๒๕.ทานที่มีอานิสงส์ไพศาล
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ทานจะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์หก กล่าวคือ
-ก่อนให้ ผู้ให้ก็มีใจผ่องใส ชื่นบาน
-เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
-เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
-ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
-ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
-ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ประกอบด้วยองค์หกนี้แลเป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณ เหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยาก ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! คราวหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้ เข้าไปหาตถาคตและถามว่าบุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่า ควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือ เลื่อมใสบุคคลใด คณะใด ก็ควรให้แก่บุคคลนั้น คณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่า ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่า ถ้าต้องการผลมากแล้วละก็ ควรจะให้ทานในท่านผู้มีศีล การให้บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่
สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยทานของทายกเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาบุญ คือบุคคลผู้รับ เป็นคนดีมีศีลธรรม และประกอบด้วยเมล็ดพืช คือ เจตนาและไทยทานของทายกบริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อยมีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือ ย่อมได้รับผลบุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคล ซึ่งมีศีลดีมีธรรมงามย่อมจะมีผลมาก เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ ดังนี้
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยด ยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร้ไปด้วยบาป”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
๒๖.พระธรรมวินัย
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรย่อมลึกลงตามลำดับ ลาดลงตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาดฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาตามลำดับ การปฏิบัติตามลำดับ การบรรลุตามลำดับ ลุ่มลึกลงตามลำดับ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรแม้จะมีน้ำมาก อย่างไรก็ไม่ล้นฝั่งคงรักษาระดับไว้ได้ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น ภิกษุสาวกของเราย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้จะต้องลำบากถึงเสียชีวิตก็ตาม”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรย่อมซัดสาดซากศพที่ตกลงไปให้ขึ้นฝั่งเสีย ไม่ยอมให้ลอยอยู่นานฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมด้วยภิกษุผู้ทุศีล มีใจบาป มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการกระทำที่ต้องปกปิด ไม่ใช่สมณะปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี เป็นคนเน่าใน รุงรังสางได้ยากเหมือนกองหยากเยื่อ
สงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมขับภิกษุนั้นออกเสียจากหมู่ภิกษุเช่นนั้น แม้จะนั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากภิกษุเช่นกัน”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! แม่น้ำสายต่าง ๆ ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทร และเมื่อไปรวมกับน้ำในมหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อเดิมของตนเสีย ถึงซึ่งการนับว่ามหาสมุทรเหมือนกันหมดฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะบวชออกจากตระกูลต่าง ๆ วรรณะต่าง ๆ เช่น วรรณะพราหมณ์บ้าง กษัตริย์บ้าง วัยยะบ้าง สูทรบ้าง คนเทหยากเยื่อบ้าง จัณฑาลบ้าง แต่เมื่อมาบวชในธรรมวินัยนี้แล้วละวรรณะตระกูล และโคตรของตนเสีย ถึงซึ่งการนับว่าสมณะศากยะบุตรเหมือนกันหมด”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ความพร่องหรือความเต็มเอ่อ ย่อมไม่ปรากฏแก่มหาสมุทร แม้พระอาทิตย์จะแผดเผาสักเท่าใด น้ำในมหาสมุทรก็หาเหือดแห้งไปไม่ แม้แม่น้ำสายต่าง ๆ และฝนจะหลั่งลงมหาสมุทรสักเท่าใด มหาสมุทรก็ไม่เต็มฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น แม้จะมีภิกษุเป็นอันมาก นิพพานไปด้วยอนุปาทิเสสะนิพพานชาติ แต่นิพพานธาตุก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่พร่องไม่เต็มเลย แม้จะมีผู้เข้าถึงนิพพานอีกสักเท่าใด นิพพานก็คงมีให้ผู้นั้นอยู่เสมอ ไม่ขาดแคลนหรือคับแคบ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรมีภูติคือ สัตว์น้ำเป็นอันมาก มีอวัยวะใหญ่ และยาว เช่นปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาวาฬ เป็นต้น ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีภูติคือ พระอริยะบุคคลเป็นจำนวนมาก มีพระโสดาบันบ้าง พระสกิทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง จำนวนมากหลายเหลือนับ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรมีนานารัตนะ เช่น มุกดา มณี ไพฑูรย์ เป็นต้น ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีนานาธรรมรัตนะ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรค์มีองค์ ๘ เป็นต้น”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! น้ำในมหาสมุทรย่อมมีรสเดียว คือ รสเค็มฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็มีฉันนั้น มีรสเดียว คือ วิมุติรส หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลส เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญแห่งพรหมจรรย์ที่เราประกาศแล้ว”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
๒๗.อะไรหนอ เป็นรสอร่อยในโลก?
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ครั้งก่อนแต่ตรัสรู้เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้นั่นเทียว ได้เกิดความปริวิตกขึ้นว่า อะไรหนอเป็นรสอร่อยในโลก อะไรเป็นโทษในโลก อะไรเป็นอุบายเครื่องออกไปจากโลก
ภิกษุทั้งหลายความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า สุขโสมนัสที่ปรารภโลกเกิดขึ้นนี้เองเป็นรสอร่อยในโลก โลกไม่เที่ยงทรมานมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา นี่เองเป็นโทษในโลก การนำออกเสียสิ้นเชิง ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลินในโลกนี่เอง เป็นอุบายเครื่องออกไปจากโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย ตลอดเวลาเพียงไรที่เรายังไม่รู้จักว่ารสอร่อยของโลกว่าเป็นรสอร่อย ยังไม่รู้จักโทษของโลกว่าเป็นโทษ ยังไม่รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นเครื่องออกตามที่เป็นจริง ตลอดเวลาเพียงนั้น เรายังไม่ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล เราได้รู้จักรสอร่อยของโลกว่าเป็นรสอร่อย รู้จักโทษของโลกว่าเป็นโทษ รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นเครื่องออกตามที่เป็นจริง ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เราได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์ ก็แหละญาณทรรศนะ เครื่องรู้เครื่องเห็นเกิดขึ้นแล้วว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดใหม่ไม่มีอีกดังนี้”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
๒๘.พรหมจรรย์
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระ คือ ความสำรวม เพื่อปหานะ คือ ความละ เพื่อวิราคะ คือ คลายความกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะ คือ ความดับทุกข์”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
๒๙.จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีตมิใช่วิสัยแห่งสัตว์ คือ คิดเอาไม่ได้หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! จงดูกายอันนี้เถิด ฟันหัก ผมหงอก หนังหดเหี่ยว หย่อนยาน มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัดเหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีกได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมไว้ ผูก กระหนาบคาบค้ำไว้จะยืนนานไปได้สักเท่าใด การแตกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง พวกเธอทั้งหลาย พวกเธอจงมีธรรมเป็นที่เกาะที่พึ่งเถิด อย่าคิดยึดสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้เราตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
๓๐.ถุงหนัง..ป่าช้าแห่งซากสัตว์
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! จงดูกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาด มีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนักของผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้ไม่นานนักหรอกคงจะนอนทับถมแผ่นดิน ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้วก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่าอันเขาทิ้งเสียแล้วโดยไม่ไยดี”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้า มีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บมูตรและกรีษ อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่าง ๆ เข้าไว้แล้วซึมออกมาเสมอ ๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างแม้เพียงวันเดียว หรือสองวัน กลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่รังเกียจเป็นของน่าขยะแขยง”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ร่างกายนี้เป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้น เป็นเพียงผิวหนังเท่านั้น เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพอันวิจิตรตระการตา ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น แต่ผู้รู้เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงไร ก็หาพอใจยินดีไม่ เพราะทราบว่าภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจ”
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
“บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ที่พึงใจเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้
อานนท์เอย! ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่าสิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
-http://www.dharma-gateway.com/ubasok/wasin/wasin-062-02.htm