ภาพที่ ๖ เจ้าชายเทวทัตเสด็จมาพบพญาหงส์อยู่กับเจ้าชายสิทธัตถะ
ก็ได้ขอทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งพญาหงส์นั้นไปเสียให้ได้
โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้วันหนึ่งในฤดูร้อน พญาหงส์สีขาวสะอาดตัวหนึ่ง
บินนำฝูงผ่านพระอุทยานของพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์
บ่ายหน้าไปทางทิศเหนือสู่ถิ่นพำนัก ณ ยอดเขาหิมาลัยโพ้น
ความขาวของฝูงหงส์ ซึ่งทาบอยู่บนท้องฟ้าสีครามดูประหนึ่งทางช้างเผือก
ยังความนิยมยินดีให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งนัก แต่สำหรับ พระเทวทัตกุมาร
มิได้เป็นเช่นนั้น น้ำพระทัยของเจ้าชายองค์น้อยนี้ เป็นพาลเหี้ยมโหด
มุ่งแต่จะทำลายเป็นที่ตั้ง พอทอดพระเนตรเห็นฝูงหงส์ เธอก็ทรงยกลูกศร
ขึ้นพาดสาย น้าวคันธนูจนเต็มแรงยิงออกไปทันที ลูกศรนั้นวิ่งขึ้นไป
ถูกพญาหงส์สีขาวซึ่งกำลังบินร่อนร่าเริงใจอยู่บนอากาศ ถลาตกลงสู่เบื้องล่างทันที
ขณะนั้น พระสิทธัตถกุมาร พระโอรสแห่งพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์
กำลังทรงสำราญอยู่ในพระอุทยานนั้นด้วย ทรงทอดพระเนตรเห็น
พญาหงส์ ร่วงตกลงมาในเขตพระอุทยาน พระองค์จึงละเสียจากการเล่น
โดยสิ้นเชิง แล้วรีบเสด็จออกไปค้นหา ในที่สุดก็พบนกที่น่าสงสารนั้นกำลังดิ้นรน
กระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวดอยู่บนพื้น โดยที่ปีกข้างหนึ่งของมัน
มีลูกศรเสียบทะลุคาอยู่ เจ้าชายองค์น้อยบังเกิดความเวทนายิ่งนัก
ทรงอุ้มหงส์นั้นขึ้นจากพื้น ประคองกอดแต่เบาๆ มิให้วิหคเคราะห์ร้ายตื่นตกใจ
ทรงชักลูกศรที่เสียบอยู่บนปีกนั้นออกเสีย
แล้วทรงนำใบไม้ที่มีรสเย็นมาปิดบาดแผลเพื่อให้โลหิตหยุดไหล
เจ้าชายน้อยทรงรำพึงถึงความทุกข์ของพญาหงส์
อันมีกายปรากฏเป็นบาดแผลใหญ่แล้ว ก็ทรงทอดถอนพระหฤทัยพระกุมารนั้นแม้จะมีพระชนมายุเพียง ๘ พระชันษา ยังทรงพระเยาว์นัก
ชอบที่จะแสวงสุขอย่างเด็กอื่นๆ แต่พระองค์กลับคิดใคร่ครวญ
ถึงความเจ็บปวดของพญาหงส์ อันความทุกข์สำแดงอยู่ในเวลานั้น
จึงทรงปลอบนกด้วยพระวาจาอ่อนหวาน และอุ้มกอดมันไว้
กับทรวงอกให้อบอุ่น ทั้งลูบขนปลอบโยนให้คลายความหวาดกลัว
เมื่อพระเทวทัตกุมาร ผู้เป็นพระญาติเรียงพี่เรียงน้องของพระสิทธัตถกุมาร
เสด็จมาพบเข้าก็ทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งนกนั้นไปเสียให้ได้
โดยอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของนกตัวนั้นเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้
พระสิทธัตถกุมารทรงปฏิเสธที่จะมอบนกให้โดยตรัสว่า
“
ถ้านกตายมันจึงจะเป็นของผู้ยิง แต่เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่
ควรจะเป็นของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือมัน
เรามิเคยมีใจที่จะมอบนกตัวนี้ให้กับใครทั้งสิ้นตราบใดที่มันยังคงบาดเจ็บอยู่”
ต่างฝ่ายก็ไม่ยินยอมต่อกัน ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสนอขึ้นว่า
“
ข้อพิพาทนี้ควรจักต้องนำไปให้บรรดานักปราชญ์ของแผ่นดิน
พิพากษาตัดสินชี้ขาดในที่ประชุม” เจ้าชายเทวทัตก็เห็นด้วย
ณ ที่ประชุมนักปราชญ์แห่งนครกบิลพัสดุ์
ในวันนั้นได้ยกกรณีพิพาทเรื่องหงส์ตัวนี้ขึ้นมาพิจารณา มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมาก
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เจ้าชายเทวทัตควรเป็นเจ้าของนก เพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้
อีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่า นกควรเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ
เพราะเป็นผู้พบมันก่อนและได้ช่วยชีวิตมันเอาไว้
เมื่อมีผู้แสดงความคิดเห็นแตกแยกขัดแย้งกันดังนี้ การประชุมก็ไม่เป็นที่ยุติลงได้
จนในที่สุดมี นักปราชญ์ท่านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครรู้จักพบเห็นมาก่อน
ได้ก้าวออกมาและพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงอันดังท่ามกลางที่ประชุมนั้นว่า
“ในโลกนี้ชีวิตเป็นของล้ำค่ายิ่ง
ไม่ว่าใครก็ต่างรักและหวงแหนชีวิตตน
ผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์ได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้ชีวิตแต่ผู้ที่ทำลายชีวิตสัตว์ให้ดับล่วงไปได้ชื่อว่า เป็นผู้เข่นฆ่า
ผู้ใดกรุณาต่อสัตว์ เป็นผู้ช่วยเหลือสัตว์ บุคคลนั้นจึงสมควรเป็นเจ้าของ
ดังนั้น ขอให้นกตัวนี้จงเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ที่ช่วยชีวิตมันไว้เถิด”
ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับ
ถ้อยคำอันมีเหตุผลเที่ยงธรรมของนักปราชญ์ผู้นั้น
จึงตัดสินให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้รับเอาหงส์
ซึ่งพระองค์ได้ทรงพยายามช่วยชีวิตนั้นไป
หลังจากนั้นพระกุมารน้อยทรงเอาพระทัยใส่ดูแลนกนั้นอย่างเอื้ออารีที่สุด
จนกระทั่งบาดแผลของมันหายสนิท มีกำลังวังชาฟื้นคืนดีแล้ว
พระองค์ก็ทรงปล่อยมันให้บินกลับไปอยู่รวมฝูงกับพวกพ้องของมัน
ในสระกลางป่าลึกด้วยความผาสุกสืบไป
พระสิทธัตถกุมารองค์น้อยนี้แหละ ในกาลต่อมาคือ
พระบรมศาสดา
ผู้ประกาศพุทธศาสนาด้วยหลักธรรมแห่งเมตตาให้บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ เทพยดา และยักษ์มารอสูร
ได้ประจักษ์แจ้งใน
สัทธรรมอันสูงสุด
พระปรีชาญาณและดวงหทัยอันเปี่ยมไปด้วยมหาเมตตาคุณ
ได้ฉายแสงปรากฏให้ชนทั้งหลายได้ชื่นชมตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมา