การถ่ายภาพแสงสนธยา (Twilight)
โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ 5 มีนาคม 2555 07:42 น.
ภาพดาวเคียงเดือน วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ถ่ายในช่วงแสงทไวไลท์ทางทิศตะวันตก บริเวณยอดดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : FUJI S5Pro /18-200 มม. / F6.3 /ISO 200 / 1/160 วินาที)
สนธยา (Twilight) หมายถึง ช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ประมาณ 10 – 15 นาที เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ที่ยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบน ได้ส่องมายังชั้นบรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้ขณะนั้นเห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี เช่น ช่วงหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ท้องฟ้าเปลี่ยนสีจากสีโทนอุ่นเป็นสีโทนเย็น คือสีม่วงอมน้ำเงิน ช่วงนี้จะมีเวลาให้ถ่ายภาพประมาณ 5 นาที และหลังจากนั้นท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำมืดสนิท ในคอลัมน์นี้ผมจะขอเรียกแสงสนธยา ว่า “แสงทไวไลท์”
การเลือกช่วงเวลาในการถ่ายภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนการถ่ายภาพ หลังจากในคอลัมน์ก่อนหน้าได้กล่าวถึงการถ่ายภาพท้องฟ้าในยามค่ำคืนไปแล้ว วันนี้เรามาลองถ่ายภาพในช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกกันบ้างครับ ใช่แล้วครับวันนี้เราจะมาพูดถึงการถ่ายภาพถ่ายภาพแสงทไวไลท์ครับ
แสงทไวไลท์ทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ณ จุดชมวิวดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F8 / ISO 400 / 15 วินาที)
ทำความเข้าใจกันก่อน
สีของท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ตอนกลางวันท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ส่วนตอนเช้าและตอนเย็นท้องฟ้าเป็นสีส้มแดง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะ “การกระเจิงของแสง” (Scattering of light) ท้องฟ้าเวลาเช้า และเวลาเย็น แสงอาทิตย์ทำมุมลาดกับพื้นโลก แสงเดินทางผ่านมวลอากาศเป็นระยะทางยาว อุปสรรคที่ขวางกั้นมีมาก แสงสีม่วง และน้ำเงิน ไม่สามารถเดินทางผ่านอุปสรรคไปได้ จึงกระเจิงอยู่รอบนอก ส่วนแสงสีเหลือง ส้ม และแดง กระเจิงในแนวราบตามแนวลำแสง ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์และท้องฟ้าในบริเวณใกล้เคียงเป็นสีแดง โดยท้องฟ้าเวลาเย็นมีสีแดงมากกว่าตอนรุ่งเช้า เนื่องจากอุณหภูมิสูงในตอนบ่าย ทำให้มีฝุ่นละอองในอากาศมากกว่าตอนเช้า ประกอบกับฝุ่นละอองในอากาศถูกชะล้างด้วยน้ำค้างในตอนเช้ามืด ดังนั้นตอนเย็นจึงมีการกระเจิงของแสงสีแดงมากกว่าตอนเช้า (ข้อมูลจากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์: LESA)
ความสวยงามของการถ่ายภาพในช่วงแสงทไวไลท์ นั้นก็คือแสงของท้องฟ้าสีเหลือง ส้ม หรือแดงตัดกับแสงสีน้ำเงิน ให้ภาพมีสีสันโดดเด่นมากกว่าท้องฟ้าในตอนกลางวันหรือตอนฟ้ามืดสนิท นอกจากนั้นยังมีความตื่นเต้นและท้าทายเนื่องจากมีช่วงเวลาในการถ่ายภาพเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น หรือที่เรามักคุ้นหูกันว่า เป็นช่วงนาทีทอง (Golden minute) ที่ถ่ายได้ไม่กี่รูปแสงดวงอาทิตย์ก็หมดแล้วท้องฟ้าก็จะมืดสนิท ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพเราต้องวางแผนกันก่อน ไม่งั้นมีหวังพลาดโอกาสและต้องรอในวันต่อไป ดังนั้นเรามาดูอุปกรณ์และการตั้งค่ากันก่อนครับ
แสงทไวไลท์ทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ณ จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / 24 มม. / F22 / ISO 200 / 1.29 วินาที)
อุปกรณ์
1. ขาตั้งกล้อง: เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงน้อย ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาพชัดและคุณภาพของภาพดีที่สุด แต่สำหรับใครที่ไม่มีขาตั้งกล้องลองหาถุงทราบ หรือถุงถั่วแทนก็ได้โดยใช้หนุนใต้กล้อง เพื่อปรับองศาให้ได้ตามต้องการ
2. เลนส์มุมกว้าง: เพราะเป็นการถ่ายภาพท้องฟ้าบริเวณกว้าง ดังนั้นการจะเก็บภาพแสงของท้องฟ้ามุมกว้าง เราจึงควรเลือกช่วงเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเริ่มตั้งแต่ 8-35 มม. ส่วนจะเลือกใช้ช่วงเลนส์มุมกว้างแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเราเองว่าต้องการเก็บองค์ประกอบภาพอื่นๆมากน้อยแค่ไหน หรืออาจเลือกใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) มีความยาวโฟกัสน้อยมาก ซึ่งอยู่ระหว่าง 6-16 มม. มีมุมองศาในการรับภาพ 180-360 องศา ภาพที่ได้จะมีลักษณะโค้งกลม นิยมใช้สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะสร้างสรรค์ และแปลกตาครับ
3. สายลั่นชัตเตอร์: เป็นอุปกรณ์เสริมที่ควรจะมีเพื่อให้ภาพไม่สั่นไหว หรือหากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็อาจเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้ ที่กล้องทุกตัวมีอยู่แล้ว
เทคนิคและวิธีการ
นอกจากการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำคือ การตั้งค่าต่างๆ ของกล้องถ่ายภาพของเราเสียก่อน เพื่อเป็นการเตรียมและจะได้ไม่พลาดนาทีทองในการถ่ายภาพด้วยครับ เอาหล่ะครับมาดูกันว่าเราต้องต้องค่าอะไรกันบ้าง
1. เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบตารางเวลาการเกิดขึ้นตกของดวงอาทิตย์ ได้ตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เช่น
http://www.navy.mi.th/hydro/sun55.htm ของกองทัพเรือ หรือ
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/sunmoon/riseset.html สมาคมดาราศาสตร์ไทย หรือ
http://www.sunrisesunset.com/ เป็นต้น
2. ตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพ หากกล้องของเราสามารถตั้งไฟล์ภาพแบบ Raw File ได้ ควรตั้งเป็นแบบ Raw File เพื่อสามารถนำภาพมาปรับเปลี่ยนอุณภูมิสีให้ตรงตามต้องการได้ภายหลัง
3. ความไวแสง (ISO) หากพูดตามหลักการถ่ายภาพเราก็ควรตั้งค่าความไวแสงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันให้เกิดสัญญาณรบกวน (noise) น้อยที่สุด
4. รูรับแสง (f stop number) เลือกใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/8 เพื่อให้ได้ความคมชัดทั่วทั้งภาพ โดยอาจปรับค่ารูรับแสงมากขึ้นหรือน้อยลงตามความเหมาะสมได้ แต่ไม่ควรเลือกค่ารูรับแสงแคบเกินไป เพราะค่าที่แคบเกินไปภาพอาจจะไม่ชัดเสมอไปครับ
5. เปิดการใช้งานระบบ Noise Reduction หากเปิดรับแสงนานๆ เพื่อช่วยให้ภาพมี Noise น้อยลงแต่ต้องไม่ลืมว่าการประมวลผลก็จะนานเท่ากับเวลาที่เราถ่ายภาพ
6. ปรับตั้งค่าความอิ่มตัวของสี (Color Saturation) โดยตั้งให้สูงๆ เพื่อให้ได้ภาพที่แสดงความสดและความอิ่มตัวของสีมากที่สุด ซึ่งโหมดในการตั้งค่าของกล้อง มักอยู่ในโหมด Picture Control & Picture Style โดยกล้องบางรุ่นอาจใช้การตั้งค่าเป็นแบบ Color Saturation หรือแบบ Vivid เป็นค่าที่ให้สีสันที่เข้มที่สุด เรียกว่า แดงเป็นแดง เขียวเป็นเขียว สีเข้มสะใจ เหมาะกับการใช้ถ่ายภาพที่เน้นสีสันมากๆ
7. ปรับตั้งค่าพิกัดสี (Color Space) จากปกติที่ตั้งเป็น sRGB เป็น Adobe RGB Color Space เนื่องจาก Adobe RGB มีขอบเขตหรือช่วงของสีมากกว่า sRGB โดยแสงทไวไลท์จะมีการไล่โทนแสงสีม่วง น้ำเงิน เหลือง ส้ม แดง หากเราใช้ค่าพิกัดสีแบบ sRGB ภาพจะมีการไล่โทนได้ไม่ดีมากนัก
8. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) การวัดแสงประเภทนี้เหมาะกับการถ่ายภาพที่มีความเปรียบต่าง (Contrast) ของแสงสูง เราสามารถที่จะเลือกเน้นในจุดที่ต้องการให้แสงพอดีได้นั่นเอง นอกจากนี้การวัดแสงแบบ Spot metering นี้ก็ยังเหมาะกับการถ่ายภาพย้อนแสง หรือภาพที่องค์ประกอบในภาพมีแสงสะท้อนหลากหลาย โดยให้เลือกวัดแสงในส่วนที่ต้องการให้แสงพอดี โดยเลือกวัดแสงบริเวณท้องฟ้าแต่ผู้ถ่ายภาพจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องของการวัดแสงและตำแหน่งที่จะใช้วัดแสงเป็นอย่างดี มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นระบบที่ก่อให้เกิดการผิดพลาดได้ง่ายที่สุดเช่นกัน
9. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ สำหรับการถ่ายภาพโดยปกติแล้วเรามักวัดแสงให้พอดีแล้วถ่ายภาพ แต่ในการถ่ายภาพแสงสนธยานั้นเราต้องการแสงสีที่เข้มและมีสีสันสดใส โดยปรับค่าการชดเชยแสงวัดแสงอันเดอร์ลงมาประมาณ 1-2 สตอป เพื่อให้ภาพมีความอิ่มของสีมากขึ้น
10. การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์ก่อนการถ่ายภาพเนื่องจากระยะชัดที่สุดของระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์แต่ละตัวอาจปรับอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน ให้ลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดที่สุด ที่ตำแหน่งวงแหวนบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันโฟกัสเคลื่อน และไม่ควรใช้ระบบออโต้โฟกัสอย่างเด็ดขาด เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในช่วงที่แสงน้อยๆ
ภาพพระมหาธาตุนภเมทนีดลกับเสี้ยวดวงจันทร์ 1 ค่ำ ช่วงแสงทไวไลท์ทางทิศตะวันตก ปรับชดเชยแสง -1 สตอป (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 500D / 18-200 มม. / F13 / ISO 200 / 1/3 วินาที)
เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว ผมแนะนำว่าควรศึกษาทิศการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ของสถานที่ที่เราถ่ายภาพให้รอบคอบ จากนั้นก่อนรอเวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าก็ทดลองถ่ายภาพและปรับค่าชดเชยแสงให้เหมาะสมก่อน เพราะเมื่อถึงช่วงนาทีทองแล้วจะได้ไม่พลาดโอกาศการเก็บแสงสนธยาที่สวยงามครับ
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"
"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน