ผู้เขียน หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : อุกกาบาตยักษ์ชนโลก เรื่องธรรมดาที่สุดแสนธรรมดา  (อ่าน 1604 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
 

  โดย กาลิเลอี

เมื่อปีที่แล้วมีนักดาราศาสตร์สติเฟื่อง ออกมาเตือนชาวโลกให้ระวัง จะมีอุกกาบาตขนาดยักษ์พุ่งตรงมาลงบนกบาลในปี 2014 นับจากวันนี้ไปอีก 2 ปีกว่า เล่นเอามนุษย์ตาดำ ตาฟ้า ส่งเสียงซี้ดซ้าด เห็นคราวหนนี้ทวยเทพจะจัดหนัก!

 ช่วงหลังมานี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกตื่นตัวกันพอสมควร เพราะกลัวก้อนหินยักษ์ย่องมาหาโลกแบบอาร์มาเก็ดดอน ไร้สัญญาณเตือน แม้โอกาสที่จะเกิดความหายนะจากการชนมีค่า 1 ใน 909,000 ก็ตาม

 อุกกาบาตลูกนี้มีชื่อว่า "2003 QQ47" ขณะนี้นักดาราศาสตร์กำลังส่องกล้องถ้ำมอง เห็นเป็นก้อนบุบบู้บี้สีดำ พร้อมกับจิ้มเครื่องคิดเลข เคาะออกมาแล้วว่า ถ้าชนโลกจริงวันที่ 21 มีนาคม 2014 เตรียมตัวเตรียมใจได้เลย

 แต่ทว่านักดาราศาสตร์หนวดเฟิ้มคอนเฟิร์มว่า ความเสี่ยงที่จะกระทบโลกน่าจะน้อยกว่าที่คิด เพราะเท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ มันน่าจะมีผลกระทบเท่ากับ 20 ล้านเท่าของระเบิดปรมาณูที่กองทัพสหรัฐนำไปปล่อยที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2

 เรื่องนี้ฝรั่งเขาเอาจริง ถึงขนาดโฆษกรัฐบาลอังกฤษได้บอกข่าวสารถึงวัตถุที่เข้าใกล้โลกผ่านทางวิทยุ BBC เตือนเกี่ยวกับอุกกาบาตว่า เป็นครั้งแรกที่สังเกตหินขนาดยักษ์ในนิวเม็กซิโก จากโปรแกรมการวิจัยอุกกาบาตที่เข้าใกล้โลก

 ดอกเตอร์ Alan Fitzsimmons หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในทีมที่ให้ความเห็นอุกกาบาตดังเช่น 2003 QQ47 ว่า เป็นหินขยะที่ทิ้งไว้ก่อนการก่อตัวระบบสุริยะเมื่อ 4.5 พันล้านปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ยังคงเก็บรักษาอย่างดี ระยะทางห่างจากโลกในแถบอุกกาบาตระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

 แต่ด้วยอิทธิพลแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ดังเช่นดาวพฤหัสบดี สามารถสะกิดอุกกาบาตให้ออกนอกวงโคจรที่อยู่อย่างปลอดภัย และส่งให้พวกมันกระโจนพุ่งตรงมายังโลก

 เจ้าก่อนหินนอกโลก 2003 QQ47 สรุปแล้วยังจิ๊บๆ หากเทียบกับพวกอุกกาบาตล้างโลกก้อนมหึมา เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-15 กิโลเมตรขึ้นไป

 หลังจากที่มีความพยายามล้มล้างทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะ “อุกกาบาตล้างโลก” จากบรรดานักดาราศาสตร์บ้าจี้นั้น ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ 41 ชีวิตจากหลายสาขา ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลกันอีกครั้ง

 ผลสรุปของซูเปอร์อภิมหาหัวกะทิ เผยหลักฐานยืนยันว่าอุกกาบาตที่เม็กซิโกนั้น เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อนแน่นอน

 เดิมทีเมื่อปี 1980 หลุยส์ อัลวาเรซ (Louis Alvarez) และวอลเตอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvarez) สองพ่อลูกตีพิมพ์ผลงานวิจัยระบุว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหรือที่เรียกว่า การสูญพันธุ์ยุคครีเตเชียส-เทอร์ทิอารี (Cretaceous-Tertiary : KT) นั้น เป็นผลมาจากการพุ่งชนของอุกกาบาต

 ต่อมาในทศวรรษที่ 90 ได้มีการค้นหาร่องรอยอุกกาบาตที่ถูกตั้งชื่อว่า Chicxulub นี้โดยใช้ดาวเทียมและการสำรวจภาคพื้นดิน พบว่า มันอยู่ตรงคาบสมุทรยูคาทานในเม็กซิโก โดยเห็นได้จากรอยหินปูนที่เป็นขั้นบันได แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนัก จนกระทั่งได้ภาพจากนาซ่านี้ซึ่งเป็นการทำแผนที่แบบ 3 มิติ โดยทำบนกระสวยอวกาศที่โคจรรอบโลก ซากของการชนครั้งนั้นจึงสามารถเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่ง
 ภาพ 3 มิติเป็นแอ่งมีขนาดลึก 3-5 เมตร และกว้าง 5 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเราไปเดินแถวๆ นั้นไม่มีทางรู้ว่าเป็นขอบหลุมอุกกาบาตเพราะมันใหญ่มาก

 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจุดศูนย์กลางของการชนอยู่เลยคาบสมุทรออกไปในทะเลแคริบเบียน การกระแทกอย่างรุนแรงสร้างความไม่คงตัว (instability) ให้แก่ชั้นหินใต้ผิวโลก ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปชั้นหินนี้ถูกปกคลุมด้วยตะกอนหินปูนซึ่งถูกกัดกร่อนได้ง่าย ความไม่คงตัวของชั้นหินที่ขอบนี่เองที่ทำให้ชั้นหินปูนยุบตัวตรงขอบ ทำให้เห็นเป็นรอยดังกล่าว

 อย่างไรก็ดี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีข้อเสนอว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์อาจมีสาเหตุจากการระเบิดของภูเขาไฟหลายๆ ลูกในบริเวณที่ปัจจุบันคือเมืองเดคคันแทรปส์ ประเทศอินเดีย หรืออาจจะเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตหลายๆ ลูก

 นี่เป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์ 41 คน ซึ่งมีทั้งนักธรณีวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา และนักวิจัยสาขาอื่นๆ มารวมตัวกันเพื่อทบทวนข้อมูลใหม่อีกครั้ง

 ข้อสรุปที่สามารถยืนยันนั่งยันได้คือ อุกกาบาตขนาดใหญ่ราว 15 กิโลเมตร ได้พุ่งชนบริเวณที่ปัจจุบันคือชิคซูลูบในเม็กซิโก และเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งของโลกสูญพันธุ์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ปูทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายเป็นสปีชีส์ที่ครองโลกในเวลาต่อมา

 รุนแรงแค่ไหน ลองเอาระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมามาคูณพันล้าน ก็จะได้ผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวออกมา

 ส่วนข้อถกเถียงที่ว่า สาเหตุที่ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตคล้ายนก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานในทะเลขนาดใหญ่นั้น สูญพันธุ์ไปเพราะการระเบิดของชุดภูเขาไฟหลายๆ ลูกในบริเวณอินเดียปัจจุบันเมื่อ 1.5 ล้านปีก่อน และการปะทุของภูเขาไฟได้พ่นหินหนืดลาวา ผ่านเมืองเดคคันแทรปส์ในตอนกลางตะวันตกของอินเดีย และมีปริมาณมากกว่าความจุของทะเลดำถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศทั่วโลกหนาวเย็นและเกิดฝนกรดไปทั่วโลกนั้น หลักฐานที่นำมาศึกษาและเผยแพร่ลงในวารสารไซน์นั้น แสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศทางทะเลและบนบกถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว ในยุคการสูญพันธุ์ครีเตเชียส-เทอร์ทิอารี นักวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับว่าภูเขาไฟเป็นสาเหตุ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

 แม้ว่าจะมีหลักฐานถึงการปะทุของภูเขาไฟในเดคคันแทรปส์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ระบบนิเวศทางทะเลและบนบก แสดงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 500,000 ปีก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ยุคครีเตเชียส-เทอร์ทิอารี

 ข้อมูลจากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์และข้อมูลการสำรวจชี้ว่า การปลดปล่อยก๊าซหลายๆ ชนิด เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ เป็นต้น ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังการระเบิดของภูเขาไฟส่งผลระยะสั้นต่อโลก และไม่ใช่สาเหตุเพียงพอในการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตจำนวนมากทั้งบนบกและในทะเลให้สูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว

 กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า อุกกาบาตที่ชิคซูลูบได้กำจัดเทอโรซอร์ (ไดโนเสาร์มีปิกบินได้) ไดโนเสาร์ พร้อมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยข้อมูลจากโจแอนนา มอร์แกน (Joanna Morgan) นักธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) อังกฤษ ผู้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่า การพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่นั้น ได้ก่อให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้มากกว่า 10 ริกเตอร์ และเกิดการเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกซึ่งทำให้เกิดสึนามิได้

 “อุกกาบาตพุ่งชนโลกด้วยความเร็วกว่าลูกกระสุน 20 เท่า แล้วระเบิดกลายเป็นหินและก๊าซร้อน ซึ่งจะเผาไหม้สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่อาจหาที่กำบังได้ในทันที” กาเรธ คอลลินส์ (Gareth Collins) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจกล่าว และมอร์แกนได้เสริมว่า เมื่อเถ้าถ่านจากการระเบิดนั้นถูกพ่นขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง จะปกคลุมโลกทั้งใบให้ตกอยู่ในความมืด และเป็นสาเหตุของฤดูหนาวที่เกิดขึ้นทั่วโลก และฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอันทารุณได้

 อีกข้อมูลที่บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์ยุคครีเตเชียส-เทอร์ทิอารี สูญพันธุ์เนื่องจากอุกกาบาตขนาดมหึมาแต่ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟระเบิด คือ ร่องรอยการสั่นสะเทือนของแร่ควอตซ์ในชั้นหินช่วงปลายๆ ของยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วโลก โดยแร่ควอตซ์สั่นสะเทือนเมื่อถูกมวลมหาศาลพุ่งชนอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีอุกกาบาตขนาด 15 กิโลเมตรที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 20 เท่าของลูกกระสุน

 มีนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา ร่วมกับวิทยาลัยอิมพีเรียล ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ พัฒนาเว็บไซต์ที่ชื่อ อิมแพ็กเอิร์ธ ขึ้นมา เอาไว้ใช้คำนวณว่าถ้าหากอุกกาบาตตกลงมา จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง

 เว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์ และมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน เพียงพอสำหรับให้กระทรวงกลาโหม และสำนักงานอวกาศนาซ่าใช้งาน แต่ก็เหมาะกับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการศึกษาหาความรู้

 เจย์ เมลอช นักวิจัยเจ้าของโครงการ กล่าวว่า ทุกวันมีอุกกาบาตและดาวหางตกลงมายังโลกมากกว่า 100 ตัน ปีหนึ่งๆ จะมีชิ้นส่วนที่แตกแล้วบางชิ้นใหญ่เท่ารถเก๋งทั้งคัน ตกลงมาหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเผาไหม้เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เครื่องมือนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนบนโลก

 เหตุการณ์อุกกาบาตขนาดยักษ์มาเยือนโลก เฉลี่ยเกิดขึ้นศตวรรษละครั้ง เมื่อ 65 ล้านปีก่อนอุกกาบาตที่ชื่อ ชิกซูลับ กว้าง 14 กม. ตกลงมาล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อุกกาบาตลูกย่อมๆ มีโอกาสตกลงมาบ่อยๆ ในอนาคตใกล้ที่สุดคือ อุกกาบาตชื่อ อะโฟฟิส คาดว่าจะมาเฉี่ยวโลกในปี 2579 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 เมตร และเว็บไซต์อิมแพ็กเอิร์ธ จะคำนวณให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันตกลงมา

 สำหรับการใช้งาน ขั้นแรกจะต้องป้อนขนาดอุกกาบาต หรือเส้นผ่าศูนย์กลางของมัน ตามด้วยความหนาแน่น ความเร็ว องศาการพุ่งชน และตำแหน่งที่ตกลงมาบนโลก จากนั้นเว็บไซต์จะประเมินผลที่เกิดขึ้น รวมถึงคลื่นแรงระเบิดในบรรยากาศ แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ขนาดของสึนามิ ความรุนแรง ความเสียหายและขนาดของหลุม รวมถึงโอกาสรอดของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

 สำหรับประเทศไทยเราไม่น้อยหน้าฝรั่ง เคยมีอุกกาบาตตกใส่กับเขาเหมือนกัน ที่เด่นๆ ดังๆ ก็ลูกอุกกาบาตนครปฐม ตกที่ตำบลดอนยายหอม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2466 แตกเป็น 2 ก้อนใหญ่ น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน ตอนนี้นอนแอ้งแม้งที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

 อีกลูกคือ ลูกอุกกาบาตเชียงคาน ตกที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2524 เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัตถุจากกระแสธารอุกกาบาต ที่เป็นซากเหลือจากดาวหางเทมเพล (Tempel) ที่โลกโคจรตัดผ่านธารอุกกาบาตในช่วงนั้นเป็นประจำทุกปี จึงทำให้เกิดเป็นฝนดาวตก หรือฝนอุกกาบาต

 เมืองไทยโชคดี ไม่มีแผ่นดินไหว ไร้ภูเขาไฟ อุกกาบาตยักษ์ก็ไม่อยากมาตก เป็นที่อิจฉาของคนทั่วโลก แต่เราโชคร้ายตรงที่ คนไทยรบกันเองนี่แหละ

 รู้แบบนี้ น่าให้อุกกาบาตยักษ์หล่นทับหัวเสียให้เข็ด.

http://www.thaipost.net/sunday/280811/44062
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...