มารู้จัก Oil Futures ตอน 1
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2555 09:52 น.
โดยดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า (Oil Futures) ที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ประเทศไทย (TFEX) ได้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ Brent ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความคล่องตัว โดยในการซื้อขาย Oil Futures นั้น ผู้ซื้อและผู้ขายจะทำการตกลงราคาน้ำมันดิบในอนาคต ผ่านวิธีการส่งคำสั่งเสนอซื้อ (Bid) และ เสนอขาย (Offer) ผ่านโบรกเกอร์อนุพันธ์ คล้ายกับการซื้อขายหุ้นที่ต้องผ่านโบรกเกอร์ แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อขาย Oil Futures จะไม่มีการส่งมอบน้ำมันดิบจริง (ลักษณะพิเศษของสัญญาประเภท Futures จะไม่มีการส่งมอบสินทรัพย์จริง) แต่จะใช้วิธีชำระเงินตามส่วนต่างของกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น โดยผู้ซื้อจะได้กำไรเมื่อราคา Oil Futures ปรับตัวสูงขึ้น แต่จะขาดทุนเมื่อราคา Oil Futures ปรับตัวลดลง
ในทางกลับกัน ผู้ขายจะได้กำไรเมื่อราคา Oil Futures ปรับตัวลดลง แต่จะขาดทุนเมื่อราคา Oil Futures ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับ Brent Crude Oil Futures ตลาดอนุพันธ์ประเทศไทย ได้เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา
น้ำมันดิบมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป เนื่องจากน้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับการใช้งาน ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงการคมนาคมขนส่ง เมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูป หรือพลาสติกเพิ่มขึ้นตาม ราคาน้ำมันดิบจึงมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อต้นทุนของสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน ความสำคัญของน้ำมันดิบนี้เอง ที่ทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุนต่างให้ความสนใจว่าราคาน้ำมันดิบมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างไร และในด้านของการลงทุนนั้น จะพบว่าในต่าางประเทศผู้ลงทุนมีความสนใจลงทุนในน้ำมันดิบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของกองทุนน้ำมัน หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ดังจะเห็นได้จากปริมาณการซื้อขายสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX ในสหรัฐอเมริกา และในตลาด ICE ในยุโรป ที่รวมกันสูงถึง 269 ล้านสัญญาในปี 2010 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการที่น้ำมันดิบได้รับความนิยมในด้านการลงทุนอย่างมากนี้มีสาเหตุมาจาก
ผลตอบแทน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากราคาประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรลในปี 2004 เป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรลในปี 2011 ซึ่งหากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยแล้ว นับว่าสูงถึงปีละ 20% ผลตอบแทนนี้เอง ที่ทำให้ผู้ลงทุนต่างให้ความสนใจลงทุนในน้ำมันดิบ
ความนิยมสินค้าโภคภัณฑ์
อาจกล่าวได้ว่าน้ำมันดิบนั้น เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจนอกเหนือจาก หุ้นสามัญ ทองคำ และอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญมากนัก (ความสัมพันธ์อยู่ที่ประมาณ 30%) ดังนั้น สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นสามัญ การลงทุนในน้ำมันดิบเพิ่มเติมจะช่วยกระจายพอร์ตของการลงทุน (Portfolio Diversification) ทำให้พอร์ตลงทุนมีความเสี่ยงโดยรวมลดลง
ทำความรู้จักกับน้ำมันดิบ
แหล่งน้ำมันดิบมีกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณทะเลเหนือของทวีปยุโรป อ่าวเม็กซิโก และตอนบนของทวีปแอฟริกา โดยน้ำมันดิบที่ได้จากแต่ละแหล่งจะมีคุณภาพที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลให้น้ำมันดิบจากแต่ละแหล่งมีราคาแตกต่างกันไปด้วย น้ำมันดิบที่มีคุณภาพดี ราคาสูง จะต้องเป็นน้ำมันดิบที่มี ค่า API สูงและมีปริมาณ Sulfur ต่ำ หรือที่เรียกว่า Light Sweet Crude Oil เป็นต้น
ค่าความหนาแน่นเฉพาะ (API Gravity)
ค่า API เป็นค่าที่วัดว่าน้ำมันดิบนั้นๆ มีความหนักเบาเท่าไรเมื่อเทียบกับน้ำทั่วไป น้ำมันดิบที่ดีจะต้องเป็นน้ำมันที่เบา หรือมีค่า API สูง เพราะจะสามารถกลั่นเป็นน้ำมันที่มีราคาแพงได้ในปริมาณมากกว่า น้ำมันที่มีค่า API ต่ำ ตัวอย่างเช่น Light Crude Oil จะเป็นน้ำมันที่มีน้ำหนักเบา โดยมีค่า API สูงกว่า 31.1 ดีกรี ดังนั้น จึงมีราคาแพงกว่าน้ำมันดิบที่เรียกว่า Heavy Crude Oil ซึ่งมีค่า API ต่ำกว่า 22.3 ดีกรี
ปริมาณซัลเฟอร์ (Sulfur)
ซัลเฟอร์เป็นสารปนเปื้อนในน้ำมันที่ต้องกำจัดทิ้งในกระบวณการกลั่น ดังนั้น หากน้ำมันดิบมีปริมาณซัลเฟอร์มาก โรงกลั่นก็จะมีต้นทุนในการกำจัดสารปนเปื้อนนี้สูง น้ำมันดิบที่ดีจึงต้องมีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ ทั้งนี้ ในต่างประเทศจะใช้ ค่าเรียกน้ำมันที่มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำกว่า 0.5% ว่า Sweet Crude Oil และเรียกน้ำมันที่มีซัลเฟอร์สูงกว่า 0.5% ว่า Sour Crude Oil
ที่มา เอกสารของตลาดอนุพันธ์
www.tfex.co.th-http://manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9550000077284-
.