“นิรามิสา” ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส “หลวงปู่เป็นพระที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีพลังเมตตาอันยิ่งใหญ่ มีสติและปัญญาชัดเจน...เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้พบท่าน” ภิกษุณีนิรามิสา พูดถึง “ท่านติช นัท ฮันห์” พระมหาเถระฝ่ายมหายานนิกายเซน ชาวเวียดนาม ซึ่งบรรดาศาสนิกชนทั่วโลกไม่ว่าจะศาสนาใดต่างให้ความนับถือ
โอกาสที่ท่านติช นัท ฮันห์ พร้อมด้วยภิกษุ-ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม เดินทางมาประเทศไทยเพื่อแสดงปาฐกถาธรรม และเข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ 19-31 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ภิกษุณีนิรามิสา หนึ่งในนักบวชแห่งหมู่บ้านพลัม ได้ช่วยเป็นอีกแรงในการดำเนินการ-ตระเตรียมงานให้ทุกสิ่งผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น
ทั้งเมื่อท่านติช นัท ฮันห์ แสดงปาฐกถาธรรมตามที่ต่างๆ ภิกษุณีนิรามิสาก็ได้ทำหน้าที่ถ่ายปาฐกถาธรรมนั้นจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสรสธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ อย่างทั่วถึง
จากชีวิตทางโลกที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและหน้าที่การงาน วันนี้
“สมพร พันธจารุนิธิ” คือ “ภิกษุณีนิรามิสา” ที่ค้นพบว่าความสุขที่แท้จริงของตน คือ การมีชีวิตอยู่ใต้ร่มแห่งธรรม
- ชีวิตตอนเด็ก?เกิดในครอบครัวที่มีพี่น้อง 4 คน เป็นพี่สาว 2 คนและน้องชาย 1 คน ที่บ้านทำโรงพิมพ์ คุณพ่อคุณแม่ท่านมีความเข้มงวดอยู่ แต่ก็ค่อนข้างจะใจกว้างด้วย เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์และมาแตร์เดอีวิทยาลัย ไปเข้าโรงเรียนคริสต์เพราะที่บ้านเป็นครอบครัวค้าขาย คุณพ่ออยากให้เรียนโรงเรียนดีๆ ได้ภาษาอังกฤษ มีเพื่อนฝูงในเครือข่ายที่อาจมีฐานะและทำธุรกิจในอนาคตได้ดี
ตอนเรียนก็สนใจถามมาเซอร์ว่าอยากเรียนรู้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า พอเรียนจบก็สนใจทางพุทธมากขึ้น
- สนใจศาสนาพุทธตั้งแต่เด็กเลยหรือค่ะ แต่เล็กๆ เลยอาจยังไม่ได้สนใจมาก ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นปลายๆ จะชอบอ่านหนังสือธรรมะ อ่านแล้วรู้สึกดี เล่มแรกที่ชอบมาก คือ
“ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” ของท่านติช นัท ฮันห์ ก่อนหน้านั้นมีอ่านอยู่เล่มหนึ่งเป็นการ์ตูน พูดเรื่องตัวกูของกู แต่จำไม่ได้แล้วว่าใครเขียน
ไปปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่สวนโมกข์ ตอนนั้นอยู่ ม.ศ.ปลาย อายุประมาณ 16 พี่สาวอยู่ชุมนุมพุทธและเพื่อนๆ เขาที่อยู่มหาวิทยาลัยจัดไป เราก็ตามไป อยู่ที่นั่นประมาณอาทิตย์หนึ่ง ได้พบท่านพุทธทาสแต่ไม่ได้สนทนาธรรมกับท่าน เพราะเรามีกลุ่มของเรา และมีพระที่เป็นศิษย์ของท่านมาสนทนาด้วย
การไปครั้งนั้นทำให้คิดว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของคนแก่ ทำให้เห็นว่าพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ และทำให้เข้าใจว่าทุกคนต้องมีพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่ช่วยให้มีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ข้างในกลวง และขอเลือกทางพุทธศาสนาเพราะเป็นชาวพุทธ กลับมาจิตใจก็สงบขึ้น ได้ค้นพบพุทธศาสนาในแง่ใหม่ เหมือนเรามีเครื่องยึดเหนี่ยว และคงเป็นวัยที่กำลังหาว่าเราจะทำอะไรในชีวิต
- ทำไมเลือกเรียนต่อด้านพยาบาล?ต้องการเรียนอะไรที่ออกไปแล้วได้ช่วยเหลือคน เลือกไปหลายอย่าง ทั้งหมอ เภสัช พยาบาล แล้วก็ติดพยาบาล ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จบแล้วไปทำงานในค่ายผู้อพยพ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นค่ายผู้อพยพอินโดจีน ได้ช่วยคนที่ทุกข์ยาก เห็นทั้งคนที่เจ็บป่วย คนที่ตายอยู่กับมือเรา ได้ผ่านประสบการณ์มากมายในเรื่องความทุกข์ยากของผู้อพยพ ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องชีวิตที่เขาประสบ เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ความทุกข์ยากของคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็มีความสุขเบิกบานกับการได้ช่วยเขา เป็นช่วงที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมาย
ช่วงนั้นพอได้ศึกษาธรรมบ้าง แต่ไม่ชัดเจน ได้แต่นำความรู้สึกดีๆ จิตใจดีๆ ให้เขา ทำอยู่ 4 ปีก็ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาการศึกษาเด็กเล็ก มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า มินนีอาโปลิส ที่สหรัฐอเมริกา
เลือกเรียนสาขานี้เพราะตอนทำงานเรารู้แล้วว่าอยากทำงานที่แก้ไขหรือช่วยเหลือสังคมที่รากฐาน และคิดว่าถ้าเริ่มตั้งแต่เด็กคงง่าย ซึ่งการป้องกันอย่างหนึ่งคือเน้นเรื่องการศึกษา
ช่วงนั้น 2 ปี ในส่วนหนึ่งคือมีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เวลาทำเปเปอร์ก็มีความสุข แต่เห็นได้ถึงความทุกข์ของคนตะวันตกที่กลวงข้างใน ไม่มีพื้นฐานหนักแน่นในเรื่องของจิตวิญญาณที่สัมผัสได้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกลวงข้างในด้วย ไม่เชื่อมโยงกับอะไรสักอย่าง เป็นช่วงที่อ้างว้างว้าเหว่
- จากนั้นแล้วทำอะไร?เรียนจบได้งานทำเป็นผู้อำนวยการโครงการของ อเมริกัน เฟรนด์ เซอร์วิส คอมมิตตี (American Friend Service Committee) ช่วยเหลือคนยากจนที่ลาว ต้องไปทำงานที่นั่น
เนื้องานแตกต่างจากที่เคยทำค่ายผู้อพยพมาก ได้ทำอะไรที่รากฐานจริงๆ อย่างที่ค่ายผู้อพยพเหมือนช่วยชั่วครั้งชั่วคราว เขามาแล้วก็ไป แต่ที่ลาวเราช่วยคนที่อยู่ตรงนั้น ทุกข์กับตรงนั้น และต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปที่ตรงนั้น ช่วยบริหารจัดการโครงการ ให้คนลาวทำโครงการช่วยเหลือตนเองเรื่องการพัฒนาชนบท งานเด็ก งานผู้หญิง งานการศึกษาเราก็ช่วย อยู่ได้ปีสองปีมีโอกาสไปรายงานผลการทำงานที่ยุโรป เลยถือโอกาสไปไขว่คว้าพุทธศาสนาในตะวันตก เพราะหลังจากเรียนหนังสือ ผ่านการทำงานช่วงหนึ่ง เรียนต่อเมืองนอก กลับมาเหมือนชีวิตขาดช่วงเรื่องการปฏิบัติธรรมหรือทางจิตวิญญาณ
- ได้ไปปฏิบัติธรรมที่ยุโรปด้วย?คิดไว้ว่าจะไปอยู่ 2 แห่งคือ หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ฝรั่งเศส และสถานปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ชา สุภัทโท ที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะมีคนบอกว่าพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองในยุโรป และในอนาคตคนไทยหรือชาวเอเชียอาจต้องเรียนพุทธศาสนาจากทางยุโรป เลยติดต่อไปที่หมู่บ้านพลัม แต่ทางนั้นบอกให้ไปที่เยอรมนี เพราะหลวงปู่ (ท่านติช นัท ฮันห์) ไปสอนที่นั่น
ตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนของชีวิต ได้ฟังท่านเทศน์ครั้งแรกน้ำตาไหล รู้สึกว่าท่านคลายสิ่งต่างๆ ที่เป็นปมในตัวเรา ท่านเป็นผู้เปิดตาน้ำให้เรา ให้ลำธารของจิตวิญญาณล่องไหล แล้วก็เปิดชีวิตเราขึ้นมาใหม่ด้วยคำสอนที่ง่ายๆ เป็นรูปธรรมแต่ลึกซึ้ง มีการปฏิบัติที่ชัดเจน นำมาใช้ได้ คิดว่าทำไมท่านสอนได้ลึกซึ้งจัง ท่านย่อยอะไรมาให้เสร็จแล้ว เรารับได้เลย ไม่ได้ฟังยากอะไร
ตอนไปไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเซนหรืออะไร ไม่รู้ด้วยว่าท่านเป็นเถรวาทหรือมหายาน แต่ด้วยความไม่รู้มากมายทำให้เข้าถึงง่าย (ยิ้ม) พอกลับเมืองไทยคนถามว่าเป็นอย่างไรไปฝึกมหายาน เราก็งง เพราะไม่รู้
กลับมาเมืองไทยก็ลาออกจากงาน แล้วได้งานใหม่ขององค์การยูนิเซฟ เป็นโครงการเออร์ลี่ ไชลด์ฮูด แฟมิลี่ ดีเวลอปเมนต์ (Early Childhood Family Development) ได้ทำงานและมีเวลาไปปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัมทุกปี
ภิกษุณีนิรามิสา - จุดที่ทำให้อยากก้าวเข้าสู่ธรรมอย่างเต็มตัว?หลังจากเจอหลวงปู่เมื่อปี 2536 ก็ไปหมู่บ้านพลัมทุกปี พอปี 2540 เริ่มตัดสินใจว่าจะไปอยู่เลย รู้แล้วว่าจะบวช ความรู้สึกมาเอง เป็นทางที่เราจะไปต่ออย่างแน่นอน จะได้สัมผัสกับความสุขอย่างแท้จริง อยากมีชีวิตแบบนี้ทุกวัน เป็นชีวิตที่หามานาน
แต่ต้องกลับมาดูแลตัวเองก่อน เพราะที่ผ่านมาช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างลึกซึ้ง การจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีเราต้องวางรากฐานตัวเองก่อน คือการปฏิบัติธรรม
ตอนนั้นอยู่ในภาวะที่เป็นภวังค์ ไม่ใช่หลับ ผุดขึ้นมาในใจว่าตอนที่เราอยู่ ป.1 ป.2 คุณย่าเสียชีวิต แล้วทำพิธีกงเต๊ก มีนักบวชหญิงมาสวด รู้สึกประทับใจในความสงบและความเบิกบานที่เขามี แวบขึ้นมาว่าอยากดำรงชีวิตแบบนั้น...อาจเป็นเงื่อนไขของตัวเองที่ทำให้บวช เรียกว่า “บุญบารมี” ก็ได้ จากนั้นก็ไปบวชที่หมู่บ้านพลัม และพำนักที่นั่น มีความสุขกับชีวิตทางธรรมมาก
ถึงตอนนี้อายุทางโลก 46 ปี ส่วนอายุทางธรรม 9 พรรษา
- เสียดายทางโลกไหม?การได้ไปหมู่บ้านพลัม ทำให้ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองเราอย่างไร ไม่ต้องทำตัวให้สมกับความคาดหวังของใคร เราได้ผ่อนคลาย ทำให้สลายเกราะกำบังไปเรื่อยจนตัดสินใจบวช
บวชเป็นสามเณรีก่อน ต้องรักษาศีล 10 ข้อ และมีข้อจริยวัตรทางธรรมที่ต้องปฏิบัติ 39 ข้อ มีพระพี่เลี้ยงคอยพูดคุยและให้คำตักเตือน สามเณรีต้องเปิดใจกับตัวเอง ถ้าคนอยู่ทางโลกมานานต้องฝึกมาก ต้องยอมกะเทาะเปลือกตัวเอง ยอมถูกตำหนิ ตักเตือน ยอมถูกสอนถูกขัดเกลาใหม่
เป็นนักบวชแล้วก็ยังต้องฝึก อยู่ในชุมชนสังฆะหรือนักบวชก็ยังมีปัญหา มีนิสัยที่ไม่ดีต่อกัน แต่ที่ดีมากคือเวลามีปัญหาหรือความขัดแย้งได้คุยกัน มีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา ความสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นใหม่ ความรักยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ตรงนี้ผิดกันมากกับตอนทำงาน ตอนนั้นเราอยากฝึกปฏิบัติ แต่คนอื่นไม่ฝึกด้วยก็ยาก
- มีการกำหนดอายุของผู้ที่บวชหรือไม่?ถ้าที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส อายุเกิน 50 มาอยู่เป็นฆราวาสได้ แต่บวชไม่ได้ ส่วนที่ประเทศเวียดนามผู้ที่บวชต้องอายุไม่เกิน 25 แต่ละที่มีข้อกำหนดต่างกันไป
สาเหตุที่ต้องกำหนดอย่างนี้ เพราะหากบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยก็สัมผัสโลกภายนอกน้อย ถ้าสัมผัสกับสิ่งภายนอกมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องมาขัดเกลาใหม่มากขึ้น
- ในหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง?สังคมในหมู่บ้านพลัมเป็นสังคมนานาชาติ มีนักบวชหลายเชื้อชาติจากราว 20 ประเทศ ราว 200 รูป ส่วนฆราวาสก็แล้วแต่ช่วง ปกติมีไม่กี่สิบคน แต่ถ้ามีงานที่จัดเป็นพิเศษจะมีคนมาเข้าร่วมเป็นพันคน
ผู้ที่ไปหมู่บ้านพลัมไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธ จะนับถือยิว อิสลาม คริสต์ ฯลฯ ไปได้หมด ชาวพุทธอาจน้อยด้วยซ้ำ เพราะชาวตะวันตกส่วนมากเป็นคริสต์
สิ่งที่ทำให้คนศาสนาอื่นเข้ามาปฏิบัติธรรม เพราะโดยเนื้อแท้ของพุทธไม่ได้แบ่งแยก ศาสนาพุทธใจกว้างมาก และอีกประการศาสนาพุทธเน้นเรื่องปัญญาและความเข้าใจ เน้นการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น มีสติ มีสมาธิ บางคนปฏิบัติธรรมกับหมู่บ้านพลัมแล้วก็กลับไปสู่ศาสนาตัวเอง เราทำให้เขากลับสู่รากของเขา
ตอนนี้ที่หมู่บ้านพลัมมีคนไทยเป็นสามเณรี 1 รูป ภิกษุ 1 รูป และภิกษุณี 1 รูป ส่วนฆราวาสคนไทยมีไปปฏิบัติธรรมบ้างแต่ไม่มาก
- มีโครงการตั้งหมู่บ้านพลัมที่ประเทศไทย?จะใช้พื้นที่ 26 ไร่ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สงฆ์ในเมืองไทยบางส่วนก็ให้การสนับสนุน เพราะประชาชนจะได้มีสถานที่ฝึกเจริญสติ ฝึกปฏิบัติธรรม ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ เปิดรับบริจาคทุนเพื่อจัดสร้างอยู่
- ท่านติช นัท ฮันห์?หลวงปู่เป็นพระที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีพลังเมตตาอันยิ่งใหญ่ มีสติและปัญญาชัดเจน...เป็นโอกาสดีที่คนไทยได้พบท่าน หลวงปู่ท่านเป็นกันเองกับทุกคนมาก ท่านดูแลลูกศิษย์เหมือนดูแลลูก ถ้านักบวชมีปัญหาก็สามารถปรึกษาท่านได้ ท่านเปิดรับเสมอ ส่วนใหญ่พวกเราใช้วิธีเขียนจดหมายหาท่าน เพราะทำให้เรามีสติในการเขียนและยังได้ขัดเกลา หลวงปู่ก็จะตอบให้
หลวงปู่เดินทางไปเกือบทั่วโลกเพื่อฝึกสอนการเจริญสติ เน้นธรรมะที่นำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีผู้คนให้ความสนใจเยอะมาก
ท่านเน้นเรื่องการเจริญสติ การกลับมาอยู่กับลมหายใจ ตระหนักรู้ในสิ่งที่เราทำอยู่ ความสุขที่แท้จริงให้เห็นว่าเราไม่มีตัวตน เป็นความว่างจากการมีตัวตน ไม่ใช่ความว่างที่ไม่มีอะไรเลย และเราเชื่อมกับสรรพสิ่งไม่แยกจากธรรมชาติ
ภาษาของท่านเรียกว่า “อินเตอร์บีอิ้ง” (interbeing) หรือ
“เป็นดั่งกันและกัน” ถ้าเป็นแบบนี้ได้โลกก็จะมีความสุข
หลวงปู่เคยมาเมืองไทยเมื่อ 31 ปีก่อน ครั้งนี้ท่านมาอย่างเป็นทางการ มาฝึกเจริญสติแก่คนไทย
- คำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ที่บอกว่าศาสนาพุทธต้องรับใช้สังคม?ศาสนาพุทธเป็นวิถีชีวิต จะนั่ง เดิน ยืน นอน ต้องมีสติ พอเข้าใจอย่างนี้จะเห็นว่าพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ได้แยกจากสังคม ถ้าปฏิบัติแล้วมีความสุข ความสุขก็จะเกิดกับตนเองและผู้คนรอบข้าง รอยยิ้มก็เกิดโดยปริยาย พอเรายิ้มปุ๊บคนอื่นก็สุขไปด้วย เป็นสิ่งที่ทำง่ายมาก
อีกอย่างเมื่อเราดูแลและเข้าใจตนเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม เข้าใจโลก เป็นการรับใช้สังคมทางหนึ่ง ถ้าพูดแต่ว่าพุทธศาสนาต้องรับใช้สังคมแต่ไม่ออกมาดูแลตนเอง ถึงจุดหนึ่งจะเกิดทุกข์ ยิ่งไปรับความทุกข์ข้างนอกเข้ามามาก ไม่รู้วิธีเยียวยาตนเอง ความทุกข์ก็เพิ่ม ทำให้ทำอะไรออกไปด้วยความทุกข์ นั่นเท่ากับไม่ได้ช่วยสังคมอย่างแท้จริง
- จะนำวิธีปฏิบัติมาสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร?ตอนนี้โลกเป็นยุคบริโภคนิยม แต่เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถตื่นรู้ เพียงแต่เราไม่มีกระแสแรงพอในการดึงดูดความสนใจทำให้คนมาคิดถึงธรรมะ
ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง สื่อ ฯลฯ เมื่อพูดถึงเรื่องวัดกับเด็ก เด็กจะแพ้วัด เดี๋ยวนี้เด็กไม่ค่อยเข้าใจบาปกรรม ถ้าเราปรับคำสอนให้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเคยปฏิบัติ หยั่งรู้จิตของแต่ละคนว่าต้องการธรรมะอย่างไร (ญาณทัศนะ) ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
คือต้องปรับวิธีการเข้าหาเด็ก และนำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ต้องคุยธรรมะด้วยภาษาวัยรุ่น
ไม่ไปโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความอยากให้เด็ก แต่เอาวัดไปอยู่ในใจเขาโดยที่ไม่ใช่รูปแบบวัด
ท่านติช นัท ฮันห์ กับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน
ณ หมู่บ้านพลัม (Plum Village) เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 33
เรื่องโดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา