ผู้เขียน หัวข้อ: ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท  (อ่าน 2593 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 06:32:09 pm »

                     

ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์พระธรรมบท
Posted by :chaiyassu
บทนำ
           เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ยักษ์ เชื่อว่า หลายท่านคงจะคุ้นเคยกับคำนี้ แม้จะไม่เคยเห็นยักษ์ที่เป็นรูปร่างตัวตนจริง ๆ ก็ตาม แต่เราก็รู้จักยักษ์ในเชิงจินตนาการ กระทั่งมีการปั้น หรือเขียนเป็นรูปร่างให้เห็น อย่างน้อยในหนังสือวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นประถม ก็พอมีรูปให้เห็นบ้างประปราย  นี่ยังไม่รวมบทอาขยานที่ท่องกันสมัยเริ่มหัดเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ กระทั่งถึง ย.ยักษ์เขี้ยวใหญ่

           ลักษณะยักษ์ประการแรกที่เรารู้จักตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ คือ “เขี้ยวใหญ่” และด้วยความที่ “เขี้ยวใหญ่” นี้เอง บางครั้งจึงกลายเป็นคำขู่ที่ผู้ใหญ่มักใช้กับเด็ก ๆ เพื่อให้หยุดกระทำการบางอย่าง เช่น หยุดร้องนะ เดี๋ยวยักษ์มากินตับ...ยักษ์เอ้ย...มาจับคนดื้อเด้อ... นี่ก็เป็นการประติดประต่อความรู้เกี่ยวกับยักษ์อีกว่า นอกจากจะ “เขี้ยวใหญ่” แล้ว ยังกินคนด้วย  ในบทละครต่าง ๆ ยักษ์จึงมักมีรูปร่างใหญ่โต ดุร้าย และจับคนกินเป็นอาหาร

           สอดคล้องกับบทนิยามที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ไว้ว่า “อมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดำอำมหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์” นอกจากลักษณะดังกล่าวแล้ว ราชบัณฑิตยสถานยังได้แสดงลักษณะพิเศษของยักษ์ต่อไปอีกว่า  โดยมากมักมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้ และบางทีก็ใช้คำว่า อสูร หรือ รากษส เรียกแทน

           ในคัมภีร์ธรรมบทมียักษ์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดคำถามว่า จริง ๆ แล้ว เวลาพูดถึงยักษ์นั้น เรากำลังพูด หรือกล่าวถึงอะไร มีรูปร่าง ลักษณะอย่างไร พิเศษ หรือแตกต่างจากยักษ์ในความหมายที่เรารู้จักอย่างไรหรือไม่
           บทความสั้น ๆ ต่อไปนี้จะช่วยตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น


ยักษ์ ในคัมภีร์ธรรมบท
           ในคัมภีร์ธรรมบท มีกล่าวถึงยักษ์ไว้ในหลายที่ เบื้องต้น ขอคัดมาเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด ดังนี้

           ภาคที่ ๑
           ๑. เรื่องมัฏฐกุลฑลี ฉบับภาษาบาลี หน้าที่ ๓๐ ฉบับภาษาไทยหน้า ๔๕ ข้อความอยู่ในรูปคาถาดังนี้
                             อตฺถกาโมสิ เม ยกฺข           หิตกาโมสิ เทวเต             
                             กโรมิ ตุยฺหํ วจนํ                ตฺวมสิ อาจริโย มม
                             อุเปมิ สรณํ พุทฺธํ               ธมฺมญฺจาปิ อนุตฺตรํ
                             สงฺฆญฺจ นรเทวสฺส              คจฺฉามิ สรณํ อหํ

           แปลความว่า
                              ดูก่อนยักษ์ ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า,
                              ดูก่อนเทพดา  ท่านเป็นผู้ใคร่สิ่งที่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า,
                              ข้าพเจ้าจะทำ  (ตาม)  ถ้อยคำของท่าน,
                              ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า,

                              ข้าพเจ้าเข้าถึงพระพุทธเจ้า  ว่าเป็นสรณะด้วย,
                              ขอถึงแม้พระธรรมอันยอดเยี่ยม
                              และพระสงฆ์ผู้ประเสริฐดุจเทพ ว่าเป็นสรณะ ฯ       

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในประโยคนี้ อทินนปุพพกพราหมณ์ใช้ร้องเรียกเทวดาผู้เป็นบุตรของตน ประโยคถัดมาท่านจึงสลับมาใช้คำว่า เทวดา เบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า ยักษ์ เป็นคำร้องเรียกถึงเทวดาจำพวกหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ ก็ได้แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบทสนทนาระหว่างพราหมณ์กับเทวดาผู้เป็นลูกชาย

                       

          ๒. เรื่องนางยักษิณี ปรากฏโดยตลอดทั้งเรื่อง ฉบับภาษาบาลีใช้คำว่า ยกฺขิณี ภาษาไทยแปลตรงตัวว่า นางยักษิณี ซึ่งเป็นการระบุถึงเพศของยักษ์ในเรื่องนี้ว่า เป็นเพศหญิง

          ในเรื่องได้เล่าความเป็นมาเป็นไปของนางยักษิณีตนนี้ว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งแต่งงานแล้วไม่มีลูก เนื่องจากภรรยาเป็นหมัน ด้วยเกรงว่าจะขาดผู้สืบสกุล ผู้เป็นแม่จึงหาภรรยามาแต่งเพิ่มอีก ๑ คน  เรื่องราวของความอาฆาตพยาบาทจองเวรกันจึงเกิดขึ้น เมื่อภรรยาน้อยเกิดตั้งครรภ์ ภรรยาหลวงอิจฉา เกรงว่าภรรยาน้อยจะเกินหน้าเกินตา ได้สมบัติแต่เพียงผู้เดียว จึงแกล้งทำดี แต่พอได้จังหวะก็แอบใส่ยาให้แท้งลูกถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ เนื่องจากครรภ์แก่มากแล้ว จึงตายไปทั้งแม่ทั้งลูก ก่อนตาย เมียน้อยตั้งจิตปรารถนาขอเกิดเป็นนางยักษิณีเพื่อตามจองเวรขอกินลูกเมียหลวงบ้าง

          แรงอาฆาต ทำให้นางไปเกิดเป็นแมว ขณะที่ภรรยาหลวง ถูกสามีจับได้ว่าเป็นผู้วางยาเมียน้อยตาย จึงทุบตีจนตายตามกัน ครั้นตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นแม่ไก่  เมื่อแม่ไก่ฟักไข แมวก็แอบมากินไข่ไก่จนหมด สุดท้ายก็จับแม่ไก่กินด้วย ก่อนตาย แม่ไก่ตั้งจิตอาฆาตกลับขอให้ได้กินลูกของนางแมวตัวนี้บ้าง

          แรงอาฆาต ทำให้แม่ไก่ไปเกิดเป็นเสือ ขณะที่แมวตายไปแล้วไปเกิดเป็นเนื้อ เนื้อคลอดลูกครั้งใด แม่เสือก็มากินทุกครั้ง ครั้งสุดท้าย ก็จับกินทั้งลูกทั้งแม่เนื้อ  ก่อนตาย แม่เนื้อก็อาฆาตกลับอีกเช่นกัน ชาติสุดท้ายจึงได้มาเกิดเป็นนางยักษิณี ส่วนเสือก็กลับชาติมาเกิดเป็นสตรีนางหนึ่งในเมืองสาวัตถี

          เมื่อนางตั้งครรภ์ ยักษิณีก็ได้แปลงกายเป็นสหายต่างเมืองมาเยี่ยม พอเผลอก็จับลูกน้อยกินถึง ๒ ครั้งที่ ๓ จึงหอบลูกหนีพร้อมกับสามี ขณะที่นางยักษิณีก็ไล่ตามนางกระทั่งถึงวัดเชตวัน ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เรื่องราวของการจองเวรจึงได้จบลง
          เนื้อหาในคัมภีร์ มีข้อความกล่าวถึงนางยักษิณี คัดมาเป็นตัวอย่างประกอบการวิเคราะห์

(๑) ในกาลนั้น  นางยักษิณีนั้นถึงคราวส่งน้ำ  ด้วยว่า  นางยักษิณีทั้งหลายต้องตักน้ำ  จากสระอโนดาตทูนบนศีรษะมาเพื่อท้าวเวสสวรรณตามวาระ  ต่อล่วง ๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้างจึงพ้นวาระได้  นางยักษิณีเหล่าอื่นมีกายบอบช้ำ  ถึงความสิ้นชีวิตบ้างก็มี   ส่วนนางยักษิณีนั้น  พอพ้นจากเวรส่งน้ำแล้วเท่านั้น  ก็รีบไปสู่เรือนนั้น

(๒) ใน สมัยนั้น  พระศาสดา  ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท  นางกุลธิดานั้น ให้บุตรนอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้าแล้ว กราบทูลว่า “บุตรคนนี้ ข้าพระองค์ถวายแด่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด"  สุมนเทพ  ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตู  ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน  พระศาสดารับสั่งเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว  ตรัสว่า  "อานนท์ เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา"  พระเถระเรียกนางยักษิณีมาแล้ว ฯ

(๓) ครั้งนั้น  หญิงสหาย  จึงให้นางยักษิณีนั้นพักอยู่ในที่อันสงัดภายนอกบ้านแล้ว  นำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดีไปเพื่อนางยักษิณีนั้น แล้วปฏิบัติในที่นั้น.  นางยักษิณีนั้น  คิดอย่างนี้ว่า  "เดี๋ยวนี้หญิงสหายของเรานี้ มีอุปการะแก่เรามาก, เอาเถอะเราจักทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง"  ดังนี้แล้ว  ได้บอกแก่หญิงสหายว่า  "ในปีนี้จักมีฝนดี,  ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด,  ในปีนี้ฝนจักแล้ว  ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด."  ข้าวกล้าอันพวกชนที่เหลือทำแล้ว  ย่อมเสียหาย  ด้วยน้ำมากเกินไปบ้าง  ด้วยน้ำน้อยบ้าง.  ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้น  ย่อมสมบูรณ์เหลือกิน.


หนุมานฆ่านางอากาศตะไลเสื้อเมืองลงกา ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดหัวลำโพง
ฝีมืออาจารย์สาคร โสภา วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร

เสื้อน้ำ คือ ผู้พิทักษ์ถิ่นน้ำ เสื้อเมือง คือ ผู้พิทักษ์เมือง
(พจนานุกรม เปลื้อง ณ นคร)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2013, 08:20:07 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 08:02:26 pm »


          ข้อสังเกต
          ยักษ์ที่ปรากฏธรรมบทเรื่องนี้ มีลักษณะกึ่งเทพ  กึ่งมนุษย์ เพราะบางสถานะต้องคอยรับใช้ท้าวเวสสวรรณบนสวรรค์ปีหนึ่งประมาณ ๔-๕ เดือนต่อครั้ง  เมื่อพ้นจากวาระในรับใช้ท้าวเวสสวรรณบนสวรรค์แล้ว ก็มีอิสระในการใช้ชีวิตตามอัตภาพของตน ข้อนี้เองก็เป็นเหตุให้นางมีโอกาสสำหรับการแก้แค้น       

          อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูสถานะตามข้อความใน (๒) และ (๓) นางเองก็มีสถานะไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป สังเกตได้จากอาหารที่นางกุลธิดานำไปให้แต่ละมื้อที่ระบุว่ามี “ข้าวต้มและข้าวสวย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นางรับประทานอาหารชนิดเดียวกับที่มนุษย์รับประทาน แต่ประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ เพราะในประโยคนี้ อรรถกถาจารย์ใช้ศัพท์ที่ชวนให้วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า อาหารที่นางกุลธิดานำมานั้น เป็นการนำมาให้เพื่อให้นางยักษิณีรับประทานตามปกติ หรือว่ามีนัยเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะบาลีใช้คำว่า “ปฏิบัติ” (ปฏิชคฺคิ) อันอาจมีความหมายได้ว่า นางแต่งสำรับกับข้าวมาเซ่นไหว้

          ถ้าตีความอย่างนี้ นางยักษิณีในความหมายนี้ก็อาจจะเป็นเหมือน “ผีเรือน” หรือ “พระภูมิเจ้าที่/ภูมเทวดา” ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นไปได้สูง อย่างน้อยก็มีเหตุผล ๓ ข้อสนับสนุน

          ๑. นางยักษิณีไม่อาจตามนางกุลธิดาเข้าไปยังวัดพระเชตวันได้ เพราะวัดพระเชตวันมีเทวดารักษา
          ๒. นางกุลธิดาพานางยักษิณีไปอยู่ที่บ้าน ครั้งแรกให้พักที่โรงกระเดื่อง เวลาซ้อมข้าวเปลือกเกิดเสียงดัง ทำให้จึงขอย้ายไปอยู่ที่อื่น นางกุลธิดาก็ย้ายที่อยู่ให้หลายแห่ง นับตั้งแต่โรงสาก ข้างตุ่มน้ำ ริมเตาไฟ ริมชายคา ริมกองหยากเยื่อ ริมประตูบ้าน สุดท้ายจึงย้ายไปอยู่ที่เงียบสงัดนอกบ้าน ซึ่งสถานที่เหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่จะสามารถสร้างบ้าน หรือกระท่อมให้นางยักษิณีอยู่ได้ หรือถ้าจะสร้างได้ ก็อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการย้ายแต่ละครั้ง ความเป็นไปได้จึงน่าจะเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนที่ตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ประจำบ้าน

          ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคติความเชื่อของคนอินเดียในสมัยโบราณ ที่มีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม คือเชื่อว่า มีภูมิ ผี ปิศาจที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์สถิตอยู่ตามที่ต่าง ๆ  ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ สามารถพบได้ในสังคมชนบททั่วไป หรือแม้แต่ในสังคมเมือง บางคนก็เชื่อถือเรื่องทำนองนี้มาก

          ๓. นางรู้ความเป็นไปของฝนฟ้าในแต่ละปี กระทั่งสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ปีไหนฝนดี ปีไหนฝนแล้ง ทำให้นางได้รับความเคารพเชื่อถือของชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งต่างก็นำอาหารไปบำรุงเลี้ยงดูยักษิณีนั้น กระทั่งกลายเป็นประเพณี
          หากเปรียบเทียบเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท กับประเพณีการเซ่นไหว้ในช่วงฤดูลงไร่ลงนาของชาวบ้านในชนบท ซึ่งจะมีกันแทบทุกหมู่บ้าน เฉพาะในชุมชนที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะกระทำพิธีกันในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖  ถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านเริ่มลงไร่ลงนากัน ในวันดังกล่าวจะมีพิธีเซ่นพระภูมิเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน โดยใช้เครื่องเซ่นเป็นไก่ และไข่ไก่ จากนั้นก็พยากรณ์สภาพฝนฟ้าจากเครื่องเซ่นดังกล่าว

          ภาคที่ ๒ 
          ในภาคที่ ๒ มีเรื่องราวที่กล่าวถึงยักษ์เพียงเรื่องเดียว ได้แก่เรื่อง ท้าวสักกะ อยู่ในลำดับที่ ๗ ของภาคนี้ ข้อความที่ระบุถึงยักษ์ มีดังนี้

ก็จำเดิมแต่นั้นมา   เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน   พวกอสูรประสงค์จะรบกะท้าวสักกะ   ขึ้นมาเพื่อหมายจะต่อยุทธ์  ด้วยสำคัญว่า   "เป็นเวลาที่ดอกปาริฉัตตกทิพย์ของพวกเราบาน"   ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่พวกนาคในภายใต้สมุทร.  ถัดนั้น  พวกครุฑ,  ถัดนั้นพวกกุมภัณฑ์,  ถัดนั้น  พวกยักษ์,  ถัดนั้น  ท้าวจตุมหาราช,  ส่วนชั้นบนกว่าทุก ๆ  ชั้น  ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์  ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ไว้ที่ทวารแห่งเทพนคร.  พวกอสูรแม้ชำนะพวกนาคเป็นต้นมาแล้ว  เห็นรูปจำลองพระอินทร์มาแต่ไกล  ก็ย่อมหนีไป  ด้วยเข้าใจว่า  "ท้าวสักกะเสด็จออกมาแล้ว."

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีฐานะเป็นผู้อารักขาท้าวสักกะในยามมีภัย ข้อความอ้างถึงข้างต้นแสดงถึงสงครามระหว่างอสูรกับท้าวสักกะ เพื่อแย่งชิงดอกปาริฉัตตกะ ท้าวสักกะได้วางกำลังในการอารักขาเป็นชั้น ๆ เพื่อต่อกรกับพวกอสูร ไล่ตั้งแต่ภายใต้สุดคือนาค ถัดมาก็เป็นครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ ท้าวจตุมหาราช

          ภาคที่ ๓
          ในภาคที่ ๓ ปรากฏคำว่า ยักษ์ ๒ เรื่องดังนี้
          ๑. ปรากฏข้อความที่ระบุถึงยักษ์ในเรื่องสุปปพุทธกุฏฐิว่า ยักษ์แปลงตนเป็นโคแม่ลูกอ่อนขวิดนายสุปปพุทธกุฏฐิถึงแก่ความตาย

ได้ยินว่า  โคแม่ลูกอ่อนนั้น  เป็นยักษิณีตนหนึ่ง  เป็นแม่โคปลงชนทั้ง  ๔  นี้   คือกุลบุตรชื่อปุกกุสาติ  ๑  พาหิยทารุจีริยะ  ๑  นายโจรฆาตกะชื่อตัมพาทาฐิกะ  ๑  สุปปพุทธกุฏฐิ  ๑  จากชีวิตคนละร้อยอัตภาพ. ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  ชนเหล่านั้น  เป็นบุตรเศรษฐีทั้ง  ๔  คน   นำหญิงแพศยาผู้เป็นนครโสเภณีคนหนึ่งไปสู่สวนอุทยาน    เสวยสมบัติตลอดวันแล้ว   ในเวลาเย็น  ปรึกษากันอย่างนี้ว่า  "ในที่นี้ไม่มีคนอื่น,  เราทั้งหลาย   จักถือเอากหาปณะพันหนึ่ง  และเครื่องประดับทั้งหมดที่พวกเราให้แก่หญิงนี้แล้ว  ฆ่าหญิงนี้เสียไปกันเถิด."   หญิงนั้นฟังถ้อยคำของเศรษฐีบุตรเหล่านั้นแล้ว   คิดว่า  "ชนพวกนี้   ไม่มียางอายอภิรมย์กับเราแล้ว   บัดนี้   ปรารถนาจะฆ่าเรา, เราจักรู้กิจที่ควรกระทำแก่ชนเหล่านั้น"   เมื่อถูกชนเหล่านั้นฆ่าอยู่ ได้กระทำความปรารถนาว่า   "ขอเราพึงเป็นยักษิณี ผู้สามารถเพื่อฆ่าชนเหล่านั้นเหมือนอย่างพวกนี้ฆ่าเราฉะนั้นเหมือนกัน ฯ"

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีลักษณะเดียวกันกับยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องยักษิณี คือเกิดจากความอาฆาตแค้นที่ตนเองถูกทำร้ายแล้วตั้งจิตอาฆาต ปรารถนาเป็นยักษ์เพื่อสามารถฆ่าคนที่ทำร้ายตน ในเรื่องระบุว่า ยักษ์อยู่ในรูปของแม่โคอ่อน แล้วขวิดนายสุปปพุทธกุฐิตาย ขณะที่เรื่องนางยักษิณีในภาคที่ ๑ มาในรูปของเพื่อนบ้าน

           ๒. ปรากฏอยู่ในเรื่องการปรินิพพานของพระโคธิกเถระ เนื้อความเป็นพระคาถาร้อยกรอง มีใจความว่า
                            พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารนั้น      ผู้อัน             
                            ความโศกครอบงำ  ลำดับนั้น  ยักษ์นั้นเสียใจ
                            ได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง   ด้วยประการฉะนี้ ฯ

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ตามบริบทของเรื่องนี้ ท่านอธิบายว่าเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งที่คอยขัดขวางการทำความดีของมนุษย์ บางครั้งจึงเรียกว่า เทวบุตรมาร ซึ่งในพระคาถานี้ท่านก็ใช้คำว่า มาร และ ยักษ์ ควบคู่กันไป

ยักษ์ หรือมารตนนี้ได้แสวงหาวิญญาณของพระโคธิกเถระที่ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อค้นหาทั่วทุกสารทิศแล้วไม่พบ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อสอบถามความเป็นไปของวิญญาณพระโคธิกเถระ เมื่อทราบว่า ท่านปรินิพพานแล้วก็เกิดความเศร้าใจและหายตัวไปในที่สุด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 01:02:59 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 08:32:57 pm »


เสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ในภาพ เป็นขบวนออกบวช
ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ พระองค์เสด็จประทับหลังพญาม้ากัณฐกะเหาะไปทางอากาศ
เป็นอภินิหาร มีความหมายว่าทรงข้ามโอฆสงสาร หรือการข้ามสังสารวัฎ
ประมุขเทพอันมีพระอินทร์ถวายการถือฉัตรกั้น และท้าวมหาพรหมชื่อฆฎิการพรหม
ทรงถือเครื่องอัฐบริขารเหาะเสด็จไปเบื้องหน้า

ที่มุมบนขวาของภาพมีพระยามาร ชื่อวัสสวดีมารคอยติดตามขัดขวางด้วย
     
           ภาคที่ ๔
           ในภาคที่ ๔ ระบุถึงยักษ์ดังนี้
           ๑. เรื่องอายุวัฒนกุมาร ระบุข้อความว่า ยักษ์ตนหนึ่ง บำรุงท้าวเวสสวรรณเป็นระยะเวลา ๑๒ ปี จึงได้สิทธิพิเศษในการจับทารกกิน ข้อความในคัมภีร์ปรากฏดังนี้
ก็อวรุทธกยักษ์ตนหนึ่งบำรุงท้าวเวสสวัณ  ๑๒ ปี   เมื่อจะได้พรจากสำนักท้าวเวสสวัณนั้น  ได้ว่า  " ในวันที่  ๗  จากวันนี้  ท่านพึงจับเอาเด็กนี้; "  เพราะฉะนั้น ยักษ์ตนนั้นจึงได้มายืนอยู่.  ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จไปในมณฑปนั้น, เมื่อพวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน.   พวกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยลดถอยไป   ไม่ได้โอกาสหลีกไปตลอด  ๑๒  โยชน์ ถึงอวุทธกยักษ์ก็ได้หลีกไปยืนอย่างนั้นเหมือนกัน.

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในเรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับยักษ์ในเรื่องนางยักษิณี (ภาคที่ ๑) และ ท้าวสักกะ (ภาคที่ ๒) ในแง่เป็นบริวารของท้าวสักกะ หรือท้าวเสสวรรณ ทำหน้าที่บำรุง รับใช้ตามวาระมอบหมาย โดยยักษ์ตนนี้ได้ทำการบำรุงท้าวสักกะเป็นระยะเวลาถึง ๑๒ ปี กระทั่งเป็นที่โปรดปราน และได้รับพรพิเศษคือ สามารถจับเด็กกินเป็นอาหารได้
          ๒. เรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง ระบุข้อความว่า นางยักษิณีแปลงตัวมาเป็นโค ขวิดตัมพทาฐิกอุบาสกตาย ข้อความในคัมภีร์มีดังนี้
นางยักษิณีตนหนึ่งมาแล้วด้วยเพศแห่งแม่โคนม   ขวิดที่อกอุบาสกผู้ตามส่งพระเถระหน่อยหนึ่งแล้วกลับอยู่ให้ตายแล้ว.   อุบาสกนั้นกระทำกาละแล้วก็บังเกิดในดุสิตบุรี ฯ


Protecting Wat Arun in Bangkok by Bertrand Linet on Flickr

          ๓. เรื่องพาหิยะ เล่าเรื่องราวว่า พาหิยะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส  จึงทูลขอบวช แต่ไม่มีบาตรและจีวร พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ไปหาบาตรและจีวรมาก่อน แต่ระหว่างนั้นก็ถูกยักษิณีสิงร่างแม่โคขวิดตาย ข้อความในคัมภีร์ใช้คำว่า “มาด้วยรูปแม่โคนม” รายละเอียดดังนี้
ได้ยินว่า  พาหิยะนั้นกระทำสมณธรรมสิ้น ๒ หมื่นปี   คิดว่า "ธรรมดาภิกษุได้ปัจจัยด้วยตนแล้ว ไม่เหลียวแลผู้อื่น  บริโภคเองเท่านั้น  จึงควร "  ดังนี้แล้ว  ไม่ได้กระทำการสงเคราะห์ด้วยบาตรหรือจีวร  แม้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง.   เพราะฉะนั้น  พระศาสดาทรงทราบว่า " บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์  จักไม่เกิดขึ้น "  จึงไม่ได้ประทานบรรพชา  ด้วยความเป็นเอหิภิกขุแก่เขา.   แม้พาหิยะนั้นแสวงหาบาตรจีวรอยู่นั่นแล  ยักษิณีตนหนึ่งมาด้วยรูปแม่โคนม  ขวิดถูกตรงขาอ่อนข้างซ้าย  ให้ถึงความสิ้นชีวิต.

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในเรื่องที่ ๒ (บุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง) และเรื่องที่ ๓ (พาหิยะ) มีลักษณะเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ศัพท์บาลีที่ใช้ (เธนุวเสน อาคนฺตฺวา/เธนุรูเปน อาคนฺตฺวา มาด้วยเพศ/รูปแห่งแม่โค) ซึ่งอาจตีความได้ว่า ยักษ์ตนนี้แปลงตัวเป็นแม่โค หรืออาจเข้าสิงแม่โค ทำให้แม่โคเกิดอาการดุร้ายขวิดโจรเคราแดงและนายพาหิยะตายในระหว่างทาง
          ถ้าเป็นกรณีแรก (แปลงตัวเป็นแม่โค) ก็แสดงให้เห็นว่าสถานะของยักษ์ว่าเป็นผู้มีฤทธิ์ สามารถแปลงกายได้  ถ้าเป็นกรณีหลัง (เข้าสิงแม่โค) ก็สะท้อนว่า ยักษ์ในความหมายนี้ อาจจะสะท้อนความเชื่อเรื่องภูติผีปิศาจที่สามารถเข้าสิงร่าง และทำให้เจ้าของร่างเดิมสูญเสียการบังคับตัวเองไป

          ภาคที่ ๕ 
          ธรรมบทภาคที่ ๕ มีข้อความที่ระบุถึงยักษ์เรื่องเดียว คือ เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก  ในเรื่องนี้ ใช้คำศัพท์ว่า รากษส และ ยักษ์ ควบคู่กันไป แต่มีความหมายอย่างเดียวกัน ข้อความในเรื่องปรากฏดังนี้

(๑) ก็สระนั้น   เป็นสระที่รากษสน้ำตนหนึ่ง   ได้จากสำนักแห่งท้าวเวสวัณ    ก็ท้าวเวสสวัณ    รับสั่งกะรากษสน้ำนั้นว่า    " เว้นชนผู้รู้เทวธรรมเท่านั้น    ชนเหล่าอื่นลงสู่สระนี้,       เจ้าย่อมได้เพื่อเคี้ยวกินชนเหล่านั้น."    ตั้งแต่นั้นมา    รากษสน้ำนั้น     ถามเทวธรรมกะคนผู้ลงแล้ว  ๆ  สู่สระนั้น    ย่อมเคี้ยวกินคนผู้ไม่รู้อยู่.

(๒) พระโพธิสัตว์   พอเห็นบุรุษนั้น   ก็ทราบได้ว่า    “ผู้นี้เป็นยักษ์"  จึงกล่าวว่า       " ท่านจับเอาน้องชายทั้ง  ๒  ของข้าพเจ้าไว้หรือ ? "
          ยักษ์ :  เออ  ข้าพเจ้าจับไว้.
          โพธิสัตว์.   จับไว้ทำไม ?
          ยักษ์ :  ข้าพเจ้า  ย่อมได้  (เพื่อกิน)  ผู้ลงสู่สระนี้.
          โพธิสัตว์.   ก็ท่านย่อมได้ทุกคนเทียวหรือ ?

          ยักษ์ :  ยกเว้นผู้รู้เทวธรรม   คนที่เหลือ   ข้าพเจ้าย่อมได้.
          โพธิสัตว์.   ก็ท่านมีความต้องการด้วยเทวธรรมหรือ ?

          ยักษ์ :  ข้าพเจ้ามีความต้องการ.
          โพธิสัตว์.   ข้าพเจ้าจักกล่าว  (ให้ท่านฟัง).
          ยักษ์ :  ถ้ากระนั้น  ขอท่านจงกล่าวเถิด.
          โพธิสัตว์.   ข้าพเจ้ามีตัวสกปรก   ไม่อาจกล่าวได้.

ยักษ์ให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำ    ให้ดื่มน้ำอันควร    ตบแต่งแล้วเชิญขึ้นสู่บัลลังก์    ในท่ามกลางมณฑปอันแต่งไว้     ตัวเองหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์นั้น.

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในเรื่องนี้ คล้าย ๆ กับยักษ์ในเรื่องอายุวัฒนกุมาร (ภาคที่ ๔) คือได้รับพรพิเศษจากท้าวเวสสวรรณให้สามารถจับคนกินเป็นอาหารได้ แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จับกินได้เฉพาะคนที่ไม่รู้เทวธรรมเท่านั้น และจำกัดขอบเขตให้กินได้เฉพาะบริเวณสระน้ำที่ตนครอบครองเท่านั้น ยักษ์ประเภทนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รากษส (ผีเสื้อน้ำ) พจนานุกรมอธิบายศัพท์นี้ว่า หมายถึงพวกยักษ์ หรืออสูรชั้นเลว มีนิสัยดุร้าย


"ห้องที่ ๓๒ มีภาพ...หนุมานฆ่าอสุรีผีเสื้อสมุทร นายด่านทางน้ำ
เมือง
ลงกา
" จากระเบียงภาพรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 04, 2014, 02:40:29 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 10:11:05 pm »

          ภาคที่ ๖ 
          ธรรมบทภาคที่ ๖ มีระบุถึงยักษ์ดังต่อไปนี้
          ๑.ปรากฏในเรื่องยมกปาฏิหาริย์ อยู่ในรูปของคาถา  อีกที่หนึ่งเป็นร้อยแก้วธรรมดา เนื้อความมีว่า
(๑) "ข้าพระองค์จะต้องการอะไร
ด้วยทานอันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล, 
ยักษ์ชื่ออินทกะนี้นั้นถวายทานแล้วนิดหน่อย
ยังรุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว. "

(๒)เทวดาและมนุษย์ใน  ๘  ทิศ  และเทวดาเบื้องบนจดพรหมโลก  และยักษ์ นาคและสุบรรณผู้อยู่  ณ  ภาคพื้นเบื้องต่ำประคองอัญชลีกราบทูลว่า  " พระเจ้าข้า  ชื่อว่าผู้วิสัชนาปัญหานี้มิได้มีในสมาคมนี้,  ขอพระองค์โปรดใคร่ครวญในสมาคมนี้ทีเดียว"

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ หมายถึงเทวดา และเป็นเทวดาที่มีศักดิ์น้อยด้วยทำบุญมานิดหน่อย ในเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานระบุว่าเป็นเทวดาชั้นใด

          ภาคที่ ๗ 
          ธรรมบทภาค ๗ มีกล่าวถึงยักษ์ดังนี้
          ๑. เรื่องอุบาสก ๕ คน ได้กล่าวถึงยักษ์ มีใจความดังนี้
บทว่า โทสสโม  ความว่า ผู้จับทั้งหลาย มีผู้จับคือยักษ์  ผู้จับคืองูเหลือม  และผู้จับคือจระเข้เป็นต้นย่อมสามารถจับได้ในอัตภาพเดียวเท่านั้น,  แต่ผู้จับคือโทสะ  ย่อมจับโดยส่วนเดียวทีเดียว  เพราะฉะนั้น  ชื่อว่าผู้จับเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี.

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในบทนี้ มีลักษณะกับที่ปรากฏในเรื่องภิกษุผู้มีภัณฑะมาก คือเป็นรากษส ที่คอยจับมนุษย์กินเป็นอาหาร ท่านจึงเรียกว่า “ผู้จับ” ยักษ์ประเภทนี้อาศัยอยู่ในสระน้ำ หรือตามป่า มีนิสัยดุร้าย

          ๒. เรื่องนายทารุสากฏิกะ กล่าวถึงยักษ์ดังนี้
ต่อมา  อมนุษย์แม้ทั้ง ๒ เป็นประดุจว่ามารดาและบิดาของเด็กนั้น ปลุกเด็กนั้นให้ลุกขึ้นแล้ว ให้บริโภคโภชนะนั้น  ประกาศความเป็นไปนั้นแล้ว  จารึกอักษรที่ถาดโภชนะ  ด้วยอานุภาพของยักษ์ ด้วยอธิษฐานว่า  "พระราชาเท่านั้น  จงเห็นอักษรเหล่านี้, คนอื่นจงอย่าเห็น"  ดังนี้แล้ว  จึงไป.

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในเรื่องนี้ ระบุชัดเจนว่าเป็นอมนุษย์ หรือไม่ใช่มนุษย์ และมีฤทธิ์ หรืออานุภาพพอสมควร อย่างน้อยก็สามารถเนรมิต หรือแปลงกายเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับที่เคยพบมาแล้วในธรรมบทภาคต้น ๆ ที่ผ่านมา

          ๓. เรื่องสานุสามเณร ท่อนแรกและท่อนที่ ๓ ที่คัดมา เป็นร้อยแก้วธรรมดา  ส่วนท่อนที่ ๒ เป็นบทร้อยกรอง

(๑) ในสมัยทั้งหลายมีสมัยฟังธรรมและสมัยที่ยักษ์ประชุมกันเป็นต้น  อมนุษย์ทั้งหลายย่อมให้อาสนะที่ดี  น้ำที่ดี  อาหารที่ดี  แก่นางยักษิณี  ด้วยคิดว่า  "นางยักษิณีตนนี้  เป็นมารดาของสานุสามเณร"  ยักษ์ทั้งหลายแม้ที่ศักดิ์ใหญ่เห็นนางยักษิณีนั้นแล้ว ย่อมหลีกทางให้, ย่อมลุกขึ้นจากอาสนะ.

(๒) "ชนเหล่าใด  ย่อมรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕  และที่ ๘ แห่งปักษ์และตลอดปาริหาริยปักษ์  ประพฤติพรหมจรรย์อยู่,  ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นด้วยชนเหล่านั้น  ข้าพเจ้าได้สดับคำของพระอรหันต์ทั้งหลายดังนี้:  ในวันนี้บัดนี้เอง ข้าพเจ้านั้นเห็นอยู่  ยักษ์ทั้งหลาย  เล่นกับสานุสามเณร"

(๓) สามเณรนั้น  ลืมตาขึ้นแล้ว  เห็นมารดากำลังสยายผมร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่  และชาวบ้านทั้งสิ้นประชุมกันอยู่แล้ว  ไม่ทราบความที่ตนถูกยักษ์สิง  จึงนึกสงสัยขึ้นว่า  "เมื่อก่อนเรานั่งบนตั่ง, มารดาของเรานั่งซาวข้าว ณ ที่ไม่ไกล,  แต่บัดนี้  เรา (กลับ)  นอนเหนือแผ่นดิน;  นี่อะไรกันหนอ ?"  นอนอยู่เทียว กล่าวกะมารดาว่า

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ อาจเป็นเทวดาชั้นต่ำ ได้อัตภาพเพราะบุญกุศลเล็กน้อยบางอย่าง มีอานุภาพ สามารถให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้ ทำนองเดียวกันกับยักษ์ในเรื่องยมกปาฏิหาริย์



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 21, 2014, 07:21:48 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ยักษ์ที่ปรากฎในคัมภีร์ธรรมบท
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 10:14:39 pm »


                     
                                     พระยาวัสสวดีมารทูลอาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
          ภาคที่ ๘ 
          ในภาค ๘ มีเรื่องราวที่กล่าวถึงยักษ์ดังนี้
          ๑.เรื่องโชติกะเศรษฐี กล่าวถึงยักษ์ในลักษณะเป็นผู้อารักขาทรัพย์สมบัติของเศรษฐีในทิศต่าง ๆ ดังนี้
ก็บรรดาขุมทรัพย์ทั้งหลาย  ขุมทรัพย์ขุมหนึ่ง  ได้มีประมาณโยชน์หนึ่ง,   ขุมหนึ่งได้มีประมาณ  ๓  คาวุต,  ขุมหนึ่งได้มีประมาณกึ่งโยชน์,  ขุมหนึ่งได้มีประมาณคาวุตหนึ่ง,  ที่ซุ้มประตูทั้ง  ๗ ยักษ์ ๗ ตนยึดการรักษาไว้แล้ว.  ในซุ้มประตูที่  ๑ ยักษ์ชื่อยมโมลีพร้อมด้วยยักษ์พันหนึ่งที่เป็นบริวารของตน  ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตที่  ๒  ยักษ์ชื่ออุปปละพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน  ๒  พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตูที่  ๓  ยักษ์ชื่อวชิระพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน  ๓  พัน  ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตูที่  ๔  ยักษ์ ชื่อวชิรพาหุพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน  ๔  พัน  ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตูที่ ๕  ยักษ์ชื่อสกฏะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน  ๕  พัน  ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตูที่ ๖  ยักษ์ชื่อสกฏัตถะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๖  พัน  ยึดการรักษาไว้แล้ว,  ที่ซุ้มประตูที่ ๗  ยักษ์ชื่อทิสามุขะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน  ๗ พัน  ยึดการรักษาไว้แล้ว.  ทั้งภายในและภายนอกแห่งปราสาท  ได้มีการรักษาอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

          ๒. เรื่องภิกษุ ๕ รูป ในอดีตไม่สำรวมอินทรีย์จึงถูกรากษสจับกินเป็นอาหาร ข้อความในคัมภีร์มีดังนี้
ในระหว่างทาง  ไม่ประพฤติในโอวาทของบัณฑิต  แลดูอยู่  ถูกรากษสทั้งหลายเคี้ยวกิน  ถึงความสิ้นไปแห่งชีวิต,  ส่วนพระราชาผู้ทรงสำรวมในอารมณ์เหล่านั้น   ไม่เอื้อเฟื้อถึงนางยักษิณี  ผู้มีเพศดุจเทพดา  แม้ติดตามไปอยู่ข้างหลัง  ๆ  เสด็จถึงเมืองตักกสิลาโดยสวัสดิภาพ  แล้วถึงความเป็นพระราชา  คือเราแล"  แล้วตรัสว่า"ธรรมดาภิกษุ  ควรสำรวมทวารแม้ทั้งหมด,  เพราะว่า  ภิกษุสำรวมทวารเหล่านั้นนั่นแล   ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"

          ข้อสังเกต
          ยักษ์ในเรื่องโชติกะเศรษฐี มีฐานะเป็อารักขเทวดา คือเป็นเทวดาคอยอารักขา หรือรักษาสถานที่ หรือสิ่งล้ำค่าที่คนส่วนมากให้ความเคารพนับถือ รวมถึงคอยรักษาทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้มีบุญบารมีสูง เช่นกรณีของโชติกะเศรษฐี ยักษ์ในความหมายนี้ จึงเปรียบเสมือน “ผีบ้าน ผีเรือน” ตามคติความเชื่อของคนไทยโบราณ ส่วนยักษ์ในเรื่องที่สอง (ภิกษุ ๕ รูป) มีลักษณะคล้ายกับยักษ์ที่กล่าวมาแล้วในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องอายุวัฒนกุมาร (ภาค ๔) ภิกษุมีภัณฑะมาก (ภาค ๕) เป็นต้น

บทสรุป 
          โดยภาพรวม ยักษ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมบท เป็นอมนุษย์ (ไม่ใช่มนุษย์) มีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งมารทั้งนี้ด้วยอำนาจแห่งกรรมดี-กรรมชั่วที่ตนสั่งสมมาในอดีตชาติในลักษณะที่ก้ำกึ่งกัน แม้จะมีสถานะเป็นเทพ แต่ก็เป็นเทพชั้นต่ำ มีหน้าที่คอยอารักขาคุ้มครองท้าวเวสสวรรณบ้าง มีหน้าที่อารักขาสถานที่ หรือสิ่งล้ำค่าที่คนส่วนมากให้ความเคารพนับทั้งที่เป็นของส่วนรวม และของที่เป็นส่วนบุคคล ขณะเดียวกันเมื่อต้องตกอยู่ในฐานะเป็นมารด้วยอำนาจกรรมเก่า ก็เป็นเหตุให้สร้างเวรสร้างกรรมใหม่ขึ้นอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจเพิ่มวิบากกรรมให้หนักยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

          เนื่องจากมีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งมาร และมีฤทธิ์ หรืออำนาจตามฐานานุศักดิ์ของตน ๆ ยักษ์จึงสามารถให้ทั้งคุณและโทษแก่มนุษย์ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เซ่นสรวงบูชา เพื่อนำมาซึ่งความสุขสวัสดีแก่ตนเอง

          ในกรณีของการให้คุณและให้โทษ ยักษ์สามารถกระทำได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือไปกระทำในร่างของยักษ์ โดยอ้อม ก็อาจจะแปลงเป็น หรือเข้าสิงร่างของสัตว์ หรือบุคคล แล้วให้ร่างนั้นกระทำการแทน เช่นกรณีของสานุสามเณรที่ถูกยักษ์สิงร่าง หรือกรณีที่ยักษ์แปลงตัวเป็นบิดาคอยอารักขาเด็กน้อยที่นอนคนเดียวอยู่นอกเมือง เป็นต้น

                     
                       “ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริง
               มีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์
ข้อสังเกตส่งท้าย
          ยักษ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมบท หากมองย้อนกลับมาในสังคมไทย สามารถสะท้อนแนวคิดเรื่องวิญญาณนิยมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสังคมชนบท นับตั้งแต่อดีต กระทั่งถึงปัจจุบัน จะมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา หรือ ภูติ ผี ปิศาจที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ และความเชื่อเหล่านี้ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ อย่างแน่นแฟ้นจนไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

             
***
(๑. เรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฎในคัมภีร์ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ตาม คัมภีร์อรรถกถาก็ตาม มีหลายลักษณะ หลายประเภท บางเรื่องเป็นสัจธรรม หรือเป็นแก่นธรรมคำสอนก็มี บางเรื่องก็เป็นตำนานเล่าสืบ ๆ กันมาก็มี บางเรื่องเป็นคติความเชื่อก็มี หากเปรียบง่าย ๆ พระไตรปิฎกก็เปรียบเหมือนกับป่าใหญ่ คำสอนต่าง ๆ ก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในป่าให้คุณให้ประโยชน์ (รวมทั้งให้โทษ) แตกต่างกันไป หากได้พิจารณาข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์อย่างดีแล้ว ก็ทราบทันทีว่า อะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก อะไรคือกระพี้ การศึกษาคัมภีร์โดยรวม จะทำให้เราสามารถแยกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน อะไรคือส่วนที่เป็น "บริบท" ที่พระพุทธศาสนากล่าวถึง อะไรคือสิ่งที่ควรยึด อะไรคือส่วนที่ควรรู้ อะไรคือส่วนที่ควรวาง

                                                               
๒. พระพุทธศาสนาท่านเน้นแนวให้ทุกคนเข้าถึงความจริงด้วยตนเอง คำสอนที่เป็นแก่น ทรงท้าทายให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อนตกลงปลงใจให้เชื่อ ส่วนประเด็นเรื่องเหลือเชื่อ รวมทั้งเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็เป็นส่วนที่เราจะต้องพิจารณารายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรจึงนำมากล่าวถึง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ทรงวางเกณฑ์ตัดสินไว้ให้แล้วว่าอะไรควรนับว่าเป็นคำสอน อะไรไม่ใช่

                         
๓. กรณีเรื่องยักษ์ มีการกล่าวถึงไว้หลายลักษณะ เรื่องนี้ ไม่ถือว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา หากแต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งทำให้เราได้ทราบคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงนั่นเป็นอย่างไร เพื่อก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ
๔. เรื่องวิทยาศาสตร์จะยอมหรือไม่ยอมรับ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญของคำสอนนั้นอยู่ที่สามารถดับทุกข์ หรือสามารถแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ถือเป็นแก่นของคำสอน และเป็นหลักการร่วมกันที่เราชาวพุทธยึดถือ
)



:http://www.oknation.net/blog/chaiyassu/2010/12/30/entry-1
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 18, 2012, 02:03:34 pm โดย ฐิตา »