แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
ภาพพุทธประวัติพร้อมข้อมูลภาพโดยสังเขปจาก "การ์ตูนพุทธศาสดา"
ฐิตา:
ภาพพุทธประวัติพร้อมข้อมูลภาพโดยสังเขปจาก "การ์ตูนพุทธศาสดา"
ตอน ประสูติ ณ ป่าลุมพินี เมื่อพระนางทรงพระครรภ์ครบถ้วนทศมาส จึงกราบทูล
ขอพระราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโธทนะ พระสวามีไปกรุงเทวทหะ
เมื่อเสด็จถึงป่าลุมพินีสถานอันเป็นสถานที่รื่นรมย์ ก็บังเกิดอาการประชวรพระครรภ์
จนถึงเวลาใกล้เที่ยง พระนางเจ้าสิริมหามายา ประสูติพระราชโอรสสมบูรณ์ด้วย
มหาปุริสลักษณะ มีบุญญาธิการ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ
เมื่อประสูติจากพระครรภ์ พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นประทับยืนบนพื้นปฐพี
ทอดพระเนตรไปทั่วทั้งสิบทิศ เสด็จดำเนินไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้น
รองรับพระบาทแล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า
“เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ตอน บรรลุปฐมฌานในวันแรกนาขวัญ เมื่อสิทธัตถราชกุมารทรงเจริญวัย มีพระชนมายุได้ 7 พรรษา
พระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีขึ้น 3 สระ ภายในบริเวณพระราชนิเวศน์
ครั้นถึงวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จเข้าสู่สถานที่มณฑลพิธีกระทำการแรกนาขวัญ
โปรดให้พระราชกุมารเสด็จไป โดยมีพระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายคอยเฝ้าปรนนิบัติ
ครั้นพิธีแรกนาขวัญเริ่มขึ้น พวกพี่เลี้ยงนางนมต่างพากันออกไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด
พระราชกุมารเสด็จไปประทับอยู่ใต้ร่มต้นหว้าลำพังพระองค์เดียว ประทับนั่งสมาธิ
เจริญอานาปานสติกรรมฐาน เกิดความสงบสงัดจนได้บรรลุปฐมฌาน พอเวลาบ่าย
เงาต้นไม้ทั้งหลายเบี่ยงเบนไปตามแสงตะวันทั้งหมด แต่เงาของต้นหว้าต้นนั้น
ยังคงอยู่เหมือนเดิม เสมือนหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงวัน มิได้เอนไปตามแสงตะวันดังต้นไม้
อื่น ๆ ปรากฏเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก
พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นความมหัศจรรย์เช่นนั้น จึงยกพระหัตถ์นมัสการ
เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับ พระนางยโสธรา (พระนางพิมพา)
ทั้ง 2 พระองค์เสวยสุขอยู่ในปราสาททั้ง 3 หลัง ดุจเสวยทิพยสมบัติ
ตอน ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยเห็น
ไม่เคยทราบมาก่อน 4 ประการ (เทวทูต 4) คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ บรรพชิต
ตอน เสด็จออกบรรพชา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมขึ้นมาในยามดึก
ได้ทอดพระเนตรเห็นอาการวิปริตของเหล่านางสนมทั้งหลาย ที่หลับใหลอยู่เกลื่อนกลาด
ทรงเกิดความสังเวช จึงตัดสินพระทัยออกบวช โดยให้ นายฉันนะ จัดเตรียมม้ากัณฐกะ
แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรพระราชโอรสและพระนางพิมพาซึ่งบรรทมอยู่
จากนั้นก็เสด็จออกจากพระมหานคร จวบจนใกล้รุ่ง ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา
ตอน ปัญจวัคคีย์ออกบวช โกณฑัญญพราหมณ์ ได้ทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะ
เสด็จออกบรรพชาก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงไปชักชวนพราหมณ์ 4 คน
คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ให้ออกบวชตาม พราหมณ์ทั้ง 5 นั้น ได้ชื่อว่า “ปัญจวัคคีย์”
ตอน ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกัน
ว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ตรัสรู้ โดยกดพระทนต์ด้วยพระทนต์, กดพระตาลุ(เพดานปาก)
ด้วยพระชิวหา(ลิ้น), ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ, ทรงอดพระกระยาหาร จนพระวรกาย
เหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิวพรรณ)เศร้าหมอง มีพระอาการประชวรอ่อนเพลียอิดโรย
จนหมดสติล้มลง เมื่อฟื้นคืนสติ ทรงเห็นว่าผู้ที่ทำความเพียรด้วยการทรมานร่างกาย
ยิ่งกว่าเรานั้นไม่มี เราปฏิบัติอุกฤษฏ์ถึงขนาดนี้แล้ว ยังไม่สามารถจะบรรลุ
พระโพธิญาณได้ ชะรอยหนทางแห่งการตรัสรู้คงจะเป็นหนทางอื่น มิใช่ทางนี้เป็นแน่
ขณะนั้นพระอินทร์ทรงทราบความปริวิตกของพระมหาบุรุษ จึงนำพิณทิพย์สามสาย
มาดีดถวายให้พระโพธิสัตว์ได้สดับ เมื่อพระองค์ได้สดับเสียงพิณแล้ว
ก็ทรงเปรียบเทียบการปฏิบัติกับพิณสามสายว่า “สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อย
ก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดไม่มีเสียง ส่วนอีกสายหนึ่งไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก
พอปานกลาง จะมีเสียงดังไพเราะ” พระโพธิสัตว์ทรงถือเอาเสียงพิณนั้น
เป็นนิมิตหมาย พิจารณาเห็นแจ้งว่า “มัชฌิมาปฏิปทา คือ การปฏิบัติเป็นกลางๆ
ไม่ตึงนักไม่หย่อนนักคงจะเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้แน่นอน”
อ่านต่อ.. เนื้อหาข้อมูลพร้อมดูคลิป "การ์ตูนพุทธศาสดา" ...
-http://www.phuketjournal.com/tag/"การ์ตูนพุทธศาสดา"/page/3
ฐิตา:
ตอน ทรงพระสุบินนิมิต
ในยามราตรีของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์บรรทมหลับ จนเวลาใกล้รุ่ง ทรงสุบินนิมิต 5 ประการ คือ
ทรงสุบินนิมิตว่า นอนหงายบนพื้นปฐพี มีภูเขาหิมพานต์เป็นเขนย(หมอนหนุน) พระพาหาซ้าย(แขนซ้าย) จมลงไปในมหาสมุทรทิศบูรพา พระพาหาขวา(แขนขวา) หยั่งลงไปในมหาสมุทร ด้านทิศปัจฉิม และพระบาท(เท้า) ทั้งสองหยั่งลงไปในมหาสมุทรด้านทิศทักษิณ
ทรงสุบินนิมิตว่า มีหญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกขึ้นจากพระนาภี(สะดือ) สูงขึ้นไปถึงท้องฟ้า
ทรงสุบินนิมิตว่า หมู่หนอนเป็นอันมากมีสีขาวบ้างสีดำบ้าง ไต่ขึ้นมาจากปลายพระบาททั้งคู่ ปิดลำพระชงฆ์(แข้ง) ตลอดจนถึงพระชานุ(เข่า)
ทรงสุบินนิมิตว่า ฝูงนก 4 จำพวก มีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง และ สีดำ บินมาจากทิศทั้ง 4 ลงมาหมอบแทบพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปหมดทั้งสิ้น
ทรงสุบินนิมิตว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาที่เปรอะเปื้อน เต็มด้วยมูตรคูถ(ปัสสาวะอุจจาระ) แต่พระบาทของพระองค์ มิได้เปื้อนด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย
เมื่อทรงตื่นจากบรรทมแล้ว พระองค์ก็เริ่มพยากรณ์ไปตามลำดับว่า
สุบินนิมิตข้อที่ 1 เป็นนิมิตว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้เลิศในโลก ทั้ง 3 ได้แก่ กามโลก รูปพรหมโลก และอรูปพรหมโลก
สุบินนิมิตข้อที่ 2 เป็นนิมิตว่า พระองค์จะได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาอริยมรรคมีองค์ 8 แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งปวง
สุบินนิมิตข้อที่ 3 เป็นนิมิตว่า หมู่คฤหัสถ์ พราหมณ์และชนทั้งหลายที่นุ่งผ้าขาว จะมาสู่สำนักของพระองค์และดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์
สุบินนิมิตข้อที่ 4 เป็นนิมิตว่า วรรณะทั้ง 4 เมื่อสละเพศฆราวาสมาบรรพชาในพระธรรมวินัย และจะได้บรรลุวิมุตติธรรมอันประเสริฐบริสุทธิ์หมดจดผ่องใส โดยเท่าเทียมกัน
สุบินนิมิตข้อที่ 5 เป็นนิมิตว่า พระองค์จะบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ที่ชาวโลกทั่วทุกทิศพากันนำมาถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใส แต่พระองค์มิได้มีพระทัยติดอยู่ในลาภสักการะเหล่านั้นให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย
เมื่อพระองค์ทรงทำนายสุบินนิมิตดังนี้แล้ว ทรงทำสรีรกิจส่วนพระองค์เสร็จแล้ว เสด็จไปประทับนั่งพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ โคนต้นไทรใหญ่ ซึ่งไม่ไกลจากที่นั้น
ตอน นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
นางสุชาดาเริ่มประกอบพิธีหุงข้าวมธุปายาส โดยจัดหาฟืนใส่ในเตา และก่อไฟด้วยตนเอง เทน้ำนมและเครื่องปรุงลงในภาชนะยกตั้งบนเตาไฟ ฟองน้ำนมเวียนเป็นทักษิณาวัฏ ไฟในเตาก็ปราศจากควันน่าอัศจรรย์ เตรียมจัดข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองเพื่อเตรียมไปถวายบวงสรวงบูชาเทพยดาที่ต้นไทรนั้น
ฝ่ายนางปุณณทาสี สาวใช้ เห็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ใต้ร่มไทร มีรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ดูงามยิ่งนัก จึงรีบกลับมาบอกแก่นางสุชาดาให้ทราบ นางสุชาดาจึงรีบยกถาดข้าวมธุปายาส ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น
ครั้นได้เห็นพระบรมโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดความโสมนัสยินดีสำคัญว่า เป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้วทรงเสด็จลุกจากอาสนะ ทรงถือถาดเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อสรงพระวรกายแล้วประทับนั่ง บ่ายพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ทรงปั้นข้าวมธุปายาสได้ 49 ปั้น แล้วเสวยจนหมด จากนั้นทรงถือถาดทองเสด็จไปสู่แม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า
“ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป”
ด้วยอานุภาพแห่งพระบารมี ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง 80 ศอก แล้วก็จมลงสู่นาคพิภพแห่งนาคราชนามว่า “พญากาฬ” ซ้อนอยู่ใต้ถาดใบที่สามแห่งพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และ พระกัสสปพุทธเจ้า
เสียงถาดกระทบกันทำให้พญากาฬนาคราชสะดุ้งตื่นจากบรรทม เห็นถาดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งใบ จึงได้ตรัสขึ้นว่า มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์แล้ว และตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณเป็นอันมาก
พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นนิมิตดังนั้นก็ทรงโสมนัสยินดี เสด็จกลับสู่สาลวันป่าไม้รัง เพื่อพักผ่อน หลบแดดร้อนในยามเที่ยงวัน
ต่อมามีคนตัดหญ้าผู้หนึ่งนามว่า โสตถิยพราหมณ์ ถือหญ้าสวนทางมาพบพระโพธิสัตว์ แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสถวายหญ้า
พระบรมโพธิสัตว์ทรงรับหญ้านั้นแล้วเสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทำประทักษิณต้นโพธิ์สามรอบ พิจารณาสถานที่ประทับบำเพ็ญเพียร ทรงเห็นด้านทิศบูรพาเป็นสถานที่เหมาะสมจึงทรงปูลาดหญ้าลง ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ด้านทิศบูรพานั้น ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ถ้าจะได้ตรัสรู้สัพพัญญุตญาณแล้วไซร้ ขอให้รัตนบัลลังก์จงเกิดปรากฏในที่นี้”
เมื่อจบพระดำรัสสัตยาธิษฐาน รัตนบัลลังก์วชิรอาสน์ก็ปรากฏตรงพระพักตร์ ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารที่ทรงสั่งสมมา พระบรมโพธิสัตว์ประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์วชิรอาสน์นั้น แล้วทรงดำรัสตั้งจิตสัตยาธิษฐานว่า
“ถ้ายังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที จะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้”
ตอน พญามารกรีธาทัพ
พญาวสวัตดีมารแสวงหาโอกาส เพื่อจะทำลายหนทางบรรลุพระโพธิญาณของพระองค์ เมื่อได้ทราบว่า ทรงอธิษฐานจิตตั้งมั่นจะไม่ลุกจากรัตนบัลลังก์ภายใต้
ร่มพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้เรียกไพร่พล พร้อมศาสตราวุธนานาชนิด และเนรมิตกายเป็นรูปต่างๆ บางพวกก็เนรมิตกายเป็นยักษ์มีรูปร่างน่าเกลียดน่าสะพรึงกลัว
แสดงอาการประหนึ่งจะเข้ามาประหัตประหารให้ถึงสิ้นพระชนม์ให้จงได้
ฝ่ายพญามารเมื่อเห็นมหาบุรุษยังคงประทับด้วยอาการปกติเช่นนี้ ก็ยิ่งมีความพิโรธโกรธแค้น สั่งเสนามารเข้าโจมตีด้วยอาวุธร้ายต่างๆ อีกทั้งบันดาลให้ห่าฝน 7 ประการตกลงมาจากอากาศ แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ พระบรมโพธิสัตว์แม้เพียงชายจีวรให้หวั่นไหวได้ ศาสตราวุธและห่าฝนเมื่อตกลงใกล้พระวรกายยังกลับกลายเป็นพวงมาลาทิพย์ เป็นเครื่องสักการะบูชาไปทั้งสิ้น
พญามารจึงไส พญาช้างคีรีเมขล์ เข้าไปกวัดแกว่งสรรพอาวุธพร้อมตะโกนประกาศก้องว่า
“รัตนบัลลังก์นี้เป็นของเรา เกิดขึ้นด้วยบุญเรา ไพร่พลเสนานี้เป็นพยาน ท่านจงเร่งลุกออกไป”
พระบรมโพธิสัตว์จึงเปล่งสีหนาทตอบว่า
“ดูก่อนพญามาร รัตนบัลลังก์นี้เป็นของเรา เกิดขึ้นด้วยบุญ อันเราสั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน พระธรณีเป็นพยานแห่งเรา”
ทันใดนั้น พระแม่ธรณีวสุนธรา ก็ปรากฏกายขึ้นกระทำอัญชลีกราบอภิวาทต่อพระบรมโพธิสัตว์ เปล่งวาจาประกาศเป็นพยานในการบำเพ็ญมหากุศลของพระองค์ แล้วบิดเกศาของตนทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยว หลั่งไหลท่วมนองในสถานที่นั้น ยกเว้นเขตรัตนบัลลังก์ กระแสน้ำไหลปานประดุจมหาสมุทรท่วมท้น จนหมู่มารไม่สามารถจะดำรงกายอยู่ได้ ถูกน้ำพัดพาลอยไปตามกระแสคลื่นจนหมดสิ้น
ฐิตา:
ตอน ตรัสรู้ พระบรมโพธิสัตว์ ทรงกำจัดหมู่มารจนพ่ายแพ้หลบหนีไปจนหมดสิ้น
ก็บังเกิดความเบิกบานพระทัย แล้วทรงเจริญสมาธิภาวนา ตั้งพระทัยมั่น ทำสมาบัติ 8 ประการ
ให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงบรรลุญาณอันเป็นปัญญาตามลำดับ ในปฐมยามทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
สามารถระลึกอดีตชาติย้อนหลัง ที่พระองค์ทรงเคยบังเกิดมาแล้วได้ทั้งสิ้น ครั้นเวลาล่วงเข้าสู่มัชฌิมยาม
ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพพจักขุญาณ สามารถหยั่งเห็นการเวียนว่ายตายเกิด
ของสรรพสัตว์ ทั้งสัตว์ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง ทั้งในทุคติและสุคติตามสมควรแก่กุศล
และอกุศลที่ตนได้ทำไว้ เปรียบเสมือนคนที่อยู่บนที่สูงใกล้ทาง 4 แพร่ง สามารถมองเห็นหมู่ชน
ที่สัญจรไปมาจากที่ต่างๆ ได้ เวลารุ่งปัจฉิมยาม พระบรมโพธิสัตว์ก็ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ ดับสูญสิ้นอาสวกิเลส
ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญู ในวันวิสาขปุณณมี ขึ้น 15 ค่ำ ดิถีเพ็ญกลางเดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
ขณะนั้น เหตุมหัศจรรย์ต่าง ๆ มีมหาปฐพีเป็นต้นก็เกิดกัมปนาทหวั่นไหวสั่นสะเทือนทั่วพิภพ
มหาสาครก็ตีฟองคะนองคลื่นดื่นดาดศัพท์สำเนียงเสียงโครมครึกกึกก้อง สัตว์ต่างๆ ในไพรสณฑ์ ก็พากันส่งเสียงร้องร่าเริงแจ่มใส สัตว์ที่เคยเป็นศัตรู คู่อริกันก็กลับกลายเป็นมิตรสนิทสนมมีเมตตาต่อกัน ฝูงนกนานาชนิดก็บินร่อนเริงร่า ดารดาษกลาดเกลื่อนท้องฟ้าสุดที่จะพรรณนา บรรดาพฤกษาชาติในราวป่าพณาสณฑ์
ตลอดจนทิพยพฤกษาลดาในเทวอุทยาน ก็บันดาลผลิดอกออกผลเกลื่อนกล่นทั่วทุกกิ่งก้าน ล้วนแต่เป็นเหตุมหัศจรรย์ครั้งยิ่งใหญ่
พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ยังคงประทับ ณ รัตนบัลลังก์ นั้นเสวยวิมุตติสุข ทรงเข้าสมาบัติอนุปุพพวิหาร 9 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 และสัญญาเวทยิตนิโรธ 1
ครั้นล่วง 7 วัน พระองค์เสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ เสด็จดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วประทับยืนทอดพระเนตร ต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตร เป็นการระลึกถึงคุณของต้นพระศรีมหาโพธิ์ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้พระสัจธรรมอันประเสริฐบริสุทธิ์ สถานที่นี้มีชื่อเรียกว่า “อนิมิสเจดีย์”
ครั้นล่วง 7 วัน พระองค์เสด็จจากอนิมิสเจดีย์มาประทับหยุดอยู่ระหว่าง ต้นศรีมหาโพธิ์ กับอนิมิสเจดีย์ แล้วทรงเนรมิตสถานที่จงกรมขึ้น ณ ที่นั้น เสด็จจงกรมอยู่เป็นเวลา 7 วัน สถานที่นั้นได้นามว่า “รัตนจงกรมเจดีย์”
ครั้นล่วง 7 วัน พระองค์เสด็จไปสู่รัตนฆรเจดีย์ ซึ่งเทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้น ถวายในทิศพายัพแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับนั่งสมาธิในเรือนแก้ว พิจารณาพระธรรมที่ตรัสรู้ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรมถึงมหาปัฏฐาน ซึ่งมีปัจจัย 24 ขณะนั้นพระฉัพพรรณรังสี คือพระรัศมีที่เปล่งออกจากพระวรกายเป็นลำแสงประกอบด้วยสี 6 สี พระรัศมีเหล่านี้แผ่ซ่านจากพระวรกายเป็นสายรุ้งแวดล้อมไปโดยรอบ ครอบงำแสงสุริยาจนเศร้าหมองดุจแสงหิ่งห้อยทรงพิจารณาธรรมอยู่ ณ เรือนแก้วนั้นตลอดระยะเวลา 7 วัน
๑๗. ตอน ขับธิดามาร สัปดาห์ที่ 5 เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นพระศรีมหาโพธิ์
ประทับนั่งสมาธิ ณ ใต้ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) เป็นเวลาอีก 7 วัน ในลำดับนั้นธิดาของพญาวสวัตดีมาร
ทั้ง 3 คือ นางตัณหา นางราคา และ นางอรดี อาสาที่จะทำให้พระพุทธองค์ตกอยู่ในอำนาจให้จงได้
จึงได้ทำการประเล้าประโลมด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่สามารถจะทำให้น้ำพระทัยของพระองค์หวั่นไหว
สั่นคลอนได้ ธิดาพญามารทั้ง 3 จึงปรารภว่า “พญามารผู้เป็นบิดา กล่าวเตือนไว้ถูกต้องแล้ว
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีบุคคลผู้ใดในโลกจะชักนำไปสู่อำนาจแห่งตนได้โดยแท้
เพราะเป็นผู้ปราศจาก กิเลสตัณหา โดยสิ้นแล้ว” แล้วพากันกลับไปสำนักแห่งพญามาร
ตอน มุจลินท์
สัปดาห์ที่ 6 พระพุทธองค์เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ต้นมุจลินท์ (ไม้จิก) ซึ่งประดิษฐานอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดและความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก” ขณะนั้นมีฝนพรำและลมหนาวตลอดเวลา มีพญานาคชื่อ “มุจลินทนาคราช” เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าไปทำขนดรอบพระพุทธองค์ 7 รอบ แผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียร ป้องกันลมและฝนมิให้ตกต้องพระวรกายได้ ครั้นลมและฝนสงบแล้วก็คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมาณพน้อยเฝ้าถวายบังคมอยู่เฉพาะพระพักตร์
เมื่อครบกำหนด 7 วันแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปยังต้นเกดอันได้นามว่า “ราชายตนะ” ซึ่งอยู่ทางด้านทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย ครั้นพระองค์ออกจากสมาธิแล้วพระอินทร์จึงนำผลสมอ อันเป็นทิพย์โอสถมาจากเทวโลกน้อมเข้าไปถวาย
ครั้งนั้น มีพ่อค้าสองพี่น้องคือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำสินค้าบรรทุกเกวียน เดินทางมาจากอุกกลชนบทผ่านมาทางนั้น ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งเคยเป็นญาติกับสองพ่อค้าในอดีตชาติ เห็นสองพ่อค้าแล้วคิดว่า
“พ่อค้าทั้งสองนี้ ลุ่มหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ควรที่เราจะสงเคราะห์ ให้ได้รับประโยชน์สุขอันอุดม”
จึงบันดาลให้โคพาเกวียนไปผิดทางแล้วแสดงตน กล่าวชี้แนะให้สองพ่อค้านำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง อันเป็นเสบียงเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า สองพ่อค้าก็ปฏิบัติตาม เมื่อได้พบพระพุทธองค์ผู้ถึงพร้อมด้วย มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ มีพระรัศมีรุ่งเรือง ไม่เคยพบเห็นมาก่อนก็คิดว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก นับว่าเป็นบุญอันประเสริฐของพวกตนยิ่งนัก จึงน้อมนำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงเข้าไปถวาย
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า
“บาตรของตถาคตได้หายไปก่อนวันตรัสรู้ ต้องรับข้าวมธุปายาส ของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์”
ทันใดนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้นำบาตรศิลาสีเขียวองค์ละใบมาจากทิศทั้ง 4 น้อมเข้าไปถวาย
พระองค์ทรงดำริว่า
“บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่าหนึ่งใบ”
จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงของพ่อค้าทั้งสองด้วยบาตรนั้น
ก่อนที่ทั้งสองจะกราบทูลลากลับไป ได้ทูลขอปูชนียวัตถุเพื่อนำไปประดิษฐาน เป็นที่สักการะบูชายังบ้านเมืองของตน พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียร พระเกศา 8 เส้นติดพระหัตถ์ออกมา จึงประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นไปตามประสงค์
เมื่อพ่อค้าสองพี่น้องกราบทูลลาไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ เสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระองค์ทรงรำพึงถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่า
“เป็นธรรมชาติอันลึกซึ้ง ประณีตยิ่งนัก ยากอย่างยิ่งที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั่วๆ ไป ผู้ซึ่งมีกิเลสหนาปัญญาน้อยหมกมุ่นยินดีอยู่ในกามคุณ กองกิเลส ถูกครอบงำให้ลุ่มหลงอยู่ในสงสาร ไฉนเลยจะรู้แจ้งได้”
ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบถึงพุทธดำริจึงชักชวนเหล่าเทพจากเทวโลก เข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง เมื่อได้สดับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมแล้ว ทรงมีพระทัย กรุณาในหมู่สัตว์ พิจารณาตรวจดูสัตว์โลก เปรียบได้กับดอกบัว 4 ประเภท
อุคฆฏิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีแก่กล้า สติปัญญาดี และ มีกิเลสเบาบาง เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อก็สามารถบรรลุมรรคผล ได้โดยฉับพลัน เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว พอถูกแสงอาทิตย์ยามเช้าก็บานทันที
วิปจิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีปานกลาง มีกิเลสและปัญญาปานกลาง ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรมซ้ำ หรือได้ฟังอรรถาธิบายอีกทั้งได้รับคำแนะนำ ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ ซึ่งจะบานในวันต่อไป
เนยยะ บุคคลผู้มีวาสนาบารมีน้อย มีสติปัญญาน้อย มีกิเลสหนา เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมบ่อยๆ ได้กัลยาณมิตรคอยแนะนำพร่ำสอน พยายามทำความเพียรไม่ขาด หมั่นเจริญสมถวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ มีโอกาสที่จะบานในวันต่อ ๆ ไป
ปทปรมะ บุคคลผู้มีวาสนาบารมียังไม่บริบูรณ์ถึงขึ้นจะบรรลุธรรมได้ อีกทั้งหนาแน่นไปด้วยกิเลส ไม่รู้จักเหตุและผล ยากที่จะสั่งสอนให้บรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่จะเป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมในชาติต่อไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในโคลนตม ย่อมเป็นเหยื่อของเต่าและปลา
ดอกบัวมีหลากหลาย เช่น เวไนยสัตว์ผู้มีกิเลสมาก กิเลสปานกลาง กิเลสน้อย ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบบุคคลเหมือนดอกบัว 3 เหล่า แต่ในเนื้อหาของภาพยนตร์พุทธศาสดานี้ แสดงไว้ว่ามีบุคคล 4 ประเภท เหมือนดอกบัว 4 เหล่า โดยเพิ่มเข้ามาตามข้อมูลในอรรถกถาทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี
ครั้นทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาคุณต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว จึงอธิษฐานพระทัยที่จะทรงแสดงธรรมสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ ทรงตั้งพุทธปณิธานจะดำรงพระชนม์ จนกว่าจะประกาศพุทธศาสนาให้แพร่หลาย ประดิษฐานพระธรรมให้มั่นคงแล้ว เหล่าเทพยดาทุกจำพวกทราบถึงพุทธปณิธานแล้ว ต่างพนมกรถวายอภิวาท พร้อมเปล่งเสียงแซ่ซ้องสาธุการและกลับสู่ทิพยวิมานของตน
พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร แต่ทรงทราบด้วยทิพยจักษุญาณว่า ท่านทั้งสองเพิ่งจะสิ้นชีพ ทำให้พระองค์นึกเสียดาย เป็นอย่างยิ่ง หากท่านทั้งสองได้ฟังพระธรรมก็จะได้บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข
ฐิตา:
๑๙. ตอน เสด็จป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เห็นว่าท่านทั้ง 5 เป็นผู้มีสติปัญญามาก มีกิเลสเบาบางควรแก่การตรัสรู้ และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ขณะนี้ท่านทั้ง 5 อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี จึงตกลงพระทัยเสด็จไปตรัสปฐมเทศนาโปรด
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาต่างนัดหมายกันว่า “พระสมณโคดมนี้ คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดังนั้นพวกเราจะไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรจีวรของพระองค์ เพียงแต่จัดอาสนะไว้เท่านั้น เมื่อพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จงนั่งเถิด”
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมสัญญาที่ให้แก่กันไว้ ทำการต้อนรับเป็นอย่างดีดุจที่เคยทำมา แต่เรียกพระนามว่า “โคตมะ” อันเป็นถ้อยคำ แสดงการไม่เคารพ พระพุทธองค์จึงกล่าวถึงการตรัสรู้ แล้วประกาศ พระสัพพัญญุตญาณ จากนั้นทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” เป็นปฐมเทศนาครั้งแรกในโลก
เมื่อพระบรมศาสดาแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงตรัสว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” โกณฑัญญะกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาได้ประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ด้วยพระดำรัสว่า
“เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด”
วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 อาสาฬหปุรณมี พระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นพรรษาแรกของพระองค์ หลังจากที่ตรัสรู้ และได้ประทาน “ปกิณณกเทศนา” สั่งสอนบรรพชิตที่เหลืออีก 4 ท่าน ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้
ต่อมาพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์ สมควรสดับพระธรรมเทศนา เพื่อความหลุดพ้นเบื้องสูงขึ้นไปอีก ครั้นถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 8 พระองค์ตรัสเรียกภิกษุทั้ง 5 มาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะสดับพระธรรมเทศนาส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมกันทั้ง 5 องค์
๒๐. ตอน ยสกุลบุตรออกบวช
ในเมืองพาราณสีมีกุลบุตรคนหนึ่งชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรของมหาเศรษฐี ได้รับการบำรุงบำเรอด้วยสตรีประโคมขับกล่อม คืนวันหนึ่ง ยสะตื่นขึ้นมาในยามดึก มองเห็นอาการวิปริตต่างๆนานาของหญิงบำเรอเหล่านั้น ราวกับว่าอยู่ท่ามกลางป่าช้าผีดิบ รู้สึกสลดสังเวชใจ จึงเปล่งอุทานว่า
“ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
พร้อมกับเดินออกจากปราสาทไปอย่างไม่มีจุดหมาย บังเอิญทางที่ไปมุ่งไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ ได้สดับเสียงยสะเดินบ่นพึมพำมา จึงตรัสเรียก
“ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
พร้อมกับทรงแสดงพระธรรมเทศนา “อนุปุพพิกถา” และทรงแสดง “สามุกกังสิกาเทสนา (อริยสัจ 4)” แก่ยสะกุลบุตร เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา
ฝ่ายเศรษฐีออกติดตามหาบุตรชาย ได้พบพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 โปรดท่านเศรษฐี
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็น “เตวาจิกอุบาสก” คืออุบาสกคนแรกที่ขอถึงพระรัตนตรัยครบทั้ง 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต
ขณะที่พระบรมศาสดาแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 โปรดท่านเศรษฐีอยู่นั้น ยสะได้สดับซ้ำเป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับพิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่นั้น นับว่าเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศฆราวาส
หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พระยสะแล้ว พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระยสะได้เสด็จไปยังเรือนของเศรษฐี มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดให้สตรีทั้ง 2 เมื่อจบพระธรรมเทศนา สตรีทั้งสองก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน แสดงตนเป็นอุบาสิกา ได้ชื่อว่าเป็นอุบาสิกาสองคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัย
ยังมีสหายของพระยสะอีก 4 คนล้วนเป็นบุตรเศรษฐี และ 50 คน เป็นชาวชนบท ได้ทราบว่าพระยสะออกบวช จึงปรึกษากันว่า การออกบวชของพระยสะนี้คงจะมีเหตุผล แล้วพากันไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปตมฤคทายวัน พระยสะพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา สหายเหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา และต่อมาได้ฟัง “โอวาทานุศาสน์” จากพระพุทธองค์ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์ทรงส่งภิกษุสงฆ์ทั้ง 60 รูป ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดออกไปประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนา
จากนั้นพระพุทธองค์เสด็จจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มุ่งสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในระหว่างทางเสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนใต้ร่มไม้ในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพระราชกุมาร 30 พระองค์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าโกศลราช ณ กรุงสาวัตถี และร่วมพระราชบิดาเดียวกันกับพระปเสนทิโกศลราชกุมาร มีนามเป็นที่รู้จักกันดีว่า “ภัททวัคคีย์” เพราะทุกพระองค์มีรูปงาม
พระราชกุมารเหล่านี้ พาภรรยาประพาสป่าหาความสำราญ แต่ราชกุมารองค์หนึ่ง ไม่มีภรรยาจึงนำหญิงแพศยามาเป็นคู่เที่ยว หญิงนั้นเห็นพระราชกุมารประมาทเผอเรอ จึงลักขโมยเอาเครื่องประดับหนีไป พระราชกุมารทั้งหลายจึงพากันออกติดตามจนได้มาพบพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“เธอจะตามหาหญิงหรือตามหาตนเอง”
แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 พระราชกุมารทั้งหมดบรรลุธรรมาภิสมัย คือ ที่บรรลุพระโสดาบันก็มี ที่บรรลุพระสกทาคามีก็มี พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา
๒๑. ตอน โปรดชฎิลสามพี่น้อง
ในแคว้นมคธนั้น มีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง มี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง มีชฎิลสามพี่น้องนามว่า อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ตั้งตนเป็นคณาจารย์ใหญ่มีบริวารรวมกันถึง 1000 คน ถือตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ มีคนเคารพ นับถือมากมาย มีลัทธิถือหนักไปในทางบูชายัญ
แต่ในที่สุดพระองค์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์หลายอย่าง จนชฎิลสามพี่น้อง และบริวารอีก 1000 คน ศรัทธาเลื่อมใส แล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่เหล่าชฎิล และทรงแสดง อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุเหล่านั้นจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งสิ้น
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทราบการเสด็จมาสู่กรุงราชคฤห์ของพระบรมศาสดาแล้ว จึงเสด็จมาเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพาร พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวาร 11 นหุตะ ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนอีกหนึ่งนหุตะนั้น ดำรงตนตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์
พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายอภิวาทกระทำอัญชลีแล้วจึงเสด็จกลับพระนคร รุ่งขึ้นเวลาเช้า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ ตามพระดำรัสกราบทูลอาราธนาของพระเจ้าพิมพิสาร
หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ถวาย พระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม และนับว่าเป็นวัดแรกที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ในยามดึกของค่ำวันนั้น บรรดาเปรตทั้งหลาย ที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติทราบว่า พระเจ้าพิมพิสารบำเพ็ญกุศลมีการถวายทานเป็นต้น ต่างก็รอรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารจะอุทิศส่งไปให้ เมื่อรอจนสิ้นวันนั้น ไม่เห็นพระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้ตามที่หวัง จึงพากันส่งเสียงร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงนั้น เกิดความกลัวมาก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงตรัสให้ทราบความเป็นมา บอกให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศล ท้าวเธอก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ทันใดนั้นอาหารทิพย์ก็ปรากฏมีแก่เปรตเหล่านั้น ต่างพากันบริโภคจนอิ่มหนำสำราญ ร่างกายที่เคยผอมโซทุเรศน่าเกลียดน่ากลัวก็กลับดูสะอาดสมบูรณ์ขึ้น
๒๒. ตอน อัครสาวกบรรพชา
ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์เท่าไรนัก ที่ตำบลนาลันทามีหมู่บ้านพราหมณ์สองหมู่บ้าน ชื่อ อุปติสสคาม และ โกลิตคาม ในหมู่บ้านอุปติสสคามนั้น มีนายบ้านชื่อวังคันตะ ภรรยาชื่อสารี มีบุตรชื่อ อุปติสสมาณพ แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า “สารีบุตร” ส่วนในบ้านโกลิตคาม ภรรยาของนายบ้านชื่อว่า โมคคัลลี มีบุตรชื่อ โกลิตมาณพ แต่นิยมเรียกกันว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา ทั้งสองพากันเข้าไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักสัญชัยปริพาชก ศึกษาอยู่ไม่นานก็สิ้นความรู้ของอาจารย์
พระอัสสชิซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ที่พระพุทธองค์ ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ได้จาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ และเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปติสสปริพาชก ออกจากอารามมาด้วยกิจธุระภายนอก เห็นท่านแสดงออกซึ่งปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีอาการแปลกจากบรรพชิตที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน อยากจะทราบว่าท่านบวชในสำนักของใคร ผู้ใดเป็นศาสดา แต่ก็มิอาจถามได้เพราะมิใช่กาลอันควร จึงเดินตามไป
ห่างๆ
เมื่อพระเถระบิณฑบาตได้อาหารพอสมควรแล้ว จึงออกไปสู่ที่แห่งหนึ่งเพื่อทำภัตกิจ อุปติสสะได้จัดปูลาดอาสนะถวายน้ำใช้น้ำฉันและคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ ครั้นพระอัสสชิเถระทำภัตกิจเสร็จสิ้นแล้ว อุปติสสะก็เข้าไปถามตามที่คิดไว้แต่แรก พระอัสสชิเถระจึงแสดงธรรมโดยย่อว่า
“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น”
อุปติสสะเพียงได้ฟังหัวข้อธรรมจากพระเถระก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
อุปติสสะกราบลาพระเถระ ทำประทักษิณสามรอบแล้วรีบกลับไปยังสำนักปริพาชก ส่วนโกลิตะผู้เป็นสหาย เห็นอุปติสสะมีผิวพรรณสง่าราศีดีกว่าวันอื่นๆ จึงรีบสอบถาม เมื่ออุปติสสะแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน
สองสหายตกลงกันที่จะพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเข้าไปหาอาจารย์สัญชัยปริพาชก ชักชวนให้ร่วมเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน แต่อาจารย์ก็ไม่ยอมไป เมื่อไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของอาจารย์ได้ สองสหายจึงพาบริวารของตนจำนวน 250 คน ออกจากสำนักไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เวฬุวันวิหาร
เมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตผล เว้นอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้า อุปติสสะและโกลิตะหลังจากบวชแล้วได้นามว่า พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ
พระโมคคัลลานะหลังจากบวชแล้ว 7 วัน ได้รับพุทโธวาทจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม
ส่วนพระสารีบุตรหลังจากบวชแล้ว 15 วัน ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาในยามเช้าแห่งวันมาฆปุรณมี ณ ถ้ำสุกรขาตาข้างภูเขาคิชกูฏ แขวงเมืองราชคฤห์ จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์
ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทรงประกาศ ในท่ามกลางสงฆ์แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคู่พระอัครสาวก คือ ตั้งพระสารีบุตร ผู้ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะว่ามีปัญญาล้ำเลิศ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และตั้งพระโมคคัลลานะผู้ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะว่า มีฤทธิ์ล้ำเลิศเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย
ฐิตา:
๒๓. ตอน จาตุรงคสันนิบาต
พระพุทธองค์เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ไปประทับที่พระเวฬุวันวิหาร ตรงกับ วันเพ็ญเดือน 3 เวลาบ่าย เรียกว่าวัน “มาฆปุรณมี” ในเย็นวันนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
คือการประชุมกันพร้อมด้วยองค์ 4 คือ
1. พระสงฆ์สาวก จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าบวชให้
3. พระสงฆ์เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์สำเร็จอภิญญาหกด้วยกันทั้งสิ้น
4. วันนั้นตรงกับวันมาฆฤกษ์ ขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 3
พระพุทธองค์ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือกันว่าเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะได้สดับข่าวว่า พระราชโอรสของพระองค์ บรรลุอมตธรรม สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วเสด็จประกาศพระธรรมคำสอน ขณะนี้ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารใกล้เมืองราชคฤห์ จึงได้จัดส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารหนึ่งพันคน ให้ไปกราบทูลอาราธนาเสด็จมายังพระนครกบิลพัสดุ์ เมื่ออำมาตย์เหล่านั้นเดินทางไป ถึงกรุงราชคฤห์แล้ว หยุดคอยโอกาสที่จะกราบทูลอาราธนา ได้สดับพระธรรมเทศนา
และได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด แล้วได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วก็มิได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา ตามภารกิจที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งไป
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ จึงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารเท่าเดิมชุดใหม่ไป กราบทูลอาราธนาอีก แต่เมื่อไปถึงได้ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุอรหัตผลทั้งหมด ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะ ส่งอำมาตย์ไปอีกรวมถึง 9 ครั้ง ในที่สุด ทรงส่งกาฬุทายีอำมาตย์ไป ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่า กาฬุทายีอำมาตย์ คงจะช่วยให้สำเร็จสมพระประสงค์ได้ เพราะเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ เป็นพระสหายของพระพุทธองค์เคยเล่นฝุ่นทรายมาด้วยกันเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์เข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เช่นกัน
เมื่อพระกาฬุทายีบวชแล้วได้ 8 วัน ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน คิดว่า “บรรดากสิกรชาวนาทั้งหลายคงจะเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว หนทางที่จะเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์สะดวกสบายนับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่พระบรมศาสดาจะเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อสงเคราะห์พระประยูรญาติ”
พระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถาที่พระกาฬุทายีเถระกราบทูลพรรณนารวม 64 คาถา ก็ทรงรับอาราธนา จึงเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยพระสงฆ์สองหมื่นรูปเป็นบริวาร จากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเวลา 60 วันพอดี ฝ่ายพระประยูรญาติ ตกลงเห็นพ้องต้องกันว่า พระอุทยานของพระนิโครธศากยราชกุมารนั้น เป็นรมณียสถานสมควรเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา จึงร่วมกันสร้างพระคันธกุฎี และที่พักเสนาสนะลงในที่นั่น ถวายเป็นพระอารามในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “นิโครธาราม”
๒๔. ตอน ฝนโบกขรพรรษ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว ฝ่ายพระประยูรญาติ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประธานเสด็จมาต้อนรับ ต่างก็ยังมีทิฐิมานะแรงกล้าไม่ยอมนอบน้อมนมัสการพระบรมศาสดา ด้วยเห็นว่าพระพุทธองค์มีวัยอ่อนกว่าตน พระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุดังนั้น จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์เสด็จลอยขึ้นไปจงกรมอยู่บนอากาศ ให้ธุลีละอองพระบาทหล่นลงมาบนพระเศียรเหล่าพระประยูรญาติ
ลำดับนั้นหมู่พระประยูรญาติต่างพากันคลายทิฐิมานะ ประคองอัญชลีนมัสการชื่นชมโสมนัส ด้วยบุญญาภินิหารของพระพุทธองค์ ขณะนั้น ฝนโบกขรพรรษ (มีน้ำฝนสีแดง) ก็ตกลงมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกก็เปียก ถ้าไม่ปรารถนาจะให้เปียกแล้วแม้แต่นิดหนึ่ง ก็ไม่เปียกกายเลย
๒๕. ตอน โปรดพุทธบิดาและพระนางพิมพา
ขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนิน เที่ยวไปบิณฑบาตโปรดชาวเมืองกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงหวังไว้ว่า พระราชโอรสจะทรงพาพระภิกษุสงฆ์สาวกเข้ามารับอาหารบิณฑบาตในพระราชวัง เมื่อได้ทราบเช่นนั้นก็ตกพระทัยเสด็จออกไปประทับยืนขวางตรงพระพักตร์กลางทาง พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระพุทธบิดาดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 2 หลังจากพระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ เสด็จไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ และกระทำภัตกิจแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ ให้ได้บรรลุพระสกทาคามิผลส่วนพระนางมหาปชาบดีได้บรรลุพระโสดาปัตติผล
ในวันที่ 3 พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดพระพุทธบิดาก็ได้สำเร็จพระอนาคามิผล ฝ่ายพระนางพิมพารู้สึกเศร้าเสียใจมาก ที่พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจออกบวชโดยไม่บอกลา แม้ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศถึงสามวันแล้วก็ตาม แต่พระนางพิมพาราชเทวี ก็มิได้เสด็จออกมาเฝ้าพระพุทธองค์เลย พระพุทธองค์ทรงพาอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปยังปราสาทของพระนางพิมพา ประทับนั่งบนอาสนะ เมื่อพระนางได้เห็นดังนั้นจึงเสด็จลุกขึ้น จูงพระหัตถ์ของพระราหุลกุมาร
เสด็จตรงเข้ากอดพระบาทของพระบรมศาสดา ซบพระเศียรลงถวายนมัสการ แล้วกลิ้งเกลือกซบพระเศียรที่หลังพระบาทของพระบรมศาสดาพิไรรำพันตัดพ้อต่อว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง “จันทกินรีชาดก” โดยพิสดาร กำจัดความเศร้าโศกปริเทวนาของพระนางพิมพาให้บรรเทาเบาบางลง จากนั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระนางก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงทำลายเสียซึ่ง กิเลส โทษทั้ง 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ประดิษฐานอยู่ในพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version