ชมรมที่เปิดหัวใจคุณด้วยใบหู
Main course 130
เรื่องและภาพ> a team junior 8
ชมรมของนักพูดที่สอนให้ฟังคนอื่นเพื่อได้ยินเสียงตนเอง ชมรมสอนการฟังที่เกิดจากนักพูด
ฟังดูไม่เข้ากันเท่าไหร่ แต่มีตัวมีตนอยู่จริง เรื่องมีอยู่ว่า ปีที่แล้วในช่วงเคอร์ฟิวที่มีกฏห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมกันเกิน 5 คน กลุ่มเพื่อนนักพูดจากสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทยกลุ่มหนึ่งที่ต้องงดพูดชั่วคราวได้นัดมาคุยกันที่ร้านอาหาร ก่อนพูดกันเล่นๆ ว่า ทุกคนในกลุ่มล้วนพูดเก่ง น่าจะมีหลักสูตรสอนให้หยุดพูดบ้าง ซึ่งทำไปทำมา จากการพูดเล่นๆ ก็กลายเป็นการก่อตั้งชมรมสอนการฟังขึ้นอย่างจริงจัง โดยสมาชิกมีทั้งคนรู้จักของเหล่านักพูด และคนที่มาร่วมเพราะได้ข่าวจากโลกออนไลน์
ว่าแต่ ทำไม ‘การฟัง’ ถึงเป็นเรื่องต้องสอน
ชมรมสุนทรียแห่งการฟังอธิบายกับเราว่า เพราะที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคย ‘ฟัง’ กันจริงๆ เลยสักนิด เวลาที่คนอื่นพูด ในใจเราก็จะคิดแต่ว่า เดี๋ยวจะพูดอะไร หรือไม่ก็คิดตัดสินคำพูดที่เราได้ยิน เขาพูดถูก เขาพูดผิด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ สมาชิกทุกคนในชมรมจึงพร้อมใจมาฝึกฟังให้เป็นกันเดือนละ 1 ครั้ง โดยกิจกรรมจะเริ่มจาก ‘การเล่น’ คือทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อให้ทุกคนเหมือนย้อนกลับไปเป็นเด็กที่พร้อมเรียนรู้ จากนั้นถึงเข้าสู่การพูดคุยที่เรียกว่า ‘สุนทรียสนทนา’ หรือ ‘ไดอะล็อค’ ซึ่งจากการไปแอบดู เราพบว่าสิ่งนี้คือการที่ทุกคนในชมรมนั่งล้อมเป็นวงกลม ก่อนผู้นำกิจกรรม(ทางชมรมเรียกว่า ‘กระบวนกร’) จะเปิดประเด็นชักชวนให้พูดคุย โดยเมื่อคนหนึ่งพูด คนที่เหลือก็จะนิ่งฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดขัดพูดแทรก บรรยากาศผ่อนคลายและเงียบสงบจนคนพูดสามารถได้ยินเสียงตัวเองชัดแจ๋ว
แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ความเจ๋งของสุนทรียสนทนาจริงๆเกิดขึ้นจาก’ภายใน’ ของสมาชิกแต่ละคน เพราะคนที่นั่งฟังเพื่อนพูด จะต้องสังเกตว่าตัวเองกำลังฟังเฉยๆ หรือกำลังคิดตัดสินคนอื่น ซึ่งนี่เองคือ ‘การฟัง’ ที่ชมรมสุนทรียแห่งการฟังต้องการสอนเรา “การฟังในที่นี้หมายถึงการฟังเสียงภายในของตัวเอง เวลาฟังคนอื่นพูด เราจะรู้สึกต่อต้านถ้าเรื่องที่เขาพูดไม่ตรงกับความรู้สึกของเรา นั่นคือเสียงภายในที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน” พี่จุ้ย--เนตรติกาลณ์ ป้อมปราการ หนึ่งในกระบวนกรอธิบาย ก่อนเอ่ยต่อว่า เมื่อเราฟังเสียงตัวเองก็จะรู้จักและเข้าใจตัวเอง แล้วจากนั้น เราก็จะฟังเสียงคนอื่นโดยตัดสินน้อยลงและมีความสุขมากขึ้น
ทางชมรมมีเป้าหมายว่า อยากให้ให้สมาชิกนำสุนทรียสนทนานี้ไปใช้ในครอบครัว เพราะถ้าครอบครัวหลายๆ ครอบครัวสงบสุข ผลที่ได้ก็จะขยายกว้างเป็นสังคมที่ร่มเย็น ซึ่งแม้เป้าหมายนี้อาจฟังดูเป็นอุดมคติเหลือเกิน แต่สมาชิกหลายคนก็ยืนยันกับเราฟังว่า สุนทรียสนทนาที่เรียนรู้จากชมรม มีสรรพคุณใช้แก้ปัญหาพ่อแม่ลูกไม่ฟัง ไม่เข้าใจกันได้จริงๆ
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมสุนทรียแห่งการฟังมีความหลายหลายมากขึ้น (มีตั้งแต่ทนาย ดีเจ ยันว่าที่นักเรียนหมอ) รวมถึงมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกว่าเดิม ทุกคนเริ่มอยากมาพบกันจนคอยถามว่าเดือนนี้จะเจอกันที่ไหนเมื่อไหร่ ทั้งหมดคือบทพิสูจน์ว่า ชมรมอายุ 1 ขวบกว่านี้กำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยดีจากความร่วมมือของหูหลายคู่ “เราไม่สามารถเรียนรู้โลกทั้งหมด หรือเจอปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน แต่การมาเจอแล้วได้ฟังกัน เราก็สามารถเรียนรู้ทุกอย่างแล้วเติบโตไปพร้อมกันได้” พี่จุ้ยเอ่ยทิ้งท้ายกับเรา
อยากมาลองฟังด้วยกันไหมล่ะ?
http://aestheticoflist.gagto.com/ ล้อมกรอบ fact: วันก่อตั้ง: พ.ศ. 2553
จำนวนสมาชิก: ประมาณ 20 คน
สถานที่รวมตัว: ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่แม่ศรีเรือน สาขาเลียบทางด่วนอาจณรงค์
วันรวมตัว: ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน
ล้อมกรอบ เกร็ด: วงสุนทรียสนทนามีกฏเหล็กว่าพูดได้ทีละหนึ่งคน ดังนั้น ช่วงแรกๆ ที่ทุกคนยังอยาก
แย่งกันพูด จึงมีการเอา ‘หินวิเศษ’ มาใช้ โดยคนที่มีหินก้อนนี้อยู่ในมือเท่านั้นที่จะมี สิทธิ์เปิดปากพูดได้
http://aestheticoflist.gagto.com/?cid=293326