รายงานพิเศษ : สุภัช จันทรา มหาเศรษฐีหมื่นล้านชาวอินเดีย สร้างเจดีย์วิปัสสนาใหญ่ที่สุดในโลกมหาเศรษฐีชาวอินเดียวัย 61 ปี “สุภัช จันทรา” ผู้มีสินทรัพย์ ในครอบครองราว 60,000 ล้านบาท เจ้าของกิจการเครือข่ายโทรทัศน์ Zee TV ที่มีผู้ชม 500 ล้านคนต่อวัน และเจ้าของ Esselworld and Water Kingdom สวนสนุกและสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ทุ่มทุน 750 ล้านรูปี (ราว 500 ล้านบาท) เพื่อสร้างศูนย์วิปัสสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีชื่อว่า เจดีย์วิปัสสนาสากล (Global Vipassana Pagoda) ซึ่งเป็นเจดีย์สีทองขนาดมหึมา ตั้งโดดเด่น เป็นสง่าท่ามกลางแมกไม้ในหมู่บ้านโกไร เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
จันทราเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีเครือญาติช่วยกันทำการค้า ภายในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย ต่อมาเกิดภาระหนี้สิน จึงต้องแยกย้ายกันไป จันทราต้องออกจากมหา วิทยาลัยกลางคัน เวลานั้นเขาเหลือเงิน ติดกระเป๋าไม่ถึง 30 บาท ขณะมุ่งหน้าสู่กรุงนิวเดลีเพื่อทำงานหาเงินมาใช้หนี้ ให้ครอบครัว
ในที่สุดเขาก็หาเงินก้อนใหญ่ได้จากการค้าข้าว เขาจึงย้ายไป ที่เมืองมุมไบ เพื่อตั้งโรงงานเล็กๆผลิตหลอดลามิเนทบรรจุผลิตภัณฑ์ ต่อมาในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย จันทราได้เปิดสถานีโทรทัศน์ซีทีวี (Zee TV) ซึ่งเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งแรกของอินเดียในปี 1992 ตอนนั้นครอบครัวของเขากังวลว่า เขาจะต้องสูญเสียธุรกิจเดิมที่สร้างมากับมือไป
อโศก คูเรียน เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งซีทีวี เล่าว่า มันเหมือนการเดินเข้าสู่หุบเขาแห่งความตาย ยุคนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ของเอกชน เพราะทางการไม่ให้ใบอนุญาต ดังนั้น จันทราจึงไปเปิดสถานีที่ฮ่องกงแทน รัฐบาลอินเดียได้เรียกตัวเขาไปสอบสวนหลายครั้ง และให้ปิดสถานี แต่จันทราปฏิเสธ แม้ในช่วงเริ่มต้นเขาต้องสูญเงินเดือนละ 180 ล้านบาทก็ตาม
ในตอนนั้น จันทราได้รับการแนะนำให้รู้จัก “สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” วิปัสสนาจารย์ชาวอินเดีย ซึ่งได้ชักชวนให้จันทราเข้าคอร์สวิปัสสนาเป็นครั้งแรก “สุชีลา” ผู้เป็นภรรยาได้สนับสนุนให้สามีลองทำวิปัสสนา เพื่อล้างพิษจากความเครียดที่มีอยู่
คอร์สแรกสำหรับเขาใช้เวลา 10 วัน ให้ผลดีมากกว่าแค่การขจัดความเครียด เพราะเมื่อจันทรากลับไปทำงาน เพื่อนร่วมงาน สังเกตได้ถึงความคิดของเขาว่า “แหลมคมเหมือนใบมีด”
และเมื่อเรื่องงานทำให้เขารู้สึกเครียดมากขึ้น เขาก็ยังคงไปเข้าคอร์สทำวิปัสสนาอยู่เสมอ และแม้จะมีเรื่องงานที่ทำให้เขาไม่อาจหยุดได้ เขาก็จะพักงานไว้ก่อน
“บ่อยครั้งที่มีเรื่องทำให้ผมไปเข้าคอร์สวิปัสสนาไม่ได้ แต่ผมก็ยังไป” จันทราพูด
อโศก คูเรียน เล่าว่า ช่วงปีแรกๆของการก่อตั้งซีทีวี เขารับไม่ได้กับการหายตัวไปของจันทราบ่อยครั้ง
“เรามักมีปัญหาที่ไม่ซ้ำกัน 40 เรื่องประดังเข้ามาพร้อมๆกัน แล้วจันทราก็หายตัวไปขณะที่เรายุ่งกับการแก้ปัญหา แต่แล้วเขาก็จะกลับมาในสภาพที่ได้ไปเติมพลังชาร์จแบตมาอย่างดี”
กว่า 20 ปีที่มหาเศรษฐี ชาวอินเดียได้เรียนทำวิปัสสนากับโกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์วัย 86 ปี
“การทำวิปัสสนาสอนให้ผมมีจิตใจสงบนิ่งในทุกๆสถานการณ์ของชีวิต ซึ่งช่วยผมเป็นอย่างมากในเรื่องธุรกิจ โดยเฉพาะในยามวิกฤต ผมค้นพบว่า การทำสมาธิแบบนี้ เป็นไปตามหลักทางวิทยาศาสตร์ และผมรู้สึกว่า มันเป็นหนทางที่เหมาะสำหรับผม”
จันทราบอกว่า การทำวิปัสสนาช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ทางธุรกิจจนร่ำรวยมหาศาล เขาจึงพยายามชักชวนคนในครอบ ครัวไปเข้าคอร์สวิปัสสนา และยังสนับสนุนให้พนักงานซีทีวี ลางานโดยได้รับเงินเดือน เพื่อไปเข้าคอร์สวิปัสสนา แต่มีไม่ถึง 15% ที่ลางานไป มหาเศรษฐีใหญ่พูดอย่างอารมณ์ดีว่า “มันไม่ได้อยู่ในชะตาลิขิตของพวกเขา”
ในปี 1997 จันทราได้ยกที่ดินราว 33 ไร่ มูลค่า 150 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจำลองแบบมาจากมหาเจดีย์ชเวดากองของพม่า
“ผมได้รับประโยชน์มากมายจากการทำวิปัสสนา จึงอยากให้คนอื่นๆได้มีโอกาสเข้าร่วมในประสบการณ์นี้เช่นกัน” จันทรากล่าวขณะนั่งในห้องทำงานที่สำนักงานใหญ่ของเอซเซิล เขามีท่าทีสงบนิ่งเช่นเดียวกับภาพวาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แขวนอยู่ด้านหลังโต๊ะทำงานของเขา
จันทราเข้ามาดูแลการก่อสร้างเจดีย์ดังกล่าวทุกขั้นตอน เขาขับรถนาน 2 ชม.จากที่ทำงานไปยังเขตก่อสร้างเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
“นี่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อให้อยู่ได้นานถึง 2,000 ปี” จันทราบอก
เมื่อเจดีย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2008 มหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ ก็ได้จัดพิธีเฉลิมฉลอง โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐาน ณ ยอดโดมที่ใหญ่ที่สุด
หลังการเฉลิมฉลองเจดีย์วิปัสสนาแล้ว จันทราได้ส่งมอบการบริหารกิจการทั้งหมดให้บุตรชายคนโต และในปีถัดมา เขาได้ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานมูลนิธิวิปัสสนาสากล แต่ยังคงเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินและทำวิปัสสนาเป็นประจำทุกวัน เขาบอกว่า
“ผมสามารถทำวิปัสสนาได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ขณะกำลังพูดคุยอยู่กับคุณ”
• เจดีย์วิปัสสนาสากล
โครงการก่อสร้างเจดีย์วิปัสสนาสากล เริ่มวางศิลาฤกษ์ในปี 1997 โครงสร้างทั้งหมดประกอบด้วยเจดีย์รูปโดม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ห้องโถงขนาดใหญ่ สำหรับปฏิบัติวิปัสสนา หอศิลป์จัดแสดงภาพพุทธประวัติและพุทธธรรมเจดีย์ขนาดเล็กสูง 60 ฟุต 2 องค์ ทางทิศเหนือและใต้ห้องสมุดและห้องเรียน ลานกว้างรอบๆพระเจดีย์ ตึกธุรการห้องใต้ดิน และห้องประชุม 2 ห้อง
จุดประสงค์ของการสร้างเจดีย์นี้ เพื่อแสดงความซาบซึ้งในมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมอันเป็นสากล เพื่อให้มวลมนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง และเพื่อแสดงออกถึงความขอบคุณประเทศพม่า ที่ยังคงอนุรักษ์การทำวิปัสสนาแบบดั้งเดิมไว้ ในขณะที่ได้หายสาบสูญไปจากแหล่งกำเนิดในอินเดียแล้ว
เจดีย์องค์นี้สร้างโดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานระหว่างอินเดียโบราณและสมัยใหม่ โดยใช้เทคนิคโบราณที่นำก้อนหินทรายแดงมาเชื่อมต่อกันด้วยปูนขาว หินแต่ละก้อนหนัก 700 กก. น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน เพื่อให้คงทนถาวรราว 2,000 ปี
รูปแบบเจดีย์วิปัสสนาสากล จำลองมาจากมหาเจดีย์ชเวดากองของพม่า โครงสร้างของพระเจดีย์ประกอบด้วยโดม 3 ส่วน
ส่วนแรกที่เป็นโดมใหญ่สุด สร้างเสร็จในปี 2006 มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ ยอดโดม นับเป็นสิ่งก่อสร้างรูปโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดพบในสถูปสาญจี และสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดียได้มอบให้เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ณ เจดีย์แห่งนี้
ส่วนโดมที่สองและสามสร้างอยู่บนยอดของโดมแรก สร้างแล้วเสร็จในปี 2008
บริเวณศูนย์กลางของเจดีย์เป็นโดมหินไร้เสาค้ำยันที่ใหญ่ที่สุดในโลก องค์พระเจดีย์สูง 96.12 เมตร ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของโดมโกล กัมบาซ แห่งเมืองพิชปุระ ในรัฐกรณาฏกะ ของอินเดีย ซึ่งเคยเป็นปูชนียสถานรูปโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกส่วนที่กว้างที่สุดของโดมเท่ากับ 97.46 เมตร และส่วนที่แคบที่สุดเท่ากับ 94.82 เมตร ภายในเจดีย์เป็นที่โล่ง ไม่มีเสาค้ำยัน ใช้เป็นห้องปฏิบัติวิปัสสนา บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร รองรับได้มากกว่า 8,000 คน
โดยเริ่มประเดิมเปิดคอร์สปฐมฤกษ์ ปฏิบัติวิปัสสนากับอาจารย์โกเอ็นก้า ณ เจดีย์แห่งนี้เป็นเวลา 1 วัน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2008 ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2009 ได้มีพิธีเปิดเจดีย์วิปัสสนาสากลอย่างเป็นทางการ โดยมี นางประติภา ปาติล ประธานาธิบดีของอินเดีย เป็นประธาน
เจดีย์วิปัสสนาสากลถือเป็นปูชนียสถานที่มีชื่อเสียงของเมืองมุมไบ และนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ในแต่ละวันมีผู้คนมากมายได้เดินทางมาที่นี่ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งทางรัฐมหาราษฏระคาดว่าสถานที่แห่งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ปีละหลายแสนคน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย พิสุทธิ์)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9550000043295คลิป Inauguration of Global Vipassana Pagoda in Mumbai
Inauguration of Global Vipassana Pagoda in Mumbai