Faberge กับไข่อัญมณี
เรื่อง : สุทัศน์ ยกส้าน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2554
Coronation Egg (ซ้าย) ที่มีความสวยงามทางศิลปะและมีความหมายทางประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1918 กลุ่มนายทหารพร้อมปืนไรเฟิลได้เดินทางถึงบ้านของ Peter Carl Faberge หลังจากที่ได้ทุบประตูบ้านเป็นเวลานานจนเจ้าของบ้านต้องยอมเปิดประตูรับ ทหารคนหนึ่งได้ยื่นนามบัตรซึ่งแสดงว่าเป็นตำรวจลับ (Chekha) ที่ได้รับบัญชาจากสมเด็จพระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 ให้นำตัว Faberge ไปเข้าเฝ้า Faberge จึงขอเวลาแต่งตัว แล้วบอกให้ตำรวจลับเหล่านั้นคอยที่ห้องโถง ส่วนตัวเขาเองได้หลบหนีออกทางหลังบ้าน
เวลาล่วงเลยไปนานกว่าคนคอยจะรู้ตัวว่าเจ้าของบ้านได้หนีไปแล้ว อีกสองวันต่อมา Faberge ก็เดินทางถึงเมืองริกาในลัตเวีย โดยใช้พาสปอร์ตปลอมที่เพื่อนชาวอังกฤษทำให้ และได้ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีในบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ ฐานะทางสังคม และชื่อเสียง เพื่อไปตายดาบหน้า (อย่างโดดเดี่ยวในโรงแรม) ในอีก 2 ปีต่อมาที่เมืองโลซานในสวิตเซอร์แลนด์
Peter Carl Faberge ระหว่างทำงาน
--------------------------------
ตลอดชีวิตทำงาน Faberge ไม่เคยคิดว่าตนเป็นช่างอัญมณีในกลุ่มเดียวกับ Tiffany และ Lalique แต่เป็นนักประดิษฐ์ที่มีพรสวรรค์ในการนำความคิดคลาสสิกมาปรับใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ที่ประดับด้วยอัญมณีราคาแพง จนเป็นที่พึงพอใจของคนซื้อและคนรับและความสามารถของ Faberge ได้กลายมาเป็นตำนานจนทุกวันนี้
ในปลายคริสตศควรรษที่ 17 ต้นตระกูลของ Carl Faberge ได้อพยพมาจากฝรั่งเศสมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย เมื่อถึงปี 1832 บิดาของ Faberge ที่ชื่อ Gustav ได้ศึกษาวิธีใช้อัญมณีทำเครื่องประดับจนเริ่มมีชื่อเสียง และตั้งแต่ปี 1845 เป็นต้นมา บรรดาเศรษฐินีไฮโซที่ชอบอวดรวยได้เข้ามาเป็นลูกค้าขาประจำของ Faberge ครอบครัว Faberge มีลูกชายหัวปีชื่อ Peter Carl ผู้ถือกำเนิดในปี 1846
เมื่อ Faberge มีอายุ 14 ปี บิดาได้ขายธุรกิจอัญมณีให้เพื่อน แล้วอพยพไปเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองเดรสเดนในเยอรมนี ต่อมา Faberge ได้ศึกษาวิธีนำอัญมณีมาทำเครื่องประดับ อีก 5 ปีต่อมาเขาได้กลับไปตั้งร้านอัญมณีที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีก แต่ธุรกิจไม่รุ่งเพราะตลาดมีการแข่งขันกันมาก Carl จึงคิดจะหาลูกค้าที่เป็นราชนิกูลระดับสูงเพื่อโฆษณาให้สังคมรู้จักฝีมือของตน
แต่การจะให้ราชสำนักรู้จักและยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย Faberge จึงเข้าทำงานที่ Hermitage อันเป็นพระคลังสำหรับเก็บทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าซาร์ และมีหน้าที่ซ่อมแซมสิ่งของราคาแพงที่ปรักหักพัง ผลงานชิ้นแรกที่ Faberge กับน้องชายชื่อ Agaton ร่วมกันประดิษฐ์คือออกแบบเครื่องประดับอัญมณีรูปทรงสไตล์กรีก การได้ไปฝึกงานที่ Hermitage ทำให้ Faberge ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ประวัติความเป็นมาของอัญมณีต่างๆ ดีมาก
แต่สิ่งประดิษฐ์ของ Faberge ที่ทำให้ประชาชนรัสเซีย และราชสำนักเริ่มสนใจและสังเกตคือ สิ่งประดิษฐ์รูปไข่ที่ผิวไข่มีอัญมณีประดับ
ไข่อัญมณี
-------------------
อันที่จริงไข่ประดิษฐ์นี้มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ช่างเครื่องประดับชาวเยอรมันได้รู้จักประดับไข่ด้วยอัญมณีเป็นของขวัญในวันอีสเตอร์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 Faberge จึงคิดจะฟื้นฟูประเพณีที่ถูกละเลยนี้ และได้ทูลเสนอจักรพรรดิซาร์ Alexander ให้ทรงมอบไข่ทองคำเป็นของขวัญแด่สมเด็จพระราชินี Maria Feodoroyna เมื่อ Alexander ทรงเห็นชอบ Faberge ได้ใช้เวลาทำไข่นี้จนถึงวันอีสเตอร์ของปี 1885 ไข่ประดิษฐ์ที่เคลือบด้วยทองคำและแพลททินัมก็เสร็จ ไข่ชื่อ “The First Hen Egg” นี้มีแม่ไก่ขนาดเล็กอยู่ภายใน และเมื่อเปิดตัวแม่ไก่ออกจะเห็นภายในมีมงกุฎจำลองประดับเพชรของพระราชินี ของขวัญชิ้นนี้ทำให้พระนาง Feodoroya ทรงพอพระทัยมากและทำให้ชื่อของ Fabergeดังกระฉ่อน เพราะเขาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นช่างอัญมณีแห่งราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ประดิษฐ์ของขวัญซึ่งได้แก่ไข่วิจิตร ถวายพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ในวันอีสเตอร์ เวลาไม่ทำงานถวาย Faberge เปิดร้านของตนเองให้บริการแก่สามัญชนทั่วไป
ตามปรกติ Faberge มักไม่บอกลูกค้าว่าภายในไข่มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง เพราะเขาต้องการให้ลูกค้าประหลาดใจ และบอกว่าลูกค้าคนที่เขาเอาใจยากที่สุดคือ พระราชินี Alexandra ในพระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 ผู้ซึ่งได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1894 เพราะพระนางทรงคิดว่าพระนางทรงมีรสนิยมสูง จึงทรงประทานภาพสเกตซ์ของไข่ที่พระนางประสงค์จะให้ Faberge ประดิษฐ์ถวาย ซึ่งแบบที่พระนางพระราชทานมาล้วนเป็นการออกแบบที่เทวดาก็ทำให้ไม่ได้ เท่านั้นยังไม่พอ พระนางยังพระราชทานค่าจ้างเป็นเงินจำนวนน้อยนิดด้วย แต่ Faberge ก็ไม่เคยทูลขอเพิ่มเพราะไม่ต้องการให้พระนางทรงกริ้ว ดังนั้นเขาจึงต้องหาทางออกโดยเท็จทูลว่า แบบที่พระนางทรงวาดได้หายไป หรือช่างผู้ช่วยของ Faberge ได้ดัดแปลงและปรับเปลี่ยนแบบที่พระนางทรงคิดให้จนไข่เสียรูปทรงไป ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจพระดำริของพระนางนั่นเอง
ในช่วงเวลานี้ชื่อเสียงของ Faberge ได้โด่งดังมาก และฐานะก็เริ่มดีขึ้นๆ เพราะบรรดากษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ เริ่มซื้อไข่อัญมณีของ Faberge เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญให้แก่กันและบางคนก็เพื่อเก็บสะสม ลูกค้าที่มีฐานะดีก็มีมากขึ้นจน Faberge ต้องเปิดร้านสาขาใหม่ที่มอสโกและลอนดอน ร้านของ Faberge มีลูกค้าที่เป็นทั้งเจ้าชาย เจ้าหญิง เศรษฐี และคนมีชื่อเสียงต่างก็หลั่งไหลมาซื้อสิ่งประดิษฐ์ที่ประดับด้วยอัญมณี โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกค้าจะสั่งสินค้ามากจน Faberge ทำสนองความต้องการของตลาดไม่ทัน เพราะลูกค้าแต่ละคนต่างก็ต้องการซื้อไข่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษคือ ไม่เหมือนไข่ของคนอื่นๆ เลย จนบางครั้ง Faberge ต้องบอกว่าตนจะออกแบบไข่ให้ใหม่เป็นไข่ทรงลูกบาศก์และจะให้ลูกค้าคนนั้นเป็นคนแรก แต่ลูกค้าคนนั้นไม่เข้าใจความหมายที่แฝงในคำพูดของ Faberge จึงหวนกลับมาในอีก 3 สัปดาห์ต่อมาและก็ได้รับคำบอกกล่าวว่าการประดิษฐ์ครั้งนั้นยุ่งยากมากจนช่างทำให้ไม่ได้
เวลาทำงาน FaFabergebergé มักใจลอยและจำไม่ได้ว่าลูกค้าได้บอกกำหนดรายละเอียดอะไรบ้าง เขาจึงให้ผู้ช่วยของเขามานั่งฟังเวลาลูกค้าสั่งสินค้าด้วย จนเป็นที่เลื่องลือว่าคนที่รับผิดชอบด้านความสวยงามในสินค้าตัวจริงไม่ใช่ Faberge แต่เป็นคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ
การรีบทำและรีบประดิษฐ์ให้เสร็จเพื่อให้ทันเวลานัดหมายได้สร้างความโกลาหลแก่ธุรกิจของ Faberge บ่อยครั้ง เช่น เวลาช่างได้รับแบบสเกตซ์หยาบๆ จาก Faberge แล้วได้เลือกวัสดุที่ไม่ตรงกับที่ Faberge กำหนด หรือเวลาไข่ประดิษฐ์ขาดสมมาตร คือข้างซ้ายและขวาแตกต่างกัน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ Faberge หลุดปากว่า “น่าเกลียด” แต่เมื่อช่างบอกว่า “ก็นายเองเป็นคนออกแบบ” Faberge จะเขินแล้วเอ่ยแก้ตัวว่า “ถ้าไม่มีใครกล้าติ ฉันก็ต้องติตัวเองบ้าง”
-http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=11432-
.
เดี๋ยวมาต่อครับ
.