คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)

(1/5) > >>

ฐิตา:




ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อูบัณฑิตาภิวังสะ


  คำนำ
"ราชรถสู่พระนิพพาน" (Sayadaw U Pandita) เทศนาธรรม
ของพระกัมมัฏฐานาจริยะ อูบัณฑิตาภิวังสะ

แปลจากบทที่ ๖ Chariot to Nibbana ของหนังสือ In this Very Life ซึ่งรวบรวมพระธรรมเทศนาของ Sayadaw U Bandita ระหว่างการอบรมวิปัสสนากรรมฐานให้แก่นักศึกษาชาวตะวันตก ณ วิปัสสนาภาวนาสมาคม (Insight Meditation Society) เมือง Barre มลรัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. ๒๕๔๗)

ดังที่ทราบกันในหมู่ผู้ใฝ่ใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแบบอย่างของท่านมหาสีสยาดอแห่งประเทศสหภาพพม่า หนังสือ In this Very Life นี้เปรียบเสมือนคู่มือในการเจริญวิปัสสนาภาวนาของผู้ปฏิบัติทั้งเก่าและใหม่ มีเนื้อหาสาระเกื้อกูลและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติพากเพียรอบรมศีล สมาธิ และปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่จริงจัง และเปี่ยมด้วยเมตตา นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ผู้จัดทำได้ทยอยแปลหนังสือ In this Very Life ปีละ ๑-๒ บท โดยมีกัลยาณมิตรจำนวนมากช่วยสนับสนุนปัจจัยในการพิมพ์ทุกครั้ง เริ่มจาก “รู้แจ้งปรมัตถธรรมด้วยการเจริญพละ ๕” “การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้นและวิปัสสนาฌาน” “โพชฌงค์” และล่าสุดคือ “ราชรถสู่พระนิพพาน” ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม คงมีอีก ๑ บทที่ยังมิได้จัดพิมพ์ คือ “กองทัพทั้งสิบแห่งมาร” ซึ่งหวังว่ากัลยาณมิตรทุกท่านจะสนับสนุนร่วมกันจัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นธรรมทานอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้จัดทำได้รับความเมตตากรุณาจาก หลวงพ่อ อู บัณฑิตา ที่ได้อนุญาตและเป็นกำลังใจให้จัดทำหนังสือชุดนี้ได้อย่างต่อเนื่อง หลวงพ่อพระประจาก สิริวณฺโณ และ ท่านอาจารย์สว่าง ติกฺขวีโร วิปัสสนาจารย์ผู้มีพระคุณเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาสละกำลังและเวลาตรวจแก้ฉบับแปล เพื่อให้หนังสือทุกเล่มมีเนื้อหาสาระที่ถูกตรง เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้สนใจใฝ่ธรรม คุณผาณิต เจตน์จิราวัฒน์ กัลยาณมิตรผู้รับเป็นภาระในการดูแลการจัดพิมพ์หนังสือและเป็นบรรณาธิการต้นฉบับให้แก่หนังสือ “โพชฌงค์” และ “ราชรถสู่พระนิพพาน” ด้วยความเสียสละ เมตตา และเอาใจใส่ยิ่ง คุณจิราพร มัลลิกะมาลย์ กัลยาณมิตรผู้เป็นกำลังใจให้เริ่มทำงานนี้ตั้งแต่ต้นและคอยอุปถัมภ์ตลอดจนชักชวนผู้มีจิตกุศลให้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ คุณความดีและประโยชน์อันใดที่หนังสือเล่มนี้ได้ก่อให้เกิดขึ้น ผู้จัดทำขอน้อมถวาย แด่หลวงพ่อ อู บัณฑิตาภิวังสะ หลวงพ่อพระประจาก สิริวณฺโณ ท่านอาจารย์พระสว่าง ติกฺขวีโร รวมถึงวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นประทีปส่องธรรมอันประเสริฐแก่ครอบครัวของผู้จัดทำทุกองค์ทุกท่าน ตลอดจนคุณพ่อพิสิษฐ์ ภัทรวิมลพร บุพการี ญาติมิตร และผู้มีส่วนเกื้อหนุนในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ หากมีความผิดพลาดบกพร่องอันใดที่เกิดจากการแปลและจัดทำหนังสือเล่มนี้ ผู้จัดทำต้องกราบขออภัยเป็นอย่างสูง และขอน้อมรับไว้แต่ผู้เดียว

คณะผู้จัดทำ
ตุลาคม ๒๕๔๗


Sayadaw U Pandita

ฐิตา:

     ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ใกล้นครสาวัตถี ประเทศอินเดีย เทพบุตรองค์หนึ่งเหาะลงมาจากสวรรค์เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมบริวารนับพัน
   แม้ว่ารัศมีอันเจิดจ้าแห่งเทพบุตรองค์นี้จะแผ่ไปทั่วพระเชตวัน ท่านกลับดูเศร้าหมอง เมื่อนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็คร่ำครวญว่า
   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวสถานแห่งปวงเทพช่างอึกทึกวุ่นวายจริงหนอ เทวดาทั้งหลายดูราวกับหมู่เปรตที่กำลังสนุกสนานร่าเริงอยู่ สรวงสวรรค์ช่างสับสนวุ่นวายยิ่งนัก ขอพระองค์ทรงชี้ทางออกให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”
   แปลกนักที่คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวของเทพบุตร สรวงสรรค์เป็นสถานที่อันควรยินดี เหล่าเทวดาทั้งหลายผู้มีความสง่างามและร้องรำประโคมดนตรีอยู่เป็นนิจไม่น่าเปรียบได้กับฝูงเปรตที่อยู่ในความทุกข์ทรมานแสนสาหัส กล่าวกันว่าเปรตบางจำพวกมีท้องใหญ่โตมโหฬารและมีปากเล็กเท่ารูเข็มต้องทุกข์ทรมานอยู่ในความโหยหิวตลอดกาล

   พระผู้มีพระภาคทรงตรวจสอบอดีตชาติของเทพบุตรองค์นี้ด้วยพระญาณ ทรงทราบว่า ไม่นานมานี้เทพบุตรองค์นี้เกิดเป็นมนุษย์และใส่ใจในการปฏิบัติธรรม ครั้งยังหนุ่มมีศรัทธาในพระธรรมวินัย ถึงกับละทิ้งบ้านเรือนมาบวชเป็นพระภิกษุ หลังจากได้รับการฝึกอบรมภายใต้การดูแลของครูบาอาจารย์ครบห้าปีตามพุทธบัญญัติแล้ว ก็มีความชำนาญในข้อวัตรปฏิบัติ และสามารถเจริญภาวนาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาครูอาจารย์ ท่านจึงปลีกวิเวกไปอยู่ในป่า ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะบรรลุอรหัตตผล ท่านจึงพากเพียรในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเว้นจากการนอนและแทบจะไม่ฉันอะไรเลย เพราะต้องการทุ่มเทเวลาเพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ แต่แล้วท่านก็ทำลายสุขภาพของตนเองจนทำให้เกิดโรคลมจุกเสียดแทงในท้อง แม้กระนั้นภิกษุหนุ่มก็ตั้งใจปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นต่อไปอย่างไม่ลดละ ความเจ็บปวดในกายท่านทวีมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งท่านก็มรณภาพขณะกำลังเดินจงกรม

   ภิกษุรูปนี้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทันใดนั้นราวกับตื่นจากฝัน ท่านได้มายืนอยู่หน้าประตูวิมานอันเรืองรองในเครื่องทรงทองอันประณีต ภายในวิมานนี้มีทวยเทพนับพันทรงเครื่องงดงามรอคอยท่านผู้ซึ่งจะมาเป็นหัวหน้าของเหล่าเทพนั้นอยู่ เหล่าเทพต่างยินดีที่เห็นท่านและโห่ร้องต้อนรับด้วยความเบิกบาน ทั้งยังนำสังคีตมาดีดสี เพื่อขับกล่อมท่านด้วย
   ท่ามกลางความอึกทึกนี้ เทพบุตรผู้น่าสงสารไม่ทันได้มีโอกาสที่จะพิจารณาว่า ท่านได้มรณภาพและปฏิสนธิในภพใหม่แล้ว ท่านคิดว่าเทวดาเหล่านี้คือคฤหัสถ์ที่มานมัสการท่าน เทพบุตรองค์ใหม่หลุบสายตาลงต่ำและจับชายเครื่องทรงอันเป็นทองของท่านมาเฉวียงบ่าโดยอาการสำรวม เหล่าเทพเห็นอาการนั้นจึงกล่าวกะท่านว่า “ท่านอยู่ในสวรรค์แล้ว ขณะนี้ไม่ใช่เวลาทำสมาธิ แต่เป็นเวลาแห่งความสนุกสนานบันเทิง มาเถิดท่าน มาเริงระบำกันเถิด”

   เทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุมาก่อนแทบจะไม่ได้ยินคำพูดของเหล่าเทวดานั้น เพราะท่านยังเจริญอินทรียสังวรอยู่ ในที่สุดเทวดาองค์หนึ่งก็เข้าไปหยิบกระจกบานใหญ่จากในวิมานมาให้เทพบุตรองค์ใหม่ดู เมื่อเห็นแล้ว ท่านจึงทราบว่าท่านมิได้เป็นพระภิกษุเสียแล้ว ไม่มีสถานที่ใดในสรวงสวรรค์นี้ที่จะสงบเงียบพอที่จะเจริญภาวนา ท่านตกอยู่ในกับดักเสียแล้ว
   เทพบุตรจึงดำริด้วยความท้อแท้ว่า “เมื่อเราละทิ้งบ้านเรือนมาบวชเป็นภิกษุ เราปรารถนาความสุขอันยิ่งคืออรหัตผลเท่านั้น บัดนี้เราเหมือนนักมวยที่ลงสนามเพื่อชิงเหรียญทองแต่กลับได้หัวผักกาดแทน”
   เทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุในอดีต กลัวแม้แต่จะก้าวเข้าไปในเขตของวิมาน ท่านทราบดีว่า จิตใจของท่านยังไม่เข้มแข็งพอที่จะอดทนต่อความหฤหรรษ์อันประณีตกว่าในโลกมนุษย์นี้ได้ ทันใดนั้นท่านก็ระลึกได้ว่า เทวดาย่อมสามารถมายังโลกมนุษย์ที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคกำลังทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ได้ ความคิดนี้ทำให้เทพบุตรรู้สึกเบิกบานขึ้นมาได้

   ท่านคิดว่า “เราจะหาความสำราญในสวรรค์เมื่อไรก็ได้ แต่โอกาสที่จะพบพระพุทธเจ้านั้น มีน้อยยิ่งนัก” ท่านจึงเหาะลงมาจากสวรรค์โดยไม่รีรอ พร้อมกับหมู่เทพนับพันที่เป็นบริวาร
   เมื่อพบพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวัน เทพบุตรจึงเข้าไปเฝ้าและทูลขอความช่วยเหลือ พระพุทธองค์ทรงเห็นความทุ่มเทในการประพฤติปฏิบัติของเทพบุตร จึงตรัสว่า
   “ดูกรเทพ หนทางที่ท่านดำเนินอยู่นี้ถูกตรงแล้ว และย่อมนำท่านไปสู่ภูมิที่ปลอดจากภัย เป็นอิสระจากความหวาดกลัวใด ๆ อันเป็นจุดมุ่งหมายของท่าน ท่านจงขับยานอันสงัดเงียบ ล้อทั้งสองจะเป็นความพากเพียรทางกายและใจ หิริจะเป็นพนักพิง สติเป็นเกราะป้องกำบัง และสัมมาทิฏฐิจะเป็นสารถี บุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายผู้ครอบครองยานนี้และขับยานนี้ไปด้วยดี ย่อมดำเนินถึงพระนิพพานเป็นแน่แท้”

   สนุกบันเทิงเป็นนิจนั้นผิดตรงไหน
   เรื่องของเทพบุตรผู้เคยเป็นภิกษุนี้มีกล่าวในคัมภีร์สังยุตตนิกาย ซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาไว้หลายประการ เราจะศึกษาเรื่องนี้ไปโดยลำดับ แต่บางทีคำถามแรก ท่านอาจต้องการถามว่า “เหตุใดจึงมีผู้ไม่พอใจที่ได้เกิดใหม่ในสวรรค์” เพราะสรวงสวรรค์เปี่ยมด้วยความสุขสำราญ เหล่าเทพยังมีรูปกายที่งดงามและมีอายุยืนยาว ทั้งยังแวดล้อมด้วยกามสุขนานาประการ

   ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องตายเสียก่อนแล้วไปเกิดใหม่ เพื่อเข้าใจความรู้สึกของเทพบุตรองค์นี้ โลกนี้มีสถานที่เป็นดังสวรรค์อยู่แล้ว แต่จะหาความสุขอันเที่ยงแท้และยั่งยืนในสถานที่เหล่านั้นได้หรือ ยกตัวอย่างเช่น ประทศสหรัฐอเมริกามีความเจริญเป็นเลิศทางวัตถุ ความสุขทางกายหาได้ง่าย เราจะเห็นผู้คนมัวเราจมปลักอยู่ในความบันเทิงและความหรูหรา ท่านลองถามตัวเองดูเถิดว่า คนเหล่านั้นเขาคิดที่จะพิจารณาหรือพยายามหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตให้ลึกซึ้งบ้างหรือไม่ เขามีความสุขจริงหรือ


แผนที่เส้นทาง ธรรมยาตรา ยุคพุทธกาล

ฐิตา:
                   

ครั้งยังเป็นมนุษย์ เทพบุตรองค์นี้มีศรัทธาแก่กล้าในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ความสุขที่ประเสริฐสุดคือความหลุดพ้น ซึ่งเกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาความสุขอันประเสริฐท่านจึงสละชีวิตทางโลกออกบวชเป็นบรรพชิต ท่านพากเพียรอย่างมุ่งมั่นเพื่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ที่จริงท่านพากเพียรอย่างอาจหาญเกินไปจนมรณภาพก่อนเวลาอันควร และแล้วท่านกลับพบว่า ท่านต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ โดยถูกแวดล้อมด้วยโลกียสุขนานาประการที่ท่านพยายามละหนีมา เราคงพอจะเข้าใจความผิดหวังของท่านได้กระมัง
แท้จริงแล้ว ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาวะของการระลึกรู้จากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่ สภาวะของการตายและการเกิดใหม่เกิดต่อเนื่องกันโดยไม่มีระหว่างคั่น แต่การเกิดของเทวดานั้นต่างจากมนุษย์ เนื่องจากเป็นการปฏิสนธิทันที และปราศจากความเจ็บปวด

ดังนั้น เทพบุตรผู้เคยเป็นพระมาก่อนองค์นั้นจึงมิได้เสียจังหวะในการปฏิบัติธรรมไปในระหว่างการเกิดใหม่แต่อย่างใด แล้วก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันที่เทพบุตรจะบ่นว่าเสียงอันอึกทึกใน เทวโลก หากท่านเคยปฏิบัติกรรมฐานในระดับที่ลึกซึ้งมาแล้ว ก็จะรู้ว่าเสียงอาจเป็นเครื่องรบกวนและทรมานใจได้เพียงไร ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ดังสนั่นเพียงครั้งเดียวหรือดังถี่ ๆ แบบต่อเนื่อง สมมติว่า ในขณะนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติเพิ่งจะเข้าสู่สภาวะที่สงบนิ่ง แล้วทันใดนั้นเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น สมาธิที่สะสมมาตลอดชั่วโมงก็อาจแตกกระจายไปในพริบตา หากประสบการณ์นี้เคยเกิดกับใครก็อาจเข้าใจความรู้สึกของเทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุมาก่อนองค์นี้ที่เปรียบเทวดาเหมือนกับหมู่เปรต เมื่อโทรศัพท์ดังขึ้น อาตมาสงสัยว่าผู้ปฏิบัติจะนึกบ่นว่าอย่างไร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนของท่านเองที่โทรมาก็ตาม
ในพระบาลีเดิม พระสูตรบทนี้มีการเล่นคำ กล่าวคือ เทพบุตรองค์นี้พบว่าตนเองอยู่ในอุทยานแห่งสรวงสวรรค์อันรื่นรมย์ ชื่อ “นันทวัน” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นสถานที่อันงดงาม แต่เมื่อท่านกราบทูลพระพุทธองค์ ท่านเรียกชื่อสถานที่แห่งนั้นเสียใหม่ว่า “โมหะนะ” ซึ่งมาจากคำว่า โมหะ ความหลง สถานที่ที่ก่อให้เกิดความสับสน และความวุ่นวายภายในจิตใจ

หนทางแห่งการสละโลก
ในความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ แน่นอนว่าเราอาจถึงพอใจกับความหวั่นไหวในปีติสุขที่ดื่มด่ำ บางทีเป้าหมายของผู้ปฏิบัติอาจไม่ใช่อรหัตตผลเช่นเทพบุตรองค์นี้ หรืออาจจะใช่ ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะหวังผลประการใดจากการปฏิบัติ เชื่อแน่ว่า ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นคุณค่าของสมาธิและความสงบที่เกิดจากการเจริญกรรมฐาน เพื่อเข้าถึงสภาวะดังกล่าว การปล่อยวางในระดับหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ทุกครั้งที่ผู้ปฏิบัตินั่งลงเพื่อเจริญกรรมฐาน แม้เพียงชั่วโมงเดียว ย่อมเท่ากับได้สละโอกาสที่จะแสวงหาความสุข และความสับสนวุ่นวายไปเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และกลับได้พบความบรรเทาจากความวุ่นวายเหล่านี้ รวมถึงความทุกข์ใจจากการไขว่คว้าหาความรู้สึกอันน่ายินดีทั้งหลาย หากผู้ปฏิบัติเข้ากรรมฐานนาน ๆ แม้ต้องละบ้านเรือน คนรัก และงานอดิเรกไป แต่หลายคนก็พบว่าการเสียสละนี้เป็นสิ่งคุ้มค่า


แม้ว่าท่านจะพร่ำบ่นเกี่ยวกับเทวภูมิ แต่เทพบุตรก็มิได้ตั้งใจจะดูหมิ่นวิถีชีวิตของเหล่าเทพ ท่านเพียงแต่รู้สึกผิดหวังในตัวเองที่ไม่อาจบรรลุเป้าหมายของท่านมากกว่า ทำนองว่า เราทำงานชิ้นหนึ่ง โดยหวังว่าจะได้เงิน ๔๐,๐๐๐ บาท เราทำงานหนักอย่างขยันขันแข็ง และละเอียดถี่ถ้วน แต่เมื่อสิ้นวัน งานชิ้นนั้นยังไม่เสร็จ เราได้ค่าจ้างมาเพียง ๒,๐๐๐ บาท แต่เป็นความรู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้ ในทำนองเดียวกัน เทพบุตรโกรธตนเองและเปรียบตนเองกับนักมวยที่ชกได้หัวผักกาดแทน แทนที่จะได้เหรียญทอง เหล่าเทพบริวารทั้งหลายเข้าใจท่านดี และไม่ได้รู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม แท้จริงแล้ว เหล่าเทวดาก็สนใจในพระธรรมเช่นกัน จึงติดตามท่านมายังโลกมนุษย์ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้รับประโยชน์จากคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
หากผู้ปฏิบัติมีความมั่นคงในธรรมปฏิบัติแล้ว ความสนใจในการเจริญกรรมฐานจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง แม้ในเทวโลก หาไม่แล้วในไม่ช้า ชีวิตท่านย่อมจะถูกร้อยรัดด้วยโลกียสุขของภูมิที่ท่านไปบังเกิด และความพยายามในการปฏิบัติธรรมของท่านจะเหือดหายไป

สร้างความมั่นคงในการปฏิบัติธรรม
เราลองมาดูว่า เทพบุตรองค์นี้มีความมั่นคงในธรรมปฏิบัติได้อย่างไร ก่อนเข้าไปอยู่ในป่าตามลำพัง ท่านอยู่ในความดูแลของอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นเวลา ๕ ปี ร่วมกับพระภิกษุอื่น ท่านบำรุงอาจารย์ด้วยวิธีต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง รับคำสอนในการบำเพ็ญภาวนาจากอาจารย์ และประพฤติปฏิบัติตนตามพระวินัยโดยบริบูรณ์ ในแต่ละปีท่านจะเข้าจำพรรษาเป็นเวลาสามเดือน หลังจากนั้นจะเข้าร่วมพิธีมหาปวารณา ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่พระภิกษุจะกล่าวถึงความผิด และตักเตือนซึ่งกันและกันด้วยความเมตตากรุณา เพื่อให้เพื่อนภิกษุได้แก้ไขข้อบกพร่องของตน
ความเป็นมาของเทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุองค์นี้เป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับโยคีทุกคน กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจวิธีการรักษาศีลอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งสามารถรักษากายกรรมและวจีกรรมให้บริสุทธิ์หมดจดได้เป็นปกติในชีวิต นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติพึงมีความรับผิดชอบต่อกันและกัน เพราะเราอาศัยอยู่ในโลกนี้ร่วมกัน เราพึงเรียนรู้การปฏิสันถารด้วยวิธีที่เกื้อกูลและเมตตาต่อกัน สำหรับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรายังต้องพึ่งพาวิปัสสนาจารย์ที่เชื่อถือได้ และมีความสามารถ จนกว่าเราจะชำนาญและผ่านวิปัสสนาญาณทุกขั้นแล้ว

การแยกแยะแก่นออกจากเปลือก
พระภิกษุรูปนี้มีคุณธรรมอันเลิศ ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุสัจจธรรม สำหรับท่าน ไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่าการปฏิบัติธรรม ท่านพยายามแยกแยะสาระแก่นสารออกจากเปลือกด้วยความระมัดระวังอย่างสูง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยใช้เวลาในการเจริญสติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เป็นการดีหากผู้ปฏิบัติจะจำกัดของเขตความรับผิดชอบของตน เพื่อจะได้มีเวลาในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น หากทำไม่ได้ ขอให้นึกถึงเรื่องของแม่โค เป็นที่ทราบกันว่า โคนั้นจะเคี้ยวเอื้องตลอดเวลา และง่วนอยู่กับการกินหญ้าทั้งวัน เมื่อแม่โคมีลูกอ่อนวิ่งวุ่นซุกซน หากแม่โคยังเอาแต่เล็มหญ้ากินโดยไม่คิดถึงลูก ลูกวัวก็คงจะวิ่งเตลิดไปจนเป็นปัญหา แต่หากว่าแม่โคเพิกเฉยต่อความต้องการของตนเอง และเฝ้าดูลูกอย่างเดียว แม่โคก็ต้องเล็มหญ้ากินทั้งคืน โยคีผู้ปฏิบัติมีภาระหน้าที่อื่นต้องปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน ก็ควรเลียนแบบแม่โค ทำงานของตนไป แต่ก็ไม่ละทิ้งการปฏิบัติธรรม พยายามไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปไกลเกินไปนัก


มีต่อค่ะ... :http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=757.0

ฐิตา:



   เราทราบกันแล้วว่า พระภิกษุรูปนี้ขยันขันแข็ง และมีความเพียรอย่างแรงกล้า ช่วงเวลาที่ท่านตื่น ท่านพยายามเจริญสติอย่างดีที่สุดอันเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติพึงกระทำ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์นอนหลับได้ ๔ ชั่วโมง ในช่วงมัชฌิมยาม แต่พระภิกษุรูปนี้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติ ท่านจึงละทิ้งที่นอน และไม่ยอมแม้กระทั่งคิดถึงการนอน ยิ่งไปกว่านั้น ท่านแทบจะไม่ฉันอะไรเลย ท่านพอใจอยู่กับการทำความเพียรอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

   อาตมามิได้แนะนำให้ผู้ปฏิบัติอดอาหารและอดนอน อาตมาเพียงประสงค์ให้ผู้ปฏิบัติชื่นชมความมุ่งมั่นของเทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุองค์นี้ ในระหว่างการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติควรนอนให้เพียงพอตามพุทธดำรัส คือ ๔ ชั่วโมงหากทำได้ ในชีวิตปกติอาจจำเป็นต้องนอนมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ควรนอนมากเกินไปเสียจนทำให้เซื่องซึม สำหรับการรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติควรรับประทานตามความพอใจเพื่อให้มีกำลังเพียงพอสำหรับปฏิบัติภารกิจประจำวันและการปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่มากเกินไปจนรู้สึกท้องอืด และง่วงนอน เรื่องของพระภิกษุท่านนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย อย่างน้อยให้ได้รับธาตุอาหารเพียงพอ

   บุคคลที่เสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือในระหว่างการเทศนาธรรม สามารถเทียบได้กับวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่เสียชีวิตในสงคราม พระภิกษุองค์นี้กำลังเดินจงกรมอยู่ ขณะที่ถูกคมดาบของธาตุลมประหาร เมื่อตื่นขึ้นท่านอยู่บนสวรรค์ ผู้ปฏิบัติทุกคนก็จะเป็นเช่นเดียวกัน หากเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติธรรม แม้จะยังมิได้บรรลุธรรมก็ตาม
   แม้ในภพภูมิที่ดี ก็ยังอาจมีบุคคลที่ปรารถนาหนทางที่จะหลีกเร้นไปสู่อิสรภาพและความปลอดภัยที่สมบูรณ์ เมื่อท่านได้ไปปฏิสนธิในเทวภูมิ เทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุเกรงว่าตัณหาของท่านจะกลับกำเริบขึ้น หากท่านย่างกรายเข้าไปในวิมานแม้เพียงก้าวเดียว ท่านรู้ว่าศีลวัตรของท่านอาจเสื่อมคลายลง การบรรลุธรรมยังคงเป็นเป้าหมายสูงสุด และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ท่านจำต้องรักษาความบริสุทธิ์ไว้ให้ครบถ้วน ท่านจึงหลีกหลบลงมายังวัดพระเชตวัน และกราบทูลถามคำถามต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า

   พุทธโอวาทชั้นสูง
   คำตอบของพระพุทธองค์นั้น รวบรัดผิดธรรมดา ปรกติแล้วพระองค์จะทรงสั่งสอนเป็นลำดับชั้น เริ่มด้วยการอบรมศีล แล้วจึงทรงแสดงเรื่องความเห็นถูกในเรื่องของกรรมและสมาธิ ก่อนที่จะทรงแสดงเรื่องการเจริญวิปัสสนา ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกตัวอย่างอาจารย์สอนศิลปะเพื่ออธิบายลำดับขั้นการสอนนี้ เมื่อมีผู้ที่อยากวาดภาพมาขอศึกษาเล่าเรียนด้วย อาจารย์ก็มิได้ยื่นพู่กันให้ทันที บทเรียนบทแรกคือสอนการขึงผ้าใบ เช่นเดียวกับการที่ศิลปินไม่อาจวาดภาพบนอากาศได้ฉันใด ย่อมเป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะเริ่มการเจริญวิปัสสนาโดยไม่มีพื้นฐานของศีลและความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม หากปราศจากสองสิ่งนี้แล้ว ก็ไม่มีพื้นฐาน (เหมือนผ้าใบ) ที่จะรองรับสมาธิและปัญญา ในสถานปฏิบัติธรรมบางแห่ง การอบรมศีลและกฎแห่งกรรมถูกละเลย หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่อาจหวังผลจากการเจริญภาวนาได้มากนัก

  นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงปรับคำสอนให้เหมาะสมกับภูมิหลังหรือจริตนิสัยของผู้ฟังด้วย พระองค์ทรงเห็นว่าเทพบุตรองค์นี้เคยเป็นพระภิกษุ และเคยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างแก่กล้ามาแล้ว ทั้งยังมิได้ทำศีลของท่านให้ขาดลงขณะที่มาบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
   ในภาษาบาลีมีคำว่า การะกะ หมายถึงบุคคลที่ซื่อตรงต่อหน้าที่และขยันขันแข็ง เทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุองค์นี้เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น ท่านมิได้เป็นโยคีแต่เพียงในนามเท่านั้น อีกทั้งมิใช่นักปรัชญาหรือคนช่างฝันที่ลุ่มหลงอยู่แต่ในความคิดและจินตนาการ อีกทั้งมิใช่คนเอื่อยเฉื่อยที่เพ่งมองทุกสิ่งทุกอย่างไร้ความหมาย ในทางตรมข้าม ท่านเป็นผู้มีความอาจหาญและจริงใจในการปฏิบัติธรรม เทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุรูปนี้เดินตามธรรมวิถีด้วยความมุ่งมั่น ความศรัทธา และความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งในการปฏิบัติ เกื้อหนุนให้ท่านสามารถบำเพ็ญเพียรอย่างต่อเนื่อง ท่านพยายามน้อมนำคำสอนที่ได้รับฟังมาปฏิบัติทุก ๆ ขณะ เราอาจเรียกว่าท่านว่า นักปฏิบัติธรรมผู้ช่ำชองก็ได้

   ทางสายตรงสู่การหลุดพ้น
   พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุผู้มุ่งมั่นนี้ด้วยคำสอนชั้นสูงสำหรับผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรม “มรรคาที่ท่านดำเนินอยู่นี้ถูกต้องแล้ว และย่อมนำท่านไปสู่สถานที่ปลอดจากภัยเป็นอิสระจากความกลัวใด ๆ อันเป็นจุดมุ่งหมายของท่าน” มรรคาที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง เทพบุตรองค์นี้ได้ดำเนินมาตามหนทางนี้อยู่แล้ว และพระพุทธองค์ได้ตรัสรับรองให้ท่านเดินต่อไป พระองค์ทรงตระหนักดีว่า เทพบุตรองค์นี้ประสงค์จะบรรลุอรหัตถผลในชาตินี้ จึงทรงชี้ทางสายตรงให้ นั่นคือทางสายวิปัสสนา
   อริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางตรงโดยแท้ ไม่มีทางแยก ไม่คดโค้งหรือคดเคี้ยว แต่มุ่งตรงไปสู่พระนิพพาน

   อกุศลกรรมบถ ๑๐
   เราอาจทำความเข้าใจลักษณะของกุศลได้ดีขึ้น โดยการศึกษาจากสิ่งที่ตรงข้ามกัน คืออกุศล ท่านกล่าวว่า อกุศลกรรมหรือความประพฤติทุจริต มีอยู่ ๑๐ ประการ บุคคลที่ประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งทางกาย วาจา และใจ บัณฑิตมองว่าเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์ คดโกง ขาดคุณธรรม
   กายทุจริตมีอยู่สามประการ ประการที่หนึ่ง เกิดจากความรู้สึกเกลียดชังและก้าวร้าว หากบุคคลขาดเมตตาและกรุณา ความรักและความเห็นอกเห็นใจแล้ว เขาก็อาจยอมแพ้แก่ความรู้สึกเช่นนี้ และแสดงออกมาทางกายกรรม บางคนอาจฆ่า ทำร้าย หรือกดขี่ผู้อื่น ประการที่สอง กายทุจริตอาจเกิดจากความโลภ ซึ่งหากไม่ควบคุมแล้ว ก็อาจนำไปสู่การลักขโมย หรือการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น ประการที่สาม การประพฤติผิดในกามก็เป็นกายทุจริต บุคคลที่ถูกครอบงำด้วยความใคร่ปรารถนาที่จะสนองตัณหาของตน ก็อาจประพฤติผิดในกามโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น


ฐิตา:



   วจีทุจริตมีสี่ประการ คือ หนึ่ง การพูดปด สอง การพูดยุยงส่อเสียด ก่อให้เกิดความแตกแยก สาม การพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น พูดคำหยาบคาย ด่าทอ ลามก และ สี่ การพูดตลกคะนอง (เพ้อเจ้อ)

   มโนทุจริต มีสามประการ คือ หนึ่ง การคิดประทุษร้าย สอง การเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น สาม ความเห็นผิดเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม ปฏิเสธกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อว่าการทำดีทำชั่วย่อมให้ผล เหล่านี้นับได้ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิในทางพุทธศาสนา ความคิดเป็นพฤติกรรมประเภทหนึ่ง ความคิดเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นสาเหตุของการกระทำ การไม่เชื่อกฎแห่งกรรมสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ สร้างเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น
   ยังมีมโนกรรมอื่น ๆ อีกที่เป็นอกุศล แต่มิได้รวมอยู่ในอกุศลกรรมบถข้างต้น เช่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน และกิเลสในลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย บุคคลที่ถูกอำนาจเหล่านี้ครอบงำ นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีใจทุจริต

   อันตรายจากการเดินบนหนทางที่เป็นอกุศล
   บุคคลที่ยังถูกครอบงำด้วยพฤติกรรมอันเป็นทุจริตทั้งภายในและภายนอกดังกล่าว นับได้ว่ากำลังเดินบนหนทางที่เป็นอกุศล เขาไม่มีหวังที่จะบรรลุสถานที่ที่ปลอดจากภัยได้ และต้องเผชิญกับอันตรายต่าง ๆ ตลอดเวลา

   อันตรายประการหนึ่ง คือ ความรู้สึกลงโทษตัวเอง เสียใจและเศร้าใจที่ได้กระทำผิดในอดีต บุคคลอาจหาข้อแก้ตัวในอกุศลที่ได้กระทำ ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ บางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นอกุศล แต่หลังจากนั้น การระลึกถึงอดีตทำให้รู้สึกเสียใจ บางคนนึกตำหนิตนเอง “นั่นเป็นการการกระทำที่โง่มากเลย” ความเสียใจในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก และเป็นความรู้สึกที่ไม่มีใครอื่นมาทำเรา การเดินตามหนทางที่เป็นอกุศลนี้เป็นการสร้างทุกข์ให้แก่ตนเอง และให้ผลลัพธ์ที่น่ากลัวเสมอ แต่ยิ่งน่าสะพรึงกลัวโดยเฉพาะในวาระที่ใกล้ตาย ในช่วงนั้นจะเกิดกระแสจิตแห่งสำนึกที่ไม่อาจควบคุมได้ ประมวลภาพชีวิตและการกระทำของแต่ละคนจะเกิดขึ้นเป็นฉาก ๆ หากบุคคลสั่งสมแต่คุณธรรมและความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น จิตใจก็จะเปี่ยมด้วยความอบอุ่นและความสงบ สามารถที่จะตายอย่างสงบ แต่หากบุคคลมิได้ระวังรักษาศีล ความเศร้าและเสียใจก็จะครอบงำจิต เขาอาจคิดว่า “ชีวิตช่างสั้นเสียนี่กระไร ฉันเสียเวลาไปเปล่า ฉันพลาดโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตในระดับที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะเป็น” เมื่อถึงตอนนั้นก็สายเสียแล้วที่จะแก้ไข เขาจะตายด้วยความทุกข์ทรมาน บางคนทุกข์ทรมานมาก ถึงขนาดที่ต้องร่ำไห้ออกมา

   การลงโทษตนเองมิใช่อันตรายเพียงอย่างเดียวของผู้เดินบนทางที่เป็นอกุศล บุคคลผู้นั้นยังต้องรับคำตำหนิติฉินจากบัณฑิต คนดีย่อมไม่ปรารถนาเป็นมิตรหรือยกย่องผู้ที่ไว้ใจไม่ได้ หรือบุคคลที่ชอบความรุนแรง คนที่ไร้คุณธรรมจะกลายเป็นที่รังเกียจในสังคม ไม่อาจอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
   บนเส้นทางที่เป็นอกุศล บุคคลอาจพบว่าเขาต้องต่อสู้กับกฎหมายบ้านเมือง หากทำผิด กฎหมายก็จะตามรังควาน ตำรวจจะตามจับแล้วจะต้องถูกบังคับทำให้เสียค่าปรับ หรือติดคุก หรือบางทีอาจถูกตัดสินประหารชีวิต ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของความผิด โลกปัจจุบันนี้ก็เต็มไปด้วยความรุนแรงอยู่แล้ว คนจำนวนมากทำผิดกฎหมายด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง พวกเขาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความลึกแห่งห้วงอกุศลกรรมที่บุคคลอาจจมลงไปได้นั้นไม่มีประมาณ เราอาจได้เห็นข่าวพฤติกรรมอันรุนแรงเกี่ยวกับการฆาตกรรมต่าง ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตามจับฆาตกรได้ บุคคลนั้นอาจต้องชดใช้ด้วยชีวิต ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้เดินบนหนทางที่เป็นอกุศลย่อมต้องเสี่ยงกับอันตรายจากการถูกลงโทษ

   แน่นอนว่าคนที่ฉลาดอาจหนีรอดไปได้ หรืออาจทำผิดโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เขาอาจหลีกเลี่ยงการลงโทษโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ แต่เขาไม่มีทางเลือกหนีการลงโทษตนเองได้เลยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ความที่รู้อยู่แก่ใจว่าตนได้กระทำผิดไปนี้เป็นสิ่งเจ็บปวดมาก เราย่อมเป็นพยานให้แก่ตัวเองได้ดีที่สุด เราไม่อาจหนีตนเองได้ และยังไม่อาจหลีกหนีจากอบายภูมิ เช่น สัตว์เดรัจฉาน นรก หรือเปรตได้ ครั้นเมื่อบุคคลได้กระทำผิด กรรมจะตามให้ผล หากไม่ให้ผลในชาตินี้ก็จะติดตามไปในอนาคต หนทางที่เป็นอกุศลย่อมนำไปสู่ภยันตรายต่าง ๆ เหล่านี้


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version