ผู้เขียน หัวข้อ: คืนชีวิตให้สัตว์โลกพันปี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาของเจ้าสัวน้อย "ขจร เจียรวนนท์"  (อ่าน 1538 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ในแวดวงธุรกิจเมืองไทย ถ้าพูดถึงชื่อ ขจร เจียรวนนท์ ลูกชายสุดเฮี้ยวของ “เจ้าสัววัลลภ เจียรวนนท์” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะทายาทเจียรวนนท์รุ่นที่สาม ซึ่งพิสูจน์ฝีไม้ลายมือจนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการหลากหลายแขนงในเครือซี.พี. รวมถึงการรับบทหนักอึ้งรั้งตำแหน่งผู้แทนกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมพ่วงเก้าอี้ผู้อำนวยการด้านบริหารข้อบังคับกิจการโทรคมนาคม หรือ Regulatory Management ทำหน้าที่สานสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกรุยทางสะดวกให้ค่ายทรู
ครอบครัวคนรักษ์เต่า


อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบริหารแม้แต่น้อย แต่ “เจ้าสัวน้อยขจร” เต็มใจทุ่มเทให้อย่างเต็มที่ ด้วยใจรักส่วนตั๊วๆ คือ การเป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้ง ชมรมรักษ์เต่า และริเริ่มโครงการคืนชีวิตเต่าและตะพาบน้ำสู่ธรรมชาติ โดยเป็นประธานร่วมกับ “รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยชีวิตเต่าและตะพาบน้ำที่บาดเจ็บ ได้รับความทุกข์ทรมานจากการอาศัยอยู่ในแหล่งผิดธรรมชาติ

อะไรทำให้ฝังใจกับ “เต่า” จนเกิดความผูกพันกับสัตว์อายุยืนชนิดนี้

ตอนเด็กๆ คุณแม่พาเข้าวัดบ่อย เห็นเต่าที่ถูกนำมาปล่อยมีสภาพความเป็นอยู่แออัด รู้สึกสงสารมาก เพราะจริงๆแล้วเต่าที่เราปล่อยไป ไม่มีความสุขอย่างที่คิด แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะไม่รู้วิธีการรักษา กระทั่งได้มารู้จักกับคุณหมอนันทริกา ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ จึงได้ปรึกษาเพื่อหาทางช่วยเหลือเต่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเท่าที่ได้สัมผัสมา อะไรเป็นปัญหาหนักสุด

หลายๆคนเชื่อว่า การปล่อยเต่าจะช่วยให้อายุยืน เป็นการสะเดาะเคราะห์ แต่ผมว่าไม่น่าจะเป็นจริง เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ เต่าที่อยู่ตามวัด เขาทุกข์ทรมานมาก เพราะแหล่งน้ำในวัดส่วนมากเป็นท่อน้ำทิ้งทั้งหมด ไม่ว่าน้ำสบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ก็เทมาลงท่อน้ำหมด ซึ่งพวกนี้รวมกันเป็นน้ำเน่า และมีความเป็นกรดแรงมาก คิดดูแล้วกันว่า เต่าที่เราปล่อยลงไปจะมีชีวิตอยู่อย่างไร กรดพวกนี้กัดผิวหนังจนถึงกระดูก แม้แต่กระดองมันยังกร่อนเลย แป๊ปเดียวก็ตายหมด และยังทำให้เต่าติดเชื้อโรค ตาบอด ถูกน้ำกัดและเป็นแผล บางคนปล่อยเต่าไม่เป็น ก็โยนแรงๆ คิดว่ามีกระดองคงไม่เจ็บ แต่จริงๆแล้ว ต้องวางบนดินเบาๆ แล้วปล่อยให้เขาคลานไปริมน้ำเอง อย่างที่วัดเต่าไม่มีที่ปีน ไม่มีที่ออกไข่ ไม่มีดินทรายให้เค้ากลบฟักไข่ ตัวเมียที่มีไข่ก็จะตาย เหมือนคนแท้งลูก ตัวที่ไม่ได้แดด กระดองก็จะนุ่มและตายในที่สุด การปล่อยเต่าในแหล่งน้ำขนาดเล็กและแคบ ทำให้เต่าอยู่กันอย่างแออัด ทั้งหมดนี้ทำให้เต่าต้องทุกข์ทรมาน บาดเจ็บ และจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา



ไปไงมาไงถึงได้ตั้งชมรมรักษ์เต่า

ครั้งแรกเลยผมไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ขออนุญาตเข้าไปช่วยรักษาดูแลเต่าและตะพาบน้ำทั้งหมดภายในวัด มีอยู่ประมาณ 250 ตัว พร้อมทั้งรับอาสาจะหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติจริงๆ ก็ได้รับการอนุเคราะห์จากบ่อน้ำหน้าวังปลา ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงนั้นทาง กทม.เข้ามาวิดน้ำที่วัดบวรฯ พอดี เราจึงขอทีมลงไปจับเต่าขึ้นมา เชื่อไหมว่า พอน้ำแห้งปุ๊บเห็นเลยว่าข้างล่างมีแต่สุสานเต่า เพราะเต่าที่ปล่อยลงไปตายหมด กลายเป็นว่าแทนที่จะทำบุญ แต่ทุกคนกำลังทำบาป พวกเราจึงตั้งใจว่าจะต้องตระเวนช่วยชีวิตเต่าตามวัด นั่นคือจุดเริ่มต้น และกลายมาเป็นชมรมรักษ์เต่า ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 เริ่มจากเพื่อนๆญาติๆ และคนในครอบครัว ตอนนั้นมีเต่ารอการช่วยเหลือเป็นร้อยๆตัว ทำเองก็ไม่ไหว ต้องระดมกำลังอาสาสมัคร โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากคุณหมอนันทริกา และมีสัตวแพทย์มาร่วมโครงการด้วยเกือบ 100 คน นิสิตจุฬาฯ ก็ออกมาช่วยรณรงค์ ตอนหลังพอประชาสัมพันธ์ออกไปตามสื่อต่างๆ ก็มีประชาชนทั่วไปมาเข้าร่วมเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มส่งจดหมายมาให้เราช่วยไปจับเต่าที่นั่นที่นี่ ให้ไปช่วยเต่าที่โดนรถชนบ้าง โชคดีที่ตอนหลังๆมีอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษาต่างๆมาช่วยเยอะ แม้กระทั่ง “พี่เบิร์ด-ธงไชย  แมคอินไตย์” กับเพื่อนๆ ก็เคยส่งเงินมาช่วยโครงการเรา ทั้งๆที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน อย่างลูกๆผมก็ช่วยดีไซน์ถ้วยกาแฟเต่าและเสื้อเต่า นำออกขายหาเงินไปซื้อยารักษาเต่า



ปฏิบัติการช่วยชีวิตเต่าราบรื่นดีไหมคะ มีกระแสต่อต้าน เยอะไหม

สิ่งแรกที่พวกเราพยายามทำคือ การเดินสายให้ความรู้กับวัด  ไปคุยกับเจ้าอาวาสว่าอย่าให้คนมาปล่อยเต่าที่วัด หลายวัดก็ช่วยนะครับ เอาป้ายมาปักว่า ห้ามปล่อยเต่า และมีอาสาสมัครออกไปรณรงค์ให้มีการปล่อยเต่าอย่างถูกวิธี กระนั้น ปัญหาใหญ่ที่เจอคือ แรงต่อต้านจากพ่อค้าแม่ค้าในวัด พวกนี้เป็นเครือข่ายธุรกิจที่แตะต้องไม่ได้ จะหากินกับเต่า โดยไม่สนใจว่าเต่าจะทุกข์ทรมานขนาดไหน บางทีผมต้องเอาตำรวจไปด้วย เพราะพวกเขาไม่ยอมให้ความร่วมมือ พวกเราตระเวนไปตามวัดต่างๆทั่วกรุงเทพฯ จนพ่อค้าแม่ค้าพวกนี้ไม่ชอบขี้หน้า แต่ก็ต้องพยายามใจเย็น เข้าไปเจรจาพูดคุยดีๆ อธิบายว่า จริงๆคุณกำลังทรมานสัตว์อยู่นะ คุณอาจจะร่ำรวยขึ้นมาบ้าง แต่กำลังทำบาปอยู่นะ มันไม่ถูกต้อง บางแห่งก็ต้องใช้ไม้อ่อน อธิบายว่า ชมรมเราไม่ได้จะเอาเต่าออกไปทั้งหมด พวกคุณยังทำมาหากินได้บ้าง เพียงแต่อยากรณรงค์ให้มีการปล่อยเต่าและให้อาหารอย่างถูกวิธี ขณะที่บางวัดบอกว่านี่เป็นทรัพย์สินของวัดนะ ห้ามยุ่ง เราก็ต้องใช้สื่อช่วยกดดันบ้าง เพื่อทำให้คุยกันง่ายขึ้น

ขั้นตอนการช่วยเหลือเต่ายุ่งยากซับซ้อนไหมคะ

เรามีอยู่สามขั้นตอนหลักๆ คือ ขั้นตอนแรกช่วยเต่าออกจากวัด โดยเอาเต่าที่บาดเจ็บขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงถึงขั้นตอนของการรักษา ถ้าเต่าตัวไหนแข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะให้ยาถ่ายพยาธิ แต่ถ้าตัวไหนกระดองหัก หรือเป็นโรคร้ายแรง ก็ต้องรักษาให้หายก่อน ส่งไปรักษาที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ ขั้นตอนสุดท้ายพอเต่าแข็งแรงดีแล้ว จึงรวมตัวกันไปปล่อยเต่ากลับคืนสู่แหล่งธรรมชาติตามจังหวัดต่างๆ ไปแต่ละรอบจะมีอาสาสมัครร่วมเดินทาง 100-200 คน



ตกลงแล้ว การปล่อยเต่าเป็นการทำบาปมากกว่าทำบุญ?!

(พยักหน้า) ถ้าเป็นไปได้ ผมและชมรมรักษ์เต่าก็อยากรณรงค์ให้คนไทยเลิกปล่อยเต่าอย่างเด็ดขาด!! แต่สำหรับคนที่ชอบปล่อยเต่าจริงๆ อย่างน้อยก็อยากให้ศึกษาหาความรู้เบื้องต้นก่อน ต้องรู้ว่าเต่ามีหลายชนิดมาก  และแต่ละชนิดก็มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน อย่างน้อยเมื่อรู้ข้อมูลแล้ว เต่าที่เราปล่อยไปก็จะได้มีชีวิตอยู่รอด ผมยก ตัวอย่าง ง่ายๆว่า ถ้าเอาเต่าบกไปปล่อยในน้ำ มันก็ต้องจมน้ำ หรืออย่างอาหารเต่าที่พ่อค้าแม่ค้าวางขายตามวัด ก็ใช่จะเหมาะกับเต่าทุกชนิด ตอนเด็กๆเราท่องแต่ว่า เต่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบกินผักบุ้ง ทฤษฎีนี้ผิด เพราะเมืองไทยมีเต่าหลายสิบชนิด เช่น เต่าบก และเต่าเหลือง ชอบกินผัก แต่จะไม่ลงน้ำเลย เพราะว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าไปปล่อยในน้ำก็จมน้ำตาย ส่วนพวกเต่าน้ำจะชอบกินกุ้ง กินปลา บางทีก็ฉกนกกินด้วยซ้ำ เป็นเต่าที่ดุมากครับ อายุยืน 200-300 ปี พวกนี้กระดองต้องตากแดด เพื่อรับแคลเซียม อยากให้ทุกคนคิดอย่างนี้ครับว่า ถ้าจะปล่อยเต่าหรือตะพาบน้ำ พวกเขาต้องมีความสุขเหมือนเราด้วย ให้อาหารผิด หรือปล่อยในน้ำที่มีเคมีเยอะๆ แล้วเต่าต้องตายอย่างช้าๆ มันเป็นการทรมาน ผมไม่คิดว่าจะได้บุญ ถ้าอยากปล่อยเต่าแล้วได้บุญ ต้องปล่อยในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

เท่าที่ได้ลุยทำมา 10 กว่าปี คุณภาพชีวิตเต่าในเมืองไทยดีขึ้นมากไหมคะ

ก็ดีขึ้นมากนะครับ บางวัดเมื่อก่อนมีเต่าเยอะมาก แต่หลังจากที่ชมรมของเราไปรณรงค์ และไปช่วยชีวิตเต่าออกมา ก็ไม่มีคนไปปล่อยเต่าเพิ่มอีก เจ้าอาวาสหลายวัดกรุณามาก ช่วยปักป้ายว่าห้ามปล่อยเต่า ขณะที่ทางตำรวจก็กวดขันจับกุมจริงจังขึ้น เพราะถือว่า เต่าเป็นสัตว์คุ้มครอง ทางชมรมยังเปิดเว็บไซต์ www.helplink.net เพื่อเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือเต่าและตะพาบน้ำในเมืองไทย ถือเป็นแนว ทางที่พวกเราพยายามทำกันอย่างเต็มที่ เพื่ออนุรักษ์ชีวิตเต่าและตะพาบน้ำให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป ก็ดีใจนะครับที่มีคนให้ความสนใจเยอะขึ้น และเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์



จนถึงขณะนี้ อะไรคือความสุขที่ได้รับจากการช่วยชีวิตเต่า

เคยมีซินแสไปดูฮวงจุ้ยที่ออฟฟิศ เพื่อทำพิธี แล้วท่านทักว่า เห็นเต่าที่เกิดเป็นพระ เป็นวิญญาณ มาขอบคุณเรา พนักงานที่รู้ขนลุกกันหมด ผมฟังแล้วก็ดีใจนะครับ ถึงจะไม่เห็น แต่ผมก็เชื่อถือเรื่องพวกนี้ ทุกอย่างที่ทำลงไป ไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้รับผลตอบแทนอะไร คือ ทำแล้วสบายใจมากกว่า คิดดูง่ายๆว่า ถ้าเราอยากอายุยืน แล้วไปปล่อยเต่า แต่เต่าที่เราปล่อยต้องตายซะก่อน อย่างนี้เราจะได้บุญหรือได้บาปกันแน่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากบอกทุกคนว่า อย่าทรมานพวกเขาอีกเลย!!
 
ทีมข่าวหน้าสตรี

http://www.thairath.co.th/content/life/197310
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...