ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
สงกรานต์ปีนี้ 2555
sithiphong:
เปิดตำนาน'นางกระดาน'สงกรานต์เมืองคอน
เปิดตำนาน 'นางกระดาน' อลังการสงกรานต์เมืองคอน : โดย ... กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
สงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทยซึ่งตรงกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ กำหนดตามสุริยคติ ตกวันที่ 13-14-15 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัว ศาสนา วัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การสานต่อเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม สำหรับนครศรีธรรมราชมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น หมายถึงความงดงามที่แฝงไปด้วยคติความเชื่อ อารยธรรมโบราณที่สืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า" เป็นวันส่งเจ้าเมืองเก่า เจ้าที่เจ้าทาง ชาวเมืองคอนจะทำความสะอาดบ้านเรือน จากนั้นร่วมอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาประดิษฐานที่สนามหน้าเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล
ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" เชื่อกันว่าเจ้าเมืองยังสถิตอยู่บนสวรรค์ ประชาชนจะร่วมกันทำบุญแล้วนำอาหาร เครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโส พระสงฆ์ ถือโอกาสนี้รดน้ำขอพร วันนี้จะมีการละเล่นพื้นบ้านอย่างสนุกสนาน
วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกเรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" เชื่อกันว่าเจ้าเมืองที่ได้รับมอบให้คุ้มครองเมืองต่างๆ ลงมาประจำเมือง ชาวเมืองจึงเตรียมต้อนรับด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ แล้วนำอาหารไปถวายพระที่วัด
นครศรีธรรมราชมีรูปแบบแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะเมืองคอนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงศาสนา วัฒนธรรม มีพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นปูชนียสถานสำคัญ คู่บ้านคู่เมือง มีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมือง ชาวนครศรีธรรมราช สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ด้านศาสนาพราหมณ์นั้น มีหออิศวร หอพระนารายณ์ โบราณสถานเขาคา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิมานของพระอิศวร
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีสีสันมากขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ผนวกเอางาน แห่นางกระดาน มาร่วมกับงานสงกรานต์ เพื่อให้ความรู้เรื่องประเพณีที่เก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาเจริญรุ่งเรืองในนครศรีธรรมราช
แห่นางกระดาน ประเพณีพราหมณ์ ส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า เป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จลงโลกมนุษย์ในเดือนยี่ของทุกปี เชื่อว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุข คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย เทพที่อัญเชิญรับเสด็จ ประกอบด้วย พระอาทิตย์พระจันทร์/พระแม่คงคา/ พระแม่ธรณี เทพดังกล่าวจารึกหรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวเมืองคอนเรียกไม้แกะสลักนี้ว่า "นางกระดาน" เมื่อถึงวันก็อัญเชิญนางทั้ง 3 มายังเสาชิงช้าเพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลก
หากเรียงตามลำดับ "นางกระดาน" ไปตามศักดิ์แล้วคือ นางกระดานแผ่นที่ 1 ในขบวนแห่นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ โดยพระอาทิตย์ เป็นผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่นๆ พระจันทร์หรือ "รัชนีกร" เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงาม ถือเป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อน ผสมพันธุ์สืบถึงปัจจุบัน
นางกระดานแผ่น 2 นามว่าพระธรณี เทพองค์นี้มีหน้าที่รับน้ำหนักสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายสิ่งที่พระอิศวรสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย รองรับทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรงจึงทดสอบโดยหยั่งพระบาทลงมาซึ่งหากหยั่งทั้งสองพระบาท เกรงโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทเพียงข้างเดียว ในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รองรับพระบาทของพระอิศวรไว้
กระดานแผ่น 3 นามว่าพระคงคาพระคงคา เทพองค์นี้เป็นธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร พระคงคาเป็นเทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ให้แก่สรรพสิ่ง
ขบวนแห่จะจัดขึ้นอย่างงดงามทั้งเมือง ขบวนเริ่มด้วยการบวงสรวงเทพยดาผู้ปกปักรักษาเมือง พระอิศวร พระนาราย โดยเริ่มจากสนามหน้าเมืองนครฯ สู่หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ แล้วประกอบพิธีโล้ชิงช้าที่เดิมเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ด้วยยุคสมัยใหม่การแห่จึงเน้นความอลังการ สวยงาม อนุรักษ์ประเพณีโบราณเมืองแห่งพราหมณ์ คือนครศรีธรรมราชนั่นเอง
----------
(หมายเหตุ : เปิดตำนาน 'นางกระดาน' อลังการสงกรานต์เมืองคอน : โดย ... กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล )
----------
http://www.komchadluek.net/detail/20120412/127722/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99.html
.
sithiphong:
บุญก่อพระเจดีย์ทราย : วิถีบุญ
สงกรานต์ มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้น หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่า สงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒เดือน แล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติในทางโหราศาสตร์ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนของทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็น วันเนา วันที่ ๑๕ เป็น วันเถลิงศก
ตลอดทั้ง ๓ วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย ประเพณีก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่งในช่วงเทศกาลของชาวไทย โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้วยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
โดยทั่วไปประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายจะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นรูปเจดีย์หรือสัตว์ต่างๆ ปักธงหลากสี มีธูป เทียนและดอกไม้เป็นเครื่องบูชาพระ เพื่อใช้หนี้ธรณีสงฆ์ที่ทรายติดมือติดเท้าเวลาเราไปวัด ทรายที่ก่อพระเจดีย์นำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง สาธารณประโยชน์ต่างๆ หรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญ ความสนุกสนาน และความสามัคคี
ในอดีตนั้นช่วงงานสงกรานต์แทบทุกวัดจะต้องจัดให้มีการก่อเจดีย์ทราย ไม่ว่าจะในรูปของการแข่งขัน หรือก่อเพื่อความสวยงาม เช่น ที่วัดโกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีพระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ หรือ หลวงพ่อพระมหาสัมฤทธิ์ วิสุทฺธสีโล เจ้าคณะตำบลโกรกกราก เป็นเจ้าอาวาส ยังคงเป็นหนึ่งในอารามที่เน้นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ไว้อย่างครบถ้วนซึ่งปีนี้งานจัดวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน โดยวันที่ ๑๓ เม.ย.จะเปิดรับสมัครแข่งขันก่อเจดีย์ทรายชิงรางวัล และตัดสินในวันที่ ๑๕ เมษายน ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ส่วนช่วงเช้า เวลา ๐๘.๐๐ น. ตักบาตรข้าวสาร และเวลา ๑๔๐๐ น. สรงน้ำพระ ผู้สนใจสมัครแข่งขันได้ที่ วัดโกรกกราก โทร.๐-๓๔๔๑-๑๔๐๐, ๐๘-๙๔๒๑-๔๕๓๓ และ ๐๘-๑๗๙๓-๒๐๗๘
http://www.komchadluek.net/detail/20120413/127818/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html
.
sithiphong:
สงกรานต์ชลบุรีอุ้มสาวลงน้ำ-แห่พญายม
มหัศจรรย์สงกรานต์ชลบุรีวันไหล งานกองข้าว อุ้มสาวลงน้ำ และแห่พญายม : ท่องแดนธรรม เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
งานวันไหล นับได้ว่าเป็นงานสงกรานต์ที่ขึ้นชื่อของชาวชลบุรี ซึ่งก็จัดขึ้นใน 2 พื้นที่ คือ ที่บางแสน และพัทยา ทั้งนี้จะนิยมเริ่มเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันประมาณวันที่ ๑๘-๒๐ เมษายน โดยชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายตามชายหาดที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดเข้าไปในวัด ก่อเป็นรูปกรวยเล็กๆ ๘๔,๐๐๐ กอง ซึ่งเท่ากับจำนวนของพระธรรมขันธ์ เจดีย์โดยจะมีกิจกรรมเด่นในวันที่ ๑๖ เมษายนซึ่งจะมีการประกวดก่อพระทราย และเล่นน้ำสงกรานต์บรรยากาศชายทะเลบนหาดยาวกว่า ๓ กิโลเมตร ซึ่งกิจกรรมหลังสุดนี้ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมระดับแม่เหล็กที่ทำให้งานประเพณีวันไหลพัทยา-นาเกลือโด่งดังไปทั่วโลก
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ประเพณีสงกรานต์ชลบุรีในปีนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองชลบุรี การทำบุญ-สรงน้ำพระ การออกร้านของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัฒนธรรมไทย การจัดริ้วขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ การประกวดนางสงกรานต์ การแข่งขันกีฬาไทยและกีฬาพื้นเมือง ได้แก่ การแข่งขันศิลปะมวยไทย การแข่งขันเซปักตะกร้อ และตะกร้อลอดห่วง เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น สร้างความสุขให้ประชาชน เพื่อจัดหารายได้ไปทำนุบำรุงและสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเพื่อให้เหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี ได้มีรายได้นำไปช่วยเหลือสังคมในจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีอีกด้วยโดยแต่ละอำเภอจัดงานประเพณีสงกรานต์กันอย่างยิ่งใหญ่ นานเกือบ ๓ สัปดาห์ เริ่มที่อำเภอเมืองชลบุรี มีงานแบบไม่เปียก "งานประเพณีนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ" ประจำปี ๒๕๕๕ ครั้งที่ ๘๐ ตั้งแต่วันพุธที่ ๑๑ ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เมษายน ณ บริเวณ หอพระพุทธสิหิงค์ฯ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี
สำหรับงานสงกรานต์ที่ไม่เหมือนใคร คือ สงกรานต์ที่เกาะสีชัง ไฮไลท์ของงานสงกรานต์บนเกาะสีชังอยู่ที่ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสงกรานต์ของชาวบ้านเกาะสีชังไม่นิยมสาดน้ำกัน เพราะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ (จืด) จึงใช้วิธีการ "อุ้มสาวลงน้ำ" หรือ "จูงมือลงทะเล" แทน โดยจัดกิจกรรมบริเวณชายหาดทางตอนเหนือของเกาะขามใหญ่ ชายหนุ่มจะเลือกสาวที่ชอบ แล้วขออนุญาตอุ้มลงไปเล่นน้ำ โดยระหว่างอุ้มก็จะอวยพรซึ่งกันและกัน ส่วนผู้สูงอายุก็จะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้สนุกสนานกับครอบครัว และยังเป็นช่วงให้พรกับลูกหลานด้วย งานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ ไปจนถึง ๑๙ เมษายน
ส่วนงาน “สงกรานต์ศรีมหาราชา” และ “ประเพณีกองข้าว” ของชาว “ศรีราชา” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ เมษายน สมัยก่อนนั้นจัดขึ้นในหลายอำเภอของจ.ชลบุรี เช่น อ.เมือง อ.บางละมุง อ.พนัสนิคม เป็นต้น แต่ปัจจุบันยังคงเหลือเฉพาะที่ อ.ศรีราชาแห่งเดียว ซึ่งได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง หากเอ่ยถึงตำนานการเกิดประเพณีกองข้าวนั้น เล่ากันมาว่า ในสมัยก่อน ชาวศรีราชาอยู่กันอย่างสงบสุข จนกระทั่วเกิดโรคระบาดขึ้นทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีความเชื่อกันว่า มีสาเหตุมาจากทางเมืองผีต้องการนำมนุษย์ไปเป็นทหาร ชาวบ้านจึงหาทางแก้ด้วยการนำอาหารไปบวงสรวงเซ่นไหว้
๑ เดียวในโลกแห่พญายมที่บางพระ
นายคมสัน บอกว่า ประเพณีแห่พญายม-สงกรานต์บางพระ ของชาวบ้าน ต.บางพระ อ.ศรีราชา นับว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะมีการเล่นสงกรานต์แบบทั่วไปแล้ว ก็ยังได้เห็นการแห่พญายม ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งสืบทอดยาวนานนับเป็นปีที่ ๗๕ ซึ่งประเพณีดังกล่าวถือเป็นความภูมิใจของชาวบางพระ และเป็นประเพณีที่มามีเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ ๑๗-๑๘ เมษายน ที่ชายหาดบางพระ
ประเพณีสำคัญตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำวันพุธที่ ๑๘ เมษายน คือ ชาวตำบลบางพระ จะสร้างพญายมให้แลดูน่าเกรงขาม แล้วนำไปนั่งบนเสลี่ยง แห่นำด้วยขบวนกลองยาว จากหน้าตลาดเทศบาล ไปยังชายหาด โดยจะนำข้าวปลาอาหารมากองเซ่นสัมภเวสี และเจ้าที่เจ้าทาง หลังพิธีบวงสรวงเสร็จเรียบร้อย ประชาชนจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเล แล้วปล่อยลงในทะเลเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายม ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข
ตามตำนานเล่าขานมาเนิ่นนาน ซึ่งในอดีตตำบลบางพระมีลักษณะเป็นป่าเขา ความเจริญทางด้านสาธารณะสุขยากที่จะเข้าถึง ห่างไกลโรงพยาบาล ชาวบ้านจึงเลือกวิธีการรักษาแบบโบราณ โดยใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้าน และพึ่งความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ด้วยการบนบานสานกล่าวให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น จึงมีการปั้นองค์พญายมขึ้นมา ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ นำสิ่งที่ไม่ดีลอยลงทะเลไปพร้อมกับองค์พญายม หลังจากนั้นประชาชนก็อยู่ดีกินดีทั้งกายและใจ หากปีไหนไม่มีการทำพิธีแห่องค์พญายม ปีนั้นก็จะมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ชาวบางพระ จึงได้ถือปฏิบัติประเพณีแห่พญายมมาจนถึงทุกวันนี้
http://www.komchadluek.net/detail/20120413/127819/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A1.html
.
sithiphong:
ไหว้พระรับสงกรานต์ มหัศจรรย์ล้ำค่า 6 พระอารามหลวง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2555 16:45 น.
กราบพระพุทธบาทจำลองและพระพุทธรูป ภปร. ได้ที่วัดบวรนิเวศ
ข่าวแผ่นดินไหวและการเตือนสึนามิทางภาคใต้เมื่อวันก่อน ทำเอาความชื่นมื่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์สะดุดไปเล็กน้อยด้วยความกังวลและเป็น ห่วงพี่น้องทางใต้ แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราต้องยิ่งตระหนักในความไม่ประมาทของการใช้ชีวิตมาก ขึ้น เพราะเรื่องไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ
ดังนั้นในช่วงปีใหม่ไทย นอกจากฉันจะเล่นน้ำสงกรานต์กันตามประเพณีแล้ว การได้เข้าวัดทำบุญไหว้พระก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีงามที่อยากให้ทุกคนได้ทำ ร่วมกัน โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดเส้นทางไหว้พระขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง ใหม่ในกรุงเทพฯ คือ “เปิดสิ่งมหัศจรรย์ล้ำค่า 6 พระอารามหลวง” ซึ่ง จะได้ทั้งไหว้พระและชมของดีที่บางวัดเปิดให้สักการะเฉพาะช่วงสงกรานต์เท่า นั้นอีกด้วย โดยสิ่งมหัศจรรย์ล้ำค่าใน 6 พระอารามหลวงนั้น ได้แก่
“วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรมหาวิหาร” เปิดให้สักการะ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูป ภปร. ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ และไม่เคยเปิดให้สักการะมาก่อน นอกจากนั้นยังสามารถกราบสักการะพระพุทธชินสีห์และหลวงพ่อศาสดาในพระอุโบสถ และสรงน้ำพระไพรีพินาศได้อีกด้วย
พระอัฎฐารส ในพระวิหารของวัดสระเกศ
“วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เชิญร่วมพิธีเจริญพระ พุทธมนต์มหาสมัยสูตร ซึ่งเป็นการปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่กระทำต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีความเชื่อกันว่ามหาสมัยสูตรคือพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วมีเหล่า เทพมาประชุมสดับรับฟังมากที่สุด โดยทางวัดจะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์มหาสมัยสูตรขึ้นในวันที่ 15 เม.ย. ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป ผู้ที่มาร่วมพิธีจะได้รับน้ำพระพุทธมนต์มหาสมัยสูตร ยันต์ พระ และเหรียญภูเขาทองเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย นอกจากนั้นทางวัดยังเปิดวิหารพระอัฎฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติให้สักการะกันด้วย
พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ
“วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร” กราบหลวงพ่อโต หรือพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ยังวัดสุทัศน์ฯ เพื่อเป็นหลักแก่บ้านเมือง และพระองค์มีพระราชศรัทธาถึงขนาดเดินด้วยพระบาทเปล่าเพื่อแห่องค์พระศรี ศากยมุนีจากท่าช้างมายังวัดสุทัศน์ฯ อีกด้วย
พระพุทธสิหิงคปฏิมากร แห่งวัดราชประดิษฐ์
“วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” วัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีสัดส่วนลงตัวงดงามยิ่งนัก เมื่อเข้าไปกราบพระในพระวิหาร ก็จะได้กราบทั้งพระพุทธสิหังคปฏิมากร พระพุทธนิรันตราย ซึ่งอยู่ในครอบแก้วด้านหน้าพระประธาน และยังจะได้กราบพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ที่จำลองเป็นองค์เล็กๆ มาประดิษฐานอยู่ในซุ้มด้านหลังพระประธานอีกด้วย นอกจากนั้น จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ก็ยังงดงามไปด้วยเรื่องราวของพระราชพิธี 12 เดือน ประเพณีโบราณที่มีรายละเอียดให้ศึกษา และมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ขณะทรงกำลังส่องกล้องโทรทัศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคาอีกด้วย
พระอุโบสถที่ตกแต่งในสไตล์ยุโรป ที่วัดราชบพิธ
“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” ชมพระอุโบสถงดงามที่แม้ภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย แต่ภายในกลับวิจิตรอลังการไปด้วยการตกแต่งด้วยศิลปะยุโรปแบบโกธิคที่มักมีคน กล่าวว่าคล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย กราบพระประธานซึ่งมีนามว่าพระพุทธอังคีรส และยังสามารถเดินชมสุสานหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์
ไหว้พระนอนและชมวัดไทยสไตล์จีนได้ที่วัดราชโอรสฯ
“วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร” วัดไทยสไตล์จีนที่ สร้างขึ้นตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 และยังเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์อีกด้วย พระอุโบสถจะไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่จะประดับด้วยเครื่องกระเบื้องแบบศิลปะจีน ภายในวัดมีพระพุทธรูปถึง 3 อิริยาบถให้สักการะ ทั้งพระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปนอน และพระพุทธรูปยืน ที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยได้เปิดให้เข้าสักการะบ่อยนัก
ตลาดย้อนยุคแบบไทยๆ มีให้เลือกชิมเลือกซื้อได้ทั้ง 6 วัด
ไม่เพียงจะได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปสำคัญและชมของดีของแต่ละวัดแล้ว วัดแต่แห่งก็ยังจัดให้มีตลาดโบราณเพื่อจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งก็มีทั้งอาหารไทยและขนมไทยแสนอร่อย น้ำสมุนไพรและน้ำหวานชื่นใจ รวมถึงของที่ระลึกซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมของไทย นำมาจำหน่ายโดยพ่อค้าแม่ค้าที่แต่งชุดไทยเพื่อสร้างบรรยากาศสงกรานต์แบบไทยๆ ไม่ให้ลบเลือนไป ดังนั้นฉันจึงอยากเชิญทุกท่านที่สนใจ ร่วมสักการะสิ่งมหัศจรรย์ล้ำค่า 6 พระอารามหลวง ได้ตั้งแต่วันนี้ - 16 เมษายน นี้ ...สวัสดีปีใหม่ไทย สุขใจวันสงกรานต์แด่ทุกท่าน
-http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000045991-
.
sithiphong:
สงกรานต์-วันครอบครัว
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com
สงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชีย
ตาม หลักแล้วเทศกาลสงกรานต์กำหนดตามปฏิทินจุลศักราช ซึ่งไม่ตรงกันทุกปี เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล จะกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี วันมหาสงกรานต์ปีนี้ตรงวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2555
นาง สงกรานต์นามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ) ทำนายว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
สงกรานต์เป็นพิธี ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง ความเชื่อเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นสื่อแทนใจให้ชุ่มชื่นในฤดูร้อน มีการรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ รำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ลูกหลานที่เข้ามาทำงานในเมือง ต่างเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้จราจรคับคั่งในวันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาล กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันสงกรานต์ เช่น ทำบุญตักบาตร สร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ประเพณีการเล่นน้ำ ก่อพระเจดีย์ทราย อันเป็นประเพณีนำทรายเข้าวัด ถือเป็นการใช้หนี้สงฆ์ เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง
การรดน้ำอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา การรดน้ำผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านจะให้ศีลให้พร ถ้าเป็นพระจะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสจะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
การดำหัว คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ และได้ขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว
ปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการให้ทานชนิดหนึ่ง ซึ่งให้ชีวิตและอิสระแก่สัตว์ จะส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
สมาชิก ในครอบครัวรวมตัวกัน เกิดความรักความสามัคคีกัน นอกจากนั้นยังมีการเล่นน้ำเพื่อความสนุกสนาน และคลายร้อนเกิดความเย็นฉ่ำด้วยน้ำใจไมตรี
วันสงกรานต์เป็นวันแห่ง ความรัก ความผูกพันในครอบครัวอย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอ พร ปัจจุบันเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่รดน้ำขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ และเป็นกำลังใจให้แก่กันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป
วัน สงกรานต์เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOREUwTURRMU5RPT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHdOQzB4TkE9PQ==-
.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version