เอาเสาล่ามสุนัขมาให้ดูอ่าครับ
ว่าจิตวิญญาณที่กล่าวอ้างว่าบริสุทธิ์ นั้น พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เหมือนเสาล่ามสุนัข
๘. คัททูลสูตรที่ ๒
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข
[๒๕๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายรู้
ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็น
เครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้
ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ถ้าแม้มันเดิน มันก็ย่อมเดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันยืน
มันก็ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนั่ง มันก็ย่อมนั่งใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้
มันนอน มันก็ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้
สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา.
ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เดิน เขาก็ย่อมเดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้ยืน เขาก็ย่อมยืน
ใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นั่ง เขาก็ย่อมนั่งใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง
ถ้าแม้นอน เขาย่อมนอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น
แล เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ
สิ้นกาลนาน.
ว่าด้วยความเศร้าหมองและผ่องแผ้วของจิต
[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์
ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาพนิทรรศการนั้น เธอทั้งหลาย
เห็นแล้วหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า.
พ. ภาพนิทรรศการแม้นั้นแล ช่างเขียนคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั้นแหละ วิจิตร
กว่าภาพนิทรรศการแม้นั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้
เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิต
เศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณา
เห็นหมู่สัตว์อื่นแม้เพียงหมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คนคิดด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์
ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้
เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิต
เศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่าง
เขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูป
บุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้
ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่น
แหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่น
แหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณ
นั่นแหละให้เกิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๓๓๑๔ - ๓๓๕๓. หน้าที่ ๑๔๑ - ๑๔๓.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=17&A=3314&Z=3353&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=258 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗
http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๗
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_17