อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 15 : สุขวรรค

<< < (2/2)

ฐิตา:


06. เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อาโรคฺยปรมา  ลาภา  เป็นต้น

วันหนึ่ง  พระเจ้าปเสนทิโกศล  เสด็จไปที่วัดพระเชตวัน  ภายหลังที่ได้เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จใหม่ๆ  ตำราบอกว่าวันนั้นพระองค์เสวยพระกระยาหารมากเป็นพิเศษ  ซึ่งมีปริมาณมากทั้งข้าวและแกงกับต่างๆ  ดังนั้น เมื่อ พระองค์ประทับนั่งทรงธรรมอยู่นั้น  ก็ทรงมีอาการโงกง่วงอยู่เกือบจะตลอดเวลา  พระศาสดาทรงสังเกตเห็นการโงกง่วงของพระราชาเช่นนั้น  จึงทรงแนะนำให้เสวยพระยาหารให้น้อยลง  เป็นการรู้ประมาณในการบริโภค ซึ่งจะส่งผลดี  ทำให้ไม่อ้วน มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย แก่ช้า อายุยืน   

เมื่อพระราชาทรงปฏิบัติตามพระดำรัสของพระศาสดา ก็มีผลดีเกิดขึ้น  ทรงถวายรายงานแด่พระศาสดาในภายหลังว่า    พระองค์มีสุขภาพแข็งแรง  มีความเบาพระวรกาย  ทรงสามารถตามจับเนื้อตามจับม้าได้ทัน  และก็มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นตามมาอีกมาก เช่น  ทรงเลิกรบกับพระเจ้าอชาตศัตรู  ทรงใช้การดำเนินการทางการทูตเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกัน  แม้แต่สิ่งของที่หายไปก็ทรงได้กลับคืนมา  ทรงได้ความคุ้นเคยกับสาวกของพระศาสดา  ทรงได้ธิดาพระญาติของพระศาสดามาเป็นมเหสี  เป็นต้น

พระศาสดาตรัสว่า “ มหาบพิตร  ชื่อว่าความไม่มีโรค  เป็นลาภอย่างยิ่ง  ทรัพย์แม้เช่นกับความเป็นผู้สันโดษ  ด้วยวัตถุตามที่ตนได้ ไม่มี  ชื่อว่าญาติเช่นกับด้วยผู้คุ้นเคยกัน  ไม่มี  ชื่อว่า  ความสุขอย่างยิ่ง  เช่นกับด้วยพระนิพพานไม่มี ”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อาโรคฺยปรมา  ลาภา
สนฺตุฏฺฐิปรมํ  ธนํ
วิสฺสาสปรมา  ญาตี
นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ  ฯ

(อ่านว่า)
อาโรคะยะปะระมา  ลาภา
สนฺตุดถิปะระมัง  ทะนัง
วิดสาสะปะระมา  ยาติ
นิบพานัง  ปะระมัง  ทะนัง.

(แปลว่า)
ลาภทั้งหลาย  มีความไม่มีโรค  เป็นอย่างยิ่ง
ทรัพย์มีความสันโดษ  เป็นอย่างยิ่ง
ญาติมีความคุ้นเคย  เป็นอย่างยิ่ง
พระนิพพาน  เป็นสุขอย่างยิ่ง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:


07. เรื่องพระติสสเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในเมืองไพศาลี  ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปวิเวกรสํ เป็นต้น

เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “อีก 4  เดือนจากนี้  เราจักปรินิพพาน”  ภิกษุ  700  รูปในสำนักของพระศาสดา   เกิดความหวาดหวั่นใจ   ที่เป็นภิกษุพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวชสลดใจ  ที่เป็นภิกษุปุถุชนไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้  ภิกษุแบ่งเป็นพวกๆ นั่งปรึกษาหารือกันว่าควรจะทำอย่างไรดี    แต่พระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่าติสสเถระ  กลับมีท่าทีต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างจากภิกษุรูปอื่นๆ  ท่านคิดว่า  “ได้ยินว่า  พระศาสดาจักปรินิพพาน  โดยล่วงไป 4  เดือน  ก็เรายังเป็นผู้มีราคะยังไม่ไปปราศ  เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นั่นแหละ  เราควรถือเอาพระอรหัตให้ได้” ท่านจึงปลีกตัวไปอยู่คนเดียว  ไม่ไปมาหาสู่ หรือสนทนาปราศรัยกับภิกษุรูปอื่น หรือผู้หนึ่งผู้ใด  ภิกษุทั้งหลายเห็นพฤติกรรมแปลกประหลาดของพระติสสเถระ  ได้สอบถามถึงแนวคิดของพระเถระแล้ว ไปกราบทูลพระศาสดา ให้ทรงทราบ  พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ผู้มีความรักในเรา  จงเป็นเหมือนติสสะเถิด  แม้คนกระทำการบูชาอยู่ด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น  ไม่ชื่อว่าบูชาเราเลย  แต่คนผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นแหละ  ชื่อว่าบูชาเรา”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ปวิเวกรสํ  ปิตฺวา
รสํ  อุปสมสฺส  จ
นิทฺทโร  โหติ  นิปฺปาโป
ธมฺมปีติรสํ   ปิวนฺติ  ฯ

(อ่านว่า)
ปะวิเวกะระสัง  ปิดตะวา
ระสัง  อุปะสะมัดสะ  จะ
นิดทะโร  อุปะสะมัดสะ  จะ
นิดทะโร  โหติ  นิบปาโป
ทำมะปีติระสัง   ปิวันติ.

(แปลว่า)
บุคคลดื่มรสอันเกิดแต่วิเวก
และรสพระนิพพานเป็นที่สงบ
ดื่มรสอันเกิดแต่ธรรม
ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย  ไม่มีบาป.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  พระติสสเถระ  บรรลุพระอรหัต   พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.

ฐิตา:


                 

08. เรื่องท้าวสักกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในเวฬุวคาม ทรงปรารภท้าวสักกะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สาหุ   ทสฺสนํ เป็นต้น

ในช่วง 10  เดือนก่อนที่พระศาสดาจะดับขันธปรินิพพานนั้น   พระศาสดาเสด็จไปประทับจำพรรษา ณ  หมู่บ้านเวฬุวคาม  ใกล้กรุงไพศาลี  ขณะที่ประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น   ทรงประชวรด้วยอาพาธลงพระโลหิต  เมื่อท้าวสักกะทรงทราบว่าพระศาสดาอาพาธ  ก็ได้เสด็จมาที่หมู่บ้านเวฬุวคามนั้น  และได้ทรงทำหน้าที่เป็นคิลานุปัฏฐาก(ผู้ดูแลผู้ป่วย) ของพระศาสดา  แม้พระศาสดาจะตรัสห้ามว่าท้าวสักกะไม่ต้องกังวลในเรื่องพระสุขภาพอนามัยของพระองค์ เพราะมีพระภิกษุถวายความดูแลพระองค์อยู่แล้ว  แต่ท้าวสักกะไม่ทรงยินยอมและได้ทรงมาคอยดูแลจนกระทั่งพระศาสดาทรงหายจากอาพาธ 

ภิกษุทั้งหลายมีความประหลาดใจที่พบว่าท้าวสักกะเสด็จมาคอยดูแลพระศาสดาด้วยพระองค์เองเช่นนี้  เมื่อพระศาสดาทรงได้ยินคำสนทนาของภิกษุทั้งหลายในเรื่องนี้   ตรัสว่า ข้อที่ท้าวสักกเทวราชมีความรักในพระองค์นั้น  ไม่ใช่เรื่องแปลก  เพราะเมื่อตอนท้าวสักกะชราภาพ   พอได้ฟังธรรมจากพระองค์  ก็ได้บรรลุเป็นโสดาบัน  และได้กลับคืนสู่สภาพเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง   พระศาสดาได้ตรัสในช่วงท้ายด้วยว่า  “การพบเห็นเหล่าอริยบุคคลก็ดี  การอยู่ ณ ที่เดียวกับเหล่าอริยบุคคลก็ดี  ให้เกิดสุข  แต่ว่า  กิจเช่นนั้นกับพวกคนพาล    ให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น”
จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

สาหุ   ทสฺสนมริยานํ
สนฺนิวาโส  สทา  สุโข
อทสฺสเนน  พาลานํ
นิจฺจเมว  สุขี  สิยา  ฯ

(อ่านว่า)
สาหุ  ทัดสะนะมะริยานัง
สันนิวาโส  สะทา  สุโข
อะทัดสะเนนะ  พาลานัง
นิดจะเมวะ  สุขี  สิยา.

พาลสงฺคตจารี  หิ
ทีฆมทฺธาน  โสจติ
ทุกฺโข  พาเลหิ  สํวาโส
อมิตฺเตเนว  สพฺพทา
ธีโร  จ  สุขสํวาโส
ญาตีนํว  สมาคโม ฯ

(อ่านว่า)
พาละสังคะตะจารี  หิ
ทีคะมัดทานะ  โสจะติ
ทุกโข  พาเลหิ  สังวาโส
อะมิดเตเนวะ  สับพะทา
ทีโร  จะ  สุขะสังวาโส
ยาตีนัง วะ  สะมาคะโม.

[ตสฺมา  หิ]
ธีรญฺจ  ปญฺญญฺจ  พหุสฺสุตญฺจ
โธรยฺหสีลํ  วตวนฺตมริยํ
ตํ  ตาทิสํ  สปฺปุริสํ  สุเมธํ
ภเชถ  นกฺขตฺถปถํว  จนฺทิมา ฯ

(อ่านว่า)
(ตัดสะหมา  หิ)
ทีรันจะ  ปันยันจะ  พะหุดสุตันจะ
โทรัยหะสีลัง  วะตะวันตะมะริยัง
ตัง  ตาทิสัง  สับปุริสัง  สุเมทัง
พะเชถะ  นักขัดถะปะถังวะ  จันทิมา.

(แปลว่า)
การพบเห็นเหล่าอริยบุคคล  เป็นการดี
การอยู่รวมด้วยเหล่าอริยบุคคล  ให้เกิดสุขทุกเมื่อ
บุคคลพึงเป็นผู้มีสุข  เป็นนิตย์แท้จริง
เพราะไม่พบเห็นคนพาล.
 
เพราะว่า  คนเที่ยวสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลยืดยาวนาน
ความอยู่ร่มกับพวกคนพาลให้เกิดทุกข์เสมอไป
เมือนความอยู่ร่วมกับศัตรู   ปราชญ์มีความอยู่ร่วมกันเป็นสุข   เหมือนสมาคมแห่งญาติ.

(เพราะฉะนั้นแล)
ท่านทั้งหลาย  จงคบหาผู้ที่เป็นปราชญ์  และมีปัญญา  ทั้งเป็นพหูสูต
นำธุระไปเป็นปรกติ  มีวัตร
เป็นอริยบุคคล  เป็นสัตบุรุษ  มีปัญญาดี  เช่นนั้น
เหมือนพระจันทร์  ส้องเสพคลองแห่งนักษัตรฤกษ์  ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  คนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผล  เป็นต้น.



-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/2008/11/17/entry-7

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version