ผู้เขียน หัวข้อ: ๑. อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา :จูฬสาโรปมสูตร  (อ่าน 1641 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                       

๑. อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา
ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า

              "พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น ปูรณะ กัสสป, มักขละ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, สัญชัย เวลัฏฐบุตร, และ นิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"

              เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอากิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกะพี้, เปลือก, สะเก็ด, กิ่งและใบไม้ เมื่อต้องการแก่นไม้ จึงละเลยแก่นเป็นต้น ตัดเอาแต่กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย"

              "มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จะพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้นเช่นเดียวกัน"

              "อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ต้องแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย"

              "ดูก่อนพราหมณ์ ข้ออุปไมยก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้ มีศรัทธาออกบวชไม่ครองเรือน ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ เข้าถึงตัวแล้ว อันความทุกข์เข้าถึงตัวแล้ว มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไฉนหนอการทำที่สุดแห่งทุกข์ ทั้งหมดนี้จะปรากฏ ผู้นั้นออกบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ว่าเราเป็นผู้มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นไม่มีใครรู้จักเป็นผู้มีศักดาน้อย คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภ สักการะ และชื่อเสียง ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม"

              "ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือน ผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดเสีย ตัดเอากิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วย ลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสิ่งนั้น ทั้งยังปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสีลสัมปทานั้นว่า เราเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทา ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น กะพี้ และเปลือกเสีย ถากเอาสะเก็ดไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ประพฤติสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ยังไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเป็นต้นเพราะสีลสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทานั้น ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ (ความตั้งมั่นหรือความสงบแห่งจิต) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปปทานั้นว่า เราเป็นผู้ตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า สมาธิสัมปทานั้น ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นและกะพี้เสีย ถากเอาเปลือกไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธินั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสมาธิสัมปทา ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณหรือปัญญา) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสนะนั้น ว่าเราอยู่อย่างรู้เห็น ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ อยู่อย่างไม่รู้เห็น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นเสียถากเอากะพี้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนอออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจแต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ได้ญาณทัสสนะ (หรือปัญญา) ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปราถรนาด้วยญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตน ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสะนั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมอะไรบ้าง ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) เข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เข้าอากาสานัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าวิญญาณัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าอากิญจัญญายตนะ (อรูปฌาน กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหน่อย) เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปฌาน ที่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา ก็ไม่ใช่) เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเข้าแล้วทำให้ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาความเสวยอารมณ์สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขได้) อาสวะของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คุณธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไม้ไปฉะนั้น"

              "ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้ มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปิงคลโกจฉพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔

สรุปความ
              ๑. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งไม้ใบไม้
              ๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้
              ๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้
              ๔. ญาณทัสสนะ หรือปัญญา เปรียบเหมือนกะพี้ไม้
              ๕. ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ ซึ่งใช้คำภาษาบาลี "อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ" เปรียบเหมือนแก่นไม้

๑. พราหมณ์ปิงคลโกจฉะถามถึงครูทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าลัทธิมีชื่อเสียงในครั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟังตามที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กว่าการวิพากษ์วิจารณ์ คนอื่น
๒. คำว่า เข้าถึงตัว แปลจากคำว่า โอติณฺโณ ซึ่งโดยพยัญชนะ แปลว่า ก้าวลง
๓. คำว่า การทำที่สุดแห่งทุกข์ เป็นสำนวนบาลี หมายถึงกำจัดทุกข์ได้หมด สำนวนบาลีนี้พอดีตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า to put an end to suffering
๔. ในการแปลตอนนี้ ได้แปลลัดแต่ใจความของเรื่องว่า เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น เพราะรายละเอียดของแต่ฌานมีแล้วในที่อื่น


:https://sites.google.com/site/cosmosthai/extra-credit
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 28, 2011, 06:26:35 am โดย ฐิตา »