ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง) : เหลาจื่อ  (อ่าน 21450 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

เหลาจื่อ

คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
ถูกเขียนขึ้นในยุคสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า

แนะนำ เต๋า เต็ก เก็ง
สุดยอดคัมภีร์อภิปรัชญาแห่งชีวิต ผลงานของท่านเล่าจื้อ ผู้เป็นนักคิดแบบธรรมชาติ
ผู้ซึ่งขงจื๊อได้กล่าวถึงว่า "การได้เสวนากับท่านเล่าจื้อ ถือว่า
เป็นการศึกษาที่ล้ำลึก และดีเยี่ยมกว่าการอ่านหนังสือในห้องสมุดเสีย อีก"

เชิญ สัมผัสกับความล้ำลึกสุดหยั่งคาดของคัมภีร์โบราณเล่มนี้ ซึ่งเป็นเบื้องหลัง
ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในชีวิตของคนดังในประวัติศาสตร์มานานกว่าสองพันปี
พร้อมคำอธิบายที่กระชับ และได้ความหมาย...



ปล. ขออนุญาตผู้แปลคือ คุณ พจนา จันทรสันติ เพื่อนำมาลงไว้เป็นวิทยาทาน
แก่บรรดาผู้ใฝ่รู้ทุกคน เพราะสำนานที่ลุ่มลึก และเข้าใจง่าย ตรงตามสไตน์ของเต๋าอย่างแท้จริง
อ่านมาหลายสำนวนแล้ว ไม่ชอบใจเท่าสำนวนของคุณ พจนา
จึงขออนุญาต คุณ เซโร่ ผู้ให้ข้อมูลด้วย
:http://www.pantown.com/board.php?id=21821&area=3&name=board5&topic=1&action=view


      เกร็ดประวัติชีวิตของเหลาจื่อนั้นยากที่หาข้อพิสูจน์ เรารู้เพียงแต่ว่าเหลาจื่อ แซ่ หลี่ ชื่อตัวว่า เอ๋อร์ มีสมญาว่า ตาน เป็นคนอำเภอขู่ แคว้นฉู่ (ปัจจุบันคือเมืองลู่ในมณฑลเหอหนาน แม้แต่เรื่องที่เหลาจื่ออยู่จนถึงอายุเท่าไหร่ ก็ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจน บ้างว่า ท่านเป็นปราชญ์ร่วมยุคสมัยกับขงจื่อ ช่วงราวๆสมัยของโจวเหวินหวาง เคยเข้ารับตำแหน่งเป็น “ซีป๋อ” ดูแลแผ่นไม้ไผ่(เปรียบเหมือนหนังสือในสมัยนั้น)ที่มีอยู่ในบ้านเมือง (เท่ากับห้องสมุดแห่งชาติ ) เมื่อโจวอู่หวางขึ้นครองราชย์ เหลาจื่อก็มีหน้าที่จดบันทึกข้อคิดเห็นในการคุยของราชการที่ท้องพระโรง ในขณะนั้นเข้มงวดเรื่องชนชั้นมาก มีเพียงโจวอู่หวางที่สามารถก้มหรือนั่งได้ ส่วนเหล่าขุนนางได้เพียงแต่นั่งกับพื้นไม่มีที่เท้าหรือที่พิง แต่เหลาจื่อกลับถูกแต่งตั้งพิเศษให้เป็น “จู๋เซี่ยลี่” สามารถนั่งพิงเสาบันทึกข้อราชการได้

        เมื่อถึงสมัยที่โจวเฉิงหวางปกครองบ้านเมือง เหลาจื่อให้การเผยแพร่ความรู้แก่ผู้คนไปทุกหนทุกแห่ง สรรเสริญคุณงามความดีของราชวงศ์โจว เนื่องจากผู้อาวุโสท่านนี้ เป็นพหูสูตร มีความรู้ลึกซึ้งและกว้าง ผู้คนเคารพและเลื่อมใสศรัทธา ดังนั้นท่านจึงถูกยกย่องให้เป็น “กู่เซียนเซิง” เมื่อถึงสมัยโจวจาวหวาง เรื่องราวของเหลาจื่อก็มีอายุเกือบจะถึง 100 ปี ในสมัยนั้น เหลาจื่อคาดคะเนว่าจะเกิดการสู้รบขึ้นทุกหนทุกแห่ง ทำอย่างไรก็ไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ที่ใช้กลอุบายครั้งนี้ได้ ดังนั้น ท่านจึงออกจากราชการ ขี่วัวหนุ่ม มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกผ่านหานกู่กวาน ไปบำเพ็ญเพียรที่เขาคุนหลุน (คุนลุ้น) เมื่อตอนที่ผ่านด่านหานกู่กวาน หยินสี่หัวหน้าด่าน หานกู่กวานพอรู้ว่าเหลาจื่อจะผ่านมาก็แอบไปพบ และขอให้เหลาจื่อเขียนหนังสือให้เป็นที่ระลึก เหลาจื่อจึงเขียนหนังสือไว้ 5,000 ตัวอักษร ซึ่งก็คือคัมภีร์ “เหลาจื่อ” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” (เต๋าเต็กเก็ง) ซึ่งเป็นผลงานอันลือเลื่องและได้รับการยกย่องทั่วโลก นักปราชญ์ในรุ่นหลังได้แบ่งเต๋าเต็กเก็งเป็น 81 บท

       เต๋าตามความหมายศัพท์ที่มักแปลกันคือ หนทางหรือวิถี ทว่าความหมายของเต๋าจริงๆนั้น ยากยิ่งแก่การอธิบาย ดังที่บทที่ 1 ของคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งว่าคือ ‘เต๋าที่อธิบายได้ มิใช่เต๋าที่อมตะ’ ปราชญ์ลัทธิเต๋าพยายามเสนอวิถีทางที่จะนำไปสู่สังคมสันติภาพ โดยเชื่อว่า เต๋านั้นยิ่งใหญ่ครอบคลุมคุณธรรม เมตตาธรรม ความชอบธรรม ดังที่ในคัมภีร์เต๋าเต็งเก็งบทที่ 38 บอกว่า ‘เมื่อรักษาเต๋าไว้ไม่ได้ จึงต้องหันไปสร้างกรอบคุณธรรม เมื่อรักษาคุณธรรมไว้ไม่ได้ จึงต้องหันไปสร้างกรอบเมตตาธรรม เมื่อรักษาเมตตาธรรมไว้ไม่ได้ จึงต้องหันไปสร้างกรอบความชอบธรรม เมื่อรักษาความชอบธรรมไว้ไม่ได้ จึงต้องหันไปสร้างกรอบแบบแผนจารีต...

             

        คนรุ่นหลังยกย่องให้เหลาจื่อเป็นปฐมาจารย์แห่งลัทธิเต๋า เปรียบตัวของเหลาจื่อดั่งมังกรในร่างมนุษย์ เป็นผู้ลึกลับ ไม่สามารถหยั่งรู้ได้ ความคิดของเหลาจื่อกว้างขวางและลึกซึ้งมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขงจื่อเดินทางไปพบสนทนากับเหลาจื่อ และกลับสำนักด้วยอาการอ้ำอึ้ง บรรดาศิษย์เห็นอาจารย์นิ่งเงียบไปนานถึงวันสองวัน จึงถามขึ้นว่า เหลาจื่อเป็นอย่างไร ขงจื่อบรรยายถึงเหลาจื่อว่า ‘เปรียบดั่งพญามังกรผู้มีภูมิธรรมลึกซึ้งสุดหยั่ง มักโลดแล่นอยู่ในท้องนภากาศ เหาะเหินเล่นลม ซ่อนกำบังกายในหมู่เมฆ นานๆจึงปรากฏตัวเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว และไม่มีใครเคยจับตัวได้

       แม้ในปัจจุบันซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก ก็ยังมีนักวิจัยมากมายที่ทำการศึกษาวิจัยแนวคิดของเหลาจื่ออย่างไม่ขาดสาย ทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งแพร่หลายมากในโลกตะวันตก มีฉบับแปลภาษาอังกฤษมากกว่า 100 สำนวน สำหรับฉบับแปลภาษาไทยขณะนี้ มีประมาณ 20 สำนวน
[ส่วนนี้นำข้อมูลมาจาก -http://www.sg2527.com/info/know_011_China_kong_gue.htm]

อ่านต่อ : http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=571836#ixzz1zd8hG94L

ตอนที่      ชื่อตอน
บทที่ 1 เต๋าอันสูงสุด   
บทที่ 2 สิ่งต่างๆอุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ   
บทที่ 3 การปกครองของปราชญ์   
บทที่ 4 รูปลักษณ์แห่งเต๋า   
บทที่ 5 ประโยชน์ของสูบลม   

บทที่ 6 มารดาอันมหัศจรรย์   
บทที่ 7 มิได้อยู่เพื่อตนเอง   
บทที่ 8 ความดีอันสูงสุด   
บทที่ 9 สำรวมชีวิต   
บทที่ 10 สู่สภาวะธรรม   

บทที่ 11 ความว่างเปล่า   
บทที่ 12 เปลือกกับแก่น   
บทที่ 13 การยกย่องและการดูแคลน   
บทที่ 14 ตามรอยเต๋า   
บทที่ 15 ผู้ชาญฉลาดในสมัยโบราณ   

บทที่ 16 สรรพสิ่งล้วนกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม   
บทที่ 17 ผู้ปกครองประเทศที่ดี   
บทที่ 18 เกิดขึ้นเพราะความเสื่อม   
บทที่ 19 ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์   
บทที่ 20 ผู้อื่นกับตัวข้าพเจ้า   

บทที่ 21 พลังแห่งเต๋า   
บทที่ 22 การไม่แก่งแย่งแข่งขัน   
บทที่ 23 เข้าร่วมกับเต๋า   
บทที่ 24 กากเดนของคุณความดี   
บทที่ 25 ความยิ่งใหญ่สี่ชนิดในจักรวาล   

บทที่ 26 ความหนักแน่นและความสงบ   
บทที่ 27 ช่วยสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน   
บทที่ 28 แสดงออกด้วยความง่าย   
บทที่ 29 ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก   
บทที่ 30 สงคราม   

บทที่ 31 ชัยชนะอันน่าโศกเศร้า   
บทที่ 32 มหาสมุทรแห่งสรรพสิ่ง   
บทที่ 33 รู้จักตนเอง   
บทที่ 34 เต๋าอันยิ่งใหญ่   
บทที่ 35 ลักษณะเด่นคือความสามัญ   

บทที่ 36 ชนะแข็งด้วยอ่อน   
บทที่ 37 ปกครองด้วยความเรียบง่าย   
บทที่ 38 เมื่อเต๋าสูญหายไป   
บทที่ 39 ขอเป็นระฆังหิน   
บทที่ 40 วัฏฏะ   

บทที่ 41 ระดับสูง   
บทที่ 42 คำสอนประจำใจ   
บทที่ 43 การไม่กระทำ   
บทที่ 44 รู้จักพอ   
บทที่ 45 คล้าย   

บทที่ 46 ม้าลากเกวียน   
บทที่ 47 หยั่งรู้   
บทที่ 48 ความรู้ฝ่ายเต๋า   
บทที่ 49 ปราชญ์   
บทที่ 50 อาณาจักรแห่งความตาย   

บทที่ 51 คุณความดีอันล้ำลึก   
บทที่ 52 ปิดประตูแห่งตน   
บทที่ 53 ทางใหญ่   
บทที่ 54 นำเอาไปใช้   
บทที่ 55 กลับเป็นเด็กทารก   

บทที่ 56 เหนือโลก   
บทที่ 57 การปกครอง   
บทที่ 58 รัฐบาลที่เกียจคร้าน   
บทที่ 59 หลักการสงวนกำลัง   
บทที่ 60 ปกครองประเทศ   

บทที่ 61 ประเทศใหญ่   
บทที่ 62 สมบัติของโลก   
บทที่ 63 ยากกับง่าย   
บทที่ 64 เริ่มทำเมื่อยังง่าย   
บทที่ 65 รู้ให้น้อย   

บทที่ 66 ที่ต่ำ   
บทที่ 67 แก้วสามประการ   
บทที่ 68 การไม่แข่งขัน   
บทที่ 69 ยุทธธรรม   
บทที่ 70 ใครอาจเข้าใจ   

บทที่ 71 ผู้รู้   
บทที่ 72 ใช้ความนุ่มนวล   
บทที่ 73 ร่างแหแห่งฟากฟ้า   
บทที่ 74 การลงโทษ   
บทที่ 75 ไม่เข้ายุ่งเกี่ยว   

บทที่ 76 ของสูง   
บทที่ 77 วิถีแห่งเต๋า   
บทที่ 78 ความอ่อนโยนมีชัยต่อทุกสิ่ง   
บทที่ 79 หนทางอันยุติธรรม   
บทที่ 80 ประเทศในฝัน   

บทที่ 81 ถ้อยคำที่แท้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 08, 2016, 11:31:14 pm โดย มดเอ๊กซ »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 08:55:45 pm »
ฉบับแปลไทย
เต้าเต๋อจิงเริ่มมีการแปลตั้งแต่ พ.ศ. 2506-ปัจจุบัน มีการแปลไม่ต่ำกว่า 20 สำนวน ได้แก่

ลำดับ   ปีที่พิมพ์   ผู้แปล   ชื่อหนังสือ   แปลจากภาษา
1   2506   เสถียร โพธินันทะ   เมธีตะวันออก   จีน
2   2510   จำนงค์ ทองประเสริฐ   บ่อเกิดลัทธิประเพณีจีน   อังกฤษ
3   2516   จ่าง แซ่ตั้ง   เต้า   จีน
4   2517   เลียง เสถียรสุต   คัมภีร์เหลาจื้อ   จีน
5   2521   พจนา จันทรสันติ   วิถีเต๋า   อังกฤษ
6   2527   สมเกียรติ สุขโข, เนาวรัตน์ พงไพบูลณ์   คัมภีร์คุณธรรม   อังกฤษ
7   ไม่ทราบ   สมภพ โรจนพันธุ์   เต๋าที่เล่าแจ้ง   อังกฤษ
8   ไม่ทราบ   ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์   คัมภีร์เต๋า ฉบับสมบูรณ์ พร้อมอรรถกถา   อังกฤษ
9   2529   ทองสด เมฆเมืองทอง   เต๋าคือเต๋า   จีน
10   2530   ทองแถม นาถจำนง   เหลาจื่อสอนว่า...   จีน
11   2530   จ่าง แซ่ตั้ง   ปรมัตถ์เต๋า   จีน
12   2534   บุญมาก พรหมพ้วย   เต๋าย่อมไร้นาม   อังกฤษ
13   2536   มงคล สีห์โสภณ   เต๋า   อังกฤษ
14   2537   โชติช่วง นาดอน (ทองแถม นาถจำนง)   เต๋าเต็กเก็ง   จีน
15   ไม่ทราบ   สุขสันต์ วิเวกเมธากร   ปรัชญาเหลาจื๊อ   จีน
16   2538   บัญชา ศิริไกร   คัมภีร์ ปรัชญาเหลาจื่อ   จีน
17   2538   บุญสิริ สุวรรณเพ็ชร์   แสงสว่างแห่งสัจธรรมและคุณธรรมเต๋า   จีน
18   2538   ทองหล่อ วงษ์ธรรมา   ปรัชญาจีน   อังกฤษ
19   2539   ประยงศ สวรรณบุปผา   คัมภีร์ เต๋า เต้ จิง   อังกฤษ
20   2541   อาจารย์สัมปันโน   สามลัทธิศาสนาที่น่าสนใจ   อังกฤษ
21   2543   ชาตรี แซ่บ้าง   ศีกษาคัมภีร์เต้าเต๋อ   จีน
22   2546   กลิ่นสุคนธ์ อริยฉัตรกุล   เต้าเต๋อจิง   จีน
23   2547   ภาวิช ทองโรจน์   วิถีเต๋าของท่านเล่าจื๊อ   อังกฤษ
24   2547   ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์   คัมภีร์เต๋าของเหลาจื๊อ   จีน
25   2548   ประชา หุตานุวัตร   ผู้นำที่แท้ : มรรควิธีของเล่าจื๊อ   อังกฤษ
26   2548   ชาตรี แซ่บ้าง   ปรัชญาเต๋า : วิถีแห่งธรรมชาติ วิถีคน วิถีใจ   จีน
27   2549   ทองหล้อ วงษ์ธรรมา   เต๋าทางแห่งธรรมชาติ   อังกฤษ
28   2558   สรวงอัปสร กสิกรานันท์   เต้าเต๋อจิง : คัมภีร์เต๋า   ไม่ทราบ
..
..
บทวิเคราะห์และข้อวิจารณ์
แม้ว่า "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือขนาดเล็กที่มีอิทธิพลกว้างไกลที่สุดเล่มหนึ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่าคัมภีร์นี้จะรอดพ้นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการไปได้ ประเด็นสำคัญที่มักจะถือกันว่าคือข้ออ่อนด้อย ได้แก่ ความคลุมเคลือไม่ชัดเจนว่า "เต้า (道)"" หมายถึงอะไรกันแน่ และลักษณะรหัสยลัทธิ (mystical) ซึ่งดูเหมือนว่าจะแฝงเร้นอยู่ในคัมภีร์โดยทั่วไป[19] แต่ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้คัมภีร์นี้มีลักษณะ "คลุมเคลือไม่ชัดเจน" น่าจะมาจากกระบวนวิธีทางตรรกะพื้นฐานของ "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" มากกว่า ความหมายของคำว่า "ชัดเจน" ในทางปรัชญา บ่อยครั้งอิงอยู่บนตรรกะซึ่งถือว่า A และ -A เป็นสิ่งที่แตกต่างและ

แยกแยะจากกันได้เด็ดขาด ตามหลักตรรกวิทยาแบบอริสโตเติล การคิดในกรอบนี้ย่อมมีความ "ชัดเจน" เพราะเป็นการกำหนดความหมาของสิ่งหนึ่ง โดยแยกแยะสิ่งนั้นออกจากสิ่งอื่นได้ในตัวของมันเอง แต่ถ้ากระบวนวิธีคิดในระดับตรรกะพื้นฐานนั้นไม่ได้วางอยู่บนหลักตรรกะแบบอริสโตเติล ความ "ชัดเจน" อาจจะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง หากจะพบว่า ตรรกะพื้นฐานของ "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" มีลักษณะอย่างไรบ้าง ก็คงพอจะเป็นข้อสังเกตได้อย่างน้อย 3 ประการต่อไปนี้ คือ "1.การกลับคืนสู่ภาวะตรงข้าม (Return to opposite)" "2. การอิงอาศัยกันของภาวะตรงข้าม (Interdependence of opposite)" และ "3. การให้ค่าแก่ภาวะเชิงอ่อน (Value the soft)" ซึ่งข้อสังเกตทั้ง 3 ประการนี้มาจาก "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนวิธีการมองภาวะตรงข้าม (สูง-ต่ำ ดี-ชั่ว แข็ง-อ่อน) ใน "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" มีอยู่ถึง 3 ลักษณะด้วยกันคือ มองว่าภาวะตรงข้ามเกิดขึ้นจาก

การแยะแยะเปรียบเทียบ การกำหนดเกณฑ์ให้สิ่งหนึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดภาวะตรงข้ามโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ภาวะตรงข้ามจึง "อิงอาศัยกัน" เกิดขึ้น สมมติ ในสังคม ก กำหนดความสูงสำคัญสำหรับสตรีซึ่งถือว่า "งาม" ไว้ที่ 160 เซนติเมตร สตรีที่สูงไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวย่อมถูกถือว่า "เตี้ย" และ "ไม่งาม" โดยปริยาย นอกจากนี้ ภาวะตรงข้ามใน "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" ยังมีลักษณะเคลื่อนไหวไปมาระหว่างกัน จากภาวะ "คม" ไปสู่ "ทื่อ" จาก "สูง (高)" มา "ต่ำ (低)" ประเด็นนี้มีปัญหาที่จำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม กล่าวคือ หากภาวะตรงข้ามย่อยแปรเปลี่ยนไปสู่กันโดยธรรมชาติ การให้ค่าแก่ภาวะเชิงอ่อน (the soft, the weak) ย่อมมิใช่สิ่งจำเป็น แต่ดูเหมือนว่าการให้ค่าแก่ภาวะเชิงอ่อนใน "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" เป็นประเด็นทางปรัชญาที่มีความสำคัญมาก การตีความข้อสังเกตประการที่ 2

ในที่นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ศาสตราจารย์ดี ซี เลา ได้อภิปรายประเด็นนี้ว่าเราควรเข้าใจตรรกะแห่งการแปรเปลี่ยนไปสู่ภาวะตรงข้าม ในแง่ที่ว่า สิ่งซึ่งอยู่สูงย่อมตกต่ำลงโดยธรรมชาติ แต่การแปรเปลี่ยนจากที่ต่ำสู่ภาวะ "สูง (高)" เป็น "การกระทำ (动作)" โดยจงใจและพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป[20] ประเด็นของศาสตราจารย์เลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่อธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจน อาจเป็นได้ว่า การเสนอให้กระทำโดย "ไม่กระทำ (不做)" หรือปกครอง โดย "ไม่ปกครอง" จะเป็นเรื่องที่ "ขัด" ธรรมชาติ โดยไม่จำเป็น เพราะภาวะตรงข้ามย่อมแปรเปลี่ยนสู่กันและกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ข้อสังเกตประการที่ 3 อันได้แก่การให้ค่าแก่ภาวะเชิงอ่อนนั้นเป็นประเด็นสืบเนื่องจากข้ออภิปรายของศาสตราจารย์เลา กล่าวคือ เป็นข้อเสนอทางปรัชญาที่ค่อนข้างชัดเจนและสำคัญยิ่งใน "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)"

ทั้งในฐานะที่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินไปของธรรมชาติ และในฐานะที่เป็นข้อเสนอสำหรับการปกครอง หากการใช้กำลังหรืออำนาจเชิงแข็ง เป็นสิ่งที่ "ขัด" กับธรรมชาติ (自然) และมีแต่จะนำพาสู่ความปราชัยและอันตรายต่อผู้ใช้อำนาจเอง การให้ค่าแก่ภาวะเชิงอ่อน ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายอันมาจากการใช้อำนาจ เพราะเป็น "การไม่กระทำ" ซึ่งสอดคล้องกับภาวะธรรมชาตินั่นเอง "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" มิใช่แม่พิมพ์หรือสูตรสำเร็จสำหรับการแก้ปัญหาของมนุษย์ ความลุ่มลึกและซับซ้อนทางความคิดในตัวของมันเอง อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจ "เต้า (道)" สำหรับบุคคลทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน การมองข้ามคัมภีร์เล่มเล็กอันสำคัญยิ่งนี้ก็คงมิใช่การแสดงภูมิปัญญาอันสูงส่งของมนุษย์เช่นกัน จากข้อเท็จจริงที่ว่าได้มี ปราชญ์ ผู้รู้ ผู้สนใจจำนวนมากทั้งในประวัติศาสตร์จีนและอารยธรรมอื่น ซึ่ง

ใฝ่ศึกษาเรียนรู้คัมภีร์เล่มเล็กนี้ คงพอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" สามารถมี "ชีวิต (生活)" มีความหมายอันสำคัญยิ่งต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถึงแม้ว่าลัทธิเต้า (道家) มิได้เป็นแกนหลักแห่งอารยธรรมจีน (中国文明) ดังเช่นลัทธิขงจื่อ (儒家) ซึ่งให้คำตอบทางจารีตและจริยธรรมอันเป็นรูปธรรมสำหรับสมาชิกทุกหมู่เหล่าในสังคมจีน (中国社会) แต่ "คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (道德经)" ก็สามารถจุดประกายประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กระแสอารยธรรมที่เป็นอยู่ได้อย่างสำคัญและสมสมัยมาตลอดและคงจะธำรงไว้ซึ่งบทบาทนี้ต่อไปอีกนาน[21]
>>https://th.wikipedia.org/wiki/เต้าเต๋อจิง



บทที่ 1 เต๋าอันสูงสุด

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า " เต๋า " ไปพลางๆ

เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน
เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง

ดำรงตนอยู่ในความไร้สภาวะ
จึงทราบบ่อเกิดแห่งจักรวาล
ดำรงตนอยู่ในสภาวะ
ย่อมแลเห็นปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์

ทั้งความมีและความไร้ มีบ่อเกิดแห่งเดียวกัน
แต่แตกต่างกันเมื่อปรากฏออก


บ่อเกิดนั้นสุดแสนล้ำลึก
ความลึกล้ำสุดแสนนั้น
คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต


เต๋าไม่ใช่ปรัชญา แต่เป็นชีวิต เป็นคำสอนที่ให้เรามองดูทุกสิ่งทุกอย่างให้ลึกซึ้งกว่าที่ตามองเห็น เป็นการมองสิ่งที่เห็นอย่างเข้าใจ และหยั่งรู้ถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างรู้แจ้ง ดังที่ไอสไตน์กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ นี่คือความหมายของเต๋า... หมื่นลี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 16, 2017, 09:12:20 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 10:41:56 pm »




-2-
สิ่งต่างๆอุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ

เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย
ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น
เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี ความชั่วก็อุบัติขึ้น

มีกับไม่มี เกิดขึ้นด้วยการรับรู้
ยากกับง่าย เกิดขึ้นด้วยความรู้สึก
ยาวกับสั้น เกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ
สูงกับต่ำ เกิดขึ้นด้วยการเทียบเคียง
เสียงดนตรีกับเสียงสามัญ เกิดขึ้นด้วยการรับฟัง
หน้ากับหลัง เกิดขึ้นด้วยการนึกคิด

ดังนั้นปราชญ์ย่อม กระทำด้วยการไม่กระทำ
เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา
การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง

ท่านให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง แต่มิได้ถือตัวเป็นเจ้าของ
ประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ แต่มิได้ประกาศให้โลกรู้
เหตุที่ท่านไม่ปรารถนาในเกียรติคุณ
เกียรติคุณของท่านจึงดำรงอยู่ไม่สูญสลาย




-3-
การปกครองของปราชญ์

มิได้ยกย่องคนฉลาด
ประชาราษฎร์ก็จะไม่แก่งแย่งชิงดี
มิได้ให้คุณค่าแก่สิ่งของที่หายาก
ประชาราษฎร์ก็จะไม่ลักขโมย

ขจัดตัวตนแห่งความอยาก
ดวงใจแห่งประชาราษฎร์ก็จะบริสุทธิ์

ดังนั้นปราชญ์ย่อมปกครองโดย
ทำให้จิตใจของประชาราษฎร์ ว่าง สะอาด
บำรุงเลี้ยงให้อิ่มหนำ ตัดทอนความทะยานอยาก
เสริมสุขภาพแห่งร่างกาย
ความคิดและความปรารถนาของประชาราษฎร์
ก็จะถูกชะล้างให้บริสุทธิ์

คนฉ้อฉลก็มิอาจหาญ เข้ากระทำการทุจริต
ปราชญ์ย่อมปกครอง โดยการไม่ปกครอง
ดังนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะถูกปกครอง
และดำเนินไปอย่างมีระเบียบ





-4-
รูปลักษณ์แห่งเต๋า

เต๋านั้นคือความเวิ้งว้าง
แต่คุณประโยชน์ของเต๋า มิรู้สิ้นสุด
คล้าย..
ต้นกำเนิดของน้ำพุ แห่งสรรพสิ่ง
ลึกสุดหยั่งคาด
เวียนวน ยุ่งเหยิง ซับซ้อน แผ่วเบา
แจ่มกระจ่างดุจแก้วผลึก
ใสสะอาด ดุจน้ำอันสงบนิ่ง

ข้าพเจ้ามิรู้ว่าเต๋ากำเนิดจากแห่งใด
คล้ายกับดำรงอยู่ก่อนธรรมชาติ





-5-
ประโยชน์ของสูบลม

ฟ้าดินนั้นไร้เมตตา
ปฏิบัติคล้ายดั่งสรรพสิ่งเป็นหุ่นฟาง
ปราชญ์นั้นไร้เมตตา
ปฏิบัติคล้ายดั่งผู้คนเป็นหุ่นฟาง

แท้จริง ฟ้า ดิน และปราชญ์
มิได้ไร้เมตตา เมตตานั้นมีอยู่
เพียงแต่ไม่เข้าไป ก้าวก่ายในสรรพสิ่ง

ทำตนว่างเหมือนสูบลม มีความว่างและความไร้
ครั้นเคลื่อนไหว กลับให้พละกำลัง
ยิ่งพูดมากยิ่งไร้ประโยชน์ พูดมากคำยิ่งเหน็ดเหนื่อย
มิสู้เก็บคุณค่านั้นไว้ แต่เพียงภายใน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 01, 2012, 11:40:33 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 11:03:04 pm »


-6-
มารดาอันมหัศจรรย์

มหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ
เป็นมารดาอันมหัศจรรย์
จากทวาราแห่งมารดานี้เอง
ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน

นานแสนนานสืบมา สิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่
มีคุณประโยชน์มากมาย ใช้ได้มิรู้หมดสิ้น


-7-
มิได้อยู่ด้วยตนเอง

ฟ้ามีอายุยาวนาน ดินมีอายุยาวนาน
เหตุเพราะฟ้าและดิน มิได้ดำรงอยู่ เพื่อตนเอง
จึงอาจอยู่ได้คงทน

ดังนั้นปราชญ์ย่อมตั้งตนอยู่รั้งท้าย
และก็จะกลับกลายเป็นหน้าสุด
ละเลยตนเอง แต่กลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดี
เพราะปราชญ์มิได้อยู่เพื่อตนเองหรือมิใช่
ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความสมบูรณ์





-8-
ความดีอันสูงสุด

ความดีอันสูงสุดนั้นคล้ายกับน้ำ
น้ำให้คุณแก่สรรพสิ่ง มิได้แย่งชิงสิ่งใด
น้ำตั้งตนอยู่ในที่ต่ำ อันทุกคนรังเกียจเหยียดหยาม
ดังนั้นจึงนับว่าได้เข้าไปใกล้กับเต๋า

ในการอยู่อาศัย ปราชญ์เลือกสถานที่อันควร
ในดวงใจ ท่านถือความสงบงัน
ในความเป็นมิตร ท่านถือคุณความดี
ในวาจา ท่านถือความจริงใจ

ในการปกครอง ท่านถือความสงบเรียบร้อย
ในกิจการงาน ท่านถือความสามารถ
ในการกระทำ ท่านเลือกเวลาที่เหมาะสม

เหตุว่าท่านมิได้แก่งแย่งชิงดีกับผู้ใด
คำติเตียนว่าร้ายจึงมิได้แผ้วพานท่าน




-9-
สำรวมชีวิต

โก่งคันศรจนสุดล้า ย่อมมีเวลาที่มันจะคืนกลับ
ลับดาบจนแหลมคม ย่อมมีเวลาที่มันจะทื่อ

เมื่อท่านมีทองและหยกอยู่เต็มห้อง
ย่อมไม่อาจรักษาไว้ได้โดยปลอดภัย
ภาคภูมิใจกับเกียรติยศและความมั่งคั่ง
ย่อมโศกเศร้าเมื่อความตกต่ำมาถึง

ถอนตัวออก เมื่อกิจการงานได้เสร็จสิ้นลง
นี่คือวิถีทางแห่งสรวงสวรรค์





-10-
สู่สภาวะธรรม

รักษาดวงวิญญาณให้พ้นจากความมัวหมอง
ทำจิตใจให้แน่วนิ่งเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่
หายใจอย่างละเอียดอ่อนแผ่วเบา
เหมือนลมหายใจของเด็กอ่อนได้หรือไม่

ชำระล้างญาณทัศนะให้หายมืดมัว
จนอาจแลเห็นกระจ่างชัดได้หรือไม่
มีความรักและปกครองอาณาจักร
โดยไม่เข้าไปบังคับบัญชาได้หรือไม่

ติดต่อรับรู้ และเผชิญทุกข์สุข
ด้วยความสงบนิ่ง ไม่ทุกข์ร้อน ได้หรือไม่
แสวงหาความรู้แจ้ง เพื่อละทิ้งอวิชชาได้หรือไม่


ให้กำเนิด ให้การบำรุงเลี้ยง
ให้กำเนิด แต่มิได้ถือตนเป็นเจ้าของ
กระทำกิจ แต่มิได้ยกย่องตนเอง
เป็นผู้นำในหมู่คน แต่มิได้เข้าไปบงการ
เหล่านี้คือ คุณความดี อันลึกล้ำยิ่ง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 20, 2016, 07:59:31 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 11:35:46 pm »




-11-
ความว่างเปล่า

ล้อรถนั้นประกอบด้วยไม้สามสิบซี่
รวมกันอยู่ที่แกน
วงรอบนอกของล้อและไม้ทั้งสามสิบซี่นั้น
คือ ความ " มี "
ดุมล้อนั้นกลับกลวง คือ ความ " ว่าง "
จากความว่างนี้เอง คุณประโยชน์ของล้อก็เกิดขึ้น

ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ
จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง
คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น

เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี
และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง





12-
เปลือกกับแก่น

สีทั้งห้า ทำให้ดวงตาพร่ามัว
เสียงทั้งห้า ทำให้โสตประสาทเลอะเลือน
รสทั้งห้า ทำให้ลิ้นชาด้าน
การพนันและการล่าสัตว์
ทำให้จิตใจของคนขุ่นหมอง
ของมีราคาและหายาก
ทำให้เกิดอันตรายแก่ความประพฤติของผู้คน

ดังนั้นปราชญ์จึงกระทำการ
เพียงเพื่อให้ท้องอิ่มเท่านั้น
มิใช่เพื่อความสำราญของ ตา หู และลิ้น
ท่านละเลยในรูปแบบอันเป็นเปลือก
หันมาเอาใจใส่ในแก่นแท้



ภาพวาด “ทรงมังกร”บนผืนผ้าไหม
จากสุสานโบราณสมัยจั้นกั๋ว ถือเป็นภาพเขียนรูปมังกรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน


-13-
การยกย่องและการดูแคลน

" เมื่อได้รับการยกย่องและการดูแคลน
ย่อมทำให้ผู้คนหวาดผวา
สิ่งที่เราชมชอบและสิ่งที่เรากลัวเกรง
ย่อมอยู่ภายในตัวของเราเอง "

" เมื่อได้รับการยกย่องและเมื่อได้รับการดูแคลน
ย่อมทำให้ผู้คนหวาดผวา "
นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า
ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากเบื้องบน
ย่อมตื่นเต้นเมื่อได้รับ และย่อมหวาดผวาเมื่อสูญเสีย

" สิ่งที่เราชมชอบและสิ่งที่เรากลัวเกรง
ย่อมอยู่ภายในตัวของเราเอง "
นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า
เมื่อเราไม่นำพาต่อตัวตน
มีอะไรที่เราจะต้องเกรงกลัวอีก

ดังนั้นผู้ที่ให้คุณค่าแก่โลกเทียบเท่ากับตน
ย่อมได้รับความไว้วางใจให้ปกครองโลก
และผู้ที่รักโลกเทียบเท่าตน
ย่อมได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลโลก





-14-
ตามรอยเต๋า

จ้องมอง แต่มิอาจเห็น นี่เรียกว่า ไร้รูป
สดับฟัง แต่มิอาจได้ยิน นี่เรียกว่า ไร้เสียง
ไขว่คว้า แต่มิอาจจับต้อง นี่เรียกว่า ไร้ตัวตน
สิ่งทั้งสามนี้ อยู่เหนือ คำอธิบายใดๆ
ทั้งหมดนี้ประสานกลมกลืนกัน และกลายเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อปรากฏขึ้น ก็ปราศจากแสงสว่าง
เมื่อจางหายไป ก็ปราศจากความมืด
เป็นรูปที่ไร้รูป เป็นตัวตนที่ว่าง
มีความต่อเนื่อง และไม่แปรผัน
สิ่งนี้มิอาจตั้ง นิยาม ให้ได้

หวนกลับไปสู่อาณาจักรแห่งความว่างเปล่า
จึงเรียกว่า ความไร้
มีภาพพจน์แห่งความว่างเปล่า
จึงเรียกว่า ความว่าง
ตามติดไปเบื้องหน้า แต่มิอาจเห็นหน้า
ติดตามไปเบื้องหลัง แต่มิอาจเห็นหลัง

ผู้ที่ปฏิบัติภารกิจในปัจจุบัน
โดยยึดมั่นในหลักการแห่งเต๋า แต่โบราณกาล
ย่อมสามารถ หยั่งรู้ ถึงต้นกำเนิดเดิม
นี่คือ วิถีแห่งเต๋า




-15-
ผู้ชาญฉลาดในสมัยโบราณ

บุคคลผู้ชาญฉลาดแต่โบราณกาล
เปี่ยมล้น ไปด้วยปรีชาญาณ

ล้ำลึก ไปด้วยความรอบรู้
ลึกซึ้ง จนมิอาจหยั่งถึง
และด้วย มิอาจหยั่งถึง นี้เอง
จึงจำเป็นจะต้องบรรยายลักษณะดังนี้

มีความรอบคอบ
คล้ายกับกำลังข้ามแม่น้ำที่แข็งตัวในฤดูหนาว
มีความระมัดระวัง
คล้ายกับกำลังป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในทุกที่
มีความสำรวม คล้ายกำลังปฏิบัติตนเป็นอาคันตุกะ
มีความอ่อนน้อม คล้ายกับหิมะที่เริ่มจะละลาย
มีความเปิดเผยซื่อตรง คล้ายกับไม้ที่ยังไม่ได้แกะสลัก
มีความว่าง คล้ายกับหุบเขา
และโง่งม คล้ายกับสายน้ำอันขุ่นข้น

ใครจะสามารถสงบอยู่ได้
ภายในโลกอันสับสนคล้ายโคลนตม
ด้วยอาศัยความสงบนิ่ง ก็กลับกระจ่างชัดขึ้น
ใครจะสามารถสงบอยู่ได้นาน
จนอาจ นำไปสู่ การกลับฟื้นคืนชีวิต

ผู้ที่ยึดมั่นในหนทางแห่งเต๋า
ย่อมหลีกเลี่ยงความเปี่ยมล้น

และเพราะการหลีกเลี่ยงจากความเปี่ยมล้นนี้เอง
ย่อมทำให้รักษาตนไว้ได้
พ้นจากความเสื่อมโทรม
และมิต้องแสวงหาสิ่งทดแทน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 16, 2012, 11:40:07 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 05, 2012, 12:55:29 am »




-16-
สรรพสิ่งล้วนกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม

ครอบครองความเป็นสุญญตาไว้ รักษารากฐานแห่งความสงบไว้
สรรพสิ่งมากมายล้วนกำเนิดขึ้น และดำเนินไปตามวิถี
ข้าพเจ้าได้คอยเฝ้ามองสรรพสิ่ง กลับไปสู่ต้นกำเนิดเดิม

เพื่อพักผ่อนอย่างสงบ เหมือนกับพืชพันธุ์
ที่เติบโตผลิดอกออกผล แตกกิ่งและช่อใบมากมาย
ที่สุดก็ต้องกลับไปสู่รากฐานเดิม คือปฐพีที่ให้กำเนิด

การกลับไปสู่รากฐานเดิมที่ให้กำเนิด
คือ ความสงบ เรียกว่ากลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน
กลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน
ย่อมค้นพบกฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยน จึงเรียกได้ว่า เป็นผู้รู้แจ้ง
หากไม่รู้กฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยนนี้ ย่อมนำความเสื่อมสลายมาสู่ตน


ผู้ซึ่งรู้กฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยนนี้ย่อมมีความใจกว้าง
เมื่อมีความใจกว้าง ย่อมมีความยุติธรรม
เมื่อมีความยุติธรรม ย่อมเป็นสากล
เมื่อเป็นสากล ย่อมกลมกลืนกับธรรมชาติโดยไม่ขัดแย้ง
เมื่อกลมกลืนกับธรรมชาติ ย่อมกลมกลืนกับเต๋าด้วย
เมื่อกลมกลืนกับเต๋า ผู้นั้นก็เป็นอมตะ
ตลอดชีวิตของท่านจะไม่มีภัยใดๆ มาแผ้วพานได้




-17-
ผู้ปกครองประเทศที่ดี

ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้น ราษฎรเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่
ที่ดีรองลงมา ราษฎรรักและยกย่อง
ที่ดีรองลงมา ราษฎรกลัวเกรง
รองลงมาเป็นอันดับสุดท้าย ราษฎรชิงชัง

เมื่อนักปกครองขาดศรัทธาในเต๋า
ก็มักต้องการให้ประชาชนมาศรัทธาในตน

แต่สำหรับนักปกครองที่ยอดเยี่ยมนั้น
เมื่อภารกิจได้สำเร็จลงแล้ว การงานได้ลุล่วงลงแล้ว
ราษฎรต่างพากันภาคภูมิใจและกู่ก้องว่า
" การงานนั้นล้วนสำเร็จลงด้วยความสามารถของเรา "





-18-
เกิดขึ้นเพราะความเสื่อม

เมื่อสัจธรรมแห่งเต๋าเสื่อมโทรมลง
ความถูกต้องและความดีงามก็เกิดขึ้น
เมื่อความรอบรู้และความเฉลียวฉลาดเกิดขึ้น
ความหน้าไหว้หลังหลอกก็ติดตามมา

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติทั้งหก
ไม่เป็นไปโดยปรกติสุข
ก็เกิด " บิดาใจดี " และ " บุตรกตัญญู "
เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในความยุ่งเหยิง
คุณค่าของขุนนางผู้ภักดีก็เกิดขึ้น




-19-
ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์

ละทิ้งความเฉียบแหลม ละเลยความรอบรู้
ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์อีกร้อยเท่า
ละทิ้งความถูกต้อง ละเลยความยุติธรรม
ประชาชนก็จะปรองดองกันดุจเครือญาติ
ละทิ้งเล่ห์เหลี่ยม ละเลยผลประโยชน์ หัวขโมยก็จะหมดสิ้นไป

สิ่งทั้งสามนี้ คือกิริยาอาการภายนอก ที่เสแสร้งขึ้นอย่างไร้ประโยชน์

ราษฎรต้องการพึ่งพาใน การเป็นตัวของตัวเองอย่างง่ายๆ
สอดคล้องกับธรรมชาติดั้งเดิม
เพื่อขจัดความเห็นแก่ตัว เพื่อตัดรากเหง้าแห่งความโลภ





-20-
ผู้อื่นกับตัวข้าพเจ้า

เลิกการศึกษาเล่าเรียนเสีย ปัญหามากมายก็จะสิ้นสุดลง
ระหว่าง " ใช่ " กับ " ไม่ใช่ " นั้น แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
ระหว่าง " ดี " กับ " ชั่ว " นั้น แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
สิ่งที่ผู้อื่นกลัวนั้น ก็มักทำให้เราต้องกลัวด้วย นี่เรียกว่าเป็น ความหลับในความตื่น

ผู้คนในโลกพากันยิ้มแย้มเริงร่า
คล้ายกับกำลังร่วมอยู่ในงานเลี้ยงฉลอง
คล้ายกับกำลังนั่งอยู่บนหอสูง เพื่อชมความงามในฤดูใบไม้ผลิ
มีแต่ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่สงบเสงี่ยม
คล้ายกับผู้ตัดขาดจากความยินดียินร้ายทั้งปวง

คล้ายกับทารกแรกเกิดที่ยังไม่สามารถแม้แต่จะยิ้ม
ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งใด คล้ายผู้พเนจรที่ไร้บ้านเรือน
ผู้คนในโลกแม้เมื่อมีทรัพย์มากพอแล้ว ก็ยังเก็บงำสั่งสม
มีแต่ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้สละละโดยสิ้นเชิง

ดวงใจข้าพเจ้าคล้ายกับผู้โง่งม ขุ่นมัวเคลือบคลุม
ผู้อื่นเป็นผู้รู้ เฉียบแหลม ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่งมงายสับสน
ผู้อื่นฉลาด มั่นใจในตน ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่ต่ำต้อย
อดทนเหมือนท้องทะเล ล่องลอยไร้จุดหมาย

ผู้คนในโลกล้วนมีจุดมุ่งหมาย ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่ดื้อดึงเซ่อซ่า
ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่แตกต่างจากคนอื่น
เพราะได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วย คุณค่าอันสูงส่ง จากมารดาแห่งสรรพสิ่ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 24, 2012, 08:51:04 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




21-
พลังแห่งเต๋า

รูปรอยแห่งคุณความดีอันยิ่งใหญ่
ล้วนถูกชักนำมาจากเต๋า
สิ่งที่เรียกว่าเต๋านี้ เห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้
เห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้ สิ่งที่แฝงเร้นภายในคือ
รูปที่ไร้รูป
เห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้

สิ่งที่แฝงเร้นภายในคือ แก่นที่ไร้แก่น
มืดมัว สลัวราง
สิ่งที่แฝงเร้นภายในคือ พลังแห่งชีวิต
พลังแห่งชีวิตนี้มีอยู่จริง
สิ่งที่แฝงเร้นนี้ปรากฏอยู่อย่างชัดแจ้ง


ตั้งแต่โบราณกาลจวบปัจจุบัน
นามที่ไร้สำเนียงของเต๋า
มิเคยถูกลบล้าง
จากสิ่งนี้เองเราก็อาจรู้แจ้ง
ในต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง
เหตุใดข้าพเจ้าจึงรู้ซึ้งถึงต้นกำเนิดเดิม
โดยอาศัยเต๋า





-22-
การไม่แก่งแย่งแข่งขัน

ยอมเป็นผู้ต่ำต้อย จึงรักษาตนไว้ได้
ยอมงอ จึงกลับตรงได้
ยอมว่างเปล่า จึงเต็มได้
ยอมเก่า จึงกลับใหม่
ผู้มีน้อยก็จะได้รับ ผู้มีมากจะถูกลดทอน

ดังนั้นปราชญ์ย่อมรักษาความเป็น
หนึ่งเดียว ไว้
ท่านจึงกลายเป็นแบบอย่างของโลก
ท่านมิได้แสดงตนให้ปรากฏ
ความรุ่งโรจน์ของท่านกลับปรากฏขึ้น
ท่านมิได้ผยองลำพอง ชื่อเสียงของท่านกลับลือเลื่อง

ท่านมิได้โอ้อวดตน ประชาชนกลับไว้วางใจ
ท่านมิได้ภาคภูมิใจ แต่กลับได้เป็น
ผู้นำของประชาชน
ด้วยเหตุว่าท่านมิได้แก่งแย่งชิงดีกับผู้ใด
จึงไม่มีใครในโลกมาแข่งขันกับท่าน


ตามที่โบราณได้กล่าวไว้ว่า
" ยอมเป็นผู้ต่ำต้อยจึงรักษาตนไว้ได้ "
นี้มิอาจนับได้ว่าเป็นความจริงหรือ ดังนั้นปราชญ์จึง
ดำรงตนไว้ได้
และโลกทั้งโลกก็ให้ความเคารพ




-23-
เข้าร่วมกับเต๋า

การพูดมากนั้นขัดกับธรรมชาติ แม้แต่พายุจัด
ยังพัดไม่ถึงเช้า
แม้แต่พายุฝนยังตกไม่ถึงวัน ใครเล่า
ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้
คือ ธรรมชาติ แม้แต่ธรรมชาติยังไม่อาจทำสิ่งใด
ได้ยาวนาน
แล้วคนเล่าจะทำได้น้อยกว่า ธรรมชาติ อีกสักเพียงใด

ดังนั้นผู้ที่ดำเนินตามทางแห่งเต๋า ก็จะได้ร่วมกับเต๋า
ผู้ที่ดำเนินตามทางแห่งคุณความดี
ก็จะได้ร่วมกับคุณความดี
ผู้ที่ละทิ้งหนทางแห่งเต๋า ก็จะหลงทางอยู่กับการละทิ้ง


ผู้ที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า เต๋าก็ตอบสนอง
ผู้ที่เข้าร่วมกับคุณความดี คุณความดีก็ตอบสนอง
ผู้ที่เข้าร่วมกับการละทิ้ง การถูกละทิ้งก็ตอบสนอง

ผู้ที่ขาดศรัทธา จะสามารถ..
ทำให้ผู้อื่นเกิดความศรัทธาเชื่อถือในตนได้อย่างไร




-24-
กากเดนของคุณความดี

ผู้ที่ยืนเขย่งบนปลายเท้าจะยืนได้ไม่มั่นคง
ผู้ที่เดินเร็วเกินไปจะเดินไม่ได้ดี
ผู้ที่แสดงตนให้ปรากฏจะไม่เป็นที่รู้จัก
ผู้ที่ยกย่องตนเองจะไม่มีใครเชื่อถือ
ผู้ที่ลำพองจะไม่ได้เป็นหัวหน้าในหมู่คน

สิ่งเหล่านี้ในทัศนะของเต๋าแล้ว
ย่อมเรียกได้ว่า
กากเดนและเนื้อร้ายของคุณความดี

อันเป็นสิ่งที่พึงเหยียดหยาม
ดังนั้นบุคคลผู้ยึดมั่นใน
หนทางแห่งเต๋า
พึงหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้




-25-
ความยิ่งใหญ่สี่ชนิดในจักรวาล

ก่อนการดำรงอยู่ของฟ้าและดิน
มีบางสิ่งบางอย่าง
มืดมัวเคลือบคลุม
เงียบงัน โดดเดี่ยว อยู่เพียงลำพัง
ไม่แปรเปลี่ยน
เป็นอมตะหมุนเวียนไม่หยุดยั้ง
มีค่าควรแก่การเป็นมารดาของสรรพสิ่ง
 
ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อสิ่งนั้น
แต่ถ้าถูกบังคับให้เรียก
ก็จะเรียกว่า " เต๋า " และจะให้ชื่อว่า " ยิ่งใหญ่ "
ยิ่งใหญ่หมายถึงความต่อเนื่อง
ความต่อเนื่องหมายถึง ความยาวไกล

ความยาวไกลหมายถึง
การกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม


ดังนั้นเต๋าจึงยิ่งใหญ่ ฟ้าจึงยิ่งใหญ่ ดินจึงยิ่งใหญ่
ปราชญ์จึงยิ่งใหญ่ นี่คือความยิ่งใหญ่สี่ชนิดในจักรวาล
และปราชญ์ก็นับเป็นหนึ่งในนั้น

คนทำตามกฎแห่งดิน ดินทำตามกฎแห่งฟ้า
ฟ้าทำตามกฎแห่งเต๋า เต๋าคงอยู่และเป็นไปด้วยตนเอง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 24, 2012, 09:38:14 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




-26-
ความหนักแน่นและความสงบ

ความหนักแน่นเป็นรากฐานแห่งความไม่มั่นคง
ความสงบเป็นนายของความรีบเร่งลนลาน

ดังนั้นปราชญ์จึงเดินทางไปตลอดวัน
โดยไม่เคยละทิ้งรถเสบียง
อันบรรจุความหนักแน่นและความสงบอยู่จนเปี่ยมล้น
ในท่ามกลางเกียรติศักดิ์และความรุ่งโรจน์
ท่านก็สามารถอยู่อย่างสงบโดยไม่ถูกรบกวน
ทำอย่างไรจึงจะทำให้จักรพรรดิผู้ปกครองประเทศ
หันมาใช้ชีวิตตามแนวทางแห่งปราชญ์นี้

ในท่ามกลางความไม่มั่นคง
ความหนักแน่นก็สูญสลายไป
ในท่ามกลางความรีบเร่ง ความสงบก็สูญสลายไป




-27-
ช่วยสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน

นักเดินทางที่ดีไม่ทิ้งร่องรอย
นักพูดที่ดีไม่มีข้อผิดพลาด
นักคำนวณที่ดีไม่ต้องใช้ไม้ติ้ว
บานประตูที่ดีไม่ต้องใช้สลักใช้กลอน
แม้กระนั้นก็ไม่สามารถเปิดออก
เงื่อนปมที่ดีไม่ต้องใช้เชือกมาผูก
แม้กระนั้นก็ไม่สามารถแก้ออก

ดังนั้นปราชญ์จึงมีความดีในการช่วยเหลือผู้คน
ไม่มีใครเลยที่ถูกท่านปฏิเสธ
ท่านมีความดีในการบำรุงเลี้ยงสรรพสิ่ง

ไม่มีสรรพสิ่งใดเลยที่ถูกท่านปฏิเสธ
นี่จึงเรียกว่าท่านเป็นผู้รู้แจ้ง
ดังนั้นคนดีจึงเป็นครูของคนชั่ว
คนชั่วจึงเป็นอุทธาหรณ์ของคนดี

คนใดไม่เคารพนอบน้อมต่อผู้ที่เป็นครู
หรือคนใดไม่มีความรักต่อผู้ที่เป็นอุทธาหรณ์
ถึงแม้จะมีความรอบรู้สักเพียงใด ก็ยังได้ชื่อว่า
เป็นผู้หลงทางผิด นี่คือความจริงอันล้ำลึกยิ่ง




-28-
แสดงออกด้วยความง่าย

ผู้มีความเข้มแข็ง
แต่แสดงออกด้วยความอ่อนโยน
ก็จะกลายเป็นลำธารของโลก
การเป็นลำธารของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด
และกลับไปสู่สภาวะทารกอันไร้เดียงสา

ผู้มีความรู้กระจ่างดั่งสีขาว
แต่แสดงออกด้วยความคลุมเครือดั่งสีดำ
ก็จะกลายเป็นแบบอย่างของโลก
การเป็นแบบอย่างของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด
และกลับไปสู่สภาวะอันสูงเยี่ยม

ผู้มีเกียรติและความรุ่งเรือง
แต่แสดงออกด้วยความถ่อมตน
ก็จะกลายเป็นหุบเขาของโลก
การเป็นหุบเขาของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด
และกลับไปสู่ความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ดังอดีต

ความง่ายนั้นเหมือนกับไม้ที่ยังมิได้แกะสลัก
เมื่อนำมาสลักเสลาก็จะกลายเป็นภาชนะอันมีประโยชน์
เมื่อปราชญ์รับอาสาเข้าปฏิบัติภารกิจ
ท่านจะเป็นเอกในหมู่เสนาบดี
มหาเสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่จะไม่มีวันถูกโค่นล้ม




-29-
ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก

มีบางคนที่จะคิดยึดครองโลก
และจัดการเปลี่ยนแปลงไปตามที่ตนปรารถนา
ข้าพเจ้าทราบดีว่าเขาคงทำไม่สำเร็จเป็นแน่
ด้วยโลกนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์
มนุษย์ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวบิดเบือน

ผู้ที่พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวเท่ากับทำลายมัน
ผู้ที่พยายามเข้าครอบครองจะต้องสูญเสีย
ดังนั้นปราชญ์ย่อมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ท่านจึงมิได้ทำลายมัน ไม่เข้าไปครอบครอง
จึงมิได้สูญเสีย

มีบ้างบางคนชอบไปข้างหน้า
บางคนติดตามมาข้างหลัง
บ้างชอบร้อน บ้างชอบหนาว
บ้างแข็งแรง  บ้างอ่อนแอ
บ้างเฟื่องฟู   บ้างตกต่ำ

ดังนั้นปราชญ์ย่อมละทิ้งความเกินเลย
ละทิ้งความฟุ่มเฟือย
ละทิ้งความผยองลำพอง




-30-
สงคราม

ผู้ที่รู้เต๋าและประสงค์จะเข้ามาช่วยเหลือกิจการบ้านเมือง
จะต้องคัดค้านการพิชิตด้วยกำลังทหาร
เพราะสิ่งนี้จะได้รับการตอบแทน
ยกทัพไปรุกรานผู้อื่นก็จะถูกผู้อื่นยกทัพมากระทำตอบ
เมื่อกองทัพยกไปถึงที่ใด
ดินแดนนั้นก็จะเต็มไปด้วยหญ้าและพงหนาม
เมื่อยกทัพใหญ่ไป
สิ่งที่จะตามมาก็คือช่วงเวลาแห่งความขาดแคลน
ความยากแค้น
และความอดอยาก

ดังนั้นเมื่อขุนพลทำการรบสำเร็จผลก็หยุดยั้ง
มิกล้าที่จะพึ่งพาความเข้มแข็งของกำลังทัพ
สำเร็จผลแล้วไม่ถือว่ารุ่งโรจน์
สำเร็จผลแล้วไม่โอ้อวด
สำเร็จผลแล้วไม่ลำพอง
ความสำเร็จผลนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอันน่าโศกเศร้า
ความสำเร็จผลนั้นเกิดขึ้นมิใช่ด้วยนิยมในความรุนแรง

เมื่อมีเวลารุ่งโรจน์ก็มีเวลาตกต่ำ
ด้วยความรุนแรงนี้ขัดกับเต๋า
ผู้ที่ขัดกับเต๋าจะจบสิ้นไปโดยเร็ว


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 05, 2013, 11:33:00 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




-31-
ชัยชนะอันน่าโศกเศร้า

ศัตราวุธนั้นแม้จะมีลวดลายสวยงาม
แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่สุด
ผู้คนต่างเกลียดชังมัน
ดังนั้นผู้มีศาสนธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ

บุคคลผู้เจริญนิยมด้านซ้ายว่าเป็นด้านแห่งสวัสดิมงคล
แต่ในพิธีการทางการทหารนิยมทางด้านขวา

อาวุธนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย
หาใช่เป็นสิ่งที่บุคคลผู้เจริญสมควรใช้ไม่
เมื่อมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ทางออกที่ดีที่สุดคือตั้งตนอยู่ในความสงบ

แม้ชัยชนะในการรบก็มิอาจนับว่าเป็นสิ่งดีงาม
และผู้ที่คิดว่ามันเป็นสิ่งดีงาม
คือผู้ที่ชื่นชอบในการฆ่าฟัน
ผู้ที่ชื่นชอบในการฆ่าฟัน
จะไม่ได้รับความสมปรารถนาใดๆ เลยภายใต้แผ่นฟ้า

ถือกันว่าสวัสดิมงคลนั้นอยู่ข้างซ้าย
ถือกันว่าอัปมงคลนั้นอยู่ข้างขวา
รองแม่ทัพจึงยืนอยู่ด้านซ้าย แม่ทัพจึงยืนอยู่ด้านขวา

นี่อาจกล่าวได้ว่าการรบเป็นพิธีของงานศพ
การล้างผลาญคนเป็นจำนวนมากมาย
ย่อมนำมาซึ่งการคร่ำครวญและโศกสลด
แม้ชัยชนะนั้นก็ต้องเฉลิมฉลองด้วยพิธีศพ




-32-
มหาสมุทรแห่งสรรพสิ่ง

เต๋าอันสูงสุดนั้นไร้ชื่อ
ท่อนไม้อันยังมิได้สลักเสลา
ก็จะไม่มีใครนำเอาไปใช้เป็นภาชนะได้
หากกษัตริย์และขุนนาง
สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติอย่างง่ายๆนี้ไว้ได้
โลกทั้งโลกก็จะมานอบน้อมต่อท่าน

เมื่อฟ้าและดินเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
สายฝนอันชื่นฉ่ำก็ตกลงมา
อยู่เหนือการบังคับบัญชาของทุกสิ่ง


เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้น
ชื่อสำหรับใช้เรียกสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นด้วย
และมีมาตั้งแต่นั้น

พึงรู้ว่าเมื่อใดถึงเวลาควรหยุด หยุดอะไรเล่า
หยุดความวุ่นวายความสับสน
หยุดความยุ่งยากซับซ้อน
หยุดความเปรื่องปราด
หยุดความเจริญในทางโลก

ผู้ที่รู้ว่าเมื่อใดควรหยุด ก็จะรอดพ้นจากภัยทั้งสิ้น

เต๋านั้นอาจเปรียบได้กับแม่น้ำทั้งหลาย
อันไหลไปรวมกัน ณ ท้องมหาสมุทร





-33-
รู้จักตนเอง

ผู้ที่เข้าใจผู้อื่นคือผู้รอบรู้ ผู้ที่เข้าใจตนเองคือผู้รู้แจ้ง
ผู้ที่มีชัยต่อคนอื่นคือผู้มีกำลัง
ผู้ที่มีชัยต่อตนเองคือผู้เข้มแข็ง
ผู้ที่มักน้อยคือผู้ร่ำรวย ผู้ที่มานะพยายามคือผู้มีความหวัง

ผู้ที่อยู่ในสถานะอันเหมาะสมของตน
ย่อมอยู่ได้ยาวนาน
ถึงแม้ผู้นั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่คุณความดียังคงอยู่สืบไป




-34-
เต๋าอันยิ่งใหญ่

เต๋าอันยิ่งใหญ่นั้นไหลบ่าท่วมท้นไปทุกแห่งหน
เหมือนกับสายน้ำอาจไหลไปทางซ้ายหรือทางขวา
สรรพสิ่งอุบัติขึ้นจากเต๋า จึงไม่มีสิ่งใดอาจฝ่าฝืนเต๋าได้
เมื่องานของเต๋าสำเร็จลุล่วงลง
ก็มิได้เข้าครอบครอง
เต๋าถนอมและบำรุงเลี้ยงสรรพสิ่ง แต่มิได้ตั้งตนเป็นเจ้าของ
การดูแลของเต๋าปราศจากกิเลสตัณหา

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเต๋าเป็นสิ่งเล็ก
และจากการเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่ง
ก็อาจกล่าวได้อีกว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ด้วยเหตุที่เต๋าไม่เคยประกาศความยิ่งใหญ่
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบั้นปลาย
ความยิ่งใหญ่ของเต๋าจึงปรากฏขึ้นและคงอยู่





-35-
ลักษณะเด่นคือความสามัญ

ยึดมั่นในหนทางอันยิ่งใหญ่ (เต๋า)
และโลกทั้งโลกก็จะดำเนินรอยตาม
ตามรอยนี้ก็จะนิราศจากภัย
มีชีวิตอยู่ด้วยความรุ่งเรือง สันติสุข และมั่นคง

ดนตรีเสนาะ อาหารโอชะ
มักทำให้ผู้เดินทางต้องหยุดยั้ง
แต่เต๋านั้น จืดชืด จนไร้รสชาติ มองหาก็ไม่อาจเห็น
ฟังดูก็ไม่ได้ยิน แต่เมื่อนำมาใช้

คุณประโยชน์นั้นจะไม่มีวันหมดสิ้น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 13, 2012, 06:14:25 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



-36-
ชนะแข็งด้วยอ่อน

ผู้ที่ถูกลดทอน จะต้องมีมากมาก่อน
ผู้ที่อ่อนแอ จะต้องเข้มแข็งมาก่อน
ผู้ที่ตกต่ำ จะต้องยิ่งใหญ่มาก่อน
ผู้ที่ได้รับ จะต้องให้มาก่อน
เหล่านี้คือ นัยที่แสดงออก ให้ปรากฏ

ความอ่อนละมุนมีชัยเหนือความแข็งกร้าว
ควรปล่อยให้มัจฉาอยู่ในสระลึกจะดีกว่า
เหมือนดั่งเก็บงำศัตราวุธทั้งมวล
ของบ้านเมืองไว้มิให้ใครแลเห็น




-37-
ปกครองด้วยความเรียบง่าย

เต๋าไม่เคยกระทำ แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงลง
หากกษัตริย์และเจ้านครสามารถรักษาเต๋าไว้ได้
โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยความต่อเนื่อง
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปและเกิดการกระทำต่างๆขึ้น
จงปล่อยให้ความเรียบง่าย แต่บรรพกาล เป็นผู้ควบคุมการกระทำ
ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ
มันช่วย ขจัดความอยาก ทั้งปวง
เมื่อขจัดความอยากได้ ความสงบย่อมเกิดขึ้น
ดังนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข




-38-
เมื่อเต๋าสูญหายไป

บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง
มิได้รู้ว่าตนเองมีคุณธรรม
ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้มีคุณธรรม
บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมเพียงเล็กน้อย
พยายามดิ้นรนรักษาคุณธรรมของตนไว้
กลับต้องสูญเสียมันไป
ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมดูคล้ายกลับเฉื่อยชา
แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จเรียบร้อยลง
ผู้ต่ำต้อยด้วยคุณธรรมทำแล้วทำเล่า
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่สำเร็จผล

ผู้มีเมตตายิ่งนั้นกระทำโดยปราศจากการกระตุ้นเตือน
ผู้มีความยุติธรรมยิ่งนั้นกระทำโดยการกระตุ้นเตือน
ผู้ยึดถือประเพณีอันเคร่งครัดกระทำโดยการกระตุ้นเตือน
ผู้ยึดถือประเพณีอันเคร่งครัดกระทำลงไป
เมื่อมิได้รับการตอบสนองต่อผู้ใด
ก็หันมาใช้วิธีการบังคับ
เนิ่นนานต่อมาผู้คนจึงค่อยๆ เชื่อถือตามอย่างประเพณี

ดังนั้นเมื่อเต๋าสาบสูญไป
คุณธรรมก็เข้ามาแทนที่
เมื่อคุณธรรมสูญหายไป
ความเมตตาก็เข้ามาแทนที่
เมื่อความเมตตาสูญหายไป
ความยุติธรรมก็เข้ามาแทนที่
เมื่อความยุติธรรมสูญหายไป
ประเพณีก็เข้ามาแทนที่

ประเพณีนั้นคือความภักดีและความสัตย์ซื่อ
ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในดวงใจ
และเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย
ความหยั่งรู้อย่างกระท่อนกระแท่น
เป็นเพียงภาพลวงของเต๋า
และเป็นจุดเริ่มต้นของความงมงาย

ดังนั้นมหาบุรุษย่อมธำรงความหนักแน่นไว้
มิกล้าเลินเล่อประมาท
อยู่ในความจริง ละทิ้งสิ่งมายา
ท่านปฏิเสธสิ่งหลังและยอมรับในสิ่งแรก




-39-
ขอเป็นระฆังหิน

ในอดีตกาลสิ่งเหล่านี้ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
จากความเป็นหนึ่งเดียวฟ้าก็กระจ่างแจ้ง
จากความเป็นหนึ่งเดียวพื้นดินก็มั่นคง
จากความเป็นหนึ่งเดียวดวงจิตก็ศักดิ์สิทธิ์
จากความเป็นหนึ่งเดียวแหล่งน้ำก็เปี่ยมล้น
จากความเป็นหนึ่งเดียวสรรพสิ่งก็ดำเนินไปและเติบโต
จากความเป็นหนึ่งเดียวกษัตริย์จึงได้ปกครองไพร่ฟ้า
นี่คือสาเหตุของความเป็นไป

หากฟ้าไม่กระจ่างแจ้งก็จะพังทลาย
หากพื้นดินไม่มั่นคงก็จะแตกร้าว
หากดวงจิตไร้ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะดับสูญ
หากแหล่งน้ำไม่เปี่ยมล้นก็จะเหือดแห้ง
หากสรรพสัตว์ไร้พลังแห่งชีวิตก็จะแตกดับ

หากกษัตริย์ไร้อำนาจก็จะถูกโค่นล้ม

ดังนั้นการเป็นผู้สูงส่งต้องพึ่งพาคนสามัญช่วยสนับสนุน
ความรุ่งโรจน์ต้องอาศัยความต่ำต้อยเป็นพื้นฐาน


นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่า
ทำไมกษัตริย์และผู้ปกครองจึงเรียกตัวเองว่า
ผู้กำพร้า ผู้โดดเดี่ยว ผู้ไร้คุณค่า
นี่มิได้หมายความว่า
ท่านถือเอาความต่ำต้อยเป็นรากฐานหรอกหรือ
สิ่งที่ผู้คนรังเกียจมิใช่
ความกำพร้า ความโดดเดี่ยว และความไร้คุณค่าหรอกหรือ
แม้กระนั้นกษัตริย์และผู้ปกครองก็ยังนำมันมาตั้งเป็นฉายาแห่งตน


เกียรติสูงคือความไร้เกียรติ
เพิ่มพูนด้วยการลดทอน
ลดทอนแต่กลับได้เพิ่มพูน

มิอาจทำตัวให้มีเสียงก้องกังวานเหมือนระฆังหยก
ในขณะที่ผู้อื่นมีเสียงเหมือนระฆังหิน




-40-
วัฏฏะ

การ ย้อนกลับ
คือการ กระทำ ของเต๋า
ความนุ่มนวลคือ
ส่วนประกอบ
ของเต๋า

สรรพสิ่งในโลก กำเนิด มาจากความมี
และความมี
กำเนิดมาจาก ความว่าง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2014, 07:09:58 pm โดย ฐิตา »