ผู้เขียน หัวข้อ: อธิษฐาน4ประการ  (อ่าน 1707 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
อธิษฐาน4ประการ
« เมื่อ: มิถุนายน 17, 2012, 12:03:48 pm »
อธิษฐาน4ประการ
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXhOREUzTURZMU5RPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHdOaTB4Tnc9PQ==-


คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


การอธิษฐานเป็นการตั้งจิตตั้งใจตั้งความปรารถนาไว้ในใจ ในทางพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นบารมีธรรมสำคัญประการหนึ่งในบรรดาบารมี 10 ทัศ ที่พระบรมโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติบำเพ็ญให้เป็นไปในภพชาติต่างๆ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรับรองอธิษฐานธรรมที่ท่านพระสารีบุตรนำมาแสดงในสังคีติสูตร ว่า อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจมี 4 ประการ คือ ปัญญา ความรู้ชัด สัจจะ ความจริง จาคะ ความสละ และอุปสมะ ความสงบใจ ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ จึงเป็นสิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องตั้งไว้ในจิตใจของตน



ประการแรก ปัญญาอธิษฐาน ปัญญาหมายถึงความรู้ชัด คือหยั่งรู้ รู้เหตุรู้ผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสรรพสิ่งทั้งหลาย ปัญญานี้มี 2 อย่างได้แก่ โลกิยปัญญา และโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เป็นไปในฝ่ายโลกิยะ เป็นอุปการะแก่การศึกษาเล่าเรียน เขียนอ่าน หรือประกอบการงานในอาชีพ เป็นความเฉลียวฉลาด สามารถในการบริหารจัดการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง



ประการที่สอง สัจจาธิษฐาน สัจจะคือความจริง หรือความสัตย์นี้ มีความหมายหลายอย่างต่างๆ กัน สัจจะมี 2 อย่าง คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ สมมติสัจจะความจริงโดยสมมติ ตามโวหารของชาวโลก บัญญัติชื่อสิ่งนั้นมีชื่ออย่างนั้น สิ่งนี้มีชื่ออย่างนี้ เช่น บัญญัติเรียกคนว่า คนนั้นมีชื่ออย่างนั้น คนนี้มีชื่ออย่างนี้ ส่วนปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงโดยปรมัตถ์ เป็นความจริงที่แท้ที่พระอริยเจ้าท่านเข้าใจสภาวะธรรมตามที่เป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประกอบขึ้นจากธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันประกอบกันเข้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นต้น สัจจะในอีกความหมายหนึ่ง คือ คำสัตย์ เช่น สัจจวาจา การพูดแต่ความจริงไม่พูดเท็จ ไม่พูดโกหกมดเท็จ เพื่อหักรานประโยชน์ผู้อื่น



ประการที่สาม จาคาธิษฐาน จาคะหมายถึง ความเสียสละ บริจาคทาน ให้ทรัพย์สินสิ่งของข้าวของเงินทอง ให้เป็นทานแก่ผู้อื่น อันเป็นการสละกิเลสคือความโลภภายในจิตใจของตน เป็นการสละมัจฉริยะคือความตระหนี่ถี่เหนียว หรือบรรเทาความโลภภายในจิตใจให้ลดน้อยถอยลง การเสียสละบริจาคทานที่เป็นวัตถุสิ่งของ เริ่มตั้งแต่ให้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นของนอกกาย ไปจนกระทั่งยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตของตนเป็นทานอันเป็นการสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในอดีตพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้เคยกระทำมาแล้ว



ประการที่สี่ ข้อสุดท้าย อุปสมาธิษฐาน อุปสมะหมายถึง ความสงบใจ เป็นความสงบระดับดับกิเลส แล้วเข้าถึงซึ่งสันติสุข คือพระนิพพาน สังคมปัจจุบันนี้มีความเดือดร้อนวุ่นวาย มีการแก่งแย่งแข่งขันกัน เริ่มตั้งแต่ แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท และแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ จึงมีความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วทุกประเทศในโลก อีกประการหนึ่ง เพราะอำนาจกิเลสตัณหาที่ทำให้มีความโลภโมโทสัน ทะยานอยากอย่างไม่มีที่สุด ด้วยอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ ความเร่าร้อนภายนอกนี้ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับความเร่าร้อนภายในจิตใจ อันเกิดจากไฟ 3 กอง คือ ความกำหนัดยินดี โทสะ ความโกรธ และโมหะ ความหลงนี้



เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทผู้ปรารถนาความสงบสุขจะต้องพยายามลดละไฟกิเลสทั้ง 3 กองนี้ หรือพยายามละสิ่งที่เป็นโลกามิสในโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้มุ่งหวังสันติสุข คือพระนิพพาน พึงละอามิสในโลกเสีย ความสุขในโลกนี้มี 2 อย่าง คือ สามิสสุข สุขที่อิงอาศัยอามิสคือวัตถุสิ่งของอันเป็นภายนอกตัว นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส เกิดจากความสงบสุขภายในจิตใจ เป็นสันติสุข ที่ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า



อธิษฐานธรรม 4 ประการนี้ ควรที่พุทธบริษัทพึงตั้งไว้ในจิตใจของตน ด้วยการไม่ประมาทในการใช้ปัญญา ด้วยการรักษาความสัตย์ ด้วยการหมั่นบริจาคทาน และด้วยการแสวงหาความสงบ



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

watdevaraj@hotmail.com

02-281-2430

.

คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)