ผู้เขียน หัวข้อ: มรรค ๘ :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ  (อ่าน 1848 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
มรรค ๘ :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
« เมื่อ: กันยายน 10, 2011, 01:17:01 pm »
มรรค ๘

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

   
   มรรค ๘ นี้จึงเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาหรือเรียกว่ารากฐานของพุทธศาสนาก็ไม่ผิด ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงท้าทายในการพิสูจน์ในเหตุและผล ทุกคนในโลกนี้นำไปปฏิบัติได้ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงไว้แล้ว ผู้นั้นจะไม่ผิดหวัง ในครั้งพุทธกาล มีพุทธบริษัทนำไปปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก ในยุคนั้นมรรค ๘ ยังไม่ได้แปรสภาพ ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดความสับสนลังเล พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างไรก็ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ก็พากันได้บรรลุมรรคผลกันไปตามบารมีของแต่ละบุคคล
   
   ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้วางปัญญาเป็นหลักยืนตัวเอาไว้ เพื่อให้ศึกษาในปริยัติ ศึกษาในภาคปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นปฏิเวธ ในภาคปริยัติก็แยกออกมาเป็นหมวดธรรมต่างๆ ที่เรียกว่าปิฎก เช่น พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และปรมัตถปิฎก
   
   พระสุตตันตปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ตามหนังสือที่อ่านกันอยู่ในขณะนี้ พระวินัยปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดต่างๆ เช่น หมวดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ให้นำมาปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม หมวดปรมัตถ์ ก็แยกออกเป็นหมวดจิต เจตสิก ที่รู้กันในหมวดอภิธรรม การศึกษาในระดับนี้จึงเรียกว่าปริยัติธรรม
   
   เมื่อจะนำมาปฏิบัติ ก็ใช้จินตามยปัญญา เอาหมวดธรรมนั้น ๆ มาตีความ ว่าธรรมหมวดไหนมีความหมายอย่างไร การตีความในหมวดธรรมนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดไป ความเข้าใจผิด ความเห็นผิดก็จะติดตามมา เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ เมื่อนำมาภาวนาก็จะเป็นมิจฉาภาวนา จะไม่เป็นไปในทางมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด
   
   ถ้าตีความในหมวดธรรมได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดความเข้าใจถูก เกิดความเห็นถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาปฏิบัติ จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นปฏิเวธไป ฉะนั้นการตีความในหมวดธรรมที่จะนำมาปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียว
   
   มรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงเอาไว้ ก็มี ๓ หมวดหมู่ด้วยกันดังนี้
   
   ๑.    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป การดำริพิจารณาชอบนี้คือหมวดของปัญญา
   ๒.   สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ นี้เป็นหมวดของศีล
   ๓.   สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เป็นหมวดของสมาธิ
   
   ถ้าเรียบเรียงให้ถูกตามหลักเดิม จะออกมาเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ถ้านำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ให้เราพิจารณาด้วยเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้วางแนวทางไว้อย่างนี้ ก็เพราะคนเรามีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดตามหลักความเป็นจริงอยู่แล้ว แม้การดำริคิดไปในสิ่งใดก็เป็นไปในทางมิจฉาสังกัปโป คิดไปไม่ถูกต่อหลักความเป็นจริง นี้เองพระพุทธเจ้าจึงได้วางปัญญาเป็นหลักเริ่มต้น เพื่อจะได้แก้ความเห็นผิด แก้ความคิดผิดของใจที่มีอยู่เดิมให้หมดไป จะได้เกิดความเห็นถูก เกิดความคิดถูกตามหลักความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ความเห็นชอบ ความคิดชอบนี้เอง จะได้ไปควบคุมในการพูด ให้เกิดเป็นวาจาที่ชอบธรรมได้ เข้าไปควบคุมในการงานต่างๆ ให้เกิดเป็นการงานที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดเป็นการเลี้ยงชีวิตชอบได้ เข้าไปควบคุมความเพียรต่างๆ ให้เกิดเป็นความเพียรที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมสติให้เกิดมีการระลึกชอบได้ เข้าไปควบคุมใจให้เกิดมีความตั้งมั่นชอบได้
   
   ฉะนั้น หลักปัญญาจึงเข้าไปควบคุมหมวดศีล เข้าไปควบคุมหมวดสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาควบคุมให้ดี ก็จะเป็นมิจฉาวาจา พูดผิดศีลผิดธรรมไป การทำงานก็จะทำผิดศีลผิดธรรม การหาเลี้ยงชีวิตก็จะหาในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การทำความเพียร ก็จะเพียรพยายามไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การระลึกได้ของสติ ก็จะระลึกไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การตั้งใจมั่นก็จะตั้งไปในทางที่ผิดเป็นมิจฉาสมาธิไป นี้เองพระพุทธเจ้าจึงเอาปัญญามาเป็นหลักเริ่มต้นก็เพื่อจะเอามาแก้ปัญหาตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจโดยตรง แล้วเสริมสร้างความเห็นชอบ ความคิดชอบให้เกิดขึ้นกับวาจา ให้เกิดความเห็นชอบจากการงานที่ทำ ให้เกิดความเห็นชอบในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดความเห็นชอบในความเพียรพยายาม ให้เกิดความเห็นชอบในการระลึกได้ของสติ ให้เกิดความเห็นชอบในการตั้งใจมั่น ที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมให้ถูกกับความเป็นธรรม ก็คือปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปโป ปัญญาพิจารณาถูกต้องชอบธรรมนั้นเอง
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติถ้าเอาตามหลักเดิมของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ จึงง่ายต่อการปฏิบัติจะไม่เกิดความสับสนลังเล ส่วนหลักสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นหลักปริยัติเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำมาปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามหลักเดิมตามแนวทางของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เพราะปัญญาของทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงเอามาฝึกให้เกิดความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเท่านั้น ความเป็นจริงก็มีอยู่ทั่วไป มีทั้งภายในภายนอก ให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นเอง
   
   มิจฉา ทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
     
      ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
     
      ฉะนั้น อุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
   
   ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
   
   ฉะนั้นอุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
   
   ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องตีความให้เข้าใจ เพราะในยุคนี้สมัยนี้ ผู้ที่ตีความในหมวดธรรม ที่จะนำมาอบรมสั่งสอนให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดก็จะเกิดความเห็นผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะผิดไปตามๆ กัน เมื่อตีความในธรรมถูกก็จะเกิดความเห็นถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะถูกไปตามๆ กันดังนี้
   ฉะนั้นการศึกษาในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงยากที่จะจบได้ หรือจบมาแล้วก็ยากที่จะนำมาปฏิบัติได้ เพราะในตำราทั้งหมดนั้นเป็นศูนย์รวมของหมวดธรรมทั้งหลายไว้ในปิฎกอันเดียวกัน จึงยากในการแยกเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยของตัวเราได้ เหมือนกับร้านขายยาที่มียาอยู่ทุกชนิด จึงยากที่จะทราบว่าจะเอาชนิดใดมากินให้หายจากโรคภัยในตัวเองได้ เว้นเสียแต่ผู้ได้รับการตรวจร่างกายจากหมอมาดีแล้ว จึงจะกำหนดยาแต่ละชนิดมากินให้หายจากโรคได้ นี้ฉันใด อุบายธรรมในตำรานั้นมีมาก จึงยากที่จะเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติด้วยตัวเองได้ พระพุทธเจ้าที่จะหยิบยื่นอุบายธรรมให้ตรงกับนิสัยบารมีเราก็ไม่มี ขณะนี้มีเพียงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่มีญาณหยั่งรู้นิสัยบารมีให้แก่ใครๆ ได้ว่าท่านนั้นสร้างบารมีมาอย่างไร เพราะญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น
   
   ฉะนั้นในยุคนี้ถึงจะมีครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเอาหมวดธรรมมาอบรมสั่งสอนแก่เราอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะตรงกับนิสัยบารมีของเรา จึงมีทางเลือกเดียวคือ ผู้ปฏิบัติต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลให้เข้าใจ ท่านเหล่านั้นก็เป็นปุถุชนมาก่อน ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้า ตามประวัติเดิมพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาล ทุกท่านจะต้องเริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าพระอริยเจ้าในระดับไหนจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน ฉะนั้นพวกเราก็ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่างในการปฏิบัติธรรม ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบรอบรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การปฏิบัติในวิธีอย่างอื่นก็จะเป็นทางตัน จะก้าวต่อไปอีกไม่ได้เลย ในชาตินี้จะต้องปิดฉากแห่งมรรคผลลงทันที
   
   ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะปฏิบัติผิด บุญกุศลบารมีก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เหมือนกับดอกบัวพร้อมที่จะพ้นจากน้ำเบ่งบานอยู่ก็ตาม ถ้าหากดอกบัวนั้นถูกกอผักตบชวาประกบเอาไว้ หรือถูกสิ่งอื่นใดมาขัดขวางปิดบังทับถม โอกาสที่ดอกบัวจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำเพื่อรับแสงแดดได้เบ่งบานก็หมดสิทธิ์ทันที นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติถึงจะมีการสร้างบารมีมาดีแล้วก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติตามมา ถึงจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ ฝึกสติให้เกิดความระลึกได้อย่างมั่นคงอยู่ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดนี้ไปได้เลย หรือจะทำสมาธิ จิตจะมีความสงบละเอียดถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน มีความตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ มีความสงบมากติดต่อกันเป็นเวลายาวนานก็ตาม ก็ไม่สามารถเอามาทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจได้ เท่านี้ยังไม่พอ การมีความเพียรมาก สติระลึกได้ดี สมาธิที่มีความสงบแนบแน่นทั้งหมดนั้น ก็จะมารวมพลังให้แก่มิจฉาทิฏฐิ เกิดความเห็นผิดมากขึ้นก็เป็นได้ เหมือนกับดาบสทั้งสองเคยเป็นครูสอนให้แก่พระพุทธเจ้าของเราในสมัยนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่กี่วัน ดาบสทั้งสองก็ได้มรณะไปเสีย พระพุทธเจ้ายังดำริว่า ถ้าดาบสทั้งสองได้ฟังการแสดงธรรมจากเรา ดาบสทั้งสองก็จะได้บรรลุธรรมแน่นอน นี้ฉันใด บารมีถึงจะมีมากน้อยอยู่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแนวแห่งมรรคผลนิพพาน ในชาตินี้ก็พลาดโอกาสไป แต่บารมีนั้นยังไม่หายไปไหน ยังมีอยู่ที่ใจตามเดิม ในโอกาสชาติหน้า ถ้าได้ครูผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องก็มีโอกาสได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ ถ้าได้ครูสอนผิดและปฏิบัติผิด ก็จะพลาดโอกาสจากพระอริยเจ้าต่อไปอีกยาวนานทีเดียว
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อรื้อถอนอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจ มิใช่ว่าจะเอาความโง่เขลาปัญญาทรามเข้าไปแก้ไข จะเป็นไปได้เฉพาะผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้ทางสติปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงเท่านั้น เมื่อความเห็นชอบเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้ว มรรคข้ออื่นๆ ก็จะเกิดความชอบธรรมไปทั้งหมด พระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาและพระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ก็ดี หรือพระอริยเจ้าทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในศาสนาของพระพุทธองค์ต่อๆ ไปก็ดี การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอริยเจ้านั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การละอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจก็จะเป็นหลักในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็เหมือนกัน เฉพาะพระอรหันต์ในขั้นสุกขวิปัสสโก ในขั้นเตวิชโช ในขั้นฉฬภิญโญ ในขั้นปฏิสัมภิทัปปัตโต ก็มีความบริสุทธิ์สิ้นอาสวะเหมือนกัน ผู้สิ้นอาสวะได้หมดจดไม่มีเหลือ จึงนับว่าผู้มีความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ นั้นเรียกว่านิพพาน ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ความบริสุทธิ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ก็ให้ชื่อว่าความบริสุทธิ์เหมือนกัน นิพพานคือการดับอันสนิทแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้หมดเชื้อที่จะก่อภพก่อชาติเกิดตายอีกต่อไป


ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: มรรค ๘ :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 10, 2011, 01:43:56 pm »
มรรค อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความรู้จริงเห็นจริงแห่งทุกข์ทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จักมรรค หรือไม่รู้วิธีในการปฏิบัติในองค์มรรคหรือปฏิบัติอยู่แต่ก็ไม่เป็นไปตามองค์มรรค ชาตินี้ทั้งชาติก็จะปิดฉากแห่งมรรคผลนิพพานลงทันที ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม แต่ถูกมิจฉาปฏิบัติปิดบังเอาไว้อย่างมืดมิดแล้ว บุญบารมีที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะผ่านความเห็นผิดการปฏิบัติผิดนี้เข้าสู่กระแสธรรมได้เลย เหมือนการบวกลบคูณหารผิดหลักผิดสูตร ผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างถูกต้องนั้นก็เป็นไปไม่ได้ หรือเหมือนให้ข้อมูลที่ผิดเข้าไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว จะพิมพ์ออกมาให้ได้รับข้อมูลที่ถูกนั้นก็จะเป็นไปไม่ได้ จะไปโทษว่าไม่มีบุญวาสนาบารมีก็ไม่ถูก เมื่อเราปฏิบัติผิดแล้ว จะไปโทษธรรมว่าไม่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ ให้รู้ตัวเองว่าปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าหรือไม่ เหมือนกับการเชื่อมสายไป ถ้าเชื่อมผิดสายก็จะไม่เกิดความสว่างได้ เหมือนเจาะน้ำบาดาล ถ้าเจาะไม่ถูกกับสายน้ำก็เสียเวลาไม่ได้ประโยชน์อะไร เหมือนกินยาไม่ถูกกับโรค ความเจ็บป่วยก็ไม่หายไปได้เช่นกัน นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมถ้าผิดพลาดไปแล้ว จะให้ผลออกมาเป็นถูกนั้นจะเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้รับทุกข์ในการเกิดตายต่อไป
   
   เหตุให้เกิดทุกข์มีเท่าไร ผลของทุกข์ก็มีเท่านั้น เราตั้งข้อสังเกตให้ดีว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงเอาทุกข์มาเป็นข้อเริ่มต้นในการใช้ปัญญาพิจารณาก็เพราะคนไม่รู้ทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ จึงได้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า นี้คือความสุขที่ทุกคนแสวงหาและปรารถนา หลงผลแห่งความทุกข์ จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสุขอยู่เรื่อยไป เหมือนยาพิษเคลือบด้วยน้ำตาล เพื่อเอามาหลอกสัตว์ที่โง่เขลาให้หลงกิน ในขณะกินก็มีความติดใจในรสชาติที่หวานฉ่ำ เมื่อคราบน้ำตาลภายนอกได้ละลายไปแล้ว ยาพิษก็จะให้ผลทันที นี้ฉันใด ความทุกข์ที่ทุกคนได้รับกันอยู่ในขณะนี้ เป็นผลออกมาจากเหตุโลกียสุขทั้งนั้น แต่จะมารู้เห็นทุกข์ในช่วงนี้ยังไม่ได้ เพราะสติปัญญาของเรายังไม่พร้อม ยังไม่มีความสว่างทางสติปัญญา จึงไม่เกิดความฉลาดรอบรู้ในเหตุแห่งความทุกข์ได้ว่าอะไรเป็นเหตุที่เกิดทุกข์ มีมูลฐานในการทำ มีมูลฐานในการพูด มีมูลฐานในความเห็นผิดเป็นอย่างไร
   
   ถ้าไม่เข้าใจในจุดนี้ก็ยากที่จะเข้าใจในทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ได้ เพราะเหตุให้เกิดทุกข์มาจากความอยาก ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นมีมาก ถ้าสติปัญญาไม่มีความฉลาดเฉียบแหลมพอตัวก็ยากที่จะรู้ได้ จึงเป็นผู้ลุอำนาจแห่งความอยากต่อไป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สร้างเหตุแห่งทุกข์มากขึ้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเอาผลที่เป็นทุกข์มาเป็นหลักพิจารณา ให้เห็นโทษภัยเพื่อให้ใจได้เกิดความกลัว ถ้าใจได้รู้เห็นทุกข์ด้วยสติปัญญาได้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการความทุกข์ มีแต่จะสลัดให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งนั้น การสลัดออกจากทุกข์นี้มิใช่จะทำสมาธิแก้ปัญหาได้ เพราะความสงบของสมาธิเป็นเพียงอุบายกลบปัญหากลบทุกข์ไว้เท่านั้น
   
   การรู้ทุกข์เห็นทุกข์ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ต้องรู้เห็นจากสติปัญญาของตัวเอง การรู้เห็นจากตำราหรือผู้อื่นเล่าให้ฟังก็เป็นเพียงสัญญาเท่านั้น จะให้ใจเกิดความสลดสังเวชเกิดความกลัวในทุกข์นั้นๆ ไม่ได้เลย ความทุกข์ตัวจริงนั้นอยู่ที่ใจโดยตรง ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบให้เกิดทุกข์ทางใจ เมื่อไรกายใจมีความสัมพันธ์กันอยู่ ความทุกข์ก็ยังเป็นผลให้ได้รับตลอดไป นั้นเรียกว่าสภาวทุกข์ คือทุกข์ที่มีอยู่ประจำขันธ์ เรียกว่าทุกข์เป็นเจ้าเรือนที่มีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม อีกทุกข์หนึ่งเป็นปกิณกทุกข์คือทุกข์จรหรือทุกข์เสริม ทุกข์ประจำที่มีอยู่ก็เหลืออดเหลือทนแทบจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว ยังมีทุกข์จรเพิ่มเสริมซ้ำเติมเข้ามาอีก ความหนักหน่วงทรมานทางกายและใจก็จะได้รับผลแห่งความทุกข์อย่างเต็มที่ เรื่องความทุกข์นี้มีมาก จะพรรณนาให้จบสิ้นในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่เกินไป เพียงอธิบายให้เป็นแนวทางในการใช้ปัญญาพิจารณาเท่านั้น ผลแห่งความทุกข์มีเท่าไร เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ก็มีมากเท่านั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องฝึกสติปัญญาไว้ให้ดี ให้มีความรอบรู้ในทุกข์ และมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ เหตุปัจจัยภายในเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยภายนอกเป็นอย่างไร ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบรู้อยู่เสมอ สิ่งใดเห็นว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราจะหลีกเลี่ยงในเหตุนั้นเสีย ถึงจะมีความอยากได้อยากทำ ก็ต้องมีขันติความอดทนเพราะกลัวผลที่เป็นทุกข์ติดตามมาให้ผลแก่เรา
   
   สมุทัยคือ ตัณหาสาม เช่น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาสามนี้เป็นเรื่องของใจเป็นต้นเหตุ ใจที่มีกิเลสสังขารสั่งการอยู่นั้นจึงเหมือนกันกับนายพรานพาสุนัขไปล่าเนื้อ เมื่อได้เนื้อมา นายพรานก็กินของดีเสียหมด โยนให้สุนัขกินเพียงเนื้อติดกระดูก นี้ฉันใด ใจที่ถูกกิเลสตัณหาสั่งการก็ต้องดิ้นรนแสวงหาให้ได้มาตามความอยาก เมื่อแสวงหามาได้แล้ว กิเลสตัณหาก็ได้เสวยสุขแต่ฝ่ายเดียว เศษที่เหลือก็คือความทุกข์ของใจ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกามคุณคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความทุกข์เกิดขึ้นจากความรักความใคร่ ผลของทุกข์ในสิ่งใดที่กิเลสตัณหาได้สั่งการให้ใจได้ทำไปแล้ว กิเลสตัณหาจะสลัดโยนทิ้งไปให้ใจเป็นผู้รับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว ใจที่โง่เขลาเบาปัญญาไม่มีวิชาความรู้ความฉลาด ก็จะอยู่เป็นทาสรับใช้ให้แก่กิเลสตัณหาตลอดไป ใจได้ตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหามายาวนานจนถึงปัจจุบัน และจะตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหาต่อไปในชาติอนาคตไม่มีกำหนดได้ ใจเดิมมีความฉลาดฝังอยู่ลึกๆ แต่ขาดการศึกษา ไม่มีวิชาทางสติปัญญาในทางธรรม จึงเป็นใจที่มืดบอดลุ่มหลง เรียกว่า โมหะอวิชชา ดังคำว่า คนโง่ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของคนที่มีความฉลาดกว่า ใจโง่ก็ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของกิเลสตัณหาก็ฉันนั้น ขณะนี้ถึงเวลาหรือยังพร้อมหรือยังที่จะฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง สติปัญญาวิชาความรู้ใดที่เป็นไปในธรรมก็นำมาอบรมสอนใจเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป