วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ
ฐิตา:
สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม
เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ
เมื่อกล่าวถึง คำว่า พระอภิธรรม ก็มักจะถูกถามเสมอว่า พระอภิธรรมคืออะไร พระอภิธรรมเรียนเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นผู้แต่งพระอภิธรรมเรียนพระอภิธรรมแล้วได้ประโยชน์อะไร คนส่วนใหญ่ จะเข้าใจแต่เพียงว่าพระอภิธรรมเป็นบทสวดในงานศพ ที่ไม่ค่อยจะมีใครฟังรู้เรื่องแม้แต่พระผู้สวดเองส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ความหมาย
พระอภิธรรม เป็นวิชาการชั้นสูงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน พระอภิธรรมเปรียบเสมือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาสุขุมลุ่มลึกอันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของชีวิต เรื่องของกรรมและการส่งผลของกรรม เรื่อง ภพภูมิต่าง ๆ เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
วิชาการทั้งหลายทางโลกที่เราได้เคยเรียน เคยฟังและเคยอ่านกันมา มิใช่แต่เพียงในภพนี้เท่านั้น ในภพก่อน ๆ ที่เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาจนนับไม่ถ้วนนั้น เราก็คงได้เคยเรียน เคยฟังและเคยอ่านกันมามากแล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำให้เราพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความลำบาก หรือพ้นจากกิเลสไปได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าวิชาการต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำให้เราเกิดปัญญาอันถูกต้องอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ความรู้ทางโลกเพื่อใช้ในการดำรงชีพไปภพหนึ่ง ชาติหนึ่งเท่านั้นเอง
เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเนื้อหาของ พระอภิธรรม อันจะนำไปสู่การศึกษาที่ละเอียดลึกซึ้งและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงต่อไป ข้าพเจ้า จึงได้รวบรวมและเรียบเรียง สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม เล่มนี้ขึ้น
บุญกุศลอันเกิดขึ้นจากการรวบรวมและเรียบเรียงจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอบูชา แด่พระรัตนตรัย พระอรรถกถาจารย์ และปรมาจารย์ทั้งหลายที่ได้สืบสานมรดกธรรมอันล้ำค่านี้ไว้ จนตกทอดมาถึงปัจจุบัน
และขอความสันติสุข ความเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่กำลังเวียนว่ายอยู่ใน ๓๑ ภพภูมิโดยทั่วกันเทอญ
นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ
๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๒
ฐิตา:
หลังจากที่สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ พรรษา คำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ทั้งหมดรวบรวมได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุคำสอนและเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไว้โดยละเอียด แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎกหรือ ๓ หมวดด้วยกันคือ
๑. พระวินัยปิฎก
๒. พระสุตตันตปิฎก
๓. พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. (หัวใจพระวินัย) ได้แก่
๑. คัมภีร์อาทิกรรม ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้นบัญญัติ ในสิกขาบท ต่าง ๆ
๒. คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓. คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔. คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. คัมภีร์ปริวารวรรค ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย
พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่าง ๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. (หัวใจพระสูตร) ได้แก่
๑. ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่นเกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับ มรรค เรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกกนิบาต ว่าด้วย หลักธรรมที่มีหัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อ เรียกว่า เอกกทสกนิบาต ในนิกายนี้มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่าง ๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวดคือ
๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ
๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่องประกอบ ตามสมควร
๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น อย่างนี้
๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้วิมานไว้ด้วย
๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้
๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวก
๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวิกา
๑๐) ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง, การแสดง, การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิทเทส และจุลนิทเทส
๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม (มี ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน) (สภาวธรรม) ล้วน ๆ ยกตัวอย่าง เช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ส่วนที่เรียกชื่อว่า นาย ก นาย ข นั้นเรียกโดยสมมุติโวหารเท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย
พระอภิธรรมปิฎกมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่
๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มี ๔ กัณฑ์ คือ
๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิกเป็นต้น
๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูปเป็นต้น
๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงธรรมที่เป็นแม่บท (มาติกา) ของปรมัตถธรรม
๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของปรมัตถธรรม
๒. คัมภีร์วิภังค์ แสดงการจำแนกปรมัตถธรรมออกเป็นข้อ ๆ แบ่งออกเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น จำแนกขันธ์ (หมายถึง ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ ก็คือ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, เป็นเจตสิก ส่วนวิญญาณขันธ์ ก็คือ จิต ดังนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง) เรียกว่า ขันธวิภังค์
๓. ธาตุกถา แสดงการจัดหมวดหมู่ของปรมัตถธรรมโดยสงเคราะห์ด้วย ธาตุ (ธรรมชาติที่ ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน)
๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการและแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอัน เกี่ยวกับบุคคล
๕. คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ อันถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรมวินัย
๖. คัมภีร์ยมก ในคัมภีร์นี้จะยกหัวข้อปรมัตถธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ
๗. คัมภีร์มหาปัฏฐาน แสดงเหตุปัจจัยและแสดงความสัมพันธ์อันเป็นเหตุ เป็นผลที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันแห่งปรมัตถธรรมทั้งปวงโดยพิสดาร
สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือ ธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอัน แท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมาย อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม
หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่อยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ
เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรมล้วน ๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงอยากให้ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม นั้นต่างกันอย่างไร
ฐิตา:
ความหมายของ ปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดย ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง
ปรมัตถธรรม นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สภาวธรรม
ปรมัตถธรรม หรือสภาวธรรม นี้มี ๔ ประการคือ
๑. จิต
๒. เจตสิก
๓. รูป
๔. นิพพาน
ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้
จิต คือ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัสถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการคิด นึก จำนวนของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งต่าง ๆ, เรื่องราวต่าง ๆ, ที่จิตไปรับรู้)
จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ, มโน มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ, มนายตนะ เป็นต้น
เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรม ที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สภาพของจิตเป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธหรือจิตโลภ เป็นเพราะมีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิตเปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกก็เกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้เช่นกัน
เนื่องจาก จิต และ เจตสิก เป็นสิ่งที่ต้องเกิดร่วมกันตลอดเวลา ดังนั้น การอธิบายบางแห่ง ในหนังสือเล่มนี้จึงเขียนว่า "จิต + เจตสิก" เพื่อให้ระลึกไว้อยู่เสมอว่าจิตและเจตสิกนั้นเป็นธรรมชาติ ที่ต้องเกิดร่วมกัน ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้
รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับสลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย
นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลส พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยาย มี ๒ ลักษณะคือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึง การที่ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ (จิต เจตสิก รูป) ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) ที่สิ้นอายุขัยไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต + เจตสิกและรูปก็จะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อตายไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก)
นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็นอริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้
ฐิตา:
บัญญัติธรรม~ปรมัตถธรรม
บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) คือสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้นหรือบัญญัติชื่อขึ้นเพื่อให้เข้าใจ ความหมายซึ่งกันและกัน เช่น ชื่อ นามสกุล สีเขียว สีแดง ทิศเหนือ ทิศใต้ เวลาเช้า เวลาเย็น เวลา ๒๔.๐๐ น. พันโท พลเอก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่านเจ้าคุณ เหรียญ ๑ บาท เหรียญ ๕ บาท เหรียญ ๑๐ บาท ธนบัตร ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ๑๐๐๐ บาท ล้วนเป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่า บัญญัติธรรม
แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ หนังสือ ปากกา นาฬิกา พัดลม รถยนต์ คน และสัตว์ ท่านก็ยังจัดว่าเป็นบัญญัติธรรม เพราะยังหนีไม่พ้นเรื่องของการสมมุติ
ปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่อยู่เหนือการสมมุติ
หากพูดในแง่ของปรมัตถธรรม (ธรรมที่อยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ) คือ ธรรมชาติที่มีอยู่จริงหรือธรรมชาติที่อยู่เหนือการสมมุติแล้ว ทิศเหนือ ทิศใต้ เวลาเช้า เวลาเย็น เวลา ๒๔.๐๐ น. ยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย เป็นเพียงการสมมุติ เป็นเพียงการอุปโลกน์กันขึ้นมาเท่านั้น ส่วนต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ หนังสือ ปากกา นาฬิกา พัดลม และรถยนต์ ถึงจะมีความแตกต่างกันโดยลักษณะก็จริงอยู่แต่โดยสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ (ปรมัตถธรรม) แล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวของมหาภูตรูป ทั้ง ๔ (มหาภูตรูปทั้ง ๔ ได้แก่ ๑. รูปที่มีความอ่อนและแข็งเป็นลักษณะ (ปฐวี) ๒. รูปที่มีอาการไหลและเกาะกุมเป็นลักษณะ (อาโป) ๓. รูปที่มีความร้อนและเย็นเป็นลักษณะ (เตโช) ๔. รูปที่มีการเคลื่อนไหวหรือเคร่งตึงเป็นลักษณะ (วาโย)) ที่ปราศจาก จิต + เจตสิก จึงเรียกว่า เป็นรูปธรรม เหมือนกันทั้งหมดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ส่วนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายนั้น หากกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมแล้วถือว่าไม่มีตัวตน ไม่มีนาย ก ไม่มี นาย ข มีแต่รูปธรรม (รูป) และนามธรรม (จิต + เจตสิก) มาประชุมกันเท่านั้น
ดังนั้นไม่ว่าตัวเราหรือผู้อื่นรวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วยนั้น เมื่อกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมหรือ ธาตุแท้ตามธรรมชาติแล้ว จะมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ส่วนเท่านั้น คือ
๑. จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
๒. เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิตมี ๕๒ ลักษณะ
๓. รูป คือ องค์ประกอบ ๒๘ ชนิดที่รวมกันขึ้นเป็นกาย
จะเห็นได้ว่า คนเราทุกคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น มีส่วนประกอบเหมือนกันคือ
เราก็มี จิต เจตสิก รูป
เขาก็มี จิต เจตสิก รูป
สัตว์ทั้งหลายก็มี จิต เจตสิก รูป
จะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่รูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ซึ่งถูกจำแนกให้แตกต่างกันด้วยอำนาจของกรรมที่กระทำไว้ในอดีต
จิต + เจตสิก และรูป มีลักษณะเฉพาะตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการคือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไปอยู่ตลอดเวลา
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้
สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติเรียกว่า ไตรลักษณ์
โดยสรุปแล้ว จิต + เจตสิก และรูป ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคลหรือเป็นสัตว์ใด ๆ ก็ตามนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีแก่นสาระอะไรเลย เป็นเพียงการประชุมกันของส่วนประกอบที่มีความไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว (ชั่วลัดนิ้วมือ จิตมีการเกิดดับแสนโกฏิขณะ หรือหนึ่งล้านล้านครั้ง) เป็นสภาพที่หาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของผู้ใด ว่างเปล่าจากความเป็นคนนั้นคนนี้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นนั่นเป็นนี่ตามที่สมมุติกันขึ้นมา แต่เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ขึ้นกับเหตุ ขึ้นกับปัจจัย พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปรมัตถธรรมเหล่านี้ก็คงมีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว พระพุทธองค์เป็นแต่เพียงผู้ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยให้เราทั้งหลายได้ทราบเท่านั้น
( หากต้องการทราบเนื้อหาอันลึกซึ้งของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ก็ต้องศึกษา พระอภิธรรมโดยละเอียดต่อไป)
ฐิตา:
ประวัติพระอภิธรรม
ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับพระอภิธรรมซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) อันเป็นแก่นของธรรมะใน พระพุทธศาสนาอยู่ตลอด ๗ วัน ในขณะที่ทรงพิจารณาเรื่องของเหตุ เรื่องของปัจจัยในปรมัตถธรรม อันเป็นที่มาของคัมภีร์มหาปัฎฐานอยู่นั้นก็ปรากฎฉัพพรรณรังสี (รัศมี ๖ ประการ) มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีเทา สีเงิน และสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก แผ่ออกมาจากพระวรกายอย่างน่าอัศจรรย์
ในช่วง ๖ พรรษาแรกของการประกาศศาสนา พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงตรัสสอนพระอภิธรรมแก่ผู้ใด เพราะพระอภิธรรมเป็นธรรมะที่เกี่ยวข้องกับปรมัตถธรรมล้วน ๆ ยากแก่การที่จะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย บุคคลที่จะรับอรรถรสของพระอภิธรรมได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ประกอบด้วยศรัทธาอันมั่นคงและได้เคยสั่งสมบารมีอันเกี่ยวกับปัญญาในเรื่องนี้มาบ้างแล้วแต่กาลก่อน แต่ในช่วงต้นของการประกาศศาสนานั้นคนส่วนใหญ่ยังมีศรัทธาและมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาน้อย ยังไม่พร้อมที่จะรับคำสอนเกี่ยวกับปรมัตถธรรมซึ่งเป็นธรรมะอันลึกซึ้งได้พระองค์จึงยังไม่ทรงแสดงให้ทราบ เพราะถ้าทรงแสดงไปแล้วความสงสัยไม่เข้าใจหรือความไม่เชื่อย่อมจะเกิดแก่ชนเหล่านั้น เมื่อมีความสงสัยไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการดูหมิ่นดูแคลนต่อพระอภิธรรมได้ ซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
ล่วงมาถึงพรรษาที่ ๗ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระอภิธรรมเป็นครั้งแรก โดยเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทดแทนคุณของพระมารดาด้วยการแสดงพระอภิธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ประสูติประองค์ได้ ๗ วัน และได้อุบัติเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตมีพระนามว่า สันตุสิตเทพบุตร ในการแสดงธรรมครั้งนี้ได้มีเทวดาและพรหมจากหมื่นจักรวาลจำนวนหลายแสนโกฎิมาร่วมฟังธรรมด้วย โดยมีสันตุสิตเทพบุตรเป็นประธาน ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมแก่เหล่าเทวดาและพรหมด้วย วิตถารนัย คือ แสดงโดยละเอียดพิสดารตลอดพรรษา คือ ๓ เดือนเต็ม
สำหรับในโลกมนุษย์นั้นพระองค์ได้ทรงแสดงแก่พระสารีบุตรเป็นองค์แรก คือในระหว่าง ที่ทรงแสดงธรรมอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นพอได้เวลาบิณฑบาต พระองค์ก็ทรงเนรมิตพุทธนิมิตขึ้นแสดงธรรมแทนพระองค์แล้วพระองค์ก็เสด็จไปบิณฑบาตในหมู่ชนชาวอุตตรกุรุ เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปยังป่าไม้จันทร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าหิมวันต์ใกล้กับสระอโนดาต เพื่อเสวยพระกระยาหาร โดยมีพระสารีบุตรเถระมาเฝ้าทุกวัน หลังจากที่ทรงเสวยแล้วก็ทรงสรุปเนื้อหาของพระอภิธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเทวดาและพรหมให้พระสารีบุตรฟังวันต่อวัน (พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระสารีบุตรด้วย สังเขปนัย คือ แสดงอย่างย่นย่อ) เสร็จแล้วพระองค์จึงเสด็จกลับขึ้นสู่ดาวดึงส์เทวโลกเพื่อแสดงธรรมต่อไป ทรงกระทำเช่นนี้ทุกวันตลอด ๓ เดือน เมื่อการแสดงบนเทวโลกจบสมบูรณ์แล้ว การแสดง พระอภิธรรมแก่พระสารบุตรก็จบสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เมื่อจบพระอภิธรรมเทศนา เทวดาและพรหม ๘๐๐,๐๐๐ โกฎิ ได้บรรลุธรรมและสันตุสิตเทพบุตร (พุทธมารดา) ได้สำเร็จ เป็นพระโสดาบันบุคคล
เมื่อพระสารีบุตรได้ฟังพระอภิธรรมจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็นำมาสอนให้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านโดยสอนตามพระพุทธองค์วันต่อวันและจบบริบูรณ์ในเวลา ๓ เดือนเช่นกัน การสอนพระอภิธรรมของพระสารีบุตรที่สอนแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้เป็นการสอนชนิดไม่ย่อเกินไป ไม่พิสดารเกินไป เรียกว่า นาติวิตถารนาติสังเขปนัย
ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ เคยมีอุปนิสัยมาแล้วในชาติก่อน คือในสมัยศาสนาของพระกัสสปสัมมา สัมพุทธเจ้า ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้เป็นค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม ๒ รูปที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นเช่นกัน กำลังสวดสาธยายพระอภิธรรมอยู่ เมื่อค้างคาวทั้ง ๕๐๐ ตัวได้ยินเสียงพระสวดสาธยายพระอภิธรรม ก็รู้เพียงว่าเป็นพระธรรมเท่านั้นหาได้รู้ความหมายใด ๆ ไม่ แต่ก็พากัน ตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อสิ้นจากชาติที่เป็นค้างคาวแล้วก็ได้ไปเกิดอยู่ในเทวโลกเหมือนกันทั้งหมด จนกระทั่งศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นจึงได้จุติจากเทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์และได้บวชเป็นภิกษุในศาสนานี้ตลอดจนได้เรียนพระอภิธรรมจากพระสารีบุตรดังกล่าวแล้ว นับแต่นั้นมา การสาธยายท่องจำและการถ่ายทอดความรู้เรื่องพระอภิธรรมก็ได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
ภายหลังที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลังจาก ถวายพระเพลิงได้ ๕๒ วัน ท่านมหากัสสปเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนทเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์รวมทั้งสิ้น ๕๐๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ปฏิสัมภิทัปปัตตะ = ผู้ที่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจธรรมะอย่างแตกฉาน สามารถแยกแยะและขยายความได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มีปฏิภาณไหวพริบ มีโวหารและวาทะที่จะทำให้ผู้อื่นรู้ตามเข้าใจตามได้โดยง่าย) ฉฬภิญญะ (ผู้มีอภิญญา ๖ อันได้แก่ ๑. แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ ๒. มีหูทิพย์ ๓. ทายใจผู้อื่นได้ ๔. ระลึกชาติได้ ๕. มีตาทิพย์ ๖. สามารถทำลายอาสวะกิเลสให้สิ้นไป) และเตวิชชะ (ผู้ที่ได้วิชชา ๓ อันได้แก่ ๑. ระลึกชาติได้ ๒. รู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ ๓. มีปัญญาที่ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป) ได้ช่วยกันทำสังคายนา พระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และได้กล่าวยกย่องพระอภิธรรมว่าเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา การทำสังคายนาครั้งนี้ มีพระเจ้าอชาติศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version