อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ชราวรรค)

(1/2) > >>

ฐิตา:

                       

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ชราวรรค)
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกหญิงสหายของนางวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท เป็นต้น

พวกผู้ชาย 500 คนในกรุงสาวัตถี ได้นำภรรยาของตนๆมามอบให้นางวิสาขามหาอุบาสิกา ช่วยขัดเกลานิสัยเพื่อให้เป็นแม่บ้านที่ดี และ “เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” หญิงเหล่านี้จึงได้ไปไหนมาไหนกับนางวิสาขา ตามที่ต่างๆ มีที่สวนและที่วัด เป็นต้น อยู่มาวันหนึ่ง นางวิสาขาได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยหญิง 500 นางเหล่านี้ ซึ่งก่อนจะเข้าเฝ้าพวกนางได้แอบดื่มสุราจนเกิดอาการมึนเมาครองสติไม่อยู่ ประจวบพวกนางกับถูกมารเข้าสิงในร่างกาย ก็ถึงกับร้องรำทำเพลงต่อเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาเลยทีเดียว พระศาสดาทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ บันดาลให้เกิดความมืดมนอนธการ หญิงเหล่านั้นเกิดหวาดหวั่นกลัวตาย สุราในท้องจึงคลายฤทธิ์สร่างเมา พระศาสดาทรงหายไปจากบัลลังก์ที่ประทับนั่ง ประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงเปล่งพระรัศมีจากพระอุณณาโลม ทำให้เกิดแสงสว่างไสวเหมือนพระจันทร์ขึ้นพันดวง พระศาสดาได้ตรัสเรียกหญิงเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า “พวกเธอ เมื่อมาสำนักของเรา ประมาทแล้ว หาควรไม่ เพราะความประมาทของพวกเธอนั่นเอง เทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่มารจึงได้ช่อง ให้พวกเธอมีกิริยาอาการวิปริตต่างๆ มีส่งเสียงหัวเราะเป็นต้น ในที่ซึ่งไม่ควรหัวเราะเป็นต้น บัดนี้ พวกเธอทำความอุตสาหะ เพื่อมุ่งให้ไฟมีราคะเป็นต้นดับไป จึงควร”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
โก หิ หาโส กิมานนฺโท
นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ
อนฺธกาเลน โอนทฺธา
ปทีปํ น คเวสถ ฯ

(อ่านว่า)
โก หิ หาโส กิมานันโท
นิดจัง ปัดชะลิเต สะติ
อันทะกาเลนะ โอนัดทา
ปะทีปัง น คะเวสะถะ.

(แปลว่า)
เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์
พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ
เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว
ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง หญิง 500 บรรลุโสดาปัตติผล พระศาสดา ทรงทราบว่าหญิงเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในอจลศรัทธาแล้ว เสด็จลงจากยอดเขาสิเนรุ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์.

ฐิตา:

เรื่องนางสิริมา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางสิริมา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง ที่กรุงราชคฤห์ มีนางนครโสเภณีนางหนึ่งนามว่าสิริมา เป็นผู้มีรูปโฉมงดงามมาก วันหนึ่ง นางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระศาสดาแล้วสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่นั้นมานางจะจัดอาหารถวายพระสงฆ์ 8 รูปที่บ้านของนางทุกวันมิได้ขาด พระภิกษุที่ไปรับอาหารบิณฑบาตกลับมาก็จะพากันสรรเสริญเยินยอในความสวยงามของ นางและในความอร่อยของรสอาหารและปริมาณของอาหารที่นางจัดมาถวายด้วยตนเอง มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้ข่าวนี้แล้วก็เกิดหลงรักนางทั้งๆที่ยังไม่เคย เห็นนางด้วยตาของตนเอง ในวันรุ่งขึ้นภิกษุหนุ่มรูปนี้ได้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของนางพร้อมกับภิกษุอื่นๆ วันนั้น นางสิริมาไม่ค่อยสบายแต่นางต้องการไหว้พระภิกษุจึงได้ให้คนพยุงนางเดินมา ภิกษุหนุ่มเห็นนางก็คิดว่า นี่ขนาดนางป่วยอยู่นะ ยังสวยงามถึงขนาดนี้ หากเป็นปกติคงจะสวยงามมาก ก็เลยบังเกิดความรักอย่างแรงกล้าในนาง ถึงกับไม่ยอมฉันอาหาร ปล่อยให้ข้าวในบาตรบูดเน่า

และในคืนนั้นเอง นางสิริมาได้เสียชีวิต พระเจ้าพิมพิสารได้ไปเข้ากราบทูลพระศาสดาว่า นางสิริมาซึ่งเป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจ ได้เสียชีวิต พระศาสดาตรัสกะพระเจ้าพิมพิสารว่า ให้ทรงดำเนินการนำศพของนางสิริมาไปเก็บไว้ในป่าช้า ยังไม่ต้องนำไปฝัง เป็นเวลา 3 วัน ในช่วง 3 วันนี้ให้คอยระแวดระวังมิให้แร้งกาหรือสุนัขกินศพนาง พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงปฏิบัติตามที่พระศาสดาทรงแนะนำ พอถึงวันที่ 4 ร่างของนางสิริมาผู้เลอโฉมก็มิได้สวยงามและเป็นที่ปรารถนาของใครๆ เพราะมีสภาพเน่าเฟะและมีตัวหนอนไหลออกมายั้วเยี้ยจากทวารทั้ง 9 ในวันที่ 4 นี้เอง พระศาสดาทรงพาพระภิกษุไปยังป่าช้าแห่งนั้น เพื่อดูซากศพของนาง พระเจ้าพิมพิสารก็ได้เสด็จไปพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งหลายด้วย ภิกษุหนุ่มที่หลงรักนางสิริมายังไม่ทราบว่านางมาเสียชีวิต เมื่อได้ข่าวว่าพระศาสดาจะพาพระภิกษุทั้งหลายไปดูนาง ก็ได้ขอร่วมเดินทางไปด้วย ณ ที่ป่าช้าแห่งนั้น ซากศพของนางสิริมาจึงถูกแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์อันมีพระศาสดาเป็นประมุข รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพาร

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเที่ยวป่าวประกาศ โฆษณาว่า จะขายนางสิริมาในราคา 1,000 กหาปณะ แต่ก็ไม่มีใครประสงค์จะซื้อนางสิริมาในราคา 1,000 กหาปณะตามที่ประกาศ แม้จะรับสั่งให้ป่าวประกาศลดราคาลงมาเป็น 500 กหาปณะ 250 กหาปณะ 200 กหาปณะ 100 กหาปณะ 50 กหาปณะ 25 กหาปณะ 10 กหาปณะ 5 กหาปณะ 1 กหาปณะ ครึ่งกหาปณะ 1 บาท 1 มาสก 1 กากนิก ตามลำดับ ก็ไม่มีใครประสงค์จะซื้อ ในที่สุดแม้จะรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า “จงเอาไปเปล่าๆก็ได้” ก็ไม่มีใครแสดงตัวต้องการจะซื้อ เมื่อพระเจ้าพิมพิมพิสารกราบทูลเรื่องนี้แก่พระศาสดาแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงดูมาตุคามซึ่งเป็นที่รักของมหาชน ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในพระนครนี้แล ให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ได้อภิรมย์วันหนึ่ง บัดนี้ แม้ผู้จะรับเอาเปล่าๆก็ไม่มี รูปเห็นปานนี้ ถึงความสิ้นและความเลื่อมแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงดูอัตภาพอันอาดูร”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ
อรุกายํ สมุสฺสิตํ
อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ
ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ ฯ

(อ่านว่า)
ปัดสะ จิดตะกะตัง พิมพัง
อะรุกายัง สะมุดถิตัง
อาตุรัง พะหุสังกับปัง
ยัดสะ นัดถิ ทุวัง ถิติ.

(แปลว่า)
เธอจงดูอัตภาพ ที่ไม่มีความยั่งยืน
และความมั่นคง อันกรรมทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล อันกระดูก 300 ท่อนยกขึ้นแล้ว
อันอาดูร ที่มหาชนครุ่นคิดแล้วโดยมาก.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรมได้มีแล้วแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน แม้ภิกษุรูปนั้น ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.

ฐิตา:

เรื่องพระอุตตราเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุตตราเถรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปริชิณฺณมิทํ รูปํ เป็นต้น

พระอุตตราเถรี ซึ่งชราภาพมีอายุ 120 ปี ในวันหนึ่งขณะเดินกลับจากบิณฑบาต พบภิกษุรูปหนึ่ง จึงนิมนต์ให้รับภัตตาหารที่นางบิณฑบาตมาได้ ภิกษุรูปนั้นไม่พูดว่าอะไร พระเถรีจึงถวายภัตตาหารจนหมดบาตร วันนั้นพระเถรีจึงไม่ได้ฉันอาหาร และพระเถรีก็ได้ทำเช่นเดียวกันนั้นในวันที่ 2 และวันที่ 3 เมื่อพระเถรีอดอาหารติดต่อกันสามวันก็หมดเรี่ยวแรง พอถึงวันที่สี่ ขณะเดินบิณฑบาต พบพระศาสดาในที่แคบๆแห่งหนึ่ง พระเถรีจึงถอยหลังเพื่อหลีกทางให้พระศาสดา และได้เหยียบชายจีวรของตัวเองที่ห้อยลงมา เกิดการซวนเซหกล้ม พระศาสดาเสด็จไปใกล้พระเถรีแล้วตรัสว่า “น้องหญิง อัตภาพของเธอแก่หง่อมแล้ว ต่อกาลไม่ช้านัก ก็จะแตกสลายไป”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปริชิณฺณมิทํ รูปํ
โรคนิทฺธํ ปภงฺคุณํ
ภิชฺชติ ปูติ สนฺเทโห
มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ ฯ

(อ่านว่า)
ปะริชินนะมิทัง รูปัง
โรคะนิดทัง ปะพังคุนัง
พิดชะติ ปูติ สันเทโห
มะระนันตัง หิ ชีวิตัง.

(แปลว่า)
รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เปื่อยพัง
กายของตนเป็นของเน่า จักแตก
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระเถรีบรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องพระอธิมานิกภิกษุ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้มีความสำคัญว่าตนได้บรรลุพระอรหัตตผลหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยานีมานิ เป็นต้น

ภิกษุ 500 รูป หลังจากเรียนหัวข้อพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็พากันเข้าไปอยู่ในป่า และได้พากเพียรพยายามปฏิบัติสมาธิภาวนางอย่างเข้มแข็ง จนได้บรรลุฌาน เกิดความสำคัญว่า “กิจบรรพชิตของเราสำเร็จแล้ว” กล่าวคือ เห็นว่าพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางกลับจะไปกราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ เมื่อภิกษุเหล่านั้นเดินทางถึงซุ้มประตูชั้นนอกของพระเชตวัน พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า “ไม่มีประโยชน์ที่พระเหล่านั้นจะมาเฝ้าเราในขณะนี้ ขอให้พระเหล่านั้นไปอยู่ที่ป่าช้าก่อน แล้วค่อยมาเฝ้าเราในภายหลัง” พระเถระได้ไปแจ้งความข้อนั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น และพระภิกษุเหล่านั้นก็มิได้โต้แย้งใดๆ เพราะคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นกาลไกล ทรงทราบเหตุการณ์ทุกอย่าง พระองค์ต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง จึงทรงแนะนำให้พวกเราไปพักอยู่ในป่าช้า เช่นนี้ ก็จึงพากันไปอยู่ในป่าช้า เมื่อไปพบเห็นศพในป่าช้าที่ถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 วัน ก็เกิดการรังเกียจ แต่พอไปเห็นศพที่เสียชีวิตใหม่ๆ ก็เกิดความกำหนัด ถึงตอนนี้จึงรู้ตัวว่าพวกตนยังมีกิเลสอยู่ พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงฉายพระรัศมีไปดุจตรัสอยู่เฉพาะหน้าของภิกษุเหล่านั้น ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเห็นร่างกระดูกเช่นนั้น ยังความยินดีด้วยอำนาจราคะให้เกิดขึ้น ควรละหรือ?”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยานีมานิ อปตฺถานิ
อลาพูเนว สารเท
กาโปตกานิ อฏฺฐีนิ
ตานิ ทิสฺวาน กา รติ ฯ

(อ่านว่า)
ยานิมานิ อะปัดถานิ
อะลาพูเนวะ สาระเท
กาโปตะกานิ อัดถีนิ
ตานิ ทิดสะหวานะ การะติ.

(แปลว่า)
กระดูกเหล่านี้ใด อันเขาทิ้งเกลื่อนกลาด
ดุจน้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ
ความยินดีอะไรเล่าจักมี เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล ตามที่ยืนอยู่ ชมเชยพระผู้มีพระภาค มาถวายบังคมแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางรูปนันทาเถรี ซึ่งเป็นนางงามในชนบท ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อัฏฺฐีนํ นครํ กตํ เป็นต้น

พระนางรูปนันทา เป็นพระธิดาของพระนางประชาบดีโคตมี พระน้านางของพระโคดมพุทธเจ้า พระนางมีพระรูปโฉมงดงามมาก จึงได้พระนามว่า รูปนันทา พระนางเสกสมรสกับเจ้าชายนันทะ พระเจ้าหลานของพระโคดมพุทธเจ้า วันหนึ่ง พระนางทรงดำริว่า เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติออกผนวช เป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก แม้โอรสของพระองค์ทรงนามว่าราหุลกุมาร ก็ผนวชแล้ว แม้เจ้าพี่ของเรา (คือพระนันทะ) ก็ผนวชแล้ว แม้มารดาของเรา ก็ทรงผนวชแล้ว เมื่อคณะพระญาติทั้งหลายล้วนทรงผนวชแล้วเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรกับการอยู่ครองเรือนของเรา เราเองก็จักบวชบ้าง” เมื่อทรงคิดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ไปผนวชเป็นภิกษุณีอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี การที่พระนางผนวชเป็นภิกษุณีครั้งนี้ จึงมิใช่ผนวชเพราะศรัทธา แต่เป็นการผนวชตามพระญาติเท่านั้นเอง

พระนางได้ทรงสดับว่า พระศาสดาตรัสสอนอยู่เนืองๆว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่กล้าจะเสด็จเฝ้าพระศาสดา ด้วยทรงเกรงว่า พระศาสดาจะตรัสโทษของความงามของพระนาง แต่พวกภิกษุณีและอุบาสิกาที่ได้ไปเฝ้าพระศาสดาและกลับมาแล้วก็ต่างกล่าว สรรเสริญคุณของพระศาสดากันทั้งนั้น วันหนึ่ง พระนางจึงตกลงใจที่จะเดินทางไปที่วัดพระเชตวันกับเหล่าภิกษุณีทั้งหลาย

พระศาสดาทรงทราบล่วงหน้าว่าพระนางรูปนันทาจะเสด็จมา จึงได้ทรงเตรียมการที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กับพระนาง กล่าวคือ เมื่อพระนางยึดติดในรูปกายของตนและมีความภาคภูมิใจกับความงามของตนเช่นนี้ ก็ควรที่พระองค์จะทรงถอนความภาคภูมิใจและความยึดติดของพระนางโดยการใช้ ความงามเป็นเครื่องแก้ ดังนั้น เมื่อพระนางเดินทางมาถึงวัดพระเชตวัน พระศาสดาจึงทรงเนรมิตหญิงงามมากผู้หนึ่ง อายุราว 16 ปี สวมใส่ชุดแดง ประดับด้วยอาภรณ์งดงามหลากชนิด ถือพัด ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ ซึ่งรูปเนรมิตนี้สามารถมองเห็นได้โดยพระองค์เองและพระนางเท่านั้น พอพระนางทอดพระเนตรเห็นหญิงงามคนนั้น ก็เกิดความรู้สึกว่าเมื่อเทียบความงามกันแล้ว พระนางทรงมีความงามน้อยกว่าหญิงคนนั้น ขณะที่พระนางจ้องพระเนตรไปที่นางงามนางนั้น รูปของนางงามนั้นก็เปลี่ยนแปลงจากอายุ 16 ปีเป็นหญิงในวัย 20 ปีด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระศาสดา และเมื่อพระนางจ้องพระเนตรมองไปที่ร่างของหญิงนั้นอีก

ร่างของหญิงที่ถวายงานพัดอยู่นั้นนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากหญิงวัย 20 ปีเปลี่ยนเป็นหญิงวัยชรา มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง ถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน จากหญิงวัยชราหง่อมนั้นเปลี่ยนเป็นหญิงชราที่ป่วยหนัก กลิ้งเกลือกไปมาที่อุจจาระและปัสสาวะของตนเอง และถึงแก่ความตายในที่สุด พอทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นฉากๆตามลำดับเช่นนี้แล้ว พระนางรูปนันทาก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงว่า หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่สุด แม้ร่างกายของพระนางก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ย่อมมีอันจะต้องแก่ ต้อง เจ็บ และต้องตายไปเหมือนกัน พอมาถึงตอนนี้ พระศาสดาได้ตรัสสอนพระนางถึงความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์(ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน(อนัตตา)ของสังขารทั้งหลาย พอทรงแสดงธรรมเรื่องนี้จบลง พระนางก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ลำดับต่อมา พระศาสดาได้ทรงแสดงสุญญตกัมมัฏฐาน เพื่ออบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลสูงกว่าให้บังเกิดขึ้นแก่พระนาง โดยตรัสว่า “นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า สาระในสรีระนี้มีอยู่ เพราะสาระในสรีระนี้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี สรีระนี้ อันกรรมยกกระดูก 300 ท่อนขึ้น สร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย”

จากนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อฏฺฐีนํ นครํ กตํ
มํสโลหิตเลปนํ
ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ
มาโน มกฺโข จ โอหิโต ฯ

(อ่านว่า)
อัดถีนัง นะคะรัง กะตัง
มังสะโลหิตะเลปะนัง
ยัดถะ ชะรา จะ มัดจุ จะ
มาโน มักโข จะ โอหิโต.

(แปลว่า)
สรีระ อันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย
ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ
มานะ และมักขะ.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระนางรูปนันทาเถรี ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แก่มหาชน.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version