แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

ภาพพุทธประวัติพร้อมข้อมูลภาพโดยสังเขปจาก "การ์ตูนพุทธศาสดา"

<< < (2/2)

ฐิตา:


๒๖. ตอน พระราหุลราชกุมารบรรพชา
ครั้นถึงวันที่ 7 แห่งการเสด็จเยือนพระนครกบิลพัสดุ์ พระราหุลราชกุมาร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บังเกิดความรักในพระบิดา ตรัสชมว่า
“ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก”
และเสด็จติดตามไปจนถึงพระวิหารกราบทูลขอทรัพย์สมบัติ
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า
“เราจะมอบอริยทรัพย์อันเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐสูงสุดให้”

ว่าแล้วก็รับสั่งให้ พระสารีบุตรเถระบรรพชาแก่พระราหุลราชกุมารเป็นสามเณรองค์แรก ในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัยยิ่งนัก รีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระวิหาร แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า
“ตั้งแต่นี้ต่อไปในภายหน้ากุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวชหากมารดาบิดา ยังไม่ยินยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น”
พระบรมศาสดาก็ประทานพรแก่พระพุทธบิดา

๒๗. ตอน เจ้าชาย 6 พระองค์ออกบวช
หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาได้ไม่นาน เจ้าชายเทวทัต พระเชษฐาของพระนางพิมพาแห่งราชสกุลโกลิยวงศ์ ได้เสด็จออกผนวชพร้อมเจ้าชายแห่งราชสกุลศากยวงศ์ อีก 5 พระองค์คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และ ช่างตัดผมชื่อ อุบาลี ภายหลัง คือ พระอุบาลีเถระ เนื่องจากเจ้าศากยะและโกลิยะมีความถือตัวเพื่อให้คลายทิฐิมานะ จึงให้อุบาลีบวชก่อนเพราะภิกษุผู้มีอาวุโสน้อย ต้องเคารพกราบไหว้ภิกษุผู้มีอาวุโสมากกว่า

หลังจากการบวชแล้ว
พระภัททิยะ ได้สำเร็จวิชชา 3
พระอนุรุทธะได้ทิพยจักษุ
พระอานนท์ ได้เป็นพระโสดาบัน
ส่วนพระเทวทัตได้ฤทธิ์ปุถุชน คือ สามารถแสดงฤทธิ์ และเป็นผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงคิดทำลายพระบรมศาสดา เพื่อตนจะได้เป็นใหญ่ในสังฆมณฑล วันหนึ่งจึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลว่า พระองค์มีพระชนมายุมากแล้ว ขอให้ตนได้ปกครองคณะสงฆ์แทน เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธและพระเทวทัตไม่ยอมสำนึกตัว จึงถูกทำปกาสนียกรรม คือ ประกาศไม่ให้ภิกษุรูปใดคบพระเทวทัต

ครานั้น พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระราชโอรสของ พระเจ้าพิมพิสารกับพระนางเวเทหิ  ยังเยาว์วัย พระทัยเบาหลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต จึงทรงปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระชนกนาถ แล้วอภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ฝ่ายพระเทวทัตได้พยายามทำร้ายพระบรมศาสดา โดยครั้งแรกได้ใช้พวกนายขมังธนููไปยิงพระพุทธเจ้า แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธา ได้สดับพระธรรมเทศนาและได้บรรลุพระโสดาปัตติผลทั้งหมด
ครั้งที่ 2 พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงมาในเวลาที่พระบรมศาสดาเสด็จขึ้นภูเขา แต่ก็ไม่อาจทำอันตรายพระพุทธองค์ได้ เป็นเพียงสะเก็ดศิลากระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ทำการรักษาอาการของพระพุทธองค์จนหายเป็นปกติ
ครั้งที่ 3 พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ช้างพระที่นั่งที่กำลังตกมันดุร้ายในเวลาพระพุทธองค์ เสด็จออกมาบิณฑบาตในเวลาเช้า ครั้งนั้น พระอานนท์ไปยืนขวางหน้าช้างนาฬาคีรีไว้ เพื่อป้องกันพระบรมศาสดา ทันใดนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงทรมานช้างนาฬาคีรี ให้หมดพยศร้ายกาจ หมอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอน แล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้างด้วยอาการอันสงบ
ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงสืบไป เพื่อจะแสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ 5 ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ

ให้ถือการอยู่ในเสนาสนะป่าตลอดชีวิต
ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต
ให้ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต
ให้ถือการอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต
ให้งดฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต
พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต และตรัสว่า
“ไม่ควร ควรให้ปฏิบัติได้ตามแต่ศรัทธา”

พระเทวทัตโกรธแค้น เพราะไม่สมประสงค์ กล่าวโทษพระบรมศาสดาประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุส่วนมากเป็นชาววัชชีที่บวชใหม่มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนบ้างแล้วก็ประชุมภิกษุ ในโรงอุโบสถ ประกาศทำสังฆเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ ครั้นพระบรมศาสดาได้ทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานเถระไปนำภิกษุพวกนั้นกลับมา พระอัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศ แนะนำพร่ำสอนจนภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

พระโกกาลิกะซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต ใช้เข่ากระแทกพระเทวทัตอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัสถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับความทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ไม่ทุเลาอยู่ถึง 9 เดือน
พระเทวทัตสำนึกผิดกลับหวนระลึกถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย จึงขอร้องให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียง แล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี
ขณะที่หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหารจึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ พระเทวทัตลุกนั่ง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดินประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นยืนบนพื้นปฐพี ในขณะนั้นพื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินจนถึงคอ พระเทวทัตได้กล่าว คาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ขอประทานอภัยและถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา พอสิ้นเสียงร่างพระเทวทัต ก็จมหายลงไปในพื้นปฐพีไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ด้วยบาปกรรมที่ไม่เคารพพระรัตนตรัย ประทุษร้ายพระบรมศาสดา ทำสังฆเภทยังสงฆ์ให้แตกกันเป็นอนันตริยกรรม


๒๘. ตอน พุทธบิดานิพพาน พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชพุทธบิดา ประชวรหนัก
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระชนมายุแห่งพระพุทธบิดา ทรงทราบว่าอยู่ได้อีกเพียง 7 วันเท่านั้น
จึงโปรดประทานพระธรรมเทศนาทั้งกลางวันและกลางคืน พระพุทธบิดาทรงเจริญวิปัสสนา
ไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา 4 ประการ
ในวันที่ 7 แล้วทรงเอนพระองค์เข้าสู่นิพพาน พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรของพระพุทธบิดา
แล้วทรงยกพระบรมศพพระพุทธบิดาลงใส่หีบแก้ว ยกไปสู่ฌาปนสถานด้วยพระองค์เอง
๒๙. ตอน พระนางพิมพาออกบวช
พระนางมหาปชาบดีมีพระทัยน้อมไปในบรรพชา จึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดายังนิโครธาราม ทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต แม้พระน้านางจะทูลวอนขอถึง 3 ครั้ง ก็ไม่สมประสงค์ ทรงโทมนัส ทรงกันแสง เสด็จกลับพระราชนิเวศน์

พระนางมหาปชาบดีโคตมี ไม่ทรงท้อพระทัย พร้อมด้วยนางกษัตริย์ศากยราชวงศ์เป็นอันมาก ซึ่งยินดีในการบรรพชาได้ปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ ไปเมืองไพศาลีด้วยพระบาท ตั้งพระทัยขอประทานบรรพชา แต่พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ด้วยทรงตรัสว่า
“สตรีไม่ควรอุปสมบท”

ภายหลังพระอานนท์ทูลถามว่า
“หากสตรีบวชแล้วสามารถปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรค อริยผล โดยควรแก่อุปนิสัยหรือไม่”
เมื่อพระศาสดา ตรัสว่า
“สามารถ”
พระอานนท์ก็กราบทูลว่า
“ถ้าเช่นนั้นขอได้ทรงประทานโอกาสให้พระน้านางได้ทรงอุปสมบทเถิด”

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโปรดประทานบรรพชาอุปสมบทแก่ พระนางปชาบดีโคตมี กับศากยขัตติยนารีด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยการรับครุธรรม 8 ประการ จากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ต่อมาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู คือเป็นภิกษุณีที่มีพรรษามาก โดยนิพพานเมื่ออายุ 120 ปี

พระนางพิมพาพร้อมด้วยนางสนมกำนัลประมาณ 500 คน
ได้เสด็จออกบวชเป็นภิกษุณี ในสำนักของพระนางมหาปชาบดีโคตมี และเรียน
พระกรรมฐานเจริญวิปัสสนาก็ได้บรรลุพระอรหัตผล มีพระนามปรากฏว่า “พระภัททากัจจานาเถรี”
พระพุทธองค์ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ผู้บรรลุอภิญญาใหญ่

ฐิตา:


๓๐. ตอน เสด็จดาวดึงส์เทวโลก
พระพุทธองค์ทรงย่างพระบาทเหยียบเหนือยอดเขายุคันธรและเขาอิสิคิลิ เข้าสู่ดาวดึงส์ประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตร เพื่อประทานพระสัทธรรมเทศนาสนองคุณแด่พระพุทธมารดา
ครั้นพระพุทธองค์ทอดพระเนตรมิได้เห็นพระพุทธมารดา จึงทรงมีพระดำรัสขึ้นว่า
                     “ขอพระมารดาเสด็จเข้ามาประทับใกล้ๆ ตถาคตจะแสดงธรรมโปรด” 
พระพุทธมารดาจึงได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ฟังพระธรรมเทศนาตลอดพรรษา (ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เสด็จขึ้นมาจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก)
ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สมดังที่ทรงพระอุตสาหะเสด็จมา

                    เสด็จลงจากเทวโลก
ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 11 พระบรมศาสดา จึงตรัสแก่พวกเทวดาว่าจะลงไปยังมนุษยโลกในวันรุ่งขึ้น ท้าวสักกเทวราชจึงได้เนรมิตบันไดทิพย์ 3 บันได คือ บันไดทอง บันไดเงิน บันไดแก้ว พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ บันดาลเปิดโลกทั้ง 3 คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ให้มองเห็นกัน

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จลงจากดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสนครทางบันไดแก้ว โดยมีเหล่าเทพยดาตามส่งเสด็จทางบันไดทอง เหล่าพรหมตามส่งเสด็จทางบันไดเงิน ปัญจสิขรคนธรรพ์เทพบุตร ทรงพิณขับร้องมาในเบื้องหน้า ท้าวสันดุสิตเทวราช กับท้าวสุยามเทวราชทรงทิพย์จามรีถวายทั้ง 2 ข้าง ท้าวมหาพรหมทรงทิพย์เศวตฉัตรกั้นถวาย ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชประคองบาตรนำเสด็จพระบรมศาสดา เหล่ามหาชนที่รอรับเสด็จต่างพนมมือถวายอภิวาทพร้อมส่งเสียงแซ่ซ้องสาธุการโดยถ้วนหน้า ด้วยความปลื้มปีติโสมนัส พากันใส่บาตรพระผู้มีพระภาคเจ้า
ชาวพุทธถือเอาเหตุการณ์นี้จึงได้ทำบุญตักบาตรที่เรียกว่า
“เทโวโรหนะ” 

๓๑. ตอน ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
พราหมณ์มคันธิยะ เจอพระพุทธองค์ แล้วถูกใจจะยกลูกสาวให้ จึงรีบกลับไปยังบ้านเพื่อพาลูกและภรรยา มาพบพระพุทธองค์ เมื่อกลับมายังจุดที่เจอพระพุทธองค์ พบว่า ท่านได้หายไปแล้ว ระหว่างตามหาพระพุทธองค์อยู่นั้น พราหมณ์ผู้เป็นภรรยา เป็นผู้มีความรู้ด้านตำราการดูรอยเท้า พบว่ารอยเท้าพระพุทธองค์นั้นเป็นรอยเท้าของมหาบุรุษ ละแล้วซึ่ง ราคะ โทสะ โมหะ หมดแล้วซึ่งกิเลส ไม่ใยดีต่อการครองเรือน

๓๒. ตอน เทศนาธรรม
สมัยหนึ่งพระบรมศาสดา เสด็จมาประทับ ณ โคนไม้สะเดา ที่ นเฬรุยักษ์สิงสถิต เวรัญชพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวรัญชาทราบจึงมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามเรื่องที่ได้ยินมาว่า
“พระพุทธองค์ไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นต้อนรับพราหมณ์ผู้เฒ่า ไม่เชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ ข้อนั้นตนเห็นว่าไม่สมควร”
พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า
“ดูก่อนพราหมณ์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น เรายังไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกขึ้นต้อนรับ ควรเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะด้วยเป็นผู้มีธรรมเหนือกว่าตถาคต”
แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด เวรัญชพราหมณ์ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย และยึดถือเป็นสรณะไปตลอดชีวิต ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก พร้อมทูลอาราธนาให้จำพรรษาอยู่ในเมืองเวรัญชา

๓๓. ตอน โปรดองคุลิมาล
สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นกษัตริย์ปกครองนครสาวัตถี ในครั้งนั้นมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งนามว่า ภควพราหมณ์  มีภรรยานามว่า มันตานีพราหมณี ในวันที่นางมันตานีพราหมณีให้กำเนิดบุตรชาย ได้เกิดลางร้ายบรรดาศาสตราวุธปรากฏแสงประกายรุ่งโรจน์ สะท้อนจากกองไฟ ภควพราหมณ์เห็นเหตุอาเพศ ทราบว่าบุตรของตนเกิดใต้ฤกษ์ดาวโจร ภายภาคหน้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ปวงชน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อให้นำบุตรของตนไปประหารเสียตั้งแต่เยาว์วัย
พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเห็นด้วย ดำริว่า
“เด็กทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ หากอบรมเลี้ยงดูให้มีวิชาความรู้ในสำนักครูอาจารย์ ผู้มีคุณธรรมย่อมบ่มนิสัยให้ดีได้”
นางพราหมณีจึงตั้งนามบุตรของตนว่า อหิงสกะ อันมีความหมายว่า ผู้ไม่เบียดเบียน

ครั้นเมื่ออหิงสกะเจริญวัย ภควพราหมณ์ได้ส่งไปเรียนสรรพวิชา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา อหิงสกะมีความตั้งใจศึกษา และเล่าเรียนวิชาได้แตกฉานเหนือเพื่อนศิษย์ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ได้รับความรักใคร่จากอาจารย์ แต่เป็นที่อิจฉาริษยาของเพื่อนศิษย์ด้วยกัน จึงต่างพยายามยุยงด้วยอุบายจนผู้เป็นอาจารย์เกิดความเขลาด้วยโมหะ หลงเชื่อว่า อหิงสกะเป็นศิษย์ที่คิดล้างครู ลบหลู่ตน ครั้นจะฆ่าด้วยตนเองก็เกรงจะตกเป็นที่ครหาและมีความผิด ดังนั้นมีวิธีเดียวที่จะกำจัดอหิงสกะ คือยืมมือผู้อื่นฆ่า โดยบอกว่าจะสอนพระเวทวิชาเอก เรียกว่าวิษณุมนต์ ให้โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้ว จากหนึ่งพันคนมาจัดเป็นเครื่องบูชาครู และเทพเจ้าผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชานี้ อหิงสกะจึงได้นามใหม่ว่า องคุลิมาล เพราะนำนิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ซึ่งในเวลานั้นองคุลิมาลผู้หลงผิด รวบรวมนิ้วมือมนุษย์ที่ถูกตนประหารเอาไว้ได้แล้ว 999 นิ้ว ขาดเพียงนิ้วเดียวก็จะครบหนึ่งพันตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์ พระพุทธองค์ทรงทราบ ว่าอหิงสกะกำลังจะกระทำมาตุฆาต จึงเสด็จสู่ป่าอันเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวขององคุลิมาลโจร
เมื่อองคุลิมาลเห็น จึงถือดาบวิ่งไล่ตามด้วยความยินดี แต่ไม่ว่าจะพยายามวิ่งด้วยความรวดเร็วสักเพียงใด ก็ไม่อาจติดตามทันพระพุทธองค์ที่เดินอยู่ข้างหน้า ด้วยอากัปกิริยาปกติมิได้เร่งร้อน ครั้นหมดกำลังลงจึงตะโกน

“สมณะหยุดก่อนหยุดก่อนสมณะ”     
พระพุทธองค์ยังคงเสด็จพระดำเนินต่อไปและได้ตรัสตอบว่า
“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด”
และเฉลยปริศนาธรรมว่า
“ดูก่อนอหิงสกะ ที่เรากล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือ หยุดฆ่า หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตทุกประการ ดูก่อนอหิงสกะ ที่เรากล่าวว่า ตัวท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด เพราะยังไม่หยุดฆ่า ไม่หยุดเบียดเบียน ไม่หยุดแสวงหาในทางที่ผิด ไม่หยุดดำเนินไปในทางทุจริต ในมือของท่านยังถือดาบอยู่ ไฉนท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว”

เมื่ออหิงสกะได้ฟังเพียงเท่านี้ ด้วยบุญกุศลแห่งแสงสว่างในปัญญาส่งผลให้บังเกิดความสำนึก ทิ้งดาบแล้วก้มลงกราบแทบพระบาท หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด อหิงสกะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ฐิตา:


๓๔. ตอน โปรดพกาพรหม
พกาพรหม มีความคิดว่า มนุษย์ ทำดีทำชั่วไปก็แค่นั้น เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายเที่ยงแท้ ทุกสิ่งล้วนยั่งยืน เพราะทุกสิ่งล้วนเกิดจากอำนาจ ของพกาพรหมเสกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น และ พกาพรหมยังคิดว่าตนล่วงรู้ทุกสิ่ง และไม่มีสิ่งใดซ่อนจากสายตาพกาพรหมไปได้ พระพุทธองค์เมื่อทราบด้วยจิตแล้วจึงเสด็จไปยังวิมารของพกาพรหม เพื่อโปรดแสดงพุทธปาฏิหาริย์จนพกาพรหม ยอมรับว่าพระพุทธองค์เป็นสัพพัญญูเป็นผู้หยั่งรู้ยิ่งกว่าตน และพระพุทธองค์ยังได้แสดงธรรมแก่พกาพรหม ดังนี้

อำนาจและความสุขสำราญในพรหมโลกนี้ ยาวนานนัก ทำให้เกิดความหลงผิดว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย เที่ยงแท้ แน่นอน ความจริงแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายนั้น มีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นของของตน ทำกรรมอันใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ต้องได้รับผลของกรรมนั้น

๓๕. ตอน พิจารณาชราธรรม
ในพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระบรมศาสดาเสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองไพศาลี ทรงพระประชวรหนักเกิดทุกขเวทนาแรงกล้า แต่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะมั่นคงทรงอดกลั้นในทุกขเวทนาด้วยความอดทน ทรงเห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานในเวลานี้ จึงบำบัดขับไล่อาพาธให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา

วันหนึ่งจึงทรงปรารภเรื่องชราธรรมประจำพระกาย กับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า
“บัดนี้ตถาคตชราภาพ ล่วงกาลผ่านวัยจนชนมายุล่วงเข้า 80 ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่อันมิใช่ สัมภาระแห่งเกวียนนั้น เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือ ไม่ให้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตตสมาธิ เมื่อนั้นกายของตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบาย เพราะธรรมคืออนิมิตตสมาธิ มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึง และหยุดอยู่ด้วยสมาธินั้นมีความผาสุก ฉะนั้นจงมีตนเป็นเกราะมีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”

“บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างบุคคลผู้โง่เขลา หลีกออกจากธรรมะ ไม่ประพฤติตามธรรมะ จวนจะใกล้ตายก็ต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น”

๓๖. ตอน แสดงโอฬาริกนิมิต
ในเวลาเช้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เมืองไพศาลี ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้แสดง โอฬาริกนิมิต คือตรัสให้พระอานนท์ทราบว่า
“ผู้ใดเจริญ อิทธิบาทภาวนา หรืออิทธิบาท 4 สมบูรณ์ดีแล้ว ผู้นั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าได้ตามประสงค์”
แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง 3 ครั้ง แต่พระอานนท์ ก็มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพราะเหตุที่พญามารได้เข้าดลใจ

๓๗. ตอน ห้ามมาร
เมื่อพระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก มิได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงมีรับสั่งให้ลุกออกไปเสียจากที่นั้น
พระอานนท์ถวายอภิวาทแล้วออกไปนั่งไม่ไกลจากที่ประทับนัก ฝ่ายพญามารวสวัตดีเห็นสบโอกาสรีบเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า
“ครั้งแรกเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเสด็จประทับใต้ต้นไทร ได้ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังมิได้ตั้งมั่นในธรรม และพรหมจรรย์ยังไม่ได้ประกาศแพร่หลายบริบูรณ์ด้วยดี สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมาก ทั้งเทวดา และมนุษย์เพียงใดแล้วพระองค์จะยังไม่ปรินิพพานก่อนเพียงนั้น  แต่บัดนี้ พุทธบริษัท 4 และพรหมจรรย์ก็สมบูรณ์ดังพุทธประสงค์ทุกประการแล้ว ขอจงปรินิพพานเถิด”
เมื่อพญามารกราบทูลอาราธนาดังนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามมารว่า
“มารผู้มีใจบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เถิด ความปรินิพพานของตถาคตจะมีในไม่ช้านี้ นับแต่นี้ไปอีก 3 เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”

๓๘. ตอน ปลงอายุสังขาร
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสห้ามมารและทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ โดยตรัสกับพญามาร พลันได้เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ
พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพนิมิต จึงออกจากร่มไม้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทูลถามถึงเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์ พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“บัดนี้ตถาคตได้ปลงอายุสังขาร ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือนตถาคตจะปรินิพพาน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว”
พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า
“ในเมื่อเชื่อว่า พระองค์จะสามารถดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ถึงหนึ่งกัป ไฉนจึงไม่ทูลอาราธนาทั้งที่ได้แสดงโอฬาริกนิมิตถึง 16 ครั้ง (คือที่เมืองราชคฤห์ 10 ครั้ง เมืองไพศาลี 6 ครั้ง) พญามารได้ทูลอาราธนา ให้ตถาคตดับขันธปรินิพพานแล้ว บัดนี้ตถาคต ได้สละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว วางแล้วจะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด”

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version