ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)  (อ่าน 7519 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)

เรื่องของบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง

เมื่อพระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สหสฺสมปิ เจ วาจา เป็นต้น

นายตัมพทาฐิกโจรฆาตกะ(ผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง) รับราชการเป็นเพชฌฆาต ประหารชีวิตนักโทษมาเป็นเวลา 55 ปี ต่อมาได้เกษียณอายุราชการ วันหนึ่งหลังจากสั่งคนให้ตระเตรียมข้าวยาคูไว้ที่บ้านแล้ว เขาก็ได้ไปอาบน้ำชำระกายที่แม่น้ำก่อนที่จะกลับมารับประทานข้าวยาคูที่ตระเตรียมไว้เป็นการพิเศษนั้น ขณะที่เขากำลังจะรับประทานข้าวยาคูอยู่นั้น พระสารีบุตรซึ่งเพิ่งจะออกจากสมาบัติก็ได้มายืนอยู่ที่ประตูบ้านของเขาเพื่อบิณฑบาต นายตัมพทาฐิกะพอเห็นพระเถระมายืนอยู่ก็มีจิตเลื่อมใสมีความคิดว่า “เรากระทำโจรกรรมมานาน เราฆ่ามนุษย์เสียเป็นอันมาก บัดนี้ ในเรือนของเราตกแต่งยาคูเจือน้ำนมไว้ และพระเถระก็มายืนอยู่ที่ประตูเรือนของเรา ควรที่เราจะถวายไทยธรรมแก่พระผู้เป็นเจ้า” เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ได้นิมนต์พระเถระเข้าไปไปนั่งในเรือนของตนแล้วนำข้าวยาคูมาถวายโดยความเคารพ

หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระเถระได้แสดงธรรมแก่นายตัมพทาฐิกะ แต่เขาไม่สามารถส่งจิตของตนไปตามกระแสธรรมเทศนาของพระเถระได้ เพราะว่าเขามัวแต่นึกถึงชีวิตในอดีตของตนที่เคยเป็นเพชฌฆาตมา เมื่อพระเถระทราบความในข้อนี้จึงใช้วิธีลวงเขาโดยถามเขาว่าเขาฆ่าพวกโจรเพราะต้องการอยากจะฆ่าหรือว่าถูกคนอื่นให้กระทำเช่นนั้น

นายตัมพทาฐิกะตอบว่าเขาได้รับคำสั่งจากพระราชาให้ฆ่าพวกโจรโดยที่เขาไม่ต้องการฆ่าแต่อย่างใด พระเถระจึงได้ตั้งคำถามต่อไปว่า “อุบาสก เมื่อเป็นเช่นนั้น อกุศลจะมีแก่ท่านอย่างไรเล่า” นายตัมพทฐิกะจึงสรุปเอาเองว่า เมื่อเขาไม่ต้องรับผิดชอบต่ออกุศลกรรมนั้น “อกุศลไม่มีแก่เรา” จากนั้นเขาก็ได้ทำจิตให้สงบแล้วขอให้พระเถระแสดงธรรมโปรด เมื่อเขาฟังธรรมด้วยความตั้งใจ ก็เข้าใกล้กระแสโสดาปัตติมรรค เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบแล้วก็ได้เดินทางกลับโดยนายตัมพทาฐิกะตามไปส่ง ในตอนเดินทางกลับมาบ้านนั้นเขาก็ได้ถูกแม่โคนม(ที่ถูกนางยักษิณีตนหนึ่งเข้าสิง)ขวิดตาย

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “บุรุษฆ่าโจร กระทำกรรมหยาบช้าสิ้น 55 ปี พ้นจากกรรมนั้นในวันนี้แล ถวายภิกษาแก่พระเถระก็ในวันนี้เหมือนกัน กระทำกาละก็ในวันนี้เหมือนกัน เขาบังเกิดในที่ไหนหนอ”

พระศาสดาได้ตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า แม้ว่านายตัมพทาฐิกะจะประกอบอกุศลกรรมมาตลอดชีวิต แต่เพราะรู้แจ้งธรรมหลังจากฟังธรรมจากพระสารีบุตรเถระแล้วได้บรรลุอนุโลมญาณก่อนจะเสียชีวิต จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พระภิกษุเหล่านั้นต่างเกิดความสงสัยว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่าน้อยหรือมาก เพราะว่าแม้วาจาคำเดียวที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 100 ว่า
สหสฺสมปิ เจ วาจา
อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ อตฺถปทํ เสยฺโย
ยํ สุตวา อุปสมฺมติฯ

(อ่านว่า)
สหัดสะมะปิ เจ วาจา
อะนัดถะปะทะสันหิตา
เอกัง อัดถะปะทัง เสยโย
ยัง สุดตะวา อุปะสัมมะติ.

(แปลว่า)
วาจาแม้ตั้งพัน
แต่ไม่ประกอบด้วยบทที่มีประโยชน์
สู้บทที่ประกอบด้วยประโยชน์เพียงบทเดียว

ที่คนฟังแล้วสงบ ไม่ได้.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 16, 2011, 03:55:04 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 10:00:38 am »

เรื่องพระทารุจีริยเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระทารุจีริยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สหสฺสมปิ เจ คาถา เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พ่อค้ากลุ่มหนึ่งแล่นเรือไปค้าขายทางทะเล เรือของพวกเขาเกิดอับปางในทะเลและเสียชีวิตเกือบหมด มีผู้รอดชีวิตอยู่เพียงคนเดียว โดยเขาผู้นี้ได้จับกระดานแผ่นหนึ่งไว้ได้และพยายามกระเสือกกระสนเข้าหาฝั่งของท่าเรือชื่อสุปปารกะได้สำเร็จ เขาไม่มีเสื้อผ้าปกปิดร่างกายจึงได้เอาปอพันท่อนไม้แห้งทำเป็นผ้านุ่งห่ม ถือกระเบื้องจากเทวสถานไปนั่งขอทานอยู่ ณ สถานที่ที่ผู้คนเดินผ่านไปมา ประชาชนที่เดินผ่านไปมาเห็นเขาแล้วก็ให้ข้าวยาคูและอาหารเป็นต้นแล้วกล่าวยกย่องว่า “ผู้นี้เป็นพระอรหันต์” มีผู้มีศรัทธาบางคนนำเสื้อผ้ามาให้ แต่เขาก็ได้ปฏิเสธที่จะใช้เสื้อผ้านั้นเพราะเกรงไปว่าหากเขาสวมใส่เสื้อผ้าเสียแล้ว “ลาภสักการะของเราจักเสื่อม” จึงเลือกที่จะนุ่งห่มแต่ผ้าเปลือกไม้เท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว เมื่อผู้คนกล่าวว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาก็เลยเข้าใจผิดคิดไปว่าตนเองเป็นพระอรหันต์จริงๆ ด้วยเหตุที่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ซึ่งสวมใส่ผ้าเปลือกไม้ เขาจึงมีชื่อว่า “ทารุจีริยะ”

ในครั้งนั้นมีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นเพื่อนร่วมปฏิบัติสมณธรรมกับเขามาก่อน เห็นเขาหลงทางไปเช่นนี้ก็ได้มาช่วยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้ โดยท้าวมหาพรหมองค์นี้ได้มาหาเขาในคืนหนึ่งและได้บอกว่า “พาหิยะ ท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ท่านยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตมรรคเลย และยิ่งไปกว่านั้นท่านก็ยังไม่มีคุณสมบัติที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ด้วย” พาหิยะทารุจีริยะมองดูท้าวมหาพรหมแล้วถามว่า “ท่านผู้เป็นเทวดา เอาละ เรายอมรับว่าเรามิได้เป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้พระอรหันต์หรือผู้บรรลุพระอรหัตตมรรคมีอยู่ในโลกหรือไม่” ท้าวมหาพรหมกล่าวว่า “พาหิยะ บัดนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคนอกจากจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย

พาหิยะฟังคำของท้าวมหาพรหมแล้วมีความสลดใจ และได้รีบเดินทางออกจากท่าเรือสุปปารกะไปยังนครสาวัตถี ซึ่งท้าวมหาพรหมก็ได้ใช้อำนาจเทวฤทธิ์บันดาลให้พาหิยะเดินทางไปถึงนครแห่งนั้นซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง 120 โยชน์โดยใช้เวลาเดินทางเพียงคืนเดียวเท่านั้น พาหิยะพบว่าพระศาสดากำลังบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่ภิกษุจึงได้เข้าไปทำความเคารพแล้วกราบทูลให้ทรงแสดงธรรมโปรด แต่พระศาสดาตรัสตอบว่า เป็นช่วงที่พระองค์กำลังออกบิณฑบาต ยังไม่ถึงเวลาที่จะทรงแสดงธรรมโปรด พาหิยะฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้วกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่รู้ว่าอันตรายแห่งชีวิตของพระองค์ หรือของข้าพระองค์ จะบังเกิดขึ้นเมื่อใด ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด” พระศาสดาทรงทราบว่าพาหิยะเดินทางมาไกลถึง 120 โยชน์โดยใช้เวลาเดินทางเพียงคืนเดียวเท่านั้น และทรงทราบด้วยว่าพาหิยะมีปีติปราโมทย์จากการได้เห็นพระองค์ ซึ่งบุคคลที่มีปีติปราโมทย์มากเช่นนี้ แม้ฟังธรรมแล้วจักไม่อาจแทงตลอดสัจธรรมได้ จะต้องรอให้มีจิตสงบเป็นอุเบกขาเสียก่อนเมื่อทรงแสดงธรรมจึงจะได้ผล แต่พาหิยะก็ยังกราบทูลคะยั้นคะยอให้พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดให้จงได้ ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงแสดงธรรมขณะประทับยืนอยู่บนถนนว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาในศาสนานี้อย่างนี้ว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อได้สูดกลิ่น ก็สักแต่ว่าได้สูดกลิ่น เมื่อสัมผัสด้วยกาย ก็สักแต่ว่าสัมผัส เมื่อรับรู้ด้วยใจ ก็สักแต่ว่ารับรู้

พาหิยะเมื่อได้สดับธรรมของพระศาสดาเช่นนี้แล้ว ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และได้ทูลขอบรรพชากับพระศาสดา แต่พระศาสดาได้ตรัสบอกให้เขาไปหาบาตรและจีวรมาให้ครบเสียก่อนจึงจะทรงบรรพชาให้ ขณะที่พาหิยะแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้นเอง เขาก็ได้ถูกแม่โคนมที่นางยักษิณีตนหนึ่งเข้าสิงขวิดตาย เมื่อพระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ทรงกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว เสด็จออกไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ทรงพบร่างของพาหิยะนอนตายอยู่ที่ข้างกองขยะ จึงทรงบัญชาให้พระภิกษุทั้งหลายทำการฌาปนกิจศพของพาหิยะ แล้วรับสั่งให้สร้างสถูปเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้

เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับถึงวัดพระเชตวันแล้ว ได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายที่สงสัยทูลถามถึงปรายภพของพาหิยะว่า พาหิยะ “ปรินิพพาน”แล้ว พระศาสดายังได้ตั้งพาหิยะในตำแหน่งเอตทัคคะว่า “ภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ(พาหิยะผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้) เป็นเลิศกว่าภิกษุ ผู้สาวกของเราผู้ตรัสรู้เร็ว” ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “พาหิยทารุจีริยะบรรลุพระอรหัตเมื่อใด” พระศาสดาตรัสตอบว่า “พาหิยทารุจีริยะ บรรลุอรหัตขณะยืนฟังเราแสดงธรรมบนถนนขณะเที่ยวบิณฑบาต” พระภิกษุทั้งหลายสงสัยต่อไปว่าคนที่ฟังธรรมเพียงเล็กน้อย จะสามารถบรรลุพระอรหัตได้อย่างไร พระศาสดาจึงตรัสว่า ปริมาณของคำพูดหรือความยาวของถ้อยคำไม่เป็นเรื่องสำคัญอะไร แต่สำคัญอยู่ที่คุณภาพของคำพูดหรือถ้อยคำ ที่จะเอื้อประโยชน์แก่บุคคลนั้นๆต่างหาก

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 101 ว่า
สหสฺสมปิ เจ คาถา
อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย
ยํ สุตวา อุปสมฺมติฯ

(อ่านว่า)
สหัดสะมะปิ เจ คาถา
อะนัดถะปะทะสันหิตา
เอกัง คาถาปะทัง เสยโย
ยัง สุดตะวา อุปะสัมมะติ.

(แปลว่า)
คาถาแม้ตั้งพัน
แต่ไม่ประกอบด้วยบทที่มีประโยชน์
สู้คาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์เพียงบทเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบ ไม่ได้
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 10:32:38 am »

เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางกุณฑลเกสี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย จ คาถา สตํ ภาเส เป็นต้น

นางกุณฑลเกสี เป็นธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ นางมีนิสัยเจ้าชู้ร่านผู้ชายมาก มารดาบิดาจึงนำตัวไปกักไว้บนชั้นบนสุดของปราสาท 7 ชั้น อยู่มาวันหนึ่งนางมองลงมาจากปราสาทเห็นโจรผู้หนึ่งถูกนำตัวไปสู่ที่ประหาร นางเกิดความรักในโจรนั้นขึ้นมาในทันที และได้ใช้วิธียื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่า หากนางไม่ได้โจรนั้นมาเป็นสามีนางก็จะฆ่าตัวตาย ข้างมารดาบิดาพยายามพูดจาหว่านล้อมต่างๆแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงต้องจำใจใช้เงินไปไถ่ชีวิตโจรนั้นให้พ้นจากอาญาแผ่นดินมาแต่งงานกับบุตรสาวของตน แม้ว่านางกุณฑลเกสีจะรักสามีโจรมาก แต่สามีโจรไม่ได้รักนางแต่อย่างใด สามีโจรมีความประสงค์อยากจะได้ทรัพย์สมบัติและเครื่องทองรูปพรรณของนางเพื่อนำไปขายซื้อสุราดื่ม วันหนึ่งเขาจึงออกอุบายให้นางสวมเครื่องทองรูปพรรณและเพชรนิลจินดาทุกชนิดแล้วพากันขึ้นไปบนภูเขา โดยอ้างว่าจะไปกระทำพิธีแก้บนเทวดาที่ตนเคยบนไว้ให้ช่วยรอดพ้นจากการถูกประหาร

นางกุณฑลเกสีหลงเชื่อและเดินทางขึ้นภูเขาไปกับสามี เมื่อทั้งสองคนไปถึงที่หมายหมายแล้ว ข้างสามีโจรก็ได้บอกถึงความประสงค์ที่แท้จริงของตนว่า ที่พากันมานี้เพราะต้องการฆ่านางเพื่อนำเอาเครื่องเพชรเครื่องทองทั้งหลายไปขายเพื่อนำเงินไปซื้อสุราดื่ม นางได้วิงวอนขอชีวิตแต่โจรไม่ยอมจะฆ่านางให้ได้ นางจึงตัดสินใจฆ่าโจรเพื่อรักษาชีวิตของตนเองไว้ ทั้งนี้นางได้ใช้กลลวงว่านางเพิ่งจะอยู่กับสามีโจรมาไม่นาน ไหนๆก็จะตายแล้วนางมีความประสงค์จะทำความเคารพสามีเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งโจรก็ตกหลุมพรางยอมให้นางกระทำตามต้องการ พอสามีเผลอนางก็ได้ผลักสามีตกลงเหวตาย จากนั้นนางไม่ต้องการจะเดินทางกลับบ้าน จึงนำเอาเครื่องเพชรเครื่องทองของประดับกายทั้งหมดห้อยไว้ตามกิ่งไม้ แล้วเดินทางไปโดยปราศจากจุดหมายปลายทาง นางเดินทางไปถึงอาศรมของนางปริพาชกและได้ขอบวชเป็นนางปริพาชิกา พวกปริพาชกได้สอนนางให้รู้จักศิลปะตั้งคำถาม 1000 คำถามสำหรับถามคนทั่วไป ด้วยเหตุที่นางเป็นคนเฉลียวฉลาดจึงสามารถเรียนศิลปะนี้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วมาก จากนั้นพวกปริพาชกก็ได้บอกให้นางถือกิ่งหว้าออกตระเวนถามปัญหาไปทั่วชมพูทวีป เมื่อไปพบคนที่สามารถตอบปัญหาเหล่านี้ได้ หากผู้นั้นเป็นคฤหัสถ์ก็ให้นางมอบตนเป็นนางบำเรอ หากเป็นบรรพชิตก็จงบรรพชาในสำนักของชายผู้นั้น นางจึงมีชื่อว่า “ชัมพุปริพาชิกา” เพราะนางถือกิ่งหว้าอยู่ในมือ เที่ยวตระเวนไปปักกิ่งหว้านี้ไว้ตามกองทรายเพื่อล่อให้คนมาติดกับถามปัญหาไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

นางตระเวนถามปัญหาไปถึงกรุงสาวัตถี แต่ก่อนที่นางจะเดินทางเข้าไปไปในเมืองเพื่อขออาหารนั้น นางก็ได้ปักกิ่งหว้าไว้ เพื่อเป็นการท้าทายคนให้ออกมาโต้ตอบปัญหากับนาง พระสารีบุตรเถระได้รับคำท้าของนางและสามารถตอบคำถามทั้ง 1000 ข้อของนางนั้นได้ แต่พอถูกถามกลับบ้าง ด้วยคำถามว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง (เอกํ นาม กึ)” นางกุณฑลเกสีตอบไม่ได้ และนางได้ขอให้พระสารีบุตรเถระช่วยเฉลยคำตอบ พระสารีบุตรเถระตอบว่านางจะต้องบวชเป็นภิกษุณีเสียก่อนถึงจะเฉลยปัญหาข้อนี้ ดังนั้นนางจึงยอมบวชเป็นภิกษุณีและได้นามว่า พระกุณฑลเกสีเถรี หลังจากบวชเพียง 2-3 วันเท่านั้นนางก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีมีไม่มาก เป็นไปได้อย่างไรที่นางจะได้บรรลุพระอรหัตผล” และนางสามารถต่อสู้จนเอาชนะสามีโจรของนางได้ก่อนที่จะมาบวชเป็นนางปริพาชิกา

พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า ปริมาณของคำพูดไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่คุณภาพของคำพูดนั้น และการเอาชนะคนอื่น ไม่ชื่อว่าชัยชนะที่แท้จริง การเอาชนะโจรคือกิเลสที่อยู่ภายในตนนี่แหละ จึงจะชื่อว่าชัยชนะอย่างแท้จริง

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 102 และพระคาถาที่ 103 ว่า
โย จ คาถา สตํ ภาเส
อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ ธมฺมปทํ เสยฺโย
ยํ สุตวา อุปสมฺมติ ฯ

(อ่านว่า)
โย จะ คาถาสะตัง พาเส
อะนัดถะปะทะสันหิตา
เอกัง ทำมะปะทัง เสยโย
ยัง สุดตะวา อุปะสัมมะติ.

(แปลว่า)
ถึงจะกล่าวคาถาตั้งร้อยคาถา
แต่ไม่ประกอบด้วยบทที่มีประโยชน์
ก็สู้บทธรรมที่บุคคลฟังแล้วสงบเพียงบทเดียว ไม่ได้
.

โย สหสฺสํ สหสฺเสน
สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ
ส เว สงฺคมาชุตฺตโมฯ

(อ่านว่า)
โย สะหัดสัง สะหัดเสนะ
สังคาเม มานุเช ชิเน
เอกันจะ เชยยะมัดตานัง
สะ เว สังคามะชุดตะโม.

(แปลว่า)
ถึงจะชนะคนได้นับล้านคนในสมรภูมิ
ก็ยังสู้ชนะตนเองเพียงคนเดียวไม่ได้
ผู้เอาชนะตนเองได้นั้น
เป็น
ยอดขุนพล
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 11:08:26 am »

เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอนัตถปุจฉกพราหมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อตฺตา หเว เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พราหมณ์ชื่ออนัตถปุจฉกะ ได้มาเฝ้าพระศาสดาทูลถามปัญหาว่า “พระเจ้าข้า พระองค์เห็นจะทรงทราบแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว คงไม่ทรงทราบสิ่งที่มิใช่ประโยชน์” พระศาสดาตรัสว่า “พราหมณ์ เรารู้ทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งสิ่งที่มิใช่ประโยชน์” จากนั้นพระองค์ทรงตรัสจำแนกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไว้ 6 ประการ คือ
1.การนอนตื่นสาย 2.ความเกียจคร้าน
3.ความดุร้าย 4. การผัดวันประกันพรุ่ง
5. การเดินทางคนเดียว และ 6.การเสพสมภรรยาของผู้อื่น


จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า ประกอบอาชีพอะไร พราหมณ์ตอบว่า ประกอบอาชีพเล่นการพนัน พระศาสดาตรัสถามว่า เวลาเล่นการพนัน แพ้หรือว่าชนะ พราหมณ์ตอบว่า บางครั้งก็แพ้ บางครั้งก็ชนะ พระศาสดาตรัสว่า “การเล่นการพนันชนะไม่ประเสริฐ สู้เอาชนะกิเลสของตนเองไม่ได้ ประเสริฐกว่า

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 104 และพระคาถา 105 ว่า
อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย
ยา จายํ อิตรา ปชา
อตฺตทนฺตสฺส โปสสฺส
นิจฺจํ สญฺญตจาริโนฯ
เนว เทโว น คนฺธพฺโพ
น มาโร สห พฺรหฺมุนา
ชิตํ อปชิตํ กริยา
ตถารูปสฺส ชนฺตุโนฯ

(อ่านว่า)
อัดตา หะเว ชิตัง เสยโย
ยา จายัง อิตะรา ปะชา
อัดตะทันตัดสะ โปสัดสะ
นิดจัง สันยะตะจาริโน
เนวะ เทโว นะ คันทัพโพ
นะ มาโร สะหะ พรัมมุนา
ชิตัง อะปะชิตัง กะยิรา
ตะถารูปัดสะ ชันตุโน.

(แปลว่า)
ตนนั่นแล บุคคลชนะแล้ว ประเสริฐ
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ บุคคลชนะแล้ว ไม่ประเสริฐ
เพราะเมื่อบุคคลฝึกฝนแล้ว ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์
ถึงเทวดา คนธรรพ์ มาร พรหม
ก็มาชิงเอาชัยชนะของเขากลับไปไม่ได้
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 11:29:15 am »

เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มาเส มาเส เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้ถามลุงของท่านว่า ได้ทำกุศลอะไรๆไว้แล้วหรือยัง พราหมณ์นั้นตอบว่าตนได้ทำกุศลไว้แล้ว โดยการบริจาคทรัพย์พันกษาปณะทุกๆเดือนให้แก่พวกนิครนถ์ ทั้งนี้โดยปรารถนาไปเกิดยังพรหมโลกในชาติหน้า พระสารีบุตรเถระอธิบายให้พราหมณ์ฟังว่า พราหมณ์ไม่รู้ทางแห่งพรหมโลก พวกนิครนถ์ครูของพราหมณ์ก็ไม่รู้ทางแห่งพรหมโลก พระศาสดาองค์เดียวเท่านั้นทรงรู้ “มาเถิดพราหมณ์ อาตมาจะทูลอาราธนาพระองค์ตรัสบอกทางแห่งพรหมโลกแก่ท่าน” พระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของพราหมณ์นั้นว่า “พราหมณ์ การแลดูสาวกของเราด้วยจิตอันเลื่อมใสเพียงครู่เดียว หรือการถวายอาหารวัตถุเพียงภิกษาทัพพีเดียว มีผลมากกว่าทานที่ให้อย่างนั้น เป็นเวลา 100 ปี”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 106 ว่า
มาเส มาเส สหสฺเสน
โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ
มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สา เยว ปูชนา เสยฺโย
ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํฯ

(อ่านว่า)
มาเส มาเส สะหัดเสนะ
โย ยะเชถะ สะตัง สะมัง
เอกันจะ พาวิตัดตานัง
มุหุดตะมะปิ ปูชะเย
สาเยวะ ปูชะนา เสยโย
ยันเจ วัดสะสะตัง หุตัง.

(แปลว่า)
ถึงจะบูชาโลกิยชนด้วยทรัพย์พันหนึ่ง
ทุกๆเดือน ตลอดเวลา 100 ปี
ยังสู้บูชาพระอริยเจ้า ผู้อบรมแล้วองค์เดียว

เพียงชั่วครู่ ไม่ได้
การบูชาเพียงชั่วครู่นั่นแหละประเสริฐกว่า
การบูชาตลอด 100 ปี จะประเสริฐอะไร.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พราหมณ์นั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 11:42:42 am »

เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภหลานของพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย จ วสฺสสตํ ชนฺตุ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้สอบถามหลาน พราหมณ์หลานชายของท่านว่า ได้ทำกุศลอะไรไว้บ้างหรือยัง หลานของท่านตอบว่า ได้ฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งบูชายัญทุกๆเดือน โดยหวังว่าจะได้ไปเกิดในพรหมโลกในชาติหน้า พระสารีบุตรเถระได้อธิบายให้พราหมณ์ผู้เป็นหลานชายทราบว่า
“เธอไม่รู้ทางแห่งพรหมโลกเลย แม้พวกอาจารย์ของเธอก็ไม่รู้ มาเถิด เราจักไปสำนักของพระศาสดาด้วยกัน


จากนั้น พระสารีบุตรเถระได้พาหลานชายไปเฝ้าพระศาสดา และพระศาสดาได้ตรัสบอกทางแห่งพรหมโลกแก่พราหมณ์นั้น ว่า “พราหมณ์ การบูชาไฟของท่านผู้บูชาไฟอย่างนั้น 100 ปี ย่อมไม่เท่ากับการบูชาสาวกของเรา เพียงขณะเดียว

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 107 ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชนฺตุ
อคฺคึ ปริจเร วเน
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ
มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สา เยว ปูชนา เสยฺโย
ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํฯ


(อ่านว่า)
โย จะ วัดสะสะตัง ชันตุ
อัคคิง ปะริจะเร วะเน
เอกันจะ พาวิตัดตานัง
มุหุดตะมะปิ ปูชะเย
สาเยวะ ปูชะนา เสยโย
ยันเจ วัดสะสะตัง หุตัง.


(แปลว่า)
ถึงจะบูชาไฟในป่าอยู่ร้อยปี
ยังสู้บูชาพระอริยเจ้า

ผู้มีตนอบรมแล้วองค์เดียว
เพียงชั่วครู่ไม่ได้
การบูชาพระอริยเจ้าเพียงครู่เดียว
นั่นแหละ ประเสริฐกว่า

การบูชาไฟร้อยปีจะประเสริฐอะไร.


เมื่อจบพระสัทธรรมธรรมเทศนา พราหมณ์นั้นบรรลุโสดาปัตติผล ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 11:52:53 am »

เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นสหายของพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้เป็นสหายของพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยงฺกิญฺจ ยิฏฺฐญฺจ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้ถามพราหมณ์สหายของท่านว่า ได้ทำกุศลอะไรไว้บ้างหรือยัง พราหมณ์ตอบว่า ได้ทำการบูชายัญไว้เป็นอันมากแล้ว โดยหวังว่าจะได้ไปเกิดในพรหมโลกในชาติหน้า พระสารีบุตรเถระบอกกับพราหมณ์นั้นว่า “พราหมณ์ ท่านไม่รู้ทางแห่งพรหมโลกเลย แม้พวกอาจารย์ของท่านก็ไม่รู้ มาเถิด เราจักไปสำนักของพระศาสดาด้ายกัน” แล้วได้พาพราหมณ์ผู้หลานไปทูลถามเรื่องนี้ต่อพระศาสดา พระศาสดาได้ตรัสว่า “พราหมณ์ ทานที่ท่านบูชาอย่างที่เขาบูชากัน ให้แก่โลกิยมหาชนทั้งปี ย่อมไม่ถึงแม้เพียงส่วน4 แห่งกุศลเจตนาที่เกิดขึ้นแก่คนทั้งหลาย ผู้ไหว้สาวกของเราด้วยจิตที่เลื่อมใส

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 108 ว่า
ยงฺกิญจิ ยิฏฺฐญฺจ หุตญฺจ โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพมฺปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวาทนา อุชฺชุคเตสุ เสยฺโยฯ

(อ่านว่า)
ยังกินจิ ยิดถันจะ หุตันจะ โลเก
สังวัดฉะรัง ยะเชถะ ปุนยะเปกโข
สับพัมปิ ตัง นะ จะตุพาคะเมติ
อะพิวาทะนา อุดชุคะเตสุ เสยโย.

(แปลว่า)
ผู้ต้องการบุญ ทำการเซ่นสรวงบูชา
อย่างใดอย่างหนึ่งในโลก ตลอดปี
การเซ่นสรวงบูชาทั้งปวงนั้น
มีค่าไม่ถึงส่วนที่ 4
ของบุญที่ได้จากอภิวาท
ในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พราหมณ์นั้นได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 12:14:03 pm »

เรื่องอายุวัฒนกุมาร

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยทีฆลัมพิกนคร ประทับอยู่ ณ กุฎีในป่า ทรงปรารภกุมารผู้มีอายุยืน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อภิวาทนสีลิสฺส เป็นต้น

ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ 2 คนชาวทีฆลัมพิกนคร บวชบำเพ็ญตบะอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 48 ปี ต่อมาพราหมณ์คนหนึ่งสึกออกไปเป็นฆราวาสและได้แต่งงานมีครอบครัว หลังจากภรรยาของพราหมณ์ผู้นี้คลอดบุตรออกมาเป็นชายแล้ว พราหมณ์ก็ได้พาภรรยากับบุตรไปเยี่ยมพราหมณ์ที่ยังบวชบำเพ็ญตบะอยู่นั้น เมื่อสองสามีภรรยาทำความเคารพ พราหมณ์นักบวชได้กล่าวว่า “ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน” แต่พอตอนที่สองสามีภรรยาให้บุตรชายทำความเคารพ พราหมณ์นั้นกลับนิ่ง ไม่พูดอะไร พราหมณ์ที่สึกออกไปมีครอบครัวเกิดความสงสัย จึงได้สอบถามถึงเหตุผลที่เงียบนั้น พราหมณ์จึงบอกว่าทารกคนนี้จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งตนก็ไม่ทราบวิธีป้องกันการเสียชีวิตของทารกนี้ และได้แนะนำให้ไปทูลถามพระศาสดา

ดังนั้นสองสามีภรรยาจึงอุ้มบุตรไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อคนทั้งสองนมัสการ พระศาสดาตรัสว่า “ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน” แต่พอพาเด็กเข้าไปนมัสการ พระศาสดากลับทรงนิ่งเสีย และได้ทรงทำนายว่าเด็กคนนี้จะเสียชีวิตภายใน 7 วันเหมือนกัน แต่พระศาสดาได้ตรัสบอกวิธีที่จะป้องกันทารกจากเสียชีวิต โดยให้สร้างมณฑปไว้ที่ประตูเรือนของพราหมณ์ แล้วนำเด็กขึ้นไปนอนบนมณฑปนั้น จากนั้นก็ให้นิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์สวดพระปริตรเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งพราหมณ์ก็ได้กระทำตามที่ทรงแนะนำทุกอย่าง

ในวันที่ 7 พระศาสดาได้เสด็จมายังมณฑปนั้นด้วย พวกเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นก็ได้มาประชุมกัน ณ ที่นั้นด้วย ในขณะนั้น อวรุทธยักษ์ตนหนึ่งได้มาที่ประตูบ้านเพื่อคอยจังหวะที่จะจับเด็กทารกนั้นไปกิน แต่เมื่อมีเทวดาศักดิ์ใหญ่มากันมาก พวกเทวดาศักดิ์น้อยก็จะต้องถอยร่นเพื่อเปิดที่ให้ อวรุทธกยักษ์ก็ต้องถอยร่นไปอยู่ไกลจากเด็กทารกนั้นถึง 12 โยชน์ ตลอดคืนที่ 7 นั้นพระภิกษุสงฆ์ก็ได้เจริญพระปริตรอยู่อย่างนั้นจนสว่าง ทำให้อวรุทธยักษ์ไม่สามารถเข้ามาจับทารกนั้นไปกินได้ พออรุณขึ้นสองสามีภรรยานำทารกมาถวายบังคมพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด” เมื่อสองสามีภรรยาทูลถามว่าทารกจะมีอายุยืนกี่ปี พระศาสดาตรัสว่าจะมีอายุยืน 120 ปี สามีภรรยาจึงตั้งชื่อเด็กทารกว่า “อายุวัฒนกุมาร

เมื่ออายุวัฒนกุมารเติบโตแล้ว เวลาไปไหนมาไหนก็มีผู้ติดตามไปเป็นบริวารถึง 500 คน วันหนึ่งอายุวัฒนกุมารพร้อมกับบริวารได้มาที่วัดพระเชตวัน ภิกษุทั้งหลายจำได้ จึงทูลถามพระศาสดาว่า
“เหตุเครื่องเจริญอายุของสัตว์เหล่านี้ เห็นจะมี” พระศาสดาตรัสตอบภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ว่า “โดยการนอบน้อมท่านผู้สูงอายุ มิใช่ว่าจะทำให้อายุยืนเท่านั้น แต่ยังจะเป็นเหตุให้ได้วรรณะ สุขะ และพละ อีกด้วย”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 109 ว่า
อภิวาทนสีลิสฺส
นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ


(อ่านว่า)
อะพิวาทะนะสีลิดสะ
นิดจัง วุดทาปะจายิโน
จัดตาโร ทำมา วัดทันติ

อายุ วันโน สุขัง พะลัง.

(แปลว่า)
ผู้ชอบกราบไหว้ นอบน้อม
ผู้ใหญ่เป็นนิตย์
จะเจริญด้วยพร 4 ประการ
คือ มีอายุยืน มีผิวพรรณผุดผ่อง

มีความสุข มีพลานามัยแข็งแรง.


เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา อายุวัฒนกุมาร และบริวาร 500 คน ได้บรรลุโสดาปัตติผล แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 01:47:03 pm »

เรื่องสังกิจจสามเณร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสังกิจจสามเณร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย จ วสฺสสตํ ชีเว เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระภิกษุ 30 รูปเรียนกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว เดินทางจากนครสาวัตถี ไปหาถิ่นสัปปายะปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปถึง 120 โยชน์ ในขณะนั้นมีพวกโจรห้าร้อยอาศัยอยู่ในป่าทึบ และพวกโจรเหล่านี้ต้องการเนื้อและเลือดมนุษย์ไปบูชายัญเทวดาเจ้าป่า ดังนั้นพวกโจรจึงได้มาที่วัดที่พระภิกษุทั้งหลายพำนักอยู่ พร้อมกับบังคับขู่เข็ญจะนำภิกษุรูปหนึ่งไปฆ่าเพื่อบูชายัญเทวดา ภิกษุทุกรูปตั้งแต่ผู้มีพรรษามากที่สุดจนกระทั่งรูปที่มีพรรษาน้อยที่สุดต่างอาสาตัวไปกับพวกโจรทั้งนั้น ในหมู่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ก็ยังมีสามเณรน้อยรูปหนึ่งชื่อสังกิจจะ ได้ถูกส่งไปอยู่ ณ ที่นั้นด้วย พระสารีบุตรเถระเป็นผู้ส่งสามเณรซึ่งมีอายุเพียง 7 ขวบแต่เป็นผู้สำเร็จพระอรหันต์รูปนี้ไป สามเณรกิจจะได้กล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ที่พระสารีบุตรพระอุปัชฌาย์ของท่านส่งท่านมาอยู่กับภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ก็เพราะรู้ล่วงหน้าถึงอันตรายที่จะบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงขออาสาไปกับพวกโจร เมื่อสามเณรกล่าวอำลาภิกษุทั้งหลายแล้วก็ได้เดินทางไปกับพวกโจร ขณะที่ภิกษุทั้งหลายก็รู้สึกเสียใจที่ต้องปล่อยให้สามเณรน้อยไปกับโจรเช่นนี้ เมื่อพวกโจรตระเตรียมสิ่งของในพิธีบูชายัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าโจรก็ได้เดินมาหาสามเณร ซึ่งขณะนั้นกำลังนั่งเข้าฌานอยู่ แล้วแกว่งดาบฟันลงที่คอของสามเณร แต่ดาบนั้นงอคมกระทบกัน หัวหน้าโจรนั้นสำคัญว่าฟันไม่ดี จึงดัดดาบนั้นให้ตรงแล้วฟันลงไปที่คอของสามเณรอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ดาบนั้นนก็มีอันงอพับถึงโคนดาบ เมื่อพบกับปาฏิหาริย์ที่เหลือเชื่อเช่นนี้เข้า หัวหน้าโจรก็ได้วางดาบเข้าไปซบอยู่ที่ใกล้เท้าของสามเณร แล้วกล่าวคำขอโทษ พวกโจรทั้งห้าร้อยที่มองเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในครั้งนี้ ต่างก็กล่าวเข้าไปไหว้และขอบรรพชา สามเณรก็ได้บรรพชาให้แก่โจรเหล่านั้น

จากนั้นสามเณรสังกิจจะก็ได้พาสามเณรอดีตโจร 500 รูปกลับไป
หาพระภิกษุที่พำนักอยู่ในวัดที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น พอภิกษุ 30 รูปเห็นสามเณรปลอดภัยก็เกิดความโล่งอกเบาใจ หลังจากนั้นสามเณรสังกิจจะก็ได้พาสามเณรใหม่อดีตโจรเดินทางต่อไปเพื่อไปกราบพระสารีบุตรเถระในวัดพระเชตวัน

จากนั้นพระสารีบุตรเถระได้พาคณะของสามเณรสังกิจจะเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงสดับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วได้ตรัสว่า “ความตั้งอยู่ในศีลแล้วเป็นอยู่แม้วันเดียวในบัดนี้ ประเสริฐกว่าการที่ท่านทำโจรกรรมตั้งอยู่ในทุศีลเป็นอยู่ตั้ง 100 ปี

ต่อจากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 110 ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
สีลวนฺตสฺส ฌายิโนฯ


(อ่านว่า)
โย จะ วัดสะสะตัง ชีเว
ทุดสีโล อะสะมาหิโต
เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย
สีละวันตัดสะ ชายิโน.


(แปลว่า)
เป็นคนทุศีล มีใจไม่ตั้งมั่น
ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็สู้คนมีศีล
มีใจตั้งมั่น มีชีวิต
อยู่แค่วันเดียว
ไม่ได้
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุ 500 รูปก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนาก็ยังมีประโยชน์แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (สหัสสวรรค)
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2011, 02:11:10 pm »

เรื่องพระขานุโกณฑัญญเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระขานุโกณฑัญญเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย จ วสฺสสตํ ชีเว เป็นต้น

พระขานุโกณฑัญญเถระ เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะที่ท่านเดินทางกลับมาเพื่อจะกราบทูลพระศาสดา ท่านรู้สึกอ่อนเพลียก็ได้แวะลงจากทาง ไปนั่งเข้าฌานอยู่บนศิลาดาดแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นพวกโจรห้าร้อยคนปล้นหมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้วเอาสิ่งของที่ปล้นมาได้นั้นทำเป็นห่อคนละห่อเทินศีรษะเดินมา รู้สึกอ่อนเพลียมาก จึงแวะลงข้างทางเดินไปตรงจุดที่พระโกณฑัญญเถระนั่งเข้าฌานอยู่พอดี พวกโจรเห็นพระเถระเข้าใจว่าเป็นตอไม้ เพราะตอนนั้นมืดค่ำแล้ว โจรคนหนึ่งวางห่อสิ่งของที่ปล้นมาได้ลงบนศีรษะของพระเถระ ส่วนคนอื่นๆก็วางสิ่งของของตนพิงพระเถระไว้ จากนั้นก็แยกกันนอนหลับอยู่ในบริเวณนั้น พอตื่นขึ้นมาในตอนเช้าจะไปเอาของของตนก็ได้พบว่า สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นตอไม้นั้นความจริงเป็นสิ่งมีชีวิต พวกโจรเข้าใจว่าพระเถระ “เป็นอมนุษย์” และพากันเตรียมจะวิ่งหนี แต่พระเถระได้กล่าวกับพวกโจรว่า อย่าได้กลัวไปเลย ท่านเป็นบรรพชิต ไม่ได้เป็นอมนุษย์ โจรเหล่านั้นจึงหมอบลงที่ใกล้เท้าพระเถระแล้วกล่าวคำขอขมาโทษ จากนั้นพวกโจรทุกคนได้ขอบรรพชากับพระเถระ และพระเถระก็ได้ให้โจรทั้งหมดบรรพชาตามประสงค์ ตั้งแต่นั้นมาพระเถระจึงได้มีนามว่า “ขานุโกณฑัญญะ”(พระโกญญัญญะตอไม้)

พระโกณฑัญญเถระ พร้อมด้วยคณะพระภิกษุผู้บวชใหม่ ก็ได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดา และได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอยู่แม้วันเดียวของพวกเธอ ผู้ประพฤติในปัญญาสัมปทาในบัดนี้ ประเสริฐกว่าความตั้งอยู่ในกรรมของผู้มีปัญญาทรามเช่นนั้น เป็นอยู่ตั้ง 100 ปี

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 111 ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโนฯ


(อ่านว่า)
โย จะ วัดสะสะตัง ชีเว
ทุบปันโย อะสะมาหิโต
เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย
ปันยะวันตัดสะ ชายิโน.

(แปลว่า)
ผู้มีปัญญาทราม มีใจไม่ตั้งมั่น
ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ก็สู้คนมีปัญญา มีใจตั้งมั่น
มีชีวิตอยู่แค่วันเดียว ไม่ได้
.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุทั้ง 500 รูป บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.