ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
อยากวางแผนการเงิน... เริ่มอย่างไรดี
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2556 14:26 น.
-http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000061904-
คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพนิต ปัญญาบดีกุล
บลจ.บัวหลวง
ก่อนอื่นขอเขียนถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ซึ่งปัจจุบันจะถูกนำไปตีความหมายว่าคือการวางแผนการลงทุน ในขณะที่ในวงการประกัน บางคนก็อ้างว่าคือการวางแผนในการทำประกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจเพียงบางส่วน ดังนั้น ถ้าพูดถึงการวางแผนการเงินแบบรอบด้านจริงๆ แล้ว ความหมายของการวางแผนการเงินจะต้องครอบคลุมในส่วนต่างๆ อย่างครบถ้วน ทั้งส่วนของการปกป้องฐานะไม่ให้ลดน้อยหรือเสื่อมค่าไป การสร้างฐานะให้มีมากขึ้นๆ กว่าเดิม และอย่าลืมที่จะกระจายทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่หลังจากใช้ส่วนตัวในตอนเกษียณอย่างสบายๆ แล้วไปให้แก่ลูกหลานหรือบุคคลที่รักด้วยค่ะ
ทีนี้อยากวางแผนการเงินแล้วจะเริ่มอย่างไรดี ก่อนที่ทุกท่านจะวิเคราะห์ความต้องการทางการเงินในด้านต่างๆ ของตนเอง เช่น ความต้องการทางด้านการทำประกัน ความต้องการทางด้านการศึกษาบุตร ความต้องการทางด้านการเกษียณอายุ การวิเคราะห์ระดับการรับความเสี่ยงและพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งความต้องการทางการเงินด้านต่างๆ ก็คือเป้าหมายทางการเงินของตนเองนั่นเอง บางท่านจึงเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งก็แบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) เป้าหมายระยะปานกลาง (1-3 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (3 ปีขึ้นไป) การกำหนดเป้าหมายทางการเงินเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ดิฉันเชื่อว่าผู้ที่กำหนดได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง เนื่องจากเราจะเป็นผู้ที่รู้ตัวเราดีที่สุดว่าเราต้องการที่จะมีชีวิตในอนาคตอย่างไร หลังจากกำหนดเป้าหมายแล้ว ท่านจะสามารถให้ลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงินหรือกำหนดว่าเป้าหมายใดสำคัญระดับใด (สูงมากถึงต่ำมาก) มีข้อควรระวังคือบางท่านที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านการวางแผนการเงินอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ดีเพียงพอ หรือบางครั้งกำหนดไว้แต่อาจจะไม่ครอบคลุมถึงความต้องการรอบด้าน
คำถามตามมาอีกแล้วค่ะ เป้าหมายน่ะรู้อยู่แล้วว่าอยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร (ทางการเงิน) แล้วเริ่มอย่างไรล่ะ บอกซะที อยากวางแผนการเงินแล้ว!!!
ถ้าจะยกประโยคที่ว่า “เราควรมองดูตัวเองก่อนทุกครั้ง” มาใช้ในการเริ่มวางแผนการเงินก็คงจะไม่ผิด วันนี้ถ้าท่านอยากจะวางแผนการเงิน ขอให้ทุกท่านเริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของตนเองก่อน ดังนั้น ดิฉันขอยกตัวอย่าง Case ลูกค้าสมมติชื่อคุณฮาร์ท มาเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ นะคะ
1. วิเคราะห์ฐานะทางการเงิน หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือวัดความมั่งคั่งของตนเอง ง่ายกว่านั้นอีกคือวัดความรวยหรือจนของตนเองนั่นเอง หลายท่านคงเคยได้ยินว่า การที่มีทรัพย์สินรวมมากๆ อาจจะไม่ได้มั่งคั่งหรือร่ำรวยจริงก็ได้ ดังนั้นท่านคงจะต้องตรวจสอบความมั่งคั่งของตนเองกันก่อน
ตัวอย่าง
จากรูปจะเห็นได้ว่าคุณฮาร์ทมีทรัพย์สินจำนวนทั้งหมด 13 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของทรัพย์สินสภาพคล่อง (เงินสด เงินฝาก ทรัพย์สินที่เปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ง่ายๆ เป็นต้น) จำนวน 8.5 ล้านบาท คิดเป็น 65.38% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด มีทรัพย์สินใช้ส่วนตัวหรือรถยนต์และเครื่องประดับจำนวน 4 ล้านบาท (30.77%) และมีทรัพย์สินลงทุนเพียง 5 แสนบาท (3.85%) ทางด้านหนี้สิน มีหนี้รวม 7 แสน 8 หมื่นบาท ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินกู้ยืมจากพี่ชายจำนวน 7 แสนบาท (5.38%) ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง 12.2 ล้านบาท
แล้วท่านล่ะ ทราบหรือไม่ว่าท่านมีความมั่งคั่งเท่าไรคะ???
(อ่านต่อตอนหน้า)
http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000061904
.
sithiphong:
การใช้เช็คเงินสด อย่างปลอดภัย
-http://money.sanook.com/83490/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%94-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2/-
เช็คเป็นตราสารที่ใช้ชำระหนี้แทนเงินได้ สามารถใช้โอนชำระหนี้กันเป็นทอดๆ ได้ง่ายจึงสะดวก เป็นที่นิยมและปลอดภัย เพราะการพกเงินจำนวนมากไปชำระหนี้อาจเกิดอันตรายจากมิจฉาชีพได้
ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ผู้ที่ลงลายมือชื่อในเช็คย่อมผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชอบต่อผู้มีสิทธิเรียกให้ใช้เงินตามเช็ค ซึ่งกฎหมายเรียกว่า "ผู้ทรงเช็ค" เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระผู้ทรงอาจเรียกเก็บเงินจากธนาคารด้วยตนเอง หรือเรียกให้ลูกหนี้คนอื่นๆ ที่ลงชื่อในเช็คนั้นชำระเงินตามเช็คให้ก็ได้ หรือจะเรียกให้ลูกหนี้ตามเช็คชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เป็นมูลเหตุของการสั่งจ่าย หรือโอนเช็คนั้นก็ได้ เป็นการ เพิ่มโอกาสที่เจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้อีกด้วย
เพราะเช็คเป็นตราสารที่สามารถเปลี่ยนมือได้โดยง่ายนี้เอง จึงอาจก่อให้เกิดปัญหา ในกรณีที่บุคคลไม่พึงประสงค์นำเช็คไปขึ้นเงิน
ผู้ใช้เช็ค เพื่อการชำระหนี้แทนตราสาร จึงควรต้องทำความเข้าใจถึงการระบุข้อความต่างๆ ลงในเช็คซึ่งจะส่งผลต่อระดับความปลอดภัยในการใช้เช็ค ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เช็คที่ใช้กันอยู่นั้น มี 2 ประเภท คือ
1. เช็คผู้ถือ : คือเช็คแบบที่ผู้สั่งจ่ายจะสั่งจ่ายโดยไม่กรอกชื่อผู้รับเงินตามเช็คลงในช่องว่าง เช่น "จ่าย...หรือผู้ถือ" เพียงแต่กรอกจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวหนังสือแล้วลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็ถือว่าการ สั่งจ่ายเช็คนั้นสมบูรณ์แล้ว หรือกรอกคำว่า "เงินสด" ลงในช่องว่าง "จ่าย...หรือผู้ถือ" ก็ยังมีผลเป็นเช็คผู้ถือเช่นเดียวกันหรือถ้ากรอกชื่อ...นามสกุล...ผู้รับเงินลงไปในช่องว่าง "จ่าย...หรือผู้ถือ" โดยไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกก็ยังเป็นเช็คผู้ถืออยู่ครับ (กรณีนี้จ่ายให้กับผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในเช็ค หรือผู้ถือก็ได้)
เช็คจ่ายผู้ถือนั้นสามารถโอนเปลี่ยนมือกันได้เพียงส่งมอบเช็คให้แก่กัน ก็เป็นอันใช้ได้แล้วครับ ดังนั้นใครก็ตามเป็นผู้ถือเช็คแบบที่ 1 นี้ เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร ธนาคารก็จะจ่ายเงินสดให้ทันทีการใช้เช็คแบบนี้จึงมีความเสี่ยงสูง ถ้าท่านทำเช็คสูญหาย หรือเช็คถูกลัก/ขโมยไปก็จะป้องกันได้ยากมาก จึงควรใช้เช็คแบบนี้ได้เฉพาะในกรณีไปเขียนเบิกเงินสดที่ธนาคารเอง หรือเมื่อสั่งจ่ายเงินจำนวนไม่มากก็ให้ระบุชื่อนามสกุลผู้รับเงินลงไปในช่องว่าง เช่น "จ่าย นายก. นามสกุลซื่อสัตย์ หรือผู้ถือ" แล้วให้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกก็จะปลอดภัยครับ แต่การขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกเช็คฉบับนั้น ก็จะกลายเป็น "เช็คจ่ายตามคำสั่ง" ทันที การนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร หรือเมื่อต้องการโอนเปลี่ยนมือก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ "เช็คจ่ายตามคำสั่ง" ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
2.เช็คจ่ายตามคำสั่ง คือ เช็คที่ธนาคารได้ออกแบบโดยมีสาระสำคัญอยู่ที่ช่องว่างที่ให้ระบุชื่อผู้รับเงินดังนี้ "จ่าย.....หรือตามคำสั่ง [or order]" การเขียนเช็คสั่งจ่าย ต้องเขียนชื่อนามสกุล ของผู้รับเงินลงในช่องว่างมิฉะนั้นจะไม่สมบูรณ์ ธนาคารก็จะปฏิเสธการจ่าย
การโอนเปลี่ยนมือเช็คจ่ายตามคำสั่ง สามารถทำได้ด้วยการที่ผู้ทรงเช็คสลักหลังแล้วส่งมอบ ซึ่งเพิ่มระดับความปลอดภัยมากกว่าเช็คผู้ถือ ดังนั้นเพื่อการเพิ่มระดับความปลอดภัยมากขึ้นก็ทำได้โดยการขีดคร่อมเช็ค โดยขีดเส้นขนานตัดแนวเฉียงบริเวณมุมบนซ้ายของเช็ค หรือเติมคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ Not Negotiable, A/C Payee Only" หรือทำทั้งสองอย่างก็ได้โดยการขีดคร่อม จะทำให้เช็คไม่สามารถนำมาขอเบิกเงินสดได้ ต้องนำฝากเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเช็ค "จ่ายผู้ถือ" หรือเช็ค "จ่ายตามคำสั่ง"
ส่วนการเติมคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" ทำได้เฉพาะกับเช็คตามคำสั่ง หรือเช็คผู้ถือที่ระบุชื่อ นามสกุลผู้รับเงิน แล้วให้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ใช่บุคคลที่ถูกระบุชื่อ นามสกุลเป็นผู้รับเงินที่ด้านหน้าเช็คแล้ว ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายทันที
ในทางปฏิบัติจะขีดเส้นขนาน 2 เส้นไว้ที่มุมบนด้านซ้ายของเช็คและเขียนข้อความว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" หรือ "A/C Payee Only" ไว้ระหว่างเส้นขนาน 2 เส้นซึ่งเป็นการเจาะจงให้ผู้ทรงเช็ค นำเช็คฝากเข้าบัญชีตามชื่อผู้รับเงินที่ระบุบนหน้าเช็คเท่านั้น การระบุคำสั่งไว้บนเช็คจึงเป็นการป้องกัน และเป็นการปลอดภัยไม่ให้บุคคลอื่นแอบอ้างนำเช็คไปเบิกเงินในกรณีที่เช็คสูญหาย หรือถูกโจรกรรม
sithiphong:
10 ขั้นตอน บริหารกระแสเงินสดให้ดีขึ้น
-http://money.sanook.com/75283/10-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99/-
การจัดการกระแสเงินสดเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญ แต่โชคดีที่การวิเคราะห์กระแสเงินสดอย่างรอบคอบบวกกับการจัดการเงินสดอย่างระวังจะช่วยให้คุณสามารถรอดพ้นอุปสรรคในยามเงินตึงตัวได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตั้งโดยมีงบประมาณจำกัด หรือเป็นบริษัทที่มีทุนหนาแต่กำลังเผชิญสภาวะเงินขาดมือ 10 ขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยให้คุณบริหารกระแสเงินสดให้ดีขึ้น
1.อยู่กับปัจจุบัน
พื้นฐานแรกของการจัดการกระแสเงินสดก็คือการรู้ว่าขณะนี้คุณมีเงินสดในมืออยู่เท่าไหร่ นั่นหมายความว่าคุณต้องแยกบัญชีบริษัทกับบัญชีตัวเองออกจากกันและต้องหมั่นอัพเดทสมุดธนาคารด้วย
คุณต้องสามารถเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่มีเงินออกมากกว่าเงินเข้าได้ ซึ่งสามารถคำนวณโดยนำกระแสเงินสดที่มีหารด้วยอัตราเงินออกจะเท่ากับจำนวนเดือนที่คุณจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้โดยไม่มีรายได้เข้ามา
การเริ่มธุรกิจที่มีอายุไม่ถึงปีและจะต้องสำรองเงินเพื่อให้รอดพ้นความยุ่งยากในช่วงปีสองปีแรกเป็นเรื่องเสี่ยงปกติของผู้เริ่มทำธุรกิจ
2.เข้าใจตัวเลขในอนาคต
การคาดการณ์ทางการเงินเป็นสิ่งที่บริษัททุกแห่งจะต้องทำ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นตัวกำหนดรายรับในอนาคตเท่านั้น แต่ยังช่วยวิเคราะห์กระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย ลองใช้โมเดล "จะทำอย่างไร ถ้า..."
ถามตัวเอง เช่น จะทำอย่างไรถ้าคุณไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ในหกเดือนข้างหน้า การตอบคำถามแบบนี้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณจัดการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วหากมันเกิดขึ้นจริง ๆ
3.ใช้วิธีดำเนินงานแบบประหยัด
ระบุและกำจัดงานที่ซ้ำๆ หรือเปลืองเวลาในทุกขั้นตอนของการบริหารธุรกิจ หมั่นตรวจสอบแต่ละขั้นตอนของการดำเนินงาน (เช่น การผลิต การขาย การบริการลูกค้า ฯลฯ) มองหาขั้นตอนที่ทำให้การทำงานล่าช้า
การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณประหยัดเงินและบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้นในระยะยาว
4.รักษาสินค้าคงเหลือแบบพอดี
หากคุณขายสินค้าหรือรับสินค้ามาขาย อย่าเก็บสินค้าไว้มากกว่าการขายสำหรับหนึ่งสัปดาห์ นอกเสียจากว่าคุณแน่ใจว่าจะมีความต้องการมากๆ อย่างแน่นอน การส่งสินค้าสมัยนี้ทำได้เร็วกว่าอดีต
ดังนั้นการสั่งสินค้ามาจำหน่ายไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้านาน หรือรอให้มีออเดอร์แล้วค่อยสั่งก็ยังได้
5.ไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย
มีหลายวิธีที่คุณจะประหยัดเงินได้ด้วยตัวเอง เช่น หากต้องการคอมพิวเตอร์หลายเครื่องลองซื้อแบบมือสองมาไว้ใช้งาน ทำงานที่บ้านแทนการเช่าพื้นที่ในเมือง
ต่อรองขอลดราคาสินค้าขายส่งจากผู้ผลิตสินค้าหรือผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่น การปลูกจิตสำนึกใช้เงินอย่างประหยัดจะช่วยให้คุณหาทางผ่านอุปสรรคไปได้
6.เลื่อนกำหนดจ่ายหนี้
หากคุณอยู่ในฐานะลูกหนี้เพราะจะต้องทำธุรกิจกับผู้ค้ามากมาย ลองวางแผนและเจรจาต่อรองเพื่อขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ แทนการจ่ายเงินสดเป็นก้อน
ผู้ค้าส่วนมากมักจะเข้าใจและยอมให้แบ่งจ่ายหากคุณสามารถจ่ายค่างวดได้ตรงเวลา เงินสดที่คุณไม่ได้ลงไปกับต้นทุนสามารถเอามาใช้หว่านในธุรกิจได้
7.เร่งรัดลูกหนี้
หากคุณเป็นเจ้าหนี้ให้พยายามเก็บเงินให้ได้เร็วที่สุด คุณอาจแจ้งเตือน หรืออาจปฏิเสธการซื้อขายหากลูกค้าคนนั้นอัตคัตเงินก้อน อย่าเป็นเจ้าหนี้ใจดีด้วยการขายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่ได้รับเงินทันที
คุณอาจต้องตรวจสอบเครดิตของลูกค้าก่อนตกลงซื้อขายเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไม่ได้เป็นฝ่ายรับความเสี่ยงเรื่องกระแสเงินสดเสียเอง
8.ใช้บัตรเครดิตอย่างรอบคอบ
หากคุณไม่สามารถตกลงการผ่อนชำระจากผู้ค้าได้ ให้หันมาใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตแทน ให้คุณวางแผนโดยการชำระค่าใช้จ่ายของบริษัทผ่านบัตรเครดิตของตัวเองในช่วงต้นๆของรอบบิล
การทำแบบนี้จะช่วยให้คุณยืดระยะเวลาชำระเงินออกไปได้ 45 ถึง 60 วันเลยทีเดียว
9.เลื่อนกำหนดจ่ายเงินเดือนตัวเอง
หากคุณกำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท พวกเขาเหล่านั้นคงจะสนใจเจ้าของกิจการที่เต็มใจจะไม่รับเงินเดือนเพื่อให้ธุรกิจได้กำไรและเจริญเติบโตได้เมื่อมีโอกาส
การงดจ่ายเงินเดือนตัวเองเป็นเวลาหนึ่งเป็นเป็นกฏพื้นฐานที่ดีของการเป็นเจ้าของกิจการ ลองคิดดูสิว่าหากคุณยังรับเงินเดือนต่อไปเรื่อยๆ ธุรกิจของคุณจะบินขึ้นได้อย่างไร
ในทางกลับกันหากคุณไม่รับเงินเดือนเป็นเวลาหนึ่งปีนั่นหมายความว่าจะมีเงินสดเทเข้าไปอยู่ในเงินทุนของบริษัท เป็นการบริหารกระแสเงินสดที่ดีกว่าสำหรับปีต่อไป
10.คิดหาวิธีชดเชยค่าแรงแบบใหม่ๆ
คุณไม่มีทางดำเนินธุรกิจไปได้ไกลหากไม่จ้างพนักงาน แต่คุณไม่จำเป็นต้องหาพนักงานดีๆ ด้วยการให้เงินเดือนแพงๆ แบบที่บริษัทใหญ่ๆนิยมทำกัน ลองคิดวิธีชดเชยค่าแรงด้วยการให้ข้อเสนออื่น ๆ
เช่น ให้ค่าโทรศัพท์ ให้แต่งตัวตามสบาย มีห้องพักเบรคสวยๆ หากคุณสามารถหาคนที่เชื่อมั่นในบริษัทและอยากโตไปพร้อมๆ กับคุณ แทนที่จะรับเงินเดือนสูงๆ
คุณก็สามารถเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าได้โดยไม่ต้องทำให้กระแสเงินสดแห้งเหือด
sithiphong:
บัญชีครัวเรือน...จดแล้วไม่จน
-http://money.sanook.com/83478/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99...%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%99/-
เงินพลาสติก หรือ บัตรเครดิต ดูเหมือนจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในสังคมปัจจุบันไปแล้ว และไม่ได้พกกันแค่ใบเดียวเสียด้วย เพราะบัตรแต่ละใบตัดยอดคนละวันกัน ก็สลับกันใช้ โดยคิดว่านี่คือการบริหารเงินที่ถูกต้อง แต่เอาเข้าจริงแล้ว กลายเป็นว่าเป็นหนี้บัตรทุกใบ เพราะใช้จ่ายเกินตัว
ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน ความพอเพียง มักทำได้ยากเพราะแนวทางการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป มีสิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหลากหลายรูปแบบ เช่น ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่นหรือดารานักแสดงที่ชื่นชอบ รายรับอาจไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้
จึงนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน และเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ยากจะหลุดออกมาได้!!
สิ่งที่อันตรายเวลาเราใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต คือการไม่จดบันทึกว่าใช้จ่ายค่าอะไรไป เป็นจำนวนเท่าไร เราจึงไม่รู้ว่าใช้เงินไปมากน้อยเท่าใดแล้ว การไม่เห็นเงินสดออกจากกระเป๋าจึงคิดว่าเรายังมีเงินพอใช้อยู่
บางคนเห็นยอดชำระค่าบัตรเครดิตถึงกับตกใจ ว่าเราใช้มากมายขนาดนี้เลยหรือ บางคนไม่สามารถชำระยอดเต็มได้จึงชำระแค่ขั้นต่ำโดยลืมนึกไปว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว ทำให้ยอดค้างชำระบัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประมาณว่ากินเท่าเดิมจ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นบัตรเครดิตที่กระตุ้นการใช้จ่ายจากธนาคารต่างๆ อีกมากมาย
แต่จะโทษปัจจัยภายนอกอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ เพราะสาเหตุหลักคงไม่พ้นพฤติกรรมและวินัยในการใช้จ่ายของเราเองมากกว่า ที่ไม่สามารถทนต่อกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ได้ ยิ่งมีครอบครัวด้วยแล้ว ภาระก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายให้ดีขึ้น
การทำบัญชีรับจ่ายเป็นอีกหนึ่งทางที่สามารถช่วยให้การวางแผนทางการเงินมีประสิทธิภาพ หลายคนมองว่าการทำบัญชีเป็นอะไรที่ยุ่งยากและไกลตัว และส่วนใหญ่ใช้ในการทำธุรกิจเท่านั้น
แต่จริงๆ แล้วขั้นตอนการทำบัญชีรับจ่ายอย่างง่ายภายในครอบครัว หรือที่เรียกกัน "บัญชีครัวเรือน" ไม่ได้ยุ่งยากและซับซ้อนอย่างที่คิด
หลักบัญชีครัวเรือนนั้น ประยุกต์มาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เพราะทรงมองเห็นถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง รู้จักความพอประมาณ โดยคำนึงถึงหลักเหตุผล และการประมาณตน
หลายคนอาจคุ้นเคย หรืออาจจะเคยได้ยินการรณรงค์เกี่ยวกับการทำบัญชีครัวเรือนกันมาบ้างจากสโลแกนที่ว่า "จดแล้วไม่จน" กันมาบ้างแล้ว หลักๆ เลยคือการจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน หรือประจำเดือนว่า มีรายรับเท่าไหร่และมีรายจ่ายอะไรบ้าง และคงเหลือเท่าไหร่ หรือไม่พอใช้เท่าไร
หากไม่พอใช้ รายจ่ายอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นและสามารถลดได้ นี่คือข้อดีของการบันทึกรายรับรายจ่าย เราสามารถสร้างความสมดุลระหว่างระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน และอาจช่วยปลูกฝังการเก็บออมอีกด้วย
sithiphong:
ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร ... รู้เอาไว้ก็ได้ประโยชน์
-
-http://hilight.kapook.com/view/86668-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และ ดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน
งัดข้อกันมานานพอสมควร ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยอมถอย 1 ก้าว ด้วยการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือเป็น 2.50% ซึ่งถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ กนง. ถูก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทุ้งดัง ๆ ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายอยู่หลายต่อหลายครั้ง เพื่อชะลอการไหลเข้าของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายคนที่ได้ยินข่าวนี้ และไม่ได้สนใจเรื่องข่าวเศรษฐกิจมากนักอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่า "ดอกเบี้ยนโยบาย" คืออะไร แล้วการลดดอกเบี้ยนโยบายลงนั้นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร กระปุกดอทคอม ขออธิบายคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปภายใต้กรอบของเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 3% และเพื่อที่จะควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องใช้ "ดอกเบี้ยนโยบาย" ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดว่าควรอยู่ที่เท่าไร ในตามแต่ละสถานการณ์
สำหรับประเทศไทย ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้เพื่อควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร RP (repurchase) ซึ่งในปัจจุบันนี้ ใช้อัตราดอกเบี้ยการซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วัน (R/P 1 วัน) เป็นตัวแทนดอกเบี้ยนโยบาย
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเหลือก็จะนำเงินไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้ยืมเป็นระยะเวลา 1 วัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะโอนพันธบัตรภาครัฐให้กับสถาบันการ เงินเพื่อเป็นหลักประกัน โดยธนาคารประเทศไทยสัญญาว่าจะ "รับซื้อคืนพันธบัตร" ที่ใช้เป็นหลักประกัน กลับมาจากสถาบันการเงินพร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลา 1 วันให้ โดยดอกเบี้ยนั้นก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยนั่นเอง
ทีนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น สัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร?
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" กับ "อัตราผลตอบแทน" อันหมายถึงดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้านั้น เป็นคนละตัวกัน แต่โดยปกติแล้ว เมื่อดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็จะปรับดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก เงินกู้ หรือแม้แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายด้วย
หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แสดงว่า ช่วงนั้นเศรษฐกิจเติบโต ราคาสินค้าสูงขึ้น จนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่กำลังซื้อของประชาชนเริ่มลดลง (คนมีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยชิ้นลง เพราะสินค้าแพงขึ้น) ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องพยายามลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้ต่ำลง ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร เป็นการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไปปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ลูกค้าด้วย
เมื่อธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะจูงใจให้ประชาชนนำเงินมาฝากมากขึ้น ออมเงินมากขึ้น ธนาคารก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น และเมื่อธนาคารขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยซึ่งเป็นกำไรของธนาคารเอาไว้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้นี้ก็จะทำให้คนกู้ยืมน้อยลงด้วย หันมาออมมากขึ้น เป็นเหตุให้การใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง การลงทุนลดลง ช่วยชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้
ในทางกลับกัน หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แสดงว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจเริ่มหดตัว เงินเฟ้อต่ำลง ประชาชนไม่ค่อยใช้จ่าย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ลง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและภาคเอกชนถอนเงินไปใช้จ่าย และลงทุนมากขึ้น (เพราะฝากเงินไว้กับธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยนิดเดียว) เป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยนโยบาย เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ดุลการค้า ดุลการคลัง กระแสเงินทุนไหลเข้าออก การเมือง ฯลฯ
ดังเช่น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพราะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยที่สูงไปสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจนำเงินออมมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนของไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
นอกจากนี้ กระแสเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยยังทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ส่งออกส่งสินค้าออกได้ยากขึ้น เพราะต่างประเทศจะมองว่าสินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นนั่นเอง ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอยู่กลาย ๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก -http://news.voicetv.co.th/thailand/62739.html-
, -thaimutualfundnews.com-, -thaibma.or.th-, -fundmanagertalk.com-
http://hilight.kapook.com/view/86668
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version