ผู้เขียน หัวข้อ: “ช้างไทย” ในคำขวัญและสัญลักษณ์  (อ่าน 1137 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
“ช้างไทย” ในคำขวัญและสัญลักษณ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
13 มีนาคม 2555 17:44 น.



ขบวนพาเหรดช้าง
       เนื่องในวันนี้ที่เป็นวันช้างไทย (13 มี.ค.) จึงขอรำลึกถึงช้างไทยกันบ้าง “ช้าง” ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยเราตั้งแต่สมัยอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การออกศึกสงครามคู่เคียงกับคน จนปัจจุบันช้างกลายมาเป็นสัตว์น่ารักแสนรู้ออกแสดงตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไปจนถึงท้องถนนทั่วไป
       
       นอกจากช้างตัวเป็นๆ ที่จะอยู่คู่กับประเทศไทยแล้ว ยังมีสัญลักษณ์ของ “ช้าง” ที่กลายมาเป็นตราประจำจังหวัดต่างๆ และประกอบอยู่ในคำขวัญของจังหวัดด้วยเช่นกัน
       
       เริ่มต้นที่จังหวัดที่มีช้างอยู่ในคำขวัญ จ.น่าน “แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง” สำหรับ “งาช้างดำ” นั้นถือเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมือง และถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าเป้นอย่างมาก
       
       หากถามถึงประวัติความเป็นมาของงาช้างดำ ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดนัก แต่เชื่อกันว่าได้มาจากเมืองเชียงตุง และเป็นมรดกตกทอดแก่เจ้าผู้ครองนครน่านสืบต่อกันมา จนมาถึงเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เมื่อถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้านายบุตรหลานจึงจึงมอบให้เป็นสมบัติแก่จังหวัดพร้อมกับหอคำ ที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ซึ่งงาช้างดำก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่เช่นกัน


งาช้างดำ จ.น่าน
       ส่วน จ.ชัยภูมิ ที่มีคำขวัญว่า "ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวาราวดี" ซึ่งที่ชัยภูมินั้นก็ขึ้นชื่อในเรื่องของช้างเช่นกัน เนื่องจากเป็นเมืองที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อาทิเช่น เทือกเขาภูเขียว และดงพญาฝ่อ ทำให้ชัยภูมิขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งของช้างไม่แพ้ที่สุรินทร์เลยทีเดียว
       
       แต่หากพูดถึงเมืองแห่งช้างที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกนั้น ก็ต้องเป็น จ.สุรินทร์ ชาวสุรินทร์นั้นถือว่าช้างเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังคำขวัญที่ว่า "สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม พร้อมวัฒนธรรม” ก็จะเห็นได้ชัดถึงความเป็นเมืองช้างอย่างแท้จริง
       
       เมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่ จ.สุรินทร์ ก็จะมีการจัดงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ขึ้น โดยภายในงานนั้นจะมีนักท่องเที่ยวแห่แหนกันมาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อมาดูการแสดงความสามารถ และความน่ารักแสนรู้ของช้างนับร้อยเชือก



ความสามารถของช้างในยุคนี้
       นอกจากในคำขวัญแล้ว ตราประจำจังหวัดของบางจังหวัดก็ยังเลือกใช้ช้างมาเป็นสัญลักษณ์ อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ คือ กรุงเทพมหานคร มีตราประจำจังหวัดคือ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตรานี้ได้จำลองมาจากภาพฝีพระหัตถ์ของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้ทรงให้ความหมายแก่ภาพนี้ว่า หมายถึงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา
       
       จังหวัดต่อมาคือ จ.เชียงราย ตราประจำจังหวัดคือ รูปช้างสีขาวใต้เมฆ ตรานี้ได้มาจากประวัติการสร้างเมืองเชียงราย ที่เมื่อพญามังรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบๆ ได้แล้ว จึงทรงยกทัพไปแสดงฝีมือต่อสู่กับหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา และได้รวบรวมพลที่เมืองลาวกู่เต้า หมอควาญช้างได้นำช้างเผือกมงคลของพญามังรายไปผูกไว้ในป่าแต่ช้างได้พลัดหายไป พญามังรายจึงเสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทอง ริมแม่น้ำกก และได้แลเห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ เป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นบริเวณนั้น แล้วขนานนามเมืองว่า “เวียงเชียงราย” ตามพระนามของพญามังรายผู้สร้าง
       
       จึงได้มีการนำรูปช้างสีขาว (หรือช้างเผือกของพญามังราย) ใต้เมฆแห่งความรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุข อยู่บนพื้นสีม่วงของวันเสาร์ ซึ่งตรงกับวันประสูติของพญามังราย เป็นสีประจำจังหวัด นอกจากนี้ ช้างยังเป็นตัวแทนของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ได้เคยใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกปราบศัตรูจนได้ชัยชนะ



ชาวต่างชาติก็ยังชื่นชอบช้างไทย
       ที่จังหวัดใกล้ๆ กัน อย่าง จ.เชียงใหม่ ก็มีตราประจำจังหวัดคือ รูปช้างเผือกในเรือนแก้ว ซึ่งช้างเผือกที่เห็นนั้นคือช้างเผือกที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และยังได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาลอีกด้วย
       
       นอกจากนี้ ในสมัยก่อนนั้น เมืองเชียงใหม่มีช้างอยู่มาก และเป็นกำลังสำคัญในการทำป่าไม้ที่จะต้องใช้กำลังช้างในการชักลากไม้ ส่วนเรือนแก้วนั้นหมายถึง ดินแดนที่พระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่น และเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งเคยเป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ.2020
       
       จ.ตาก มีตราประจำจังหวัด คือ รูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างเหนือครุฑหลั่งน้ำทักษิโณฑก มีความหมายถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบอังวะนั้น พระมหาอุปราชเมืองพม่า สั่งให้ทหารคู่ใจคอยตีขนาบและปลงพระชนม์เสียให้ได้ ความแตกรู้ถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง จึงทรงประชุมชาวเมืองและบรรดาแม่ทัพนายกอง เมื่อเดือน 2 ปีวอก พ.ศ. 2127 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณฑกเหนือแผ่นดิน ประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นกับเมืองอังวะอีกต่อไป ซึ่ง จ.ตากเป็นด่านแรก ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างยกกองทัพกลับเข้ามาถึงราชอาณาจักรไทย
       
       ส่วนตราประจำจังหวัด ของ จ.แม่ฮ่องสอน คือ รูปช้างในท้องน้ำ แสดงถึงการฝึกช้างป่าให้รู้จักการบังคับบัญชาในการรบและงานด้านต่างๆ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของชาวเมืองแม่ฮ่องสอนมาตั้งแต่โบราณ และยังเกี่ยวข้องกับการมาตั้งเมืองแม่ฮ่องสอนอีกด้วย โดยเริ่มที่เจ้าแก้วเมืองออกจับช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ และได้รวบรวมชาวไทยใหญ่ให้มาตั้งเมืองเป็นหลักแหล่งโดยมีหัวหน้าเป็นผู้ปกครอง ที่บ้านปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอน สาเหตุที่เรียกว่าแม่ฮ่องสอนก็เพราะว่าได้มาตั้งคอกฝึกช้างที่บริเวณลำห้วยแห่งนั้นนั่นเอง


ตราจังหวัดต่างๆ (จากซ้ายไปขวา)
แถวบน : กรุงเทพมหานคร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก
แถวล่าง : แม่ฮ่องสอน, นครนายก, สุพรรณบุรี และ สุรินทร์

       จังหวัดในภาคกลาง ก็มีตราประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับช้างด้วยเช่นกัน คือที่ จ.นครนายก ตราประจำจังหวัดเป็นรูปช้างชูรวงข้าว ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่มากในนครนายก ในอดีตนั้นนครนายกเคยมีช้างป่าอาศัยอยู่มาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และนอกจากนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นที่ราบลุ่ม เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ผู้คนส่วนใหญ่จึงทำนาเป็นอาชีพหลัก
       
       และที่ จ.สุพรรณบุรี เมืองยุทธหัตถี ก็ยังมีตราประจำจังหวัดที่เป็นรูปการยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชของพม่า เหตุที่ใช้เครื่องหมายนี้เนื่องมาจากเมื่อการศึกครั้งนั้น ไทยได้รับชัยชนะและอิสรภาพอย่างแท้จริง และบริเวณที่กระทำยุทธหัตถีก็อยู่ในท้องที่ อ.ดอนเจดีย์ ใน จ.สุพรรณบุรี นั่นเอง
       
       สุดท้าย ที่ขาดไม่ได้ก็คือเมืองช้างอย่าง จ.สุรินทร์ ที่มีตราประจำจังหวัดเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้าง ส่วนด้านหลังเป็นเจดีย์ปรักหักพัง แสดงถึงการที่สุรินทร์มีช้างอยู่มากตั้งแต่ในสมัยก่อน และมีการจับช้างป่ามาเลี้ยงอยู่เสมอจนกระทั่งทุกวันนี้ และยังเป็นจังหวัดที่ได้รับอิทธิพลในการก่อสร้างมากจากของโบราณ ดังจะเห็นได้จากปราสาทขอมที่หลงเหลือให้เห็นอยู่
       
       ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าช้างยังมีความผูกพันกับประเทศไทยอย่างมากมาย แต่จากสถานการณ์การของช้างไทยในปัจจุบัน ที่มีทั้งปัญหาการไล่ล่าช้าง ฆ่าช้างเอางา การนำช้างป่าออกมากจากป่า ซึ่งส่งผลให้ช้างไทยลดจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งหากว่ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ช้างไทยก็คงจะเหลือเพียงแค่ในตำนาน



.

-http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000032734-

.

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000032734

.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 14, 2012, 06:09:54 am โดย sithiphong »
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)