ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
ประมูลซื้อที่ดินจากการบังคับคดี
-http://www.dailynews.co.th/article/345/163039-
วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2555 เวลา 00:00 น
บ้านเรานี่มักมีอะไรต่อมิอะไรที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างกระผมไม่เข้าใจอยู่หลายเรื่อง
การเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนักวิชาการอิสระอย่างงี้ การครองตนเป็นเครือข่ายอะไรสักอย่างงี้ ดูเท่ดี มีความดังได้หลายอย่าง เห็น ๆ กันอยู่มันต้องทำยังไงบ้าง อาศัยคุณวุฒิ คุณสมบัติประการใด
คือคนมันอยากเป็นบ้างขอรับ ทุกวันนี้มีแต่ท่านผู้อ่านที่ให้เกียรติอย่างยิ่งเรียกอาจารย์บ้าง ท่านบ้างเป็นปลื้มสุด ๆ นอกนั้นคนกันเองทั้งนั้นเรียกทีสะดุ้งโหยงที
หามีความเกรงใจกันบ้างเลยเพื่อระงับความฟุ้งซ่านด้วยความอิจฉาตาร้อนดังกล่าว ตามประสานักกฎหมายบ้านนอก เอ๊ย อิสระ อย่ากระนั้นเลยขอนำคดีปกครองที่เข้าบรรยากาศขณะนี้มารายงานท่านผู้อ่านดีกว่า
บรรยากาศในการประมูลที่ดินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีขอรับ เฉี่ยว ๆ กับการประมูลสามจีเหมือนกันนะเนี่ย
ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคา 255,000 บาท
ตกลงทำสัญญาซื้อขายโดยวางมัดจำเป็นเงิน 20,000 บาทที่เหลืออีก 235,000 บาทต้องชำระภายในกำหนด 15 วันจะจ่ายอีกสองแสนกว่าก็ต้องตรวจดูที่กันหน่อย
แทบหงายท้อง ที่ดินดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินของผู้อื่นประมาณ 35 ไร่ ไม่เห็นเหมือนกับแผนที่ที่ดินสังเขปท้ายประกาศขายทอดตลาดสักหน่อย
ผู้ฟ้องคดีจึงขอเลิกสัญญาและขอคืนเงินมัดจำ 20,000 บาทพร้อมขอค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการประมูลเช่นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าดำเนินการตรวจสอบที่ดินอีก 5,000 บาท
ได้รับคำตอบว่า ไม่มีเหตุที่จะต้องคืนเงินเพราะการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบแล้ว
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องขอดีเบตต่อไปว่า ชอบยังไงตอบมาสิ เพราะการกำหนดลักษณะและคุณสมบัติเกี่ยวกับที่ดินและที่ตั้งของที่ดินไม่ตรงตามกับสภาพที่แท้จริงและสิ่งปลูกสร้าง
เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำ
ให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายหลงเข้ามาซื้อ ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินและคืนเงินพร้อมค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
กรมบังคับคดีผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การมาว่า ในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญา และคำเตือนผู้ซื้อ โดยในข้อสัญญาได้แจ้งว่า ผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่ และแผนที่ในประกาศ และถือว่าผู้ซื้อได้ทราบถึงสภาพทรัพย์นั้นแล้ว คดีเป็นการขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดซึ่งต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งรวมทั้งค่าเสียหายที่ไม่อาจเรียกได้ คดีนี้ไม่เข้าลักษณะคดีปกครอง
ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าพนักงาน
บังคับคดีจัดทำประกาศขายทอดตลาดโดยระบุสถานที่ตั้งของที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขอให้ศาลยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซึ่งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง พิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การบังคับคดีตามคำสั่งศาลเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
และ ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดี พ.ศ. 2522 ซึ่งวางกรอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีที่ดินตาม
ข้อ 7 ข้อ 11 ข้อ 13 ข้อ 26 ข้อ 28 และข้อ 90 วรรคหนึ่งและวรรคสองข้อเท็จจริงในคดี เห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินที่ผู้นำยึดชี้โดยไม่ตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทมีสภาพที่ตั้งอย่างไร ทำให้ไม่ทราบที่แท้จริงของที่ดินที่จะยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินพิพาทและทำแผนที่สังเขปโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อ
เมื่อเนื้อที่ดินไม่ตรงกับเจตนาของผู้ฟ้องคดีแสดงว่า ผู้ฟ้องคดีเข้าประมูลโดยสำคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาซื้อขายทำให้สัญญาเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้ประกาศขายทอดตลาดจะมีเงื่อนไขการสู้ราคา ข้อสัญญา และคำเตือนให้ผู้สู้ราคาตรวจสอบรายละเอียดทรัพย์สินที่จะซื้อ
แต่โดยสภาพก็เป็นกรณีเหลือวิสัยที่ผู้ฟ้องคดีจะตรวจสอบความถูกต้องด้วยตนเองในเวลาอันรวดเร็วได้ ความเชื่อถือต่อความถูกต้องของที่ดินในประกาศขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานจัดทำขึ้นย่อมมีน้ำหนักมากกว่า ดังนั้นแม้ผู้ฟ้องคดีจะมีส่วนประมาทที่มิได้ตรวจสอบรายละเอียดก็หาทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหลุดพ้นจากความรับผิดชอบไปไม่
พิพากษากลับ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
เป็นเงินทั้งสิ้น 25,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 63 / 2552)
ผู้ฟ้องคดีเขาเดือดร้อนเสียหายจริง จึงไม่ต้องอ้างว่าเป็นผู้เสียหายอิสระ.
.
sithiphong:
ความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยกับราคาทองในประเทศ...YLG
-http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9550000132150-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
29 ตุลาคม 2555 16:40 น.
“แม้เพียงการขยับปีกของผีเสื้อ ก็สามารถก่อพายุได้” หรือ Butterfly Effect นั้น เป็นการอธิบายโลกการเงินในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั้งของยูโรโซนที่มีการออกมาตรการแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาล และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ได้ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงิน และการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการตัดสินใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.75%
โดยตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอัตราดอกเบี้ย ก็ย่อมที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือ เมื่อธนาคารกลางตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับลงตามไปด้วย ครั้นแล้วอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศก็จะต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากขึ้น และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในประเทศมีการอ่อนตัวเช่นกัน
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเกิดขึ้น ก็จะส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากว่าราคาทองคำในตลาดโลกได้ถูกกำหนดในหน่วยของเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำในตลาดโลกก็ตาม
กราฟแสดงการเปรียบเทียบราคาทองคำในตลาดโลก (ดอลลาร์ต่อออนซ์) กับอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทก็คือ ความต้องการซื้อ และความต้องการขายของเงินบาท จากการที่ประเทศไทยได้มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ และจากกราฟข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า ราคาทองคำในตลาดโลกมักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินบาท ดังนั้นแล้ว สำหรับนักลงทุนทองคำในประเทศนอกจากจะต้องสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว อาจต้องสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทด้วย
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9550000132150
.
sithiphong:
ก้าวแรกกับความล้มเหลว
-http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9550000132034-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
29 ตุลาคม 2555 14:50 น.
คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0
โดยชัยภัทร เนื่องคำมา
-www.cway-investment.com-
ทุกคนล้วนมีความฝันมีไอเดีย อยากทำสิ่งต่างๆมากมายตามใจต้องการ แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเดินตามฝัน ได้ลงมือทำฝันให้เป็นจริง และไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ บางคนเลือกที่จะรอ เลือกที่จะเก็บฝันไว้ในใจ จนสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านเลยไป เมื่อมีภาระและมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ความฝันนั้นก็ต้องถูกฝังลืมไว้ในส่วนลึกของความทรงจำ
การมีความฝัน และได้ลงมือทำเป็นสิ่งที่วิเศษแต่ใช้ว่า ทุกคนที่กล้าจะเดินทางตามความฝันจะสมหวัง และจบลงแบบสวยงามเหมือนในนิยาย มีหลายคนหกล้มหกลุก ไปได้เพียงครึ่งทางก็ต้องกลับมาสู่โลกความจริง บางคนผิดพลาดแค่เพียงก้าวแรกที่ออกเดิน ก็ท้อถอยหมดกำลังใจ ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะนี้คือโลกแห่งความจริง ที่คนธรรมดา ไม่มีต้นทุนชีวิตที่สูง ไม่มีครอบครัวที่ร่ำรวยสนับสนุน เมื่อมีความฝัน มีความตั้งใจ อาจจะไม่เพียงพอ ให้ไปสู่ยังเป้าหมาย (แต่แน่นอนว่าดีกว่าคนที่ไม่ฝัน ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต หรือคนที่ฝันแต่ไม่กล้าแม้จะเริ่มลงมือทำ) สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นคือ เรื่องของแผนและกลยุทธวิธีการ ที่จะพิชิตเป้าหมาย
ยกตัวอย่างเช่น ทำร้านอาหารไม่ใช่มีฝันมีใจอยากทำก็จะทำแล้วสำเร็จ แต่เราต้องทำงานหนัก ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ พยายามฝึกทักษะ หาความรู้ และเรียนรู้กลยุทธการทำธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กิจการของเรา เพื่อทำให้มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนต่อเนื่อง ไม่ใช่จบเพียงนำเงินมาเปิดร้าน เปิดขายอาหารได้แล้ว ก็คิดว่าสำเร็จ แต่นั้นเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเจอ ต้องทำ บนโลกความจริงที่แตกต่างจากความฝันที่ทุกอย่างเป็นจริงได้เพียงแค่คิด ผมมีโอกาสได้อ่านบทความ เขาเขียนถึงงานวิจัยของ คุณ Shikhar Ghosh ซึ่งตีพิมพ์ลงใน Wall Street Journal สำรวจ กิจการเกิดใหม่(startup) สำคัญๆจำนวน 2,000 รายในช่วงตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2010 พบว่ามีถึงราว 75% ที่มีแนวคิดดีเยี่ยม จนได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากพวก VC (venture capital) ให้ดำเนินกิจการจริงก็ยังล้มเหลว หรือเจ๊ง
จำนวน 30% ถึงกับต้องปิดกิจการ ขายสินทรัพย์เพื่อใช้หนี้กันไป ที่เหลือก็ยังคงสู้ต่อปรับเปลี่ยนหาทางเอาตัวรอดเพื่อเกิดใหม่อีกครั้ง ในโลกธุรกิจ ไม่มีอะไรที่ง่ายดาย แม้เราคิดว่าทุกอย่างมันคือ สุดยอดของเราแล้ว แต่สิ่งที่เราคิดเราทำมันอาจจะยังไม่เพียงพอ ที่จะประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ก้าวแรกมักไม่มีคำว่าสบาย โอกาสเกือบ 80% ในการเริ่มต้นมักมีโอกาสล้มเหลว เมื่อล้มเหลว ไม่ใช่ว่าจะต้องถอดใจ หรือล้มเลิกความคิด แต่เราควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อไป
เขียนเรื่องนี้เพราะอยากโยงไปถึงเรื่องการลงทุน นักลงทุนมือใหม่ ก็ไม่ต่างกับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้น ย่อมต้องเจอกับปัญหาอุปสรรค์ เป็นธรรมดา บางคนขาดทุนหลายหมื่น หลายแสน ก็เริ่มจะถอดใจ เพราะได้เรียนรู้ความจริงที่ว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ทำกำไรง่ายๆแบบที่เขาว่ากัน สิ่งหนึ่งที่มือใหม่ไม่ค่อยรู้และไม่เข้าใจคือเรื่อง จังหวะเวลาหรือ timing การที่เข้ามาลงทุนในช่วงดัชนี 1200-1300 ซึ่งเป็นจุดที่ค่อนข้างสูง และจะไปหวังได้กำไรง่ายๆ เป็นสิบล้าน เป็นร้อยล้าน แบบคนที่เขาลงทุนช่วงดัชนี 400-500 จุด มันย่อมเป็นไปได้ยาก
เราต้องใช้ความรู้ ใช้การวิเคราะห์เพื่อซื่้อหุ้นทีดี สร้างกำไร และมีความเสี่ยงที่ไม่สูงเกินไป สิ่งสำคัญคือ ต้องยอมรับในกำไรที่ทำได้ อย่าไปอยากได้ อยากมีกำไรมากๆแบบคนอื่นๆที่นำมาอวด นำมาล่อให้เราเห็นกัน เพราะแบบนั้นจิตใจจะไม่นิ่งไม่สงบ เมื่อผิดแผน ไปลงทุนเสี่ยงเกินตัว ความผิดพลาดและหายนะมันจะถาโถมเข้ามา จนมือใหม่ อาจจะรับไม่ทัน เมื่อนั้น เราจะเจอกับความล้มเหลวครั้งใหญ่ เจอปัญหาด้านจิตใจ ที่ทำให้ไม่สามารถก้าวไปต่อได้
สิ่งสำคัญคือ จงอย่าประมาท อย่าใจร้อน อยากรวยเร็ว เริ่มต้นด้วยการเสี่ยงมากเกินตัว ควรใช้เงินเริ่มต้นไม่มาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุน เมื่อผิดพลาด ขาดทุนอย่าไปเสียใจ ถอดใจให้จดบันทึกและวิเคราะห์ความผิดพลาดนั้น เป็นบทเรียน เพื่อที่อนาคตจะได้ไม่ผิดพลาดอีก ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ แล้วเราอยู่รอดได้ในตลาดหุ้น ไม่เจ๊งสนิทหมดตัว เมื่อเวลาผ่านไป เราจะสะสมกำลัง สะสมประสบการณ์และความรู้ จนสามารถคืบคลานเข้าไปหาเป้าหมาย ความสำเร็จได้เองครับ
บทความอ้างอิง
-http://www.bizjournals.com/sanjose/blog/2012/09/most-startups-fail-says-harvard.html-
sithiphong:
รอลุ้น! สรรพากรเสนอปรับอัตราจ่ายภาษีเงินได้ใหม่ เป็น 5-35%
-http://hilight.kapook.com/view/77844-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
มนุษย์เงินเดือนรอลุ้น! สรรพากร เสนอปรับอัตราจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ตั้งแต่ 5-35% ขณะที่ คลัง สั่ง สรรพากร ให้ไปศึกษาหักค่าลดหย่อนคู่สมรส และบุตรเพิ่มอีกเท่าตัว
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกับผู้บริหารกรมสรรพากรเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะตนได้มอบหมายให้กรมสรรพากรกลับไปจัดทำรายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาใหม่ เพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนั้น นายกิตติรัตน์ ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปศึกษารายละเอียด ว่า จะสามารถเพิ่มค่าหักลดหย่อนภาษีของคู่สมรส และบุตรได้อีกหรือไม่ และเพิ่มขึ้นได้สูงสุดเท่าไหร่ โดยปัจจุบัน คู่สมรสสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มค่าหักลดหย่อนจาก 30,000 บาท ขึ้นไปเป็น 60,000 บาท และเพิ่มค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร จาก 15,000 บาท ไปเป็น 30,000 บาท จะกระทบต่อรายได้ภาษีมากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากร ก็ได้เสนอให้ปรับอัตราการเก็บภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ หลังหักรายจ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว โดยให้มีช่วงความถี่มากขึ้น ดังนี้
รายได้ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีตามเดิม
รายได้ 150,001-300,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 10% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 5%
รายได้ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10% ตามเดิม
รายได้ 500,001-750,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 20% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 15%
รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% ตามเดิม
รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 30% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 25%
รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษี 30% ตามเดิม
รายได้ตั้งแต่ 4,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 37% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 35%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า การปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่นี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้เสียภาษี และสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท แม้ว่าจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึงปีละ 2.7 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรไปยังสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะสามารถทำได้ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการนาน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1351502610&grpid=00&catid=&subcatid=-
-http://hilight.kapook.com/view/77844-
.
sithiphong:
หนี้อ่วมท่วมคนไทย วิกฤติสะสม “ถอน – จ่าย – รูด – กู้” !
-http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000134888-
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
4 พฤศจิกายน 2555 20:59 น.
เสียบบัตรเข้าตู้ เงินสดก็ออกมา ชีวิตมีความสุข นั่นคือสิ่งที่เกิดในโฆษณาส่งเสริมสินเชื่อมากมาย หากทว่าความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อความสุขในตอบจบของโฆษณาเหล่านั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นความทุกข์ใหญ่หลวงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในรูปแบบของนรกอันไม่มีที่สิ้นสุดของการเป็นหนี้!
มาถึงตอนนี้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปน.) ออกรายการถึงแนวโน้นการค้างชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 สูงขึ้ยอย่างน่าเป็นห่วง
พร้อมหลายฝ่ายด้านเศรษฐกิจออกมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาหนี้ในประเทศไทยว่า กำลังเดินไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเข้าไปทุกที
วัฒนธรรมซื้อเงินผ่อนที่นำเงินในกระเป๋าจากอนาคตของผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมีมากขึ้น จนวัฒนธรรม “ออมก่อนซื้อ” กลายเป็น “ซื้อก่อนออม”
การส่งเสริมการค้าขายที่ป่าวประกาศกันว่า “เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน” นั้นเร่งเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั่ง หากแต่มันจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือ? ไลฟ์สไตล์ชีวิตติดหนี้ของคนรุ่นใหม่นั้นส่งผลต่อภาพอนาคตอย่างไร? หลายคำถามบนวิถีปากท้องถูกถามไถ่ และต้องการคำตอบชัดเจนในเร็ววันนี้...เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างเส้นทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่ความวิกฤติเข้าไปทุกที
“กับดักหนี้ “ นรกแห่งการชำระหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
นานมาแล้ววังวนชีวิตของคนเป็นหนี้นั้นต้องอยู่กับการใช้หนี้ที่ไม่วันจบสิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนชั้นล่าง อาจมาจากการกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยโหด ทว่าในปัจจุบันกลุ่มคนเป็นหนี้นั้นมีมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้มีการศึกษาหรือชนชั้นกลาง
เมื่อสินเชื่อขออนุมัติง่าย ได้เงินเร็ว ทันใจการบริโภค ถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้ากระแสแรง ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, แท็ปเล็ป ไม่เว้นแม้แต่แพกเกจทัวร์ก็มีให้ซื้อขายกันแบบผ่อนชำระ สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นทุกที จึงไม่แปลกที่จะส่งผลให้คนยุคใหม่มีไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบติดหนี้ ทำให้วัฒนธรรมออมก่อนใช้ กลายเป็นใช้ก่อนออม
ไพโรจ โคสุพัฒน์ หนึ่งในกรรมการชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เอ่ยถึงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันว่า ตอนนี้การเป็นหนี้ของคนในประเทศอยู่ในขั้นวิกฤติ ทั้งจำนวนที่มากขึ้น และการชำระหนี้ที่พบกับความยากลำบากของกับดักหนี้ที่ดอกเบี้ยผุดงอกจากเงินต้นเสียจนหลายต่อหลายราย ต้องพบกับภาวะหนี้ทับเงินเดือน ชนิดที่ว่า พอเงินออกต้นเดือนก็ชำระหนี้หมดเสียแล้ว ทำให้ต้องไปกู้วงเงินใหม่เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต เป็นหนี้ทับหนี้พอกพูนไปไม่มีวันจบ และจะยิ่งทวีดอกเบี้ยค้างชำระขึ้นเรื่อยๆ
“หลายคนมีการศึกษานะ มีเงินเดือนหมื่นเก้าแล้ว แต่ยังเป็นหนี้ทั้งที่เงินเดือนขนาดนี้มันควรจะมีเงินเก็บสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ แต่กลับต้องเอาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย จ่ายหนี้ต่างๆ บางคนก็มีตำแหน่งที่เขาไม่สามารถที่จะเสียเครดิตได้ เขาก็ต้องไปกู้วงเงินที่อื่นมาแปะเป็นหนี้ซ้ำซ้อน”
โดยการเป็นหนี้นั้น ไพโรจตั้งข้อสังเกตจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหนี้หลายคนพบว่า โดยมากนั้นแรกเริ่มของการเป็นหนี้จะเริ่มเมื่อคนเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน เริ่มมีเงินเดือน สถาบันการเงินหรือบริษัทที่ทำงานด้านสินเชื่อจะมายื่นข้อเสนอให้ทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อมีการชำระเงินไม่ทัน หรือหากเป็นบัตรเงินสดก็จะมีค่าธรรมเนียมกดเงินสดเพิ่มขึ้นมาอีก 3 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นกับดักหนี้ที่ผู้ก่อหนี้มองไม่เห็นจำนวนเงินตั้งแต่คราวแรก
“บางครั้งก็เขียนไว้สวยๆ ว่า ค่าใช้จ่ายอันควรแก่เหตุ ซึ่งมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่กลายเป็นหนี้เหมือนกัน ตอนนี้หนี้ส่วนบุคคลก็รวมไปถึงพวกธุรกิจขนาดย่อมด้วย เพราะไม่มีความรู้ทางด้านการเงิน เมื่อธนาคารใช้คำว่า อัตราดอกเบี้ยคงที่ แม้ว่าจะดอกเบี้ยน้อย แต่เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ดอกเบี้ยเงินรวมจะมากกว่า”
คดีในชั้นศาลที่ฟ้องร้องเรื่องหนี้สินตอนนี้มีอยู่เยอะมาก ไพโรจน์เผยว่า มากจนตอนนี้ศาลต้องเปิดในวันเสาร์เพื่อพิจารณาคดีประเภทนี้ และเมื่อถามถึงการทวงหนี้ก็มีการละเมิดเป็นเรื่องปกติ โดยความรุนแรงนั้นหนี้นอกระบบหรือในระบบก็เหมือนกัน จากที่บริษัทด้านการเงินในระบบจ้างบริษัทรับทวงหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ
“การโทร.มาข่มขู่ ละเมิดมันก็มีอยู่แล้ว มีหลายครั้งโทร.เข้ามือถือครั้งหนึ่ง ยังไม่ทันรับก็ตัดสายไปก่อนจะโทร.เข้ามาที่บริษัท แล้วก็คิดเป็นค่าทวงหนี้ กลายเป็นหนี้เพิ่มอีกชั้นหนึ่ง”
มาถึงตรงนี้สิ่งที่ไพโรจมองในมุมของคนเป็นหนี้จึงเป็นการที่รัฐบาลไม่มีระบบที่รัดกุมในการปกป้องผู้เป็นหนี้ การให้คิดค่าบริการต่างๆ พร้อมทั้งการให้มีดอกเบี้ยที่สูง
“คนกลุ่มนี้รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือด้วย แต่ที่ผ่านมานั้นมีแต่การให้เพิ่มดอกเบี้ยได้ มีการอนุญาตให้เปิดกิจการเกี่ยวกับการเงินได้มากขึ้น ไม่มีการควบคุม ที่ผ่านมานั้นจึงไม่มีมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้เลย ซึ่งทุกวันนี้ก็เดือดร้อนมาก อยากให้มีการลดดอกเบี้ย กำหนดเพดานดอกเบี้ย ไม่อย่างนั้น ใช้หนี้ทั้งชาติก็ไม่มีวันหมด”
คิดก่อนใช้อย่างถี่ถ้วนที่สุด
ปัจจัยการทำให้สถานการณ์หนี้เดินมาถึงขั้นวิกฤติเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยข้อมูลที่บอกถึงแนวโน้นสู่วิกฤตินั้น ดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึงตัวเลขที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ปี 43-52 หนี้สินครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 52 นั้นมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1 หมื่น 4 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งคำนวณตามแนวโน้มที่ควรจะเป็นแล้ว หนี้สินครัวเรือนในปี 54 ควรจะเท่ากับ 1 หมื่น 6 แสนบาท แต่ทว่าผลสำรวจกลับแสดงตัวเลขก้าวกระโดดไปถึง 2 แสน 4 หมื่นบาท !!
“มากกว่าแนวโน้มก่อนหน้านี้ถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงนี้แน่นอน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายปีด้วย”
ตัวเลขอีกตัวที่น่าสนใจคือรายได้กับรายจ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนมีอัตรารายได้สูงกว่ารายจ่าย ส่วนนี้ในทางจิตวิทยาแล้ว เมื่อผู้บริโภคมีรายได้มากกว่ารายจ่ายติดกันระยะหนึ่ง จะทำให้มีความมั่นใจว่าสามารถก่อหนี้ได้
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของบริษัทการเงิน ดร.เกียรติอนันท์ก็เผยว่า ตลาดหนี้ระดับสูงที่เป็นหนี้นำไปประกอบธุรกิจนั้นเริ่มอิ่มตัว ทำให้ธนาคารหรือบริษัทด้านการเงินจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งก็คือกลุ่มผู้เป็นหนี้รายย่อยในปัจจุบันนั่นเอง ทำให้เกิดบัตรเครดิตมากมายหลายรูปแบบขึ้นมา สังเกตได้จากแนวโน้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินพยายามจะสร้างหนี้ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมากกว่าที่มีรายได้เยอะ
“เราจะเห็นว่าด้านหนึ่งคนไทยรู้สึกว่าสามารถจะกู้ได้ ขณะที่อีกด้านสถาบันการเงินก็ตอบสนองข้อนี้ด้วยการให้วงเงินสินเชื่อที่กู้ง่าย จ่ายน้อย ผ่อนนาน แต่ดอกเบี้ยสูง ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า คนซื้อก็อยากจะสร้างหนี้ คนที่พร้อมจะให้เงินก็อยากจะให้เงิน มันกลายเป็นข้อตกลงกันซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แม้แต่ในประเทศอื่นที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา โครงสร้างการก่อหนี้แบบนี้ เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น หนี้เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ”
แต่สิ่งที่น่ากลัว ดร.เกียรติอนันท์เผยถึงข้อสังเกตว่า สัดส่วนหนี้ที่คนกู้มาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 คือการกู้เพื่อซื้อบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ทว่าอีก 1 ใน 3 ของการกู้นั้นคนกลับนำไปใช้อุปโภคบริโภค คือการซื้อของ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเอาไปผ่อนสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่นมือถือ หรือแพกเกจทัวร์ และมีเพียง 2.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นำไปลงทุนด้านการศึกษา
“มันชี้ให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของหนี้ มันลงไปในส่วนที่ไม่เกิดผลประโยชน์ระยะยาวของคนที่เป็นหนี้ มันเป็นการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความสุขความต้องการชั่วคราวเท่านั้น ตามหลักพื้นฐานทางการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล คนที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ไม่ควรจะมีหนี้ผ่อนชำระเกิน 8 - 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้”
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันคือหลายคนที่มีเงินเดือนอยู่ที่หมื่นต้นๆ กลับผ่อนโทรศัพท์ที่ส่วนมากจะผ่อนได้นาน 10 เดือนที่มีราคาสูงถึง 2 หมื่นบาท ทำให้ต้องผ่อนเดือนละ 2000 บาทซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ควรจะเป็นที่ 1000 บาทถึง 2 เท่า
“แล้วโทรศัพท์พวกนี้ไม่ได้ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เขาได้เลย มันเป็นการตอบสนองความต้องการระยะสั้น มันสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนไทยโดยรวมว่า เริ่มใช้จ่ายเกินตัวและเริ่มสร้างหนี้ในส่วนที่ไม่เกิดผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งวันหนึ่งปัญหาพวกนี้มันจะปะทุขึ้นมา และมันจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้มาก”
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ตอนนี้คนที่มีรายได้น้อยมักเช่าคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์อยู่อาศัย แทนที่จะลงทุนซื้อบ้าน ในด้านของจิตวิทยาผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคไม่มีรายได้พอจะสร้างความมั่นคงระยะยาว ก็จะมองอะไรเป็นระยะสั้นไปทั้งหมด ในระยะยาวมันส่งผลต่อโครงสร้างคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทย และจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแน่นอน
“ตอนนี้เราก่อหนี้โดยมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจเราจะไปได้ แต่มันจะกลายเป็นระเบิดเวลาครั้งใหญ่ เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้สัญญาณเศรษฐกิจมหภาคไม่ดีอยู่แล้ว ยอดส่งออกที่ต่ำกว่าเป้า เศรษฐกิจโลกที่คลุมเครือ มันเป็นสัญญาณกว้างระดับโลกที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในความเสี่ยง ตอนนี้คนกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางก็สร้างหนี้เยอะขึ้น และเป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างความมั่นคงในชีวิต หากเกิดเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นมาในช่วง 2 - 5 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเยอะที่สุด ภาพวิกฤติในปี 40 จะกลับมา และมาพร้อมภาระหนี้สินส่วนบุคคลที่สูงกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน”
ว่าง่ายๆ คือยุ่งแน่ ทว่าสิ่งที่ทำได้ก่อนวิกฤติมาถึงนั้นไม่ยาก แม้ในมุมของลูกหนี้การชำระหนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในมุมกลับการก่อหนี้ก็ไม่เกิดจากการถูกบังคับ แต่เกิดจากผู้เป็นหนี้สร้างหนี้ให้กับตัวเอง รายละเอียดของความรู้ในการกู้เงิน หรือระเบียบวินัยทางการเงิน เป็นที่ทุกคนต้องรู้ และพึงตระหนักก่อนตัดสินใจสร้างหนี้สิน
“ถ้าธนาคารเลือกที่จะทำให้มันเข้าใจยากมันก็จะยาก แต่คนเราจะก่อหนี้ทั้งที มันต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ ทีเวลาซื้อบ้าน เราดูสัญญา เรากู้เงินไปซื้อรถเราคิดหนัก จริงแล้วเราต้องใช้มาตรฐานเดียวกับตอนที่เรากู้ระยะสั้น ประกอบกับดอกเบี้ยที่สูง ยิ่งต้องบอกว่า การกู้หนี้ระยะสั้น ต้องกู้ไปเพื่อให้มันคุ้มค่าจริงๆ”
การเป็นหนี้นั้นผู้ก่อหนี้ก็มีส่วนผิดแม้ว่าบริษัทการเงินจะปล่อยสินเชื่อง่ายและคิดดอกเบี้ยสูงเพียงใดก็ตาม แต่หลายกรณีของผู้ก่อหนี้ก็มาจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ กลุ่มคนรายได้น้อยที่มีปัญหากับค่าครองชีพถือเป็นกรณีที่ต้องแก้ไข
“กลุ่มแรกนั้นเราคงต้องเตือนสติเขาไม่ให้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งก็ทำได้แค่นั้น เขายินยอมเป็นหนี้เอง ตรงนั้นเราช่วยไม่ได้ แต่อีกกลุ่มที่เป็นผู้มีรายได้น้อย และต้องกู้เงินมาใช้ในยามวิกฤติจริงๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความจนซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นก็จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงรากเหง้าของความจน เพื่อแก้ไขปัญหาตามกลุ่มคนจนที่มีอยู่ เช่น กลุ่มคนงานก่อสร้างอายุ 40 ก็ต้องใช้วิธีแก้ไขความจนต่างจากชาวไร่อายุ 40”
การระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคที่อะไรก็ต่อมิอะไรก็สามารถจับจ่ายมาได้โดยไม่ต้องใช้เงินที่อยู่ในกระเป๋า เพียงรูดบัตร หรือเอาเงินมาจากอนาคตเพื่อจับจ่ายในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งสิ่งของที่หลอกล่อให้อยากมีอยากได้ก็มากล้น คำถามของการใช้เงินหากฐานะทางการเงินยังไม่มั่นคงพอก็คือ เงินที่ใช้ไปนั้นคุ้มค่าหรือเปล่า มันสร้างรายได้หรือเปล่า ถ้ามันเป็นความสุขระยะสั้น ใช้จ่ายได้บ้างแต่อย่าให้เกินตัว และพึ่งระลึกไว้เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณเลือกจะตอบสนองอารมณ์ชั่ววูบด้วยการเอาเงินในอนาคตมาใช้...วันหนึ่งอนาคตจะไล่ทันคุณ!
.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version