ผู้เขียน หัวข้อ: สำนวนไทย...รู้ไว้ ไม่ล้าสมัย  (อ่าน 2330 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
สำนวนไทย...รู้ไว้ ไม่ล้าสมัย
« เมื่อ: มีนาคม 18, 2012, 07:30:41 am »
สำนวนไทย...รู้ไว้ ไม่ล้าสมัย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยเป็นพวกเจ้าบทเจ้ากลอน จะพูดจาหรือสั่งสอนใคร ก็มักจะอ้างเอาสำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพยที่พูดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณมาเปรียบเทียบเปรียบเปรยเสมอ ซึ่งคำเหล่านี้มักจะเป็นคำที่คล้องจองกัน ทำให้จดจำได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

            ที่สำคัญ สำนวนไทยยังมีเสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการดึงเอาสิ่งที่อยู่รอบตัวมาเปรียบเทียบ ดังนั้น เราอาจพูดได้ว่า สำนวนไทยมีความผูกพันกับชีวิตของเราอย่างใกล้ชิด และยังให้ข้อคิดสอนใจ ซึ่งสำนวนไทยนั้นมีอยู่มากมาย แต่เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนอาจยังไม่เข้าใจความหมายของ สำนวนไทย บางคำ หรือบางประโยค แม้จะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ก็ตาม วันนี้ กระปุกดอทคอม มีเกร็ดความรู้เรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

            สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงได้ตายตัว สลับที่หรือตัดตอนไม่ได้ มีความหมายเชิงเปรียบเทียบลึกซึ้งโดยครอบคลุมไปถึง ภาษิต สุภาษิต และคำพังเพย โดยสามารถแยกได้เป็น...

สำนวนที่มีเสียงสัมผัส

- เรียง 4 คำ ต้นร้ายปลายดี น้ำใสใจจริง
- เรียง 6 คำ ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
- เรียง 8 คำ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
- เรียง 10 คำ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
- เรียง 12 คำ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่

สำนวนที่ไม่มีเสียงสัมผัส

- เรียง 2 คำ ชิมลาง ขบเผาะ
- เรียง 3 คำ ถ่านไฟเก่า คมในฝัก
- เรียง 5 คำ น้ำขึ้นให้รีบตัก ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
- เรียง 6 คำ ถ่มน้ำลายแล้วกลืนกิน ยกภูเขาออกจากอก

ที่มาของสำนวน

1 สำนวนที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่
ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ทรัพย์ในดินสินในน้ำ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน

2 สำนวนเกี่ยวกับพืช
ขิงก็ราข่าก็แรง มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก ใบไม้ร่วงจะออกช่อ

3 สำนวนเกี่ยวกับสัตว์
โง่เง่าเต่าตุ่น ตีปลาหน้าไซ นกมีหูหนูมีปีก

4 สำนวนเกี่ยวกับนิทาน
กิ้งก่าได้ทอง กระต่ายตื่นตูม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ชาวนากับงูเห่า

สำหรับ สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ มีดังนี้

หมวด ก.
กงเกวียนกำเกวียน  - เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม
กบในกะลาครอบ - ผู้มีประสบการณ์และความรู้น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน – ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กระเชอก้นรั่ว – สุรุ่ยสุร่าย, ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ, ไม่ประหยัด
กระดังงาลนไฟ – ผู้หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติ และเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน
กระดี่ได้น้ำ – อาการแสดงความดีอกดีใจ ตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระต่ายขาเดียว – ยืนกรานไม่ยอมรับ
กระต่ายตื่นตูม –  คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
กระต่ายหมายจันทร์ – ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
กระโถนท้องพระโรง – ผู้ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใคร ๆ ก็พากันรุมใช้อยู่คนเดียว
กวนน้ำให้ขุ่น – ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ – ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเล ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
กาคาบพริก – ลักษณะที่คนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
กำแพงมีหูประตูมีช่อง, กำแพงมีหูประตูมีตา – การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไร ก็อาจมีคนล่วงรู้ได้
กินที่ลับไขที่แจ้ง – เปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ
กินน้ำใต้ศอก – จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
กินบนเรือนขี้บนหลังคา – เนรคุณ
กินปูนร้อนท้อง – ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง – เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา
เกลือจิ้มเกลือ – ไม่ยอมเสียเปรียบกัน, แก้เผ็ดให้สาสมกัน
เกลือเป็นหนอน – ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านที่คิดทรยศ,หนอนบ่อนไส้
เกี่ยวแฝกมุงป่า – ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัว
แกว่งเท้าหาเสี้ยน – รนหาเรื่องเดือดร้อน
ใกล้เกลือกินด่าง – มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
ไก่แก่แม่ปลาช่อน – หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
ไกลปืนเที่ยง – ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ – ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน

หมวด ข.
ขนทรายเข้าวัด – หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
ขนมผสมน้ำยา – พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง – ไม่กระทบกระเทือนถึงเดือดร้อน
ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า – บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
ขว้างงูไม่พ้นคอ – ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง
ขวานผ่าซาก – โผงผางไม่เกรงใจใคร
ขายผ้าเอาหน้ารอด – ยอมสละสิ่งสำคัญเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้
ขิงก็รา ข่าก็แรง – ต่างไม่ยอมลดละกัน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน – ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
เข็นครกขึ้นภูเขา – ทำงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก
เข้าตามตรอกออกตามประตู – ทำตามธรรมเนียมประเพณี
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม – ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาละเทศะ
เขียนด้วยมือลบด้วยตีน – ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง
เขียนเสือให้วัวกลัว – ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
ไข่ในหิน – ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง

หมวด ค. , ฆ.
คดในข้อ งอในกระดูก – มีสันดานคดโกง
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คมในฝัก – มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้เห็น
คว้าน้ำเหลว – ไม่ได้ผลตามต้องการ
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด – มีความรู้มาก แต่ไม่รู้จักเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
คางคกขึ้นวอ – คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดี ลืมตัว
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน – ชายสูงอายุที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว
ฆ่าความอย่าเสียดายพริก – ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่

หมวด ง. , จ.
งมเข็มในมหาสมุทร – ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก
งอมืองอตีน – เกียจคร้าน, ไม่สนใจขวนขวายการทำงาน
เงยหน้าอ้าปาก – มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน
จับแพะชนแกะ – ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทน เพื่อให้ลุล่วงไป
จับเสือมือเปล่า – แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
จุดไต้ตำตอ – พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเจ้าตัวเข้า โดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว

หมวด ช. , ซ.
ชนักติดหลัง – ความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน – ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
ชักใบให้เรือเสีย – พูดหรือทำขวาง ๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
ชักแม่น้ำทั้งห้า – พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
ชักหน้าไม่ถึงหลัง – มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม, ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม – ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล
ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไม่มิด – ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
ชิงสุกก่อนห่าม – ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัน หรือยังไม่ถึงเวลา (มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน)
ชุบมือเปิบ – ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ, ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว – ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง, ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลาย่อมได้รับความเดือดร้อน

หมวด ฒ. , ด.
เฒ่าหัวงู – คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบาย หลอกเด็กผู้หญิงในทางกามารมณ์
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ – ให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคลหรือผู้หญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
เด็ดดอกไม้ร่วมต้น – เคยทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติก่อน จึงมาอยู่ร่วมกันในชาตินี้
เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด – ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
ได้ทีขี่แพะไล่ – ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ

หมวด ต.
ตกกระไดพลอยโจน – จำเป็นที่จะต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางเลี่ยง
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ – ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง – ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา – ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว
ตัดช่องน้อยแต่พอตัว – เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว
ตัดไฟต้นลม, ตัดไฟหัวลม – ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป
ตัดหางปล่อยวัด – ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ – ลงทุนไปโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน
ตีตนก่อนไข้, ตีตนตายก่อนไข้ – กังวลทุกข์ร้อนหรือหวาดกลัวในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ตีนถีบปากกัด – มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้องโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
ตีวัวกระทบคราด – โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่ง
เตี้ยอุ้มค่อม – คนที่มีฐานะต่ำต้อยหรือยากจน แต่รับภาระเลี้ยงดูคนที่มีฐานะเช่นตนอีก
แตงร่มใบ – มีผิวเป็นนวลใยในวัยสาว

หมวด ถ. , ท.
ถ่มน้ำลายรดฟ้า – ประทุษร้ายต่อสิ่งที่สูงกว่าตน ตัวเองย่อมได้รับผลร้าย
ถอนรากถอนโคน – ทำลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น – ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วน แต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง
เถรส่องบาตร – คนที่ทำอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องราว
ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ – สิ่งที่มีอยู่หรือเกิดตามธรรมชาติ อันอาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
ทองไม่รู้ร้อน – เฉยเมย,ไม่กระตือรือร้น, ไม่สะดุ้งสะเทือน
ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป – ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย
ทำนาบนหลังคน – หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
ทำบุญเอาหน้า – ทำบุญเพื่ออวดผู้อื่น ไม่ใช่ทำด้วยใจบริสุทธิ์
เทือกเถาเหล่ากอ  - เชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมา

หมวด น.
นกสองหัว – คนที่ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกัยโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
นายว่าขี้ข้าพลอย – พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย
น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง – พูดมากแต่ได้เนื้อหาสาระน้อย
น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา – ทีใครทีมัน
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย – คำพูดที่ตรงไปตรงมา อาจไม่ถูกใจผู้ฟัง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัย คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งถูกใจผู้ฟัง แต่อาจเป็นโทษเป็นภัยได้
 
หมวด บ.
บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น – รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน
บ่างช่างยุ – คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
บ้าหอบฟาง – บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าจะเอาทั้งนั้น, อาการที่หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง
บุญทำกรรมแต่ง – บุญหรือบาปที่ทำไว้ในชาติก่อน เป็นเหตุทำให้รูปร่างหน้าตาหรือชีวิตของคนเราในชาตินี้ สวยงาม ดี ชั่ว เป็นต้น
เบี้ยน้อยหอยน้อย – มีเงินน้อย, มีไม่มาก
เบี้ยบ้ายรายทาง – เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ

หมวด ป.
ปล่อยลูกนกลูกกา – ปล่อยให้เป็นอิสระ, ไม่เอาผิด
ปล่อยเสือเข้าป่า – ปล่อยศัตรูไปอาจกลับมาทำร้ายภายหลังอีก
ปลาหมอตายเพราะปาก – คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก – คนที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ที่กดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือผู้น้อย
ปลูกเรือนคร่อมตอ – กระทำสิ่งซึ่งล่วงล้ำ ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน – ทำตามความพอใจของผู้ที่จะได้รับผลโดยตรง
ปอกกล้วยเข้าปาก – ง่าย
ปากปราศรัยใจเชือดคอ – พูดดีแต่ใจคิดร้าย
ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม – ยังเป็นเด็ก
ปากว่าตาขยิบ – พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
ปากหวานก้นเปรี้ยว – พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ
ปิดทองหลังพระ – ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
ปิดประตูตีแมว – รังแกคนไม่มีทางสู้ และไม่มีทางหนีรอดไปได้
ปีกกล้าขาแข็ง – พึ่งตัวเองได้ (เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักใช้กล่าวเชิงตำหนิติเตียนผู้น้อย)
เป็ดขันประชันไก่ – ผู้ที่มีความรู้ความสามารถน้อย แต่อวดแสดงแข่งกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง
ไปไหนมาสามวาสองศอก – ถามอย่างหนึ่งตอบไปอีกอย่างหนึ่ง

หมวด ผ. ฝ.
ผักชีโรยหน้า – การทำความดีเพียงผิวเผิน
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง – คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
ผีซ้ำด้ำพลอย – ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลง หรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย
ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน – พลอยเหลวไหลไปด้วยกัน
ฝนทั่งให้เป็นเข็ม – เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล
ฝากปลาไว้กับแมว – ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจ
ฝากผีฝากไข้ – ขอยึดเป็นที่พึ่งจนวันตาย
ฝ่าคมหอกคมดาบ – เสี่ยงภัยในสงคราม, เสี่ยงอันตรายจากอาวุธนานาชนิด

หมวด พ. ฟ.
พบไม้งามเมื่อยามขวานบิ่น – พบหญิงสาวที่ต้องใจเมื่อแก่
พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก – ความทุกข์ยากเกิดซ้อน ๆ เข้ามาในขณะเดียวกัน
พระอิฐพระปูน – นิ่งเฉย, ไม่รู้สึกยินดียินร้าย
พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ – เปลี่ยนแปงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ – รู้ทันกัน
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง – พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
เพชรตัดเพชร – คนเก่งต่อคนเก่งมาต่อสู้กัน
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร – การยอมแพ้ทำให้เรื่องสงบ
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด – ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อ
ไฟสุมขอน – อารมณ์ร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ในใจ

หมวด ม.
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก – พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน
มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี – เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี
มัดมือชก – บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอำนาจและจัดการเอาตามใจชอบ
มากหมอมากความ – มากคนก็มากเรื่อง
ม้าดีดกะโหลก – มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย
มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว – มีสมบัติเพียงเล็กน้อย แต่กังวลจนนอนไม่หลับ
มือถือสาก ปากถือศีล – มักแสดงตัวว่าเป็นคนมีศีลธรรม แต่กลับประพฤติชั่ว
มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ – ไม่ช่วยแล้วยังขัดขวางการทำงานของผู้อื่น
ไม่ดูตาม้าตาเรือ – ไม่พิจารณาให้รอบคอบ
ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ – ไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล
ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ – ด่วนทำไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร
ไม้ใกล้ฝั่ง – แก่ใกล้ตาย
ไม้หลักปักขี้ควาย, ไม้หลักปักเลน – โลเล, ไม่แน่นอน
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก – อบรมสั่งสอนเด็กให้ประพฤติดีได้ง่ายกว่าอบรมสั่งสอนผู้ใหญ่

หมวด ย.
ยกตนข่มท่าน – พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า
ยกภูเขาออกจากอก – โล่งใจ, หมดวิตกกังวล
ยกเมฆ – เดาเอา, นึกคาดเอาเอง; กุเรื่องขึ้น
ยกหางตัวเอง – ยกยอตนเอง
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว – ทำอย่างเดียวได้ผล 2 อย่าง
ยิ้มด้วยปาก ถากด้วยตา – เยาะเย้ยด้วยกิริยาท่าทาง
ยืนกระต่ายขาเดียว – พูดยืนยันอยู่คำเดียว ไม่เปลี่ยนความคิดเดิม
ยุให้รำตำให้รั่ว – ยุให้ผิดใจกัน, ยุให้แตกกัน

หมวด ร.
รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา – ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลำบาก
รักพี่เสียดายน้อง - ลังเลใจ, ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ – รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่กันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้
ราชรถมาเกย – โชค ลาภ หรือยศตำแหน่งมาถึงโดยไม่รู้ตัว
ราชสีห์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ – คนที่มีอำนาจหรืออิทธิพลพอ ๆ กันอยู่รวมกันไม่ได้
รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง – ทำไม่ดีหรือทำผิดแล้วไม่รับผิด กลับโทษผู้อื่น
รีดเลือดกับปู – เคี่ยวเข็ญหรือบีบบังคับเอากับผู้ที่ไม่มีจะให้
รู้งู ๆ ปลา ๆ – รู้เล็ก ๆ น้อย ๆ, รู้ไม่จริง
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม – เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง – รู้จักเอาตัวรอดหรือปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์
เรียนผูกต้องเรียนแก้ – รู้วิธีทำก็ต้องรู้วิธีแก้ไข
เรือร่มในหนอง ทองจะไปไหน – คนในเครือญาติแต่งงานกันทำให้ทรัพย์มรดกไม่ตกไปอยู่กับผู้อื่น
เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ – มีอุปสรรคเมื่อใกล้จะสำเร็จ

หมวด ล.
ล้มหมอนนอนเสื่อ – ป่วยจนต้องนอนพักรักษาตัว
ลางเนื้อชอบลางยา – ของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งกลับไม่ชอบ
ลิ้นกับฟัน – การระทบกระทั่งกันบ้างแต่ไม่รุนแรงของคนที่ใกล้ชิดกัน
ลิ้นตวัดถึงใบหู – พูดจาตลบตะแลงเชื่อไม่ได้
ลูกไก่อยู่ในกำมือ – ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่มีทางหนีหรือทางต่อสู้
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น – ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
เล่นกับหมา หมาเลียปาก – ลดตัวลงไปหรือวางตัวไม่เหมาะสมจึงถูกลามปาม
เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ – เลี้ยงลูกศัตรูหรือลูกคนพาลจะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
เลือกที่รักมักที่ชัง – ลำเอียง
เลือกนักมักได้แร่ – เลือกนักมักจะได้ที่ไม่ดี (มักใช้พูดตำหนิผู้เลือกคู่ครอง)
เลือดข้นกว่าน้ำ – ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น

หมวด ว. ศ.
วัดรอยเท้า – คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น
วันพระไม่มีหนเดียว – วันหน้ายังมีโอกาสอีก (มักใช้พูดเป็นเชิงอาฆาต)
วัวลืมตีน – คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน
วัวสันหลังหวะ – คนที่มีความผิดติดตัวทำให้มีความหวาดระแวง
วัวหายล้อมคอก – เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข
ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง – ตำหนิผู้อื่นเรื่องใดแล้วตนก็กลับทำในเรื่องนั้นเสียเอง
ศิษย์คิดล้างครู – ศิษย์เนรคุณที่มุ่งคิดจะทำลายล้างครูบาอาจารย์
ศิษย์นอกครู – ศิษย์ที่ประพฤติไม่ตรงตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

หมวด ส.
สร้างวิมานในอากาศ – ใฝ่ฝันถึงความมั่งมี, คิดคาดหรือหวังจะมี หรือเป็นอะไรอย่างเลิศลอย
สวยแต่รูป จูบไม่หอม – มีคูปร่างหน้าตาสวย แต่มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่ดี
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ – ความสุขที่เกิดจากการทำความดี หรือความทุกข์ที่เกิดจากการทำความชั่วย่อมอยู่ในใจของผู้ทำเอง
สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ – สอนสิ่งที่เขารู้ดีหรือที่เขาถนัดอยู่แล้ว
สันหลังยาว – คำเรียกคนเกียจคร้านเอาแต่นอน
สาวไส้ให้กากิน – เอาความลับของฝ่ายตนไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน
สิ้นไร้ไม้ตอก – ยากไร้, ขัดสนถึงที่สุด, ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว
สิบเบี้ยใกล้มือ – ของหรือประโยชน์ที่ควรได้ก็เอาไว้ก่อน
สีซอให้ควายฟัง – แนะนำคนโง่ไม่มีประโยชน์
สุกเอาเผากิน – ทำลวก ๆ, ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่ง ๆ
สุนัขจนตรอก – คนที่ฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิต
เส้นผมบังภูเขา – เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก
เสือซ่อนเล็บ – ผู่ที่มีความเก่งกล้าสามารถแต่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ปรากฏ
เสือนอนกิน –คนที่ได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไร โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ – ทำให้หมดราคี, ทำให้หมดมลทิน

หมวด ห.
หนักไม่เอา เบาไม่สู้ – ไม่มีความอดทนที่จะทำการงาน
หนามยอกเอาหนามบ่ง – ตอบโต้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน
หน้าไหว้หลังหลอก – ต่อหน้าทำเป็นดี แต่ลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย
หนีเสือปจระเข้ – หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง
หมาหวงราง – คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่น
หมาสองราง – คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่มักไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
หมาหวงห้าง – คนที่หวงชองที่ตนไม่มีสิทธิ์
หมาเห่าใบตองแห้ง – คนที่เก่งแต่พูด
หมายน้ำบ่อหน้า – มุ่งหวังจะได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง
หอกข้างแคร่ – คนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
หัวมังกุท้ายมังกร – ไม่เข้ากัน, ไม่กลมกลืนกัน
หัวล้านได้หวี – ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว – ทำประชด ซึ่งรังแต่จะเสียประโยชน์
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว – เห็นผิดเป็นชอบ, เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เห็นขี้ดีกว่าไส้ – เห็นคนอื่นดีกว่าญาติพี่น้อง
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง – ทำเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีกำลังทรัพย์หรือความสามารถพอ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ – หยิบหย่ง, ทำอะไรไม่จริงจัง, ไม่เอาการเอางาน
เหยียบเรือสองแคม – ทำทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย

หมวด อ.
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน – อดใจไว้ก่อน เพราะหวังสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า
อ้อยเข้าปากช้าง – สิ่งหรือประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือแล้วไม่ยอมคืน
อาบน้ำร้อนมาก่อน – เกิดก่อนจึงมีประสบการณ์มากกว่า
เอาทองไปรู่กระเบื้อง, เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ – โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาล หรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควร
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน – แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า
เอามือซุกหีบ – หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่ที่
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง – คัดค้านผู้ใหญ่ ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า หรือผู้ที่มีฐานะสูงกว่า ย่อมไม่สำเร็จ และอาจได้รับผลร้ายแก่ตัวเองอีกด้วย
เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ –  แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

            และนี่ก็คือ สำนวน สุภาษิตไทย ที่บ่งบอกได้ถึงวัฒนธรรมทางความคิดของคนไทยได้เป็นอย่างดี หวังว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ จะมีความรู้ความเข้าใจในสำนวน สุภาษิตไทย มากยิ่งขึ้นนะคะ^^


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-

  ipesp.ac.th, kkw.ac.th, หนังสือสุดยอดความรู้รอบตัว โดยฝ่ายวิชาการภาษาไทย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)



-http://hilight.kapook.com/view/68531-

.















































คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)