อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > ท่านพุทธทาสภิกขุ

แก่นพุทธศาสน์ เรื่องความว่าง :พุทธทาส ภิกขุ

<< < (2/4) > >>

ฐิตา:

        (6)
คำว่าธรรมนี้ หมายถึง ธรรมชาติ ธรรมชาติเท่านั้นที่ว่าธรรมะล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือ นี้คือธรรมชาติ ถือหลักให้ตรงตัวพยัญชนะว่าธรรมะได้เลย กล่าวคือคำธรรมะนี้ แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวมันอยู่ ถ้าสิ่งใดมีการทรงตัวอยู่แล้ว สิ่งนั้นเรียกว่าธรรม และเเบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนี้ประเภทหนึ่งกับสิ่งที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไม่มีอะไรปรุงแต่งนี้อีกประเภทหนึ่ง ท่านไปดูเอาเองจะพบว่ามันมีเพียงสองสิ่งนี้
     สิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเพราะมีอะไรปรุงแต่ง นั้นมันมีการทรงตัวมันเอง อยู่ที่ความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นเอง หรือว่ากระแสความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั่นแหละคือตัวมันเอง เป็นความหมายของคำว่าธรรมะ คือทรงตัวอยู่
     ส่วนสิ่งใดที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ทั้งนี้หมายถึงพระนิพพาน หรือความว่างอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งนี้มันก็มีการทรงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลงคือภาวะ แห่งการไม่เปลี่ยนแปลงนั่นแหละคือตัวมันเองในทีนี้มันจึงเป็นธรรมะประเภทที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง

     แต่ทั้งประเภทที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงก็ตาม และไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม มันก็สักแต่ว่า ธรรม คือสิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่โดยภาวะอย่างหนึ่ง ๆ ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าธรรมชาติ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เป็นเพียงธรรมชาติ จึงว่ามีแต่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไร มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
     เมื่อเป็นธรรมะเท่านั้นแล้ว จะไปยึดถือว่าเรา-ว่าของเราได้อย่างไร? หมายความว่า มันเป็นเพียงธรรมชาติ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า ธรรม คำว่า ธรรมะในกรณีอย่างนี้ แปลว่าธรรมชาติหรือธรรมดา ซึ่งหมายความว่าเป็น ตถาตา คือ มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นเพียงธรรมะสิ่งทั้งปวงจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรม. หรือธรรมไม่มีอะไรนอกจากสิ่งทั้งปวง ดังนั้น ก็แปลว่า สิ่งทั้งปวง คือ ธรรมะ

     เพราะฉะนั้น ธรรมะแท้จะต้องว่างจากตัวตนหมด ไม่ว่าธรรมะส่วนไหน ข้อไหน ขั้นไหน ประเภทไหน ธรรมะจะต้องเป็นอันเดียวกันกับความว่าง คือว่างจากตัวตนนั่นเอง
     เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหาให้พบ ความว่างในสิ่งทั้งปวงหาให้พบความว่างที่สิ่งทั้งปวง; หรือว่าจะรักษาความว่างก็ต้องศึกษาที่สิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมเรียกสั้น ๆ ว่า "ธรรม" หรือจะพูดเป็น logic ว่าสิ่งทั้งปวงก็สักแต่เท่ากับธรรมะ ธรรมะเท่ากับสิ่งทั้งปวงหรือสิ่งทั้งปวงเท่ากับความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างก็เท่ากับธรรมะ แล้วแต่จะพูด แต่ให้รู้ความจริงว่า มันไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติที่เป็นความว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเลยว่าเราหรือว่าของเราก็ตาม

     เพราะฉะนั้นในทีนี้จะเห็นได้ชัดว่า ความว่างนี้หรือของว่างนี้ ก็คือความจริงของสิ่งทั้งปวง ต้องหมดความหลงโดยประการทั้งปวงเท่านั้นจึงจะเห็นความว่าง หรือถ้าเห็นความว่างนั้นก็คือปัญญาที่ไม่หลง ปัญญาที่แท้ที่บริสุทธิ์ที่ไม่หลง
     แต่ทีนี้มันมี ธรรมะอีกประเภทหนึ่ง คือ ธรรมะประเภทอวิชชาหรือความหลงผิด เป็น re-action ที่เกิดมาจากการที่จิตใจกระทบกันกับวัตถุหรือโลก เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อจิตใจหรือธรรมประเภทจิตใจกระทบกันกับธรรมะประเภทวัตถุนี้ ย่อมมี re-action เป็นความรู้สึก ในความรู้สึกนี้เดินไปทางอวิชชาก็ได้ เดินไปทางวิชชา คือรู้แจ้งก็ได้ มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม แล้วแต่สภาพตามที่เป็นอยู่จริงของสังขารกลุ่มนั้น หรือของธรรมะกลุ่มนั้น มันจะเป็นไปในรูปไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมอีกไม่ใช่สิ่งอื่น แต่เป็นธรรมะฝ่ายอวิชชาทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นไปในทางที่มีตัวตนหรือของตนแต่อย่าลืมว่านี้ก็คือสักแต่ธรรม เนื้อแท้ของมันก็คือความว่าง

     ฉะนั้นอย่าลืม อวิชชา ก็คือความว่างเท่ากันกับวิชชาหรือเท่ากันกับนิพพาน มันเป็นธรรมะเท่ากัน
     ถ้าเรามองว่าเป็นธรรมะเท่ากันแล้ว เราจะเห็นว่าว่างจากตัวตนอยู่เรื่อย ธรรมะในขั้นนี้ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกันกับความว่างอย่างนี้ มันก็มีผลไปอีกทางหนึ่ง ตามแบบของอวิชชาคือทำให้เกิดเป็นมายา ว่าตัวว่าตนขึ้นมาได้ในความรู้สึก หรือในความยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังให้ดี ในธรรมประเภทที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นหรือประเภทอวิชชา และมันก็รวมอยู่ในสิ่งทั้งปวงรวมอยู่ในคำว่า "สิ่งทั้งปวง" คำเดียวกันด้วย
     ฉะนั้นถ้าเรารู้จักสิ่งทั้งปวงจริง ๆ แล้ว ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอวิชชานี้ ไม่อาจเกิด ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่รู้ธรรมะหรือไม่รู้สิ่งทั้งปวง ปล่อยไปตามอำนาจของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่ยังโง่ยังหลงอยู่ มันจึงได้ช่องได้โอกาส แก่ธรรมะฝ่ายอวิชชาหรือฝ่ายยึดมั่นถือมั่นไปเสียตะพึด

     ฉะนั้น คนเราจึงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นกันอยู่ คล้ายกับว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่ไม่รู้ว่าครั้งไหน เราจะเห็นได้ว่าพอเกิดมาก็ได้รับการอบรมแวดล้อมโดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ให้เป็นไปแต่ในทางธรรมะฝ่ายที่ไม่รู้ คือเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นว่าตัวตนว่าของตนทั้งนั้น การอบรมให้รู้ไปไนทางไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี้ไม่ได้ทำกันเลย

ฐิตา:


             (7)
เด็ก ๆ เกิดมาไม่ได้รับการอบรมอย่างนี้กันเลย มีแต่ได้รับการอบรมไปในทางมีตัวมีตนทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าเด็ก ๆ เกิดมานั้น จิตอันเดิมของเด็ก ๆ นั้นยังไม่มีตัวมีตนอะไรมากมาย แต่มาได้รับการแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน พอลืมตา พอรู้สึกอะไรได้ก็มีการแวดล้อม ให้ยึดถือว่าพ่อของตนแม่ของตนที่อยู่อาศัยของตน อาหารของตน แม้แต่จานสำหรับจะกินข้าวก็ต้องใบนี้เป็นของตน คนอื่นมากินไม่ได้ อาการที่เป็นไปเองโดยไม่ตั้งใจ Autonomy อย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อย คือความรู้สึกว่าตัวตนนี้เกิดขึ้นมา แล้วเจริญงอกงามขึ้นเรื่อย ส่วนความรู้สึกที่ตรงข้ามไม่เป็นไปในทางตัวตนไม่มีเลย แล้วมันจะเป็นอย่างไร กว่าเป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นคนแก่ คนเฒ่านี้ มันก็หนาไปด้วยความยึดมั่นถือมัน หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน

     นี่แหละ เราจึงมีตัวตนเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นตัวตน คือมีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นแหละเป็นชีวิต หรือเป็นชีวิตตามธรรมดา ก็คือสัญชาตญาณแห่งความยึดมั่นว่าตัวตน แล้วเรื่องมันจึงเป็นไปในทางที่มีแต่จะเป็นทุกข์ เป็นความหนัก กดทับ บีบคั้น ร้อยรัด พัวพัน หุ้มห่อ เสียบแทง เผาลน ซึ่งเป็นอาการของความทุกข์ทั้งนั้น
     จึงเป็นอันว่า ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นแล้ว แม้ในฝ่ายดีในด้านดีก็เป็นความทุกข์ ที่นี้ฝ่ายโลกมาสมมติฝ่ายดีหรือด้านดีกันแบบนี้มันจึงเป็นความผิด หรือความชั่ว แต่ความดีก็ยังเป็นความทุกข์ตามแบบของคนดีเพราะว่ามันยังไม่ว่าง มันยังวุ่นอยู่เหมือนกัน ต่อเมื่อมีความว่าง อยู่เหนือดีจึงจะไม่ทุกข์


     เพราะฉะนั้น หลักใหญ่ของพุทธศาสนาจึงไม่มีอะไรมากไปกว่า การกำจัดสิ่งนี้เสีย เพียงคำเดียวเท่านั้น กล่าวคือ กำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน หรือของตนนี้เสีย โดยอาศัยบทที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย นั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
     ทีนี้เมื่อตัวเรามาเป็นตัวเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่น อย่างเป็นตัวเดียวกันแท้ดังนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร? ใครจะช่วยเรา? หรือว่าถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้เสียเองแล้ว ใครจะไปช่วยจิต? อย่างนี้ก็ได้ลองตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ มันก็ไม่มีอะไรอีก มันก็คือจิตอีกนั่นแหละ เพราะได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจาก ธรรมะ  ความผิดก็ธรรมะ  ความถูกก็ธรรมะ  ความทุกข์ก็ธรรมะ  ความดับทุกข์ก็ธรรมะ   เครื่องมือแก้ไขความทุกข์ก็ธรรมะ ตัวเนื้อหนังร่างกายก็ธรรมะ ตัวจิตใจก็ธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ มันจะต้องเป็นไปในตัวมันเอง โดยอาศัยกลไกที่เป็นไปได้ในตัวมันเอง อย่างนี้ เราจะเรียกว่า เป็นบุญ หรือเป็นบาปก็สุดแท้

     คือว่า ถ้าใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อกระทบโลกนี้มากเข้า เกิดเป็นไปในทางสติปัญญา อย่างนี้ก็เป็น บุญ ทีนี้ใครคนหนึ่งเมื่อได้กระทบกับโลกนี้มากเข้า เป็นไปในทางความโง่ ความหลงมากขึ้น อย่างนี้มันก็เป็น บาป
     เราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเสียเปรียบใคร เราเกิดมาก็เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกคน คือเราก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ อยู่ด้วยกันทุกคน แล้วข้างนอกก็มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส มีธรรมารมณ์ ให้ด้วยกันทุกคน แล้วมีโอกาสที่จะกระทบกับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยกันทุกคน และกระทบเหมือน ๆ กันทุกคน  แต่แล้วทำไมมันจึงแยกเดินไปในทางโง่บ้าง ฉลาดบ้าง เพราะฉะนั้นที่แยกเดินไปในทางฉลาดก็นับว่าเป็นกุศลหรือเป็นบุญ ที่มันแยกเดินไปในทางโง่ก็เป็นบาปเป็นอกุศล

     แต่มันยังดีอยู่ว่า ธรรมะนี้ ดูช่างจะเป็นเครื่องคุ้มครองคนเสียจริง ๆ โดยที่มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าถูกความทุกข์เข้าแล้วย่อมรู้จักหลาบ รู้จักจำ เหมือนอย่างว่าเด็ก ๆ เอามือไปจับขยำเข้าที่ไฟอย่างนี้ มันก็คงไม่ยอมขยำอีก เพราะมันรู้จักหลาบรู้จักจำ แต่ว่านี่มันเป็นเรื่องทางวัตถุ มันง่าย ส่วนเรื่องที่ไปขยำเอาไฟคือความยึดมั่นถือมั่น หรือความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้านี้ โดยมากมันกลับไม่รู้สึกว่าเราขยำไฟมันก็เลยไม่มีอาการที่ว่า รู้จักหลาบ รู้จักจำ มันกลับเห็นไปตามความหลงนั้นว่า เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาไปเสีย

ฐิตา:


            (๘) 
     การที่จะ แก้ไขได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือว่า รู้จักมันอย่างถูกต้องว่า ธรรมะนี้คืออะไร จนรู้ว่า ธรรมะนี้คือไฟ คือยึดมั่นถือมั่นไม่ได้มันก็จักเป็นไปในทางสติปัญญา รู้จักหลาบ รู้จักจำ ต่อการที่จะไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไร ว่าเป็นตัวเรา-ของเราแล้วเกิดไฟขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นไฟเผาใจไม่ใช่ไฟไหม้มือ แต่บางทีมันเผาลึกเกินไปจนไม่รู้สึกว่าเป็นไฟหรือความเร่าร้อน ฉะนั้นคนจึงจมอยู่ในกองไฟหรือในวัฏสงสารอันเป็นกองไฟที่ร้อนอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าเตาหลอมเหล็กอย่างนี้ ถ้าเรามองเห็นเช่นเดียวกับที่เด็กขยำ ไฟและไม่ยอมจับไฟต่อไปแล้ว มันก็เป็นไปตามทางนั้นได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสอธิบายข้อนี้ไว้ว่า เมื่อเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด จิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นเมื่อนั่น


     นี่แหละปัญหามีอยู่ว่า เราเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นหรือยัง ถ้ายัง ก็ยังไม่คลาย ถ้าไม่คลาย ก็ไม่ว่าง ภาษิตในมัชฌิมนิกายมีอย่างนี้ เป็นรูปพุทธภาษิต และยังตรัสไว้ในที่อีกแห่งหนึ่งว่า  เมื่อใดเห็นความว่างเมื่อนั้นจึงจะพอใจในนิพพาน คือย้อนไปดูอีกทีหนึ่งว่า "เมื่อใดเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจิตจึงจะคลายจากความยึดมั่นถือมั่น" เมื่อใดจิตคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจึงจะมีโอกาสมองเห็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าความว่าง คือ ว่างจากตัวตน

     พอเริ่มเห็นความว่างจากตัวตนเท่านั้น จิตจะเหไปพอใจในอายตนะนั้น คือนิพพาน อายตนะนั้น คือ นิพพาน ก็หมายความว่า นิพพานก็เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่เรารู้จักได้เท่านั้น สิ่งใดที่อยู่ในวิสัยที่เราจะรู้จักมันได้โดยทาง ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว สิ่งนั้นๆ เรียกว่า "อายตนะ" ทั้งนั้น
     ท่านได้ลดเอานิพพานนี้ลงมาให้เป็นอายตนะอันหนึ่งเหมือนกับอายตนะทั้งหลาย แล้วเรายังจะโง่จนถึงกับไม่รู้จักอายตนะนี้ได้อย่างไร เราจะรู้จักได้ต่อเมื่อเห็นว่าว่างจากตัวตน เพราะคลายความยึดมั่นถือมั่นจึงจะพอใจในอายตนะคือนิพพาน

           (๙) 
การที่จะให้พอใจในนิพพาน นี่มันยากเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วว่า คนเรามีชีวิตเป็นความยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่คลาย เมื่อไม่คลายก็ไม่เป็นความว่าง ไม่พอใจในอายตนะคือนิพพาน
     เราจะมองเห็นความจริงข้อนี้ได้ โดยมองออกไปถึงศาสนาอื่นดูบ้าง ในศาสนาอื่นนั้นไม่มีคำว่า อัตตวาทุปาทาน (อัตตวาทุปทาน แปลว่าความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา) เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะเหตุว่าในลัทธิอื่นนั้น เขามีตัวสำหรับให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือว่าความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรานี้เป็นของผิด มันกลายเป็นเรื่องถูกไป มันกลายเป็นความมุ่งหมายของศาสนาหรือของลัทธินั้นๆ ไปทีเดียว คือว่า สอนให้เข้าถึงสภาพที่เป็นตัวเราให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มีคำว่าอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนว่าต้องละเสีย เขากลับมีตัวเราให้ยึดถือ

     ในพุทธศาสนาเรานั้มีอัตตวาทุปาทาน คือกำหนดชื่อลงไปว่า นี้เป็นกิเลส นี้เป็นความโง่ นี้เป็นความหลง คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา เพราะฉะนั้น หลักปฏิบัติจึงมีอยู่ตรงที่ให้ละอัตตวาทุปาทานนี้เสีย เพราะฉะนั้นหลักคำสอนเรื่องอนัตตาจึงมีแต่ในพุทธศาสนา ไม่มีในคำสอนลัทธิอื่น ซึ่งสอนให้มีอัตตาให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วเข้าถึงให้ได้ ส่วนเรานี้ให้ทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสียให้หมดเลย ให้เห็นสภาพเป็นอนัตตา คือ ความว่างจากอัตตาในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

     อนัตตาจึงมีพูดกันแต่พวกเราพุทธศาสนา จะมีความรู้ความเข้าใจขึ้นมาได้ ก็แต่ในหมู่บุคคลที่ถูกสอนว่า  สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าสอนว่ามีอัตตาที่ควรยึดมั่นถือมั่นเสียแล้วก็ไม่มีทางที่จะปฏิบัติเพื่อความว่างจากตัวตนนั้ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องสังเกตให้เห็นในข้อที่ว่า มันต้องเห็นโทษของไฟ เราจึงจะกลัวไฟไหม้เรา เช่นเดียวกับที่เราต้องเห็นโทษของไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือไฟของความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวเราชึ่งเป็นต้นเหตุของไฟทั้งปวงนี้ มันจึงจะค่อย ๆ เบื่อหน่ายเกลียดชังสิ่งที่เรียกว่าไฟ คือคลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่คิดที่จะก่อไฟอีกต่อไป

     ทีนี้ ก็มาถึงความว่าง ที่ว่าถ้าเห็นแล้วจะพอใจในนิพพาน นั้นเราต้องเข้าใจให้ดี ๆ ว่า ความว่างนี้เป็นอย่างไร? ความว่างในขั้นแรกก็คือว่า ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราของเรา เรียกว่า ว่าง ถ้าความรู้สึกว่าตัวเราของเรามีอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่ความว่าง มันเป็นจิตทีกำลังวุ่นอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราของเรา.
     ฉะนั้น เราเอาคำสองคำขึ้นมาเป็นเครื่องช่วยการกำหนดจดจำว่า ว่างกับวุ่น ว่างคำหนึ่ง วุ่นคำหนึ่ง ว่าง ก็คือว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเรา วุ่น ก็คือมันวุ่น มันกลุ้ม มันปั่นป่วนอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวเราของเรา.
ที่ว่าว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเรานั้นมันมีอาการอย่างไร? บาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตเรียงไว้ให้ ๔ ข้อ คือว่า

"น อห กวจนิ"  รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา "
น กสสจ กิญจน กิสมิญจิ" ความกังวลต่อสิ่งใดหรือในอะไร ๆ ก็ไม่มีว่าเป็นตัวเรา
นี้คู่หนึ่ง คู่ที ๒ ก็ว่า
"น มม กวจนิ" ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา
"กิสมิญจิ กิณจน นตถิ"  กังวลในอะไร ๆ ก็ไม่มีว่าของเรา
(อาเนญชสัปปายสูตร, อุป ริ.ม. ๑๔/๗๗/๗๘)

ฐิตา:


                (๑๐)
     เอากันง่าย ๆ เป็นไทย ๆ ก็ว่าไม่รู้สึกว่ามีเราแล้วก็ไม่มีกังวลอะไรที่เป็นเรา แล้วอีกคู่หนึ่งก็ว่า ไม่มีอะไรว่าเป็นของเรา แล้วไม่มีกังวลในอะไรว่าเป็นของเรา เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นเรา แต่บางทีก็มีเหลืออยู่เป็นกังวลว่าจะมีอะไรเป็นของเรา เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา แต่เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันอาจมีอะไรที่ว่าเป็นของเรา
     มันจะต้องมีความเห็นชัดแจ้งเด็ดขาด เกลี้ยงเกลาลงไปว่ามันไม่มีอะไรเป็นของเราและไม่มีอะไรที่อาจจะเป็นของเราที่เราคอยสงสัย กังวล คอยคิด คอยนึก คอยท่าอยู่ เมื่อจิตใจของใครเกลี้ยงไปจากสิ่งทั้งสี่นี้ เมื่อนั่นพระพทธเจ้าท่านถือว่าเป็นความว่าง ในอเนญชสัปปายสูตร มัชฌิมนิกาย บัญญัติไว้อย่างนี้ในฐานะที่เป็นพุทธภาษิต

     อรรถกถาก็สรุปไว้ดื้อ ๆ ตรง ๆ ว่า "น อตตเนน" ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน "น อตตนิเยน" ไม่เห็นว่าเป็นของตนนี้ก็พอแล้ว ก็เหมือนกับที่ได้กล่าวมา แล้วข้างต้นว่าต้องปราศจากความรู้สึกยึดมั่น ว่า ตัวตน ของตน นั่นเอง
     ทีนี้ เมื่อไม่มีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ลองคิดดูเถอะว่ามันจะมีอะไร มันไม่มองเห็นอะไรที่ไหนที่น่าจะเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน หรือได้กำลังเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอยู่หรือว่าควร จะเป็นตัวตนหรือของของตนต่อไปข้างหน้า มันไม่มีทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีทั้งขณะนี้ และไม่มีทั้งที่จะกังวลข้างหน้าและข้างหลังด้วย เป็นจิตที่เข้าถึงความว่าง ด้วยการมองเห็นสิ่งทั้งปวงชัดเจน ตามลักษณะที่ถูกต้องของมันว่า ไม่มีส่วนไหนที่มีความหมายของคำว่าตัวตนหรือของตนเลย เป็นธรรมะ คือธรรมชาติล้วน ๆ เหมือนกันที่ได้กล่าวมา แล้วข้างต้นอย่างยืดยาว

     นี่เหละคือจิตที่เป็นอันเดียวกันกับความว่าง หรือว่าความว่างที่เป็นสิ่งเดียวกันกับจิต หรือที่เราจะพูดว่าจิตเข้าถึงความว่างหรือบางทีก็พูดถอยหลังมาอีกนิดว่า จิตได้ลุถึงความว่าง ซึ่งทำให้คนบางคนเกิดความเข้าใจว่าจิตอย่างหนึ่ง ความว่างก็อย่างหนึ่ง
     ที่ใช้คำว่า "เข้าไปรู้ต่อความว่าง" อย่างนี้ยังไม่ถูกต้องนักขอให้เข้าใจว่า ถ้าจิตไม่เป็นอันเดียวกันกับความว่างแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องความว่าง และจิตมันก็เป็นความว่างอยู่แล้วตามธรรมชาติ ความโง่ต่างหากที่เข้าไปทำให้ไม่เห็นเป็นว่าง ฉะนั้นพอความโง่ออกไป จิตกับความว่างก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น มันจึงรู้ตัวมันเอง ไม่ต้องไปรู้อะไรที่ไหน ถือว่ารู้ความว่างและเป็นอันรู้ว่าไม่มีอะไรนอกจากความว่างจากตัวตน จากของตน

     นี่เหละความว่างอันนี้คือสิ่งสูงสุดเพียงสิ่งเดียวที่เป็นตัวพุทธวจนะที่ทรงสอน ทรงมุ่งหมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตถาคตภาษิต คือคำที่ตถาคตกล่าวนั้น มีแต่สุญญตา มีแต่เรื่องสุญญตา บาลีสังยุตนิกายมีอยู่อย่างนี้ และในบาลีนั้นเองก็ว่า ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่อง สุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมะที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี้และสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา ทีนี้ในอีกวรรคหนึ่งในสังยุตนิกายนั้นว่าธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่พวกฆราวาสนั้น คือเรื่องสุญญตา
     ที่มาของเรื่องสุญญตา นี้ เป็นเรื่องที่อาตมาเคยเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายหนในที่อื่นว่ามีฆราวาส คหบดี พวกหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอร้องที่จะได้รับธรรมะที่เป็นประโยชนเกื้อกูลตลอดกาลนาน แก่พวกฆราวาสที่ครองเรือน แออัดอยู่ด้วย บุตร ภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทร์ของหอม พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสูตรนี้ คือ ตรัสเรื่องสุญญตา

     เมื่อเขาว่ามันยากไป ก็ทรงลดมาเพียงเรื่องโสตาปัตติยังคะ คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบัน กล่าวคือ ให้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้จริงแล้วก็มีศีลชนิดที่เป็นอริยกันตศีล คือเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้จริง แต่แล้วมันก็กลายเป็นว่าถูกพระพุทธเจ้าล่อเข้าบ่วง เข้ากับของพระองค์ได้สนิท พูดอย่างโวหารหยาบ ๆ ของพวกเรา ก็คือว่า พระพุทธเจ้าท่านต้มคนพวกนี้ได้สนิท คือว่าเขาไม่เอาเรื่องสุญญตา พระองค์ก็ยื่นเรื่องที่หลีกสุญญตาไปไม่พ้น คือบ่วงที่จะคล้องเข้าไปสู่สุญญตาให้คนเหล่านี้ไป ให้เขาไปทำอย่างไรที่จะเข้าให้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้ และมีศีลที่เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้ มันก็มีแต่เรื่องนี้ คือมองเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นไปเรื่อย ๆ

     ทีนี้เรามาคิดดูว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ผิดหรือเปล่าในการที่พูดว่า เรื่องสุญญตานี้เป็นเรื่องสำหรับฆราวาส ถ้าพระพุทธเจ้าถูก พวกเราสมัยนี้ก็เป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ไปทั้งหมด คือผิดไปทั้งหมด เพราะไปเห็นว่าเรื่องสุญญตานั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับพวกเราฆราวาสผู้ครองเรือน เรื่องสุญญตาเป็นเรื่องของผู้ที่จะไปนิพพานที่ไหนก็ไม่รู้ นี่เเหละกำลังพูดกันอยู่อย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้ากำลังพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องสุญญตานี้ คือเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสโดยตรง แล้วใครจะเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นฝายถูก เราก็ต้องยอมพิจารณาเรื่องสุญญตา ว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนาน แก่ฆราวาสอย่างไร ?

ฐิตา:


           (๑๑) 

ทางที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ก็จะต้องมองกันไปตั้งแต่ว่าใครมันทุกข์มากที่สุด ร้อนมากที่สุด หรืออยู่ในใจกลางเตาหลอมยิ่งกว่าใคร? มันไม่มีใครนอกจากพวกฆราวาสและเมึ่อเป็นดังนี้แล้ว ใครเล่าที่จะต้องการเครื่องดับไฟหรือว่าสิ่งที่จะมากำจัดความทุกข์โดยประการทั้งปวง? มันก็พวกฆราวาสนั่นเหละ พวกที่อยู่กลางกองไฟ จึงต้องหาเครื่องดับไฟให้พบในท่ามกลางกองไฟ มันดิ้นไป ไปที่ไหนไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรนอกจากไฟ ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะชนิดที่ไม่ยึดถือเข้าแล้ว เป็นไฟทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องหาจุดที่เย็นที่สุดที่กลางกองไฟนั่นเอง มันก็คือความว่างจากตัวตนของตน คือสุญญตา

      ฆราวาสต้องหาให้พบสุญญตา ต้องอยู่ในขอบวงของสุญญตา ถ้าไม่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของสุญญตาได้ อย่างน้อยอย่างเลวที่สุดก็ควรจะอยู่ในขอบวงของสุญญตา หรือรู้เรื่องความว่างตามสมควรที่ควรจะรู้ นี่เเหละจึงจะนับว่าเป็นประโยชน์สุขตลอดกาลนานของพวกฆราวาส
     พวกนี้เขาไปถามว่า อะไรจะเป็นประโยชน์สุขเกื้อกูลสิ้นกาลนาน แก่พวกข้าพระองค์?พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า "สุญญต-ปปฏิสยุตตา โลกุตตรา ธมมา" แปลว่า ธรรมทั้งหลายอยู่เหนือวิสัยโลก ที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตา โลกุตตรา อยู่เหนือวิสัยโลก ก็คือว่ามันอยู่เหนือไฟ เราหมายความในทีนี้ว่า โลกนี้มันคือไฟฉะนั้นโลกุตตราคือต้องอยู่เหนือไฟ และที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตานั้น มันย่อมต้องหมายถึงตัวความว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราหรือว่าของเรา

     ดังนั้น "สุญญตปปฏิสยุตตา โลกุตตรา ธมมา" นั้น จึงคือของขวัญสำหรับฆราวาสโดยตรงที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้เป็นพุทธภาษิตที่ยืนยันอยู่อย่างนี้ ขอให้ลองคิดดูใหม่ว่ามันจำเป็นเท่าไรทีจะต้องสนใจ และมีเพียงเรื่องเดียวจริงหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นกันเลย
     ในบาลีสังยุตนิกายนั้น ได้ตรัสยืนยันไว้ชัดว่า สุญญตาคือนิพพาน นิพพานคือสุญญตา ในที่แห่งนั้นมันมีเรื่องที่จะต้องให้ตรัสอย่างนั้น สิ่งเป็นความจริงง่าย ๆ ว่า นิพพานคือสุญญตา สุญญตาคือนิพพาน ก็หมายถึง ว่างจากกิเลส และว่างจากความทุกข์ ฉะนั้นนิพพานนั่น และคือเรื่องสำหรับฆราวาส ถ้าฆราวาสยังไม่รู้ความหมายของนิพพาน ยังไม่ได้อยู่ในขอบวงของนิพพาน ก็แปลว่าอยู่กลางกองไฟมากกว่าคนพวกไหนหมด

     ทีนี้นิพพานก็ขยายความออกไปได้ชัด ๆ ว่า ว่างจากความทุกข์ รวมทั้ง ว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ในขณะใดพวกเรามีจิตว่างจากตัวตน ว่างจากของตนอยู่บ้าง เช่น ขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ อาตมายืนยันได้ว่า ทุกคนหรือ แทบจะทุกคนนั้นมีจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของของตน เพราะมันไม่มีอะไรมาก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น มันมีแต่คำพูดที่อาตมากำลังกล่าวไปแต่ในทางที่ให้เกลียดชังตัวตนหรือของตน และท่านทั้งหลายกำลังสนใจฟังเรื่องมันก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกว่าตัวตน แล้วลองคิดดูว่าใจมันว่างหรือไม่ว่าง ว่างจากตัวตนหรือของตนนั้นมันว่างหรือไม่ว่าง ถ้ามันว่างอยู่เท่านั้น (ใช้คำว่าอยู่บ้างเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดหรือตลอดกาล) นั่นก็เรียกได้ว่า ท่านทั้งหลายกำลังอยู่ในขอบวงของนิพพาน แม้ว่าไม่เด็ดขาดหรือสมบูรณ์ก็ยังเป็นนิพพานอยู่นั่นเอง

     ธรรมะมีอยู่หลายความหมาย หลายชั้น หลายระดับ ธรรมะที่เป็นความหมายของนิพพาน หรือในระดับของนิพพานนั้น มันอยู่ที่จิตของท่านทั้งหลายที่กำลังว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตนอยู่บ้างในบางขณะ เพราะฉะนั้น ขอให้กำหนดจดจำความรู้สึกอันนี้ที่นี้และเดี๋ยวนี้ไว้ไห้ดี ๆ และให้มันติดไปที่บ้านด้วย บางทีกลับไปที่บ้านแล้วมันจะรู้สึกเหมือนกับขึ้นไปบนเรือนของคนอื่นหรือว่าไปทำการทำงานอะไรที่บ้าน จะได้มีความรู้สึกว่าเหมือนกับไปช่วยงานของคนอื่น ที่บ้านคนอื่นอย่างนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วมันไม่ทุกข์ บ้านหรือการงานที่เคยเป็นทุกข์นั้น มันจะไม่ทุกข์ แต่จะเป็นอยู่ด้วยจิตว่างจากตัวตนหรือของตนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเอานิพพาน หรือเอาสุญญตาเป็นพระเครื่องรางแขวนคออยู่เสมอ มันคุ้มครองปัองกันความทุกข์หรืออุปัทวะ เสนียดจัญไรนี้ โดยประการทั้งปวง นี้แหละเป็นเครื่องรางศักดิ์สทธิ์ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ นอกนั้นเป็นเรื่องมายา

     ที่พูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่านทั้งหลายต้องไม่คิดว่า อาตมาเป็นคนเดินตลาดขายสินค้าของพระพุทธเจ้า จะต้องคิดว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แแก่ เจ็บ ตายด้วยกัน เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ถ้าจะพูดเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องชี้ชวนให้เกิดความสนใจนั้นมันก็เพราะว่ามีความหวังดีต่อกัน แต่ถ้าใครมีสติปัญญามากกว่านั้น ก็อาจจะเห็นได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่ออาตมา ไม่ต้องเชื่อตามอาตมา ก็มีทางที่จะสนใจศึกษาต่อไปได้ ถึงความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะนี้ยิ่งขึ้นไปทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราต้องเขยิบการศึกษานี้เลื่อนสูงขึ้นไปถึงเรื่องธาตุ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version