13 เกมสยอง เป็นภาพยนตร์วิพากษ์สังคมที่ดีมากอ่านไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจเขียนอย่างนี้จริงๆ และควรต่อท้ายด้วยว่า
‘และตั้งใจมากๆ ด้วย’เพราะนอกจากแก่นเรื่องหลักที่ว่าด้วยมนุษย์ผู้ติดกับดักบริโภคนิยมและยอมทำตามกิเลสจนลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนไปสิ้นแล้ว ตามรายทาง หนังยังสอดแทรกปัญหาขั้นวิกฤติของสังคมไทยไว้หลายประการ ซึ่งล้วนได้รับการนำเสนอด้วยความตั้งใจและไม่ยอมลดราวาศอกแม้แต่น้อย ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า13 เกมสยอง เล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของ
ภูชิต (
กฤษดา สุโกศล หรือ
น้อย วงพรู) ที่เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วัน เขาเป็นเซลแมนของบริษัทเครื่องดนตรีชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่ง ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเอาเสียเลย ยอดขายตกมาแล้วสามเดือน ไม่มีเงิน ถูกแฟนทิ้ง รถถูกยึด ไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน ฯลฯ ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าชีวิตของเขากำลังโคจรเข้าใกล้หลุมดำอยู่ทุกขณะ ซึ่งพาหนะเดียวที่สามารถพาเขาหลุดจากวงโคจรมรณะนี้ได้ คือเงินเท่านั้น….
ช่วงแรกนี้ หนังสามารถสร้างความรู้สึกกดดันและปูเหตุผลสำหรับการกระทำของตัวละครได้ดีมาก คุณน้อย วงพรูนั้นเป็นศิลปินที่มีพลังเยอะอยู่แล้ว การรับบทหนักๆ เช่นนี้จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับเขาแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเล่นได้ดีเสียด้วย ว่ากันเฉพาะฉากที่เข้าไปเสนอขายเครื่องดนตรีให้อาจารย์ใหญ่เท่านั้น ทั้งสีหน้าท่าทาง จังหวะการพูดจาล้วนแต่บ่งบอกให้รู้ว่าเขานี่แหละคือคนจริงๆ ที่กำลังจะประสบหายนะในชีวิต
แน่นอนว่านอกจากฝีมือการแสดงแล้ว ยังต้องยกความดีให้กับบทที่เขียนโดยผู้กำกับ
มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งกำหนดสถานการณ์ต่างๆ ไว้ดักทางความรู้สึกของผู้ชมได้ลงตัวตรงจังหวะ การปูพื้นฐานตัวละครในช่วงแรกนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างที่สุด และในเมื่อปูพื้นฐานตัวละครได้ดีเช่นนี้แล้ว การเฝ้าดูพฤติกรรมของภูชิตต่อไปตลอดทั้งเรื่อง จึงน่าอภิรมย์เป็นที่ยิ่ง
ทว่า ในทันทีที่ภูชิตสำนึกตัวว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลงที่สุดของชีวิตนั้น จู่ๆ เสียงโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดังขึ้น ดังขึ้นด้วยพร้อมความฉงนสงสัย ดังขึ้นพร้อมความไม่น่าไว้วางใจ และที่สำคัญ ดังขึ้นพร้อมความหวังใหม่ในชีวิตของเขา ต้นสายยื่นข้อเสนอที่แสนเย้ายวนใจให้ นั่นคือหากเขาเล่นยอมเล่นเกมตอบคำถาม 13 ข้อ เขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเงินรางวัลสูงถึง 100 ล้านบาท!!! โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องทำตามทีมงานสั่งทุกประการ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ผู้ชม-ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม-ลงว่าได้เห็นคุณน้อยเล่นได้น่าเชื่อมาตั้งแต่แรกแล้ว ก็คงไม่อาจคิดเป็นอื่นได้นอกจาก
‘ถ้าเป็นอั๊ว ก็จะยอมทำไม่ต่างกันละวะ’ ฉะนั้นแล้ว การเดินทางสู่หายนะในชีวิตที่แท้จริงของภูชิต จึงเริ่มต้นขึ้นทันทีที่เขาตอบตกลงเล่นเกมนั่นเอง คำถามแต่ละข้อ แม้จะมาพร้อมเงินรางวัลจำนวนมาก แต่ก็มีคำสั่งอันชวนคลื่นไส้สยดสยองมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ขอกล่าวมากไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชมเสียอรรถรสได้
ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ หนังยังฉลาดพอที่จะวางเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับภูชิตและเกมสยองนี้ ไว้อย่างแยบคายไม่ยัดเยียด ซึ่งช่วยส่งเสริมอารมณ์ในขณะนั้นและจะเป็นตัวเสริมสร้างความหนักแน่นให้แก่บทสรุปในช่วงท้าย
โดยส่วนตัวแล้ว ก่อนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คำถามที่ผมตั้งในใจไม่ใช่
‘หนังจะจบยังไงนะ’ หากแต่เป็น
‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ ทั้งนี้เป็นเพราะภาพจากเรื่อง Saw (2003) และเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ยังคงติดตาอยู่ไม่จาง และเป็นเพราะความสยองขวัญอันเกิดจากบทเฉลยของ
รับน้องสยองขวัญ (2005) ยังทำให้เข็ดหลาบอยู่ไม่หาย (แน่นอนว่าผมเสียดสี) ฉะนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า
‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ จึงควรเป็นไปตามเงื่อนไขสองประการ คือ หนึ่ง จบให้ต่างจาก Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน และสอง จบให้ดีกว่าภาพยนตร์ไทยที่เฉลยแบบตีหัวเข้าบ้านเรื่องนั้น
ผมควรบอกเสียแต่ตอนนี้ว่า ผมไม่ได้หมายความว่า 13 เกมสยอง และต้นกำเนิดของมัน
‘เลียนแบบ’ หรือ
‘ได้รับแรงบันดาลใจจาก’ Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ซึ่งแม้จะเป็นอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะจินตนาการของเราย่อมก่อเกิดจากสิ่งที่เรารับรู้อยู่ก่อนแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะถกกัน หรือหากว่าเป็นประเด็น ก็ควรไปถกกรณี
‘Romeo and Juliet’ กับ
‘ขุนลู-นางอั้ว’ และเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏบนจอแล้ว ถึงจะมีอนุภาค (particle) คล้ายกันหลายประการ แต่ 13 เกมสยอง ก็ต่างจาก Saw อย่างสิ้นเชิงในแง่ของแก่นเรื่อง เพราะในขณะที่ Saw ว่าด้วยการแข่งขันกับคนอื่นตามสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด แม้จะต้องฆ่าใครก็ช่าง ดังทฤษฎีคนแกร่งอยู่ต่อ (survival of the fittest) นั้น แต่ 13 เกมสยอง กลับว่าด้วยการแข่งกับตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสและตั้งคำถามต่อผู้ชมว่า
‘เราจะยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์มากแค่ไหน เพียงเพื่อสนองกิเลสของตน’ ผู้ชนะในหนังสองเรื่องนี้จึงต่างกัน สำหรับ Saw ผู้ชนะคือคนที่ทำตามสัญชาตญาณแล้วฆ่าคนอื่นจนเอาชีวิตรอด แต่สำหรับ 13 เกมสยอง นั่นคือผู้แพ้
ปัญหาสังคมที่หนังพยายามสะท้อนและวิพากษ์อย่างเด่นชัดที่สุด (ซึ่งก็คือ
‘แนวเรื่อง’ หรือ motif นั่นเอง) คือ ลัทธิบริโภคนิยม ดังเราจะเห็นได้อยู่บ่อยครั้งว่า สาเหตุของปัญหาที่รุมล้อมตัวภูชิตอยู่นั้น ล้วนเกิดจากลัทธิบริโภคนิยมทั้งสิ้น อาทิ แฟนทิ้งเพราะเขาไม่มีบ้าน รถ และเงินเก็บ หรือแม่ต้องโทรมารบกวนขอเงินเพราะน้องสาวเอาเงินค่าเทอมไปซื้อโทรศัพท์ เป็นต้น และหนังก็พิพากษาลัทธิที่ครอบงำชาวโลกอยู่นี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ว่าเป็นเสมือนผีร้ายที่เมื่อได้เข้าสิงสู่ใครแล้ว เป็นต้องกระชากวิญญาณออกไปให้สูญสิ้นความเป็นคนเมื่อนั้น
ส่วนประเด็นปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ผู้ชมได้เห็นตามรายทาง อันได้แก่ ขอทาน คนวิกลจริต การทอดทิ้งคนชราให้อยู่ลำพัง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนมอเตอร์ไซค์ซิ่งนั้น ล้วนได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างพอเหมาะพอควร กล่าวคือ ผู้ชมได้รับสารอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ขับเน้นมากจนทำให้หลงประเด็น อย่างไรเสีย ยังมีบางประเด็นที่หนังจงใจใช้อธิพจน์โวหาร (hyperbole) มากไปหน่อยจนพ้นเข้าไปในเขตความไม่น่าเชื่อเสียฉิบ
นอกจากจะวิพากษ์สังคมอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว หนังยังมีช่วงชะลอความเครียด ให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายอารมณ์บ้าง ด้วยการปล่อยมุขขบกัดเสียดสีเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ฉากตบแมลงวันตายคาใบปิดอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันหน่อย ขอเปลี่ยนเป็นอีกคนจะดีกว่า
น่าเสียดายที่ตัวละครบางตัว ซึ่งมีสีสันและบทบาทสำคัญในช่วงแรก และโผล่ออกมาบ่อยจนผู้ชมจำชื่อได้ ถูกทอดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย (ไม่ได้หมายรวมถึง ตัวละครที่มีภูมิหลังตั้งแต่ 12 เกมสยาม อย่าง
พตท.สุรชัย ที่รับบทโดยคุณ
ศรันยู วงศ์กระจ่าง นะครับ) หรือเสียงบางเสียงที่ปล่อยออกมาให้เกิดความสงสัย (cognitive conflict) เป็นระยะๆ ก็ยังไม่ได้รับการเฉลยในหนังเรื่องนี้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้และแอบหวังไว้ว่าในภาคต่อ (ซึ่งหลายคนเสนอให้ใช้ชื่อว่า 14 เกมสยิว) ตัวละครบางตัวและบรรดาเจ้าของเสียงเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นและได้รับการเฉลยความเป็นมาเป็นไปในที่สุด
คุณ
อิม อชิตะ สิกขมานา เล่นเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าบท
ตอง นักศึกษาฝึกงานที่สนิทกับภูชิต ที่เธอเล่นจะไม่มีบทบาทมากมายนักในเรื่องนี้ แต่ก็ฉายแววไว้ให้น่าเชื่อว่าในภาคต่อไปจะเป็นมีบทบาทสำคัญยิ่ง
หากพอจะมีอะไรให้จับผิดบ้าง ก็คงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ใช่สารัตถะของหนัง ยกตัวอย่างเช่น ทีมงานเกมสยองนี้ รู้ได้อย่างไรหรือมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรว่า ผู้เล่นจะเลือกเส้นทางเล่นเกมเป็นเส้นตรงผ่านจุดต่างๆ ที่ทีมงานจัดฉากไว้ โดยไม่หลงทางหรือเดินอ้อมแต่อย่างใด คำตอบคือ เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ดังจะเห็นได้ว่าบ่อยครั้งภูชิตประสบเหตุบังเอิญมากมายซึ่งทำให้เขวจากเส้นทาง (ต่อยกับนักเรียนอันธพาลจนตกรถเมล์) แต่กระนั้นทีมงานยังสามารถติดตามถ่ายทอดชีวิตเขาได้ (หรือว่าตั้งใจให้ตกรถตรงนั้น???) หรือแม้แต่ในฉากจบเองก็ยังสร้างข้อกังขาในใจผู้ชมว่า
‘ทำไมตัวละครอีกตัวที่อยู่ตรงนั้น ไม่ชิงความเป็นหนึ่งเสียตั้งแต่แรก’อีกประเด็นหนึ่ง ที่ขัดหู ขัดตา และกวนใจเล็กน้อย ก็คือ สัดส่วนเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ระบบ เช่น ข้อ 11 เงินรางวัล 40 ล้าน พอข้อ 12 เงินรางวัลกลับเพิ่มเพียง 10 ล้านรวมเป็น 50 ล้าน แต่พอข้อสุดท้าย เงินรางวัลก็ทบเท่าทวีคูณเป็น 100 ร้าน ซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าทำไมจึงต้องเพิ่มแบบไร้ระบบเช่นนั้น
ช่วงท้ายเรื่อง อาจทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาทำนองนี้ รู้สึกอึ้งก็จริง แต่ก็เป็นความอึ้งอันเกิดจากส่วนผสมหลายอย่างระคนอยู่ด้วยกัน ทั้งความประหลาดใจ ความระทึกขวัญ และที่สำคัญคือความไม่น่าเชื่อ (ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ในโลกจริง)
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในช่วงเดียวกันนี้ ยังปรากฏบทสนทนาทำนอง
‘จับยัดใส่ปาก’ มากจนรู้สึกแสลงหูอย่างไรพิกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่แม่เข้าไปปลอบขวัญภูชิต หลังจากที่เขาลงมือทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จ เพราะประโยคที่เธอเปล่งออกมา หากหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ก็คงเป็นประโยคยอดนิยมที่ตำรวจจราจรชอบใช้หลังจากที่บอกให้เราหยุดรถนั่นเอง แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อหนังเลือก (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ที่จะวิพากษ์สังคมแบบจริงใจตรงไปตรงมาตลอดทั้งเรื่องแล้วนี่
แล้วก็…เอ่อ… Congratulations ตกตัว s หรือเปล่าครับ
อำนวยการสร้าง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
/ควบคุมงานสร้าง-ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุภัญญา วงศ์สถาปัตย์
/กำกับภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/
บทภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/
เรื่อง-เอกสิทธิ์ ไพยรัตน์ และวิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป
/ดนตรีประกอบ-กิตติ เครือมณี/
กำกับภาพ-จิตติเอื้อนรการกิจ
/กำกับศิลป์-ธนาศักดิ์ ล่ำชัยประเสริฐ
/ออกแบบเครื่องแต่งกาย-ปัญชลี ปิ่นทอง
/ออกแบบงานสร้าง-ศิระ ตาลทอง
/ลำดับภาพ-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
/ผู้แสดง-กฤษดา สุโกศล, อชิตะ สิกขมานา, ศรันยู วงศ์กระจ่าง, อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์, ณัฐพงษ์ อรุณเนตร
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตาร์พิคส์