมมารดาเป็นระยะเวลาสั้นๆนั้น สามีของนางก็ได้ส่งข่าวมาให้นางรีบกลับบ้าน มารดาได้บอกให้นางกาณาคอยอยู่ก่อน เพราะนางต้องการจะทำขนมฝากไปให้บุตรเขยได้รับประทาน พอวันรุ่งขึ้นเมื่อนางกาณามาตาทำขนมไว้ ก็ได้มีภิกษุ 4 รูปมาบิณฑบาต นางจึงได้นำขนมนั้นใส่บาตร และก็เป็นอย่างนี้ติดต่อกันถึง 4 วัน ทำให้ไม่มีขนมและนางกาณาก็เดินทางกลับบ้านสามีไม่ได้
ข้างสามีของนางกาณา เมื่อภรรยาไม่กลับมาตามกำหนด ก็ได้ยื่นคำขาดว่า หากนางกาณาไม่กลับในวันรุ่งขึ้นเขาก็จะนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา และพอถึงกำหนดคำขาดเมื่อนางกาณาไม่กลับเขาก็ไปนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยาจริงๆ นางกาณามีความแค้นเคืองและด่าว่าพวกภิกษุในที่ทุกแห่งที่ตนพบเห็นว่า “ชีวิตการครองเรือนของเราแตกสลายก็เพราะภิกษุเหล่านี้” เป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายไม่ต้องการเดินผ่านบ้านของนางกาณามาตา
พระศาสดาเมื่อสดับเรื่องที่นางกาณาด่าว่าพระภิกษุทั้งหลาย ก็ได้เสด็จไปยังบ้านของนางกาณามาตา และนางกาณามาตาได้ถวายข้าวยาคูและของขบเคี้ยวแด่พระศาสดา หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาได้รับสั่งให้เรียกนางกาณามาเฝ้า และได้ตรัสถามนางว่า “ภิกษุทั้งหลายของเรา ถือเอาสิ่งของที่ให้แล้วหรือว่าที่ยังมิได้ให้เล่า” นางกาณาตอบว่า “ภิกษุทั้งหลายถือเอาสิ่งของที่ถวายให้แล้วเท่านั้น” และได้กล่าวด้วยว่า “โทษของพระผู้เป็นเจ้าไม่มี พระเจ้าข้า หม่อมฉันเท่านั้นมีโทษ” นางถวายบังคมพระศาสดา ขอประทานอภัยโทษ พระศาสดาได้แสดงอนุปุพพีกถา(ทานกถา, ศีลกถา, สัคคกถา, กามาทีนวกถา, เนกขัมมานิสังสกถา) แก่นาง ทำให้นางได้บรรลุพระโสดาปัตติผล
ในระหว่างทางเสด็จกลับพระเชตวัน พระศาสดาได้ทรงพบกับพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับเรื่องราวของนางกาณาที่ด่าว่าพระภิกษุสงฆ์นั้นแล้ว ได้ทูลถามพระศาสดาว่า สามารถทำนางให้เลิกด่าว่าภิกษุสงฆ์แล้วหรือยัง พระศาสดาตรัสว่า “ถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพทำนางมิให้ด่าภิกษุแล้ว และให้เป็นเจ้าของทรัพย์อันเป็นโลกุตตระแล้ว”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า “เมื่อพระองค์ทรงทำนางให้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกกุตตระแล้วเช่นนี้ หม่อมฉันจักทำนางให้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกีย์” จากนั้นได้รับสั่งให้ส่งคนไปรับนางกาณามาที่พระราชวัง เมื่อนางกาณามาถึงแล้ว พระราชาก็ได้ทรงแต่งตั้งเป็นพระธิดาแล้วตรัสว่า “ผู้ใดสามารถเลี้ยงดูธิดาของเราได้ ผู้นั้นจงรับเอานางไป” มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนางกาณาไปเป็นธิดา แล้วมอบทรัพย์สมบัติทุกอย่างให้แก่นาง กล่าวว่า “เจ้าจงทำบุญตามใจชอบเถิด” จำเดิมแต่วันนั้นมา นางกาณาก็ได้จัดตั้งโรงทาน ถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประตูทั้ง 4 ทิศ
เมื่อภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมถึงเรื่องนี้ พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตของนางกาณาที่ขุ่นมัวและเศร้าหมอง เราได้ทำให้ใสกระจ่าง เหมือนห้วงน้ำมีน้ำใสแล้ว เพราะถ้อยคำของเรา”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 82 ว่า
ยถาปิ รหโท คมฺภีโร
วิปฺปสนฺโน อนาวิโล
เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน
วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตาฯ
(อ่านว่า)
ยะถาปิ ระหะโท คำพีโร
วิบปะสันโน อะนาวิโล
เอวัง ทำมานิ สุดตะวานะ
วิบปะสีทันติ ปันดิตา.
(แปลว่า)
ห้วงน้ำลึก มีน้ำใส
ไม่ขุ่นมัว ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อฟังธรรมแล้ว
ก็ย่อมผ่องใส ฉันนั้น.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องภิกษุ 500 รูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ 500 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สพฺพตฺถ เว สปฺปุริสา วชนฺติ เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จไปประทับอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 500 รูป ตามคำทูลนิมนต์ของพราหมณ์ชื่อเวรัญชะ แต่เวรัญชพราหมณ์ถูกมารดลใจจนลืมนึกถึงพระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย ประจวบกับเวลานั้นเมืองเวรัญชาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอดอยากอาหาร พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไปตามเมืองเวรัญชาทั้งในเมืองและนอกเมืองไม่ค่อยได้อาหารบิณฑบาต จึงลำบากในการดำรงชีพมาก แต่แม้ว่าจะเผชิญกับความลำบากเช่นนี้ พระภิกษุทั้งหลายก็ไม่ท้อแท้ใจ มีความสันโดษกับข้าวแดงสำหรับเลี้ยงม้าที่พวกพ่อค้าม้าจัดแจงนำมาถวายทุกวัน
พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชานั้นสิ้นไตรมาสแล้ว ทรงอำลาเวรัญชพราหมณ์ เสด็จกลับวัดพระเชตวัน พร้อมกับภิกษุ 500 รูปนั้น ชาวเมืองสาวัตถีได้ถวายอาคันตุกภัตแด่พระศาสดาด้วยการจัดอาหารดีๆทุกชนิดมาถวาย
พวกคนที่เลี้ยงชีวิตด้วยการรับประทานเศษอาหารที่เหลือจากพระสงฆ์(พวกกินเดน) 500 คน เมื่อได้รับประทานอาหารดีๆ ที่เหลือจากที่พระภิกษุฉันแล้ว ก็นอนหลับ เมื่อลุกขึ้นมา ก็ไปที่ฝั่งแม่น้ำ แผดเสียงโห่ร้อง กระโดดโลดเต้น ซ้อมมวยปล้ำ เล่นกัน ส่งเสียงอึกทึก
พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกคนกินเดนเหล่านี้ “ดูเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ในเวลาเกิดทุพภิกขภัย พวกกินแดนเหล่านี้ มิได้แสดงอาการผิดปกติอะไรๆ ในเมืองเวรัญชา แต่พอมาได้รับประทานอาหารที่ดีๆเข้า เที่ยวแสดงอาการผิดปกติหลายๆอย่าง ส่วนพวกภิกษุกลับมีพฤติกรรมที่สงบทั้งในตอนที่อยู่ในเมืองเวรัญชาและเมื่อตอนที่มาอยู่ที่นี่”
พระศาสดาได้ตรัสกับพวกภิกษุที่สนทนากันเหล่านี้ว่า “เป็นธรรมชาติของอสัตบุรุษที่จะแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจเมื่อประสบทุกข์ และแสดงความดีใจเมื่อประสบสุข ส่วนสัตบุรุษนั้นย่อมไม่แสดงอาการฟูขึ้นและอาการฟุบลงเมื่อเผชิญกับความสุขและความทุกข์”
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 83 ว่า
สพฺพตฺถ เว สปฺปุริสา วชนฺติ
น กามกามา ลปยนฺติ สนฺโต
สุเขน ผุฏฺฐา อถวา ทุกฺเขน
น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติฯ
(อ่านว่า)
สับพัดถะ เว สับปุริสา
นะ กามะกามา ละปะยันติ สันโต
สุเขนะ ผุดถา อะถะวา ทุกเขนะ
นะ อุดจาวะจัง ปันดิตา ทัดสะยันติ.
(แปลว่า)
สัตบุรุษทั้งหลายสละความยึดมั่นในทุกสิ่ง
ไม่พูดพล่ามเพราะความอยากได้
เมื่อมีสุขหรือทุกข์มากระทบ
บัณฑิตทั้งหลายจะไม่แสดงอาการฟูใจ หรือฟุบใจ.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระธรรมิกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น อตฺตเหตุ เป็นต้น
อุบาสกคนหนึ่ง ครองเรือนกับภรรยาอยู่ในกรุงสาวัตถี อยู่วันหนึ่งอุบาสกผู้นี้ได้กล่าวกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ว่า ตนต้องการจะบวชเป็นภิกษุ ภรรยาได้ขอร้องว่า ให้รอจนกว่านางจะคลอดบุตรซึ่งอยู่ในท้องก่อน เมื่อทารกนั้นเติบโตพอเดินได้แล้ว เขาก็ได้ไปบอกกับภรรยาอีกครั้งหนึ่งว่าจะขอออกบวช แต่นางได้ขอร้องเหมือนคราวก่อนว่า ให้รอจนกว่าบุตรเจริญวัยพอสมควรแล้วจึงค่อยบวช พอถึงตอนนี้ธรรมิกอุบาสกมาคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราจะต้องขออนุญาตนางก่อนออกบวช เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตนเอง” เมื่อตัดสินใจแน่วแน่เช่นนี้แล้ว เขาก็หนีออกจากบ้าน ไปบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วก็ไปปฏิบัติสมณธรรมอย่างมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ต่อมาพระธรรมิกนี้ก็ได้ไปที่บ้านของท่าน เพื่อแสดงธรรมแก่บุตรชายและภรรยาเก่าของท่าน บุตรชายของท่านได้เข้ามาบวชเป็นสามเณรและได้บรรลุพระอรหัตตผล ภรรยาเก่าของท่านมีความคิดว่า “ทั้งสามีและบุตรของเราต่างก็ออกบวชกันหมดแล้ว เราก็ควรจะบวชบ้าง” จึงออกไปบวชเป็นภิกษุณี ต่อมาไม่นานนางก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมิกอุบาสก ออกบวช บรรลุพระอรหัตแล้ว ทั้งได้เป็นที่พึ่งแก่บุตรและภรรยา ก็เพราะความที่ตนตั้งอยู่ในธรรม” พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาว่าบัณฑิต ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จทางด้านความมั่งคั่งและความไพบูลย์ เป็นต้น ไม่ว่าจะเพื่อตนหรือเพื่อคนอื่น แต่พึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีธรรมเป็นที่พึ่งโดยแท้”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 84 ว่า
น อตฺตเหตุ น ปรสฺส เหตุ
น ปุตฺตมิจฺเฉ น ธนํ น รฏฺฐํ
น อิจเฉยฺย อธมฺเมน สมิทฺธิมตฺตโน
น สีลวา ปญฺญวา ธมฺมิโก สิยาฯ
(อ่านว่า)
นะ อัดตะเหตุ นะ ปะรัดสะ เหตุ
นะ ปุดตะมิดเฉ นะ ทะนัง นะ รัดถัง
นะ อิดเฉยยะ อะทำเมนะ สมิดทิมัดตะโน
นะ สีละวา ปันยะวา ทำมิโก สิยา.
(แปลว่า)
บัณฑิตไม่ทำบาป เพราะเหตุแห่งตน
หรือเพราะเหตุแห่งคนอื่น
ไม่ปรารถนาบุตร ทรัพย์ และแว่นแคว้น โดยทางผิด
ไม่ปรารถนาความสำเร็จแห่งตนโดยไม่เป็นธรรม
ผู้เช่นนี้เป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องการฟังธรรม
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการฟังธรรม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ประชาชนชาวเมืองสาวัตถี ได้พร้อมเพรียงกันถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลาย และได้จัดแจงให้ภิกษุแสดงธรรมตลอดคืนยังรุ่ง แต่มีหลายคนไม่สามารถนั่งฟังธรรมตลอดคืนได้ และได้เดินทางกลับบ้านเสียก่อน มีบางคนเท่านั้นที่ฟังธรรมได้ตลอดคืน แต่ส่วนใหญ่ก็ได้นั่งสับประหงก ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง มีแค่ไม่กี่คนที่ตั้งใจฟังธรรม
ในวันรุ่งขึ้น พวกพระภิกษุนั่งสนทนากันในโรงธรรมถึงเรื่องนี้ พระศาสดาเมื่อทราบเรื่องที่พระภิกษุสนทนากันนั้นแล้ง จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับโลกนี้ จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะข้ามไปยังฝั่งโน้นคือพระนิพพานได้”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 85 และพระคาถาที่ 86 ว่า
อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ
เย ชนา ปารคามิโน
อถายํ อิตรา ปชา
ตีรเมวานุธาวติฯ
(อ่านว่า)
อับปะกา เต มะนุดเสสุ
เย ชะนา ปาระคามิโน
อะถายัง อิดตะรา ปะชา
ตีระเมวานุทาวะติ.
(แปลว่า)
ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
ผู้ถึงฝั่ง(นิพพาน)ได้ มีน้อย
ส่วนคนนอกนี้
ได้แต่วิ่งเลาะฝั่งเท่านั้น.
เย จ โข สมฺมทกฺขาเต
ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ
มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํฯ
(อ่านว่า)
เย จะ โข สำมะทักขาเต
ทำเม ทำมานุวัดติโน
เต ชะนา ปาระเมดสันติ
มัดจุเทยยัง สุทุดตะรัง.
(แปลว่า)
คนที่ประพฤติสมควรแก่ธรรม
ในธรรมที่เรากล่าวแล้วโดยชอบ
ก็จักข้ามบ่วงมฤตยูอันข้ามได้ยาก
จนถึงฟากฝั่งได้.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version