“เห็นข่าวน้ำท่วมแล้ว เราก็คิดว่าน่าจะทำอะไรให้
เขาได้บ้าง แม้จะเป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อช่วยกันได้ เราก็ช่วยกันไป” ฉัตรชนกบอก
ฉัตรชนก แก้วจันทร์ เอ่ยขณะมือกรอกข้าวสารใส่ถุงเล็กๆ เบื้องหน้า ใกล้ๆกันมีเพื่อนๆล้อมวงช่วยกันกรอกข้าวสารใส่ถุงพลาสติกอย่างขะมักเขม้น ห่างออกไป นักเรียน นักศึกษา และชาวบ้านหลากวัย ล้อมวงทำงานกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
กลายเป็นภาพต้องตา ประทับใจภายในอาคาร 3 ของสนามบินดอนเมือง
ภายในอาคาร 3 ของสนามบินแห่งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยแบ่งด้านบนเป็นที่อยู่ของกองอำนวยการร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชน ห้องของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากคณะรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นสถานที่แถลงข่าว
ส่วนด้านล่าง เต็มไปด้วยข้าวของต่างๆ ทั้งหมดคือธารน้ำใจที่ไหลเข้ามาจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสารพัดตรา ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย และของกินของใช้อีกมากมาย เมื่อโผล่เข้าไป จะเห็นกองรวมกันอยู่เป็นขนาดใหญ่
สิ่งของเมื่อไหลเข้ามาแล้ว เจ้าหน้าที่จะจัดแบ่งเป็นถุงๆ ก่อนส่งไปยังผู้ประสบภัยตามจุดต่างๆ ส่วนจะเดินทางไปไหนบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับกองอำนวยการชั้นบนเป็นผู้กำหนด แรงงานที่คัดแยกแต่ละคน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล แต่เป็นอาสาสมัครที่มาด้วยจิตอาสาเต็มร้อย
ฉัตรชนกเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร หลังจากเลิกงาน เธอจะรวบรวมเพื่อนๆ ในที่ทำงานตรงมายังอาคาร 3 ของสนามบินดอนเมือง เพื่อช่วยคัดแยกสิ่งของ “เมื่อมาถึงเราก็จะดูว่า จุดไหนบ้างที่เขาต้องการแรงงาน เห็นเราก็เข้าไปช่วย”
เธอหยุดพูด ขณะรวบปากถุงข้าวสาร แล้วบอกว่า “เห็นเขาเดือดร้อนขนาดนี้ เราจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้แล้ว เลิกงานเราก็พากันมาที่นี่ ถ้าทำได้อยากจะมาทุกวันเลย จนกว่าน้ำจะลด”
เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับอุทกภัยครั้งนี้ เธอบอกว่า “เรามีธรรมชาติสวยงาม แต่เราไม่ได้รักษาให้ดี คิดว่า 80 เปอร์เซ็นต์ น่าจะมาจากธรรมชาติลงโทษ เพราะเราไปตัดไม้ทำลายป่าไว้มาก เหมือนธรรมชาติเตือนให้เราเห็นคุณค่าของป่าไม้ และให้หันไปปลูกป่าได้แล้ว”
ส่วนสาเหตุอื่นๆ “เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องการทำลายเส้นทางของน้ำ น่าจะมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นนะ เรื่องคูคลองร่องน้ำเราต้องช่วยกันดูแล จะได้เป็นทางน้ำที่ดี น้ำเดินได้สะดวก ที่ผ่านๆมาเรารุกล้ำเข้าไป และขัดขวางทางน้ำมากพอแล้ว”
“ธรรมชาติเอาคืนบ้าง” จตุรงค์บอก
จตุรงค์ ศรีวิลาศ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24/353 หมู่บ้านอยู่เจริญ ดอนเมือง นั่งอยู่ใกล้ๆกัน เอ่ยขณะมือกรอกข้าวสารใส่ถุง พลางเสริมว่า เพิ่งจะมาช่วยวันแรก บ้านตนเองนั้นก็เสียวๆ น้ำท่วมอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่เดือดร้อน จึงมาช่วยคนที่ประสบภัยก่อน
“เล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยกันไป เราช่วยเงินก็ไม่ได้มากมายอะไร จึงมา ช่วยแรง ผมเพิ่งมาวันแรกเองครับ เรื่องเวลามาช่วยนี้แล้วแต่เวลาเพราะผมทำงานอยู่กลางวันมาไม่ได้ แต่มาตอนมืดๆ ก็ดีเหมือนกัน เพราะกลางคืนคนจะเหลือน้อย คนที่ทำงานกลางวันก็จะมาช่วยได้ตอนนี้”
จตุรงค์บอก พลางหยิบถุงข้าวสารของตนเอง และเพื่อนๆ ที่กรอกและมัดปากเสร็จแล้ว เข้าไปกองรวมไว้ข้างๆ
ข้าวของที่เดินทางเข้ามายังสนามบินดอนเมือง ภาสกร นาเมือง เจ้าหน้าที่จากทำเนียบรัฐบาล ผู้มาอำนวยความสะดวก และดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ภายในอาคารบอกว่า ข้าวของจะเข้ามาตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. เมื่อได้ข้าวของแล้ว ต้องอาศัยอาสาสมัครคัดแยก
“สิ่งของในถุงจะเป็นพวกข้าวสาร อาหารแห้ง และของกินของใช้ที่จำเป็น เราคัดแยกใส่เป็นถุงๆ ในถุงนั้นจะมีเป็นต้นว่า ข้าวสาร ปลากระป๋อง ขนม เทียน ไฟฉาย เราจะไม่ใส่น้ำดื่มรวมไปในถุงด้วย เพราะระหว่างการขนย้ายถ้าขวดน้ำแตก น้ำจะเปียกข้าวของเสียหาย”
เมื่อถามถึงอาสาสมัคร “มากันพอสมควรครับ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นกำลังที่แข็งขันมาก อาสาสมัครที่เป็นผู้ชายหนุ่มๆ บางช่วงเวลา อย่างในตอนกลางวันจะน้อยไป ส่วนใหญ่เขาจะมากันตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากเห็นแรงงานคนหนุ่มๆ ตอนกลางวันมากกว่านี้ครับ”
ความหวังของผู้ดูแลนั้น จะสมหวังหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับจิตอาสาของคนวัยหนุ่ม ที่จะเข้าไปร่วมแรงร่วมใจ เพื่อบรรเทาผู้ประสบชะตากรรมอย่างแท้จริง
ผ่านจุดกรอกข้าวสารไปไม่ไกลนัก แก่นจันทร์ สีสัน วัย 30 ปี บ้านอยู่ย่านดอนเมือง ทำหน้าที่คอยบอกน้องๆ นักศึกษา และชาวบ้านที่มาช่วยคัดแยกสิ่งของเสียงเจื้อยแจ้ว เธอเข้ามาช่วยงานศูนย์ฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม แล้วทำมาอย่างต่อเนื่อง
“อยากจะช่วยคนไทยด้วยกัน”
แก่นจันทร์บอกว่า แรงกระตุ้นให้มาช่วยงานนั้น เพราะบ้านพ่อน้ำท่วมอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี อาจด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้เธอเข้าใจความทุกข์ของผู้ประสบภัยเป็นอย่างดี แต่เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือด้านอื่นได้ดีไปกว่าการใช้แรง เธอจึงตัดสินใจอาสาเข้ามาทุกวัน เริ่มตั้งแต่ประมาณ 08.00 น. จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงจะกลับบ้าน
“ของมาเรื่อยๆ ทั้งจากวัด มูลนิธิ บริษัทห้างร้านต่างๆ และชาวบ้านทั่วไป เมื่อได้มาเราก็คัดแยกประเภทเอาไว้ก่อน จากนั้นค่อยใส่ถุงรวมกันไป”
เธอบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้ “เห็นพลังของคนไทยมากเลย ภาพที่ประทับใจคือ ขณะแต่ละคนทำงานอยู่เบื้องหน้า เมื่อบอกว่าให้ช่วยต่อสายพานคือยืนเรียงกันเพื่อขนของขึ้นหรือลงจากรถ ทุกคนจะวางงานเบื้องหน้าไว้ชั่วคราว แล้วมายืนเรียงแถวช่วยกัน มองแล้วเห็นพลังอาสา เป็นการช่วยกันดีมาก”
ภายในอาคาร 3 สนามบินดอนเมือง นอกจากมีธารน้ำใจทั่วสารทิศส่งของมาให้ คนจิตอาสามาช่วยคัดแยกของแล้ว ยังมีคนส่งอาหารการกินมาช่วยคนจิตอาสาอีกด้วย อาหารการกินนั้น มีทั้งข้าวของ น้ำดื่ม และของขบเคี้ยวอื่นๆ
กลายเป็นน้ำใจที่ช่วยเหลือคนที่มีน้ำใจ ยามอุทกภัยกระหน่ำซ้ำซัด
ด้วยความสับสนของ “ข่าว” ทำให้ผู้ประสบภัยเข้าใจว่า ดอนเมืองเป็นที่รับคนหนีภัยน้ำท่วมเข้ามาพัก หนึ่งในความเข้าใจผิดนี้คือ ปราณี โกทัน อายุ 33 ปี บ้านเดิมอยู่ตำบลเขาแก้ว อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มาอาศัยและทำงานอยู่นวนคร เธอพร้อมเพื่อนๆ ตรงมาที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยดอนเมือง
“เขาประกาศว่า ให้ออกจากพื้นที่ น้ำเข้าแล้ว ก็ช่วยกันเก็บข้าวของขึ้นรถมาเลย” ปราณีบอก
รถกระบะของเธอ ขั้นแรกตรงไปยังจังหวัดปทุมธานี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าน้ำท่วม ให้มาที่ดอนเมือง จึงตรงมา เมื่อถึงก็ประสบปัญหาเพราะว่า ไม่รู้จะอาบน้ำที่ไหน และพักที่ไหน เพราะว่าอาคาร 2 เขามีแต่รับของ ไม่ได้รับคน
กรณีปราณีนี้ เจ้าหน้าที่เห็นใจ จึงให้เข้าไปอาศัยนอนในห้องคัดแยกสิ่งของได้ชั่วคราว
ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า สถานที่พักพิงผู้หนีภัยน้ำท่วม ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งคือ 1. ศูนย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และ 2. ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ
ส่วนที่ดอนเมือง เป็นศูนย์รับข้าวของและกองอำนวยการช่วยเหลือเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ผู้คนเข้ามาพักอาศัย ผู้สงสัยหรือเกรงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โทร.สอบถามได้โดยตรงที่ “1111 กด 5”
สนามบินดอนเมืองในปัจจุบัน นอกจากจะใช้เป็นสนามบินภายในประเทศแล้ว ยังเป็นสนามรับธารน้ำใจของทุกคน ทั้งสิ่งของและแรงกาย เพื่อช่วยเหลือกันยามประสบเคราะห์กรรม.
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/210437