แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

นิทานเซ็น :จากมุมสงบ Kitty's Home

<< < (2/10) > >>

ฐิตา:
 

ผู้รู้

วันหนึ่ง ท่านกากุได้ถามท่านอาจารย์โตกุซานว่า
"ผมคิดว่าอาจารย์เซ็นและผู้รอบรู้เซ็นแต่เก่าก่อน ย่อมไปยังที่แห่งหนึ่ง ท่านอาจารย์พอจะบอกผมได้ไหมว่าท่านเหล่านั้นไปอยู่ยังที่ไหน?"
"ฉันไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน" ท่านอาจารย์ตอบ

ท่านกากุรู้สึกผิดหวัง กล่าวว่า
"ผมหวังว่าจะได้รับคำตอบเหมือนม้าที่กำลังวิ่ง แต่ผมกลับได้รับคำตอบเหมือนเต่าที่กำลังคลาน"
ท่านอาจารย์โตกุซานนั่งนิ่งเงียบเหมือนคนใบ้ วันต่อมา หลังจากสรงน้ำแล้ว ท่านอาจารย์โตกุซานก็กลับมายังห้องนั่งเล่น ท่านกากุได้นำน้ำชามาถวาย ท่านอาจารย์จึงตบหลังลูกศิษย์เบาๆ แล้วถามว่า
"ปริศนาที่เธอพูดถึงเมื่อวานนี้เป็นอย่างไรบ้าง?"
"วิธีสอนของท่านอาจารย์วันนี้ดีขึ้นครับ" ท่านกากุตอบ
ท่านอาจารย์โตกุซานนั่งนิ่งเงียบเหมือนคนใบ้เช่นเดิม

ความเร่าร้อนเมื่อปะทะกับความสงบ เมื่อเข้ากันไม่ได้ ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจ วันแรกท่านกากุเร่าร้อน วันต่อมาท่านสงบลงบ้างแล้ว ความรู้สึกจึงดีขึ้น ท่านอาจารย์โตกุซานก็มีแต่ความสงบทั้งสองวัน ความเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาตินี่แหละ คือหนทางของผู้รู้อย่างแท้จริง

ฐิตา:

                   

พระหลายวัด

ท่านอาจารย์เคียวเซอิ ได้สอบถามพระบวชใหม่รูปหนึ่งที่พึ่งจาริกมาถึงวัดของท่านว่ามาจากไหน ?
"มาจากวัดสามภูเขาขอรับ" พระรูปนั้นตอบ

"เธออยู่ที่ไหนระหว่างพรรษาที่แล้ว ?" ท่านอาจารย์ถามอีก
"อยู่ที่อารามห้าภูเขาขอรับ" พระตอบ

ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า
"ฉันจะฟาดเธอด้วยไม้เท้านี้สามสิบที"
"ทำไมกระผมต้องถูกลงโทษด้วยเล่า ?" พระรูปนั้นสงสัย
"เพราะเธอออกจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งนะสิ"

                 

การแสวงธรรม ถ้าใจไม่หนักแน่นมั่นคง เปลี่ยนจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งเรื่อยๆ ไปโดยไม่มีความอดทน เพื่อศึกษาสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็คงจะต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิต ท่านละครับเริ่มเข้าวัดที่หนึ่งแล้วหรือยัง ?

ฐิตา:



ยอดซามูไร

ซามูไรผู้หนึ่งมีลูกชาย 3 คน ต่างก็มีความเชี่ยวชาญในเชิงซามูไร พอถึงวาระที่ซามูไรผู้พ่อจะต้องมอบตราประจำตระกูลให้ลูกชายเพื่อสืบทอดต่อไปนั้น เขาก็ใช้วิธีทดสอบความสามารถของลูกๆ ทั้ง 3 คน ซามูไรผู้พ่อคิดวิธีได้แล้วก็เข้าไปนั่งอยู่ในห้อง แล้วหับประตูไว้ ประตูห้องแบบญี่ปุ่นเป็นแบบฉากเลื่อน และบนประตูแบบฉากเลื่อนนี้เอง ซามูไรผู้พ่อก็นำเอาหมอนลูกหนึ่งขึ้นไปวางไว้ แล้วแกก็เรียกให้ลูกชายเข้าไปหาทีละคน

ลูกชายคนโตถูกเรียกก่อน เมื่อเดินไปถึงประตูเลื่อน พอขยับประตู ก็มองเห็นหมอนอยู่ข้างบน จึงเอื้อมมือไปหยิบ แล้วเลื่อนประตูเข้าไปหาพ่อ ซามูไรผู้พ่อสั่งให้เอาหมอนไปไว้ที่เดิม แล้วให้นั่งรออยู่ในห้อง ลูกชายคนกลางถูกเรียกเป็นคนต่อไป เมื่อเดินไปถึงประตูก็เลื่อนประตูเปิด ทันใดนั้นหมอนก็ตกลงมา ลูกชายคนกลางรีบรับเอาไว้ทันทีโดยแทบไม่มีเสียงเลย แล้วจึงเดินเขาไปหาพ่อ ซามูไรผู้พ่อ จึงสั่งให้เอาหมอนไปวางไว้ที่เดิม แล้วให้นั่งรออยู่ในห้องเช่นกัน ลูกชายคนเล็กถูกเรียกเป็นคนสุดท้าย พอเดินถึงประตูก็เลื่อนเปิดทันที หมอนก็ตกลงมา แว็บเดียวดาบซามูไรก็ปลิวออกจากฝัก ในชั่วพริบตา หมอนถูกฟันจนนุ่นปลิวว่อน แล้วเสียบดาบลงฝักเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทบไม่มีใครเห็นใบดาบซามูไรเลยก็ว่าได้ แล้วลูกชายคนเล็กก็เดินอย่างสง่าและสงบเข้าไปหาพ่อ ถ้าเป็นท่าน ๆ จะมอบตำแหน่งให้ลูกคนไหน ?

ซามูไรผู้พ่อได้พูดกับลูกทั้งสามว่า
"เจ้าเล็ก เจ้าใช้ดาบได้รวดเร็วดังใจ" เจ้าใช้ใจ
"เจ้ากลาง เจ้ารู้วิธีใช้มือแทนดาบได้" เจ้าใช้มือ
"เจ้าโต เจ้ารอบคอบรู้การควรไม่ควรก่อนทำการทั้งปวงเจ้าใช้หัวหรือปัญญา ไม่ได้ใช้ดาบเพียงอย่างเดียว พ่อขอมอบดาบประจำตระกูลให้เจ้า จงปกครองคนในตระกูลแทนพ่อสืบต่อไป"

ฐิตา:


                 

แสดงธรรม

พระภิกษุผู้ที่เป็นหัวหน้าศิษย์ของท่านอาจารย์ยากุซานได้ไปอาราธนาอาจารย์ของตน ให้ขึ้นเทศน์สอนศิษย์ เพราะท่านอาจารย์ไม่ได้เทศน์สอนศิษย์มาเป็นเวลานานแล้ว

"พวกพระคิดถึงการเทศน์สอนธรรมของท่านมาก"
"ถ้าอย่างนั้นก็จงตีระฆังประชุม" ท่านอาจารย์บอกหัวหน้าศิษย์

บรรดาพระภิกษุในวัดต่างก็รีบมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันต่อหน้าท่านอาจารย์เพื่อฟังธรรม ท่านอาจารย์ยากุซานมองดูบรรดาศิษย์แล้ว ก็หันหลังกลับโดยมิได้กล่าวอะไรแม้แต่เพียงคำเดียว
พระภิกษุผู้เป็นหัวหน้า จึงรีบตามมาถามด้วยความสงสัย

"ท่านอาจารย์ ท่านบอกว่าท่านจะแสดงธรรม ?"
ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า
"ผู้คงแก่เรียนจึงสมควรจะแสดงพระสูตร ท่านมารบกวนพระแก่ๆ ทำไม ?"

ความหมายของเซ็น คือการมีชีวิตอยู่ตามปกติ ทุกวัน ทุกชั่วโมง ในชีวิตประจำวันของอาจารย์เซ็น ก็เป็นการแสดงธรรมเรื่องชีวิตนั่นเอง ซึ่งท่านอาจารย์ยากุซาน ก็ได้แสดงธรรมอยู่ทุกวินาทีอยู่แล้ว หากแต่ว่าพระศิษย์ของท่านในวัด ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นเองเท่านั้น


ฐิตา:



โทสัคติ

สมัยก่อน ตามแถบชานเมืองหรือตามชนบทในประเทศเรา มักจะนิยมฟังพระเทศน์แบบหลายธรรมมาส เช่น 2 หรือ 3 ธรรมมาส ในทำนองปุจฉา วิสัชนา ถาม ตอบกัน มากกว่าจะฟังพระเทศน์องค์เดียวแบบในปัจจุบัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว แถบชานเมืองกรุงเทพฯ นี่เอง วันนั้นชาวบ้านต่างนิมนต์พระที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์ที่ตนเองชื่นชอบมาแสดงธรรมเรื่อง "อาทิตตปริยายสูตร" โดยพระทั้งสามรูปต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน สมัยนั้น ขอให้ทราบว่าจะเทศน์เรื่องอะไรเท่านั้น ท่านก็สามารถแสดงธรรมได้ โดยใช้ความสามารถและปฎิภาณของตนเองซักไซ้ไล่เรียงจนผู้ที่นั่งฟังรู้แจ่มแจ้งก่อนเทศน์ พระท่านก็จะมีการสมมุติมอบหมายหน้าที่กัน ปกติองค์กลาง จะรับหน้าที่เป็นผู้ถาม ซักไซ้ไล่เรียง ที่เหลือองค์ซ้ายและองค์ขวาจะมีหน้าที่วิสัชนา ตอบชี้แจงให้เข้าใจ องค์กลาง เมื่อรับหน้าที่ ก็ดำเนินการซักถามองค์ซ้ายมือก่อนเกี่ยวกับเรื่อง "ไฟคือราคะ" ทั้งสององค์ซักถามโต้ตอบกันด้วยปฎิภาณเป็นที่เฮฮาถูกใจญาติโยมเป็นอย่างยิ่งจากนั้น ท่านองค์กลางก็หันมาถามท่านองค์ขวามือ ขอให้วิสัชนา "โทสัคติ" ไฟคือโทสะว่าเป็นอย่างไร ท่านองค์ที่สามนั่งฟังท่าน 2 องค์แรกโต้ตอบกันอย่างเงียบๆ โดยดุษฎี พอถูกถามว่าโทสะคืออะไร แทนที่ท่านจะเจื้อยแจ้วเทศน์ตามธรรมเนียม ท่านกลับนั่งนิ่งเงียบ ได้แต่จ้องมองดูท่านองค์กลางอย่างไม่วางตา สร้างความอึดอัดให้กับท่านองค์กลาง และญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง สักพักท่านองค์ที่สามก็เอ่ยเสียงต่ำๆ ไม่ดังนักว่า

"ส้นตีน !" แล้วจ้องตาเป๋งไปที่ท่านองค์กลาง

ทุกคนตกตลึงไปหมด ท่านองค์กลางหน้าตาแดงก่ำไม่ยอมสบตากับใคร นั่งกระสับกระส่ายอยู่บนธรรมมาส ครู่หนึ่งพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านองค์ที่สามก็เทศน์วิสัชชนาเกี่ยวกับไฟคือโทษะต่อไปอย่างหน้าตาเฉย

คำสั้นๆ เพียงคำเดียว แสดงความหมายได้อย่างชัดเจน แนวการสอนแบบเซ็น จะใช้วิธีพุ่งเข้าหาจุดหมายโดยไม่ใช้วิธีการอ้อมค้อมให้เสียเวลา ท่านคิดว่าท่านมั่นคงและกล้าพอที่จะรับการสอนแบบนี้ได้หรือยัง ?


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version