ผู้เขียน หัวข้อ: พระโปฐิละเถระ พระผู้เป็นแบบอย่างในการละวางมานะทิฏฐิ  (อ่าน 2206 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐


๕. เรื่องพระโปฐิลเถระ [๒๐๘]


ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระนามว่าโปฐิละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยคา เว" เป็นต้น.

รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด
         
ดังได้สดับมา พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระศาสดาทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า "เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตน เราจักยังเธอให้สังเวช."

จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ย่อมตรัสกะพระเถระนั้น ในเวลาที่พระเถระมาสู่ที่บำรุงของพระองค์ว่า "มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ตรัสว่า "คุณใบลานเปล่าไปแล้ว."

พระโปฐิละนั้นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า "คุณใบลานเปล่า" พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้."

ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม" จัดแจงบาตรและจีวรเองทีเดียว ได้ออกไปพร้อมด้วยภิกษุผู้เรียนธรรม แล้วออกไปภายหลังภิกษุทั้งหมดในเวลาใกล้รุ่ง. พวกภิกษุนั่งสาธยายอยู่ในบริเวณ ไม่ได้กำหนดท่านว่า "อาจารย์." พระเถระไปสิ้น ๑๒๐ โยชน์แล้ว, เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม."

พระสังฆเถระ. "ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งอะไรชื่อว่าอันพวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉน ท่านจึงพูดอย่างนี้?"

พระโปฐิละ. ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม.

วิธีขจัดมานะของพระโปฐิละ

ก็พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น. ลำดับนั้น พระมหาเถระส่งพระโปฐิละนั้นไปสู่สำนักพระอนุเถระ ด้วยคิดว่า "ภิกษุนี้มีมานะ เพราะอาศัยการเรียนแท้." แม้พระอนุเถระนั้นก็กล่าวกะพระโปฐิละนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ถึงพระเถระทั้งหมด เมื่อส่งท่านไปโดยทำนองนี้ ก็ส่งไปสู่สำนักของสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด ซึ่งนั่งทำกรรมคือการเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน. พระเถระทั้งหลายนำมานะของท่านออกได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

พระโปฐิละหมดมานะ

พระโปฐิละนั้นมีมานะอันพระเถระทั้งหลายนำออกแล้ว จึงประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรแล้วกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม."

สามเณร. ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นคนแก่ เป็นพหูสูต เหตุอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ในสำนักของท่านพระโปฐิละ. ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้.

สามเณร. ท่านขอรับ หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ไซร้ ผมจักเป็นที่พึ่งของท่าน.

พระโปฐิละ. ผมเป็นได้ ท่านสัตบุรุษ, เมื่อท่านกล่าวว่า "จงเข้าไปสู่ไฟ" ผมจักเข้าไปแม้สู่ไฟได้ทีเดียว.

พระโปฐิละปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสามเณร


ลำดับนั้น สามเณรจึงแสดงสระๆ หนึ่งในที่ไม่ไกล แล้วกล่าวกะท่านว่า "ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้."

จริงอยู่ สามเณรนั้น แม้รู้ความที่จีวรสองชั้นซึ่งมีราคามาก อันพระเถระนั้นนุ่งห่มแล้ว เมื่อจะทดลองว่า "พระเถระจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่" จึงกล่าวอย่างนั้น.

แม้พระเถระก็ลงไปด้วยคำๆ เดียวเท่านั้น.

ลำดับนั้น ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "มาเถิด ท่านขอรับ" แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำๆ เดียวเท่านั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง, บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม๑- นี้ไว้ในมโนทวาร."

ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น.

พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ" แล้วจึงหยั่งลงในกรชกาย๒- ปรารภสมณธรรม.

ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา

พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์เทียว ทอดพระเนตรดูภิกษุนั้นแล้วดำริว่า "ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดินด้วยประการใดแล, การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร." แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้น

ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๕.

โยคา เว ชายตี ภูริ   
   

อโยคา ภูริสงฺขโย

เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา   

ภวาย วิภวาย จ

ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย   
   
ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.


ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล, ความสิ้นไปแห่ง

ปัญญาเพราะการไม่ประกอบ, บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความ

เจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้.

แก้อรรถ ;

           บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยคา ความว่า เพราะการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์ ๓๘.

             คำว่า "ภูริ" นั่น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันกว้างขวาง เสมอด้วยแผ่นดิน. ความพินาศ ชื่อว่า ความสิ้นไป.

             สองบทว่า เอตํ เทวฺธา ปถํ คือ ซึ่งการประกอบและการไม่ประกอบนั่น.

             บาทพระคาถาว่า ภวาย วิภวาย จ คือ แห่งความเจริญและความไม่เจริญ.

             บทว่า ตถตฺตานํ ความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ โดยประการที่ปัญญา กล่าวคือภูรินี้จะเจริญขึ้นได้.

             ในกาลจบพระคาถา พระโปฐิลเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้. เรื่องพระโปฐิลเถระ   
             

             จบ.             

------------------------

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐

____________________________
๑-๑. คำว่า กรรม ในที่นี้ ได้แก่ บริกรรม หรือกัมมัฏฐาน.

๒-๒. แปลว่า ในกายบังเกิดด้วยธุลี มีในสรีระ.

http://www.84000.org

ออฟไลน์ ต๊ะติ้งโหน่ง

  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • ***
  • กระทู้: 259
  • พลังกัลยาณมิตร 76
    • ดูรายละเอียด
 :30: :30: :30:

ไม่ย๊อมไม่ยอม พระไตรปิฎกสามเณรพระอรหันต์ พูดคำหยาบ
วรนุส วรนุส ตะหาก

ต๊ะจะไปฟ้องคุณยายบัวด้วยอ่า

 :30: :30: :30: