ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยพระพุทธวจนะ เนื่องด้วยอานาปานสติ-พุทธทาสภิกขุ  (อ่าน 2270 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

อานาปานสติภาวนา ฉบับสมบูรณ์
โดย พุทธทาสภิกขุ
ภาคนำ - http://sites.google.com/site/smartdhamma/home_anapanasati_buddhadhasa

ภาคผนวก
ตอน ยี่สิบสาม
ผนวก ๓ - ว่าด้วยพระพุทธวจนะ เนื่องด้วยอานาปานสติ

   ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงบาลีพระพุทธภาษิตโดยตรง ที่ได้ตรัสไว้ในที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึง อานาปานสติปริยายใดปริยายหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น ประมวลมาไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อความสะดวกแก่การศึกษาจากพระพุทธภาษิตนั้น ๆ โดยตรง เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นจากข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเชื่อ ความพอใจ และความพากเพียรในการปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังต่อไปนี้ :-

   (ก) เกี่ยวกับอานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติ นั้น มีพระพุทธภาษิตในเอกธัมมวัคค์ อานาปานสังยุตต์ สังยุตตนิกาย (๑๙ / ๓๙๗ / ๑๓๑๔) ว่า :

   “ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่.
   “ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า ? จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.
   “ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น.
ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า, มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจออก ;
ภิกษุนั้น - - - -

   (๑) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้ายาว ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกยาว ดังนี้.
   (๒) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้าสั้น ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกสั้น ดังนี้.
   (๓) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวงจักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
จักหายใจออก ดังนี้.
   (๔) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่จักหายใจออก ดังนี้.
(จบจตุกกะที่ ๑)

   (๕) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจออกดังนี้.
  (๖) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออกดังนี้.
   (๗) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก ดังนี้.
   (๘) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้จิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้จิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้.
(จบจตุกกะที่ ๒)

  (๙) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจออก ดังนี้.
   (๑๐) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจออก ดังนี้.
  (๑๑) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจออก ดังนี้.
   (๑๒) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจออกดังนี้.
(จบจตุกกะที่ ๓)

  (๑๓) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
   (๑๔) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
   (๑๕) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
   (๑๖) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
(จบจตุกกะที่ ๔)

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่.
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอยู่ผลอานิสงส์ ๗ ประการ ย่อมเป็นสิ่งที่หวังได้. ผลอานิสงส์ ๗ ประการเป็นอย่างไรเล่า ? ผลอานิสงส์ ๗ ประการ คือ :-

   ๑. การบรรลุ อรหัตตผลทันที ในทิฏฐิธรรมนี้.
   ๒. ถ้าไม่เช่นนั้น ย่อมบรรลุอรหัตตผล ในกาลแห่งมรณะ.
   ๓. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอันตราปรินิพพายี.
   ๔. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอุปหัจจปรินิพพายี.
   ๕. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอสังขารปรินิพพายี.
   ๖. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายี.
   ๗. ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ ย่อมเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี.


   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ผลอานิสงส์ ๗ ประการ ย่อมหวังได้ ดังนี้.
นี้เป็นการแสดงผลของการเจริญ อานาปานสติ ที่ระบุไปยังตัวผล คืออรหัตตผล และ อนาคามิผล.

   (ข) เกี่ยวกับอานิสงส์พิเศษออกไป ซึ่งเป็นอัจฉริยธรรม และเป็นการแสดงถึงผลพิเศษ ที่เป็นความสงบสุขอยู่ในตัว มีตรัสไว้ในสังยุตต์เดียวกัน (๑๙ / ๓๙๙ / ๑๓๒๑) มีใจความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัปปินะ ผู้มีกายไม่โยกโคลง แล้วได้ตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า :

   “ภิกษุ ท. ! พวกเธอเห็นความหวั่นไหว หรือความโยกโคลงแห่งกายของมหากัปปินะบ้างหรือไม่ ?”
   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เวลาใดที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั่งในที่ท่ามกลางสงฆ์ก็ดี นั่งในที่ลับคนเดียวก็ดี ในเวลานั้น ๆ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ได้เห็นความหวั่นไหว หรือความโยกโคลงแห่งกายของท่านผู้มีอายุรูปนั้นเลย พระเจ้าข้า”
   “ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิใด ; ภิกษุมหากัปปินะนั้น เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งสมาธินั้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิเหล่าไหนเล่า ?
   ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม ย่อมมีไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ.
   ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม จึงไม่มี ?
   ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม . . . . ฯลฯ . . . . (ตรัสอานาปานสติอันมีวัตถุ ๑๖ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นในข้อ ก.) . . . . เห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
   ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้แลความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม ย่อมมีไม่ได้ ดังนี้.

   ข้อนี้เป็นการแสดงอานิสงส์พิเศษคือผู้ที่ทำอานาปานสติโดยสมบูรณ์ ย่อมมีจิตมั่นคงซึ่งเป็นเหตุให้กายมั่นคง ดำรงอยู่ได้นิ่ง ๆ แม้เหมือนสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งที่มีได้จากการเจริญอานาปานสติโดยตรงแต่อย่างเดียว.

   (ค) เกี่ยวกับพระองค์เอง ทรงได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากอานาปานสติ แล้วทรงแนะให้ภิกษุทั้งหลายสนใจในอานาปานสติ โดยแสดงประโยชน์แห่อานาปานสตินี้ โดยนัยต่าง ๆ กัน นับตั้งแต่ประโยชน์ทั่วไปและประโยชน์สูงขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล ปรากฏอยู่ในเอกธัมมวัคค์ อานาปานสังยุตต์ มหาวาร. สํ (๑๙ / ๔๐๐ / ๑๓๒๘) ดังต่อไปนี้ :-
   ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น.
ภิกษุนั้น มีสติอยู่นั่นเทียวหายใจเข้า มีสติอยู่นั่นเทียวหายใจออก.

   (๑) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้ายาว ดังนี้ ; . . . .ฯลฯ . . . . (เหมือนในข้อ ก. ทุกประการ)
   (๑๖) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.

   ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แลย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่.
   ภิกษุ ท. ! แม้เราเอง เมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนกาลตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก.
   ภิกษุ ท. ! เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสตินี่แหละอันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า การปฏิบัติอานาปานสติไม่ทำร่างกายให้ลำบากเหมือนกัมมัฏฐานอื่นบางอย่าง อย่างไม่มีความรบกวนทางตา ไม่ต้องใช้สายตาเหมือนการเพ่งกสิณ เป็นต้น ;แล้วยังสามารถทำจิตให้หลุดพ้นได้ด้วย.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “ความระลึกและความดำริ อันอาศัยเรือนเหล่าใดของเรามีอยู่ ความระลึกและความดำริเหล่านั้นพึงสิ้นไป” ดังนี้แล้วไซร้ ;อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติป้องกันการดำริ ที่น้อมไปในทางกาม มีแต่ที่จะให้น้อมไปในทางเนกขัมมะ ดังที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในขั้นที่ ๕ และขั้นที่ ๑๐.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า การเจริญอานาปานสติช่วยให้พิจารณาเห็นสังขารที่ไม่เป็นปฏิกูลโดยสีและกลิ่นเป็นต้น แต่มีความเป็นปฏิกูลโดยความเป็นมายา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ ดังนี้เป็นต้น.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการปฏิกูลนั้น ที่แท้ไม่ใช่ปฏิกูลเพราะกลิ่นและสีน่าเกลียด หากแต่ว่าเป็นปฏิกูลตรงที่เป็นมายา และทำให้เกิดทุกข์ ฉะนั้น สิ่งที่มีสีและกลิ่นอันน่าเกลียด ถ้ามิได้เป็นเหตุให้เกิดกิเลสหรือเกิดทุกข์แล้ว ก็หาใช่สิ่งที่ปฏิกูลไม่.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า สติและญาณ ในอานาปานสติสามารถทำให้เห็นความน่าขยะแขยง เพราะทำให้เกิดความทนทุกข์ทรมาน ว่ามีอยู่ทั้งในสิ่งที่ตามธรรมดาถือกันว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่ควรถือว่าเป็นตัวตนหรือของตน ทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า สติและญาณในอานาปานสติขั้นสูง ที่สามารถทำให้เห็นสุญญตาย่อมสามารถทำให้วางเฉยได้ทั้งในสิ่งที่ปฏิกูล และสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่โดยเสมอกัน.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้เว้นขาดจากความรู้สึกว่าปฏิกูล และความรู้สึกว่าไม่เป็นปฏิกูลทั้ง ๒ อย่างเสียโดยเด็ดขาดแล้ว เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า ในขั้นที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และอยู่ด้วยอุเบกขาจริง ๆ นั้นย่อมไม่มีความรู้สึกว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้ง ๒ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลของอานาปานสติชั้นสูง กล่าวคือจตุกกะที่ ๔ ที่ทำให้เห็นความว่างจากตัวตน หรือว่างจากความหมายอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ โดยประการทั้งปวงจริง ๆ แล้ว.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอันมีวิตกวิจารมีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินั่นแหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติ สามารถช่วยให้เกิดปฐมฌานได้สมตามความปรารถนามีรายละเอียดดังกล่าวแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๔.)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะวิตกวิจารระงับไป เราถึงพึงเข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งจิตในภายใน เพราะธรรมอันเอก คือสมาธิผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติ สามารถอำนวยให้เกิดทุติยฌานได้ตามความปรารถนา มีรายละเอียดแห่งการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๔.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เราพึงเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกายชนิดที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข เข้าถึงตติฌานแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติ สามารถอำ นวยให้เกิดตติยฌานได้ตามความปรารถนา มีรายละเอียดแห่งการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๔.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เราพึงเข้าใจถึงจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความบริสุทธิ์แห่งสติและอุเบกขา แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติ สามารถอำนวยให้เกิดจตุตถฌานได้ตามความปรารถนา มีรายละเอียดแห่งการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๔.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลายเพราะการไม่กระทำในใจ ซึ่งอัตตสัญญามีประการต่าง ๆ เราพึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ว่าอากาศไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติ สามารถอำนวยให้เกิดอากาสานัญจายตนะได้โดยเมื่อทำอรูปฌานให้เกิดขึ้นแล้ว กำหนดนิมิตคือลมหายใจโดยประจักษ์แล้ว ทำการเพิกถอนลมหายใจออกไปเสียจากนิมิตเหลือความว่างอยู่แทน และความว่างนั้น ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์อรูปฌานขั้นที่หนึ่งในที่นี้ แม้ทำอย่างนี้ ก็กล่าวได้ว่าอากาสานัญจายตนะนั้น สืบเนื่องมาจากอานาปานสติโดยตรง. ถ้าจำเป็นจะต้องสงเคราะห์อรูปฌานเข้าในอานาปานสติอันมีวัตถุ ๑๖ แล้วพึงสงเคราะห์เข้าในอานาปานสติขั้นที่ ๔ คือการทำกายสังขารให้รำงับ. เท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่มีการกล่าวถึงอรูปฌาน ก็เพราะไม่เป็นที่มุ่งหมายโดยตรงของการทำอานาปานสติที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะโดยเฉพาะ.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงเสียแล้ว พึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละอันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า ต้องมีการทำอากาสานัญจายตนะ ดังที่กล่าวแล้วในข้อบนให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงเสียก่อน แล้วจึงเพิกถอนการกำหนดอากาศมากำหนดวิญญาณแทน หมายถึงวิญญาณธาตุที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งจัดเป็นนามธาตุหรือนามธรรม เนื่องจากทำสืบต่อมาจากอานาปานสติ จึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะว่าไม่มีอะไรแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า เมื่อทำวิญญาณัญจายตนะให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว เพิกถอนการกำหนดอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุดเสีย มากำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์. เนื่องจากมีอานาปานสติเป็นมูล จึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า ได้มีการทำอากิญจัญญายตนะให้เกิดขึ้นแล้วอย่างมั่นคง แล้วเพิกถอนการกำหนดความไม่มีอะไร เป็นอารมณ์นั้นเสีย หน่วงเอาความรำงับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปคือความไม่ทำความรู้สึกอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สลบหรือตาย จึงเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะซึ่งหมายความว่า จะว่ามีสัญญาอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีสัญญาเลยก็ไม่ใช่. เพราะมีอานาปานสติเป็นมูลในขั้นต้นด้วยกันทั้ง ๔ ขั้น จึงเรียกว่าสำเร็จมาแต่อานาปานสติ อีกอย่างหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าในขณะแห่งรูปฌานแม้ไม่มีการหายใจอยู่โดยตรง ก็ต้องถือว่า มีการหายใจอยู่โดยอ้อมคือไม่รู้สึก ฉะนั้นเป็นอันกล่าวสืบไปว่า เพราะมีความชำนาญ หรือมีความเคยชินในการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออกมาแล้วแต่ในขั้นก่อน ในขั้นนี้ ย่อมมีการกำหนดอารมณ์แห่งอรูปฌานและความสงบอันเกิดจากอรูปฌานตลอดถึงการพิจารณาหรือปัจจเวกขณ์ ในอาการทั้งหลายแห่งอรูปฌานอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ทั้งโดยมีความรู้สึกตัวและไม่มีความรู้สึกตัว คือทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอีกนั่นเอง.)

   ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราก้าวล่วงซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้หมายความว่า มีการทำ เนวสัญญานาสัญญายตนะให้เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงแล้วละความรู้สึกที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นเสีย น้อมจิตไปสู่ความรำงับ ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือการดับสัญญาและเวทนาเสียด้วยการทำไม่ให้เจตสิกชื่อสัญญาและเจตสิกชื่อเวทนาได้ทำหน้าที่ของตนตามปรกติแต่ประการใดเลย. ความรู้สึกที่เป็นสัญญาและเวทนาตามปรกติธรรมดาจึงไม่ปรากฏ เรียกว่าเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ คือความดับไปแห่งสัญญาและเวทนา ตลอดเวลาเหล่านั้น ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า เข้าสู่นิโรธสมาบัติ หรือเรียกสั้นจนถึงกับว่าเข้านิโรธเฉย ๆ. การกระทำอันนี้ตั้งต้นขึ้นด้วยอานาปานสติสมาธิ ดังนั้นจึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

   ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงว่า อานาปานสติภาวนานั้น นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับปฏิบัติเพื่อทำอาสวะให้สิ้นโดยตรงแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการปฏิบัติที่ดำเนินไปในฝ่ายจิต หรือฝ่ายสมถะโดยส่วนเดียวจนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ด้วยอาการอย่างนี้ และพร้อมกันนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าเป็นไปในทางไหน แต่เป็นประโยชน์ทั่วไป สำหรับการปฏิบัติทุกแนวก็คือ การอยู่ด้วยอานาปานสตินั้นไม่ลำบากกาย และไม่ลำบากตาซึ่งนับว่าเป็นการพักผ่อนอยู่ในตัวเองเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว นับว่าเป็นอานิสงส์พิเศษส่วนหนึ่งของอานาปานสติ.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   () เกี่ยวกับอานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของอานาปานสตินั้น ทรงแสดงไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือ สำหรับให้รู้เท่าทันเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้จักสังเกตความผันแปรของเวทนาชนิดต่าง ๆ จนกระทั่งสามารถทราบได้ว่า เวทนานี้จักเป็นเวทนาอันมีในที่สุดแห่งชีวิตหรือไม่ พุทธภาษิตมีอยู่ใน มหาวาร.สํ. อย่างเดียวกัน (๑๙ / ๔๐๔ / ๑๓๔๖) ดังต่อไปนี้ :-

   ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอยู่อย่างนี้ ; ถ้าภิกษุเสวยเวทนาอันเป็นสุข เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้.

   ถ้าภิกษุนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้.

   ถ้าภิกษุเสวยเวทนาอันเป็นอทุกขมสุข เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้.

   ภิกษุนั้น ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นสุข ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น ; ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น ; ถ้าภิกษุเสวยเวทนาอันเป็นอทุกขมสุข ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น.

   ภิกษุนั้น เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย เธอย่อมรู้ตัวว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย ดังนี้.

   เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต เธอย่อมรู้ตัวว่าเราเสวยเวทนา อันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต ดังนี้ ; จนกระทั่งการทำลายแห่งกาย ในที่สุดแห่งการถือเอารอบซึ่งชีวิต เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนาทั้งปวง อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว จักเป็นของดับเย็นในที่นี้นั่นเทียวดังนี้.

   ภิกษุ ท. ! ประทีปน้ำมันลุกอยู่ได้เพราะอาศัยน้ำมันด้วย เพราะอาศัยไส้ด้วย เมื่อหมดน้ำมันหมดไส้ ก็เป็นประทีปที่หมดเชื้อดับไป, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุนั้น ก็ฉันนั้น กล่าวคือเมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย ย่อมรู้ตัวว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย ; เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต ย่อมรู้ตัวว่าเราเสวยเวทนา อันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต ; จนกระทั่งการทำลายแห่งกาย ในที่สุดแห่งการถือเอารอบซึ่งชีวิต เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว จักเป็นของดับเย็นในที่นี้นั่นเทียว” ดังนี้.

   อธิบายว่า การเจริญอานาปานสตินั้น ทำให้เกิดความเคยชินในการกำหนดเวทนาอยู่เป็นประจำ มาตลอดเวลาแห่งการฝึกเป็นระยะยาว จนรู้เท่าทันเวทนามาก่อนแล้ว ; มีเวทนาชนิดไหนแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์เพียงไรผ่านเข้ามา ก็สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันเวทนานั้นว่า เป็นสักแต่ว่าเวทนาที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงไม่จับฉวยเอาเวทนานั้น ไม่ติดใจพัวพันมัวเมาอยู่ในเวทนานั้น เพราะอำนาจของการที่เคยฝึกอานาปานสติมาแล้วอย่างชำนาญโดยเฉพาะคืออานาปานสติขั้นที่ ๕ ; จนกระทั่งกล่าวได้ว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจเหนือเวทนาทั้งปวง.


   ส่วนข้อที่ว่า “เป็นผู้รู้เท่าทันเวทนา ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแห่งชีวิต” นั้นหมายความว่าเนื่องจากมีความชำนาญเชี่ยวชาญในลักษณะต่าง ๆ ของเวทนาทุกชนิดทำให้ทราบได้ว่าเวทนาที่กำลังเกิดนี้ เป็นเวทนาที่ทำความสิ้นสุดแก่ชีวิต. และยิ่งไปกว่านั้นอีก ยังสามารถทำ ให้ทราบได้ว่า เวทนานั้นจักดำเนินไปอีกกี่ชั่วระยะลมหายใจเข้า – ออก จึงจะทำความสิ้นสุดแก่ชีวิต. ข้อนี้เป็นเหตุให้ผู้นั้นมีความสามารถทำการกำหนดได้ว่า ตนจักดับจริมกจิตหรือทำการหายใจครั้งสุดท้ายในการหายใจครั้งไหน กล่าวโดยโวหารธรรมดา ก็คือว่า ตนจักสิ้นชีวิตในการหายใจครั้งไหนนั่นเอง ดังที่มีตัวอย่างกล่าวไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้นว่า พระเถระผู้เชี่ยวชาญในอานาปานสติรูปหนึ่ง เมื่อทราบเวลาอันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต ว่าจักมีในการหายใจครั้งไหนแล้ว ก็ออกไปสู่ลานเป็นที่จงกรมเรียกประชุมสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกมาพร้อมกันในขณะนั้น แล้วสั่งให้คอยดูว่าเมื่อท่านเดินจงกรม ไปถึงที่สุดแห่งที่จงกรมข้างโน้น แล้วเดินกลับมาจนถึงที่สุดแห่งที่จงกรมข้างนี้ แล้วจักเดินกลับมา จนกระทั่งถึงที่กึ่งกลางของที่จงกรมนั้นแล้วจักทำ กาละ ณที่นั้น พระเถระนั้นได้ปรินิพพานแล้วด้วยกิริยายืน แห่งก้าวสุดท้ายของการเดิน ที่ตรงกึ่งกลางของที่จงกรมนั้น ในมือของสัทธิวิหาริกผู้ประคับประคองอยู่ ด้วยอิริยาบถยืนด้วยกันทุกรูป ข้อนี้เป็นการแสดงถึงความเชี่ยวชาญในอานาปานสติ และความมีอำนาจเหนือเวทนาทั้งหลายของพระเถระนั้นด้วย เป็นการแสดงอานิสงส์ของอานาปานสติข้อนี้ด้วย เป็นการประกาศพระศาสนาด้วยความเป็นธรรมะดี แห่งพระธรรมด้วย.

   ส่วนพระบาลีที่ว่า “เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนาทั้งปวง อันเราไม่เพลินเฉพาะแล้วจักเป็นของดับเย็นในที่นี้นั่นเทียว” ดังนี้นั้น อธิบายว่า เป็นอำนาจของการพิจารณาโดยความเป็นของไม่ใช่ตน จึงไม่ได้มีตัวตนเหลืออยู่ เป็นผู้ที่แตกดับในขณะนี้. ในขณะนี้มีเหลืออยู่แต่เวทนาเท่านั้น ซึ่งจักเป็นของดับลงไป ; กล่าวสั้น ๆ ก็คือไม่มีใครตาย มีแต่เวทนาดับ. ส่วนโวหารที่ว่า “จักเป็นของดับเย็น” นั้น หมายความว่า เวทนาที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง ยังเป็นของร้อน เวทนาที่หมดปัจจัยปรุงแต่ง จักเป็นของดับเย็น เหมือนไฟที่หมดเชื้อดับลง ฉะนั้น โวหารที่ว่าเวทนาร้อนดับเย็นลงนี้ ก็เป็นโวหารที่แสดงความไม่มีตัวไม่ใช่ตัวตน ยิ่งขึ้นไปอีก. สำหรับคำว่า “ในที่นี้นั่นเทียว” นั้น หมายถึงรู้ขณะจิตที่เวทนานั้นจะดับลง ว่าจักมีในที่นี้ ว่าจักมีในเวลานี้ ซึ่งหมายถึงในขณะแห่งการหายใจครั้งไหนโดยเฉพาะ และจะมีด้วยอาการอย่างไร คือด้วยอาการที่สงบรำงับอย่างไร. เพราะทราบอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร โดยแน่นอน และประจักษ์จริง ๆ จึงใช้คำว่า “นั่นเทียว”. ข้อนี้เป็นการแสดงถึงความเชี่ยวชาญในการเจริญอานาปานสติ จนรู้เท่าทันเวทนา จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจอยู่เหนือเวทนา โดยประการทั้งปวงนั่นเอง.

   (ง.) อานิสงส์แห่งอานาปานสติอีกประการหนึ่ง ทรงแสดงไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับทำจิตให้สงบเย็น เป็นความสุขเกิดแต่ธรรม จนเป็นที่พอใจหรือเป็นที่จับใจแก่บุคคลผู้ปฏิบัติได้จริง ระงับเสียซึ่งความฟุ้งซ่านหรือความรำคาญในการที่มีชีวิตอยู่อย่างน่าสะอิดสะเอียน ต่อความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารทั้งปวง ที่มีอยู่รอบตัว หรือแม้ที่มีอยู่ภายในตัว ความฟุ้งซ่านหรือความรำคาญนั้น มีได้มากแก่บุคคลผู้ปฏิบัติในขั้นที่เริ่มเห็น ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ยังไม่มากพอที่จะปล่อยตัวตนเสียโดยประการทั้งปวง ความรำคาญย่อมเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องรำงับ นอกจากจะไม่มีความสงบสุขเสียเลยแล้วยังเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม ที่จะพึงข้างหน้าสืบไปด้วย หรือถึงกับทำให้เบื่อหน่ายต่อการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป เป็นเหตุให้แสวงหาโอกาส หรืออุบายที่คิดจะทำลายตัวเอง.

   มีเรื่องเล่าว่า ที่กูฎาคารศาลาป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระอสุภกถาเป็นอันมาก แล้วเสด็จหลีกออกไปสู่ปฏิสัลลีนะ คือการอยู่เงียบพระองค์เดียวเสียเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ภิกษุบางพวกอาศัยอำนาจแห่งอสุภสัญญา เกิดความเบื่อหน่ายต่อร่างกายและชีวิตอย่างแรงกล้าหาความสงบสุขมิได้ ได้แกล้งปล่อยให้เหตุการณ์หรืออันตรายต่าง ๆ ที่มาถึงเข้าโดยบังเอิญ ทำลายชีวิตตนให้สูญสิ้นไปจำนวนมาก ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่อง ได้ทรงแสดงเรื่องอานาปานสติ เพื่อระงับความฟุ้งซ่านรำคาญนั้นปรากฏอยู่ใน มหาวาร.สํ. อย่างเดียวกัน (๑๙ / ๔๐๕ / ๑๓๔๘) มีใจความว่า :-

   “ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของประณีต เป็นของรำงับ เป็นของเย็น เป็นของบริสุทธิ์ เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก อันเกิดขึ้น และเกิดขึ้นแล้วให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ.

   ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อนฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา ย่อมทำ ฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด ; “ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิอันบุคคลเจริญแล้วทำ ให้มากแล้ว ก็เป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหารและย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไปโดยควรแก่ฐานะ ฉันนั้น.

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า ? ที่เป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหารและย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไปโดยควรแก่ฐานะได้.
   ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น.
   ภิกษุนั้น……..ฯลฯ…….. (ข้อความต่อไปนี้ เหมือนข้อความที่กล่าวแล้วในข้อ ก. ทุกประการ จนกระทั่งถึงคำว่า)……..ฯลฯ…….. เห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำจักหายใจออก ดังนี้.

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหารและย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไปโดยควรแก่ฐานะ” ดังนี้ แล.

   ข้อนี้สรุปความว่า อานาปานสติ เป็นเครื่องทำให้เกิดความเย็นใจหรือสุขวิหาร สำหรับบุคคลผู้มีความกระวนกระวาย หรือความฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่พอใจในการเป็นอยู่ หรือชีวิตประจำวันของตน อันเกิดมาแต่ความเบื่อระอาสิ่งต่าง ๆ หรือความไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนกระทำ. อานาปานสตินี้ จักเป็นธรรมอันสุขุมและละเอียด มีอานุภาพในทางทำความสงบรำงับเป็นขั้น ๆ ไปตามลำดับดังที่แสดงอยู่แล้วในอานาปานสติทุกขั้น อันทำให้เห็นได้ว่า สามารถทำความรำงับได้จริงอย่างไร ในเมื่อผู้ศึกษาได้พิจารณาดูอย่างละเอียด.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 16, 2011, 07:17:42 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   () เกี่ยวกับอานาปานสติ เป็นสุขวิหาร คือเป็นเครื่องทำความอยู่เป็นสุข ไม่มีธรรมอื่นเสมอเหมือนเป็นประจำวันแล้วยังเป็นการปฏิบัติที่ดำเนินไปในตัวเองตามลำดับ จนกระทั่งความสิ้นอาสวะนั้น มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสที่ป่าอิจฉานังคละ ปรากฏอยู่ที่ มหาวาร. สํ. ทุติยวรรค แห่งอานาปานสังยุตต์(๑๙ / ๔๑๒ / ๑๓๖๔) ดังต่อไปนี้ :-

   “ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพาชกเดียรถีย์ลัทธิอื่นถามพวกเธอว่า สมณโคดมอยู่ตลอดพรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยวิหารธรรมอย่างไหน ดังนี้แล้ว พวกเธอพึงตอบว่า ‘ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่ตลอดพรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยอานาปานสติสมาธิ.’

   “ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ เราเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว ; เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว ……..ฯลฯ ……..
   (มีข้อความแสดงในอานาปานสติ ๑๖ ขั้น เหมือนที่กล่าวแล้วในข้อ ก. ทุกประการสิ้นสุดลงที่คำว่า.) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.

   ภิกษุ ท. ! เมื่อใครผู้ใด จะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธินี่แหละ ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร.

   ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ ยังไม่ลุถึงธรรมที่ต้องประสงค์แห่งใจ ปรารถนาอยู่ ซึ่งโยคเขมธรรมอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า ภิกษุเหล่านั้นเมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. ส่วนภิกษุทั้งหลายเหล่าใด เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีสิ่งที่ต้องทำอันตนทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพทั้งหลายสิ้นรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเจริญทำให้มากแล้ว ซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นสุขวิหารในทิฏฐธรรมนี้ด้วย เพื่อความสมบูรณ์ แห่งสติสัมปชัญญะด้วย.

   ภิกษุ ท. ! ฉะนั้น เมื่อใครจะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธินี่แหละ ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร” ดังนี้.

   ข้อความทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า อานาปานสติ เป็นวิหารธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่มากที่สุด จนสมควรที่จะได้นามว่าเป็น “ตถาคตวิหาร” คือเป็นวิหารธรรมของพระตถาคต ; ว่าเป็น “อริยวิหาร” คือเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ; และว่าเป็น “พรหมวิหาร” คือเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของผู้ที่เป็นพรหม. พึงสังเกตว่าพรหมในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพรหมอีกประเภทหนึ่งต่างหาก จากพรหมธรรมดา แม้ที่เป็นปุถุชนซึ่งมีพรหมวิหารเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไป.

   ส่วนที่สำคัญไปกว่านั้น ยังมีต่อไปอีก คือข้อที่ว่าอานาปานสตินี้ ทำผู้ที่ยังไม่สิ้นอาสวะให้สิ้นอาสวะ ทำผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว ให้มีความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันทั้ง ๒ ประเภทแล้ว ทำได้กล่าวได้ว่า ในบรรดาสมาธิภาวนา ซึ่งมีอยู่ ๔ ประเภทนั้น
อานาปานสติเป็นสมาธิภาวนาถึง ๓ ประเภทได้จริง ๆ กล่าวคือเป็นสมาธิภาวนาประเภททำให้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม,ประเภทที่ทำให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ, และประเภทที่ได้ทำอาสวะให้สิ้น ซึ่งจัดเป็นสมาธิภาวนา ประเภทที่หนึ่ง ที่สามและที่สี่ตามลำดับ ; ยังขาดอยู่แต่ประเภทที่สองคือ สมาธิภาวนา ที่เป็นเหตุให้ได้ญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ มี หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น ซึ่งเราไม่ประสงค์ในที่นี้ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์แต่ประการใด. นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าอานาปานสติสมาธิ เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์อันเพียงพอแก่ความต้องการของบุคคลผู้ประสงค์จะทำความดับทุกข์โดยแท้จริง. สรุปความสั้น ๆ ว่า อานาปานสติเป็นประโยชน์ถึงที่สุด ทั้งแก่บุคคลที่ไม่สิ้นอาสวะ และบุคคลที่สิ้นอาสวะแล้วนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว.

   () อานิสงส์ของอานาปานสติที่ทรงแสดงไว้ อย่างชัดเจน และอย่างละเอียดยิ่งขึ้นไป เกี่ยวกับการทำอาสวะให้สิ้นนั้น อาจจะประมวลมาได้อีกเป็นหมวดสุดท้าย ที่แสดงไว้ใน มหาวาร. สํ. ทุติยวรรค อานาปานสังยุตต์ (๑๙ / ๔๒๔ / ๑๔๐๒) เนื่องกันไปหลายบรรพด้วยกัน ซึ่งจะประมวลเอามาเฉพาะที่ทรงแสดงไว้แปลกกัน อันมีอยู่ดังต่อไปนี้ :-

   ภิกษุ ท. ! ธรรมอันเอกนั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ ; ครั้นธรรมทั้ง ๔ นั้น อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ ; ครั้นธรรมทั้ง ๗ นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๒ ให้บริบูรณ์ได้.

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธินี้แล เป็นธรรมอันเอกซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ ; สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ ; โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้.

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อการละ สัญโญชน์ ทั้งหลาย.
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นอย่างไรเล่า จึงเป็นไปเพื่อการละ สัญโญชน์ ทั้งหลาย ?
   ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ; ภิกษุนั้นมีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจออก ….
   (มีรายละเอียดแห่งอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ดังที่กล่าวแล้วในข้อหนึ่งถึงข้อสิบหกจนกระทั่งถึงคำว่า)……. ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำจักหายใจออก ดังนี้.

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการละ สัญโญชน์ ทั้งหลาย.
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อการกำจัดเสียซึ่ง อนุสัย.  … (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความรอบรู้ซึ่ง ทางไกล (อวิชชา). (๑๔๐๙) … (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่ง อาสวะ ทั้งหลาย (๑๔๑๐) … (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).

   ข้อความทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นโดยสรุปว่า อานาปานสติ มีผลทำให้ละสัญโญชน์ได้, ทำให้กำจัดอนุสัยได้, ทำ ให้รอบรู้ทางไกล คืออวิชชา เหตุให้เกิดอวิชชา ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา และทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา, ในที่สุดย่อมทำอาสวะให้สิ้นไป ; ซึ่งโดยใจความแล้ว ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการดับกิเลสสิ้นเชิงนั่นเอง. ทั้งนี้ เพราะอานาปานสติภาวนาทำสติปัฏฐาน ๔ ให้สมบูรณ์ ; สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ ให้สมบูรณ์ ; โพชฌงค์ ๗ ให้สมบูรณ์แล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้สมบูรณ์ ; เพราะเหตุนั้น จึงถูกยกขึ้น เป็นธรรมอันเอก หรือทางปฏิบัติสายเอก ดังนี้. คำว่า “เอก” ในที่นี้ หมายความว่า เป็นวิธีเดียว สำหรับบุคคลผู้เดียว ดำเนินไปสู่สิ่ง ๆ เดียว กล่าวคือนิพพาน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 16, 2011, 07:12:08 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   () การเจริญอานาปานสติ หมายถึงการเจริญภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า - ออก ฉะนั้น จึงมีได้หลายแบบ ถ้ามีการกำหนดโดยใช้ลมหายใจเป็นหลักแล้ว ก็เรียกว่าอานาปานสติได้ด้วยกันทุกแบบ แต่แบบที่พระองค์ใช้เป็นวิหารธรรม ทรงสรรเสริญและทรงแนะให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัตินั้น ได้แก่อานาปานสติ แบบที่ประกอบด้วยวัตถุ ๑๖ หรือที่เรียกกันในที่นี้ว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ดังที่กล่าวแล้วในข้อ ก. และมีรายละเอียดแห่งการปฏิบัติโดยพิสดาร ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นทั้ง ๑๖ ขั้น. สำหรับอานาปานสติอย่างอื่น ซึ่งน่าจะทราบไว้เป็นตัวอย่าง ก็อาจจะทราบได้จากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในมหาวาร. สํ.เอกธัมมวรรคอานาปานสังยุตต์ (๑๙ / ๓๙๘ / ๑๓๑๗).

   ในที่นั้นมีเรื่องกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามขึ้นท่ามกลางหมู่ภิกษุผู้ประชุมกันอยู่ถึงเรื่องอานาปานสติ ภิกษุชื่ออริฏฐะได้ทูลตอบสนอง และมีการซักไซ้ไล่เลียงกัน ดังต่อไปนี้ :-
   ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย ย่อมเจริญอานาปานสติกันหรือไม่ ?
   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์แล ย่อมเจริญอานาปานสติ.”
   ดูก่อนอริฏฐะ ! ก็เธอย่อมเจริญอานาปานสติอย่างไรเล่า ?

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ย่อมเจริญอานาปานสติ ด้วยอาการอย่างนี้ว่า ‘กามฉันทะ ในกามทั้งหลายอันเป็นอดีต เราก็ละเสียแล้ว ; กามฉันทะ ในกามทั้งหลายอันเป็นอนาคตของเราก็ไม่มี ; ปฏิฆะสัญญาในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก เราก็นำออกเสียได้ด้วยดีแล้ว ; เรานั้นมีสติอยู่เทียวจักหายใจเข้า มีสติอยู่เทียวจักหายใจออก’ ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ย่อมเจริญอานาปานสติด้วยอาการอย่างนี้แล.”

   ดูก่อนอริฏฐะ ! อานาปานสติเช่นนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน ; เรามิได้กล่าวว่าอานาปานสติเช่นนั้นไม่มี ; ดูก่อนอริฏฐะ ! แต่ว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์โดยพิสดาร ย่อมมีอยู่อย่างไร, เธอจงฟังซึ่งอานาปานสตินั้น ; เธอจงทำในใจให้ดี ; เราจักกล่าวบัดนี้.
   ดูก่อนอริฏฐะ ! อานาปานสติที่สมบูรณ์โดยพิสดารนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
   ดูก่อนอริฏฐะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตามไ ปแล้วสู่โคนไม้ก็ตามไปสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ;
   ภิกษุนั้นมีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า สติอยู่นั่นเทียว หายใจออก (มีข้อความเหมือนที่กล่าวไว้ในข้อ ก. จนกระทั่งถึงคำว่า) เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้
   ดูก่อนอริฏฐะ ! อานาปานสติที่สมบูรณ์โดยพิสดาร มีอยู่อย่างนี้แล.

   ข้อที่พึงสังเกตมีอยู่ว่า พระองค์มิได้ทรงปฏิเสธ ว่าอานาปานสติสมาธิอย่างของอริฏฐะภิกษุนั้นใช้ไม่ได้ เป็นแต่ตรัสว่าไม่บริบูรณ์ และไม่พิสดาร. คำว่า บริบูรณ์ ในที่นี้ หมายถึงสมบูรณ์หรือสิ้นเชิง คือตั้งแต่ต้นจนตลอดสายจนถึงกับทำความสิ้นอาสวะได้. คำว่าพิสดารหมายถึงละเอียดลออ ชัดเจนแจ่มแจ้ง.แม้ว่าอานาปานสติอย่างของอริฏฐะภิกษุ จะมิใช่อานาปานสติที่สมบูรณ์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาดูอย่างละเอียด เพื่อเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอานาปานสติโดยสมบูรณ์อีกนั่นเอง. จากข้อความที่ปรากฏอยู่นั้น ทำให้เราเห็นได้ว่า การเจริญอานาปานสติอย่างนั้น เป็นการกำหนดความที่ตนเป็นอยู่โดยปราศจากอกุศลวิตก มีความพอใจในการกระทำ หรือความเป็นอยู่ของตน แล้วมีสติกำหนดความเป็นอย่างนั้น หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่. ถ้าจะเปรียบเทียบกันกับอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ก็อาจสงเคราะห์ลงได้ในอานาปานสติขั้นที่ ๕ ; แม้กระนั้นแล้วก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่นั่นเอง เพราะปราศจากการพิจารณาปีตินั้น โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. ส่วนข้อที่จัดเป็นอานาปานสติได้นั้น ก็เนื่องจากมีการกำหนดธรรมปีติ หรือธรรมนันทิอยู่อย่างระมัดระวังทุกลมหายใจเข้า – ออกนั่นเอง.

   สรุปความว่า ถ้ามีการกำหนดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ทุกครั้งที่หายใจเข้า – ออกแล้ว ย่อมจัดเป็นอานาปานสติได้ด้วยกันทั้งนั้น ส่วนที่จะจัดเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ พิสดารหรือไม่พิสดารนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. อีกทางหนึ่ง เราอาจจะเห็นได้พร้อมกันไปในตัวว่า อานาปานสติที่สมบูรณ์ตามแบบของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีแต่อานาปานสติ ที่ประกอบด้วยวัตถุ ๑๖ อย่างเดียวเท่านั้น เพราะปรากฏว่า ไม่ว่าจะตรัสไว้ในที่ไหน เมื่อไรก็ล้วนแต่ตรัสอย่างนี้เหมือนกันทุกตัวอักษร ; ฉะนั้น จึงยุติเป็นหลักได้ว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์ถึงที่สุด คือทำความสิ้นอาสวะได้ ต้องหมายถึงอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ นี้ ซึ่งเราอาจจะวินิจฉัยได้ว่าทำ ความสมบูรณ์ให้ได้อย่างไร ด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในที่อื่นสืบไป.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   () ข้อที่อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ มีความสมบูรณ์ในการทำที่สุดแห่งทุกข์ นั้น โดยหลักใหญ่ย่อมหมายถึง ข้อที่อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ นี้ เมื่อบุคคลเจริญเต็มที่แล้ว ย่อมเป็นการทำสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ และวิชชาและวิมุตติให้เกิดขึ้นได้ ด้วยอาการดังที่ตรัสไว้อย่างละเอียดในอานาปานสติสูตรอุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย (๑๔ / ๑๙๕ / ๒๘๙) และ มหาวาร. สํ. (๑๙๔ / ๐๙ /๑๓๕๘) ว่า :

   “ภิกษุ ท. ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ?
   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ () เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่าเราหายใจเข้ายาว ; เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกยาวดังนี้ก็ดี ; () เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้าสั้น ;เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกสั้น ดังนี้ก็ดี ; () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า จักหายใจออกดังนี้ก็ดี; () ย่อมทำ ในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำ กายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ นำอภิชณาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่าลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่าเป็นกายอย่างหนึ่ง ๆ ในบรรดากายทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า การกำหนดลมหายใจทั้ง ๔ ขั้นนั้น ชื่อว่าการกำหนดกายในกายเพราะพระองค์ทรงเรียกลมหายใจว่ากาย . . . เมื่อกำหนดและพิจารณาลมหายใจอยู่ ก็ชื่อว่ากำหนดและพิจารณากายอยู่ ในบรรดาทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่หนึ่ง.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้าจักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท.! เราย่อมกล่าวว่า การทำในใจเป็นอย่างดี ถึงลมหายใจเข้า และลมหายใจออกว่านั่นเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ๆ ในบรรดาเวทนาทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า ความรู้สึกในใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการกำหนดลมหายใจนั้นแหละเรียกว่าเวทนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ฉะนั้นการกำหนดความรู้สึกเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นการกำหนดเวทนา และเรียกโดยบาลีว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สอง.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ () ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๐) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๑) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๒) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชฌา และโทมนัสในโลกออกเสียได้ ; ภิกษุ ท. ! เราไม่กล่าวว่าอานาปานสติเป็นสิ่งที่มีได้ แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า ผู้มีสติลืมหลงหรือไม่มีสัมปชัญญะนั้น ชื่อว่าไม่มีจิต ย่อมไม่สามารถกำหนดอานาปานสติ ซึ่งเป็นการกำหนดด้วยสติหรือจิต ซึ่งเรียกเป็นบาลีว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สาม.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (๑๓) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๔) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้าจักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๕)ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (๑๖) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้าจักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ; ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชาแลโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา ; ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ.

   (ข้อนี้อธิบายว่า ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับไม่เหลือและความสลัดคืนก็ดี ลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสุญญตาก็ดี ตลอดถึงลักษณะแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส อันเป็นผลสุดท้ายที่เนื่องมาจากเห็นลักษณะทั้งหลายข้างต้นก็ดี ล้วนแต่เรียกว่าธรรมในกรณีนี้ด้วยกันทั้งนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล็งถึงผลแห่งการปฏิบัติหมวดนี้ว่าเป็นธรรม จึงได้ตรัสเอาการละอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ ว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุนั้น ตามเห็นอยู่ในกรณีนี้ และทรงบัญญัติว่า นั่นเป็นการเห็นธรรมในบรรดาธรรมทั้งหลาย ซึ่งเรียกโดยบาลีว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สี่.)

   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แลย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์.”
   ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุนั้นมีสติปัฏฐาน ๔ รวมอยู่ด้วยในตัว หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในตัว พร้อมกันไปในคราวเดียวกันโดยลักษณะอย่างไร. ต่อนี้ไป เป็นพระพุทธภาษิตที่แสดงว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น จะกระทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้อย่างไรสืบไป :-

   ภิกษุ ท. ! ก็สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ?
   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำก็ดี ;มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ;สมัยนั้น สติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง.

   ภิกษุ ท. ! สมัยใดสติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ; ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ชื่อว่าย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.
   (ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อการตามเห็นกาย ตามเห็นเวทนา ตามเห็นจิต ตามเห็นธรรมอยู่ โดยนัยแห่งจตุกกะทั้ง ๔ แล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดสติในสิ่งเหล่านั้นอยู่ สติที่เป็นการกำหนดนั้นเอง ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ในที่นี้. สรุปความสั้น ๆ ว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อยู่ ก็ย่อมมีสติสัมโพชฌงค์หรือเป็นสติสัมโพชฌงค์อยู่ในตัว. ถ้าการเจริญอานาปานสติถึงที่สุด การเจริญสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าถึงที่สุดด้วย นี่อย่างหนึ่ง ; อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์อยู่ด้วยอาการเช่นนั้น ย่อมชื่อว่า มีการเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรรมนั้นด้วยปัญญา ดังจะเห็นได้ชัดในการพิจารณาองค์ฌานขั้นปีติและสุขเป็นต้น หรือพิจารณาในฐานะที่เป็นเวทนาก็ตาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ดี โดยที่เวทนานั้น มีเหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่งก็ดีหรือโดยที่เวทนานั้นปรุงแต่งสิ่งอื่นสืบไปก็ดี หรือแม้ที่สุดแต่การสโมธานมาซึ่งธรรมการรู้โคจรแห่งธรรมนั้น ๆ และการแทงตลอดสมัตถะแห่งธรรมนั้น ๆ ก็ดี มีรายละเอียดดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ ๕ ; นั่นแหละ คือการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว ในการเจริญอานาปานสติ หรือในขณะที่เรียกว่ามีสติสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้ว. สรุปความว่า เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์โดยอาการของอานาปานสติ ก็ย่อมมีการใคร่ครวญธรรมเพราะสติที่สมบูรณ์ย่อมทำการกำหนดในเบื้องต้น แล้วทำการพิจารณาในฐานะเป็นอนุปัสสนาญาณในลำดับถัดมา อย่างที่เรียกว่าเนื่องกันไปในตัว. การกำหนดชื่อว่าสติ การพิจารณาชื่อว่าการเลือกเฟ้นใคร่ครวญในที่นี้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญอยู่ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา” ดังที่กล่าวแล้ว.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้นทำการใคร่ครวญ ธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ก็ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว.
   (ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติวัตถุ ๑๖ อยู่ โดยลักษณะที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ และธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ย่อมเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างขยันขันแข็ง ด้วยความบากบั่นเต็มที่เพียงไร. ข้อนี้ย่อมคำนวณดูได้จากความเพียรที่ใช้ไปในการเจริญอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุ ดังที่วินิจฉัยกันมาแล้วข้างต้น. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว” ดังนี้.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุผู้เลือกเฟ้นใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญา ได้ปรารภแล้ว ; สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นก็เต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้วเช่นนั้น ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น.
   (ข้อนี้อธิบายว่า ในการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ที่เป็นไปด้วยดีนั้น ย่อมมีสติสัมโพชฌงค์อยู่ในตัว โดยนัยดังที่กล่าวแล้ว จากวิริยสัมโพชฌงค์นั่นเอง ปีติย่อมเกิดขึ้น ด้วยอำนาจธรรมฉันทะ ธรรมนันทิ กล่าวคือความพอใจในการกระทำของตน หรือในการประสบความสำเร็จแห่งการปฏิบัติธรรมขั้นหนึ่ง ๆ โดยอาการดังที่กล่าว ในตอนที่ว่าด้วยการเกิดของปีติในอานาปานสติ ขั้นที่ ๕ เป็นต้น. ปีติในที่นี้ชื่อว่าเป็นนิรามิส หมายความว่าไม่เจือด้วยอามิสกล่าวคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่เป็นปีติที่ประกอบด้วยเนกขัมมะ คือการเว้นจากกามโดยสิ้นเชิง และเป็นปีติอาศัยธรรม หรือความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น” ดังนี้.)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ;สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้นเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติแม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า การเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ เป็นโพชฌงค์อยู่ในตัว เป็นลำดับมาตั้งแต่สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ และปีติสัมโพชฌงค์. โดยนัยดังที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจของปีตินั่นเอง ย่อมเกิดความสงบรำงับ ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ ๔ โดยนัยว่าปีติเกิดขึ้น ลมหายใจยิ่งละเอียดลง ซึ่งหมายถึงอาการแห่งการรำงับโดยลักษณะแห่งสมถะนี้อย่างหนึ่ง และเมื่อมีการพิจารณาธรรม จนความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาปรากฏขึ้นแล้วปีติเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น ทำลมหายใจให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอาการแห่งความรำงับนั่นเอง แต่เป็นความรำงับตามนัยแห่งวิปัสสนา. เมื่อรวมเข้าด้วยกัน ทั้งความรำงับโดยนัยแห่งสมถะและความรำงับโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมชื่อว่าความรำงับถึงที่สุด และเป็นความรำงับที่เกิดมาจากปีติโดยตรง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ” ดังนี้.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมรำงับ ; สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ;สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ; ภิกษุนั้น เมื่อมีการอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า ในการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ย่อมประกอบอยู่ด้วยความเป็นสัมโพชฌงค์ต่าง ๆ โดยนัยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จนกระทั่งถึงปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ กล่าวคือความรำ งับทั้งกายและจิต สิ่งที่เรียกว่าความสุขมีรวมอยู่ด้วย ในความรำ งับนั้น ไม่จำ เป็นจะต้องแยกออกมาเป็นโพชฌงค์อีกต่างหาก. เมื่อกายรำงับ ก็สุขกาย เมื่อใจรำงับ ก็สุขใจ ฉะนั้น ความสุขจึงถูกนับรวมอยู่ด้วย ในความรำงับ ; ครั้นมีความรำงับแล้ว จิตย่อมมีความตั้งมั่น ซึ่งเรียกว่าสมาธิ. ความรำงับที่เป็นองค์ฌาน หมายถึงปีติและสุข ทำให้จิตตั้งมั่นอย่างสมถะ, ความรำงับที่เกิดมาจากความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมทำให้จิตตั้งมั่น โดยนัยแห่งวิปัสสนา ; เมื่อรวมกันทั้งความตั้งมั่น โดยนัยแห่งสมถะ และโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมเป็นความตั้งมั่นที่สมบูรณ์ซึ่งเรียกว่าความตั้งมั่นในที่นี้. อานาปานสติขั้นที่หนึ่งถึงที่สี่ มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะอานาปานสติขั้นที่ ๕ ขึ้นไป มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนา เพราะทุกขั้นทำให้เกิดความรำงับเพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำ งับแล้ว มีความสุขอยู่จิตย่อมตั้งมั่น” ดังนี้.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ย่อมเป็นจิตตั้งมั่น ; สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ;สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ; ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี.
   (ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ย่อมทำให้เกิดสัมโพชงฌงค์ต่าง ๆ กระทั่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือความที่จิตตั้งมั่นทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา. ความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะเป็นความสงบรำ งับ ทำ ให้มีกำ ลังหนุนเนื่องอยู่ตลอดไป ส่วนความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนานั้นเป็นความตั้งมั่นในการเห็นธรรม ทำให้กิเลสรำงับลง ด้วยอำนาจความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ซึ่งมีความตั้งมั่นด้วยดีเหมือนกัน. การเพ่งต่อความตั้งมั่นทั้ง ๒ อย่างนี้ มีขึ้นต่อเมื่อมีความตั้งมั่นแล้วจริง ๆ แล้วคุมความตั้งมั่นให้แน่วแน่อยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะมีการบรรลุธรรมในเบื้องสูง. การคุมความตั้งมั่นไว้นั่นเอง เรียกว่า การเข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้ว โดยอุปมัยที่ได้กล่าวแล้วหลายครั้งหลายหนว่าเหมือนนายสารถีที่เพียงแต่คุมบังเหียนเฉยอยู่ ในเมื่อม้าและรถ และสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๕ และอานาปานสติขั้นที่ ๑๑ และขั้นอื่น ๆ อีกโดยปริยาย. เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วโดยนัยที่ ๒ คือทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่แต่เพียงคุมความตั้งมั่นนั้น ให้เป็นไปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาเป็นการเผาลนกิเลสอยู่ในตัวเรื่อยไป จนกว่าจะสิ้นสุด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี” ดังนี้.)

   ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี ; สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอันว่า ภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.
   (ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ สมบูรณ์แล้ว เมื่อมีการเข้าไปเพ่งซึ่งจิตอันเป็นขึ้นมาแล้ว ในร่องรอยแห่งสมถะและวิปัสสนา แล้วควบคุมความเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เราเรียกว่าความเพ่งในที่นี้ หรือเรียกโดยบาลีว่า อุเบกขา ซึ่งแปลว่า เข้าไปเพ่ง หรือเข้าไปดูอยู่ตลอดเวลา ที่ความตั้งมั่นนั้นเผาลนกิเลส และขณะที่กิเลสสูญสิ้นไปแล้ว ในที่สุดก็เพ่งความที่กิเลสสิ้นไปนั้นเอง เป็นอารมณ์ของสติ ซึ่งมีในอานาปานสติจตุกกะที่ ๔ ขั้นท้าย ๆ คือขั้นที่ ๑๔ - ๑๕ - ๑๖ อันเป็นขั้นที่สัมโพชฌงค์ทั้งหลาย ได้เป็นไปสมบูรณ์ถึงที่สุดจริง ๆ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเพียงการเต็มรอบ ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติขั้นสุดท้าย.)

   ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้”.
   (ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อย่างเต็มที่ ก็ชื่อว่ามีการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ อย่างเต็มที่ เมื่อมีการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ อย่างเต็มที่ ก็เป็นการเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ อย่างเต็มที่ เป็นอันว่าในสิ่งทั้ง ๓ นี้ โดยพฤตินัย เมื่อกล่าวถึงสิ่งใด ก็เป็นอันกล่าวถึงสิ่งที่กล่าวแล้วทั้ง ๒ ที่เหลือด้วย โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้.)

   เมื่อโพชฌงค์ทั้ง ๗ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นการง่าย ที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ; หากแต่ว่า การเจริญโพชฌงค์นั้น จักต้องเป็นไปโดยถูกวิธีอย่างยิ่ง ซึ่งท่านจำกัดความไว้ว่า โพชฌงค์ที่เจริญนั้น ต้องอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนั้น น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ กล่าวคือ การสละหรือการสลัด สิ่งซึ่งเคยยึดถือไว้ด้วยอุปาทานโดยประการทั้งปวงเท่านั้น, อานาปาสติขั้นที่ ๑๖ เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยตรง เพราะฉะนั้น โพชฌงค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ดังที่พระพุทธภาษิตตรัสไว้สืบไปว่า ….

   “ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ?ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ ;ย่อมเจริญธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะอันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.
   ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้” ดังนี้.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

   ข้อนี้อธิบายว่า การเจริญโพชฌงค์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการเจริญอานาปานสติ กล่าวคือ มีหลักเกณฑ์อย่างหลายวิธี ต่อเมื่อเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์เท่านั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์ หรือตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์. อานาปานสติ อย่างของอริฏฐภิกษุ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องเป็นอานาปานสติที่มีวัตถุ ๑๖ จึงจะสำเร็จประโยชน์. ข้อนี้ฉันใด กรณีของการเจริญโพชฌงค์ ก็ฉันนั้น กล่าวคือการเจริญโพชฌงค์ในลักษณะอย่างอื่น ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ แต่ต้องเป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก ที่อาศัยวิราคะ ที่อาศัยนิโรธ และที่น้อมไปเพื่อโวสัคคะเท่านั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์.

   คำว่า อาศัยวิเวก หมายความว่า การปฏิบัติของบุคคลนั้นปรารภวิเวกมีวิเวกเป็นที่มุ่งหมาย. คำว่า วิเวก โดยเฉพาะหมายถึงทั้งกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก. การเจริญอานาปานสติในที่สงัด ชื่อว่าปรารภหรืออาศัยกายวิเวกอยู่แล้ว ; การทำจิตให้สงบในอานาปานสติขั้นที่หนึ่งถึงขั้นที่สี่ เป็นการปรารภหรืออาศัยจิตตวิเวก ; อานาปานสติขั้นที่ห้าขึ้นไป จนถึงขั้นสุดท้าย ย่อมปรารภหรืออาศัยอุปธิวิเวกโดยตรง และจัดเป็นวิเวกอื่นโดยอ้อม.เพราะฉะนั้นการเจรญิสัมโพชฌงค์ โดยอาศัยอานาปานสติเป็นบาทฐานจึงเป็นการกระทำที่อาจกล่าวได้ว่า อาศัยวิเวกโดยสมบูรณ์. กายวิเวกแปลว่าสงัดทางกาย คือกายไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งแวดล้อม. จิตตวิเวกแปลว่าความสงัดทางจิต หมายถึงจิตที่ไม่ถูกนิวรณ์รบกวน. อุปธิวิเวก แปลว่า ความสงัดจากอุปธิหมายถึงสันดาน ไม่มีกิเลสอันละเอียดประเภทสัญโญชน์ อนุสัยรบกวน ข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติที่อาศัยวิเวก ย่อมเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกตรงถึงที่สุด.

   คำว่า อาศัยวิราคะ หมายความว่า ปรารภหรืออาศัยความจางคลายกล่าวคือ ความคลายออกของความกำหนัด ซึ่งมีอาการเหมือนกับการย้อมติดของสิ่งที่ย้อมผ้า เป็นต้น ข้อปฏิบัติที่ทำให้ราคะหน่ายออก เรียกว่าข้อปฏิบัติอาศัยวิราคะทั้งนั้น การเจริญอานาปานสติ ทำให้มีการคลายออกจากอารมณ์ทางกามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย แต่ในขั้นต้น ๆ ยังเป็นไปโดยอ้อมมากเกินไป จึงสังเกตได้ยาก นับตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ห้าเป็นต้นไป ย่อมเห็นอาการที่เป็นไปเพื่อวิราคะโดยชัดแจ้ง และชัดแจ้งเป็นพิเศษในอานาปานสติขั้นที่ ๑๔. เพราะฉะนั้นการเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิราคะ.

   คำว่า อาศัยนิโรธ หมายถึงปรารภหรืออาศัยความดับ หรือธรรมเป็นที่ดับ ด้วยความมุ่งหมายจะไม่ให้มีการเกิดขึ้น โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร ; แต่ประสงค์จะให้มีการดับลง โดยอาการแห่งปฏิจจนิโรธ ซึ่งมักชอบเรียกกันว่าปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร. การเจริญอานาปานสติไม่เปิดโอกาสให้แก่การเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร โดยประการทั้งปวง กล่าวคือไม่มีการปรุงแต่งของสังขารธรรม จนกระทั่งความทุกข์เกิดขึ้น โดยเฉพาะ เช่นเวทนา จะถูกทำ ให้ดับไป ไม่ปรุงแต่งสัญญาและวิตก ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่แปดโดยละเอียด และในขั้นที่ ๑๕ อีกครั้งหนึ่งโดยสรุป. การปฏิบัติโดยทำนองนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความดับ มาเสียตั้งแต่ขั้นที่ยังเป็นเพียงผัสสะด้วยซ้ำไป กล่าวคือ พอสักว่ากระทบผัสสะ ก็มีสติควบคุมไม่ให้เกิดเป็นเวทนาขึ้นมาได้ เรียกว่าดับไปเสียตั้งแต่ในขั้นที่เป็นผัสสะ ถ้าดับไม่ได้ในขั้นผัสสะ คือเกิดเป็นเวทนาขึ้นเสียแล้ว ก็ให้ดับเสียเพียงขั้นที่เป็นเวทนา ไม่ปล่อยให้ปรุงเป็นสัญญา คือความสำคัญว่าเวทนาเป็นของเรา เป็นต้น และไม่ปล่อยให้สัญญาปรุงจนเกิดวิตก หรือตัณหา อันได้แก่ความคิดอยากอย่างนั้นอย่างนี้จนกระทั่งเกิดทุกข์ตามควรแก่ตัณหานั้น. อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความรำงับ ความดับแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมโดยอาการอย่างนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นการเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ จึงเป็นการปฏิบัติที่อาศัยนิโรธโดยสมบูรณ์อีก อย่างเดียวกัน.

   คำว่า “น้อมไปเพื่อโวสัคคะ” หมายความว่า เป็นไปเพื่อความสลัดหรือการปล่อย การวาง ซึ่งสิ่งที่เคยยึดถือไว้ โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็นของของตน. ตามปกติเบญจขันธ์ที่เป็นภายในทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งถูกยึดถือไว้โดยความเป็นตัวตน เบญจขันธ์ภายนอก หรือเบญจขันธ์ที่เหลือจากนั้นถูกยึดถือไว้โดยความเป็นของของตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกสละ จึงได้แก่เบญจขันธ์ทั้งปวง ที่กำลังถูกยึดถืออยู่ด้วยอุปาทานนั่นเอง. การเจริญอานาปานสติที่เป็นไปอย่างถูกต้อง กล่าวคือ ที่เป็นสติปัฏฐานทั้งสี่อยู่ในตัว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นย่อมสลัดความยึดถือว่าตน หรือของของตนมาแล้วตั้งแต่ต้นทีเดียว กล่าวคือ เมื่อมีการพิจารณาลมหายใจ โดยประการใดก็ตาม ย่อมกำหนดลมหายใจ หรือกายนั้นโดยความเป็นของไม่ใช่ตน หรือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มาแล้วโดยปริยาย ; ในการกำหนดเวทนาและจิต ก็มีการพิจารณาโดยทำนองนั้นเป็นลำดับมาและสูงยิ่งขึ้น. ครั้นมาถึงอานาปานสติขั้นที่ ๑๖ มีการย้อนกลับไปพิจารณาโดยความไม่ใช่ตนนี้ ตั้งต้นมาใหม่ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งเป็นลำดับมาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นในการเจริญอานาปานสติ ที่สมบูรณ์ด้วยวัตถุ ๑๖ จึงมีการพิจารณา ที่เป็นการสลัดคืนสิ่งทั้งปวง โดยประการทั้งปวง จากความเป็นตัวตนและเป็นของของตนอย่างสิ้นเชิง. โดยเหตุดังกล่าวมานี้ การเจริญโพชฌงค์ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ มีวัตถุ ๑๖ จึงได้ชื่อว่า “โวสสัคคปริณามี” คือน้อมไปรอบเพื่อการปล่อยลง หรือสลัดลงโดยสมบูรณ์ ดังนี้.

   เมื่อพิจารณาดูอีกทางหนึ่ง ย่อมพบว่าชื่อทั้ง ๔ นี้ คือวิเวกก็ดี วิราคะก็ดี นิโรธก็ดี และโวสัคคะก็ดี เป็นคำ แทนชื่อของคำ ว่า “นิพพาน” เพราะว่าอาการทั้ง ๔ นั้นเมื่อเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ย่อมหมายถึงการบรรลุถึงนิพพาน : วิเวกเป็นชื่อของนิพพาน เพราะสลัดจากกิเลสและความทุกข์. วิราคะเป็นชื่อของนิพพาน เพราะความจางออกของกิเลส โดยไม่มีส่วนเหลือ. นิโรธเป็นชื่อของนิพาน เพราะการดับความปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง. โวสสัคคะ เป็นชื่อของนิพพานเพราะความไม่มีอะไรเกี่ยวเกาะโดยประการทั้งปวง. ฉะนั้น เมื่อถือเอาโดยนัยนี้เป็นอันกล่าวได้ว่า การเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ นั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อนิพพานโดยตรง แล้วทำไมจะไม่ทำให้วิชชาและวิมุตติสมบูรณ์ได้เล่า. เมื่อมีการแยกกล่าวเป็นวิชชาและวิมุตติ ก็หมายความว่า กล่าวถึงความรู้กับความหลุดพ้น. ญาณต่าง ๆ ในอานาปานสติทั้งหมด เรียกว่าวิชชาในที่นี้,ผลของอานาปานสติ คือความหลุดพ้นจากิเลสและความทุกข์เรียกว่าวิมุตติในที่นี้. เพราะฉะนั้น การเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้.

   จากข้อความทั้งหมดนี้ ทำให้สรุปความได้ว่า การเจริญอานาปานสติที่มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่นั้น ได้แก่การเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นอานาปานสติ ที่ทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ และทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ และทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ในที่สุด หรือถ้ากล่าวกลับกันก็กล่าวได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานและการเจริญโพชฌงค์ ที่เป็นไปอย่างสำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดนั้น ต้องตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ หรือประกอบด้วยอานาปานสติอยู่ในตัว สมดังพระพุทธภาษิตที่ควรอ้างถึงเป็นข้อสุดท้ายจากมหาวาร. สํ. (๑๙ / ๓๙๕ / ๑๓๐๘) อีกครั้งหนึ่งว่า :-

   “ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่าจึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?
   ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ (คือทำพร้อมกับอานาปานสติ)…. ; ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ;ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิราคะ เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์ที่น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.
   ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แลย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่” ดังนี้.

Credit by : http://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart23_anapan
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ