เรื่องของซูโดอีเฟดรีน กับการรักษาหวัดด้วยตัวเอง
-http://health.kapook.com/view41551.html-
กรณีสูโดเอฟีดรีนกับการรักษาหวัดด้วยตนเอง (หมอชาวบ้าน)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wsau.com
ยาซูโดอีเฟดรีนตกเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ และโทรทัศน์หลายช่อง หลังจากมีการพบว่า มีคนนำยาซูโดอีเฟดรีนไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ให้สารซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) และยาสูตรตำรับที่มีซูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555
เกิดอะไรขึ้นกับ "ซูโดอีเฟดรีน" ผู้ป่วยสามารถใช้ยาชนิดใดแทนซูโดอีเฟดรีนได้ เมื่อเกิดอาการหวัดภูมิแพ้ และถ้ามีอาการหวัดจากเชื้อไวรัส สามารถใช้ยาชนิดใด และ/หรือการดูแลตนเองจากอาการหวัดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา ไปติดตามกัน
1.ซูโดอีเฟดรีนคือยาอะไร
ยาซูโดอีเฟดรีนใช้บรรเทาอาการคัดจมูกที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ และใช้หวัด
ยาชนิดนี้ต้องกินตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน คือ ใจสั่น นอนไม่หลับ วิงเวียน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตื่นเต้น กระสับกระส่าย หงุดหงิด ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง
ยาซูโดอีเฟดรีน มีสรรพคุณบรรเทาอาการคัดจมูกเท่านั้น เพราะผู้ที่มีอาการหวัดภูมิแพ้มักจะทำให้เยื่อบุจมูกบวมแดง จึงนิยมกินยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมที่มียาต้านฮิสตามีน
ยานี้ตัวมันเองไม่ทำให้เสพติด แต่เป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นยาบ้า (แอมเฟตามีน) ทำให้เสพติดได้
ดังนั้น ต้องเข้าใจ "หวัดภูมิแพ้" และหวัดจากเชื้อไวรัส จะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ
2.หวัดภูมิแพ้คืออะไร
บางครั้งเรียกหวัดจากอาการแพ้โรคแพ้อากาศ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้
หวัดภูมิแพ้ หมายถึง เยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน น้ำมูกมีลักษณะใส ๆ คันในจมูก อาการมักเกิดเวลาถูกอากาศเย็น ควัน ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ
โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด ถ้าอาการมากพอทนได้ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น ถ้าจำเป็นต้องกินยา เบื้องต้นให้กินยาแก้แพ้ คือ ยาคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine)
สิ่งสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อภูมิแพ้ (เช่น ไรฝุ่นบ้าน เชื้อรา สัตว์เลี้ยง ละอองเกสร) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยให้โรคทุเลาลงได้โดยไม่ต้องพึ่งยา
3.หวัดจากเชื้อไวรัส
ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด
อาการไข้หวัดที่พบคือ มีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม ไอ มีเสมหะเล็กน้อย
เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่รักษาไปตามอาการที่พบเท่านั้น
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น
การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ถ้าเป็นเกิน 4 วัน มักจะแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่น ๆ
ผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไอต่อไปได้ บางรายอาจไอโครก ๆ อยู่เรื่อย อาจนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) มักจะเป็นลักษณะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ (ควรงดดื่มน้ำเย็น)
ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นรายที่สงสัยจะมีภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น
ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป
สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
การใช้ยารักษาตามอาการ ดังนี้
1.สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ขวบ)
ถ้ามีไข้สูง ให้พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีไข้สูง ถ้ามีไข้ต่ำ ๆ หรือไข้พอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน 2-3 วันแรก เมื่อทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้
ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอมากลักษณะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ
2.สำหรับเด็กเล็กและทารก
ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อย ๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน)
ถ้ามีอาการไอ ให้จิบน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน
3.ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้
เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (อาการที่สังเกตได้คือ มีน้ำมูกใส ๆ หรือสีขาว) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีไข้ทุกวันติดต่อกันเกิน 4 วัน มีน้ำมูก หรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ
4.ถ้าไอมีเสมหะเหนียว
ให้งดยาแก้แพ้ และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ วันละ 10-15 แก้ว
5.ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ
เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2เดือนถึง 1 ขวบ หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ขวบหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น
"ซูโดเอฟีดรีน" ไม่ใช่ยาแก้หวัดจากการติดเชื้อไวรัส การดูแลและป้องกันตนเอง คือการรักษา "หวัด" ดีที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน
-http://health.kapook.com/www.doctor.or.th-
-http://health.kapook.com/view41551.html-
.