ผู้เขียน หัวข้อ: คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท  (อ่าน 4287 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2011, 11:55:05 am »

                   

ปริวาส - การอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ก่อนที่จะประพฤติมานัตอันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป, ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตนและประจานตัวเป็นต้น ; ปริวาส มี ๓ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส สโมธานปริวาส และ สุทธันตปริวาส ; มีปริวาสอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชนออกศาสนา จะต้องประพฤติก่อนที่จะบวชในพระธรรมวินัย เรียกว่า ติตถิยปริวาส ซึ่งท่านจัดเป็น อปฏิจฉันนปริวาส

ปฏิภาคนิมิต - นิมิตเสมือน, เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตเกิดจากสัญญา(จํา) สามารถนึกขยายหรือย่อ ให้ใหญ่หรือเล็กได้ตามปรารถนา
ปฏิเวธ - เข้าใจตลอด, แทงตลอด, ตรัสรู้, รู้ทะลุปรุโปร่ง, ลุล่วงผลปฏิบัติ
ปฏิปักษ์ - ฝ่ายตรงกันข้าม, คู่ปรับ, ข้าศึก, ศัตรู
ปฏิโลม - ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการพิจารณาการดับไปแห่งทุกข์เป็นลําดับ
ปปัญจสัญญา - สัญญาอันมีการเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่สลับซับซ้อนและมักเจือด้วยกิเลสและตัณหา  ถือได้ว่าเป็นสัญญาชนิดทําหน้าที่เป็น "ตัณหา"

ปรมัตถ์ - ความหมายสูงสุด, ความหมายที่แท้จริง,
ปรมัตถธรรม - ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นจริงโดยความหมาย(ในระดับ หรือในขั้น)สูงสุด(แก่นแท้)
ปรมัตถสัจจะ - ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯ.   ตรงข้ามกับสมมติสัจจะ อันคือจริงโดยสมมติขึ้น เช่น สัตว์ บุคคล เธอ ฉัน นายแดง นายขาว รถฉัน บ้านเธอ ที่มีความหมายว่า จริงในระดับหนึ่งหรือจริงในระยะเวลาหนึ่ง

       ปรมัตถสัจจะนั้นหมายถึง ความจริงขั้นสูงสุด หรือจริงแท้อยู่เยี่ยงนั้นเป็นธรรมดา ดังเช่น ชีวิตเกิดแต่เหตุปัจจัยของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนี้เป็นปรมัตถสัจจะ,  ส่วนสมมติสัจจะนั้น อาจจะกล่าวหรือหมายความได้ว่า "ความจริงในระดับหนึ่งหรือความจริงแค่ในระยะเวลาหนึ่ง" ดังเช่น นายแดงหรือชีวิตของนายแดงเป็นสมมติสัจจะ
ประภัสสร - ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธ์    ดังพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้นการชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ปริเทวะ - ความครํ่าครวญ, ความร่ำไรรําพัน ความบ่นเพ้อ  จึงรําลึกถึงทั้งในสุขและทุกข์ เช่น คร่ำครวญหรือรำพันในทุกข์  หรือบ่นเพ้อคือคร่ำครวญถึงความสุข;   ดูอาสวะกิเลส
ปริยัติ - พุทธพจน์อันจะพึงเล่าเรียน,  สิ่งที่ควรเล่าเรียน (โดยเฉพาะหมายเอาพระบาลี คือพระไตรปิฎก พุทธพจน์หรือพระธรรมวินัย);  การเล่าเรียนพระธรรมวินัย
ปิยรูป สาตรูป๑๐ - สิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ  เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับของตัณหา
ปีติ - (มักเขียนกันเป็นปิติ) ความอิ่มใจ, อิ่มเอิบ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑.ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล   ๒.ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ   ๓.โอกกันติกาปีติ  ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง   ๔.อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา   ๕.ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ  (มีรายละเอียดอยู่ในบท ฌาน,สมาธิ)

ปุถุชน - คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส,  คนที่ยังมีกิเลสมาก หมายถึงคนธรรมดาทั่วๆ ไป ซึ่งยังไม่เป็นอริยบุคคล หรือพระอริยะ
ปัจจัย - ในทางธรรมหมายถึง  เครื่องสนับสนุนให้ธรรม(สิ่ง)อื่นๆเกิดขึ้น,  เหตุที่ให้ผลเป็นไป,  เครื่องหนุนให้เกิด
          (เหตุ - สิ่งที่ทำให้เกิดผลขึ้น,   สิ่งที่ก่อเรื่อง,  เค้ามูล,   เรื่องราว, )
         - ของสำหรับอาศัยใช้, เครื่องอาศัยของชีวิต, สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มี ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม)  บิณฑบาต (อาหาร)  เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)  คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)
ปัจจัตตัง - รู้ได้เฉพาะตน   ดังการกินอาหาร ใครจะกล่าวว่าอร่อย เปรี้ยว หวาน มัน เค็มเยี่ยงไร ก็ย่อมไม่สามารถรู้รสชาดได้บริบูรณ์เหมือนการชิมด้วยตนเอง จึงเป็นลักษณาการของการรู้ได้เฉพาะตน

ปัญญา - ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น  และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง
           - ความเข้าใจหรือความเห็น เป็นไปตามความเป็นจริง   กล่าวคือ ไม่เชื่อไม่เห็นไปตามความคิด,ความเชื่อ,ความอยากของตนเอง  จึงไม่ได้หมายถึงความฉลาดเฉลียว หรือI.Q.สูงแต่อย่างใด   แต่เป็นปัญญาในการเห็นการเห็นหรือเข้าใจตามความจริงที่เป็นไป(ยถาภูตญาณ)

ปัญญาจักขุ, ปัญญาจักษุ - จักษุคือปัญญา, ตาปัญญา, จึงหมายถึงปัญญา ;   เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยปัญญาจักขุ (ข้อ ในจักขุ )
ปัญญาวิมุตติ - ความหลุดพ้นด้วยปัญญา,
       ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล
       และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป
ปัสสัทธิ - ความสงบกาย,สงบใจ ความผ่อนคลายกายและใจ (ข้อ ในสัมโพชฌงค์๗)

เป็นธรรมดา - อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ ;  สามัญ, ปกติ, พื้นๆ :  ในเรื่องต่างๆที่กล่าวนั้น  จะสังเกตุได้ว่ามีคำว่า เป็นธรรมดา หรือ มันเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา)แทรกอยู่อย่างมากมายแทบทุกบททุกตอน  จึงอยากขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยว่า เป็นธรรมดานั้น  เป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดา หรือหมายถึงยิ่งใหญ่นั่นเอง หมายถึงต้องเป็นไปเช่นนั้นเองเท่านั้น  ไม่เป็นอื่นไปได้  เพราะความเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง อันเป็นอสังขตธรรม แม้เป็นอนัตตา แต่มีความเที่ยง คงทนอยู่ได้ทุกกาล  จึงต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่เป็นอื่นไปได้,  จึงเป็นธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 05, 2013, 03:07:40 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: ตุลาคม 11, 2012, 08:46:13 pm »


             

ผัสสะ - การประจวบกันของอายตนะภายใน๑ และอายตนะภายนอก๑ และวิญญาณ๑ เรียกการประจวบกันของธรรมทั้ง ๓ ว่าผัสสะ ดังเช่น ตา + รูป + วิญญาณ;   ผัสสะ การถูกต้อง, การกระทบ;   ผัสสะ ๖ ผัสสะอันเนื่องมาจากอายตนะต่างๆทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ผล - สิ่งที่เกิดจากเหตุ,  ประโยชน์ที่ได้;  ชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับมรรค และเป็นผลแห่งมรรค มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล ๑   สกทาคามิผล ๑   อนาคามิผล ๑   อรหัตตผล ๑
ผลญาณ - ญาณในอริยผล, ญาณที่เกิดขึ้นในลำดับ ต่อจากมรรคญาณ และเป็นผลแห่งมรรคญาณนั้น ซึ่งผู้บรรลุแล้วได้ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ มีโสดาบัน เป็นต้น
โผฏฐัพพะ - อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย, สิ่งที่ถูกต้องด้วยกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น (ข้อ ๕ ในอายตนะภายนอก ๖ และในกามคุณ ๕)


พระเสขะ - อริยะบุคคล ผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ มี พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี
พระอเสขะ - อีกชื่อหนึ่งของ "พระอรหันต์ "
พรหมวิหาร - ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
พุทธาธิบาย - พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า, พระดำรัสชี้แจงของพระพุทธเจ้า
พยากรณ์ - ทาย, ทำนาย, คาดการณ์; ทำให้แจ้งชัด, ตอบปัญหา

พยาบาท - ความขัดเคืองแค้นใจ, ความเจ็บใจ, ความคิดร้าย, ตรงข้ามกับเมตตา;     ในภาษาไทยหมายถึง ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้น
โพธิปักขิยธรรม - ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรคมี ๓๗ ประการคือ สติปัฏฐาน ๔,  สัมมัปปธาน ๔,  อิทธิบาท ๔,  อินทรีย์ ๕,  พละ ๕,  โพชฌงค์ ๗,  มรรคมีองค์ ๘


ภพ - โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ คือ  ๑.กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ   ๒.รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาณ   ๓.อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาณ
ภูมิ - 1.พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน   2. ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ  ๑.กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม   ๒.รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน   ๓.อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปหรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน   ๔.โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลกหรือระดับพระอริยบุคคล

ภวตัณหา - ความอยาก-ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากเกิด อยากมีอยู่คงทนตลอดไปตามใจปรารถนา
ภวังค์, ภวังคจิต - ขณะจิต ที่จิตมิได้มีการเสวยอารมณ์จากทวารทั้ง ๖ หรือก็คือ ขณะที่จิตหยุดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖  ;   จิตที่เป็นองค์แห่งภพ,  ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้น อยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ กล่าวคือตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  ในเวลาใดที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ (อันมี จักขุทวาร-ตา,โสตทวาร-หู, มโนทวาร-ใจหรือจิต ฯ. เป็นต้น),  แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยินเป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตขึ้น แทนภวังคจิต   และเมื่อวิถีจิตที่เกิดจากทวารทั้ง๖ไปเสวยอารมณ์ดับไป  ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม
       ภวังคจิต นี้ คือมโน(ใจ) ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือมโนทวาร อันเป็นวิบาก จัดเป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน  เป็นเพียงมโน(จิตหรือใจ)  ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ(ที่รู้แจ้งคือรับรู้ในสิ่งที่กระทบ)
       พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่  แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้;   จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ภวังคจิต
 
ภาวนา - การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ 
    ๑. การฝึกอบรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่างคือ ๑. สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ  ๒.วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง,  อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกันคือ  ๑.จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใสพร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ   ๒.ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์   
    ๒. การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิมี ๓ ขั้น คือ  ๑. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน  ๒. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ  ๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาณ 
    ๓. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็น การท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆให้ขลัง ก็มี

ภาวนาปธาน - เพียรเจริญ, เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่มียังไม่เกิด ให้เกิดให้มีขึ้น (ข้อ ๓ ในปธาน ๔)
ภาวนามัย - บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา, ความดีที่ทำด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบมีคุณธรรม เช่น เมตตากรุณา (จิตตภาวนา) และฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ปัญญาภาวนา) ดู ภาวนา (ข้อ ๓ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)
ภาวรูป - รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ มี ๒ คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: กันยายน 05, 2013, 12:25:20 pm »


มาฆบูชา - การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ พระเวฬุวัน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์    (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)

มโนวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ, ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ ดู วิญญาณ

มโนสัญเจตนาหาร - ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ (ข้อ ๓ ในอาหาร ๔)

มโนสัมผัส - อาการที่ใจ ธรรมารมณ์ และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู สัมผัส

มโนสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ใจ ธรรมารมณ์และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู เวทนา

มรณสติ - ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)

มรรค - ทาง, หนทาง, ทางปฏิบัติ
     ๑. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ  ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริ(คิด)ชอบ  ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ  ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำ(ประพฤติ)ชอบ  ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ  ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ  ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ  ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
     ๒. มรรคว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ โสดาปัตติมรรค๑  สกทาคามิมรรค๑  อนาคามิมรรค๑  อรหัตตมรรค ๑
มรรคจิต - ขณะจิตที่สัมปยุต(ประกอบด้วย)ด้วยมรรคองค์๘,   พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ชั่วขณะมรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิต กล่าวคือกลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

มรรคสมังคี, มรรคสามัคคี - ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค, องค์มรรคทั้ง ๘ ทำกิจหน้าที่ของแต่ละอย่าง ๆ พร้อมเพรียงและประสานสอดคล้องกัน ให้สำเร็จในมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง กล่าวคือเป็นอริยบุคคล ;  ดู ธรรมสามัคคี

มรรคองค์ ๑๐ - สัมมัตตะ - ตรงกับองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ, เพิ่ม ๒ ข้อท้าย คือ  ๙. สัมมาญาณ รู้ชอบ ได้แก่ผลญาณและปัจจเวกขณญาณ  อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ๑๐. สัมมาวิมุตติ พ้นชอบได้แก่อรหัตตผลวิมุตติ;  เรียกอีกอย่างว่า อเสขธรรม ๑๐; ดูสัมมัตตะ

มหรคต - “อันถึงความเป็นสภาพใหญ่”  “ซึ่งถึงความยิ่งใหญ่” หรือ “ซึ่งดำเนินไปด้วยฉันทะวิริยะจิตตะและปัญญาอย่างใหญ่" คือ เข้าถึงฌาน, เป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร, ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตติ(การพ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ได้แก่ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว  กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ )

มหาภูต - ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม    ดู มหาภูตรูป  ธาตุ ๔

มหาภูตรูป - รูปใหญ่, รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวี(ดิน) อาโป(นํ้า) เตโช(ไฟ) และวาโย(ลม)  ดู ธาตุ ๔

มหาสติ - เป็นคำย่อมาจากมหาสติปัฏฐานสูตร และมักใช้ในความหมายที่ว่า มีสติยิ่ง ที่หมายถึง สติที่รู้เท่าทันในกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรมเป็นอย่างยิ่ง จนสตินี้สามารถกระทำโดยแทบไม่ต้องเจตนาหรือไม่ต้องตั้งใจอย่างแรงกล้า กล่าวคือ สามารถกระทำคือผุดระลึกรู้เท่าทันตามจริงเองได้โดยอัติโนมัติ คือมันเกิดมันทำของมันเองโดยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นมาแต่การสั่งสมอย่างดีเลิศหรือเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จนเคยชินยิ่ง อันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตนั่นเอง  จึงเป็นสังขารที่เกิดแต่วิชชา กล่าวคือเกิดแต่การปฏิบัติสั่งสมอย่างถูกต้องทั้งด้วยสติและปัญญา

มานะ - ความถือตัว, ความสําคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ดีกว่าเขา เสมอเขา ด้อยกว่าเขา (ข้อ ๕ ในอนุสัย ๗, ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๑๓ ในอุปกิเลส ๑๖)  คนละความหมายกับ มานะ ในภาษาไทยที่แปลว่า ความพยายาม, ความตั้งใจจริง

มิจฉา - ผิด,  แบบผิดๆ

มิจฉาญาณ - รู้อย่างผิดๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจแบบผิดๆ,  ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ (ข้อ ๙ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาทิฏฐิ - เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี  มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น  และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรม เขียน มิจฉาทิฐิ)  (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด) มิจฉาวิมุตติ - พ้นผิด เช่นการระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลสนั้นย่อมดี แต่เป็นการระงับเพราะความกลัวในอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลกนั้น ผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง ที่หมายถึงพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด ไม่กลับกลายหายสูญ (ข้อ ๑๐ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาสติ - ระลึกผิด ได้แก่ระลึกถึงการอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๗ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาสมาธิ - มิจฉาฌาน - ตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในราคะ เช่น จดจ่อในความสุข,ความสงบ,ความสบาย ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของสมาธิหรือองค์ฌานจากฌาน (ดังแสดงออกด้วยอาการจิตส่งใน),  ความจดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น (ข้อ ๘. ใน มิจฉัตตะ ๑๐) ; มิจฉัตตะ - ความเป็นผิด, ภาวะที่ผิดมี ๑๐ อย่าง คือ  ๑. มิจฉาทิฏฐิ   ๒. มิจฉาสังกัปปะ   ๓. มิจฉาวาจา   ๔. มิจฉากัมมันตะ   ๕. มิจฉาอาชีวะ   ๖. มิจฉาวายามะ   ๗. มิจฉาสติ   ๘. มิจฉาสมาธิ   ๙. มิจฉาญาณ   ๑๐. มิจฉาวิมุตติ;   ตรงข้ามกับ สัมมัตตะ ๑๐ หรือบางทีเรียกมรรคองค์ ๑๐ ที่มีในพระอริยเจ้า

โมหะ - ความหลง, ความไม่รู้ตามเป็นจริง, อวิชชา,  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะ คือ ความรู้จริง ได้แก่ปัญญา

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: กันยายน 05, 2013, 12:33:44 pm »


ยถาภูตญาณ -  ความรู้ความเป็นจริง, รู้ตามที่มันเป็นไป, รู้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังเช่น จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ, จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ ฯ.

ยถาภูตญาณทัสนะ -ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง

โยคะ - 1. กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ
อวิชชา 2. ความเพียร

โยคาวจร - ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือกำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เขียน โยคาพจรก็

โยนิ - กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ ๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว ๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ ๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง ๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก

โยนิโสมนสิการ - การพิจารณาในใจโดยละเอียดและแยบคายคือตามความเป็นจริงของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ อย่างชาญฉลาด เช่นคิดค้นหาข้อสงสัย เปรียบเทียบสภาวะธรรมอื่นๆอันเห็นได้ชัดแจ้งกับสภาวธรรมอื่นๆที่ติดขัด ฯลฯ.  อันสามารถทําได้ในทุกอิริยาบถ หรือทุกขณะ และดีที่สุดคือในระดับวิปัสสนาสมาธิ หรือในขณิกสมาธิอันคือสมาธิอ่อนๆระดับใจที่แน่วแน่ ไม่วอกแวก ไม่ซัดส่ายไปในเรื่องคิดนึกปรุงแต่งอื่นๆคือฟุ้งซ่าน  หรือภายหลังจากการถอนออกมาจากสมาบัติคือสมาธิในระดับประณีตต่างๆ, ในบันทึกธรรมนี้กล่าวไว้บ่อยครั้งที่สุด เพราะเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งในการเข้าใจธรรม หรือธรรมะวิจยะอันถูกต้องแท้จริง, ไม่ใช่เพราะทิฎฐิ(ความเชื่อ,ความยึด)หรือด้วยอธิโมกข์, อคติใดๆ มานําให้เห็นผิด



ราคานุสัย - กิเลส อันเป็นความกําหนัดในทางโลกที่แฝงนอนเนื่องในสันดาน;   ดูอนุสัย

ราคะ - ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์

รูป - ในขันธ์๕ หมายถึง ส่วนร่างกายตัวตน,   ในอายตนะหมายถึง "ภาพ หรือรูป "ที่เห็น  ซึ่งในบางครั้งใช้ครอบคลุมถึง "สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลาย" คือรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส, ความคิด(ธรรมารมณ์)ทั้ง๖, คือใช้แทนอายตนภายนอกทั้งหมด

    - รูป ๑.สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูตหรือธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (= รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป,)   ๒.อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)   ๓.ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป; ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์รูปกาย ประชุมแห่งรูปธรรม, กายที่เป็นส่วนรูป โดยใจความได้แก่รูปขันธ์หรือร่างกาย

รูปฌาน - ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ คือ  ๑) ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตา (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง)    ๒) ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา    ๓) ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา    ๔) จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา, เอกัคคตา

รูปตัณหา - ความอยากในรูป

รูปธรรม - สิ่งที่ถูกรู้หรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง๕ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ยกเว้น ใจ

             - สิ่งที่มีรูป, สภาวะที่เป็นรูป คู่กับ นามธรรม

รูปกัมมัฏฐาน - กรรมฐานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์

รูปวิจาร - ความตรองในรูป เกิดต่อจาก รูปวิตก

รูปวิตก - ความตรึกในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา

รูปสัญเจตนา - ความคิดอ่านในรูปเกิดต่อจากรูปสัญญา

รูปสัญญา - ความหมายรู้ในรูป เกิดต่อจากจักขุสัมผัสสชา เวทนา

รูปพรหม - พรหมในชั้นรูปภพ, พรหมที่เกิดด้วยกำลังรูปฌาน มี ๑๖ ชั้น ดู พรหมโลก

รูปภพ - โลกเป็นที่อยู่ของพวกรูปพรหม  หรือ  ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน

รูปราคะ - ความติดใจในรูปธรรม คือติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต (ข้อ ๖ ในสังโยชน์ ๑๐)

รู้แจ้งในอารมณ์ - เวทนา - ในความหมายของผู้เขียน(webmaster)หมายถึง การรับรู้พร้อมทั้งความจําได้ในอารมณ์อันคือสิ่งที่มากระทบหรือสัมผัส(ผัสสะ)  (ในบางทีบางท่านหมายถึงวิญญาณ)   รู้เท่าทัน หมายถึงรู้เท่าทันตามความเป็นจริงที่มันเกิด เช่นจิตมีโทสะ ก็รู้เท่าทันว่าจิตหรือจิตสังขารหรือความคิดนั้นเกิดขึ้น และเป็นโทสะหรือความโกรธ(ตามหลักสติปัฏฐาน๔),  แค่รู้และต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งต่อจากความรู้เท่าทันนั้นเพราะจะทําให้จิตมีโอกาสปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไปอีก

มีต่อค่ะ >>> :http://nkgen.com/ex3.htm#a


สังขาร
สังขารในปฏิจจสมุปบาท
.....
--------
..
..
         สังขาร  เหล่านี้อันได้สั่งสม อบรม หรือประพฤติ ปฏิบัติมาแต่เก่าก่อน ด้วยความพยายามหรือการติดเพลินก็แล้วแต่เหล่านี้  เป็นดังเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท  เพียงแต่บางอย่างเป็นสังขารในทางโลก ไม่ได้เกิดแต่อวิชชา จึงไม่ยังให้เกิดทุกข์  แต่ต้องการชี้เน้น  ให้เห็นสภาวะธรรม หรือเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติขององค์ธรรมสังขาร ในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน  ด้วยเหตุดังนี้เองการจะเอาชนะสภาวะธรรมหรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของสังขารอันก่อให้เกิดความทุกข์เหล่านี้  จึงต้องอาศัยธรรมหรือความเข้าใจธรรมชาติของทุกข์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ท่านเป็นเครื่องช่วยนำพาในการปฏิบัติ   และสั่งสมให้เกิดสังขารใหม่อันถูกต้องดีงามอันมิได้เกิดแต่อวิชชา

การโยนิโสมนสิการ  สังขารในองค์ธรรมปฏิจจสมุปบาท
         เมื่อเริ่มโยนิโสมนสิการก็มักตีความในสังขารผิด   มักไปคิดตามที่พอรู้มาแต่อ้อนแต่ออกว่า สังขารที่หมายถึงร่างกายตัวตนบ้าง   สังขาร-การกระทำบ้าง   สังขาร-สิ่งปรุงแต่งบ้าง  กล่าวคือ ไม่เข้าใจความหมายที่กระชับเฉพาะตัว   จึงตีความปฏิจจสมุปบาทผิดพลาดไปแต่เริ่มแรกก็มี  จึงไม่สามารถดำเนินการพิจารณาต่อไปได้อย่างถูกต้อง
         หรือเมื่อเข้าใจว่าสังขารหมายถึงการกระทำตามที่ได้สั่งสมหรืออบรมประพฤติปฏิบัติมาแต่เก่าก่อนหรือเนื่องมาจากอาสวะกิเลสที่สามารถผุดขึ้นมาด้วยอาการธรรมชาตินั่นเอง   ก็เกิดวิจิกิจฉาขึ้นว่า ทำไมสังขารจึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ   วิญญาณน่าจะเกิดก่อน   เหตุเพราะตามความเชื่อที่มีมาแต่เดิมอย่างมิจฉาทิฎฐิที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าผู้มีชีวิตนั้นต้องมีวิญญาณกำกับอยู่แล้ว(เจตภูต)อันฝังตัวอยู่อย่างลึกซึ้งและแน่นแฟ้นตามที่มีการถ่ายทอดสั่งสอนอบรมกันมาอย่างไม่รู้ตัว  เมื่อเจริญวิปัสสนาจึงมักแฝงด้วยความเข้าใจดังกล่าวเข้าร่วมด้วยโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้นพิจารณากี่ครั้งกี่ทีก็ออกมาในรูปที่ว่าควรเกิดวิญญาณขึ้นก่อนหรือวิญญาณมีมาตั้งแต่เกิดแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขารการกระทำ    แต่ความจริงวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทนี้หมายถึง วิญญาณ ๖ ที่หมายถึง วิญญาณตา วิญญาณหู ฯ. ที่หมายถึงระบบประสาทหรือระบบนำส่งข้อมูลในการรับรู้ในสังขารต่างๆที่เกิดขึ้น(ไปยังสมองหรือหทัยวัตถุอันเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของจิต)   จึงมิได้หมายถึงวิญญาณที่หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณหรือเจตภูตที่มีมาแต่การเกิดหรือวิญญาณที่ลอยละล่องตามที่ปุถุชนทั่วไปเข้าใจกันโดยพื้นๆอันแอบแฝงอยู่ในจิต    และเป็นวิญญาณที่เกิดเฉพาะกิจนั้นๆ กล่าวคือ เกิดขึ้นมาเนื่องสัมพันธ์กับสังขารที่ผุดขึ้นหรืออาจปรุงแต่งขึ้นมานั่นเอง
(อ่านรายละเอียดเรื่องวิญญาณที่แสดงอย่างปรมัตถ์หรือโลกุตระ จากพระสูตรชื่อ มหาตัณหาสังขยสูตร ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องของวิญญาณ เพื่อการเจริญวิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕)

         บางคนมีพื้นนิสัยเป็นคนเจ้าโทสะ    บางคนเป็นคนเจ้าราคะ(โลภะ)   บางคนเป็นคนหดหู่ เศร้าสร้อย หรือชอบวิตกกังวล (โมหะ)    สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนเป็นจิตสังขารตามที่ได้สั่งสมอบรมหรือปฏิบัติมาแต่เก่าก่อนอย่างหนึ่งเช่นกัน   อันเกิดขึ้นเนื่องจากอาสวะกิเลสที่เก็บจำนอนเนื่องอยู่นั่นเอง  เพียงแต่เป็นการพิจารณาในมุมมองที่กว้างขวางขึ้นเท่านั้น   ดังนั้นจิตสังขารในจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ จึงล้วนสามารถเป็นสังขารอันสั่งสมหรือเคยชินในปฏิจจสมุปบาทได้เช่นกัน  ดังเช่น ราคะ  โทสะ โมหะ  จิตหดหู่  จิตฟุ้งซ่าน  จิตเป็นฌาน  จิตเป็นสมาธิ  ดังนั้นสังขารเหล่านี้จึงสามารถเกิดขึ้นมาได้เช่นสังขารความคิดต่างๆเช่นกัน    ดังเช่น ผู้ที่มีพื้นนิสัยความหดหู่หรือวิตกกังวลใจอยู่เสมอๆอันได้เคยสั่งสมไว้อย่างมาก   ดังนั้นบางทีอยู่ดีๆสังขารความหดหู่หรือวิตกกังวลก็อาจผุดขึ้นมาเหมือนสังขารความคิดต่างๆได้เป็นธรรมดาเช่นกันอันเนื่องมาแต่อาสวะกิเลสและอวิชชาเป็นเหตุปัจจัยกันนั่นเอง   และปล่อยให้เกิดการคิดปรุงแต่งต่อไปจนเป็นอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนและยาวนานมากขึ้นไปเป็นลำดับ    ดังนั้นเมื่อมีสติรู้เท่าทันเมื่อสังขารเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว   ก็อุเบกขา  ไม่เอนเอียงแทรกแซงปรุงแต่งต่อด้วยกริยาจิต  หรือถ้อยคิด  ใดๆ    ทุกขเวทนาอันเกิดแต่สังขารเหล่านั้นก็จะแสดงพระไตรลักษณ์ให้เห็น  กล่าวคือ ค่อยๆ...ค่อยจางๆ...ค่อยจาง...คลาย....จนดับไปเป็นที่สุด   เหมือนดังกองฟืนที่ไม่มีเชื้อไฟเข้าไปเพิ่ม  จึงย่อมค่อยๆหรี่...หรี่ลง....จนมอดดับไปในที่สุด

         ได้กล่าวถึงสภาวะของทุกขเวทนาหรือจิตสังขารที่แสดงพระไตรลักษณ์อยู่เนืองๆว่า เป็นไปในลักษณาการที่  "ค่อยๆ...ค่อยจางๆ...ค่อยจาง...คลาย...จนดับไปเป็นที่สุด  เหมือนดังกองฟืนที่ไม่มีเชื้อไฟเข้าไปเพิ่ม"   เพราะต้องการเน้นให้เห็นในสภาวะการดับของกระบวนการจิตอย่างแจ่มแจ้ง  อันมีอนิจจังความแปรปรวนที่เกิดขึ้นก่อน จึงค่อยๆจางคลาย  จนดับไปด้วยทุกขัง   เพราะเมื่อประสบกับทุกขเวทนาปุถุชนย่อมล้วนอยากให้ดับไปโดยเร็วดังใจด้วยการพยายามผลักไสต่างๆนาๆ   เมื่อไม่ได้ดังใจและเพราะความไม่รู้จึงกลายเป็นสร้างตัณหาความอยากดับในทุกข์อันเร่าร้อนที่เกิดนั้นเพิ่มขึ้นไปอีก   อันย่อมก่อเกิดความทุกข์เร่าร้อนกระวนกระวายเพิ่มขึ้นไปอีกนั่นเอง จึงเหมือนการเพิ่มเชื้อไฟหรือฟืนเข้าไปในกองไฟเหมือนความคิดปรุงแต่งเช่นกัน  กองไฟอันเร่าร้อนเผาลนและกำลังมอดลงๆเพราะไตรลักษณ์จึงย่อมต้องลุกโพลงขึ้นมากกว่าเดิมอีกเป็นธรรมดา    ดังนั้นการรู้การเข้าใจในลักษณาการในการดับไปของทุกขเวทนาหรือความทุกข์หรือจิตสังขารเช่นโทสะ โมหะ ฯลฯ.อย่างถูกต้องนั้น   ก็จะช่วยไม่ให้เกิดความดิ้นรนทะยานอยาก(ตัณหา)หรือการเกิดตัณหาซ้อนตัณหาเดิมในการอยากดับทุกข์นั้นไวๆเพราะความไม่รู้  จิตจึงไม่ยอมรับสภาวธรรมของการดับไปอันเป็นเช่นนี้เอง  (ตถตา)


http://www.nkgen.com/731.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 09, 2017, 07:49:57 am โดย ฐิตา »