ผู้เขียน หัวข้อ: ๐ อวิชชา ๐  (อ่าน 2756 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
๐ อวิชชา ๐
« เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 06:20:41 pm »



๐ อวิชชา ๐

~ คำนำ ~
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอาราธนา
พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
เรียบเรียงเรื่อง “อวิชชา” และ “สันโดษ” ขึ้น
โดยพระราชทานพระราชดำริบางประการ เพื่อเป็นแนวทาง
สำหรับปฏิบัติในการดำรงชีวิต

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดพิมพ์ขึ้น
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย
สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี

เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓

วังสระประทุม มิถุนายน ๒๕๑๓

บัดนี้ความรู้วิชาการต่างๆ ในโลกเจริญขึ้นมาก มนุษย์เราสามารถสร้างพาหนะนำตนไปถึงดวงจันทร์ได้ (เมื่อศกที่แล้ว พ.ศ.๒๕๑๒) วิชาเหล่านี้เป็นวิชาทางโลก หรือวิชาภายนอก ส่วนวิชาภายในหรือวิชชาคือความรู้สัจจะ (ความจริง) ภายในตนเอง จะยังบกพร่องอยู่ทั่วๆ ไป จึงปรากฏว่าคนโดยมาก แม้มีความรู้ทางศิลปวิทยาต่างๆ มาก แต่ก็ยังขาดความรู้ในตนเอง ดังจะเรียกว่ายังมีอวิชชา ที่แปลตามศัพท์ว่า “ความไม่รู้”

อวิชชา” ที่แปลว่าไม่รู้นี้ มิได้หมายความว่า ไม่รู้อะไรเลยเหมือนอย่างก้อนดินก้อนหิน แต่หมายถึงรู้อะไรๆ เหมือนกัน แต่รู้ผิดจากความจริง หรือรู้ไม่จริงก็เท่ากับไม่รู้ เพราะที่เรียกว่า “รู้ๆ” นั้น ควรเป็นรู้จริง (รู้+จริง) จึงจะชื่อว่ารู้ และเพื่อให้ชัดขึ้น จึงแปลแบบอธิบายว่า ความไม่รู้ในสัจจะ คือความจริง หรือสภาพที่จริง กล่าวสั้นว่าความไม่รู้จริง และเมื่อกล่าวโดยทั่วไป ความรู้ที่ทุกๆ คนมีอยู่ ย่อมมีปริมาณจำกัด ส่วนที่ยังไม่รู้มีมากกว่านัก เช่น วิชาทางโลกมีอยู่มากมาย ทั้งเพิ่มขึ้น และแก้ไข เปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นอยู่เสมอ แต่คนหนึ่งๆ อาจเรียนให้รู้ได้เพียงส่วนหนึ่งๆ เท่านั้น บางคนแสดงว่ายิ่งเรียนมากก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองยิ่งโง่ ฉะนั้นแม้ในเรื่องภายนอกทางโลก อวิชชาคือความไม่รู้ก็ยังมากกว่า วิชชาคือความรู้มากมายนัก แต่อวิชชาที่มีลักษณะดังนี้ ไม่ใช่ข้อที่ประสงค์ในที่นี้ อวิชชาที่ประสงค์จะแสดงคือความไม่รู้สัจจะในตนเอง ดังเช่น

ความไม่รู้จักตนเอง คือความไม่รู้จักตนเองโดยฐานะต่างๆ เกี่ยวแก่ความรู้ความสามารถ และตำแหน่งหน้าที่อันควรแก่ตน เป็นต้น เป็นเหตุให้ขวนขวายจะได้ฐานะที่สูงกว่าที่ตนควรจะได้ หรือน้อยใจในเมื่อไม่ได้ฐานะที่คิดเอาเองว่าตนควรจะได้ หรือนินทาว่าร้ายผู้ใหญ่ว่ากดตนเป็นต้น ข้อนี้นับว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความเจริญของตนเอง เพราะเมื่อไม่รู้จักตนตามเป็นจริง ก็ไม่อาจจะแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นโดยทางที่ถูกได้

ความต้องการสมภาพในทางที่ผิด สมภาพ คือความเสมอกัน ต้องการให้ทุกๆ คนเสมอกันไปหมด ไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยในฐานะต่างๆ ข้อนี้เป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องทำลายตนเอง เพราะทุกๆ คนทำกรรมมาแล้ว และกำลังทำกรรมอยู่ต่างๆ กัน จะให้เสมอกันได้อย่างไร เรื่องนี้มีนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบ ที่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า มีเปรตตนหนึ่งสิงอาศัยอยู่ที่ศาลาพักแรมของคนเดินทางไกลแห่งหนึ่ง เป็นเปรตที่ชอบสมภาพ เมื่อมีคนมานอนพักในศาลาที่เรียงกันมากคน ขณะที่กำลังหลับสนิทในเวลาดึกสงัด เปรตได้มาตรวจทางด้านเท้า เห็นเท้าไม่เสมอกัน ก็ฉุดเท้าของทุกๆ คนให้ลงไปเท่ากัน ไปตรวจทางด้านศีรษะ เห็นไม่เท่ากันอีก ก็ฉุดศีรษะของทุกๆ คนให้ขึ้นมาเท่ากัน แล้วก็ลงไปตรวจทางเท้าอีก เห็นไม่เท่ากัน ก็ดึงเท้าลงอีก ขึ้นไปทางศีรษะก็ดึงศีรษะขึ้นไปอีก ตกว่าเปรตจัดให้เท่ากันทั้งสองด้านไม่ได้สักครั้ง และคนทั้งปวงที่นอนพักบนศาลานั้น ก็ไม่เป็นอันได้หลับนอนโดยผาสุก
นอกจากนี้ความวางตนคล้ายกับเสมอกัน ขาดคารวะในผู้ใหญ่ เช่น บุตรีขาดคารวะและความเชื่อฟังในมารดาบิดา ถือว่าสมัยนี้ต้องเป็นอิสระในการทำตามความคิดเห็นของตนเอง มารดาบิดามีความคิดเห็นของตนได้ บุตรธิดาก็มีได้เหมือนกัน บางทีกลับเห็นว่ามารดาบิดามีความคิดเห็นไม่ทันสมัย บุตรธิดาจะถูกบ้างก็ได้ แต่อาจจะผิดก็มาก เพราะวัยคะนองอาจจูงใจให้คิดเห็นไปอย่างคะนอง ต่างจากมารดาบิดาส่วนมากที่มีความเห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวังให้มาก

ความแสดงออกในทางที่ผิด เช่น การทำอะไรให้เป็นข่าวขึ้นในทางที่ผิดต่างๆ บางทีก็ทำเฉพาะตนผู้เดียว บางทีก็ชักชวนกันทำเป็นหมู่เป็นคณะ เช่น ชักชวนกันยกพวกไปตีกันทำร้ายกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด แต่ก็ทำด้วยต้องการจะแสดงว่าเก่งกล้าสามารถ จัดว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง เพราะเป็นความเห็นและการกระทำที่ผิด แม้ว่าใครที่ทำอย่างนั้นจะแย้ง แต่เมื่อความสำนึกผิดชอบแม้ที่เรียกว่าสามัญสำนึกเกิดขึ้นเมื่อใด จะมีความสำนึกผิดขึ้นได้เอง การกระทำที่ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายว่าผิดและทั้งที่ผิดพระบรมราโชวาท ย่อมเป็นความผิดที่ไม่อาจแย้งได้

ความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี หรือเห็นเขาได้รับผลดีที่เกิดจากความดี ก็เกิดความริษยา พูดติเตียน หรือทำการขัดขวางตัดรอนเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายโลกคือประชุมชน เพราะทำให้จิตใจมืดมิดมองไม่เห็นสัจจะในความชั่ว คือความริษยาของตนและในความดีของผู้ทำความดี แม้จะริษยาในความดีของเขาทั้งที่รู้ว่าเป็นความดีก็เป็นอวิชชาอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างถ่มน้ำลายรดฟ้า ทั้งที่รู้ว่าน้ำลายนั้นจะต้องตกมาเปื้อนตัวเอง ทำดั่งนั้นไม่ชื่อว่าทำอย่างรู้แต่ชื่อว่าทำทั้งรู้ คือทำทั้งรู้ว่าไม่ควรทำ การไม่ทำอย่างรู้แต่ทำทั้งรู้เช่นนี้เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิต ผู้ที่ริษยาในความทำดีของคนอื่นนั้น บางทีกลับไปยินดีในความทำชั่ว ตลอดถึงในผลของความชั่วไม่ดีของคนอื่น ก็ยิ่งเป็นอวิชชาหนักเข้าไปอีก เพราะเห็นความชั่วเป็นความดีไป นี้ก็เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิตเช่นกัน

ความเมาต่างๆ อันความเมาทั้งที่เป็นความเมาเหล้าและเมาเพราะเหตุต่างๆ มีความยกย่อง เป็นต้น เป็นอวิชชาทุกชนิด เพราะเมื่อเมาแล้ว ก็ทำให้ขาดปัญญาที่จะรู้สัจจะในสิ่งทั้งหลาย เมาเหล้าเรียกว่าเป็นเมาทางกาย สร่างเมาอาจจะเร็วกว่าเมาใจ คือเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กายถูกต้อง และเรื่องที่ใจคิดที่ชวนใจให้เมา เมาในเสียงที่พูดยกย่อง เรียกว่าเมาในเสียงอย่างหนึ่ง ใครก็ตามเมื่อเกิดเมาขึ้นแล้ว ก็จะไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง ไม่มีใครจะพูดตักเตือนในขณะที่เมาได้ จะพูดกันให้เกิดความเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อสร่างเมาแล้ว

ความหลง คือ ความขาดปัญญาในลักษณะต่างๆ จนถึงความถือเอาทางผิดด้วยความเข้าใจผิด และความงุนงง ไม่พบทางออกเหมือนอย่างคนหลงทาง คนเราเผลอสติปัญญาเสียเมื่อใด ความหลงก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น คนที่ถูกเขาหลอกลวงได้เพราะไปเชื่อในคำหลอกลวงของผู้หลอกลวง เรียกว่าเป็นคนหลงอย่างหนึ่งคือ หลงเชื่อสิ่งที่หลอกลวงมิใช่มีแต่คนภายนอก แต่เป็นความคิดเห็นหรือใจของตนเองก็มี จึงไม่ควรด่วนเชื่อใคร หรือแม้ใจตนเองทันที ควรใช้สติปัญญาให้เพียงพอ ถ้าสติปัญญาของตนไม่พอ ก็อาศัยผู้มีสติปัญญาผู้มีความปรารถนาดี ความปล่อยจิตใจให้ซึมเหงา ง่วง อ่อนแอ เกียจคร้าน เก็บความสงสัยต่างๆ ไว้ ไม่คลี่คลายด้วยความพินิจพิจารณาโดยแยบคาย ก็เป็นความหลง ความหลงนี้เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องปิดบังปัญญามิให้รู้เห็นในสัจจะแม้ที่น่าจะรู้เหมือนอย่างเส้นผมบังภูเขา

ความเห็นผิด หรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดจากคลองธรรมอย่างแรง เช่น เห็นว่าการทำบาปทำบุญอะไรก็ไม่เป็นอันทำ คือไม่มีบาปไม่มีบุญ สักว่าเป็นกิริยาที่ทำเท่านั้น ทำแล้วก็แล้วไป ไม่เป็นบาปเป็นบุญอะไรที่สนองผลต่อไป เห็นว่าผลต่างๆ เช่น ความสุขทุกข์ที่ได้รับ ไม่มีเหตุคือมิใช่เกิดจากเหตุคือกรรม หรือเหตุอะไรอย่างอื่น แต่เกิดมีขึ้นตามคราว หรือตามแต่จะประจวบเหมาะเห็นว่าไม่มีอะไร เช่น มารดาบิดาไม่มี...บุคคลเกิดสืบกันมาตามพืชพันธุ์ สมณพราหมณ์ไม่มี ผลของทานไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น เป็นอวิชชา เป็นโมหะอย่างแรง ความเห็นผิดอย่างนี้เมื่อดิ่งลงแล้วแก้ยาก ความเห็นผิดชนิดที่ถือเอาสุดโต่ง เช่น โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นสัจจะและไม่เป็นประโยชน์ เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง และความเห็นผิดจากอริยสัจจะ คือสัจจะของพระอริยะ เป็นอวิชชาอย่างละเอียดที่มีเป็นพื้นอยู่ในสามัญชนทั่วไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 27, 2011, 07:25:58 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ๐ อวิชชา ๐
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 06:47:35 pm »

อวิชชาตามตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางประการ
ยังมีประการต่างๆ ของการกระทำที่แสดงออกมาจากอวิชชา
อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นอวิชชาอีกมากมาย ประมวลกล่าวรวมเข้าได้ในอวิชชา ๘ คือ

๑ ความไม่รู้ในทุกข์
๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์
๔ ความไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค

๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น


ข้อ ๑ ความไม่รู้ในทุกข์ คำว่าทุกข์มีความหมายดังนี้
(๑) ความทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจที่ตรงกันข้ามกับสุข คือความสบายกายสบายใจ
และหมายถึงวัตถุ คือสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่ตั้ง คือเป็นที่ให้เกิดทุกข์ด้วย
(๒) ความไม่คงทนต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และหมายถึงสิ่งที่ไม่คงทนทุกอย่างด้วย

แม้ทุกข์-สุขในข้อ (๑) ก็นับว่าเป็นทุกข์ในข้อนี้ ความไม่รู้ในทุกข์ก็คือความเห็นในทุกข์ว่าเป็นสุข หรือว่าไม่เป็นทุกข์ นึกดูว่าทุกคนย่อมต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่ไฉนทุกคนจึงต้องพบกับความทุกข์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน บางคนดูน่าจะมีความสุขมากเพราะมีอำนาจมีทรัพย์มีบริวารมาก แต่กลับมีความทุกข์มาก บางคนดูน่าจะมีความทุกข์มาก เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไร แต่กลับมีสุขมาก ต้องกล่าวว่าเพราะมีอวิชชาข้อนี้เป็นประการแรก คือไม่รู้ในทุกข์จึงไม่ยึดถือเอาทุกข์ไว้มากมาย เหมือนอย่างไปกำเอาไฟเข้าไว้ ไฟก็ไหม้มือให้ร้อน อันที่จริงอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น เป็นของกลางๆ ถ้าได้มาและใช้ไปในทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณเกื้อกูลให้เกิดสุข แต่ถ้าได้มาและไม่ใช้หรือใช้ไปในทางที่ผิด ก็จะเป็นโทษก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อน จึงสรุปได้ว่า ใครก็ตามที่แสวงหาให้ได้มาและเก็บไว้หรือใช้ไปในที่ผิด นั้นแหละเรียกว่าไม่รู้ในทุกข์ เพราะเท่ากับแสวงหาทุกข์ ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตน แต่เพราะไม่รู้ในทุกข์ก็อาจจะหลงคิดว่าเป็นสุข เท่ากับรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่ในกองทุกข์ เหมือนอย่างแมลงเม่าที่โผเข้าหากองไฟ

ข้อ ๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ คือ ไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ตลอดถึงไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งสุขที่ตรงกันข้าม จึงไปดำเนินในทางที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงจะปรารถนาสุขแต่ไปดำเนินในทางแห่งทุกข์ก็จะไม่พบสุข จึงเป็นอวิชชาอีกข้อหนึ่งคู่กับข้อที่ ๑ คือข้อที่ ๑ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๒ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งสุข ทุกๆ คนย่อมจะคิดหาและย่อมจะพยายามกันอยู่แล้วที่จะปฏิบัติในเหตุแห่งสุขตามที่แต่ละคนเห็น เช่น ผู้ที่เห็นว่าทรัพย์เป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายที่จะให้ได้ทรัพย์มา ผู้ที่เห็นว่าสิ่งใดอื่นเป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายเพื่อจะได้สิ่งนั้น นอกจากนี้ เมื่อเห็นว่าการกระทำอันใดหรือทางใดเป็นเหตุแห่งสุขก็ทำหรือดำเนินในทางนั้น นี้ก็เป็นเรื่องสามัญทั่วไป แต่ก็น่าจะนึกเข้ามาถึงเหตุภายในที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือตรัสชี้ระบุว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุจริตคือความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ต่างๆ สืบเนื่องมาจากตัณหาทั้งนั้น ความประพฤติเบียดเบียนกันและกันตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ จึงเกิดจากตัณหาของคนนี้แหละ ฉะนั้นเมื่อยังมีความทะยานอยากอยู่ตามธรรมดาของสามัญชน ก็ควรให้อยากไปในทางดี ห้ามความอยากในทางที่ผิด ก็จะลดความทุกข์ลงได้มาก เพราะจะไม่ต้องไปประพฤติทุจริตต่างๆ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก ส่วนผู้ที่ห้ามความทะยานอยากในทางที่ผิดไม่ได้ ดังที่เรียกว่าเป็นทาสของตัณหา ต้องประพฤติทุจริตต่างๆ ก็ต้องประสบทุกข์เป็นผล สิ่งที่ได้มานั้นจะเป็นทรัพย์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อยหรือมากเพียงไรก็ตาม ย่อมเป็นเหมือนเชื้อที่นำมาสุมไฟคือตัณหา ส่งเสริมไฟคือตัณหาให้กองโตขึ้น กินเชื้อมากขึ้น คิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเท่ากับป้อนเชื้อให้แก่ไฟ ไม่มีประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่ชีวิต มีแต่ทุกข์โทษเดือดร้อน แต่ก็ยากที่จะมองเห็นตัณหาว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์เพราะอวิชชามากำบังไว้

ข้อ ๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ เมื่อยังดับไฟคือตัณหาไม่ได้ ยังป้อนเชื้อให้อยู่เสมอ คือยังทำอะไรไปตามความปรารถนาต้องการ ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ต้องการแต่จะให้ได้มาเท่านั้น ก็ยังไม่รู้จักความดับทุกข์ แม้จะเข้าใจว่ามีความสุข เช่น เมื่อได้อะไรมาก็เกิดความสุขโสมนัสเพราะสมปรารถนา และได้ใช้บำรุงความสุขต่างๆ แต่พิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ความสุขโสมนัสนั้นมีขึ้นประเดี๋ยวหนึ่ง เช่นเดียวกับเมื่อนำเชื้อใส่ให้ไฟๆ ก็กินเชื้อ สว่างโพลงขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็ลดความสว่างลงไปตามส่วนแห่งเชื้อที่หมดไป ต้องหาเชื้อใหม่มาให้อีกจึงจะสว่างขึ้นอีก ความสุขโสมนัสก็เช่นกัน เกิดขึ้นแล้วก็หายไปในเวลาไม่ช้านัก สิ่งที่มีอยู่ก็เหมือนกองเถ้าถ่านไม่เป็นที่ต้องการของไฟตัณหา เพราะตัณหาต้องการของใหม่ๆ อีก ส่วนประโยชน์การใช้สอยจริงของแต่ละคนมีไม่เท่าไร เช่น ข้าวที่บริโภคก็มีปริมาณจำกัด เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน การแสวงหาเท่าที่ร่างกายต้องการบริโภค ดูก็ไม่เป็นภาระมากมายอะไรนัก แต่ที่เป็นภาระมากก็คือเพื่อให้เป็นที่พอใจหรือเพื่อเสนอสนองตัณหาซึ่งไม่มีเวลาที่จะพอได้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้พบความสุขที่ถาวร ที่เป็นความดับทุกข์ได้แท้จริง อะไรเป็นความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสชี้ระบุไว้ว่า คือความดับตัณหาเสีย เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์ คิดดูง่ายๆ อย่างสามัญว่าเพียงดับตัณหาชนิดหยาบ ที่เป็นเหตุให้ทำทุจริตได้อย่างเดียว ก็ดับทุกข์ได้มากมาย สามัญชนดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ก็พอสมควร แต่เพราะอวิชชามากำบังจึงไม่รู้ในความดับทุกข์ว่าคือความดับตัณหาเสีย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ๐ อวิชชา ๐
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 07:18:26 pm »

ข้อ ๔ ไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่ามรรค ไม่รู้ในข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติไปในทางที่ผิดคือในทางก่อทุกข์ แทนที่จะเป็นทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้นคือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
 
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (สองข้อนี้ย่อลงใน ปัญญาสิกขา)
สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (สามข้อนี้ย่อลงใน ศีลสิกขา)
สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ (สามข้อนี้ย่อลงใน จิตตสิกขา)

เมื่อปฏิบัติในทางแห่งตัณหา ซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ แม้จะปรารถนาความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ก็ไม่อาจถึงได้ คนที่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนต้องประพฤติทุจริตต่างๆ แม้จะมีอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น มากมาย และแทนที่จะมี ในทางที่เป็นประโยชน์กลับมีในทางที่เป็นโทษ เพราะปฏิบัติไปในทางแห่งตัณหา เป็นผู้ลุอำนาจแห่งตัณหาหรือเป็นทาสแห่งตัณหา นับว่าเป็นอวิชชา ในข้อนี้ซึ่งคู่กับข้อที่ ๓ คือ ข้อที่ ๓ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๔ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายดับทุกข์

ข้อ ๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
ข้อ ๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
ข้อ ๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย หรือทั้งอดีตและอนาคต
ข้อ ๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น


ทั้ง ๔ ข้อนี้อธิบายรวมกันว่า เหตุและผลทั้งสองสายดังกล่าวใน ๔ ข้อข้างต้นที่เกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในทุกๆ คน ย่อมมีเงื่อนที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้รู้ได้ เมื่อจับเงื่อนไขได้ถูกก็จะรู้เหตุและผลได้ถูกต้อง เงื่อนนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อก็มี ๒ คือเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย ถ้าจะชี้ว่าอะไรเป็นเงื่อนเหล่านี้ ก็อาจชี้ได้ว่าในสายทุกข์ ตัณหาเป็นเงื่อนต้นแห่งทุกข์ ส่วนทุกข์ที่เป็นผลเป็นเงื่อนปลาย และถ้าผลนั้นก่อตัณหาให้เกิดขึ้นอีก ผลนั้นก็เป็นเงื่อนต้นขึ้นอีก เช่น ทรัพย์ที่ได้มาในทางที่ผิดด้วยตัณหา ได้มาแล้วก็เป็นเครื่องยั่วเพิ่มตัณหามากขึ้น ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งตัณหาขึ้นอีกได้ ในสายดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ เป็นเงื่อนต้น ความดับทุกข์เป็นเงื่อนปลาย และความดับทุกข์อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องส่งเสริมให้ปฏิบัติในทางดับทุกข์ยิ่งขึ้นไป ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งมรรคที่ยิ่งขึ้นไปได้อีกเหมือนกัน หรือจะยกกาลเวลาขึ้นมาพิจารณา โดยกำหนดปัจจุบันเป็นหลักก็ได้ คือ จับเงื่อนต้นแต่อดีตสืบไปถึงเงื่อนปลายในอนาคต เหมือนกำลังเดินอยู่ในทางสายยาว ย่อมจะมีข้างหลังที่เดินมาแล้ว มีข้างหน้าที่จะเดินต่อไป ตกว่ามีทั้งข้างหลังข้างหน้าต่อไปกัน ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ตามข้อ ๕, ๖, ๗ ก็จับเหตุจับผลจับหน้าจับหลังไม่ได้
อีกอย่างหนึ่ง เหตุผลดังกล่าวย่อมเกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนดังทางสายยาวดังกล่าว ทั้งเป็นทางวนเป็นวงกลมเพราะสิ่งที่เป็นผลย่อมกลับเป็นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุก็กลับเป็นผล เวียนวนกันไปดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น นี้เรียกว่าธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ยกตัวอย่างโดยสรุปอีกข้อหนึ่งคือ วัฏฏะ ที่แปลว่า วน ๓ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก (คือผล) กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก และวิบากก็กลับเป็นเหตุแห่งกิเลสอีก วนไปดังนี้ ถ้าไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ก็จับเหตุผลที่เกิดเนื่องกันไปไม่ได้สิ่งที่ปรากฏขึ้นทุกๆ อย่าง กล่าวได้ว่าเป็นเหตุผลที่เกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย

เช่นสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่เรียกว่าธรรมชาติ เช่น ฝนตก ซึ่งเป็นผลอย่างหนึ่ง ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ฝนตก ก็จะพบเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่างเป็นสายต่อเนื่องกัน เหตุผลเหล่านี้ถ้าไม่ต่อเนื่องกัน ขาดตอนกันเสีย ก็จะไม่เกิดผลที่นับว่าเป็นเงื่อนปลายคือฝนตก สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่ธรรมชาติและกรรมของคนประกอบกัน เช่น ความยากจนของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่กรรมของคนโดยตรง เช่น โจรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทุจริตต่างๆ การยกพวกตีกันของคนกลุ่มน้อย จนถึงสงครามระหว่างคนกลุ่มใหญ่ ย่อมมีเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่าง ถ้าจับเหตุผลหน้าหลังเงื่อนต้นปลายแต่ละเงื่อนโดยเฉพาะ และที่รวมกันทั้งสองเงื่อน และที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสายได้ตลอดสาย ทั้งสายเกิดสายดับ ย่อมสามารถจะแก้ไขได้ถูกต้อง ถ้าจับเงื่อนทั้งปวงไม่ถูกเพราะไม่รู้ตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ ก็เป็นอันไม่รู้เหตุผลทั้งสายเกิดทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ดังกล่าวในข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ จะสับสนวุ่นวาย จับต้นชนปลายไม่ถูก จะมืดหน้ามืดหลัง จะมืดตลอดสาย จึงไม่อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงได้

สัจจะ คือสภาพที่จริงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมลงใน ๘ ข้อนั้น ได้มีอยู่ในทุกๆ คนนี้เอง เพราะทางแห่งชีวิตที่ทุกๆ คนดำเนินอยู่ทุกเวลา ถ้าไม่ดำเนินไปในทางทุกข์ก็ดำเนินไปในทางดับทุกข์ หรืออาจดำเนินไปในทางนี้บ้าง ทางนั้นบ้าง เป็นสัจจะที่มีอยู่ในตัวบุคคลเอง ถึงตนเองจะไม่รู้ว่าดำเนินไปในทางทุกข์ มีความร่าเริงสนุกสนานไปในทางนั้น ด้วยเข้าใจว่าเป็นทางสุข ก็คงเป็นทางทุกข์อยู่นั่นเอง เป็นที่น่ากรุณาของผู้รู้ที่ดูอยู่ แต่แม้จะมีผู้กรุณาชี้บอกอยู่สักเท่าไร ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสบอกทาง เหมือนดังทรงชูดวงประทีปในที่มืด เพื่อผู้มีจักษุจะได้มองเห็นรูปทั้งหลาย ถ้าตนเองไม่ยอมดูให้รู้สัจจะในตนเอง เหมือนอย่างที่จักษุก็ไม่ยอมลืมจักษุขึ้นดู ประทีปที่ท่านผู้มีเมตตาชูขึ้นให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในความมืด ก็ไร้ประโยชน์สำหรับผู้นั้น นี่แหละเรียกว่า “อันธพาล” ที่แปลว่าผู้เขลาเหมือนอย่างบอด เป็นผู้มืดหน้ามืดหลัง มืดมามืดไป บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่รู้จักตนเอง ต้องการสมภาพในทางที่ผิด แสดงออกในทางที่ผิด มีความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เป็นต้น แม้จะรักตนก็ทำตนเหมือนอย่างศัตรูของตนเองไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น เป็นอันตรายแก่ส่วนรวม

ส่วนผู้ที่ยอมดูเข้ามาให้รู้สัจจะในตัวเองคือ พยายามอบรมปัญญาในตนเองให้มากขึ้น
ตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ คือศึกษาในวิชชาที่ตรงกันข้าม คือ

๑ ความรู้ในทุกข์
๒ ความรู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓ ความรู้ในความดับทุกข์
๔ ความรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค

๕ ความรู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖ ความรู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗ ความรู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘ ความรู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง


ที่มีอยู่ในตนนี้แหละ ก็ชื่อว่าได้ศึกษาเพื่อละอวิชชาในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง จะไม่ต้องการสมภาพในทางที่ผิด จะไม่แสดงออกในทางที่ผิด จะไม่ริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น จะบรรเทาความเมา ความหลง จะมีความเห็นชอบตามคลองธรรมและตามสัจจะ ดำรงตนอยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่ง ที่เรียกว่าต่ำหรือสูงในทางโลกก็ตาม จะเป็นผู้ที่ถือเอาและดำเนินทางถูกทางสว่างเสมอ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสว่างหน้าสว่างหลัง สว่างมาสว่างไป กระทั่งถึงสว่างตลอดสาย

อันวิชชา คือ ความรู้สัจจะในตนเองนี้ ควรศึกษาอย่างยิ่งตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้ดังที่ยกมาอธิบายข้างต้น เมื่อศึกษาจะได้ความรู้ที่สูงขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสัจจะในภายนอก เช่น ความรู้ตามที่ตามองเห็น ก็เห็นดวงอาทิตย์โคจรทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก (เรียกอาทิตย์โคจรรอบโลก) ส่วนความรู้ที่เกิดจากการศึกษา แสดงว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลับตรงกันข้าม สัจจะในภายในก็เช่นเดียวกัน ความรู้ตามที่รู้อย่างผิวเผินว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อศึกษาในวิชชาของพระพุทธเจ้า จะได้ ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่กลับตรงกันข้าม และจักรู้ว่า ความรู้เดิมเป็นอวิชชา คือรู้ผิดเป็นความหลงเข้าใจผิดเห็นผิด

“โลกอันอวิชชา คือ ความไม่รู้จริงปิดบังไว้แล้วจึงหลงดุจอยู่ในที่มืด เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ จะมัวร่าเริง จะมัวบันเทิงอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกไฟกิเลสเผาให้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกอวิชชาอันทำให้มืดบอดปกคลุมแล้ว เหตุไฉนจึงไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า”


(พระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาและธรรมบท)



คัดลอกจาก หนังสือรวมธรรมะ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เป็นมุทิตาสักการะ
เนื่องในศุภวาระฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา
ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๐
พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=25-01-2010&group=7&gblog=4
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ