ผู้เขียน หัวข้อ: ฮอลลีวูด จ่อเตรียมรีเมค 13 เกมสยอง ของไทย เปิดกล้องต้นปีหน้า (2555)  (อ่าน 7377 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ฮอลลีวูด จ่อเตรียมรีเมค 13 เกมสยอง ของไทย เปิดกล้องต้นปีหน้า (2555)


หนังไทยเรื่อง 13 เกมสยอง ฉบับรีเมคโดยฝีมือฮอลลีวูด ได้ตัวผู้กำกับดังร่วมงาน พร้อมเปิดกล้องต้นปีหน้า

ภาพยนตร์ไทยของค่ายใบโพธิ์ สหมงคลฟิล์ม เรื่อง "13 เกมสยอง" (13: Game of Death) ผลงานกำกับของ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักวีรกุลดิ์ หลังถูกฮอลลีวูดซื้อลิขสิทธิ์ไปดองเค็มไว้นานนับปี ล่าสุด จากรายงานของเดดไลน์ เผยถึงความคืบหน้าของโครงการรีเมคนี้ว่า ขณะนี้ได้วางตัว แดเนียล แสตมม์ ผู้กำกับดังจาก The Last Exorcism หนังสยองขวัญที่ถ่ายทำในรูปแบบสารคดี มาทำหน้าที่กุมบังเหียนแล้ว โดยมีแผนเปิดกล้องต้นปีหน้า

นอกจากนี้ บริษัทชื่อไอเอ็ม โกลบอล และ ออโตมาติก (ซึ่งกำลังมีหนังอยู่ในโครงการหลายเรื่อง เช่น Safe ของ เจสัน สแตแธม, Bullet to the Head ของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน และ Welcome to the Punch ของ เจมส์ แม็คเอวอย) ยังรับหน้าที่อำนวยการสร้างร่วมกับ เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชนะรัตนประเสริฐ หัวเรือใหญ่แห่งสหมงคลฟิล์ม

13 เกมสยอง ภาพยนตร์วิพากษ์สังคมชั้นดี ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันของ ภูชิต (กฤษดา สุโกศล หรือ น้อย วงพรู) เซลล์แมนของบริษัทเครื่องดนตรีแห่งหนึ่ง เขาไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเอาเสียเลย ยอดขายตกมาแล้วสามเดือน ไม่มีเงิน ถูกแฟนทิ้ง รถถูกยึด ไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน ภาระจากครอบครัว ฯลฯ ดังนั้น คงจะเพียงแค่เงินเท่านั้นที่จะเป็นทางออกให้กับเขา แล้วโอกาสสุดท้ายในชีวิตก็ถูกหยิบยื่นให้ตรงหน้าโดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิด ในฐานะ "ผู้ถูกเลือก" เมื่อโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เสียงลึกลับจากปลายสายดึงเขาเข้าสู่ "13 BELOVED" เกมท้าทายชีวิตที่มีโจทย์ 13 ข้อ ถ้าเขาสามารถทำได้ครบทั้งหมด จะได้เงินรางวัลสูงถึง 100 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาหยุดเล่นเงินสะสมทั้งหมดจะถูกยกเลิก หากบอกต่อให้คนอื่นรู้เกมถือว่าเป็นโมฆะ และหากพยายามติดต่อกลับหมายเลขดังกล่าวถือว่าเกมสิ้นสุด แต่หารู้ไหมว่า เกมนี้มีชีวิตของเขาและคนรอบข้างเป็นเดิมพัน


" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


บอกกล่าว :

- ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับผู้มีอายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องด้วยเนื้อหาที่รุนแรง มีฉากโหดๆ ดิบๆ และคำสบถมากมาย

- ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มองว่าโลกเป็นสิ่งสวยงามและผู้ที่เชื่อว่าคนดียังมีที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสวนทางกับความเชื่อของคุณอย่างสิ้นเชิง

-----------------------

" คุณเชื่อมั่นในความฝันและอุดมการณ์ที่ดีใช่ไหม? ถ้าผมให้เงินคุณ แล้วให้คุณทิ้งสิ่งนั้นที่คุณเชื่อไปล่ะ คุณจะเอาไหม? "

ผมเชื่อแน่นอนว่าถ้าอยู่ดีๆ ใครก็ไม่รู้ หรือแม้แต่คนที่รู้จักก็เถอะ หากมาถามแบบนี้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงจะตอบผู้ถามไปว่า

" ไม่มีทาง ผมเป็นคนดี ผมไม่ทำเรื่องบ้าๆ แบบนั้นเด็ดขาด "

แน่ล่ะครับ ใครๆ ก็คงจะต้องตอบแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าวันที่มีคนมาถามแบบนี้ เป็นวันที่คุณสิ้นหวังที่สุดล่ะ?

" ย้ำอีกครั้งนะครับ ตอนนี้แฟนคุณมีผัวใหม่ หล่อกว่า รวยกว่า แถมคุณยังตกงาน ค้างค่าเช่าห้อง แม้แต่เพื่อนๆ ของคุณก็ตีจากคุณไปหมด แต่ถ้าคุณเชื่อเรา คุณจะก้าวข้ามวันที่สิ้นหวังนี้ ไปสู่ผู้ชนะและมีอำนาจตลอดกาล เพียงแค่คุณทำตามที่เราบอก จะเอาไหมครับ? "

เอาล่ะสิครับ! ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คุณยังจะศรัทธาในอุดมการณ์ หรือความฝันที่สดใสอีกไหม

และนั่นแหละครับ คือ Concept ที่มาของภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขานกันมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าฉายเสียอีก ภาพยนตร์ที่ถูกก่นด่าตั้งแต่กอง PR ใช้การประชาสัมพันธ์แบบแปลกๆ ที่เอาภาพข่าวอาชญากรรมมาทำ Teaser แล้วก็บอกว่ามันเป็นแค่ " เกม "

ครับ นี่ล่ะครับ เรื่องของ " 13 เกมสยอง " หนังที่ทุกคนกล่าวถึง ณ วันนี้

ผมไม่เคยได้อ่านการ์ตูนต้นฉบับ หรือแม้แต่หนังสั้น " 12 " ผมก็ไม่ได้ดู ดังนั้นหลังจากที่ผมดู " 13 " จบแล้ว บางเรื่องผมก็ยังงงๆ อยู่ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอ ซึ่ง " กัด " โลกยุคใหม่ได้อย่างรุนแรงมากทีเดียว

" ภูชิต! ลูกเอ๊ย ถ้าอยู่ในเมืองหลวงมันลำบากก็กลับมาเถอะ ถึงเราจะไม่รวย แต่เราก็อยู่อย่างมีความสุขได้ "

" ไม่เป็นไรครับแม่ๆ อะไรๆ กำลังจะดีขึ้นแล้วนะครับ "

สำหรับชีวิตของ " ภูชิต " หนุ่มหน้าจืดที่ท่าทางไม่มีพิษภัยกับใคร ชีวิตก็ซ้ำๆ ซากๆ เดิมๆ อยู่กับการเป็นเซลล์ขายเครื่องดนตรี แต่ใครจะรู้ ว่าชีวิตคนๆ นึง จะตกต่ำได้ถึงขีดสุด ขนาดที่จะต้องยอมขายวิญญาณให้ปีศาจกันทีเดียว ผมไม่ได้พูดผิดหรอก เมื่อวันนึง โทรศัพท์ลึกลับก็โทรมาหาเขา พร้อมกับเงื่อนไขที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล

" 13 ข้อ 100 ล้าน "

นี่ล่ะครับ เสียงกระซิบจากปีศาจที่เรียกว่า " เงิน " และ " ความโลภ " หลังจากที่ภูชิตถึงทางตันตามเกมแห่งทุนนิยมไปเสียแล้ว ตรงนี้ ผกก. ใช้สัญลักษณ์ผ่านบทสนทนา โดยคำว่า " เมืองหลวง - เมืองกรุง " แทนโลกแห่งเกม การต่อสู้ แข่งขันเพื่อความร่ำรวย ส่วนคำว่า " ชนบท - ต่างจังหวัด " แทนความยากจน แต่ในความยากจน สิ่งที่ยังมีคือความสุข สงบ และสามัคคีของชุมชน อันเป็นสิ่งที่คนชาวเมืองโดยเฉพาะเมืองหลวงไม่มี ( Comment : พ่อของผมทำงานการประปา สมัยก่อนออกไปเก็บค่าน้ำทำให้ผมทราบความจริงที่ว่า สังคมเมืองนั้นแม้บ้านติดกันยังไม่รู้จักหรือสนิทสนมกัน แต่สังคมชนบทนั้นหมู่บ้านเดียวกันรู้จักกันหมด )

แน่ล่ะครับ คนที่เคยเป็นคนดี เชื่อมั่นในความดีอย่างภูชิต แต่เมื่อเจอสถานการณ์รุมเร้าแบบนี้ ก็สติแตกได้เหมือนกัน และแล้วก็ถูกท้าทายให้เล่นเกม แล้วเขาก้ตอบตกลง

ต่อจากนี้ ชีวิตของเขาคือเกม และโจทย์ต่างๆ ในแต่ละข้อ ผู้สร้างได้ใส่สัญลักษณ์ให้เราตีความกันไปเรื่อยๆ ทุกข้อ ซึ่งผมจะมองในมุมของคนที่สนใจการเมือง ( ผมเรียนรัฐศาสตร์ ) ดังนั้นอาจจะไม่ตรงกับการตีความของหลายๆ คน ก็ขออย่าได้ว่ากันนะครับ

โจทย์ข้อที่ 1 - 2 กำจัดสิ่งไร้ค่า ( ฆ่าแมลงวัน - กินแมลงวัน )

2 ข้อแรกนี้ดูเหมือนง่าย และไม่มีสาระใช่ไหมครับ? แต่เปล่าเลย แค่ข้อแรกผู้สร้างก็ใส่สัญลักษณ์ไปแล้ว นั่นคือ " แมลงวัน " อันหมายถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไร้ค่า อย่างที่รู้ๆ กัน ภูชิตเป็นผู้ชายที่ดี ไม่มีพิษภัย นิสัยอ่อนโยน แต่ในภาวะบีบคั้น ปีศาจได้ครอบงำเขาโดยเริ่มจากด้านมืดง่ายๆ ด้วยการทำให้เขาฆ่าสิ่งเล็กๆ นี้ แน่นอนว่าเราๆ ท่านๆ ในอ่านบทความของผมนี้อาจจะรู้สึกไม่แปลกอะไร เพราะพวกเราตบยุง บี้แมลงวัน ตีแมลงสาบกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ Sensitive กับจริยธรรมอย่างมาก นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วภูชิตก็เลือกที่จะทำ เพื่อก้าวไปสู่โจทย์ข้อต่อไป

แต่เดี๋ยวก่อน ผมได้ข้ามประเด็นสำคัญไปอย่างหนึ่ง บทสนทนาระหว่าง " ตอง " รุ่นน้องของภูชิตที่เพิ่งจบมหา'ลัยคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภูชิตรู้ว่าตองมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงและดนตรี แต่ตองกลับเลือกที่จะทำงานตามที่เรียนทั้งที่ไม่ได้ชอบเท่าไร หากแต่ว่าถูกพ่อบังคับ นี่คือสัญลักษณ์นำเรื่องอีกจุดหนึ่ง เพราะเชื่อกันเถอะครับ เราๆ ท่านๆ ที่ทำงาน - เรียนกันอยู่ทุกวันนี้ แน่ใจหรือว่าได้เรียน ได้ทำงานตามที่เราชอบเราใฝ่ฝัน หรือว่าเรียน ทำงานเพราะรายได้ หรือเพราะทางบ้านบงการกันแน่?

และผมยังสะใจอีกอย่าง ฉากที่ภูชิตชกหน้าคุณเปรม พนักงานอีกคนที่บังอาจมาตัดหน้าเขาในการขายของ ทำให้ภูชิตต้องตกงาน ถามว่าทำไมผมถึงสะใจ เพราะว่าไอ่การค้าขายแบบไร้จริยธรรม ไร้คุณธรรมแบบนี้ผมรังเกียจที่สุด ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง เราพบว่าคนแบบนี้มันเยอะเหลือเกิน

" เอาล่ะครับ คุณได้สั่งเสียกับคนในนี้เรียบร้อยแล้ว สำหรับโจทย์ต่อไป เราจะไปเล่นข้างนอกกัน "

โจทย์ข้อที่ 3 - 4 บอกลาความสงสาร ( ทำร้ายเด็ก - ข่มเหงคนพิการ )

โจทย์ทวีความรุนแรงขึ้นมาทีละนิด สัญลักษณ์ประจำโจทย์ทั้งสองข้อนี้คือ " ความสงสาร " ใช่ครับ ปีศาจผู้กระหายเลือดจะต้องไร้ซึ่งความสงสาร และเด็กกับคนพิการคือสัญลักษณ์แห่งนั้น หากภูชิตกระหายตามที่ปีศาจกำหนดจริง ก็ต้องทำให้เด็กร้องไห้ และแย่งเงินคนพิการมาให้จงได้ ในตอนแรกจิตใจที่ดีงามไม่ยอมให้เขาทำ แต่ด้วยจิตวิทยาของผู้สร้างเกม ในที่สุดเขาก็ทำจนได้ ปีศาจได้กัดกินใจของเขาไปอีกเสี้ยวหนึ่งแล้ว

โจทย์ข้อที่ 5 รับประทานความสกปรก ( กินขี้หมาสดๆ )

โจทย์ข้อนี้เป็นที่โจษจันกันมากกับความสะอิดสะเอียน เมื่อภูชิตถูกสั่งให้กินขี้หมาสดๆ ในภัดตาคารหรูๆ ท่ามกลางสายตาของพวกคนรวยจำนวนมาก สัญลักษณ์ของโจทย์ข้อนี้ " ขี้หมา " หมายถึงของต่ำ หรือแปลนัยๆ ได้ว่า " การละทิ้งเกียรติ - ศักดิ์ศรี " ตรงนี้หากใครจำได้ หนังจีนเรื่อง " เจาะเวลาหาจิ๋นซี " จะมีฉากหนึ่งที่มีบทพูดว่า " กฏข้อสองของมือสังหาร ต้องไร้ซึ่งศักดิ์ศรี " แล้วก็บังคับให้ลูกศิษย์ของคนที่พูดลงไปแช่ในบ่อที่มีแต่ปัสสาวะเหม็นๆ บ่อลึกและมีปัสสาวะท่วมสูงถึงหน้าอกคนลงไปแช่ และเมื่อรวมกับคำที่ผู้สร้างเกมพยายามยั่วยุที่ว่า " ถ้าคุณผ่านมันไปได้ ต่อไปคุณจะบังคับให้คนอื่นกินของสกปรกกว่านี้ก็ยังได้ " บวกกับสายตาที่เหยียดหยามของคนในร้านนั่นแหละครับ เมื่อคุณทิ้งเกียรติและศักดิ์ศรีไปแล้ว คุณจะทำได้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตนอยู่เหนือทุกคน แม้จะไร้ซึ่งจริยธรรม - คุณธรรมเท่าไรก็ตาม น่าเศร้าที่โลกแห่งทุนนิยม การกระทำแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีใครบอกว่าผิดอะไร

โจทย์ข้อที่ 6 ชกแบบหมาจนตรอก ( สู้กับเด็กช่างกลเพื่อแย่งโทรศัพท์อันเป็นคำใบ้ต่อไป )

อย่างที่รู้ๆ กัน เราไม่คิดว่าคนหน้าจืดอย่างภูชิตจะบ้าดีเดือดเป็นกับเขาด้วยใช่ไหมครับ แต่คนโบราณมีคำกล่าวว่า " อย่าทำให้หมาจนตรอก ไม่งั้นคุณอาจจะเจอกับเรื่องที่คาดไม่ถึง " แน่ละครับ ในเมื่อบททดสอบเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี คนที่ยึดมั่นอย่างภูชิตยังผ่านมาได้ แล้วทำไมกับไอ่สวะที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้เขาจะจัดการไม่ได้ หลังจากที่โดนข่มเหงในวัยเด็ก และต้องมายอมเจ้าพวกนี้อีก พอโดนมากๆ ความเก็บกดก็ถูกปลดปล่อย เด็กช่างกลุ่มนั้นเกือบตายเพราะลูกบ้าของ " ชายที่ไม่ได้เรื่อง " แค่คนเดียว ไม่ใช่เพราะภูชิตเป็นนักบู๊หรอกนะครับ แต่สำหรับคนที่คาบเกี่ยว มีชีวิตเป็นเดิมพัน ถอยคือตายสถานเดียว คนแบบนี้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทำให้เขาทำได้ทุกอย่าง แม้แต่ความคิดที่จะฆ่าคนอันเป็นเรื่องอำมหิตในสายตาคนธรรมดาทั่วไป ( สังเกตได้จากคนแถวนั้นที่มาห้ามไม่ให้ภูชิตฆ่าเด็กช่างที่ถูกเขาฟาดจนสลบ )

( มีต่อ )
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


( ต่อ )

โจทย์ข้อที่ 7 คนนอกที่รับรู้ความอ้างว้าง ( ช่วยคนแก่ขึ้นจากบ่อน้ำ )

ครับ หลังจากที่เริ่มบ้าได้ที่แล้ว โจทย์ข้อต่อไปมันคงจะเบาลงใช่ไหมครับ ก็แค่การลงไปช่วยคนแก่ขึ้นมาจากบ่อน้ำในเวลาแค่ 10 นาที เรื่องแบบนี้คนนิสัยดีๆ คงไม่เกี่ยงแน่ๆ แม้จะเป็นเกมของไอ่โรคจิตที่ไหนสักแห่งนี่แหละ แต่นั่นไม่ใช่เกมเบาๆ ให้พักสมองหรอกนะครับ เพราะหลังจากลากศพของคนแก่ขึ้นมาแล้วยังต้องโทรไปบอกญาติๆ ด้วยว่าชายชราเสียชีวิตแล้ว นั่นล่ะครับ สัญลักษณ์ก็ปรากฏออกมาทันที สำหรับข้อนี้มันคือ " ความอ้างว้าง " ถามว่าอ้างว้างยังไง ลองจินตนาการตัวเองเป็นคนแก่คนนั้นสิครับ ลูกหลานไม่สนใจ จ้องแต่จะทุบบ้านเอาที่ดินไปทำอย่างอื่นอันเป็น " เงิน " โดยไม่สน " คุณค่าทางจิตใจ " เป็นไงล่ะครับ ผู้สร้างหนังกัดเราอีกแล้ว เรามองคนที่เห็นสิ่งของมีคุณค่าทางจิตใจว่าเป็น " คนบ้า ไม่สมประกอบ " และมองเห็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อเงิน อำนาจว่าเป็น " คนที่ชาญฉลาด " จากโจทย์ข้อนี้ ลูกหลานไม่ได้สนใจชีวิตของชายชรา แม้แต่รับโทรศัพท์ยังต้องเกี่ยงกันอีกต่างหาก

โจทย์ข้อที่ 8 สะสางเรื่องที่อึดอัดใจ ( จัดการกับแฟนใหม่ของคนที่ตัวเองหลงรักซะ )

เอาล่ะครับ เกมของภูชิตมาถึงข้อที่ 8 แล้ว ข้อนี้ดูเหมือนว่าตัวภูชิตเองจะลงมือเล่นได้อย่างไม่ลังเลเสียด้วย หลังจากที่เถียงกับแมว ผู้หญิงที่เขาหลงรัก แต่เธอก็ไปมีแฟนใหม่เป็นหัวหน้าวงดนตรี คนที่ทำให้เธอเป็นนักร้องที่โด่งดัง ตอนแรกก็ลังเลอยู่นะครับ แต่พอสังเกตว่าเห็นร่องรอยที่ " ผัวใหม่ " ทำร้ายร่างกาย นั่นล่ะครับ เล่นเอาเก้าอี้ฟาดหัวซะเกือบตาย ตรงนี้สัญลักษณ์คืออะไร มันคือ " คนดีมักถูกมองข้าม " ไงครับ คนดี แต่ไม่ห้าว ไม่รวย ไม่ค่อยได้รับความสนใจ และเมื่อรักไปแล้ว แม้เลว แม้ทำร้ายยังไง ก็ยังจะรักไม่หยุดไม่หย่อน สังเกตได้จากบทพูดตอนที่ภูชิตเปลี่ยนใจไม่ฆ่า แล้วปล้นแท็กซี่เพื่อขับพา 2 คนนั้นไปส่ง รพ. แมวได้ด่าภูชิต แต่ภูชิตก็บอกว่า " ถึงพี่จะ Heer ยังไง แต่พี่ก็ไม่เคยทำร้ายแมวสักครั้ง " ( Comment : โดยส่วนตัว จิตของผมมันรู้สึก " สะใจ " กับโจทย์ข้อนี้มากที่สุดจนอยากจะเล่นเสียเอง เพราะอะไรผมคงไม่บอก แต่แฟนๆ ประจำของผมน่าจะเข้าใจนะครับ หุๆ ^_^! )

ก่อนจะไปข้อที่ 9 เราตัดไปทำอย่างอื่นกันก่อนดีกว่า ตอนนี้ตองเริ่มรู้ความจริงแล้ว เธอเจาะระบบเข้าไปดูเว็บขององค์กรลับที่เป็นต้นกำเนิดของเกมนี้ ขณะที่ผู้การสุรชัยก็เริ่มตามเป้าหมายไปเรื่อยๆ เช่นกัน หลังจากที่ตามสืบคดีของลัทธิประหลาดนี่มาเรื่อยๆ

โจทย์ข้อที่ 9 ท้าทายอำนาจรัฐ ( ล่อให้ตำรวจมาจับ และต้องพาหญิงชราหนีจาก รพ. )

ผมว่าลึกๆ พวกคุณทุกคนก็มีความรู้สึกอยาก " ต่อต้าน " กฏเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมกันบ้างล่ะครับ และเมื่อได้ดูฉากที่ภูชิตฝ่าเหล่าตำรวจขึ้นไปพาหญิงชรา และปลอมตัวหนีตำรวจออกมาอย่างง่ายดาย ผมเชื่อว่าหลายคนคงหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการสนุก ตื่นเต้นและสะใจในสมองแน่ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้หมายความคุณเลวร้าย เป็นมารเป็นอาชญากรหรอกนะครับ แต่เพราะคนเรานั้น " ถูกกด " ด้วยธรรมเนียมต่างๆ ในสังคมตลอดเวลา จนบางทีเราก็ไม่เคยเป็นตัวเราเลยในชีวิต สัญลักษณ์ของโจทย์ข้อนี้ ตำรวจหมายถึงผู้คุมกฏ หรือไม้บรรทัดที่ตีกรอบทางสังคม ( กฏหมาย ) และภูชิตคือผู้ที่กล้าแหกกฏ และท้าทายสังคมอันเป็นสิ่งสมมติที่สร้างกฏนู่นนี่ขึ้นมามากมาย ยอมรับกันเถอะครับ ผมว่าเราทุกคนก็มีความคิดที่อยากทำอะไรเลวๆ กันบ้างแหละ

ก่อนที่เราจะไปโจทย์ข้อ 10 ก็คงต้องตัดที่ตองกับผู้การสุรชัยซะหน่อย ผู้การสุรชัยได้รับโทรศัพท์จาก " ใครบางคน " ให้ล้มเลิกการทำคดีนี้เสีย ขณะที่ตองเองก็ไม่อาจไปแจ้งตำรวจได้ เพราะแม้แต่ตำรวจเองก็ยังเกี่ยวข้องกับองค์กรลับที่ว่านี้ด้วย ( สังเกตที่แฟ้มของตำรวจก็มี Logo ของหนังเรื่องนี้อยู่ ) นี่คืออะไร ผมจะยังไม่บอก เดี๋ยวผมจะไปสรุปให้ฟังในตอนท้ายของบทความครับ

( มีต่อ )
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


( ต่อ )

โจทย์ข้อที่ 10 จัดการสังหารหมู่ ( ทำให้คุณยายใช้ลวดสลิงตัดคอพวกแก๊งค์ซิ่งให้ได้ )

ฮั่นแน่! ตอนที่ผู้ชมทุกท่านชมถึงตอนนี้ ความรู้สึกคงเหมือนกับโจทย์ข้อ 7 ใช่ไหมครับ ถูกแล้วครับ Feeling แบบเดียวกันเลย แต่ข้อ 7 คนแก่เป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ในข้อ 10 นี้ คนที่ถูกลืมจะ " ได้เอาคืน " บ้าง สัญลักษณ์ของโจทย์ข้อนี้ " คำบ่นของหญิงชรา และกองผ้าที่ไม่มีใครมาเก็บ " นั่นล่ะครับ หญิงชราบ่นว่าลูกหลานไม่สนใจแม้แต่จะทำงานบ้าน อะไรๆ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่พ่อแม่หมด ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วคุณยายต้องการขึงลวดสลิงเพื่อสังหารหมู่แก๊งค์ซิ่งจริงๆ หรือเปล่า แต่พวกแก๊งค์ซิ่งเหล่านี้ก็คือด้านตรงข้ามกับโจทย์ข้อ 7 เช่นกัน นั่นคือในข้อ 7 ผู้ทอดทิ้งไม่เกิดผลอะไร แต่ข้อ 10 นี้ พวกผู้ทอดทิ้งถูกสังหารหมู่อย่างสยดสยอง ( แต่ CG ไม่เนียนนะครับ -*-! ) ดังที่จิตใต้สำนึกของผู้ใหญ่สั่งการออกมาเป็นคำบ่นว่า " ไอ่พวกสวะสังคม เมื่อไรพวกเมิงจะตายๆ ซะทีวะ " แต่เพราะว่าเรายังมีจิตสำนึก จึงไม่ทำอะไร แต่ในหลายที เมื่อจิตสำนึกถูกปิดเพราะความโกรธแค้น การ " เก็บ " สวะสังคมพวกนี้จึงเกิดขึ้น ดังที่เป็นข่าวในหลายๆ ที่ว่าพวกแก๊งค์ซิ่งโดนสิบล้อไล่บี้ตายบ้าง หรือโดนเอาน้ำมันเครื่อง + เม็ดถั่วเขียวโรยบนถนนให้รถล้มและชนกันเองบ้าง

อ่า... แย่แล้ว ตองขับรถตามมาถึงที่เกิดเหตุแล้ว ทุกอย่างที่ภูชิตพยายามทำมา มันจะจบแค่นี้หรือ? มีคนรู้เรื่องเกมแล้ว ไม่นะ....ไม่!

" อันที่จริง คุณทำผิดกฏนะครับเพราะมีคนรู้เรื่องเกมแล้ว แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ ผู้ชมทั้งหลายชอบคุณมาก ดังนั้นผมจะให้โจทย์คุณต่อไปนะครับ "

โจทย์ข้อที่ 11 ข่มขู่ผู้ยุ่งเรื่องคนอื่น ( มีทางเลือก 2 ทางคือสังหารตอง ไม่ก็ฆ่าสุนัขที่เธอเลี้ยงไว้ )

ครับ ปัญหานี้หนักมากจริงๆ คนเราหลายคนฆ่าคนอื่นได้ แต่กับคนที่รักแล้วทำไม่ได้ โจทย์ข้อนี้บอกว่า ในกองซากศพของแก๊งค์ซิ่งมีดาบ 1 เล่ม ภูชิตจะต้องเลือกเอาว่าระหว่างฆ่ารุ่นน้องที่เขาเอ็นดู กับฆ่าสุนัขที่รุ่นน้องของเขาเลี้ยงและรักมากๆ ตองพยายามบอกให้ภูชิตเลิกเล่นและมอบตัวซะ ทว่า...ด้านมืดในใจเขามาถึงขีดสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดดี เขาเลือกที่จะสังหารสุนัขที่น่ารักตัวนั้น เพื่อที่จะได้เล่มเกมต่อไป เพราะถ้าเขาหยุด ทุกอย่างก็สูญเปล่า โจทย์ข้อนี้สิ่งที่นำเสนอคือ " ความมืดสีขาว " คำๆ นี้หมายถึงคนที่ถลำลึกทำในสิ่งที่เลว จากน้อยไปมากจนเคยชิน และไม่รู้สึกว่ามันเลวอีกแล้ว แม้ว่ากรณีของภูชิตจะยังไม่เลวเต็มขั้นก็ตาม แต่เขาถอยไม่ได้อีกแล้ว เขาจึงต้องไปต่อแม้จะต้องเลวก็ตาม

โจทย์ข้อที่ 12 สุมฟืนไฟแห่งการวิวาท ( ฆ่าวัวเพื่อยุให้คน 2 กลุ่มทะเลาะกัน )

น่าเสียดายที่ฉากในโจทย์ข้อนี้ถูกตัดออกไป เหลือแค่ฉากที่ตองได้ยินเรื่องที่มีคนทะเลาะกันว่ามีคนถือดาบไปฆ่าวัว แต่ไม่เห็นว่าใครทะเลาะกัน ( ตรงนี้บางคนที่ได้ดูฉบับ Uncensor บอกว่าเป็นไทยพุทธกับไทยมุสลิม และที่ต้องตัดออกเพราะเรากำลังมีปัญหา 3 จว. ชายแดนใต้อยู่ ) ดังนั้นน่าเสียดายที่ผมไม่อาจจะสรุปข้อนี้ได้เต็มๆ แต่ก็พอจะเดาได้ว่า การที่ทำให้คนทะเลาะกันอย่างรุนแรง คนดีๆ เขาไม่ทำกันแน่นอน และสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเห็นว่าภูชิตใกล้จะเป็น " ปีศาจ " ไปทุกทีๆ คือฉากที่เขาเดินเข้าไปในอาคารอันเป็นที่ตั้งขององค์กรลับที่สร้างเกมนี้ขึ้นมา พร้อมทั้งกินเครื่องในวัวดิบๆ เลือดเปรอะเปื่อนปากและใบหน้าของเขาราวกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นปีศาจร้าย ครับ เขาหลุดจากความเป็นคนไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อท้ายที่สุด โจทย์ข้อสุดท้ายของเขานั้น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำแม้จะเป็นพวกชั่วแค่ไหนก็ตาม

โจทย์ข้อที่ 13 ปิตุฆาตปิดบัญชี ( ฆ่าพ่อตัวเองที่เคยเมาอาละวาดทำร้ายคนในครอบครัว )

ในที่สุด ภูชิตก็มาถึงห้องโถงใหญ่และมืด มีการฉายภาพเส้นทางที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตรายของเขานับตั้งแต่โจทย์ข้อแรก ต่อด้วยแสงไฟสลัวๆ ก็สว่างขึ้น ร่างของใครบางคนอันเป็นโจทย์ข้อสุดท้ายของเขานอนรออยู่พร้อมกับมีด 1 เล่ม และภูชิตถึงกับต้องตกใจเมื่อเปิดผ้าคลุมหน้าออก ร่างนั้นก็คือพ่อของเขานั่นเอง

ตามปกติแล้ว มนุษย์เราไม่ว่าจะชนชาติ ศาสนาใด การฆ่าพ่อแม่นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งด้านมืดที่สมบูรณ์ ( อย่างความเชื่อของพุทธก็คือ " อนันตริยกรรม " หรือกรรมที่หนักที่สุดเหนือกรรมทั้งมวล ) ฉากนี้ทำให้ผมนึกไปถึงมหากาพย์เรื่องหนึ่งนั่นก็คือ " StarWars EP6 : Return of the Jedi " เพราะความเหมือนนั้นเหมือนกันที่จักรพรรดิท้าทายให้ลุค สกายวอล์คเกอร์ฆ่าดาร์ธ เวเดอร์ผู้เป็นพ่อของตัวเอง แล้วขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือเจไดทั้งมวลแทน เช่นเดียวกับที่ภูชิตที่นึกถึงแต่อดีตที่ถูกพ่อฝรั่งคนนี้ทำร้ายร่างกายแทบทุกวัน และเคยแม้แต่คิดที่จะฆ่าพ่อฝรั่งคนนี้เสียด้วย เงิน 100 ล้านรอเขาอยู่ เงินที่จะทำให้เขาเปลี่ยนไปตลอดกาล จากผู้สิ้นหวังกลายเป็นผู้ชนะ

" ไม่นะลูก อย่างน้อยสิ่งที่เขามีให้ก็คือลูกนะ และแม่หวังให้ลูกเป็นคนดี "

เสียงคำสอนของมารดาผุดขึ้นมาในมโนสำนึกของภูชิต และเขาก็วางมีดลงเช่นเดียวกับที่ลุคปิด Light Saber ทว่า..จุดจบของภูชิตมิได้สวยงามเหมือนกับเจได เขาถูกพ่อฝรั่งลุกขึ้นมาแทงด้วยมีด ร่างของภูชิตล้มลง เลือดนองพื้นถึงแก่ความตายทันที

" และแล้วเขาก็แพ้ "

" เขาไม่ได้แพ้ เขาชนะนายต่างหาก "

ที่ห้องควบคุม ตองที่ถูกจับมานั้นมองดูเกมข้อสุดท้ายอยู่ตลอด และพบว่าผู้บงการทุกอย่างคือเด็กที่น่าจะถูกรถชนไปตั้งแต่หนังเริ่มฉาย แต่กลับกลายมาเป็นผู้ควบคุมเกม แต่นั่นไม่สำคัญเท่าประโยคๆ หนึ่งที่เด็กคนนี้พูดขึ้น

" กฏหมายน่ะ ผมซื้อมาไว้หมดแล้ว "

ประโยคนี้แหละครับคือบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด เป็นไงล่ะครับ มันตรงกับที่เราเคยอ่านหนังสือมาบ้างไหม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของทุกที่ๆ มีเรื่องการเมือง มักจะมีการโยงใยถึงโครงสร้างที่ซับซ้อนมากมายแฝงอยู่ อำนาจมืดหลังฉากมีอยู่ทุกที่ และแม้คนบางคนที่มีอำนาจบงการ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็เป็นได้ คุณคิดหรือว่าผู้นำที่เราเห็นๆ กัน ตัดสินใจได้ทุกอย่าง มีอำนาจเต็ม? ก็เหมือนกับที่เด็กหนุ่มบอกนั่นแหละ " ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมเช่นกัน "  ( เกี่ยวกับความซับซ้อนและองค์กรหลังฉากแนวๆ นี้ แนะนำให้หาหนังสือเรื่อง " ฟรีเมสันต์ " มาอ่าน เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรลับที่ว่ากันว่าครอบงำรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง แล้วจะเข้าใจมากขึ้นครับ )

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าชีวิตเราที่ดำเนินอยู่ในสังคมนี้ ความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมจะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ หรือจะเป็นเกมแย่งชิงอำนาจของใครบางคน บางกลุ่มที่เราไม่อาจจะรับรู้ เกมที่คนทั่วไปไม่รูเรื่องราวกลายเป็นเครื่องมือ และคนจนตรอกถูกหลอกใช้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว

เกมจบแล้ว ภูชิตตาย ตองถูกพามาปล่อยไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง ผู้การสุรชัยขับรถผ่านมาพอดี และหนังก็จบแบบที่เรางงๆ ให้เราได้คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

สำหรับบางคนที่เชื่อว่าจะมีภาคต่อ ไม่รู้ว่าคิดเหมือนผมหรือเปล่า ผมมองว่าผู้การสุรชัยจะกลายเป็นผู้ร้ายในภาคต่อไป ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงมองแบบนั้น ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้เช่นเดียวกัน ( หรือว่าติดภาพมาจาก ตย.หนัง " อำมหิต พิศวาส " ที่คุณศรัณยูแกกำกับ + แสดงเองล่ะมั้ง? หุๆ )

ดังนั้น ถ้า 12 คือ Begin , 13 คือ Beloved

14 อันเป็นความเชื่อว่าจะมีภาคต่อ แต่ยังไม่แน่ชัด ผมขอเรียกว่า Betrayed แล้วกัน ( Betrayed = ทรยศ , หักหลัง )

ตบท้ายของวิจารณ์นักแสดงหน่อย

- น้อย วงพรู บางคนรำคาญเสียงอู้ๆ อี้ๆ พูดไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ แต่นั่นแหละครับ ผกก. เลือกมาถูกคนแล้ว เพราะ Character ของภูชิตเป็นคนประหม่า ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง และมีนิสัยอ่อนโยน ( สังเกตดูสิครับ คนประเภทนี้จะพูดเหมือนเสียงอยู่ในลำคอ ไม่เสียงดังแบบวางอำนาจ )

- อิม อชิตะ นี่ก็อีกคนหนึ่งที่ ผกก. เลือกมาถูกคน เพราะเสียงโวยวายอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอนั่นแหละครับ กับบทสาวห้าวๆ และเมื่อบวกกับบทที่ค่อนข้างแรง มีคำสบถค่อนข้างมาก คงจะสะใจคนดูหลายๆ ท่านทีเดียว ( Comment : หลังจากที่ผมเคยบ่นว่ารำคาญเธอในละคร " สะดุดรัก " แต่เรื่องนี้ผมไม่รำคาญแล้วครับ สงสัยจะชิน ^_^! )

ขอขอบคุณที่ตามอ่านบทความตัวนี้มาจนจบครับ ขอให้ทุกคนโชคดี และไม่ติดอยู่ในเกมครับ

น่าเสียดายที่บทของคุณศรัณยู วงศ์กระจ่าง ( ผู้การสุรชัย ) น้อยไปหน่อยและไม่เด่นมากนะครับ ผมจึงไม่ขอวิจารณ์แม้จะเป็นตัวละครสำคัญเหมือนกัน

http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2006/10/A4774778/A4774778.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


13 เกมสยอง: เกมชีวิต

บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ครับ

เงินหนึ่งร้อยล้านบาทมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร การเอาเงินมากองตรงหน้าอาจเป็นเรื่องเกินจินตนาการ แต่หากมีใครสักคนบอกคุณว่า เงินหนึ่งร้อยล้านบาทอยู่ใกล้แค่เอื้อม เราจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร การเฝ้าฝันถึงเงินมากมายขนาดนั้นจะทำให้เรากลายเป็นคนเยี่ยงไรได้ และถ้าเป็นเรา เราจะ -ทำได้ทุกอย่างหรือไม่- เพื่อเงินหนึ่งร้อยล้านบาท และทุกอย่างที่ว่าจะหมายถึง -ทุกอย่าง- จริงๆ หรือเปล่า

บางที ภูชิต พึ่งนาทอง อาจไม่เคยคิดถึงเงินหนึ่งร้อยล้านบาทมาก่อน ก่อนหน้านี้เขาเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนสามัญ เป็นพนักงานขายของบริษัทขายเครื่องดนตรี มีรถต้องผ่อน มีแม่และน้องให้ดูแล มีคนรักเก่าที่ลาจากไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มีคู่แข่งในบริษัทที่ตัดหน้าลูกค้ารายสำคัญไป มีหัวหน้างานสุดเขี้ยวที่เห็นยอดขายสำคัญกว่ามนุษย์ และแน่นอน ชีวิตสามัญของเขาล้วนร่วงดิ่งลงสู่เรื่องเลวร้ายในโลกที่เลี้ยงกันด้วยเงิน จนกระทั่งเสียงโทรศัพท์ลึกลับดังขึ้น และบอกว่าเขาจะเป็นเจ้าของเงินรางวัล หนึ่งร้อยล้านบาท ขอเพียงเขาเล่นเกมอะไรสักเล็กน้อย แค่สิบสามข้อ เงินก็จะเป็นของเขา!!!

นี่คือผลงานใหม่ล่าสุดของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เจ้าของหนังเปิดโครงการยักษ์เล็ก ของสหมงคลฟิล์ม ที่ให้ทุนผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงทำหนังทุนต่ำสำหรับฉายโรง (หลังจากเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ก็มีหนังออกฉายเพียงสองเรื่องคือ คน ผี ปีศาจ ของมะเดี่ยว และ เสือร้องไห้ ของสันติ แต้พานิช ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะหนังสองเรื่องนี้เจ๋งกว่าหนังไทยทุนสูงหลายต่อหลายเรื่อง)

มะเดี่ยวโด่งดังมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนไม่จบด้วยการทำหนังสั้นเรื่อง ลมเยาวราช แล้วได้ สรพงษ์ ชาตรี กับ อุ้ม-สิริยากรมาเล่นให้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ทำหนังยาวเรื่อง ลี้ ที่เจ๋งจนได้ไปเปิดสกาลาฉาย หนำซ้ำในปีเดียวกันยังส่งสารคดี 2003 ไปคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากมูลนิธิหนังไทยอีกต่างหาก หลังจากเรียนจบ เขาได้ทำ คน ผี ปีศาจ หนังผีที่ได้รับการประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ เพราะแม้มันจะเป็นหนังผี (ในฐานะหนังผี นี่คือหนังที่เอาอยู่มากๆ โดยเฉพาะเมื่อชมในโรงภาพยนตร์) แต่มันก็ซ่อนนัยยะวิพากษ์สังคมในยุคสมัยฆ่าตัดตอน สงครามยาเสพติดไว้ได้อย่างน่าสนใจ (จนเราต้องใคร่ครวญว่าใครคือคน คือผี และคือปีศาจ) และหนังยังได้การแสดงระดับชวนตะลึงโดยคุณอมรา อัศวนันท์ อีกต่างหาก น่าเสียดายที่หนังไม่ประสบความสำเร็จมากนักตอนออกฉาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้มะเดี่ยวลดความน่าสนใจในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ที่ต้องจับตาลงไป

หลังจากนั้น เขากลับมาพร้อมกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งสร้างโดยมีพื้นจากการ์ตูนสั้นตอน QUIZ SHOW 13 ในหนังสือการ์ตูนสุดหลอน เรื่อง MY MANIA โดยฝีมือคนไทยล้วน อย่างคุณเอกสิทธิ์ ไทยรัฐ (เป็นที่น่าตื่นเต้นว่าวงการการ์ตูนบ้านเรานั้นพัฒนาไปมาก และมีการ์ตูนไทยดีๆ ออกมาให้อ่านกันมากมายก่ายกอง ทั้งที่เป็นนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง THAICOMICS ของวิบูลย์กิจ และการ์ตูนเล่ม อย่าง MY MANIA เล่มนี้ หรือถนนพระอาทิตย์ที่ออกมาก่อนหน้า หรือ SHOCKOLATE ที่เพิ่งวางแผงไปไม่นาน (ชอบเล่มนี้มากๆ)) โดยในการร่วมงานกันนี้ ทั้งคุณเอกสิทธิ์ ไทยรัฐ (ที่เพิ่งคว้ารางวัล GRAND PRIZE จากงานประกวดภาพการ์ตูนในญี่ปุ่นมาหมาดๆ) และมะเดี่ยว ลงมาพัฒนาบทร่วมกัน แตกยอดจากการ์ตูนสั้นไปสู่หนังสั้นเรื่อง 12 หนังยาว 13 เกมสยอง เรื่องนี้ และยังมี 14 อันเป็นตอนจบของเรื่องราวทั้งหมด

ว่ากันเฉพาะ 13 เกมสยอง แม้เรื่องราวโดยสรุปอาจชวนให้รำลึกนึกถึงหนังที่อาศัยเกม reality มาเป็นตัวกำหนดชะตากรรมอย่าง MY LITTLE EYE หรือหนังที่ตัวละครต้องเล่นเกมที่ไม่รู้จักอย่าง SAW หรือ CUBE ไล่ไปจนถึงหนังไทยที่ว่าด้วยการวิ่งสู้ฟัดเพื่อเอาตัวรอดอย่าง ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (เมื่อลองพิจารณาเปรียบเทียบ 13 เกมสยอง กับ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด จะพบความคล้ายคลึงอันน่าขนลุกของตัวละครและเรื่องราว เพราะมันอาจได้ข้อสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า ห่างกัน 20 ปี สังคมไทยเลวร้ายลงไปจากเดิมอย่างยิ่ง!) หรือ ท้า ฟ้า ลิขิต แต่เอาเข้าจริงเรากลับพบว่า 13 เกมสยอง เล่นกับประเด็นที่หนักและไปไกลกว่าหนังเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย

คำถามขั้นต้นของหนัง อาจเริ่มต้นด้วยการโยนคำถามสุดแสนคลาสสิคว่า เราทำทุกอย่างได้เพื่อเงินจริงหรือ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างการตีแมลงวันหรือการแกล้งเด็ก ไล่ไปจนถึงเรื่องหนักๆ อย่างเช่น การกินขี้!

นับจากจุดนั้น หนังก็ไปไกลกว่าเดิมด้วยการพาเราไปทัวร์ชมความต่ำทรามของโลกปัจจุบัน เกมในหนังนำพาเราไปสู่เรื่องราวที่ใกล้ตัวมากๆ บางเรื่องพบเห็นผ่านเลยบนหน้าหนังสือพิมพ์ของวันวาน บางเรื่องเกิดขึ้นอยู่ใกล้ๆ ในบ้านของเรา และหลายเกม มันคือสิ่งที่อยู่ในตัวเรานั่นเอง! ไม่ว่าจะเป็นนักเลงโตบนรถเมล์ (ซึ่งสะท้อนภาพสันดานดิบภายในของภูชิตและของตัวเราเองออกมาอย่างน่ากลัว) แก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง (ที่ดับสยองมากๆ ) สะท้อนภาพวัยคะนองขาดสติที่เราอาจจะผ่านหูผ่านตามาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงเรื่องของปู่ชิว (การแสดงภาพสารคดีของปู่ชิวในทีวี และการให้ตัวละครชื่อปู่ชิวตามชื่อโฆษณา แฝงนัยยะเสียดสีอารมณ์ฉาบฉวยเหมารวมที่เรามักรู้สึกเวลาเห็นสารคดีเศร้าๆ หรือโฆษณาสวยๆ ได้อย่างน่าสนใจ) ที่อาจเกิดขึ้นแล้วในบ้านของเราเอง สะท้อนภาพความห่างเหินแห้งแล้งภายในครอบครัวออกมาอย่างน่าขนลุก ยิ่งการให้บ่อน้ำนรกอยู่ติดกับบ้านของลูกหลานปู่ชิวแค่เพียงประตูบานเดียวกั้น ยิ่งแสดงถึงความหมางเมินเย็นชาของมนุษย์ด้วยกัน หรือในฉากที่ภูชิตอ้อนวอนกับแมวแฟนเก่า (ที่ตอนนี้กลายเป็นคิตตี้ ศรีบ้านไร่ ไปแล้ว) ถึงชีวิตที่มีความสุข มีทุกอย่างเพียบพร้อม แล้วคิตตี้กลับย้อนถามว่า เขาทำให้เธอเปลี่ยนจาก -อีแมว- เป็น -คิตตี้- ได้หรือเปล่า สะท้อนภาพการพยายามถีบตัวของคนบ้านนอก เพื่อกลายสถานะเป็นคนเมือง คนอย่างแมว หรือคนอย่างภูชิต ต่างก็ดิ้นรนไม่ต่างกัน ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน การมีเงินสิ ทำให้เราถีบตัวเองขึ้นไป การละทิ้งภูชิตของคิตตี้ กับการเล่นเกมของภูชิต ที่แท้ไม่ต่างกัน ชีวิตทั้งหมดมันก็แค่เกมประการหนึ่ง!

หากเลยพ้นจากปัจเจกบุคคลอย่างภูชิตแล้ว หนังมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่ว่ากันว่าอาจโดนหั่นในบางที่ที่ออกฉาย นั่นคือฉากหน้าโรงพัก ที่เราเห็นคนไทยกับคนมุสลิมทะเลาะกันเรื่องดาบซามูไรเล่มหนึ่ง ที่ถูกนำไปฆ่าวัวตัวหนึ่ง เจ้าของวัวกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของดาบ ฝ่ายเจ้าของดาบก็กล่าวหากลับ ทั้งที่จริงๆ แล้วดาบนั่นมาจากแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่โดนภูชิตสำเร็จโทษต่างหาก! อาจเป็นฉากเล็กๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่เป็นฉากเล็กๆ นี่เองที่สะท้อนปัญหาเรื้องรังของจังหวัดชายแดนบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ (ไม่ต่างจากที่ใน คน ปี ปีศาจ มะเดี่ยวใช้ภาพข่าวทีวีเล่าเรื่องการฆ่าตัดตอน มาใช้สร้างจังหวะในหนัง)

เมื่อหนังเดินมาถึงตอนจบ แทนที่หนังจะเลือกเลือนให้เกมนี้ไม่มีตัวตน (ซึ่งนั่นจะทำให้เรื่องทั้งหมดเปลี่ยนสถานะเป็นการพาเราชมความริยำของโลกทุนที่เปลี่ยนคนให้เป็นปีศาจ ความโลภที่พาคนไปสู่จุดสุดท้ายของของความเป็นมนุษย์) แต่หนังกลับเลือกขยายเรื่องด้วยการบอกถึงที่มาที่มาที่ไปว่า นี่คือเกม REALITY ONLINE (ผ่านทางการสิบค้นของตอง เด็กฝึกงานที่อาจจะแอบชอบภูชิต และรับบทได้อย่างน่าทึ่งโดยน้องอิม-อชิตะ อดีตผีน้องเนตรใน ชัตเตอร์ นักแสดงหญิงที่น่าจับตามองมากๆ อีกคน) ที่มีผู้เสียเงินเข้าชมเกมชีวิตของภูชิตกันอย่างมากมาย (ฉากนี้ชวนให้นึกถึง THE MATRIX อยู่หน่อยๆ)

นั่นแสดงให้เห็นว่าคนอย่างภูชิตที่เกือบกลายเป็นปีศาจไป ไม่ได้เป็นคนที่น่ากลัวที่สุด คนที่น่ากลัวที่สุดคือบรรดาคนที่คลิกเข้าชมต่างหาก และมันก็น่ากลัวยิ่งขึ้นเมื่อเราแทบจะไล่เรียงได้ว่า เกมทั้งหมดที่เราเห็นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องวิปริตผิดมนุษย์เลย มันล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นทุกวันในภาพข่าวโทรทัศน์ บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือใกล้ๆ กับเรา เรื่องเด็กช่างกลตีกันบนรถเมลล์ เรื่องที่คนใกล้ชิดตายไปโดยไม่มีใครรู้ เรื่องแฟนเก่าลุแก่โทสะ ทำร้ายแฟนใหม่สลบเหมือด เรื่องแก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่งโดนแก้เผ็ดสุดสยอง ไปจนถึงเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการฆ่ากันของคนในครอบครัว การกลืนกินกันเองของมนุษย์ ที่แท้แล้วมันเกิดขึ้นทุกวัน และเราจับจ้องมองมันอย่าไม่ใส่ใจ เพิกเฉย หรือกระทั่งลักลอบสะใจในชะตากรรมเหล่านั้นจนต้องนำมาเล่าต่อ เพิ่มข้อคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเมามัน

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม REALITY SHOW จึงได้ฮิต เพราะเราอยากดูชีวิตผู้อื่น ดูความหายนะ เจ็บปวด พึงใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา แล้วยังคงดำเนินชีวิตไปตามปกติ ใบหน้าไม่รู้ร้อนรู้หนาวมากมายในจอภาพนั่นต่างหากที่น่ากลัวจนถึงที่สุด และใช่หรือไม่ เราทุกคนที่ตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ ที่แท้เราก็กำลังตีตั๋วมาดูหายนะของชายหนุ่มนามภูชิต โดยรู้อยู่แก่ใจ และเรานั่นเองที่กลายเป็นปีศาจ!

หนังได้การแสดงอันน่าทึ่งของกฤษดา สุโกศล (พี่น้อย วงพรู) มาเป็นแกนหลักของเรื่อง เพราะพี่น้อยแทบจะต้องแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าตัวเอง และก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง แม้ก่อนหน้านี้อาจจะทำให้คนดูบางคนอกสั่นขวัญแขวนจากการแสดงแบบล้นๆ ในหนังที่ล้นกว่าอย่าง ทวารหยังหวานอยู่ (ซึ่งโดยส่วนตัว ผมว่าเป็นหนังที่ล้น หลุด และมาก่อนกาลอยู่ไม่น้อย แต่ผมชอบหนังมากๆ จนแอบคิดว่านี่อาจเป็นหนังคัลท์เรื่องสำคัญของไทย ไม่แพ้ ผู้หญิงห้าบาป ที่เล่นเรื่องเพศกันอย่างโจ๋งครึ่มที่สุดเรื่องหนึ่ง)

แม้หนังจะเปิดและจบโดยตัวมันเองอย่างสมบูรณ์ ในฐานะหนังเสียดสีสังคมที่ทำได้เจ็บแสบ แต่เมื่อเราเชื่อมโยงกับ 12 (และเผื่อที่ไว้สำหรับ 14 ในอนาคต) หนังจะขยายตัวไปสู่อีกจุดที่แตกยอดออกมา

ใน 12 (ซึ่งที่จริงแตกยอดออกมาจาก EARTHCORE หนังสั้นเล็กๆ อีกเรื่องของมะเดี่ยวที่ไม่ได้ฉายอย่างเป็นทางการ เล่าเรื่องด้วยวิธีการแบบสารคดี เล่าเรื่องเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ไปเข้าค่ายที่เสม็ด หนังแทบไม่มีเนื้อเรื่องเหมือน HOME VIDEO ถ่ายเล่น จนกระทั่งฉากสุดท้ายมาถึง เมื่อเด็กคนหนึ่งในกลุ่มถูกคนถ่ายลวนลามทางเพศ ซึ่งภาพเหล่านี้มาปรากฏเป็นวิดีโอในหนังเรื่อง 12) หนังเล่าเรื่องของเด็กมัธยมต้นกลุ่มหนึ่งที่จู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็หายตัวไปหลังจากกลับจากเสม็ด และก่อนจาก เขาพร่ำพูดถึงโลกใหม่ที่เราจะสร้างมันได้ด้วยมือของเราเอง โลกที่ทุกคนจะมีความสุข หลังจากนั้นไม่นาน กี้ เด็กคนดังกล่าวก็หายตัวไป ก่อนจะกลับมาอีกครั้งใน MSN และบอกว่าตัวเองอยู่ในโลกของ 13!

หนังเป็นการตามหาว่ากี้หายไปไหน ก่อนที่หนังจะเฉลยด้วยเหตุการณ์ในวิดีโอ และจบลงอย่าสยดสยอง เมื่อทั้งหมดกลายเป็นแค่เกม ซึ่งเชื่อมโยงมายังฉากเปิดของ 13 (และเป็นที่เชื่อได้ว่าตัวละครใน 12 จะไปมีบทบาทสำคัญอีกครั้งใน 14 )

ถ้าทั้งหมดใน 12 และ 13 เป็นเกม ใช่หรือไม่ว่าในที่สุดที่แท้ทุกตัวละครใน 12 และ 13 ต่างก็เป็นผู้แข่งขันอยู่ ฉากปิดของ 13 ภูชิตพ่ายแพ้ในเกมนี้ และเช่นเดียวกันในฉากเปิดของ 13 เด็กอีกคนก็พ่ายแพ้ในเกม

ว่ากันอย่างง่าย เราทุกคนกำลังเล่นเกมชนิดหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าผู้แข่งอีกฝ่ายคือใคร อาจเป็นคุณยายท่าทางน่าสงสารไปได้จนถึงคนในครอบครัว ในโลกที่ชีวิตคือเกม ไม่มีใครไว้ใจใครได้ และเราล้วนตกตายได้ทุกเมื่อ เกมใน 13 ขับเคลื่อนด้วยความโลภโมโทสัน แต่ใช่ว่าในเกมชีวิตเราจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น!




หมายเหตุ

สัมภาษณ์ มะเดี่ยว http://www.deknang.com/index.php?option=content&task=view&id=468

สัมภาษณ์ บก. วิบูลย์กิจ http://www.deknang.com/index.php?option=content&task=view&id=472

http://www.onopen.com/2006/02/1059
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


13 เกมสยอง เป็นภาพยนตร์วิพากษ์สังคมที่ดีมาก

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจเขียนอย่างนี้จริงๆ และควรต่อท้ายด้วยว่า ‘และตั้งใจมากๆ ด้วย’
เพราะนอกจากแก่นเรื่องหลักที่ว่าด้วยมนุษย์ผู้ติดกับดักบริโภคนิยมและยอมทำตามกิเลสจนลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนไปสิ้นแล้ว ตามรายทาง หนังยังสอดแทรกปัญหาขั้นวิกฤติของสังคมไทยไว้หลายประการ ซึ่งล้วนได้รับการนำเสนอด้วยความตั้งใจและไม่ยอมลดราวาศอกแม้แต่น้อย ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า13 เกมสยอง เล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของ ภูชิต (กฤษดา สุโกศล หรือ น้อย วงพรู) ที่เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วัน เขาเป็นเซลแมนของบริษัทเครื่องดนตรีชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่ง ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเอาเสียเลย ยอดขายตกมาแล้วสามเดือน ไม่มีเงิน ถูกแฟนทิ้ง รถถูกยึด ไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน ฯลฯ ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าชีวิตของเขากำลังโคจรเข้าใกล้หลุมดำอยู่ทุกขณะ ซึ่งพาหนะเดียวที่สามารถพาเขาหลุดจากวงโคจรมรณะนี้ได้ คือเงินเท่านั้น….
 
ช่วงแรกนี้ หนังสามารถสร้างความรู้สึกกดดันและปูเหตุผลสำหรับการกระทำของตัวละครได้ดีมาก คุณน้อย วงพรูนั้นเป็นศิลปินที่มีพลังเยอะอยู่แล้ว การรับบทหนักๆ เช่นนี้จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับเขาแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเล่นได้ดีเสียด้วย ว่ากันเฉพาะฉากที่เข้าไปเสนอขายเครื่องดนตรีให้อาจารย์ใหญ่เท่านั้น ทั้งสีหน้าท่าทาง จังหวะการพูดจาล้วนแต่บ่งบอกให้รู้ว่าเขานี่แหละคือคนจริงๆ ที่กำลังจะประสบหายนะในชีวิต
 
แน่นอนว่านอกจากฝีมือการแสดงแล้ว ยังต้องยกความดีให้กับบทที่เขียนโดยผู้กำกับมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งกำหนดสถานการณ์ต่างๆ ไว้ดักทางความรู้สึกของผู้ชมได้ลงตัวตรงจังหวะ การปูพื้นฐานตัวละครในช่วงแรกนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างที่สุด และในเมื่อปูพื้นฐานตัวละครได้ดีเช่นนี้แล้ว การเฝ้าดูพฤติกรรมของภูชิตต่อไปตลอดทั้งเรื่อง จึงน่าอภิรมย์เป็นที่ยิ่ง

ทว่า ในทันทีที่ภูชิตสำนึกตัวว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลงที่สุดของชีวิตนั้น จู่ๆ เสียงโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดังขึ้น ดังขึ้นด้วยพร้อมความฉงนสงสัย ดังขึ้นพร้อมความไม่น่าไว้วางใจ และที่สำคัญ ดังขึ้นพร้อมความหวังใหม่ในชีวิตของเขา ต้นสายยื่นข้อเสนอที่แสนเย้ายวนใจให้ นั่นคือหากเขาเล่นยอมเล่นเกมตอบคำถาม 13 ข้อ เขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเงินรางวัลสูงถึง 100 ล้านบาท!!! โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องทำตามทีมงานสั่งทุกประการ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ผู้ชม-ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม-ลงว่าได้เห็นคุณน้อยเล่นได้น่าเชื่อมาตั้งแต่แรกแล้ว ก็คงไม่อาจคิดเป็นอื่นได้นอกจาก ‘ถ้าเป็นอั๊ว ก็จะยอมทำไม่ต่างกันละวะ’
 
ฉะนั้นแล้ว การเดินทางสู่หายนะในชีวิตที่แท้จริงของภูชิต จึงเริ่มต้นขึ้นทันทีที่เขาตอบตกลงเล่นเกมนั่นเอง คำถามแต่ละข้อ แม้จะมาพร้อมเงินรางวัลจำนวนมาก แต่ก็มีคำสั่งอันชวนคลื่นไส้สยดสยองมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ขอกล่าวมากไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชมเสียอรรถรสได้
 
ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ หนังยังฉลาดพอที่จะวางเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับภูชิตและเกมสยองนี้ ไว้อย่างแยบคายไม่ยัดเยียด ซึ่งช่วยส่งเสริมอารมณ์ในขณะนั้นและจะเป็นตัวเสริมสร้างความหนักแน่นให้แก่บทสรุปในช่วงท้าย
 
โดยส่วนตัวแล้ว ก่อนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คำถามที่ผมตั้งในใจไม่ใช่‘หนังจะจบยังไงนะ’ หากแต่เป็น‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ ทั้งนี้เป็นเพราะภาพจากเรื่อง Saw (2003) และเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ยังคงติดตาอยู่ไม่จาง และเป็นเพราะความสยองขวัญอันเกิดจากบทเฉลยของ รับน้องสยองขวัญ (2005) ยังทำให้เข็ดหลาบอยู่ไม่หาย (แน่นอนว่าผมเสียดสี) ฉะนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า ‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ จึงควรเป็นไปตามเงื่อนไขสองประการ คือ หนึ่ง จบให้ต่างจาก Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน และสอง จบให้ดีกว่าภาพยนตร์ไทยที่เฉลยแบบตีหัวเข้าบ้านเรื่องนั้น
 
ผมควรบอกเสียแต่ตอนนี้ว่า ผมไม่ได้หมายความว่า 13 เกมสยอง และต้นกำเนิดของมัน‘เลียนแบบ’ หรือ ‘ได้รับแรงบันดาลใจจาก’ Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ซึ่งแม้จะเป็นอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะจินตนาการของเราย่อมก่อเกิดจากสิ่งที่เรารับรู้อยู่ก่อนแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะถกกัน หรือหากว่าเป็นประเด็น ก็ควรไปถกกรณี ‘Romeo and Juliet’ กับ ‘ขุนลู-นางอั้ว’
 
และเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏบนจอแล้ว ถึงจะมีอนุภาค (particle) คล้ายกันหลายประการ แต่ 13 เกมสยอง ก็ต่างจาก Saw อย่างสิ้นเชิงในแง่ของแก่นเรื่อง เพราะในขณะที่ Saw ว่าด้วยการแข่งขันกับคนอื่นตามสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด แม้จะต้องฆ่าใครก็ช่าง ดังทฤษฎีคนแกร่งอยู่ต่อ (survival of the fittest) นั้น แต่ 13 เกมสยอง กลับว่าด้วยการแข่งกับตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสและตั้งคำถามต่อผู้ชมว่า‘เราจะยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์มากแค่ไหน เพียงเพื่อสนองกิเลสของตน’ ผู้ชนะในหนังสองเรื่องนี้จึงต่างกัน สำหรับ Saw ผู้ชนะคือคนที่ทำตามสัญชาตญาณแล้วฆ่าคนอื่นจนเอาชีวิตรอด แต่สำหรับ 13 เกมสยอง นั่นคือผู้แพ้

ปัญหาสังคมที่หนังพยายามสะท้อนและวิพากษ์อย่างเด่นชัดที่สุด (ซึ่งก็คือ‘แนวเรื่อง’ หรือ motif นั่นเอง) คือ ลัทธิบริโภคนิยม ดังเราจะเห็นได้อยู่บ่อยครั้งว่า สาเหตุของปัญหาที่รุมล้อมตัวภูชิตอยู่นั้น ล้วนเกิดจากลัทธิบริโภคนิยมทั้งสิ้น อาทิ แฟนทิ้งเพราะเขาไม่มีบ้าน รถ และเงินเก็บ หรือแม่ต้องโทรมารบกวนขอเงินเพราะน้องสาวเอาเงินค่าเทอมไปซื้อโทรศัพท์ เป็นต้น และหนังก็พิพากษาลัทธิที่ครอบงำชาวโลกอยู่นี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ว่าเป็นเสมือนผีร้ายที่เมื่อได้เข้าสิงสู่ใครแล้ว เป็นต้องกระชากวิญญาณออกไปให้สูญสิ้นความเป็นคนเมื่อนั้น
 
ส่วนประเด็นปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ผู้ชมได้เห็นตามรายทาง อันได้แก่ ขอทาน คนวิกลจริต การทอดทิ้งคนชราให้อยู่ลำพัง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนมอเตอร์ไซค์ซิ่งนั้น ล้วนได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างพอเหมาะพอควร กล่าวคือ ผู้ชมได้รับสารอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ขับเน้นมากจนทำให้หลงประเด็น อย่างไรเสีย ยังมีบางประเด็นที่หนังจงใจใช้อธิพจน์โวหาร (hyperbole) มากไปหน่อยจนพ้นเข้าไปในเขตความไม่น่าเชื่อเสียฉิบ
 
นอกจากจะวิพากษ์สังคมอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว หนังยังมีช่วงชะลอความเครียด ให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายอารมณ์บ้าง ด้วยการปล่อยมุขขบกัดเสียดสีเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ฉากตบแมลงวันตายคาใบปิดอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันหน่อย ขอเปลี่ยนเป็นอีกคนจะดีกว่า
น่าเสียดายที่ตัวละครบางตัว ซึ่งมีสีสันและบทบาทสำคัญในช่วงแรก และโผล่ออกมาบ่อยจนผู้ชมจำชื่อได้ ถูกทอดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย (ไม่ได้หมายรวมถึง ตัวละครที่มีภูมิหลังตั้งแต่ 12 เกมสยาม อย่าง พตท.สุรชัย ที่รับบทโดยคุณศรันยู วงศ์กระจ่าง นะครับ) หรือเสียงบางเสียงที่ปล่อยออกมาให้เกิดความสงสัย (cognitive conflict) เป็นระยะๆ ก็ยังไม่ได้รับการเฉลยในหนังเรื่องนี้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้และแอบหวังไว้ว่าในภาคต่อ (ซึ่งหลายคนเสนอให้ใช้ชื่อว่า 14 เกมสยิว) ตัวละครบางตัวและบรรดาเจ้าของเสียงเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นและได้รับการเฉลยความเป็นมาเป็นไปในที่สุด
 
คุณอิม อชิตะ สิกขมานา เล่นเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าบทตอง นักศึกษาฝึกงานที่สนิทกับภูชิต ที่เธอเล่นจะไม่มีบทบาทมากมายนักในเรื่องนี้ แต่ก็ฉายแววไว้ให้น่าเชื่อว่าในภาคต่อไปจะเป็นมีบทบาทสำคัญยิ่ง
 
หากพอจะมีอะไรให้จับผิดบ้าง ก็คงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ใช่สารัตถะของหนัง ยกตัวอย่างเช่น ทีมงานเกมสยองนี้ รู้ได้อย่างไรหรือมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรว่า ผู้เล่นจะเลือกเส้นทางเล่นเกมเป็นเส้นตรงผ่านจุดต่างๆ  ที่ทีมงานจัดฉากไว้ โดยไม่หลงทางหรือเดินอ้อมแต่อย่างใด คำตอบคือ เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ดังจะเห็นได้ว่าบ่อยครั้งภูชิตประสบเหตุบังเอิญมากมายซึ่งทำให้เขวจากเส้นทาง (ต่อยกับนักเรียนอันธพาลจนตกรถเมล์) แต่กระนั้นทีมงานยังสามารถติดตามถ่ายทอดชีวิตเขาได้ (หรือว่าตั้งใจให้ตกรถตรงนั้น???) หรือแม้แต่ในฉากจบเองก็ยังสร้างข้อกังขาในใจผู้ชมว่า‘ทำไมตัวละครอีกตัวที่อยู่ตรงนั้น ไม่ชิงความเป็นหนึ่งเสียตั้งแต่แรก’

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ขัดหู ขัดตา และกวนใจเล็กน้อย ก็คือ สัดส่วนเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ระบบ เช่น ข้อ 11 เงินรางวัล 40 ล้าน พอข้อ 12 เงินรางวัลกลับเพิ่มเพียง 10 ล้านรวมเป็น 50 ล้าน แต่พอข้อสุดท้าย เงินรางวัลก็ทบเท่าทวีคูณเป็น 100 ร้าน ซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าทำไมจึงต้องเพิ่มแบบไร้ระบบเช่นนั้น
 
ช่วงท้ายเรื่อง อาจทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาทำนองนี้ รู้สึกอึ้งก็จริง แต่ก็เป็นความอึ้งอันเกิดจากส่วนผสมหลายอย่างระคนอยู่ด้วยกัน ทั้งความประหลาดใจ ความระทึกขวัญ และที่สำคัญคือความไม่น่าเชื่อ (ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ในโลกจริง)
 
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในช่วงเดียวกันนี้ ยังปรากฏบทสนทนาทำนอง ‘จับยัดใส่ปาก’ มากจนรู้สึกแสลงหูอย่างไรพิกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่แม่เข้าไปปลอบขวัญภูชิต หลังจากที่เขาลงมือทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จ เพราะประโยคที่เธอเปล่งออกมา หากหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ก็คงเป็นประโยคยอดนิยมที่ตำรวจจราจรชอบใช้หลังจากที่บอกให้เราหยุดรถนั่นเอง แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อหนังเลือก (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ที่จะวิพากษ์สังคมแบบจริงใจตรงไปตรงมาตลอดทั้งเรื่องแล้วนี่
แล้วก็…เอ่อ… Congratulations ตกตัว s หรือเปล่าครับ
 
อำนวยการสร้าง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ/ควบคุมงานสร้าง-ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุภัญญา วงศ์สถาปัตย์/กำกับภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/บทภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/เรื่อง-เอกสิทธิ์ ไพยรัตน์ และวิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป/ดนตรีประกอบ-กิตติ เครือมณี/กำกับภาพ-จิตติเอื้อนรการกิจ/กำกับศิลป์-ธนาศักดิ์ ล่ำชัยประเสริฐ/ออกแบบเครื่องแต่งกาย-ปัญชลี ปิ่นทอง/ออกแบบงานสร้าง-ศิระ ตาลทอง/ลำดับภาพ-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/ผู้แสดง-กฤษดา สุโกศล, อชิตะ สิกขมานา, ศรันยู วงศ์กระจ่าง, อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์, ณัฐพงษ์ อรุณเนตร

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตาร์พิคส์
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
13 เกมสยอง: สุดยอดแนวคิดแหวกแนวของคนเขียนการ์ตูน
 
ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ บ้านเรามีหนังที่สร้างมาจากหนังสือการ์ตูนถึงสองเรื่องสองสัญชาติด้วยกัน เรื่องแรกที่เข้าโรงฉายไปได้ 1 สัปดาห์และคาดว่าโกยเงินรายได้ไปหลายล้านแล้ว ก็คือ Death Note ที่ถูกสร้างมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ดังมากถึงขนาดเมื่อวานผมไปเดินหาซื้อหนังสือการ์ตูน ร้านหนังสือยังบอกผมว่า ล็อตสองที่ทางสำนักพิมพ์ปล่อยออกมาขายกำลังจะหมด และอีกเรื่องที่กระแสมาแรงไม่แพ้กันก็คือ 13 เกมสยอง ที่ถูกสร้างมาจากการ์ตูนสั้นเรื่อง 13 QUIZ SHOW
 


13 เกมสยอง เป็นเรื่องราวของ ภูชิต (น้อยวงพรู) เซลล์แมนขายเครื่องดนตรีกำลังเดินทางมาถึงทางตันของชีวิตแล้วจริง ๆ เมื่อจุดจบในหน้าที่การงานกำลังจะถูกหยิบยื่นโดยเจ้านายของเขาโทษฐานที่ไม่สามารถทำยอดขายทะลุเป้าได้ หนำซ้ำคนรักก็ทิ้งไปมีคนใหม่ หนี้สินล้นตัวจากเงินกู้ในฐานะลูกที่ดีที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องสาววัยเรียนและแม่ที่ต้องเลี้ยงดูเขาและน้องเพียงลำพังตั้งแต่เล็ก เริ่มออกดอกออกผลกลืนกินชีวิตเขาเข้าเต็มที แม้แต่รถยนต์ที่ขาดส่งไป 3 เดือนก็ยังถูกยึดไปต่อหน้าต่อตา แต่แล้วโอกาสสุดท้ายในชีวิตก็ถูกหยิบยื่นให้ตรงหน้าโดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิด ในฐานะ “ผู้ถูกเลือก” เมื่อโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เสียงลึกลับจากปลายสายดึงเขาเข้าสู่ “13 BELOVED” เกมท้าทายชีวิตที่มีโจทย์ 13 ข้อให้เขาค้นหาคำตอบและเล่นโดยมีผลตอบแทนที่ดึงดูดใจคือเมื่อใดก็ตามที่เขาสามารถผ่านโจทย์แต่ละข้อมูลค่าของเงินสะสมก็พร้อมที่จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อย ๆจะถูกส่งเข้าบัญชีธนาคารที่เขาสามารถตรวจสอบได้ทันที และถ้าเขาสามารถทำได้ครบทั้ง13ข้อยอดเงินสะสมที่มีตัวเลขสูงถึง100 ล้านบาท จะเป็นของเขาทันที นี่คือผลตอบแทนในฐานะผู้พิชิตที่อุตสาห์ร่วมบากบั่นในฐานะผู้ร่วมสนุกในเกม



โดยมีเงื่อนไขที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาหยุดเล่นเงินสะสมทั้งหมดจะถูกยกเลิก หากบอกต่อให้คนอื่นรู้เกมถือว่าเป็นโมฆะ และหากพยายามติดต่อกลับหมายเลขดังกล่าวถือว่าเกมสิ้นสุด เพียงทว่าการเล่นเกมดังกล่าวของเขากลับปลุกอดีตที่หลับใหลให้มาบรรจบปัจจุบันขึ้นอีกครั้ง แน่นอนว่าพร้อมที่จะส่งผลต่ออนาคตที่เกิดจากการ“เลือก”และ“ตัดสินใจ”เดินบนเส้นทางนี้ของเขาเองถึงแม้ว่ามันจะเดิมพันด้วยชีวิตของเขาและคนรอบข้างก็ตาม
 
หนังทำออกมาในแนว Bad-Comedy หรือ ตลกร้าย โดยสื่อออกมาเพื่อซ้ำเติมให้คนดูอินกับการที่ตัวละครเอก “ภูชิต” ดูน่าสมเพชเวทนามากๆ ด้วยมุขตลกให้คนดูขำในความอาภัพอับโชคของเขาอยู่ตลอดเวลา เช่นในฉากที่เขาต้องกิน “อุจจาระ” หรือ “อึ” ในภัตตาคารหรูเพื่อแลกกับเงินรางวัลที่ค่อนข้างสูงในระดับหนึ่ง ทำให้เห็นว่าคนเราในเวลาที่หลังชนฝา ก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น ในตอนนี้ ผมเห็นคนในโรง ทั้งหัวเราะ ทั้งขยะแขยงในภาพที่หนังสื่อออกมา และหนังก็สื่อได้ดีซะด้วย ต้องชมผู้กำกับและคนตัดต่อภาพ ที่เปลี่ยนมุมกล้องเป็นมุมของคนที่กำลังจะกินอะไรสักอย่างจริงๆ เลยดูเหมือนช้อนที่ตัก “อึ” คำนั้น กำลังจะถูกส่งเข้าปากผู้ชมทุกคน หรือในตอนที่เขาต้องไปนั่งคุยกับคนบ้าที่พูดจาไม่รู้เรื่อง เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งตัวช่วยในการเล่นเกมต่อไป ซึ่งก็เป็นอีกฉากที่ทั้งขำ ทั้งน่าสมเพช และสงสารในตัวละครตัวนี้ และก็ยังมีอีกหลายๆ ตอนที่หนังต้องการสื่อให้คนดูรู้สึกแบบนี้เพื่อจะปูทางไปสู่จุดพีคที่สุดของหนัง
 


แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่า หนังจะเป็นแบบนี้ไปตลอด เพราะมันไม่ใช่แค่นั้น อารมณ์ของหนังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเกมแต่ละข้อที่ “ภูชิต” ถูกกำหนดให้ทำนั้น มันยากขึ้นๆ และไม่สามารถเดาออกได้เลยว่า เขาจะตัดสินใจทำมันต่อหรือไม่ ถึงแม้จะคิดไปก่อนแล้วว่า ยังไง หนังก็ต้องให้เขาเล่นจนถึงข้อสุดท้าย แต่ในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจของเขา ก็ทำให้คนดูคอยลุ้นไปกับเขาด้วย โดยเฉพาะข้อหลังๆ ที่หนังแสดงให้เห็นถึงทางเลือกระหว่าง การคงความเป็นมนุษย์ หรือการยอมรับความเป็นปีศาจกระหายเงิน ซึ่งผมว่า มันเป็นข้อคิดที่ดีทีเดียวของหนังเรื่องนี้ และมันก็ถือเป็นจุดแข็งที่สุดของหนัง ที่จะเอาอารมณ์ตรงนี้ของตัวละคร มาทำให้การตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำในคำถามแต่ละข้อ
 
แต่หนังทุกเรื่องย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เรื่องนี้ก็เช่นกัน จุดอ่อนของเรื่องอยู่ที่ตัวละครอื่นๆ ที่มาประกอบในเรื่อง แต่ตัวละครเหล่านั้นแหละ ที่ถ้ามองในมุมกลับกัน มันควรจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องดำเนินไปในรูปแบบที่จะทำให้คนดูประหลาดใจและทึ่งในบทของหนังมากกว่านี้ อย่างเช่น พ่อของภูชิต ซึ่งบทในหนังเขียนให้เป็นคนที่ภูชิตต้องมีความหลังอันเลวร้ายกับพ่อ และจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องคือทางเลือกระหว่างสายเลือดกับการตัดเยื่อใยความเป็นพ่อลูกเพื่อเงินรางวัล แต่หนังกลับทำให้ความสัมพันธ์ของตัวละครกับเนื้อเรื่องไม่มีความเกี่ยวข้องกันได้ถึงขั้นที่จะนำมาเป็นจุดจบของเรื่อง เพราะหนังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้เลย

 
จนมาถึงตอนใกล้จบเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าน้ำหนักมันไม่พอที่จะเอามาเป็นจุดไคลแม็กซ์ และอีกตัวละครที่ทำให้หลายๆ คนที่อ่านหนังสือการ์ตูนต้องผิดหวังกับตอนจบของเรื่องนี้ก็คือ ตัวละครคุณยายปริศนา ที่โผล่ออกมาตอนต้นเรื่องและในโจทย์ข้อที่ 12 (ผมได้อ่านหนังสือการ์ตูนทีหลัง ถึงได้รู้เสียดายเหมือนกัน) คุณยายคนนี้แหละที่ควรจะเป็นจุดจบของเรื่องที่ทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์แบบ เพราะในตอนแรกของหนังที่แกโผล่ออกมา ก็มีคนที่เกี่ยวข้องกับแกต้องมาตายลงไป แต่หนังก็ทิ้งคุณยายให้คนดูลืม จนมาถึงข้อที่ 12 ยายแกก็โผล่มาอีก จนเหมือนกับว่า ยายคนนี้แหละคือผู้บงการทั้งหมด แต่ยายแกก็ถูกลืมอีกเป็นครั้งที่สอง และก็หายไปจากหนังเลย
ไม่มีการพูดถึงอีก ทั้งๆที่ ถ้าเปลี่ยนจากพ่อของภูชิต มาเป็นยายตอนท้ายเรื่อง จะกลายเป็นตอนจบที่แสนจะโหดร้ายสำหรับอารมณ์คนดู แต่จะเป็นตอนจบที่น่าประทับใจมากกว่าในมุมมองของหนังหักมุมแบบนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะต้องการเก็บยายเอาไว้เป็นจุดไคลแม็กซ์สุดท้ายของโปรเจค 14 ที่กำลังจะตามมาก็เป็นได้
 


ก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนมาก่อน และไม่ทราบด้วยว่าเรื่องนี้ทำมาจากการ์ตูน เพราะผมไม่ค่อยชอบลายเส้นของการ์ตูนไทยสักเท่าไหร่ พอดูหนังจบ ผมยกนิ้วให้แนวความคิดของคนเขียนบท และยังชมกับเพื่อนที่ไปดูด้วยกันว่า คอนเซ็ปต์เจ๋งมาก คิดได้ไงเนี่ย! แต่เพื่อนผมกลับบอกว่า ถ้าผมได้อ่านการ์ตูน จะรู้สึกได้ว่า หนังไม่น่าเปลี่ยนบทเลย เพราะถ้าคงของเดิมไว้ทั้งหมด จะเป็นอะไรที่ perfect มากกว่า จนทำให้ผมต้องรีบไปตามหาซื้อหนังสือการ์ตูนที่มีเรื่องนี้รวมอยู่มาอ่าน และก็เห็นด้วยกับคำที่หลายๆคนบอก คือไม่ควรเปลี่ยนจุดจบของเรื่องเลย แต่ก็ต้องขอชมการปรับบทที่ไม่เปลี่ยนให้หนังเสีย เพราะที่ดูเท่านี้ก็รู้สึกถึงไอเดียที่สุดยอดในบทของเรื่องนี้แล้ว อีกอย่างผมคงต้องชมทีมงานผู้สร้างที่สร้างกระแสของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยการปล่อยหนังสั้นเรื่อง 12 ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นหรือปฐมบทของ 13 ให้ผู้ชมได้ดู และ 12 ก็หาดูยากกว่า 13 ทำให้ความต้องการในการดูหนังเรื่อง 13 มีเพิ่มมากขึ้น และยังมีข่าวอีกว่าจะมีโปรเจค 14 ซึ่งเป็นภาคตต่อของ 13 อีก เหมือนการเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคน และก็ได้ผล เพราะผมเห็นว่ามีกระแสตอบรับที่ดีมากจากปากต่อปาก ในเรื่อง 12 ผมได้ดูมาแล้ว แต่ผมจะไม่พูดถึง เพราะมันเป็นเพียงหนังสั้นแค่ครึ่งชั่วโมง ที่เล่าเรื่องราวให้มันเกี่ยวข้องกับ 13 แต่ผมกลับคิดว่า 12 นั้นดีกว่า อาจเป็นเพราะด้วยเวลาที่สั้น จึงทำให้หนังเข้มข้น และกระชับมากกว่า
 
โดยส่วนตัว ผมชอบหนังเรื่องนี้ ทั้งในแง่ของเนื้อเรื่อง และการกำกับที่ออกมา รวมไปถึงการแสดงของ น้อย วงพรู ที่ถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ ผมก็ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นใครที่จะมาเล่นบทของ “ภูชิต” ได้ เพราะคาแรคเตอร์แบบนี้ มีเพียงไม่กี่คนในหมู่นักแสดงไทย อาจจะมีอีกคนที่ผมนึกถึง ถ้าไม่ใช่ น้อย วงพรู ก็ต้องเป็น เรย์ แม็คโดนัลด์ ซึ่งถ้าไม่ใช่สองคนนี้ก็อาจจะไม่มีใครเหมาะกับบทนี้ ซึ่งรวมๆ แล้ว ผมให้เรื่องนี้ 4 ดาวเลย เอาง่ายๆนี่แหละ เพราะผมชอบ และรวมไปถึงข้อดีที่ผมกล่าวมาทั้งหมด แต่อย่างที่บอก ถ้าไม่เปลี่ยนเนื้อหา ผมยินดีให้ 5 ดาวพร้อมการคารวะจากผมไปเลย
 
http://movie.sanook.com/review/review_11903.php
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...