อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

หลวงปู่เทพโลกอุดร (คณะโสณะ-อุตระ)

(1/4) > >>

sithiphong:
ประวัติหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร
ลิขสิทธิ์ ท่านอาจารย์ประถม อาจสาคร

http://board.palungjit.com/f4/ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร-91379.html

http://board.palungjit.com/f179/พระวังหน้า-ที่หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรเสก-ถ้าต้องการที่จะได้-22445.html

ห้ามนำบทความนี้  ไปทำประโยชน์ทางพาณิชย์  ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยเด็ดขาด
ใช้เพื่อให้ความรู้เรื่อง หลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดร (คณะโสณะ-อุตระ) เท่านั้น
หากนำไปลงที่ใดก็ตาม  ให้ลงข้อความว่า เป็นลิขสิทธิ์ ท่านอาจารย์ประถม อาจสาคร  ด้วยทุกครั้ง


.

sithiphong:
บรมครูพระเทพโลกอุดร มีจริงหรือเป็นนิยาย

   เรื่องราวเกี่ยวกับพระเทพโลกอุดร มีมาช้านานแล้ว เริ่มต้นในยุคสมัยสุวรรณภูมิ หริภุญไชย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ หลักฐานที่ปรากฏชัดแต่ขาดการค้นคว้าอย่างจริงจัง รู้ในชนกลุ่มน้อยทางเจโตบ้าง เช่น พระอริยคุณาธาร (ปุสโสเส็ง) และหลวงปู่คำคะนิง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คณะพระเทพโลกอุดร เคยมาพำนัก ณ ถ้ำดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวไปก็ไม่มีผู้ใดเห็นอย่างท่าน บางท่านที่มีวาสนาก็พบเห็นท่านและยืนยัน ครั้งจะเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถพบเห็นท่าน คล้ายคนหนึ่งเคยเห็นผี แต่หลายคนอยากเห็นบ้างก็ไม่เห็น จนเกือบจะเป็นเรื่องอจิณไตย (คือเรื่องที่ไม่ควรนึกคิด) แต่ก็ไม่ใช่นิยาย ท่านมักอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งสามารถปรากฏได้ในสถานที่ต่าง ๆ ไม่จำกัด ทั้งผู้ที่พบเห็นก็ยังปราศจากความรู้ว่าเป็นพระเทพโลกอุดรองค์ใดกันแน่ เพราะมีอยู่ด้วยกันถึง 5 พระองค์ และอาจมาในรูปต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน หรือปรากฏรูปเดิม แต่ที่มีวาสนาบารมีสูงส่งก็คือ คุณดอน นนทะศรีวิไล คนลาวไปประกอบอาชีพที่ประเทศแคนาดา ท่านผู้นี้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ถือเอกามังสะวิรัติมานานกว่าสิบปี ซึ่งบรมครูพระเทพโลกอุดรโปรดปรานมาก คุณดอนและครอบครัวนับถือบรมครูพระเทพโลกอุดรมาก และเล่าให้ฟังว่าได้พบเห็นบรมครูพระเทพโลกอุดรด้วยตาเนื้อ 2 ครั้ง

   ครั้งแรกหลังจากเสร็จจากการนั่งสมาธิประจำวัน เป็นเวลาทางประเทศแคนาดา 0.02 น. ปรากฏพระภิกษุชรารูปหนึ่งเดินเข้ามาในบ้าน คุณดอนทราบทางจิตว่าเป็นบรมครูพระเทพโลกอุดรแน่ จึงก้มลงกราบและเรียบถามท่านว่า “หลวงปู่คือพระเทพโลกอุดรใช่ไหม” ท่านตอบว่า “ใช่” คุณดอนไม่ทันได้เตรียมตัวและไม่ได้ถามถึงข้อปฏิบัติธรรม จึงถามว่า “พระพิมพ์ที่อาจารย์ประถมฝากมาให้เป็นของหลวงปู่อธิษฐานจิตจริงหรือเปล่า” ท่านตอบว่า “จริง” ต่อจากนั้นคุณดอนก็ตื่นเต้นไม่ทราบจะถามอะไรอีกต่อไป ครั้นแล้วหลวงปู่ก็หายไป การที่ท่านปรากฏเช่นนั้นเรียกว่าปรากฏกายธรรม สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อและสัมผัสได้ จึงเกิดปัญหาถกเถียงกันสำหรับผู้มีภูมิปัญญาไม่ถึงขั้น ไม่รู้จักคำว่า กายทิพย์ กายธรรม

   ครั้งที่สอง เป็นการนั่งทำสมาธิทั้งคณะประมาณ 5 คนด้วยกัน หลวงปู่โลกอุดรมาปรากฏอีก  ท่านยืน ไม่ได้เตรียมอาสนะไว้ต้อนรับ ท่านแสดงธรรมย่อ และว่าคณะปฏิบัติธรรมพอจะทราบอะไรบ้างแล้วพอสมควร ต่อไปท่านอาจจะไม่มาอีก จะให้ของไว้เป็นเครื่องระลึก แล้วท่านก็มองไปยังแก้วน้ำปรากฏเป็นแสงสีเขียวพุ่งออกจากดวงตาข้างหนึ่ง ทันใดนั้นน้ำในแก้วได้จับตัวแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ หลายก้อนด้วยกัน ท่านบอกว่าให้แบ่งกันเก็บเอาไว้เป็นของดี มีอะไรคุณดอนก็เล่าสู่กันฟัง เป็นที่เชื่อถือได้ และมีตัวตนจริง

sithiphong:
หลวงปู่โง่น โสรโย แห่งสำนักสงฆ์เขารวก จังหวัดพิจิตร บอกว่าหลวงปู่โลกอุดรมีสภาวะแห่ง      อทิสมานกาย คือ ไม่มีตัวตน หลวงปู่โง่นเองเดินทางไปพบท่านที่ประเทศนอร์เวย์ครั้งหนึ่ง และที่ประเทศเนปาลครั้งหนึ่ง เป็นการพบแบบกายธรรม ส่วนกายทิพย์พบกันอยู่เสมอ

   หลวงพ่อจรัล วัดอัมพวัน สิงห์บุรี เคยได้พบท่านโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นบรมครูพระเทพโลกอุดร พบที่โคนต้นไทรใหญ่ โดยได้รับการบอกเล่าจากเจ้าของที่ดินว่า ถึงปีหลวงปู่จะมาปักกลดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เจ้าของที่เล่าว่าตั้งแต่จำความได้จนถึงอายุได้ 80 ปีเศษ หลวงปู่ก็ยังคงทรงลักษณะเดิมไม่แปรเปลี่ยน หลวงพ่อจรัล เรียกท่านว่า “หลวงพ่อดำ” ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากท่านพอสมควร บางทีคนมีวาสนาได้พบท่านแล้วไม่รู้จักว่าท่านเป็นใครมีอยู่มาก คณะพระโลกอุดร เป็นชาวเนปาล อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นคนไทย การที่ท่านพูดภาษาไทยได้ก็เนื่องจากบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ สามารถรู้ภาษาคนและสัตว์ได้ ท่านชอบปรากฏองค์ทางป่าเมืองกาญจนบุรี เช่น อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ ครั้งล่าสุดท่านปรากฏองค์ที่เขาใหญ่ ท่านอภิชิ-โต ภิกขุ และท่านพันเอกชม สุคันธรัต ไปเฝ้าท่านอยู่นานวัน และท่านอภิชิโต ภิกขุ ได้มรณภาพได้ไม่นาน เรื่องราวบางตอนได้อาศัยท่านอภิชิโต ภิกขุ เป็นผู้บอกเล่า มิได้เป็นนวนิยายเลื่อนลอย ไม่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์ และโปรดเข้าใจด้วยว่าภาพพระโลกอุดรที่ใช้บูชากันอยู่ในปัจจุบันนั้นมิใช่องค์บรมครูพระเทพโลกอุดร เพียงแต่เป็นพระเทพโลกอุดรองค์ที่สาม นามว่า “พระอิเกสาโร หรือหลวงปู่โพรงโพ” การปรากฏกายธรรมในปัจจุบัน ส่วนมากมักจะเป็นพระโลกอุดรองค์ที่สาม และแทรกซ้อนด้วยหลวงปู่แจ้งญาณ ซึ่งเป็นศิษย์เอกคู่กับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ท่านทั้งสอง ท่านอภิชิโต เรียกว่า “ครูฝึก” ปกติหลวงปู่ไม่ได้ลงมือสอนวิชาด้วยตนเอง ให้ศึกษากับครูฝึก เมื่อจบขั้นแล้วท่านจึงจะทำการทดสอบทุกครั้งไป

sithiphong:
วิเคราะห์คำอรหันต์

   พระอรหันต์ขีณาสพ หมายถึง ผู้ละสังโยชน์ 10 ประการ โดยไม่มีการเวียนกลับ บรรลุเต-วิชโชวิชาสามบ้าง ฉฬภิญโญวิชาหกบ้าง สุกขวิปัสสโกบ้าง เป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลส และจบกิจไม่ข้องแวะต่อโลก ยังมีอีกคำหนึ่งเรียกว่า “อรหัน” หมายถึง ผู้สำเร็จอภิญญาโลกีย์ หรืออภิญญาห้า ไม่สามารถทำอาสวะให้สิ้นทุกอย่าง มีอิทธิวิธีแบบพระอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น พิจารณาอย่างเรา ๆ ปุถุชนมองไม่ออก ประเภทนี้การกระทำตนแบบโพธิสัตว์ เช่น โป๊ยเซียนโจ๊วซือทั้ง 8 พระแม่กวนอิม ฯลฯ และประเทศลาวก็มี สำเร็จลุน (ไม่ใช่สมเด็จลุน ท่านมิได้เป็นพระราชาคณะ) สามเณรคำ “อรหัน” จึงแปลว่าผู้วิเศษ ตามคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน อรหันทองคำ จั๊บโป้ยล่อฮั่น ตั๊กม้อ โจ๊วซือ ก็ประเภท “อรหัน” นี่แหละ

   ผมไม่กล้าที่จะวิเคราะห์ครูอาจารย์ให้เกินเหตุ เพียงแต่ว่าจะชี้แนะตามหลักวิชาให้หูตาสว่าง ตามประวัติกล่าวว่าพระโสณ พระอุตร เป็นพระอรหันต์ พระโลกอุดรมาจากคำอุตร แปลว่าผู้เหนือโลก พระโสณ บรรลุธรรมก่อนพระอุตร ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมสายโลหิต จึงเรียกว่า “พระโสณ อุตร” ไม่เรียก “อุตร โสณ” คำหลวงปู่ใหญ่ หมายถึง “พระอุตร เถรเจ้า” เป็นพระอรหันต์ยังไม่จบกิจแบบพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ ยังค้ำจุนพระศาสนาไปจนกว่าจะสิ้นพุทธธันดร (พ.ศ.5000) ถ้าจบกิจแล้วท่านก็หมดหน้าที่ เพียงแต่ท่านไม่ต้องสร้างบารมีต่อแบบอีกสององค์ คือ หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า หลวงปู่หน้าปาน ซึ่งยังต้องบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อ ท่านมิได้ประกาศตนแจ้งชัด เพียงแสดงปริศนาธรรม เช่นหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า ซึ่งมีอายุมากกว่าหลวงปู่ใหญ่ด้วยซ้ำไป มาในรูปหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา บ้านหมี่ ลพบุรี แสดงปริศนาธรรม ขรัวขี้เถ้าเผาแหลก มีอะไรเผาจนหมดจนกลายเป็นขี้เถ้า ให้รู้ว่าแม้แต่ตัวเราต่อไปก็ไม่พ้นการเป็นขี้เถ้า หลวงปู่ขรัวหน้าปาน ท่านก็บอกอยู่โต้ง ๆ แล้วว่า ท่านเป็นพระสำเร็จ (อรหัน) มาอาศัยร่างท่านมหาชวน เพื่อบำเพ็ญบารมีต่อ ท่านอภิชิโต ภิกขุ กล่าวกับผมว่า นับตั้งแต่เป็นศิษย์หลวงปู่ใหญ่ครั้งยังบรรพชาเป็นสามเณร จนอายุได้ 70 ปี ยังศึกษาไม่จบ ท่านเป็นอาจารย์ที่ผมรักและเคารพมาก ผมไม่อยากให้คนมีจิตฟุ้งติดฤทธิ์มากนัก เพียงอยากให้เป็นความรู้ในด้านสารคดี อรรถคดีพอสมควร มิฉะนั้นเรื่องจะยาวเกินควร

sithiphong:
ปริเฉทหนึ่ง
คณะพระธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังแคว้นสุวรรณภูมิ

   กล่าวย้อนไปถึงอดีตกาล พุทธศักราชผ่านพันไป 303 ปี (ตามหลักฐานบันทึกในหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา คำบรรยายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ อดีตภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปกร) และตามหลักฐานของวัดเพชรพลี (บันทึกอักษรเทวนาครี ขุดค้นพบ ณ ซากศิลาวัดคูบัว ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี) ว่าพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิ ในปีพุทธศักราช 235 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกัน 68 ปี

   พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทราบกระทำตติยสังคายนาพระไตรปิฎก คือ การชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ครั้งแล้วจึงอาราธนาพระโมคคลีบุตร ติสสเถระ องค์อรหันต์เป็นประธานคัดเลือกบรรดาพระอรหันต์เถระ ออกทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ ในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา กล่าวถึงนามพระอรหันต์ที่แยกย้ายออกทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ดังนี้:-
   1.พระมัชฌันติกเถระ ไปยังกัสสมิรและคันธารประเทศ (คือ ประเทศแคชเมียร์ และอัฟกานิสถาน ในปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   2.พระมหาเทวะเถระ ไปยังมหิสมมณฑล (คือ แว่นแคว้นทางใต้ ลำน้ำโคทาวดี อันเป็นประเทศ     ไมสอปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   3.พระรักขิตเถระ ไปยังวนวาสีประเทศ (คือ แว่นแคว้นกะนาราเหนือ อันเป็นเขตเมืองบอมเบย์ปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   4.พระธรรมรักขิตเถระ ไปยังปรันตกโยนประเทศ (คือ แว่นแคว้นตอนชายทะเลด้านเหนือเมือง    บอมเบย์ปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   5.พระมหาธรรมรักขิตเถระ ไปยังมหารัฐประเทศ (คือ แว่นแคว้นตอนเหนือของลำน้ำโคทาวารี) แห่งหนึ่ง
   6.พระมหารักขิตเถระ ไปยังโยนโลกประเทศ (คือ บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่พวกโยนกได้ครองความเป็นใหญ่ในดินแดนประเทศเปอร์เซียปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   7.พระมัชฌิมเถระ ไปยังหิมวันตประเทศ (คือ มณฑลซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย มีเนปาลราช เป็นต้น) แห่งหนึ่ง
   8.พระโสณเถระ กับ พระอุตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิประเทศ (ข้อถกเถียงเรื่องสุวรรณภูมิเป็นมา    ช้านาน ฝ่ายไทยอ้างนครปฐมเป็นราชธานีของสุวรรณภูมิ พม่าอ้างเมืองสะเทิมอันเป็นมอญฝ่ายใต้เป็นสุวรรณภูมิ เขมรและลาวต่างก็อ้างว่าประเทศของตนคือสุวรรณภูมิ แต่ใครจะอ้างอย่างไรก็ล้วนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งสิ้น คือ ท่านศาสตราจารย์เดวิดส์ อธิบายว่า เริ่มแต่รามัญประเทศไปจรดเมืองญวน และตั้งแต่พม่าไปจรดแหลมมลายู หรือที่เรียกว่าอินโดจีน เป็นสุวรรณภูมิทั้งนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งว่า คำที่เรียกสุวรรณภูมิประเทศนั้น จะหมายรวมดินแดนที่มีเป็นประเทศมอญและไทยภายหลังทั้งหมด เหมือนอย่างที่เราเรียกว่าอินเดีย เป็นชมพูทวีปก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นใครในแหลมอินโดจีนจะอ้างว่าประเทศของตนเป็นสุวรรณภูมิ จึงเป็นการถูกต้องด้วยกันทั้งนั้นไม่มีปัญหา ที่ไทยอ้างเอานครปฐมเป็นราชธานีนั้น ก็เพราะจังหวัดนครปฐมมีเนื้อที่ภูมิประเทศกว้างขวาง และมีโบราณสถานโบราณวัตถุสร้างไว้มาก แต่จะเรียกชื่อเมืองหลวงว่ากระไรในครั้งกระนั้น ได้แค่สันนิษฐาน เห็นจะเรียกสุวรรณภูมินั่นเอง ชื่อนี้จึงได้แต่เป็นที่รู้กันแพร่หลายไปถึงอินเดียและลังกา จนเป็นเหตุให้ใช้ชื่อนี้ในหนังสือมหาวงศ์ฯ ว่า พระโสณ กับ พระอุตร ได้อัญเชิญพระพุทธศาสนามาประดิษฐ์สถานที่เมืองสุวรรณภูมิ และเป็นเหตุให้เรียกชื่อมหาสถูปที่เมืองนั้นว่า “พระปฐมเจดีย์” หมายความว่า เป็นพระเจดีย์องค์แรกที่ได้สร้างขึ้นในแถบประเทศตะวันออกนี้)

   ส่วนคำจารึกอักขรเทวนาครีฉบับวัดเพชรพลี ปรากฏข้อความที่พิสดารยิ่งขึ้น โดยกล่าวถึงคณะพระธรรมทูตได้เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยทางเรือ ประกอบด้วยพระโสณเถระ พระอุตรเถระ พระฌานียะ พระภูริยะ พระมูนิยะ สามเณรอิสิจน์ สามเณรคุณะ สามเณรนิตตย เขมกะอุบาสก อนีฆาอุบาสิกา อดุลยอำมาตย์ และคุณหญิงอดุลยา พราหมณ์ และนางพราหมณี ผู้คนอีก 38 คน ได้มาพักที่ วัดช้างค่อม (นครศรีธรรมราช เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.235 ออกบิณฑบาต วันขึ้น 15 ค่ำ แล้วเทศนาพรหมชาลสูตร และได้วางวิธีอุปสมบทญัตติจตุตถกรรมวาจา โดยใช้อุทกเขปเสมาหรือเสมาน้ำ และได้วางเพศชีไทย โดยถือแบบเหล่าพระสากิยานีซึ่งเป็นต้นของพระภิกษุณี โดยบวชหรือบรรพชาไม่มีเรือน ออกจากเรือน (อาคารสมา อนคาริย ปพพชชา) ได้วางวิธีสวดปาติโมกข์หรืออุโบสถกรรม ปวารณากรรม เมื่อพระเจ้าโลกละว้า (เจ้าผู้ครองแคว้นสุวรรณภูมิ) รับสั่งให้มนขอมพิสนุ ขอมเฉย ขอมสอน ขอมเมือง สร้างวัดมหาธาตุ ท่านได้วางวิธีกำหนดนิมิตผูกขันธ์สีมา พ.ศ.238 เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ

   ขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่านได้สอนพระบวชใหม่ให้ท่องพระปาติโมกข์จบหลายองค์ แล้วจึงวางวิธีสวด สาธยายโดยฝึกซ้อมให้คล่อง เมื่อคล่องแล้วจึงจะสัชฌายกันจริง ๆ ท่านให้มนขอม ปั้นพระพุทธรูปด้วยปูนขาวเป็นพระประธานในโรงพิธี เมื่อเรียบร้อยแล้วท่านวางวิธีกราบ สวดมนต์ไหว้พระเห็นดีแล้วจึงให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมา ท่านได้วางวิธีกฐินและธุดงค์ คือ เที่ยวจาริกไปในเมืองต่าง ๆ

   การสร้างพระพุทธรูปในสมัยดังกล่าวนี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมติ มีพระพุทธรูปเป็นองค์สมมติ พระสงฆ์ก็เป็นเพียงสมมติสงฆ์ ส่วนพระธรรมนั้นเป็นเพียงเสียงสวด ท่านจึงใช้วงล้อเกวียนประดิษฐ์เป็นธรรมจักรแทนพระธรรม กับมีมิค (มิ-คะ) คือ สัตว์ประเภทกวาง ฟานหรือเก้ง เป็นเครื่องหมายในสมัยสุวรรณภูมิ

   พระพุทธรูปที่มีกวางกับธรรมจักรกลับไม่มีการสร้างหรือออกแบบในสมัยนั้น มีอยู่สี่ลักษณะด้วยกัน คือ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ปรินิพพาน มีอักษรเทวนาครีจารึกระบุพระนามว่า โลกกน แบบประภามณฑล มี 3 วง ซึ่งเป็นเครื่องหมายพระนามว่า “โลก” คือ วัฎฎ 3 แบบ โปรดสหายพระยศ ส่วนปางมารวิชัยและปางสมาธิมีมาทุกสมัย

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version