คัมภีร์โบราณกล่าวว่า อย่าไว้ใจพระราชาว่าโปรดปราน
เพราะอาจพิโรธแล้วอาจทำลายล้างชีวิตได้โดยไม่มีความผิด
ที่พึ่งอันเกษมคือตนเอง ไม่ต้องมีสุขทุกข์ เนื่องด้วยคนอื่นเพียรพายสำเภาแก้ว... ๒. เมื่อพระราชาพิโรธพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาอัครมเหสี ทรงรักใคร่กลมเกลียวกันมากเป็นที่ปรากฏทั่วไปแต่คราวหนึ่งทรงวิวาทกันเรื่องพระแท่นบรรทม (ตำราไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ว่า มีปัญหาขัดแย้งใดๆ เกี่ยวกับเรื่องพระแท่นบรรทม) พระราชาทรงกริ้วมาก ถึงกับไม่ยอมตรัสกับพระนางมัลลิกา ไม่เอาพระทัยใส่พระนางว่าจะอยู่อย่างไร
พระนางมัลลิกาทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ยังไม่ทรงทราบเรื่องนี้ ฝ่ายพระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ได้ด้วยพระญาณไม่ต้องมีใครบอกเล่า เมื่อทราบแล้ว เสด็จไปโปรดในพระราชวัง
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจึงรีบมาเฝ้าเตรียมอาหารอันประณีตถวาย แต่พระพุทธองค์ทรงปิดบาตรเสีย ไม่ยอมรับ ตรัสถามว่าพระนางมัลลิกาเสด็จไปไหนเสียจึงไม่เสด็จมา พระราชาปเสนทิทูลว่า อย่าเอาพระทัยใส่กับนางผู้มัวเมาในอิสริยยศของตนเลยพระเจ้าข้า เวลานี้พระนางทรงอวดดีขนาดกล้าทุ่มเถียงกับข้าพระพุทธเจ้า
พระศาสดาตรัสเตือนพระเจ้าปเสนทิว่าควรจะอดโทษให้พระนางเสีย เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย พระองค์ทรงยกย่องพระนางไว้ในที่สูงแล้ว คนทั่วไปรู้กันแล้ว ไม่ควรทรงกริ้วขนาดไม่ตรัสปราศรัยด้วย หากคนทั้งหลายเล่าลือกันไปก็จะไม่เป็นเกียรติยศแก่ราชสกุล อนึ่ง จักเป็นตัวอย่างให้สามีภรรยาที่ทะเลาะกันอ้างได้ว่า แม้แต่พระราชาผู้จอมชนของพวกเราก็ยังทรงทะเลาะกับพระมเหสี เพราะฉะนั้นขอพระองค์จงระงับพระทัยอันขุ่นเคืองพระอัครมเหสีเสียเถิด พระราชามีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก จึงทรงยอมรับสั่งให้พระนางมัลลิกามาเฝ้าพระศาสดา ทั้งสองพระองค์ก็ทรงปรองดองกันดีแล้ว ช่วยกันอังคาสพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
เย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา ถึงเรื่องที่พระศาสดาให้พระราชาและพระราชินีปรองดองกันได้ว่าเป็นอัศจรรย์ทรงให้พระราชาและพระราชินีปรองดองกันได้ด้วยธรรมข้อเดียว คือ
อานิสงส์แห่งความสามัคคี พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตรัสว่า ชาติก่อนพระองค์ก็เคยทรงสมานสามัคคี แห่งท่านทั้งสองนี้แล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมาว่า
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสีทอดพระเนตร ผ่านพระแกลไปทางพระลานหลวง ทรงเห็นหญิงทูนกระเช้าขายพุทราคนหนึ่งกำลังเดินร้องขายพุทราอยู่ว่าพุทราเจ้าข้า พุทราเจ้าข้า
พระราชทรงสดับเสียงนั้นแล้วเกิดปฏิพัทธ์ให้มหาดเล็กไปตามมาเฝ้า ทรงทราบว่ายังไม่มีสามี จึงทรงอภิเษกนางให้อยู่ในตำแหน่งมเหสี ทรงรักใคร่โปรดปรานมากพระราชทานนามให้ใหม่ว่าสุชาดาราชเทวี
วันหนึ่ง สุชาดาราชเทวี เห็นพระราชากำลังเสวยผลไม้อย่างหนึ่ง สีแดง คล้ายโลหิตกลมเกลี้ยง สะอาด จึงทูลถามว่า พระองค์กำลังเสวยผลอะไร ?
เพียงเท่านั้นเอง พระราชาพิโรธมากตรัสบริภาษว่า “ชิชะ อีแม่ค้าพุทราสุก ลูกไอ้คนขายผัก แกไม่รู้จักพุทราอันเป็นผลไม้ประจำตระกูลของแกเสียแล้วหรือ? เมื่อก่อนนี้เป็นหญิงหัวกล้อน นุ่งผ้าเก่าๆ สกปรกเก็บพุทราขาย พอเอามาเลี้ยงให้ดีหน่อย ทำเป็นไม่รู้จักพุทรา อยู่ในราชสกุลคงร้อนรน ไม่สบายเหมือนเที่ยวทูนพุทราขาย”
พระราชารับสั่งให้ขับไล่พระนางสุชาดาออกจากพระราชนิเวศน์ แต่มหาอำมาตย์ผู้สอนอรรถธรรมแก่ พระราชาทราบเรื่องนั้นเข้ารีบมาทูลให้พระราชายับยั้งไว้ก่อนแล้วกราบทูลขอให้พระราชาทรงอดโทษให้แก่ พระนางด้วยเหตุผลเดียวกับที่พระศาสดาตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล จนพระเจ้าพรหมทัตพระทัยอ่อน และยอมอดโทษให้พระราชเทวีทรงสมานสามัคคีมีความสุขสำราญเช่นเดิม
มหาอำมาตย์ผู้อนุศาสน์ธรรมนั้นมาเป็นพระพุทธเจ้า
สุชาดาเป็นพระนางมัลลิกา
พระเจ้าพรหมทัตมาเป็นพระราชาปเสนทิโกศล เรื่องนี้แสดงให้เห็นอานุภาพของพระราชาในสมัยที่มีพระราชอำนาจเต็มที่ โปรดปรานใคร ก็ทรงยกขึ้นสู่ที่สูงได้ทันที และพอขัดเคืองพระทัย แม้ในเหตุอันไม่สมควรก็สั่งถอดถอนขับไล่ได้ทันที โบราณท่านจึงว่า อย่าไว้ใจพระราชาว่าโปรดปราน อย่าไว้ใจโจรว่าเป็นเพื่อนเก่าอย่าไว้ใจสตรีว่ารักเรา และอย่าไว้ใจคนมีศัสตราในมือ
ที่พึ่งอันเกษม คือตนเอง พึ่งตนได้แล้วไม่ต้องง้อใคร
ไม่ต้องมีสุขทุกข์เนื่องด้วยการโปรดปราน หรือไม่โปรดของคนอื่น
ขอขอบคุณที่มาบทความ : หนังสือ
เพียรพายสำเภาแก้ว เผยแพร่
โดย วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (
วัดหลวงปู่จาม )
บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
-http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=423