Narcissus and Goldmund: มิตรภาพ ขั้วตรงข้าม เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ เสี่ยว เพื่อน มิตร กัลยาณมิตร พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร มิตรภาพระหว่างคนสองคนบนทางเดินที่ไม่อาจมีใครจำลองความเหมือน เส้นขนานคู่นั้นเติบโตเคียงข้าง เกื้อกูล แต่ไม่อาจร่วมทาง
นิยาม เพื่อนคือใครสักคน ยามเป็นทุกข์เพียงพิงหลังก็สบายใจ แล้วเรามีนิยามต่อมิตรภาพแบบไหนในการอยู่ร่วมกัน สังคมมักนิยามความคล้ายคลึงเพื่อตอบคำถามมิตรภาพ หากผิดแปลกก็ไม่อาจร่วมทาง จริงหรือที่เราควรจะเดินบนหนทางสายเดียวกัน และจะไม่เป็นการโกหกตัวเองหรือหากยอมรับว่ามิตรภาพก่อเกิดเพียงเพราะความคล้ายคลึงนั้น ด้วยความจริงเราเกิดมาอย่างหลากหลาย และพระเจ้าคงไม่พอใจแค่มนุษย์ประเภทเดียว
นาร์ซิสซัส นวกะหนุ่มผู้ทุ่มเทชีวิตให้ศาสนา ด้วยความเชื่อว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำทาง เลือกเส้นทางนั้นเพื่อค้นหาความหมาย เขาผู้ได้รับของขวัญพิเศษเรื่องการอ่านชีวิตและชะตาของผู้อื่น
โกลด์มุนด์ เด็กหนุ่มในครอบครัวที่มีปมความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และพ่อทำทุกทางเพื่อหันเหลูกแม่ผู้นี้ออกจากทางเดินมารดา เขาถูกส่งตัวมายังวัดเพื่อก้าวเดินสู่ความดีงาม ในขณะผัสสะของเขาเป็นดั่งของขวัญจากพระเจ้า ชะตาอนาคตที่แตกต่างเมื่อพบเจอมิตรผู้ผายนำเขาสู่ตัวตน
แรงดึงดูดระหว่างตัวละครทั้งสองนี้เริ่มต้นด้วยความศรัทธาของเด็กหนุ่มต่อชายหนุ่มผู้เตรียมตัวเป็นอาจารย์ นาร์ซิสซัสผู้สง่างามแบบกรีก บอบบาง ผิวคล้ำ ทรงภูมิ ดวงตาแบบนักคิดสงบ แต่คล้ายจะมองทะลุเข้าไปในทุกสิ่ง ผู้ทั้งน่าเข้าใกล้และถอยห่างในขณะเดียวกัน โกลด์มุนด์ เด็กหนุ่มสุภาพเปี่ยมมนุษยสัมพันธ์ ผู้สามารถดึงผู้อื่นให้ประทับเพียงแรกพบ ผู้เชื่ออย่างไม่เป็นอื่นว่าควรดำรงชีวิตในวัด บนเส้นทางแห่งความดีงาม ทั้งคู่ต่างมีพรสวรรค์และสัญญาณความสามารถชัดเจน ทำให้แตกต่างจากผู้อื่น ความต่างแต่มีลักษณะร่วมบางอย่างที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากัน และนำมาซึ่งการสนทนาที่ถ้อยคำตามมาทีหลัง
ขณะนาร์ซิสซัสเลือกเข้าสู่การฝึกตนเพื่อบวช โกลด์มุนด์ออกเดินตามเส้นทางแห่งโลก อาศัยผัสสะนำทาง
ความสัมพันธ์ระหว่างขั้วตรงข้าม ผู้ดำรงในวิถีชีวิตอันดีงาม เรียนรู้ผ่านทฤษฎี และฝึกตนอย่างเคร่งครัด กับผู้เรียนรู้ผ่านผัสสะ ลงไปคลุกคลีด้วยชีวิต หากต่างเป็นแรงดลใจให้แก่กัน เข้าใจกันและกัน ทั้งยอมรับในหนทางที่ต่างเลือกด้วยเจตนาแห่งความเฉพาะของเพื่อน
ที่พักกายเติมกำลังใจท่ามกลางวิถีชีวิตที่ต่างต้องเรียนรู้ ในภาวะที่สังคมบีบคั้นและตีเส้นให้เห็นความแตกต่างระหว่างบุญและบาป ดีงาม ชั่วช้า ประเสริฐ เลวทราม ดั่งกับว่าโลกนี้ถูกตีตาราง และบางเส้นทางเท่านั้นที่จะนำประสบอาณาจักรแห่งพระเจ้า หนทางใดที่เราเลือกเดิน หลายคราวผู้คนดูเหมือนรู้ตัวว่าเขาจะเดินไปทางใด เปี่ยมสุขในหนทางที่ตนเองเลือก แม้ฉากในหนังสือเล่มนี้จำลองรูปอดีตเยอรมนียุคกลาง หากแต่ว่าความเป็นไปและคำถามของผู้คนดูจะมิได้เปลี่ยนแปลง เป็นเพียงความซ้ำซากที่ยังคงหมุนเวียนดำเนินไป
เราเรียกร้องอะไรจากความสัมพันธ์ในสังคมแลกเปลี่ยนผ่านเงิน สังคมที่สร้างความแปลกหน้าหวาดระแวงเพื่อปกป้องตัวเอง ความเป็นมิตรกลายกลับเป็นสินค้าในร้านสะดวกซื้อเพื่อเข้าหาแล้วปล้นเงิน ณ เวลาที่เราติดต่อกันได้เร็วกว่ากะพริบตา ความใกล้ชิดหาใช่เดินตาม
ความต่างแม้ในทัศนะพาคนเข่นฆ่า มิอาจร่วมศรัทธา ในโลกอุดมความต่างเรากลับถูกพร่ำบอกวันแล้ววันเล่าว่า พวกเธอควรจะคล้ายเพื่อความสงบสุข เพื่อสันติภาพ เพื่อ... เพื่อพวกเธอจะได้อยู่ร่วมกันเช่นเพื่อน เพื่อนที่เธอไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ความต่างอีกต่อไป
แม้หนังสือจะเน้นเรื่องการเข้าถึงบางอย่างของแต่ละคน แต่มิตรภาพระหว่างกันเป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิต ความเข้าใจยอมรับเป็นดั่งพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจระหว่างกันและกัน สักวันเราอาจได้เรียนรู้ที่จะพูดคุยและอยู่ร่วมกันบนความเข้าใจ ทั้งยอมรับความแตกต่างเช่นกัน
สดใสเคยให้สัมภาษณ์ เธอกล่าวถึงงานของเฮสเสว่า เป็นงานเขียนวิเคราะห์ตนเองผ่านตัวละครต่างขั้วที่ล้วนเป็นเขา บางคนอาจรู้สึกแปลกๆ กับคำกล่าวที่ว่า คนเราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง มันสะท้อนนัยความหมายที่ว่า คนเราไม่อาจรักใครได้หากเขาไม่สามารถรักตัวเอง หรือคนเราเดินทางทั้งชีวิตเพื่อค้นสันติภาพภายใน
เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนเยอรมัน รางวัลโนเบล ปี ค.ศ.1946 เกิดในครอบครัวบาทหลวงเคร่งศาสนา ประเทศเยอรมนี เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในไทยผ่านงานแปลโดยสีมน และสดใส (อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ผู้ได้รับสมญานามว่า ลูกสาวเฮสเส) ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักต่อสู่เพื่อสันติภาพ ปฏิเสธสงครามอย่างไม่ผ่อนปรน ทำลายความหวังของครอบครัวด้วยการหนีออกจากวัดในวัยรุ่น ก่อนผันตัวมาทำงานเขียนเป็นหลัก สนใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ และ คาร์ล จุง ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างสม่ำเสมอในงานเขียน เคยต้องเข้ารับการบำบัดตามแนวทางของจุง ภายหลังให้ความสนใจแนวคิดทางตะวันออก เข้าหาพุทธศาสนาจนก่อตัวเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากเรื่องหนึ่งชื่อ สิทธารัตถะ งานชิ้นสุดท้ายในชีวิตคือนิยายเรื่องยาวขนาดหมอนน้อยชื่อ เกมลูกแก้ว (The Glass Bead Game) ที่ผลักให้ได้รับรางวัลโนเบล เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นคนตะวันตกที่สะท้อนให้เห็นความเป็นหนึ่งระหว่างฟากอรุณรุ่งและอัสดง
เทพศิริ สุขโสภา กล่าว “คล้ายเฮสเสกำลังสื่อสารว่า ไม่ว่าเกิดมาในทางบุญหรือทางบาป เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ก็อาจนำตนให้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนและมนุษย์ได้”
เพื่อมิตรภาพอันผ่องใสทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เราจะเลือกทางไหน น่าเศร้าโศกและยินดี เมื่อโลกมีทางเลือกมากมาย ตัวตนที่เราค้นหาคงไม่ใช่เพียงสมรภูมิแห่งการบริโภคอย่างที่สังคมย้ำเตือน
http://www.thecreamcafe.com/component/content/article/69-consume/119-narcissus-and-goldmund-http://www.youtube.com/v/U2Kxh79B64A