อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ชราวรรค)
ฐิตา:
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมัลลิกาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ชีรนฺติ เ ว ราชรถา สุจิตฺตา เป็นต้น
วันหนึ่ง พระนางมัลลิกาเทวี พระราชเทวีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปในห้องสรงสนาน ทรงชำระพระโอษฐ์แล้ว ทรงน้อมพระสรีระลงเพื่อจะชำระพระชงฆ์ มีสุนัขตัวโปรดตัวหนึ่ง เข้าไปพร้อมกับพระนาง พอมันเห็นพระนางน้อมพระสรีระลงเช่นนั้น จึงเข้าไปประกบเสพสมกับพระนางทางเบื้องหลัง พระนางทรงยินดีและพึงพอใจกับการกระทำของมัน จึงได้ประทับยืนนิ่งเพื่อรับการเสพสมนั้น พระราชาทรงทอดพระเนตรทางพระแกลในปราสาทชั้นบน ทรงเห็นการกระทำอันพิลึกพิลั่นนั้น และในเวลาที่พระนางเทวีเสด็จออกมาจากที่สรงสนานนั้น จึงตรัสว่า “หญิงถ่อย เจ้าไปทำอะไรกับสุนัขในห้องน้ำมาใช่หรือไม่ ?” “หม่อมฉันไปทำอะไรหรือ เพคะ” “ก็ไปเสพสมกับสุนัขมานะสิ” “เป็นไปไม่ได้ดอก เพคะ” “พี่เห็นมากับตา ไม่ต้องมาแก้ตัว อีหญิงถ่อย” “
หากพระองค์ไม่เชื่อหม่อมฉัน ก็ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังที่สรงสนานนั้นเถิด หม่อมฉันจะแลดูพระองค์ทางพระแกลนี้” พระราชาทรงหลงกลของพระเทวี เสด็จเข้าไปยังห้องสรงสนานนั้น ฝ่ายพระเทวีทรงยืนทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล ทูลว่า “พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสพสมกับแม่แพะ” แม้พระราชาจะทรงปฏิเสธว่าพระองค์มิได้ทรงกระทำเช่นนั้น พระนางก็ทรงยืนยันว่าพระนางเห็นด้วยดวงเนตรของพระนางอย่างนั้นจริงๆ พระราชาทรงสดับคำของพระเทวี ก็ทรงเชื่อว่า ผู้เข้าไปยังที่สรงสนานแห่งนั้น แม้จะเข้าไปผู้เดียว ก็จะปรากฏเป็นสองคน ตั้งแต่วันนั้นมาพระเทวีมีความเสียพระทัยที่ได้ทรงกล่าวเท็จกับพระราชา ว่าทรงมีเพศสัมพันธ์กับแม่แพะ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเทวีในเวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์ แทนที่พระนางจะทรงนึกถึง อสทิสทาน (ท่านล้ำเลิศหาทานใดเสมอเหมือนมิได้) ที่พระนางเคยทำร่วมกันกับพระราชา ก็กลับไประลึกถึงกรรมชั่วที่เคยกล่าวเท็จเมื้อครั้งเสพสมกับสุนัขนั้น พอสิ้นพระชนม์ ก็จึงไปบังเกิดในอเวจีนรก
หลังจากพระราชารับสั่งให้พระราชทานเพลิงพระศพของพระนางแล้ว ก็ทรงครุ่นคิดอยู่เสมอว่า จะทรงกราบทูลถามพระศาสดาถึงสถานที่บังเกิดใหม่ของพระเทวี แต่พระศาสดาได้ทรงบันดาลให้พระราชาทรงลืมถึงเรื่องที่จะทูลถามนั้นทุกครั้ง ที่ท้าวเธอเสด็จมา เป็นเวลา 7 วัน ที่พระศาสดาทรงกระทำเช่นนี้ ก็เพราะไม่ทรงต้องการทำลายความรู้สึกของพระราชา และไม่ทรงต้องการให้พระราชาสิ้นศรัทธาในพระศาสนา ด้วยเหตุทรงเข้าพระทัยผิดว่า คนที่บำเพ็ญกุศลไว้มากมายอย่างพระนางเทวีไปเกิดในอเวจี ซึ่งท้าวเธอก็จะทรงคิดต่อไปว่า แล้วอย่างนี้ท้าวเธอก็ควรเลิกนิตยภัตที่ทรงพระราชทานแก่ภิกษุสงฆ์ 500 รูปในพระราชวังเสียทั้งหมด แต่พอถึงวันที่ 8 พระเทวีทรงสิ้นกรรมในอเวจีนรกแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ในวันนี้พระศาสดาทรงดำเนินไปเพื่อบิณฑบาต ได้เสด็จไปยังประตูพระราชวัง เพียงลำพังพระองค์เดียว และได้ทรงแสดงทีท่าว่าจะประทับนั่งในโรงรถ พระราชาจึงทูลอัญเชิญพระศาสดาให้ประทับนั่ง ณ ที่นั้น หลังจากที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลถามถึงที่เกิดใหม่ของพระเทวี เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “ในดุสิตภพ มหาบพิตร” พระราชาทรงสดับแล้วก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กราบทูลว่า หากคนดีมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างพระนางมัลลิกาเทวีไม่ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้น ดุสิต คนอื่นใครเล่าจะไปบังเกิดได้ และได้กราบทูลด้วยว่า หลังจากที่พระนางเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวเธอรู้สึกว่าร่างกายจะไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า พระศาสดาจึงตรัสกับท้าวเธอว่า อย่าทรงคิดมากไปเลย นี้เป็นธรรมอันแน่นอนของสัตว์ทุกจำพวก แล้วตรัสต่อไปว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูรถของพระเจ้าปู่ของพระองค์ ว่าคร่ำคร่ากว่ารถของพระชนกของพระองค์ และรถของพระชนกของพระองค์ก็คร่ำคร่ากว่ารถของพระองค์เอง ความคร่ำคร่าบังเกิดแม้แก่ท่อนไม้ที่เขาเอามาทำเป็นรถได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงว่าความคร่ำคร่าจะไม่มาถึงสรีระร่างกายของคนเรา มหาบพิตร ความจริง ธรรมของสัตบุรุษเท่านั้น ไม่มีความชรา ส่วนสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าไม่ชรา ย่อมไม่มี”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา
อถ สรีรมฺปิ ชรํ อุเปติ
สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ
สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ฯ
(อ่านว่า)
ชีรันติ เว ราชะระถา สุจิดตา
อะถะ สะรีรัมปิ ชะรัง อุเปติ
สะตันเจ ทำโม นะ ชะรัง อุเปติ
สันโต หะเว สับพิ ปะเวทะยันติ.
(แปลว่า)
ราชรถ ที่วิจิตรดี ยังคร่ำคร่าได้แล
อนึ่ง ถึงสรีระ ก็ย่อมถึงความคร่ำคร่า
ธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงความคร่ำคร่าไม่
สัตบุรุษทั้งหลายแล ย่อมปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องพระโลฬุทายีเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส เป็นต้น
พระโลฬุทายี เมื่อรับนิมนต์ไปที่บ้านของประชาชนที่เขาจัดงานมงคล ก็จะสวดบทมนต์สำหรับใช้ในงานอวมงคล เช่น ติโรกุฑฑสูตร ที่ขึ้นต้นว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐฺนติ เป็นต้น แต่เมื่อไปในงานอวมงคล เมื่อควรสวดด้วยติโรกุฑฑสูตร กลับสวดด้วยมงคลกถา ที่มีข้อความเป็นต้นว่า ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ หรือ รัตนสูตร ที่มีข้อความเป็นต้นว่า ยงฺกิญจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา เป็นต้น พวกภิกษุทั้งหลาย ฟังบทสวดของท่านแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดา ให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า พระโลฬุทายีควรกล่าวนี้ แต่ไพล่ไปกล่าวเสียอีกอย่าง เป็นการกระทำที่มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในชาตินี้ แม้แต่ในอดีตชาติพระโลฬุทายีก็เคยกระทำเช่นนี้มาเหมือนกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าสนใจจะได้ฟังอดีตชาติของพระโลฬุทายี พระศาสดาจึงทรงนำมาเล่าให้ฟัง แล้วสรุปในช่วงท้ายว่า “ภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีนี้ เมื่อคำอื่นอันตนควรพูด ก็ไพล่พูดคำอื่นเสีย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็พูดแล้ว เพราะความที่ตนเป็นคนมีธรรมได้สดับน้อย เพราะว่าคนมีสุตะน้อย ชื่อว่าเหมือนโคถึก”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส
พลิพทฺโทว ชีรติ
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ
ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒนฺติ ฯ
(อ่านว่า)
อับปัดสุตายัง ปุริโส
พะลิพัดโท วะ ชีระติ
มังสานิ ตัดสะ วัดทันติ
ปันยา ตัดสะ นะ วัดทันติ.
(แปลว่า)
คนมีสุตะน้อย
ย่อมแก่เหมือนโคถึก
เนื้อของเขาย่อมเจริญ
แต่ปัญญาของเขาหาเจริญไม่.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องปฐมโพธิกาล
พระศาสดา เมื่อประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระหฤทัย ในกาลต่อมา พระอานนทเถระทูลถาม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อเนกชาติสํสารํ เป็นต้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารแล้ว ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดปุพเพนิวาสญาณ ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพจักษุให้หมดจดแล้ว ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงหยั่งพระญาณลงในปัจจยาการแล้ว ทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น ทั้งในส่วนของอนุโลม และปฏิโลม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณพร้อมด้วยมหัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทาน ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องตรัส
จึงได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อเกชาติสํสารํ
สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต
ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏฺโฐติ
ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา
คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ
ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ฯ
(อ่านว่า)
อะเนกะชาติสังสารัง
สันทาวิดสัง อะนิบพิสัง
คะหะการัง คะเวสันโต
ทุกขา ชาติ ปุนับปุนัง
คะหะการะกะ ทิดโถติ
ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ
สับพา เต ผาสุกา พักคา
คะหะกูตัง วิสังขะตัง
วิสังขาระคะตัง จิดตัง
ตันหานัง ขะยะมัดชะคา.
(แปลว่า)
เราแสวงหาช่างทำเรือน เมื่อไม่ประสบ
จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสาร มีชาติเป็นอเนก
ความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน
เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้.
ซี่โครงทุกซี่ของท่าน เราหักเสียแล้ว
ยอดเรือน เราก็รื้อเสียแล้ว
เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว.
ฐิตา:
เรื่องบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก
พระศาสดา เมื่อประทับนั่งที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ เป็นต้น
บุตรชาย ของเมหาธนศรษฐีในกรุงพาราณสี ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเมื่อตอนที่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อตอนเติบโตเป็นหนุ่ม ได้แต่งงานกับบุตรสาวของเศรษฐี ซึ่งก็เป็นหญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเขา เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตแล้ว ทั้งสองคนได้เป็นทายาทรับมรดกตกทอดจากตระกูลเศรษฐีของตนๆเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรัพย์สินที่นำมารวมกันมีจำนวนมากมาย แต่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างเป็นคนไม่มีความรู้ด้านหนังสือ รู้อย่างเดียวคือรู้แต่วิธีการใช้แต่เงิน ไม่รู้วิธีจะเก็บรักษาเงิน หรือวิธีทำเงินให้งอกเงย ทั้งสองคนจึงเอาแต่กิน ดื่ม และสนุกสนาน ล้างผลาญเงินทองที่มีอยู่ เมื่อเงินทองที่มีอยู่หมดสิ้นแล้ว ทั้งสองก็ได้ขายทรัพย์สินต่างๆ เช่น เรือกสวนไร่นา ตลอดจนบ้านเรือน และในที่สุดทั้งสองคนก็กลายเป็นคนยากจนอนาถา และเพราะเหตุที่ทั้งสองคนไม่รู้วิธีที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใด จึงได้ยึดอาชีพเป็นขอทาน
อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นบุตรชายของเศรษฐียืนอยู่ที่ประตูโรงฉัน คอยรับเศษอาหารที่ภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อยให้ จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ได้กราบทูลถามถึงสาเหตุของการที่ทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น พระศาสดาตรัสว่า “ อานนท์ เธอจงดูบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากผู้นี้ ผลาญทรัพย์เสีย 160 โกฏิ พาภรรยาเที่ยวขอทานอยู่ในพระนครนี้แล ก็ถ้าบุตรเศรษฐีนี้ ไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดสิ้น จักประกอบการงานในปฐมวัย ก็จักได้เป็นเศรษฐีชั้นเลิศในนครนี้แล แลถ้าจักออกบวช ก็จักบรรลุอรหัต แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในอนาคามิผล ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดไป จักประกอบการงานในมัชฌิมวัย จักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ 2 ออกบวช จักเป็นอนาคามี แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในสกิทาคามิผล ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้สิ้นไป ประกอบการงานในปัจฉิมวัย จักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ 3 แม้ออกบวช ก็จักได้เป็นสกิทาคามี แม้ภรรยาของเขา ก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แต่เดี๋ยวนี้ บุตรเศรษฐีนั่น ทั้งเสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ ทั้งเสื่อมแล้วจากสามัญผล ก็แลครั้นเสื่อมแล้ว จึงเป็นเหมือนนกกะเรียนในเปือกตมแห้งฉะนั้น”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ
อลทฺธา โยพฺพเน ธนํ
ชิณฺณโกญจาวฌายนฺติ
ขีณมจฺเฉว ปลฺลเล ฯ
(อ่านว่า)
อะจะริดตะวา พรัมมะจะริยัง
อะลัดทา โยบพะเน ทะนัง
ชินนะโกนจาวะชายันติ
ขีนะมัดเฉ ปันละเล.
(แปลว่า)
พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว
ย่อมซบเซาดังนกกะเรียนแก่
ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลา ฉะนั้น.
อจริตฺวา พฺรหฺมจริยํ
อลทฺธา โยพฺพเน ธนํ
เสนติ จาลาติขีณาว
ปุราณานิ อนุตฺถุนํ ฯ
(อ่านว่า)
อะจะริดตะวา พรัมมะจะริยัง
อะลัดทา โยบพะเน ทะนัง
เสนติ จาลาติขีณาวะ
ปุรานานิ อะนุดถุนัง.
(แปลว่า)
พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว
ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า
เหมือนลูกศรที่ตกจากแล่ง ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
นำมาแบ่งปันโดย :
baby@home :http://agaligohome.com/index.php?topic=4633.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version