อรรถกถาจารย์ ท่านได้แนะนำ
วิธีดูลมหายใจไว้ 5 นัย คือ
1. วิธีนับลมหายใจ เรียกว่า คณนานัย ให้นับเป็นคู่ๆ ก่อน แล้วค่อยนับเรียงทีหลัง นับเป็นคู่ๆ ก็คือ เมื่อหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1, หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2 , หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 3 , หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 4 , หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 5 , หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1, คือ พอถึง 5 แล้ว ก็มาขึ้น 1-1 ไปถึง 6-6 , 1-1 ไปถึง 7-7 , 1-1 ไปถึง 8-8 , 1-1 ไปถึง 9-9 , 1-1 ไปถึง 10-10 แล้วก็วน 1-1 ไปถึง 5-5 โดยตั้งกติกาว่า จะไม่ให้ผิดพลาดนะ ถ้านับเรื่อยเฉื่อยไป แทนที่จะหยุดแค่ 6 เลยไป 7 ไป 8 ก็ต้องขึ้นต้นใหม่ 1-1 ถึง 5-5 จิตจะเกิดความระวังตัว ต้องคอยระวังล่ะ ถ้าไม่ระวังก็นับไม่ถูก ใครที่ฟุ้งซ่านมากๆ เมื่อนับลมหายใจ เรื่องที่ฟุ้งจะถูกตัดออกไป จิตก็ทรงตัวอยู่
เมื่อจิตทรงตัวอยู่ดี ต่อไปก็ให้นับเรียง โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 4 หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 9,..... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 9,... 10,... แล้วก็มาวน 1 ถึง 5 ใหม่ นับเรียงอย่าให้ผิด ถ้าผิด ก็เริ่มนับ 1 ถึง 5 แต่ไม่ต้องนับเร็วมาก เดี๋ยวยิ่งหายใจเร็วยิ่งเหนื่อยใหญ่ ถ้าเราหายใจช้า ก็นับไปช้าๆ อย่าไปเร่งลมหายใจ นี่คือท่านอรรถกถาจารย์ท่านสอนไว้ แม้ครู้บาอาจารย์ในสมัยยุคปัจจุบัน เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านก็สอนให้ภาวนาพุทโธ หายใจเข้าว่าพุธ หายใจออกว่าโธ ซึ่งก็สงเคราะห์อยู่ ในการนับลมหายใจ แต่เราจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ ก็ได้ เพื่อที่จะกำกับจิตให้อยู่กับลมหายใจ
2. วิธีตามลมหายใจ เรียกว่า อนุพันธนานัย อนุพันธนานัยก็คือ ตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา หายใจเข้าแล้วลมกระทบผ่านโพรงจมูกลงไปทรวงอก ถึงหน้าท้อง แล้วหายใจออกจากหน้าท้องย้อนขึ้นมาทรวงอก ออกมาถึงโพรงจมูก แล้วก็ตามลมเข้าไป ตามลมออกมา ตามไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ถนัดวิธีแรก ก็ใช้วิธีที่ 2 นี้ก็ได้
3. วิธีดูการกระทบ เรียกว่า ผุสนานัย ผุสนานัยคือ นัยกระทบ โดยดูอยู่ที่เดียว ตรงเฉพาะที่รู้สึกว่าลมกระทบ จะดูลมที่กระทบตรงโพรงจมูก หรือปลายจมูก หรือริมฝีปากบน หรือบางคน อาจจะรู้สึกกระทบที่ทรวงอก หรือบางคนก็รู้สึกที่หน้าท้อง เช่น ที่เค้าดูท้องพอง ท้องยุบก็ได้ ให้รู้สึกลมหายใจเข้ากระทบ ลมหายใจออกกระทบ อย่างนี้เรียกว่าผุสนานัย
4. วิธีดูลักษณะ เรียกว่า สัลลักขณานัย สัลลักขณานัยคือ การดูลักษณะของลมหายใจ โดยให้ดูลมหายใจว่า ลมหายใจมีลักษณะต่างๆ กัน หายใจเข้าก็อย่างหนึ่ง หายใจออกก็อย่างหนึ่ง หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น หยาบ หรือละเอียด บางทีก็หยาบ บางทีก็ละเอียด เป็นต้น
5. วิธีดูแบบนิ่งๆ เรียกว่า ฐปนานัย ฐปนานัยก็คือ เพ่งดูอย่างนิ่ง ดูไปนิ่งๆ เรียกว่า จิตจดจ่ออยู่กับนิมิตก็สงบได้
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีดูลมหายใจวิธีใดก็ดี ทั้ง 5 วิธีที่ได้กล่าวมานี้ เป็นการเจริญสมถะ เป็นการทำเพื่อให้จิตนิ่งสงบ ทำทำไปแล้ว เมื่อจิตสงบก็จะเกิดนิมิตขึ้นมาเป็นวงเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เหมือนปุยนุ่น เหมือนละอองในน้ำ หรือเหมือนสายรุ้ง เป็นต้น แล้วแต่ใครจะเห็นนิมิตอะไรก็จะเพ่งนิมิตนั้น เพ่ง...เพ่ง..ประคองไว้ นึกให้เห็นชัด นิมิตนั้นก็จะใส เกิดรัศมี นึกให้ใหญ่ นึกให้เล็กได้ตามความปรารถนา ในที่สุดจิตก็จะฟุบตัว เข้าสู่อัปปนาสมาธิ ได้ฌาน
แต่นี่เราไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้ เราจะทำสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน คือไม่ต้องเพ่งนิมิต แค่ดูลมหายใจเข้าออกตามสมควร เพื่อให้มีสมาธิบ้าง แล้วก็สังเกตความรู้สึกไปเลย พอระลึกรู้ความรู้สึกนี้แหล่ะ เป็นแนวทางของวิปัสสนา เช่น เวลาหายใจเข้าออก ก็ให้หัดสังเกตว่า เออ ! มีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย มีความตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ ที่ทรวงอก หน้าท้อง หายใจเข้ารู้สึกตึงๆ หายใจออกรู้สึกหย่อนๆ เป็นต้น ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย ความตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ
เหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานอกจากนี้ก็ยังต้อง
ใส่ใจในอิริยาบถย่อยต่างๆ ด้วย เช่น การคู้ เหยียด เคลื่อนไหว การพูด การจับ การยก การก้ม การเงย การเหลียวซ้ายแลขวา ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน แทนที่จะเหลียวไปมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็หัดรู้สึกตัวในการก้ม ในการเงย เป็นต้น ใหม่ๆ ก็รู้
แบบบัญญัติไปก่อน รู้ว่าก้ม รู้ว่าเงย รู้ว่าเหลียวซ้ายแลขวาซึ่งเป็นบัญญัติ แต่ต่อไปต้องพยายามปล่อยบัญญัติ มารู้สภาวะปรมัตถ์
รู้ปรมัตถ์คือ
รู้ความรู้สึก สภาวะปรมัตถ์ทางกายก็จะมีความรู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง หย่อนบ้าง ตึงบ้าง ต้องหัดสังเกตลึกซึ้งไปถึงความรู้สึกของการเคลื่อนไหว และของการกระทบ เช่นในขณะที่ก้มเงย เหลียวซ้ายแลขวา จะมีตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ ในกล้ามเนื้อ ตามตัว ปากที่หุบบ้าง อ้าบ้าง กลืนน้ำลายที่คอ บีบรัดก็รู้สึก แม้ตาที่กระพริบๆ ลูกตากลอกกลิ้งกระทบเปลือกตาไหวๆ
หรืออย่างเวลาจับอะไร เมื่อก่อนเคยรู้แต่จับ แต่ที่จริงแล้วพอจับปุ๊ป ลองสังเกตความรู้สึกที่กระทบจะพบว่า มีเย็น มีร้อน มีอ่อน หรือมีแข็ง อันนี้แหละเป็นตัวสภาวะ เป็นปรมัตถธรรม ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ได้ก็เป็นวิปัสสนา เป็นการรู้ที่กาย แต่ที่ให้เริ่มสังเกตที่ร่างกายก่อนก็เพราะว่า
กายเป็นของหยาบ รู้ได้ง่าย จึงให้รู้กายไปก่อน แล้วขั้นต่อไปก็ให้หัดรู้ใจ เพราะความสำคัญของการปฏิบัติที่สุดแล้วก็คือ
ต้องให้มีการระลึกรู้ถึงที่จิตใจ ว่าใจรู้สึกอย่างไร แต่ละขณะๆ ใจดี ใจไม่ดี ใจคิด ใจนึก ใจรู้สึกต่างๆ เสียใจ หรือดีใจ หรือเฉยๆ หรือหงุดหงิด มีความขุ่นมัว หรือผ่องใส สบายใจ ไม่สบายใจ สงบ ไม่สงบ วิตก วิจาร วิจัย สงสัย พอใจ ไม่พอใจ เป็นต้น
ให้พยายามมีสติระลึกรู้ทันในปัจจุบันอารมณ์เหล่านี้ด้วยความปล่อยวางอยู่ เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับได้ดูแลรักษาจิตใจแก้ไขให้ดีงาม แล้วก็เป็นการสะสมเก็บคะแนน
สติสัมปชัญญะบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อ
ความสมบูรณ์ของสติปัญญา ทำเช่นนี้เราก็ได้ปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องคอยเวลา ไม่เสียเวลากับชีวิตที่ผ่านไปหมดไป เพราะฉะนั้น เราต้องเตือนตัวเราเองว่า
“วันเวลาผ่านไปทุกนาที
กลืนกินชีวิตนี้ไปทุกขณะ
เราทำอะไรเป็นแก่นสารบ้างล่ะ
หรือแค่เกะกะเกิดแก่เจ็บตาย”
ชีวิตนี้เกิดมา เพียงแค่หมดไปวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้ทำอะไรให้เป็นสาระ หรือเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น มันก็เท่านั้นเอง แค่เกิดมาแล้วก็แก่เจ็บตายไป ใครๆ ก็เป็นเช่นนี้ ไม่ได้สาระอะไร
สาระของชีวิต อยู่ที่คิดดี ทำดี พูดดี ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามครรลองประโยชน์ตนและคนอื่น ฉะนั้น เราต้องทำประโยชน์ตอนนี้ เพื่อ
สะสมเหตุปัจจัยความดีของเราไว้
“อันความดีทำไว้ไม่หายสูญ
จะเกื้อกูลตามต้องสนองผล
ให้ความสุขสมหมายดังใจตน
เกิดเป็นคนควรทำแต่กรรมดี”
ให้คิดเสมอว่า ชีวิตของเราร่อยหรอลงไปทุกวันๆ เราอุ่นใจหรือยังว่า เรามีเสบียงเต็มที่แล้ว ในการจะเดินทางไปยังสัมปรายภพ ว่ายังไงเสีย เราก็ไปดี จะไปสู่ที่สบาย ไม่ไปสู่อบายแน่ อุ่นใจหรือยังว่า เวลาจะตายแล้วเราจะพร้อมเสมอ ถ้าความดียังไม่เต็ม ยังไม่พอ ก็ยังไม่ควรอุ่นใจ
ฉะนั้น เราต้องพร้อมเสมอ ต้องปฏิบัติจนกระทั่งเราอุ่นใจ ชีวิตนี้ไม่แน่นอน หลวงปู่เหรียญท่านก็มรณภาพไปเมื่อวาน เดี๋ยววันนี้ก็สรงน้ำศพ อายุท่านก็ 93 แล้วมั้ง แต่บางท่านบางคนนี้อายุยังไม่มาก ปุ๊ปปั้บตายไปก็มี เอาแน่ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้น ก็เตือนตัวเองไว้เพื่อจะได้สะสมคุณงามความดี สร้างบารมีของเรา ทั้ง
การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนาการ
เจริญภาวนาก็ให้
1. แผ่
เมตตาอยู่เนืองนิตย์
2.
เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เราก็จะได้รับประโยชน์ ได้รับ
อานิสงส์ ตามที่ได้บรรยายมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ
ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6897สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : (035) 242892, 244335
โทรสาร/ฝากข้อความ : (035) 245112
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ