ผู้เขียน หัวข้อ: แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ  (อ่าน 5402 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                (๑๒)

คำว่า "ธาตุ" นี้ก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "ธรรม" รากของศัพท์ก็เป็น Root เดียวกันด้วย คำว่าธรรมะนี้มาจากคำว่า ธร แปลว่า ทรง คือ ทรงตัวมันอยู่ได้เหมือนที่ได้อธิบายมาแล้วคำว่า "ธาตุ" นี้ก็เหมือนกัน นักศัพทศาสตร์เขายอมรับว่ามันมาจากคำว่า ธร ด้วยเหมือนกันคือ แปลว่าทรง เพราะฉะนั้น คำว่าธาตุนี้มันก็ แปลว่า สิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะ ที่เปลี่ยนแปลงก็มีการทรงตัวมันอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง, ฉะนั้นเราต้องมาเรียนถึงสิ่งที่ไม่อาจเป็นตัวตนได้เลย คือ สิ่งที่เรียกว่า ธาตุ นี้บ้าง
     ท่านทั้งหลายรู้จักธาตุชนิดไหนกันบ้าง ที่จะเอามาเป็นตัวความว่างได้? คนที่เรียนฟิสิกหรือเคมี ก็รู้เรื่องธาตุแต่ฝ่ายวัตถุล้วน ๆ เป็นธาตุแท้กี่สิบอย่างหรือถึงร้อยอย่างละ ยิ่งพบเรื่อย ๆ ธาตุอย่างนี้เป็นความว่างไปไม่ได้ หรือว่าถ้าว่างก็เป็นความหมายอันลึกของลิ่งเหล่านี้ เพราะว่านี้เป็นแต่เพียงรูปธาตุ

     ทีนี้ยังมีธาตุฝ่ายจิตใจ ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายนามธรรมอีกธาตุหนึ่ง ชึ่งเราไม่อาจจะพิสูจน์ด้วยวิชาฟิสิกส์หรือเคมีอย่างนั้นมันก็ต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างของพระพุทธเจ้าจึงจะรู้เรื่องธาตุ นามธาตุหรืออรูปธาตุ คือ ธาตุที่ไม่มีรูปและเป็นแต่เพียงนามหรือเรื่องทางจิต ทางเจตสิก ทางจิตใจ ที่ว่ามาถึงแค่นี้เรารู้มา ๒ ธาตุแล้ว
     สิ่งที่เรียกว่าความว่างนี้จะอยู่ในธาตุไหน?
ถ้าใครคิดว่าความว่างเป็นรูปหรือวัตถุธาตุ เพื่อนก็หัวเราะตาย บางคนอาจจะคิดว่าความว่างนี้คงจะเป็นนามธาตุหรืออรูปธาตุ อย่างนี้พระอริยเจ้าก็หัวเราะตาย หัวเราะคน ๆ นั้น เพราะว่าความว่างนี้มันไม่ใช่ ทั้งรูปธาตและทั้งอรูปธาตุ มันยังมีธาตุของมันอีกชนิดหนึ่ง จึงไม่อยู่ในความหมายของคนธรรมดาจะพูดกัน ท่านเลยเรียกมันว่า นิโรธธาตุ

     วัตถุธาตุ หรือ รูปธาตุ นั้นก็หมายถึง ของที่เป็นวัตถุนี้อย่างหนึ่งแล้ว จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรก็ตาม แล้ว อรูปธาตุ นั้นหมายถึง จิตใจ จิตเจตสิก หรือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในทางจิต ทางเจตสิก นี้เรียกว่า อรูปธาตุ แล้วมันจะมีธาตุชนิดไหนอีกที่มันจะไม่ซ้ำกันกับสองธาตุนี้ มันก็มีได้ทางเดียวแต่ว่าเป็นธาตุที่มันตรงกันข้ามจากสองอย่างนี้ และเป็นที่ดับสิ้นหายไปหมดของสองธาตุนี้ด้วยท่านจึงเรียกมันว่า นิโรธธาตุ บางทีก็เรียกว่า นิพพานธาตุ บางทีก็เรียกว่า อมตธาตุ
      ที่เรียกว่า นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ นั้นล้วนแต่แปลว่า ดับ ธาตุแห่งความดับ คือเป็น ธาตุแห่งความดับของธาตุอื่น ๆ ทั้งหมด หรือว่าธาตุเป็นที่ดับของธาตุทั้งหมด และที่เรียกว่า อมตธาตุ แปลว่า ธาตุที่ไม่ตายนั้น หมายความว่าธาตุอื่น ๆ นอกจากนี้มันตายหมด มันตายได้ มันตายเป็น ส่วนนิโรธธาตุ นี้ไม่เกี่ยวกับการเกิดหรือการตาย แต่ว่ากลับเป็นที่ดับสิ้นของธาตุอื่น ๆ แล้วสุญญตาก็คือสิ่งซ้ำอยู่ในธาตุพวกนี้หรือเป็นธาตุพวกนี้จะเรียกว่า สุญญตธาตุ ก็ได้ เป็นธาตุอันเป็นที่ทำความว่างให้แก่ธาตุอื่น ๆ

     เพื่อความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "ธาตุ" ชนิดที่ทำให้เข้าใจธรรมะได้แล้ว ต้องเรียนธาตุอย่างที่กล่าวมานี้ อย่าไปมัวหลงเข้าใจว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รู้เท่านั้นแล้วก็พอแล้ว มันเป็นเรื่องของเด็กอมมือ ก่อนพุทธกาลเขาก็พูด เขาก็สอนกันอยู่ มันต้องรู้ต้องไปถึงวิญญาณธาตุ คือ ธาตุทางนามธรรมหรือวิญญาณแล้วก็อากาศธาตุ แล้วก็สุญญตธาตุ กล่าวคือ ธาตุ แห่งความว่างเข้าไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดับหมดของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศวิญญาณ แปลว่า เรามีธาตุที่ประหลาดที่สุดในพุทธศาสนานี้ เรียกว่า ธาตุแห่งความว่างหรือสุญญตธาตุ หรือนิโรธธาตุ หรือนิพพาน-ธาตุหรืออมตธาตุ ส่วน ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นมันอยู่ในพวกรูปธาตุ ส่วนจิตใจ วิญญาณ เจตสิก อะไรต่าง ๆ นั้น มันอยู่ในพวกอรูปธาต ส่วนนิพพานหรือสุญญตธาตุนี้ มันอยู่ในพวกนิโรธธาตุท่านต้องไปหาเวลาสงบ ๆ นั่งดูธาตุให้ทั่วทุกธาตุ แล้วจะเห็นชัดว่ามันมีอยู่ ๓ ธาตุอย่างนี้จริง ๆ ก็จะเริ่มพบสุญญตธาตุ หรือนิพพานธาตุ แล้วจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า อนัตตา หรือสุญญตา ที่เรากำลังกล่าวนี้ได้มากขึ้น

     เพราะฉะนั้นเราอาจจะวางหลักได้ว่า ในตัวความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนั่นแหละ มันมีรูปธาตุ และอรูปธาตุ แล้วที่ว่างจากความยืดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละ ก็มีนิโรธธาตุหรือจะกลับกันเสียก็ได้ว่า ถ้ามีนิโรธธาตุเข้ามา มันก็เห็นแต่ความว่าง เห็นความว่างจากตัวกูของกูนี้ปรากฏชัดออกมา ถ้าธาตุนอกนั้นเข้ามา มันก็เห็นเป็นรูป เป็นนาม เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรยุ่งไปหมด แล้วก็มีส่วนที่จะเกิดความยึดถือทั้งนั้น หรือถ้าไม่ยึดถือในทางรัก ก็จะยึดถือในทางไม่รัก คือ เกลียด
     ดังนั้นคนเราจึงมี ๒ อารมณ์เท่านั้น คือ พอใจ กับไม่พอใจ เราเคยชินกันอยู่แต่กับ ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น เราสนโจกันอยู่แต่อารมณ์ที่น่ารัก เพื่อจะให้ได้และสนใจอยู่แต่ที่จะหลบเลี่ยงอารมณ์เกลียดหรือทำลายมันเสีย เรื่องมันก็วุ่นอยู่ตลอดเวลาไม่มีว่าง ถ้าให้ว่างล่ะจะทำอย่างไร? ก็คือ เราอยู่เหนือหรือว่า เอาชนะธาตุที่วุ่นเหล่านั้นมาอยู่กับธาตุที่ว่าง มันก็ว่างได้

     อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกเพื่อแสดงคุณสมบัติของธาตุว่า เนก-ขัมมธาตุ เนกขัมมธาตุ นี้เป็นเหตุให้ออกจากกามารมณ์ แล้วถัดมาธาตุที่สองเรียกว่า อรูปธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากรูป แล้วธาตุที่สามเรียกว่า นิโรธธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากสังขตะ
     ถ้าพูดเป็นบาลีอย่างนี้เรื่องชักจะยุ่งขึ้นทุกที จำต้องพูดเป็นไทยจะดีกว่า คือว่า ถ้าเรามองเห็นเนกขัมมธาตุก็จะเป็นเหตุให้ออกจากกาม กามารมณ์ หมายความว่าเรามองเห็นสิ่งที่ตรงข้ามจากกาม เห็นธาตุชนิดที่ตรงข้ามจากกาม เรียกว่า เห็นเนกขัมมธาตุ กามเป็นไฟ และถ้าไม่ถูกไฟนั้นเผา คือตรงกันข้ามอย่างนี้เรียกว่า เนกขัมมธาตุ จิตที่น้อมไปสู่การออกจากกามนั้น เรียกว่าประกอบอยู่ด้วยเนกขัมมธาตุ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 (๑๓)

ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่พ้นไปจากกามได้นั้น ก็ไปติดอยู่ที่ของสวยงาม สนุกสนาน ที่ไม่เกี่ยวกับกาม แต่ว่ายังเกี่ยวกับรูป คือรูปธรรมที่บริสุทธิ์อย่างพวกฤๅษี มุนี โยคี ติดความสุขในรูปฌานเหล่านี้เป็นต้น หรือบางทีเราเห็นคนแก่ ๆ บางคนติดในเครื่องลายคราม ต้นบอน ต้นโกศล อะไรไม่เกี่ยวกับกาม แล้วหลงใหลยิ่งกว่ากามไปก็มี อย่างนี้ก็สงเคราะห์เรียกว่า เป็นพวกติดอยู่ในรูปเหมือนกัน ออกจากรูปไม่ได้ ถ้าจะออกจากรูปให้ได้ก็ต้องมีความรู้เรื่องอรูปธาตุคือธาตุที่เป็นไปเหนือรูป

     ทีนี้มันจะไปติดอะไรอีก ถ้ามันหลุดรูปไปได้ ไม่ติดรูป? หลุดจากรูปไปได้ ก็ไปติดสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั่ว ๆ ไป ที่มากไปกว่านั้นข้อนี้ก็ได้แก่กุศลธรรมทั้งปวง อกุศลธรรมเราไม่พูดถึงก็ได้ เพราะมันไม่มีใครเอา เพราะมีแต่คนเกลียด แต่กุศลทั้งปวงที่ปรุงแต่งให้เป็นคนดีวิเศษเกิดในสวรรค์ ฝันกันไม่มีที่สิ้นสุด นี้เรียกว่า สังขตะ คือ สิ่งปรุงแต่ง คนเราก็มัวเมาอยู่แต่ที่จะเป็นตัวตนเป็นของของตนเป็นตัวตนอย่างสัตว์เดียรัจฉานไม่ดี ก็เป็นอย่างมนุษย์ เป็นอย่างมนุษย์ไม่ดีก็เป็นอย่างเทวดา เป็นอย่างเทวดาไม่ดี ก็เป็นอย่างพรหม เป็นอย่างพรหมไม่ดี ก็เป็นอย่างมหาพรหม แล้วก็มีตัวตนอยู่เรื่อย อย่างนี้เรียกว่าสังขตะทั้งนั้น ต่อเมื่อเข้าถึงนิโรธธาตุมันจึงจะออกจากสังขตะได้
     นี่แหละเป็นธาตุสุดท้าย เป็นนิพพานธาตุ คือเป็นที่ดับสิ้นแห่งตัวกูและของกู ถ้าดับได้สิ้นเชิงจริง ๆ ก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อนุปาทิเสสฉพพานธาตุ, ถ้ายังดับไม่ได้สิ้นเชิงก็เป็นพระอริยเจ้าที่รอง ๆ ลงมา เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือ ตัวกูยังมีเชื้อเหลืออยู่บ้างไม่ว่างทีเดียว หรือมันว่างได้แต่มันยังไม่ถึงที่สุด ไม่ใช่ปรมังสุญญัง

     รวมความแล้วเราจะต้องรู้จักธาตุ คือหมายถึง ส่วนประกอบอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวงนี้ ขอให้เข้าใจในลักษณะอย่างนี้ คือว่า โดยหลักใหญ่แล้ว มันจะมีอยู่ คือ รูปธาตุ ธาตุที่มีรูป อรูปธาตุ ธาตุที่ไม่มีรูป และนิโรธธาตุ ธาตุซึ่งเป็นที่ดับทั้งของรูปและของอรูป อย่างนี้แล้วกล้าท้าว่าไม่มีอะไรที่จะนอกไปจาก ๓ คำนี้
     นี่แหละเราลองเรียนวิทยาศาสตร์อย่างของพระพุทธเจ้ากันบ้าง ที่มันครอบคลุมทั้งฝ่ายกาย (Physics) ฝ่ายจิต (Mental) และฝ่ายวิญญาณ (spiritual) เป็นเหตุให้ เรารู้จักลิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดครบถ้วนจริง ๆ จึงจะเรียกว่าเรารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจริง จึงจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงได้อีกต่อไป ไม่มีความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น นี่แหละ ความว่างของเรามันต้องมีความหมายอย่างนี่

     ทีนี้เราจะได้พูดกันถึงสิ่งประกอบเล็ก ๆ น้อยๆ ให้ยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อแวดล้อมความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับความว่างในอุปปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า สุญญตา นี้ เรียกว่า มหาปุริสวิหาร สุญญตาคือมหาปุริสวิหาร แปลว่า ความว่าง นั่นแหละ คือ วิหารของพระมหาบุรุษ คือว่ามหาบุรุษอยู่ในวิหารนี้ วิหารนี้ได้แก่ความว่าง นี่หมายความว่ามหาบุรุษนั้นไม่มีจิตใจที่เที่ยวซอกแซกไปอยู่ที่มุมนั้นมุมนี้เหมือนปุถุชน แต่ว่ามีจิตใจอยู่ในความว่าง อยู่ด้วยความว่าง หรือเป็นความว่างเสียเลย ฉะนั้น จึงเรียกสุญญตาว่ามหาปุริสวิหาร โดยเฉพาะก็คือ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์นั่นเอง ความว่างเป็นวิหาร เป็นที่อยู่ของมหาบุรุษ ก็แปลว่าจิตใจของท่านอยู่ด้วยความว่างคือมีลมหายใจอยู่ด้วยความว่าง

     พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันส่วนพระองค์โดยเฉพาะว่า ตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร คือฆ่าเวลาอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร หรือให้ชีวิตล่วงไป ๆ ด้วยสุญญตาวิหาร คือว่าเมื่อท่านกำลังแสดงธรรมสอนคน จิตของท่านก็ว่างจากตัวตน-ของตน เมื่อไปบิณฑบาตหรือทำกิจส่วนพระองค์ จิตของท่านก็ยังว่างจากตัวตนหรือของตน หรือเมื่อท่านทรงพักผ่อนหาความสุขส่วนพระองค์ ที่เรียกว่ายามว่าง-ทิวาวิหาร สุขวิหารอะไรนี้ ท่านก็เป็นอยู่ด้วยความว่างจากตัวตนหรือของตน ท่านจึงทรงยืนยันแก่พระสารีบุตรว่าตถาคตให้เวลาล่วงไปด้วยสุญญตาวิหาร

     นี้เราไม่พูดกันถึงบุคคลธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชน เราพูดถึงมหาบุรุษ พูดถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านมีลมหายใจอยู่อย่างไร ท่านอยู่ในโบสถ์วิหารอะไร ถ้าเราอยากไปเห็นกุฏิวิหารของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าได้นึกถึงเรื่องอิฐเรื่องปูนเรื่องอะไรที่อินเดียกันนัก ลองนึกถึงวิหารที่ชื่อว่า "สุญญตาวิหาร" หรือ "มหาปุริสวิหาร" กันบ้าง แต่อย่าลืมว่ามันต้องเป็น "ปรม สญญ" คือ ว่างอย่างยิ่ง
     สุญญตาขนาดว่างอย่างยิ่ง ไม่ใช่สุญญตาวอบ ๆ แวม ๆ เหมือนพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ กลับไปบ้านก็ไม่ว่างเสียแล้ว สุญญตา-วิหารหรือมหาปุริสวิหารนั้น หมายถึง ว่างอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะยาวมาก เรียกว่า"ปรมานุตตรสุญญตา" คือ ปรม+อนตตระ+สุญญตา รวมกันทั้ง ๓ คำ เป็นปรมานุตตรสุญญตา สุญญตาที่ว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า


     ข้อนี้ ถ้าระบุตามคำเทคนิคของธรรมะ จะมีกล่าวถึง เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต จนจิตว่างจากอาสวะ เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตที่จิตผ่องใสจนไร้อาสวะนี้ อาจจะเป็นอย่างกุปปธรรมหรืออกุปปธรรมก็ได้ คือว่าจะเป็นอย่างของคนที่จะกลับไปไม่ว่างอีก หรือว่าเป็นของคนที่ว่างเด็ดขาดไปเลยก็ได้ ถ้าในขณะใดประกอบด้วยเจโตสมาธิประเภทที่ไม่มีนิมิตจะยึดถือว่ามีอะไรเป็นตัวตน-ของตนแล้ว จิตกำลังผ่องใสไร้อาสวะอยู่ในเวลานั้นแล้วก็เรียกว่า "ปรมานุตตรสุญญตา" ได้ ส่วนพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านทำอยู่เป็นว่าเล่น คือเป็นไปเอง


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มิถุนายน 02, 2012, 10:07:36 am »


                    (๑๔)
ถ้าเราเป็นปุถุชนจะเป็นโยคีที่สมบูรณ์กันสักที ก็ควรจะเข้าถึงเจโตสมาธิให้ได้ตามกาล ตามเวลา แม้จะไม่สิ้นอาสวะโดยเด็ดขาดก็เป็นการไร้อาสวะอยู่ในบางโอกาสบางขณะ แต่นี่เราไปยืมของท่านมา คือไปยืมของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์มา สำหรับให้พวกเราลองดูบ้างเท่านั้น เพื่อว่าอย่าได้ท้อถอยเสียทีเดียว เพราะเหตุใด? เพราะเหตุ ว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างก็ดี ความหลุดพ้นก็ดี หรือนิพพานก็ดี มันมีได้ทั้งประเภทที่เด็ดขาดลงไป และประเภทที่ยังกลับไปกลับมาได้สำหรับคนเราตามธรรมดา หรือยิ่งกว่านั้น ยังมีประเภทที่ประจวบเหมาะก็ยังได้ ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ แวดล้อมเหมาะสมดี เราอาจจะมีจิตใจว่างอย่างนี้ได้สักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวนั้น คือเราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติกระทำให้มันว่าง ตามที่เราสามารถจะกระทำได้

     ที่แท้จริงนั้นที่เป็นปรมานุตตรสุญญตาจริง ๆ นั้น ท่านหมายถึงว่า ได้ทำลายโลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนได้เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานลงไปจริง ๆ แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อจะกล่าวถึงสุญญตาสุดยอด ท่านต้องบัญญัตินามไว้ว่า ปรมานุตตรสุญญตา

     เรื่องสุญญตาสุดยอดนี้ ถ้าลองเหลือบดูให้ต่ำลง ๆ ลดหลั่นไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจ สุญญตาที่ต่ำ ๆ หรือ รอง ๆ ลงมา คือถ้าไล่จากทางสูง คือเอาปรมานุตตรสุญญตาเป็นยอดสุดแล้ว ที่ลดต่ำลงมาก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เป็นความว่างที่รองลงมา แล้วก็ อากิญจัญญายตนะรองลงมาอีก วิญญาณัญจายตนะรองลงมาอีก อากาสานัญจายตนะรองลงมาอีกแล้ว ปฐวีสัญญารองลงมาอีก แล้วก็อรัญญาสัญญารองลงมาอีก
     นี่มองจากข้างบนสุดลงมาหาพื้นต่ำ นี้เข้าใจยาก ดูไปจากพื้นต่ำดีกว่า คือให้ค่อย ๆ เงยขึ้นไปข้างบน

     อันแรกที่สุดเรียกว่า อรัญญสัญญา คือมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นป่า นี่ถ้าที่ในบ้านในเมืองนี้มันวุ่นวายเราลองทำความสำคัญมั่นหมายด้วยจิตใจว่าเป็นป่า เหมือนอยู่ในป่าหรือออกไปอยู่ป่าจริง ๆ แล้วทำสัญญาว่าป่าให้ความว่าง มีความสงัดจากเสียงรบกวน มันก็เรียกว่าว่างชนิดหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าทำสัญญาว่าป่าเท่านั้น ก็ได้สุญญตาเด็กเล่นขึ้นมาแล้ว
     ทีนี้สูงขึ้นไปอีก ปฐวีสัญญา ทำความมั่นหมายว่าดินคือสักว่าดินเท่านั้น ดินก็หมายความว่าธาตุดิน รู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นธาตุดินไปหมด ก็อาจจะกำจัดความกำหนัดในกามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รู้สึกสัมผัส ได้ นี่ก็เป็นสุญญตาที่สูงกว่าเด็กอมมือจึงควรที่คนหนุ่มคนสาวควรจะลองดู


     ทีนี้ถ้าจะให้มันสูงขึ้นไปอีกก็ต้องทำสัญญาเป็น อากาสานัญจายตนะ ทำความรู้สึกว่าทั้งหมดมีแต่อากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุด อากาศนี้คือความว่างชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงสุญญตาที่ว่างที่โล่งไม่มีอะไร นี้ก็ยังได้ความว่างหรือสุญญตาที่สูงขึ้นไป
     ทีนี้อย่าไปสนใจในเรื่องความว่าง ที่ว่าง ที่โล่งนั้นให้สนใจเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น จับตัวได้ยากกว่านั้น คือวิญญาณอย่างที่เรียกว่า วิญญาณณัญจายตนะ ทำในใจไว้ว่า ไม่มีอะไรนอกจากมีแต่วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีแต่วิญญาณธาตุที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหล่านี้ก็ยังว่างขึ้นมาอีก

     ทีนี้ถ้าจะให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็เป็นสุญญตาประเภททำในใจถึง อากิญจัญญายตนะ ว่าไม่มีอะไรเลย ทันทีมันไม่มีอะไรเลยคือว่าจะไม่ให้จิตไปกำหนดถึงอะไรเลย กำหนดความไม่มีอะไรเลย แต่ยังรู้สึกอยู่ว่าไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ก็เป็นความว่างขึ้นไปอีก
     ทีนี้ไต่ไปอีกทีหนึ่งก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ ทำความรู้สึกอยู่ด้วยความไม่รู้สึก เรียกว่าจะเหมือนกับคนเป็นก็ไม่ใช่ คนตายก็ไม่ใช่ คือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ นี่หมายถึงการไม่ทำสัญญาในอะไรเลยมีความรู้สึกอยู่ แต่ว่าไม่ทำสัญญาว่าอะไรเลยละเอียดยิ่งขึ้นไป ๆ จนถึงกับว่า คนนั้นเรียกว่า คนตายแล้วก็ไม่ใช่ คนเป็นอยู่ก็ไม่เชิง อย่างนี้เรียกว่าว่างเหมือนกัน

     ว่างทั้ง ๖ ระดับนี้ ไม่ชื่อว่าสุญญตาอย่างที่ว่า คือไม่ใช่ ปรมานุตตรสุญญตา เป็นแต่เพียงท่านแสดงให้เห็นว่าที่ว่าว่าง ๆ นี้มันว่างขึ้นมาได้อย่างไร มันว่างยิ่งขึ้นไป ๆ ๆ ได้อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่ใช่ว่างอย่างมหาปุริสวิหาร มันว่างอย่างที่พวกฤๅษี มุนี ก่อนพุทธกาลหรือในครั้งพุทธกาลค่อย ๆ คลำไป ๆ ๆ จนมาพบและจนมุมอยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนอีก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงพบสุญญตาแท้ที่เป็นมหาปุริสวิหาร หรือ ปรมานุตตรสุญญตาดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง
     อรรถกถาเรียกความรู้สึกต่อสุญญตานี้ว่า สุญญตาผัสสะหรือสุญญโตผัสโส พวกเรารู้จักกันแต่ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ไม่เคยมีสุญญตาผัสสะ ไม่เคยผัสสะต่อสุญญตา เพราะว่าเรารู้จักกันแต่รูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่รู้เรื่องนิโรธธาตุ

     เมื่อไรเรารู้เรื่องนิโรธธาตุเราจะได้สัมผัสอันใหม่ คือ สุญญตาผัสสะอย่างที่อรรถกถาเรียก แล้วอันนี้มันเป็นชื่อของอริยมรรคในขั้นทำลายกิเลสได้จริง ต่อเมื่อสร้างอริยมรรคที่ทำลายกิเลสได้จริงและทำลายกิเลสอยู่ ขณะนั้นเรียกว่า "สุญญตาผัสสะ"คือ เราได้เอาเมื่อไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว นี่พูดอย่างอุปมาว่าเหมือนกับเราเอามือไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว คือ จิตของเราได้สัมผัสกัน เข้ากับความว่าง


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: มิถุนายน 02, 2012, 01:12:44 pm »


           (๑๕) 
ความว่างในลักษณะที่เป็นผัสสะเช่นนี้ มันหมายถึง อริยมรรคของคนที่เห็นอนัตตา คืออนัตตานุปัสสนาเห็นว่าไม่มีตัวตนไม่มีของตน เป็นสักแต่ว่าธรรมะ ธรรมชาติเรื่อยไปยิ่งขึ้น ๆ เป็นอริมรรคทำนองนี้อยู่แล้ว ก็เรียกว่า สุญญโต ในที่นี่แล้วผัสสะใดเกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคนั้น ผัสสะนั้นเรียกว่า "สุญญโตผัสโส"หรือสุญญตาผัสสะ คือการแตะต้องสุญญตา
     ทีนี้อนัตตานุปัสสนาที่ทำให้มีอาการอย่างนี้ได้นั้น มันสืบต่อมาจากการเห็นทุกข์ คือ อนัตตานุปัสสนาจะต้องสืบต่อมาจากทุกขานุปัสสนา เหมือนกับว่าไปขยำเอาไฟเข้า แล้วมันร้อนอย่างนี้มันจึงจะรู้ว่าไฟนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรขยำเลย หรือว่าธรรมทั้งปวงนี้ไปขยำเข้าแล้วก็เป็นไฟขึ้นมา แล้วรู้ว่าธรรมทั้งปวงนี้ไม่ควรขยำเลย คือไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเลย

     ทีนี้หากความเจนจัดทางวิญญาณ (Spiritual experience) ของเรามากพอ ในการที่ว่าไฟมันไหม้เอาอย่างไร มันเผาเอาอย่างไร มันร้อยรัด หุ้มห่อ ทิ่มแทง พัวพัน เผาลนอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า "ทุกขานุปัสสนา"
     ความเจนจัดทางวิญญาณ (spiritual experience) ในชั้นนี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา เป็นเหตุให้เกิดอนัตตานุปัสสนาหรือสุญญตานุปัสสนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นผัสสะต่อธรรมะคือผัสสะที่รู้สึกต่อธรรมะขณะนั้นเรียกว่า "สุญญตาผัสสะ"
     ทีนี้จะต้องคิดต่อไปถึงว่า บางคนเขาค้านว่า ถ้าไม่ถึงนิพพานจะรู้เรื่องนิพพานได้อย่างไร อย่างว่าไม่เคยไปยุโรปจะเห็นยุโรปได้อย่างไร? นี้มันไม่ใช่เรื่องทางวัตถุมันเป็นเรื่องในทางจิตใจ คือจิตใจของคนเรานี้มันว่างเป็นการชิมลองอยู่ได้เองแล้ว เหมือนกับอาตมาบอกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนที่อยู่ที่นี่ส่วนมากจิตว่างอยู่ แต่ว่าเป็นการชิมลอง อย่างนี้ขอให้ขยันดู

     เพราะฉะนั้น ในนิเทศของการปฏิบัติอานาปานสติตอนจิตตานุปัสสนาที่ว่า เพ่งดูจิตตามที่เป็นจริงอย่างไรนั้น จึงมีตอนกล่าวถึงว่า ถ้าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ถ้าจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ ถ้าจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตไม่หดหู่ก็รู้วาจิตไม่หดหู่ จิตวิมุตติก็รู้ว่าจิตวิมุตติ จิตไม่วิมุตติก็รู้ว่าจิตไม่วิมุตติ นี้คือความหมายของคำว่าว่างหรือไม่ว่างนั่นเอง ให้เราดูที่จิตของเราที่กำลังวิมุตติ คือว่างจากสิ่งทั้งปวงอยู่ หรือว่าจิตของเรากำลังถูกจับกุม ยึดถือสิ่งใดอยู่
     ในการปฏิบัติขึ้นต้นเพียงขั้นนี้ ก็ยังสอนให้ดูจิตที่ว่างหรือจิตที่วิมุตติอยู่แล้ว ซึ่งมันมีให้ดูในภายใน ไม่ใช่คาดคะเนเอาตามตัวหนังสือที่เคยอ่าน

     เพราะฉะนั้น เป็นอันว่านิพพานหรือความว่าง หรือสุญญตานี้ มีให้ดู เป็นสิ่งที่มีให้เราดูได้ แม้ในขณะที่เป็นปุถุชนอย่างนี้เพราะว่ามันมีความว่างอย่างตทังควิมุตติอยู่บ้าง คือบังเอิญเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เรียกว่าบังเอิญเป็น ตทังควิมุตติถ้าได้แวดล้อมอะไรอย่างนี้แล้วจิตยังว่างอยู่ อย่างนี้ก็ว่างเหมือนกัน หรือถ้าใครทำสมาธิถูกวิธี จิตมันว่างสบายไปหมด ยิ่งกว่าความสุขชนิดไหนหมดก็ได้ นั่นเป็น วิกขัมภนวิมุตติ ไม่ต้องพูดถึง สมุจเฉทวิมุตติ ที่เป็นของพระอรหันต์ เราก็ยังมีความว่างมาดูเป็นตัวอย่างได้ เหมือนกับตัวอย่างสินค้าของพระพุทธเจ้า ถ้าใครสนใจก็พอจะหาดูได้จากตัวของตัวเอง

     เพราะฉะนั้น เราควรจะทำอานาปานสติไปตามลำดับ ทำกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา มันเป็นการชิมความว่างเรื่อยไป ตั้งแต่ต้นจนปลายทั้งนั้น ในที่สุดมันก็จะเข้าใจความว่าง เพราะมองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตก็จะหันไปพอใจในอายตนะนั้น คือนิพพานหรือความว่างขึ้นมาได้ทันที
     นี้แหละเรียกว่าเราดูความว่างไปได้เรื่อย ๆ ดูสุญญตาไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะถึงปรมะสุญญตา เป็นการก้าวหน้าไปตามกฎของมันเอง หรือว่าตามกฏของธรรมชาติเองที่ว่า รู้เห็นสิ่งใดด้วยตนเอง อย่างมั่นคง แล้วก็เป็นไปได้อย่างมั่นคง ไม่โยกเยกเหมือนความรู้ก็ได้มาจากการได้ยินได้ฟัง หรือว่าเป็นความรู้ที่เป็นมายา ทำนองนั้น

     ทีนี้ที่จะเป็นความสุขขึ้นมาได้อย่างไรนั้น เราไม่ต้องทำหรอกเราไม่ต้องอธิบาย หรือไม่ต้องไปทำให้ยุ่งยาก เราทำให้ว่างเถอะมันก็พอแล้ว คือ ทำให้ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ คือ ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา แล้วมันก็ว่าง จาก โลภะ โทสะโมหะ เมื่อว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ ก็คือว่างจริง ๆ มันเป็นคำ ๆ เดียวกัน เมื่อนั้นความทุกข์ทั้งปวงก็จะหมดไป แม้แต่กรรมก็หมดไปเอง


     ในบาลีอังคุตตรนิกาย ยืนยันในข้อที่ว่า กรรมหมดไปเองในเมื่อว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่างจากตัวกู-ของกู ซึ่งพูดกันให้สั้น ๆ ในที่นี้ก็ว่า ถ้ามันว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเราแล้ว กรรมก็จะหมดไปเอง จึงหมายความว่า หมดไปทั้งกรรม และวิบากของกรรม และกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรมมันหมดพร้อมกันเอง
     เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปกลัวกรรม กลัวจะต้องเป็นไปตามกรรม เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องกรรม แต่เราสนใจกับความว่าง ทำความว่างให้แก่ตัวกูและของกูได้ แล้วกรรมย่อมสลายไปหมดสิ้นไม่มีทางที่จะต้องเป็นไปตามกรรม

     นี่แหละ จุดนี้เป็นต้น ที่สามารถทำให้คนอย่างองคุลีมาลเป็นพระอรหันต์ได้ที่ตรงนั้น อย่าอธิบายผิด ๆ อย่างที่เขาอธิบายกันว่า ไม่ฆ่าคนแล้วก็เป็นพระอรหันต์ หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่องคุลีมาลว่า ฉันหยุดแล้ว แกไม่หยุด แกไม่หยุดก็คือยังฆ่าคนอยู่ แล้วองคุลีมาลก็หยุดฆ่าคนแล้วจึงเป็นพระอรหันต์


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: มิถุนายน 02, 2012, 02:26:46 pm »


                        (๑๖)
อย่างนี้คนนั้นอธิบายเอาเอง แต่หากแล้วยังเป็นการตู่พระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะคำว่า "หยุด" ของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหมายถึง หยุดการมีตัวกู หยุดมีของกู หยุดมีตัวเรา หยุดมีของเรา หยุดความยึดมั่น มันคือ ความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างนั่นแหละ คือความหยุด ความหยุดชนิดนี้เท่านั้นที่จะทำองคุลีมาลให้เป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่หยุดฆ่าคน
     หยุดฆ่าคนนั้นใคร ๆ ก็ไม่ฆ่าคนอยู่แล้ว ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าความหยุด หรือหยุดที่แท้นั้น มันคือความว่างจนไม่มีตัวเราที่จะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหนหรือจะมาที่ไหนหรือจะทำอะไร นั่นมันจึงหยุดแท้ ถ้ายังมีตัวเราอยู่แล้วมันหยุดไม่ได้

     เพราะฉะนั้น เราควรจะเข้าใจคำว่า ว่าง นี้ คือ คำ ๆ เดียวกับคำว่า หยุด ที่พระพุทธเจ้าสั่งองคุลีมาลคำเดียวแล้วกลายเป็นพระอรหันต์ไปได้ ทั้งที่ฆ่าคนมามือยังเลือดแดง ๆ อยู่หรือที่เเขวนคะแนนคนที่ฆ่าไปแล้วด้วยกระดูกนิ้วมืออยู่ที่คนตั้ง ๙๙๙ หรือ ๙๙ ซึ่งแปลว่ามันมากเต็มที่ นั่นแหละคือไม่หยุด มันมีความยึดมั่นถือมั่นอะไร จนวิ่งป่วนไปหมดไม่หยุด ทีนี้กรรมจะหมดไปเอง หรือว่าจะถึงความหมดก็ต้องอาศัยคำ ๆ เดียว คือ ความว่างจากตัวกู-ของกู ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกรรมทั้งปวง

     การกระทำให้ว่างนี้ จัดว่าเป็นการทำโยคะในทางพุทธศาสนาก็ได้ คือเราดูกันที่ตัวการกระทำให้ว่างนี้ นี่แหละเรียกว่าโยคะมันเป็นโยคะสูงสุด ถึงขั้นที่เรียกว่า ยอดของโยคะ กล่าวคือชั้นราชะโยคะ อะไรนั้น ในที่เช่นนี้ แม้เราจะยืมคำว่าราชะโยคะในฝ่ายเวทานตะมาใช้ซึ่งมีความหมายว่าสุดยอดของโยคะ แต่ราชะโยคะอย่างเขามีตัวตนถึงที่สุด


     สำหรับพระพุทธศาสนาเราโดยเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยสัจจทัศนะ คือ โยคะ นั่นก็ แปลว่า โยคะในพุทธศาสนานี้ก็มี แต่มันหมายถึงการทำความว่างให้แจ้งออกมา ให้ปรากฏอออกมา เพราะฉะนั้น การกระทำอันใดที่เป็นไปเพื่อให้ความว่างปรากฏออกมาแล้ว การกระทำอันนั้นเรียกว่า "โยคะ" ได้เหมือนกัน
     ถ้าใครอยากจะใช้คำว่า โยคะ หรือชอบพูดถึงโยคะอยากมีโยคะอะไรนี้ ต้องมีให้ถูกอย่างนี้ จึงจะสมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โยคะคืออริยสัจจทัศนะ-การทำของจริงที่สุดให้ปรากฏออกมาเรียกว่า โยคะ แล้วเราก็เอามาใช้กันกับการทำทุกอย่างในทางจิตใจ เพื่อให้หยุดความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราเสีย นั่นแหละคือ โยคะ เราจะเอาคำว่าโยคะ ของพวกอื่นมาใช้มาเรียกก็ได้ทั้งนั้น มันจะมีความหมายที่ปรับให้เข้ากันได้ทั้งนั้นอย่าง กรรมโยคะ ให้ทำความไม่เห็นแก่ตัว ให้ประพฤติประโยชน์ของผู้อื่นดายไป อย่างนี้เราก็มี ถ้าว่าเราอย่ามีตัวเรา: มีของเรา เราอย่ามีความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเราอย่างนี้ ทำไปเถอะมันจะเป็นกรรมโยคะไปหมด

     แม้จะเป็นโยคะชั้นต่ำ ๆ เตี้ย ๆ คือ การทำบุญ ทำกุศล ทำความดี ความงาม เสียสละแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างนี้ ต้องทำด้วยจิตที่ว่าง ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู อย่าให้ความรู้สึกแล่นหรือโน้มเอียงไปในทางว่าของฉัน หรือตัวฉันมันก็เป็น โยคะไปหมด
     นี่แปลว่า ไม่ต้องแสวงหาโยคะอย่างอื่น จะเป็นชื่อสักกี่สิบโยคะ กี่ชนิดโยคะก็ตาม ที่มีมา ก็เป็นอันทำโยคะทั้งสิ้นกล่าวคือ การทำตัวตนหรือของตนให้หมดไป คือ ทำความว่างให้ปรากฏขึ้น

     เท่าที่กล่าวมา ค่อนข้างจะยืดยาวนี้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจเรื่อง"ความว่าง" คำเดียว ว่างจากกิเลสก็คือว่างจากความรู้สึกว่าตัวกู หรือของกู แล้วว่างจากความทุกข์นั้นมันแน่นอน เพราะเมื่อมันว่างจากกิเลสแล้วก็ว่างจากความทุกข์ ว่างจากตัวกูของกูอย่างเดียวเท่านั้นจะว่างหมดจากทุกสิ่ง และสภาพอันนั้นมันเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายนะอะไรเยอะแยะ ล้วนแล้วแต่พระพุทธเจ้าท่านปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ทั้งนั้น มันมีแต่นิโรธธาตุ เป็นความว่างจากตัวกู-ของกู เป็นที่ดับแห่งกรรม เป็นที่ดับ แห่งกิเลส เป็นที่ดับแห่งความทุกข์
     ข้อสุดท้ายที่เราจะต้องนึกถึง ก็คือว่า ทั้งนี้เป็นของที่เนื่องกันอยู่กับทุกสิ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่าลืมเสียว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ธรรมะก็ไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติธรรมดา หรือความที่มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นตถตา เพราะฉะนั้น มันจึงว่างจากตัวตน ของตนอยู่แล้ว


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มิถุนายน 04, 2012, 06:08:57 am »



                   (๑๗)
ธรรมะประเภทโง่ ประเภทหลง ประเภทอวิชชานี้มันโผล่ขึ้นมาเรื่อย เพราะการเป็นอยู่ หรือชีวิตประจำวันหรือวัฒนธรรมของเราสมัยนี้ มันให้โอกาสแก่ธรรมะฝ่ายตัวกู ฝ่ายของกู คือฝ่ายอวิชชา ไม่ได้ให้โอกาสแก่ฝ่ายวิชชา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องถูกลงโทษด้วย Original sin คือบาปดั้งเดิมของเราที่พอเกิดมาแล้วก็มีแต่จะหลงไปในทาง Autonomy นี้เรื่อยไปไม่เข็ดหลาบ; แม้เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนกลางคนแล้วก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนแก่คนเฒ่าแล้วก็ยังไม่รู้จักก็มี. ถ้าอย่างไรก็ควรที่จะรู้สึกในวัย-กลางคน หรือเมื่อยามแก่เฒ่า จะได้พ้นโทษ จะได้ออกจากกรงขังของวัฏฏสงสาร จะได้รับอิสระภาพสู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรจำกัด.

     เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปถึงเมืองจีน คนจีนสมัยโบราณเขามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรับเอา ได้เกิดวรรณกรรมอย่างของเว่ยหล่างหรือของฮวงโปขึ้นมา อธิบายเรื่องจิต เรื่องธรรมะ เรื่องพุทธ เรื่องหนทาง เรื่องความว่างให้เข้าใจกันได้ด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ คือโผล่ขึ้นมาประโยคแรกก็ชี้ว่า  จิตก็ดี ธรรมะก็ดี พุทธะก็ดี หนทางก็ดี ความว่างก็ดี คือสิ่งเดียวกันมันเท่านี้ก็พอ แล้วไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว ประโยคเดียวเท่านั้นพอแล้ว มันเท่ากับพระไตรปิฎกทั้งหมดได้เหมือนกัน แต่เราไม่อาจเข้าใจเลยก็ได้
     ยิ่งพวกเราที่ศึกษาปฏิบัติกันอยู่ในแบบเก่านี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจประโยคนี้ได้เลย ควรที่จะละอาย มีหิริโอตตัปปะในเรื่องนี้กันเสียบ้าง มันจะไปได้เร็ว และยิ่งกว่านั้น พุทธบริษัทเมืองจีนยังพูดก้าวไปถึงว่า ความว่างนี้มันเป็นอยู่เองแล้ว.. แต่เราไม่เห็นเอง.


     อาตมาอาจจะพิสูจน์ได้เหมือนกับที่พูดอยู่แล้ว ๆ เล่า ๆ ว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มีจิตว่างอยู่เองแล้วในขณะนี้ แต่ก็หามองเห็นไม่และไม่ยอมรับว่านี้เป็นความว่างเสียด้วยซ้ำไป.
     นี่แหละฮวงโปจึงด่าว่า คนพวกนี้เหมือนกับคนมีเพชรติดอยู่ที่หน้าผากแล้วก็ไม่รู้ แล้วก็เที่ยววิ่งหาไปรอบ ๆ โลกหรือบางทีก็นอกโลก ไปหาที่เมืองนรก เมืองสวรรค์ เมืองพรหมโลก เมืองอะไรต่ออะไร หารอบ ๆ โลกมนุษย์นี่ยังไม่พอ ยังไปเที่ยวหาเสียหลาย ๆ โลก ทำบุญสักหนึ่งบาท แล้วก็จะให้ได้ไปสวรรค์ ไปพบอะไรที่ต้องการ อย่างนี้เรียกว่า มันไม่ดูของที่ติดอยู่แล้วที่หน้าผาก แล้วก็จะไปหาทีรอบ ๆ โลก หรือโลกอื่น ๆ อีก. เพราะฉะนั้น ขอให้ดูให้ดีสักหน่อยเท่านั้น ว่ามันอยู่ที่หน้าผากแล้วอย่างไร และ มีวิธีที่จะคลำพบสิ่งที่มีอยู่ที่หน้าผากแล้วได้อย่างไร.

     พอพูดเรื่องวิธีคลำให้พบ เขาก็พูดอย่างเหนือเมฆหรืออะไรทำนองนั้นยิ่งขึ้นไปอีก "ไม่ต้องทำอะไร คืออยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องทำอะไร แล้วมันก็จะว่างเอง"
     คำว่า "อยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องทำอะไร" นี้ มันมีความหมายมากอยู่ คือว่าเรามันซุกซน เรามันสัปดน เที่ยวรับเอาอารมณ์ทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเข้ามา เมื่อรับเข้ามาแล้วยังโง่พอที่จะเปิดโอกาสให้ธรรมะฝ่ายอวิชชานั้นขึ้นนั่งแท่นบัญชางานเสียเเรื่อย มันจึงเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เรียกว่าซนไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ

      "อยู่นิ่ง ๆ" ก็หมายความว่าไม่รับเอาอารมณ์เข้ามาหรือว่าอารมณ์มากระทบก็ให้มันตายด้าน เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง. เมื่อตาเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นเป็นต้น นี้เรียกว่ามันไม่รับเข้ามา. หรือว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเลยไปเป็นเวทนา คือพอใจหรือไม่พอใจเสียแล้ว ก็ให้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น อย่าได้อยากต่อไปอีก ตามความพอใจหรือตามความไม่พอใจ อย่างนี้ก็พอที่จะให้อภัย ว่ายังอยู่นิ่ง ๆ อยู่ได้ เรื่องมันจะได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ถ้าพอใจแล้วทำอะไรต่อไปยืดยาว เดี๋ยวตัวกู-ของกู ก็โผล่ออกมา หรือว่าถ้าไม่พอใจแล้วก็ทำอะไรไปตามความไม่พอใจ มันก็เป็นความทุกข์ นี้เรียกว่าไม่อยู่นิ่ง ๆ.
 

     เพราะฉะนั้นคำว่าอยู่นิ่ง ๆ ของเว่ยหล่าง หรือฮวงโปก็ตามนั้น มันได้แก่การปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเรา-ว่าของเรานั่นเอง
     อยู่นิ่ง ๆ คำนี้มันความหมายอันเดียว อย่างเดียวกับประโยคที่วา "สพเพ ธมมา นาล อภินิเวสาย" นั่นเอง เพราะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว ธุระอะไรจะไปยุ่งหรือเข้าไปวุ่น หรือวิ่งเข้าไปหาที่สิ่งเหล่านั้นให้มันวุ่นทำไม ไม่อยู่นิ่ง ๆ เพราะฉะนั้นคำว่า "อยู่นิ่ง ๆ" จึงมีความหมายอย่างนี้.

     เราจงดูให้เห็นความว่างที่พึงประสงค์ การที่กล่าวว่ามีความว่างชนิดที่ก่อให้เกิดความหยุด หรือความสะอาด ความสว่าง ความสงบอะไรก็ตาม นี้ยังพูดอย่างสมมติ เพราะว่าถ้าพูดอย่างความจริงหรือพูดอย่างถูกต้อง แล้วมันไม่มีอะไรนอกจากความว่าง มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น แล้วความว่างนั้นมันไม่ก่อให้เกิดอะไร เพราะว่าความว่างนั้น มันเป็น ตัวพุทธะ ตัวธรรมะ ตัวสังฆะ ตัวหนทาง ตัวสะอาด ตัวสว่าง ตัวสงบ อะไรหมด อยู่ที่ความว่างนั้น.
     ถ้ายังพูดว่า ความว่างเป็นเหตุให้เกิดนั้นเกิดนี่แล้วก็แปลว่าเรายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ใช่ว่างถึงที่สุด เพราะถ้าว่างถึงที่สุด แล้วมันไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่ง ๆ มันก็เป็น พุทธะ ธรรมะ สังฆะ สะอาด สว่าง สงบ นิพพาน อะไรในตัวมันเอง ในตัวที่ไม่ปรุงแต่งให้เป็นอะไรขึ้นมานั่นเอง.

     เมื่อจะสอนคนเขลา ๆ โดยวิธีที่ง่ายที่สุด ให้รู้จักสังเกตความว่างนั้น ฮวงโปได้ให้ปริศนาไว้อันหนึ่งว่าใ ห้ดูที่จิตของเด็กก่อนที่จะปฏิสนธิ อาตมาก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ให้หาดูจิตของเด็กก่อนที่จะมาปฏิสนธิในครรภ์นั้นมันอยู่ที่ไหน ถ้าหาอันนี้พบแล้วจะหาความว่างพบได้ง่าย ๆ เหมือนกับคลำพบของที่มีอยู่ที่หน้าผากแล้ว
     ขอสรุปว่า เรื่องความว่างนี้ไม่ใช่เรื่องอื่น คือเรื่องทั้งหมดของพุทธศาสนา จะว่าพระพุทธเจ้าหายใจเข้าออกอยู่ด้วยความว่าง หรือว่ามันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา เป็นความรู้ เป็นการปฏิบัติ เป็นผลของการปฏิบัติ ถ้าเรียนก็ต้องเรียนเรื่องนี้ ปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อผลอันนี้ ได้ผลมาก็ต้องเป็นอันนี้ แล้วในที่สุดเราก็จะได้สิ่งที่ควรจะได้ที่สุด ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เพราะว่าเมื่อเข้าถึงความว่างได้นั้น มันก็หมดปัญหา มันไม่ใช่อยู่ข้างบนหรืออยู่ข้างล่าง หรือมันไม่ใช่อยู่ที่ไหน มันไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ควรหุบปากมากกว่า แต่เราก็ยังต้องพูดว่าเป็นสุขที่สุดอยู่นั่นเอง.

     เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้ดี เรื่อง "นิพพาน เป็น สุขอย่างยิ่ง" กับ "นิพพานคือว่างอย่างยิ่ง" นั้นจะต้องจับความหมายให้ถูกต้อง อย่าเอาความสุขตามความหมายที่เคยชินกันมาก่อนเหมือนกับพวกก่อนพุทธกาลโน้นไพล่ไปเอาความสมบูรณ์ถึงที่สุดทางกามารมณ์มาเป็นนิพพานก็เคยมี ไปเอาความสุขทางฝ่ายรูปความสุขจากรูปสมาบัติ เป็นนิพพานมาแล้วก็มี; พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ออกมาเสีย คือเอาเนกขัมมธาตุเป็นเครื่องมือออกมาจากกาม เอาอรูปธาตุเป็นเครื่องมือออกจากความหลงใหลในรูปสมาบัติ และในที่สุดก็เอานิโรธธาตุเป็นเครื่องออกมาเสียจากสังขตะคือคาามวุ่นวายนานาชนิดมาสู่ความว่าง
     ท่านจะเข้าใจได้หรือไม่ จะปฏิบัติได้หรือไม่ย่อมเป็นเรื่องของท่านทั้งหลายเอง อาตมามีหน้าที่แต่จะกล่าว ไปตามที่มันมีอยู่อย่างไร การรู้การเข้าใจ และการปฏิบัติย่อมตกเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย.
อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้.


 
ที่มา -www.mindcyber.com