ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค  (อ่าน 3952 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
01.เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม  ทรงปรารภเจ้าหญิงโรหิณี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โกธํ  ชเห  เป็นต้น.

สมัยหนึ่ง  พระอนุรุทธเถระ  (พระอดีตเจ้าชายอนุรุทธะ)ได้ไปที่เมืองกบิลพัสดุ์  พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป  ขณะที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองนี้  พวกพระญาติของท่าน  เมื่อทราบว่าท่านมา  ก็ได้มาถวายความเคารพ  ยกเว้นแต่พระน้องนางของพระเถระชื่อโรหิณี  เมื่อท่านทราบว่าเจ้าหญิงโรหิณีไม่มา เพราะเป็นโรคเรื้อน  ท่านจึงให้คนไปเชิญเจ้าหญิงมาพบ  เจ้าหญิงได้เรียนกับพระอนุรุทธะว่า  ที่พระนางไม่มาก็ด้วยความละอายที่เป็นโรคเรื้อนนี้   พระเถระได้แนะนำเจ้าหญิงว่า  โรคนี้เป็นโรคกรรม  ก็ต้องแก้ด้วยการทำบุญ  แล้วท่านก็ได้แนะนำให้เจ้าหญิงขายเครื่องประดับ  แล้วนำเงินที่ได้มาสร้างโรงฉัน สำหรับพระภิกษุสงฆ์  ซึ่งเจ้าหญิงได้ตอบตกลงตามคำแนะนำของพระเถระ  เมื่อรวบรวมได้เงินจากการขายเครื่องประดับของเจ้าหญิงมาแล้ว  พระเถระก็ได้ขอให้พระญาติคนอื่นๆช่วยดำเนินการในการก่อสร้างโรงฉันนั้น  ในระหว่างการก่อสร้างโรงฉันยังไม่เสร็จ  พระเถระได้แนะนำให้เจ้าหญิงโรหิณีกวาดพื้นโรงฉัน ปูอาสนะสำหรับพระสงฆ์ และตักน้ำใส่ตุ่มน้ำในในโรงฉันทุกวัน  ซึ่งเจ้าหญิงได้ปฏิบัติตามที่พระเถระแนะนำทุกอย่าง  พระคัมภีร์กล่าวว่า  เมื่อพระนางกวาดโรงฉันอยู่นั้น  โรคเรื้อนก็เริ่มมีอาการดีขึ้นๆ ตามลำดับ   เมื่อโรงฉันสร้างเสร็จแล้ว  เจ้าหญิงก็ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระศาสดาเป็นประมุขมานั่งจนเต็มโรงฉัน  แล้วนางก็ได้ให้คนอังคาสพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ด้วยภัตตาหารที่ประณีต
 
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดาตรัสถามถึงเจ้าภาพผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงทานและถวายภัตตาหารในครั้งนี้  พระอนุรุทธะกราบทูลว่า  เจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของทานค็คือเจ้าหญิงโรหิณี  พระศาสดาจึงได้มีรับสั่งให้คนไปเชิญพระนางมาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า พระนางทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเรื้อนนี้หรือไม่  เมื่อพระนางตอบว่าไม่ทราบ  พระศาสดาตรัสว่า  ที่พระนางเป็นโรคร้ายแรงนี้ก็เพราะมีสมุฏฐานมาจากความโกรธแต่ในอดีตชาติ  พระศาสดาจึงได้นำเรื่องบุรพกรรมของพระนางมาเล่าว่า ในชาติหนึ่ง พระนางเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี  ได้มีจิตริษยาโกรธแค้นอาฆาตหญิงนักเต้นรำ(นาฏกิตถี)คนโปรดคนหนึ่งของพระราชาผู้สวามี  ทรงดำริว่า  “จักให้ทุกข์บังเกิดแก่หญิงนั้น”  แล้วให้คนนำลูกหมามุ่ยมาบดเป็นผง  โรยใส่ในที่นอนและที่ผ้าห่มของหญิงนั้น  ต่อไปก็เรียกหญิงนั้นเข้ามาแล้วใช้ผงหมาหมุ่ยสาดลงบนตัว   ทำให้ร่างกายของหญิงคนโปรดของพระราชาเกิดอาการพุพองป็นตุ่มน้อยตุ่มใหญ่  ซึ่งนางยิ่งเกาก็ยิ่งแสบคัน  เมื่อนางวิ่งเข้าไปนอนในห้องนอน ก็ไปเจอกับผงหมามุ่ยที่โรยอยู่ตามที่นอนและที่ผ้าห่มซ้ำเข้าอีก  ก็ยิ่งคันยิ่งเกาและยิ่งทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น   พระอัครมเหสีในชาตินั้นก็คือเจ้าหญิงโรหิณีในชาตินี้นั่นเอง  เพราะผลของบาปกรรมในครั้งนั้น เจ้าหญิงโรหิณีจึงมาเป็นโรคเรื้อนในปัจจุบันชาติ  ครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาล่าแล้ว  ตรัสว่า “โรหิณี  ก็กรรมนั่นที่เธอทำแล้วในกาลนั้น  ก็ความโกรธก็ดี  ความริษยาก็ดี  แม้มีประมาณเล็กน้อย  ย่อมไม่ควรทำเลย
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โกธํ  ชเห  วิปฺปชเหยฺย  มานํ
สํโยชนํ  สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตํ  นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ  นานุตปนฺติ  ทุกขา ฯ


(อ่านว่า)
โกทัง  ชะเห  วิบปะชะเหยยะ  มานัง
สังโยชะนัง  สับพะมะติกกะเมยยะ
ตัง  นามะรูปัดสะมิมะสัดชะมานัง
อะกินจะนัง  นานุปะตันติ  ทุกขา.

(แปลว่า)
บุคคลพึงละความโกรธ  สละความถือตัว
ล่วงสังโยชน์ทั้งสิ้นได้
ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกต้องบุคคลนั้น

ผู้ไม่ข้องในนามรูป  ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
.

เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
แม้พระนางโรหิณี  ก็บรรลุโสดาปัตติผล  พระนางได้หายจากโรคเรื้อน  และมีผิวพรรณดุจทองคำ.

พระคัมภีร์ยังได้กล่าวด้วยว่า  เมื่อพระนางโรหิณีสิ้นพระชนม์แล้ว  ก็ได้ไปเกิดในชาติใหม่เป็นนางเทพธิดา อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เป็นผู้มีความงดงามล้ำเลิศ  เป็นที่หมายปองของเทพบุตร  4 องค์  จนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งชิงนาง  เมื่อตกลงกันไม่ได้  ต้องไปให้ท้าวสักกะ  จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เป็นตุลาการตัดสินคดีความ  แต่พอตุลาการผู้ทรงเกียรติเห็นนางเทพธิดาเท่านั้น  ก็หลงรักนางอีกเหมือนกัน  เรื่องจึงลงเอยที่  เทพบุตรทั้ง 4  จำต้องหลีกทางให้ท้าวสักกะ   เพราะพระองค์ทรงให้เหตุผลที่หนักแน่นกว่าว่า  หากพระองค์ไม่ได้นางมาครอบครองก็ต้องตายแน่ๆ ดังสำนวนในพระคัมภีร์กล่าวถึงดำรัสของท้าวสักกะกับเทพบุตร 4 องค์นั้นว่าพ่อทั้งหลาย  จิตของพวกท่านยังพอข่มได้ก่อน  ส่วนเรา  เมื่อได้เทพธิดานี้  จักเป็นอยู่  เมื่อเราไม่ได้ จักต้องตาย”  ท้าวสักกะทรงมีพระทัยทั้งรักทั้งหลงนางเทพธิดา  ทรงตามใจนางทุกอย่าง  จนถึงขั้นที่ว่า  “เมื่อนางกราบทูลว่า หม่อมฉันจะไปสู่สนามเล่นชื่อโน้น  ท้าวสักกะก็ไม่สามารถจะทรงขัดคำของนางได้เลย”



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 01:19:58 pm »



02.เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์  ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โย  เว  อุปฺปติตํ  โกธํ  เป็นต้น

แต่เดิมผู้บวชแล้วต้องอยู่โคนต้นไม้หรือถ้ำาเขา   ต่อมาพระศาสดาทรงอนุญาตให้ภิกษุมีเสนาสนะกุฎีวิหารเป็นที่อยู่อาศัยได้  และพวกคฤหัสถ์ชาวบ้านมีเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์เป็นต้น  ก็ได้เริ่มก่อสร้างเสนาสนะต่างๆเหล่านั้นถวายภิกษุสงฆ์    มีภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่ง   ต้องการสร้างวัดด้วยตนเอง  จึงเข้าไปในป่าเพื่อตัดต้นไม้   เดินไปเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งก็รู้สึกพึงพอใจ  เงื้อขวานขึ้นจะตัด   เทวดาที่สถิตอยู่ที่ต้นไม้(รุกขเทวดา) กำลังมีลูกอ่อน  อุ้มบุตรเข้าสะเอว  มายืนอ้อนวอนว่า “พระคุณเจ้า  ขอท่านอย่าตัดวิมานของข้าพเจ้าเลย  ข้าพเจ้าไม่มีที่อยู่  ไม่อาจอุ้มบุตรเที่ยวเร่ร่อนไปได้”

ภิกษุนั้นเห็นว่าต้นไม้ต้นนั้นเท่านั้นเหมาะที่จะตัด  จึงไม่ยอมฟังความของเทวดา  เทวดาจึงใช้วิธีการที่จะให้ภิกษุนั้นใจอ่อน  โดยรีบนำบุตรไปแขวนไว้ที่กิ่งไม้   พระภิกษุเงื้อขวานขึ้นแล้วยั้งมือไม่ทัน  คมขวานเลยไปถูกแขนของทารกลูกของเทวดาขาด  เทวดาโกรธมาก ได้ยกมือทั้งสองขึ้นด้วยหมายใจว่าจะฟาดภิกษุนั้นให้ตาย  แต่ก็ยั้งมือไว้ทัน ด้วยฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า  ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล  ถ้าเราฆ่าภิกษุนี้  ก็จักไปเกิดในนรก  พวกเทวดาอื่นๆ ที่พบภิกษุมาตัดต้นไม้ของตนบ้าง ก็จะเอาเราเป็นตัวอย่าง  เข่นฆ่าภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน  แต่ภิกษุนี้มีเจ้าของ  ทางที่ดีเราควรไปหาคนที่เป็นเจ้าของนั้น  คิดแล้วรุกขเทวดานั้น  ก็ร้องไห้ไปเฝ้าพระศาสดา  ถวายบังคมแล้วกราบทูลเรื่องราวตั้งแต่ต้น  แม้จนกระทั่งความคิดของตนเองที่ข่มใจโกรธไม่ทำร้ายภิกษุรูปนั้น  พระศาสดาตรัสว่า  “ถูกแล้วๆ   เทพดา  เธอข่มความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างนั้นไว้อยู่  เหมือนห้ามล้อรถกำลังหมุนไว้ได้  ชื่อว่าทำความดีแล้ว
จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  เว  อุปฺปติตํ  โกธํ
รถํ  ภนฺตํว  ธารเย
ตมหํ  สารถึ  พฺรูมิ
รสฺมิคาโห  อิตโร  ชโน  ฯ


(อ่านว่า)
โย  เว  อุบปะติตัง  โกธัง
ระถัง  พันตัง วะ  ทาระเย
ตะมะหัง  สาระถิง  พรูมิ
ระสะคาโห  อิตะโร  ชะโน.

(แปลว่า)
ผู้ใดแลสะกดความโกรธที่พลุ่งขึ้น
เหมือนคนห้ามรถที่กำลังแล่นไปได้
เราเรียกผู้นั้นว่า สารถี

ส่วนคนนอกนี้เป็นเพียงผู้ถือเชือก
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง    รุกขเทวดา บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว.

รุกขเทวดานั้น  แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว  ก็ยังยืนร้องไห้อยู่  พระศาสดาตรัสถามถึงสาเหตุที่ยังร้องไห้อยู่นั้น  เมื่อทราบความว่าอยากจะได้ต้นไม้ที่จะใช้สิงสถิตต้นใหม่  พระศาสดาจึงทรงชี้ไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ใกล้กับพระคันธกุฎี  ตรัสว่า “ ต้นไม้ต้นโน้นว่าง  เธอจงเข้าไปสถิตเถิด”  รุกขเทวดาก็ได้เข้าไปสถิตที่ต้นไม้นั้น  และไม่มีเทวดาองค์ใดมาแย่งชิงต้นไม้ต้นนี้ไปจากรุกขเทวดานั้นได้  เพราะต่างทราบดีว่า “เป็นวิมานของเทวดานี้  อันพระพุทธเจ้าประทาน”  นอกจากนั้นแล้ว  พระศาสดาก็ยังทำเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ  ทรงบัญญัติภูตคามสิกขาบท  ห้ามภิกษุทั้งหลายพรากของเขียว ไม่ว่าจะเป็น ผัก หญ้า  ต้นไม้  ที่ยังมีชีวิตเขียวสดอยู่  ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติ.
 


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 01:53:04 pm »



03.เรื่องอุตตราอุบาสิกา

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงทำภัตตกิจในเรือนของนางอุตตรา  ทรงปรารภอุบาสิกาชื่ออุตตรา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   อกฺโกเธน  ชิเน  โกธํ   เป็นต้น

นางอุตตราในเรื่องนี้  เป็นธิดาของนายปุณณะ  ซึ่งนายปุณณะนี้เดิมเป็นผู้ยากไว้  แต่ต่อมาได้เป็นเศรษฐี   เรื่องราวมีอยู่ว่า  นายปูณณะเป็นคนงานทำงานอยู่กับสุมนเศรษฐีในกรุงราชคฤห์   ในวันหนึ่ง  นายปุณณะและภรรยาได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสารีบุตร  หลังจากที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ   จากผลของการถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระเถระทำให้ปุณณะได้กลายเป็นเศรษฐีในทันที  โดยก่อนหน้านี้นายปุณณะไปไถนาอยู่ในนาของเศรษฐีและได้พบว่าดินที่ไถขึ้นมากลายเป็นทอง  นายปุณณะจึงได้ขนทองทั้งหมดไปถวายพระราชา  พระราชาจึงได้สถาปนาให้นายปุณณะเป็นเศรษฐีอย่างเป็นทางการ  ต่อมาเมื่อครอบครัวของเศรษฐีใหม่ปุณณะผู้นี้ได้ถวายทานแด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลายเป็นเวลา 7 วัน  พอถึงวันที่ 7   หลังจากได้ฟังธรรมชื่ออนุปุพพิกถาจากพระศาสดาแล้ว  คนในครอบครัวของเปุณณเศรษฐี  คือ ปุณณเศรษฐีของ   ภรรยาของปุณณเศรษฐี  และนางอุตตราธิดาของปุณณเศรษฐี  ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน     

ต่อมา  นางอุตตราธิดาของปุณณเศรษฐีนี้  ได้แต่งงานงานกับเศรษฐีของกรุงราชคฤห์ชื่อสุมนเศรษฐี  ซึ่งตระกูลของสุมนเศรษฐีเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา   เมื่อนางอุตตราซึ่งเป็นพระโสดาบันเมื่อไปอยู่ที่บ้านของสามี  ก็เกิดความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง  นางจึงแจ้งไปทางปุณณเศรษฐีผู้บิดาว่า  การที่นางไปอยู่ในบ้านของสามีซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น  ไม่ผิดอะไรกับการเข้าไปอยู่ในกรงขัง  เพราะนางไม่ได้มีโอกาสได้พบเห็นและได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์  ฝ่ายปุณณเศรษฐีผู้บิดามีความเห็นใจธิดา  ได้ส่งเงินไปให้ธิดาจำนวน 15,000  กหาปณะ  เพื่อที่ว่าเมื่อธิดาขออนุญาตจากสามีได้แล้ว  ก็ให้นำเงินจำนวนนี้ไปว่าจ้างหญิงนครโสเภณีให้มาช่วยดูแลสามีแทนนาง  ธิดาของปุณณเศรษฐีจึงนำเงินนั้นไปว่าจ้างนางสิริมา  หญิงนครโสเภณีที่มีความงดงดงามมาก  ให้มาทำหน้าที่ดูแลสามีของนางเป็นเวลา 15 วัน

ในระหว่าง 15 วันนั้น  นางอุตตราได้ถวายทานแด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย   พอถึงวันที่ 15  ขณะที่นางอุตตรากำลังตระเตรียมอาหารอยู่ในครัว  สามีของนางอุตตรามองดูนางอุตตราจากทางหน้าต่างของปราสาทแล้วก็ยิ้ม  และพึมพำกับตนเองว่า  “นางคนนี้ช่างโง่เขลาเสียจริงๆ  ช่างไม่รู้จักหาความสุขให้แก่ตนเองบ้างเลย  มามัวเหนื่อยจัดหาอาหารถวายพระไปทำไมกัน”  ข้างนางสิริมาเห็นสามีของนางอุตตรายิ้ม  ลืมไปว่าตัวเองเป็นแค่เมียเช่า  คิดว่าตัวเองเป็นเมียจริง เกิดรู้สึกริษยาหึงหวงนางอุตตรา  ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้  ได้ลงจากปราสาทเดินเข้าไปในครัว  นำกระบวยไปตักน้ำมันเนยที่กำลังเดือดแล้วจะนำไปรดลงที่บนศีรษะของนางอุตตรา  ข้างนางอุตตราเห็นนางสิริมาหน้าตาทมึงทึงเดินถือกระบวยน้ำมันเดินเข้ามาหา  ก็มิได้แสดงความโกรธเคืองตอบนางสิริมาแต่อย่างใด  ตรงกันข้ามนางกับคิดในแง่ดีกับนางสิริมาและนึกขอบใจนางสิริมาด้วยซ้ำว่า  ก็เพราะนางสิริมาได้มาทำหน้าที่ดูแลสามีแทนนางนี่เอง  ทำให้นางได้มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานต่างๆอยู่นี้  เมื่อนางอุตตรามองเห็นนางสิริมาถือกระบวยน้ำมันเดินเข้ามาใกล้  นางอุตตราจึงได้กระทำการแผ่เมตตาถึงนาง  และกระทำสัจจะอธิษฐานว่า “ ถ้าเรามีความโกรธในนางสิริมานั้น  ก็ขอเนยร้อนนี้จงลวกเราเถิด  ถ้าเราไม่มีความโกรธในตัวนาง ก็ขอเนยร้อนนี้อย่าลวกเรา

ด้วยเหตุที่นางอุตตราไม่ได้มีความแค้นเคียงประสงค์ร้ายต่อนางสิริมา  น้ำมันเนยที่นางสิริมานำไปรดลงบนศีรษของนางอุตตรา  จึงกลายสภาพเป็นเหมือนน้ำเย็น   นางสิริมาคิดว่าน้ำมันเนยที่ตักมารดคราวแรกนี้คงจะเย็นก่อนทำให้นางอุตตราไม่ร้อน  จึงได้วิ่งจะไปตักน้ำมันเนยร้อนอีกครั้งหนึ่ง  แต่ได้ถูกสกัดจากพวกหญิงรับใช้ของนางอุตตรา จนล้มลง  แล้วใช้กำลังเข้าตบตีนางสิริมาเป็นพัลวัน  นางอุคตตราต้องเข้าไปห้ามแล้วให้พวกหญิงรับใช้นำน้ำมันสมุนไพลมาทาให้แก่นางสิริมา

พอถึงช่วงนี้  นางสิริมาได้สติตระหนักถึงสถานภาพที่แท้จริงของตน  มีความเสียใจในสิ่งที่นางทำกับนางอุตตรา  จึงแสดงท่าทีว่าจะขอโทษ  แต่นางอุตตรากล่าวว่า  นางมีพ่อ  นางสิริมาต้องไปขอโทษพ่อของนางอุตตราเสียก่อน  เมื่อพ่อของนางอุตตรายกโทษให้แล้ว  นางจึงจะยกโทษให้นางสิริมา   นางสิริมากล่าวว่า นางพร้อมที่จะไปขอโทษเศรษฐีผู้บิดของนางอุตตรา  แต่นางอุตตราอธิบายว่า  คนที่นางบอกว่าพ่อนั้นไม่ใช่คนที่ชื่อปุณณเศรษฐีซึ่งเป็นบิดาบังเกิดเกล้าในวัฏฏะ(พ่อทางโลก)  แต่นางหมายถึงพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นบิดาบังเกิดเกล้าในวิวัฏฏะ (พ่อทางธรรม)  นางสิริมาได้แสดงความต้องการจะไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อขอโทษ  จึงได้มีการจัดแจงให้นางสิริมาถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย  ที่บ้านของนางอุตตรา ในวันรุ่งขึ้น
 
หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว  ก็ได้มีการกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างนางสิริมากับนางอุตตรา   จากนั้นนางสิริมาได้กราบทูลพระศาสดาว่า นางเป็นฝ่ายทำไม่ดีต่อนางอุตตรา  นางจึงมาขอประทานอภัยโทษจากพระศาสดา  เพื่อที่ว่าต่อไปนางอุตตราจะได้ยกโทษให้นาง    พระศาสดาได้ตรัสถามถึงความรู้สึกของนางอุตตราในช่วงที่นางสิริมาตักน้ำมันเนยเดือดมารดลงบนศีรษะ   นางอุตตรากราบทูลว่า  “หม่อมฉันคิดอย่างนี้ว่า จักรวาลแคบนัก  พรหมโลกก็ยังต่ำเกินไป  คุณของหญิงสหายของหม่อมฉันเท่านั้นใหญ่  เพราะหม่อมฉันอาศัยเขา  จึงได้เพื่อถวายทานและฟังธรรม  ถ้าว่า  หม่อมฉันมีความโกรธอยู่เหนือนางนี้  สัปปิ(เนยใส)  ที่เดือดพล่านนี้  จงลวกหม่อมฉันเถิด   ถ้าหาไม่แล้ว  ขออย่าลวกเลย  แล้วได้แผ่เมตตาไปยังนางสิริมานี้  พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า  “ดีละๆ  อุตตรา  การชนะความโกรธนั้น  สมควร  ก็ธรรมดาคนมักโกรธ  พึงชนะด้วยความไม่โกรธ   คนด่าเขาตัดพ้อเขา  พึงชนะได้ด้วยความไม่ด่าตอบ  ตัดพ้อตอบ  คนตระหนี่จัด  พึงชนะได้ด้วยการให้ของของตน  คนมักพูดเท็จ  พึงชนะได้ด้วยคำจริง
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อกฺโกเธน  ชิเน  โกธํ
อสาธํ  สาธุนา  ชิเน
ชิเน  กทริยํ  ทาเนน
สจฺเจนาลิกวาทินํ ฯ


(อ่านว่า)
อักโกเทนะ  ชิเน  โกทัง
อะสาทุง  สาทุนา  ชิเน
ชิเน  กระทะริยัง  ทาเนนะ
สัดเจนาลิกะวาทินัง.

(แปลว่า)
พึงชนะคนโกรธ  ด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดี  ด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลวไหล  ด้วยการพูดคำจริง.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นางสิริมา   พร้อมด้วยสตรีทั้ง 500  ได้บรรลุโสดาปัตติผล.
 


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 02:32:17 pm »



04.เรื่องปัญหาของพระโมคคัลลานเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สจฺจํ  ภเณ  เป็นต้น

สมัยหนึ่ง  พระมหาโมคคัลลานเถระ  เดินทางขึ้นไปในเทวโลก  และได้ไปพบนางเทพธิดาหลายองค์  อยู่ในวิมานที่พรั่งพร้อมด้วยสมบัติที่ล้ำค่า  ท่านจึงได้สอบถามนางเทพธิดาเหล่านั้น  ว่าได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้มาเกิดในเทวโลก  ก็ได้รับคำตอบจากนางเทพธิดาแต่ละองค์ที่แตกต่างกัน  นางเทพธิดาองค์หนึ่ง  มาเกิดในเทวโลก โดยที่ไม่ได้ให้ให้ทานหรือฟังธรรม    แต่ได้มาเกิดเพราะเมื่อเป็นมนุษย์นางแต่กล่าวคำสัตย์    นางเทพธิดาองค์ที่สองบอกว่า  ที่นางได้มาเกิดในเทวโลกนั้น  เพราะเมื่อเป็นมนุษย์นางไม่เคยโกรธและมีความประสงค์ร้ายต่อเจ้านายเลยแม้ว่าเจ้านายจะทุบตีนางก็ตาม  ส่วนนางเทพธิดาองค์อื่นที่มาเกิดในเทวโลก  ก็บอกว่าได้มาเกิดในเทวโลกเพราะเมื่อตอนเป็นมนุษย์ได้ให้ทานเพียงเล็กๆน้อยๆ เช่น  ให้อ้อยลำ  ให้ผลไม้  เช่น  มะพลับ  ฟักทอง  ลิ้นจี่   เง่ามัน  และผัก เช่น สะเดา  เป็นต้น

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะ  เดินทางกลับคืนสู่โลกมนุษย์แล้ว  ก็เข้าไปทูลถามพระศาสดาว่า  เป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลจะไปเกิดในเทวโลก  ด้วยเหตุเพียงแค่ไม่กล่าวเท็จ  ระงับความโกรธได้  ถวายทานเพียงเล็กๆน้อยๆ เช่นถวายผลมะพลับเพียงเล็กน้อย  พระศาสดาถามกลับว่า  พระเถระไปสอบถามเรื่องนี้จากนางเทพธิดาในเทวโลกมาแล้วมิใช่หรือ  เมื่อพระเถระทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า”  ได้ตรัสว่า “โมคคัลลานะ  บุคคลกล่าวเพียงคำสัตย์ก็ดี  ละเพียงความโกรธก็ดี  ถวายทานเพียงเล็กน้อยก็ดี  ย่อมไปเทวโลกได้แท้” จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สจฺจํ  ภเณ  น  กุชฺเฌยฺย
ทชฺชา  อปฺปํปิ  ยาจิโต
เอเตหิ  ตีหิ  ฐาเนหิ
คจฺเฉ  เทวาน  สนฺติเก ฯ


(อ่านว่า)
สัดจัง  พะเน  นะ  กุดเชยยะ
ทัดชา  อับปิยัง  ยาจิโต
เอเตหิ  ตีหิ  ถาเนหิ
คัดเฉ  เทวานะ  สันติเก  ฯ

(แปลว่า)
บุคคล  ควรกล่าวคำสัตย์  ไม่ควรโกรธ
ถึงถูกเขาขอน้อย  ก็พึงให้
บุคคลพึงไปในสำนัก

ของเทพดาทั้งหลายได้  ด้วยฐานะ 3 นั่น.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 04:03:52 pm »



05.เรื่องภิกษุทูลถามปัญหา

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยเมืองสาเกต  ประทับอยู่ในอัญชนวัน   ทรงปรารภปัญหาที่ภิกษุทั้งหลายทูลถาม  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อหิงสกา  เย  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง   พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาเกต  พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาบ  ขณะที่พระศาสดาเสด็จบิณฑบาตอยู่นั้น  พราหมณ์ชราผู้หนึ่ง  พอเห็นพระศาสดา  ก็ได้เข้าไปถวายบังคมพระศาสดาลงที่พระบาททั้งสอง  แล้วจับที่ข้อพระบาทไว้แน่น   พลางกล่าว่า  “ลูกเอ๋ย  ธรรมดามารดาบิดานั้น  พวกลูกชายจะต้องคอยดูแล  ในเวลาชรา  แต่เพราะเหตุใดลูกจึงไม่ทำอย่างนั้นกับพ่อกับแม่เล่า  ?  ไปกับพ่อเถิดลูก  พ่อจะพาลูกไปหาแม่  แม่ต้องการจะเห็นลูกมาก"  พอกล่าวเช่นนี้แล้วก็ได้อัญเชิญพระศาสดาเสด็จไปที่บ้านของตน  เมื่อพระศาสดาเสด็จถึงบ้านพราหมณ์  นางพราหมณีก็ได้กราบทูลพระศาสดาเช่นเดียวกับที่พราหมณ์กราบทูล  และนางได้แนะนำบุตรคนอื่นๆว่าพระศาสดาเป็นบุตรคนโตของนาง  และได้ให้บุตรของนางเข้าไปถวายบังคมพระศาสดา  จากวันนั้นเป็นต้นมา  พระศาสดาก็ได้ประทับอยู่ในสถานที่ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพราหมณ์และนางพราหมณี  และคนทั้งสองก็ได้ถวายภัตตาหารแด่พระศาสดา  และได้ฟังธรรมจากพระองค์จนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

ภิกษุทั้งหลายเกิดความประหลาดใจที่พราหมณ์และนางพราหมณีกล่าวอ้างว่าพระศาสดาเป็นบุตร จึงได้กราบทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า  ที่พราหมณ์และนางพราหมณีเรียกพระองค์ว่าเป็นบุตรนั้น ก็เพราะว่าพระองค์เคยเป็นบุตรและหลานของคนทั้งสองมายาวนานถึง  1500 ชาติ  พระศาสดาได้ประทับอยู่ในที่ไม่ไกลจากพราหมณ์เป็นเวลานานถึง 3 เดือน และในระหว่างนั้นพระองค์ได้แสดงธรรมโปรดจนคนทั้งสองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  และเข้าปรินิพพานในที่สุด

ภิกษุทั้งหลาย  ไม่ทราบว่าพราหมณ์และนางพราหมณี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว  จึงได้ทูลถามพระศาสดาว่าทั้งสองไปเกิด ณ ที่ใด  พระศาสดาตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ชื่อว่าอภิสัมปรายภพของพระอเสขมุนีทั้งหลาย  ผู้เห็นปานนั้น  ย่อมไม่มี   เพราะว่า  พระอเสขมุนีผู้เห็นปานนั้น  ย่อมบรรลุมหานิพพาน  อันไม่จุติ  อันไม่ตาย” จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อหิํงสกา  เย  มุนิโย
นิจฺจํ  กาเยน  สํวุตา
เย  ยนฺติ  อจฺจุตํ  ฐานํ
ยตฺถ  คนฺตฺวา  น โสจเร  ฯ


(อ่านว่า)
อะหิงสะกา  เย  มุนิโย
นิดจัง   กาเยนะ  สังวุตา
เย  ยันติ  อัดจุตัง  ถานัง
ยัดถะ  คันตะวา  นะ  โสจะเร.

(แปลว่า)
มุนีเหล่าใด  เป็นผู้ไม่เบียดเบียน
สำรวมแล้ว  ด้วยกายเป็นนิตย์
มุนีเหล่านั้น  ย่อมไปสู่ฐานะอันไม่จุติ

ซึ่งเป็นที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 05:49:50 pm »



06.เรื่องนางปุณณาทาสี

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ  ทรงปรารภทาสีของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ชื่อว่านางปุณณา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สทา  ชาครมานานํ  เป็นต้น

คืนหนึ่ง  นางปุณณาทาสี  จุดตะเกียงยืนซ้อมข้าวให้แก่เศรษฐี  เมื่อซ้อมข้าวไปๆ เกิดความเหน็ดเหนื่อย  ก็ได้หยุดพักเพื่อเอาแรง    ขณะที่นั่งพักอยู่นั้น   นางก็แลเห็นพระทัพพมัลลบุตรเถระ  ซึ่งใช้มือเป็นตะเกียง(ด้วยอำนาจฤทธิ์)ส่องเดินนำทางภิกษุทั้งหลาย  ไปยังที่พักของแต่ละองค์   หลังจากที่ท่านเหล่านั้นเสร็จสิ้นการฟังธรรมแล้ว  นางเห็นภิกษุเหล่านั้นเดินอยู่บนภูเขาในยามดึกดื่นเช่นนั้น  ก็เกิดความสงสัยว่า  “ที่เรานอนดึกก็เพราะความยากจน จึงต้องมายืนซ้อมข้าวอยู่อย่างนี้  แต่ที่พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ยอมหลับนอนเป็นเพราะเหตุใด?  จะเป็นไปได้ไหม  ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอาพาธ  หรือไม่ก็ถูกงูกัด
 
พอเช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้น   นางปุณณาทาสี  ได้นำรำข้าว มาชุบน้ำให้ชุ่ม  ปั้นเป็นก้อนขนม  นำไปปิ้งไฟ  เมื่อสุกดีแล้วก็ห่อใส่พก  คิดว่าจะนำขนมนั้นไปนั่งรับประทานที่ริมฝั่งแม่น้ำ   ในระหว่างเดินมา  นางได้สวนกับพระศาสดาซึ่งกำลังจะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  คิดว่า  “ในวันอื่นๆ ถึงเราพบพระศาสดา  ไทยธรรมของเราก็ไม่มี  เมื่อไทยธรรมมี  เราก็ไม่พบพระศาสดา  ก็บัดนี้  ไทยธรรมของเราก็มี  ทั้งพระศาสดาก็ปรากฏเฉพาะหน้า  ถ้าพระองค์ไม่คิดว่า  ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต  แล้วพึงรับไซร้  เราพึงถวายขนมนี้”  จึงวางหม้อลงที่พื้นดิน  ถวายบังคมพระศาสดา  กราบทูลว่า  “ขอพระองค์จงรับทานอันเศร้าหมองนี้  ทำการสงเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิด  พระเจ้าข้า
 
พระศาสดา  ทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระแล้ว  ได้ทรงน้อมบาตร(ที่ท้าวมหาราชทั้งสี่ถวายไว้)  ที่พระอานนทเถระนำออกถวาย  รับขนมนั้น  นางปุณณาทาสีก็ได้วางขนมลงในบาตรของพระศาสดา  กราบทูลว่า  “ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้ว  จงสำเร็จแก่หม่อมฉันเถิด  พระเจ้าข้า”  พระศาสดา  ประทับยืนทรงกล่าวอนุโมทนาว่า “จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด

นางปุณณาทาสี คิดว่า  “พระศาสดา ทรงทำการสงเคราะห์แก่เรา ด้วยการรับขนมก็จริง  ถึงกระนั้น  พระองค์ก็จักไม่เสวยขนมนั้น  คงประทานให้แก่กาหรือสุนัขข้างหน้า   เมื่อเสด็จไปยังราชมณเฑียรของพระราชาหรือเรือนของมหาอำมาตย์แล้ว  จักเสวยโภชนาหารอันประณีตแน่แท้”

พระศาสดา  ทรงทราบวาระจิต(ความคิด)ของนางปุณณาทาสี จึงทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระ  แล้วแสดงอาการที่จะประทับนั่ง  พระอานนทเถระได้ปูลาดจีวรถวายเป็นอาสนะ  พระศาสดาก็ได้ประทับนั่งกระทำภัตตกิจ ณ ภายนอกเมืองนั่นเอง  ขณะนั้น “เทพยดาในท้องจักรวาลทั้งสิ้น  บีบโอชารสอันสมควรแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ให้เหมือนรวงผึ้งแล้ว  ใส่ลงในขนมนั้น”  ส่วนนางปุณณาทาสีก็ได้ยืนมองดูอยู่

เมื่อทรงกระทำภัตตกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสถามนางปุณณาทาสีว่า “ปุณณา  เพราะเหตุใด  เจ้าจึงดูหมิ่นสาวกของเรา”   นางปุณณาทาสีกราบทูลว่า  “หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น  พระเจ้าข้า” พระศาสดา “เมื่อคืนนี้  เจ้ามองดูสาวกทั้งหลายของเรา แล้วพูดว่าอย่างไร?”    นางปุณณาทาสี “พูดกับตัวเองว่า  ที่เรายังไม่นอน  เพราะเป็นคนจน  ต้องมายืนซ้อมข้าวให้เศรษฐี  แต่ที่พระผู้เป็นเจ้าไม่หลับไม่นอนจนดึกดื่น  ก็คงเป็นเพราะมีภิกษุอาพาธ  หรือไม่ก็มีภิกษุถูกงูกัด”

พระศาสดา   “ปุณณา  เจ้าไม่หลับ  เพราะอันตรายคือทุกข์ของตัวเอง  ส่วนสาวกทั้งหลายไม่หลับ  เพราะความเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเครื่องตื่นอยู่ทุกเมื่อ” จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สทา  ชาครมานานํ
อโหรตฺตานุสิกฺขนํ
นิพฺพานํ  อธิมุตฺตานํ
อฏฺฐํ  คจฺฉนฺติ  อาสวา.


(อ่านว่า)
สะทา  ชาคะระมานานัง
อะโหรัดตานุสิกขะนัง
นิบพานัง  อะทิมุดตานัง
อัดถัง  คัดฉันติ  อาสะวา.

(แปลว่า)
อาสวะทั้งหลาย  ของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ
มีปรกติตามศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน
น้อมไปแล้วสู่พระนิพพาน

ย่อมถึงความไม่ตั้งอยู่.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นางปุณณาทาสี  ขณะยืนอยู่ตรงตรงนั้นแหละ  ได้บรรลุโสดาปัตตผล   พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้มาประชุมกัน.



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 06:22:58 pm »



07.เรื่องอตุลอุบาสก

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสกชื่ออตุละ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โปราณเมตํ  เป็นต้น

อตุลอุบาสก  เป็นชาวกรุงสาวัตถี  มีอุบาสกเป็นบริวาร  500 คน  วันหนึ่งพาอุบาสกเหล่านั้นไปที่วัดพระเชตะวัน  เพื่อต้องการจะฟังธรรม  ได้ไปพบพระเรวตเถระเป็นองค์แรก  พระเรวตเถระเป็นพระชอบปลีกวิเวก  ชอบเที่ยวไปองค์เดียว  ไม่ค่อยจะสุงสิงกับใคร  ท่านจึงไม่พูดอะไรกับอตุลอุบาสกและบริวาร  ทำให้อตุลอุบาสกโกรธ  พาบริวารไปพบกับพระสารีบุตรเถระ  พระสารีบุตรเถระจึงได้แสดงเรื่องอภิธรรมให้ฟังอย่างละเอียดและยืดยาวมาก  อตุลอุบาสกก็โกรธอีก  บอกว่าทำไมแสดงธรรมเสียยืดยาว  จึงพาบริวารเดินทางไปพบพระอานนทเถระ  พระอานนทพุทธอุปัฏฐาก  แม้ว่าจะเชี่ยวชาญทางด้านพหูสูต  แต่ก็ได้แสดงธรรมแต่เพียงสั้นๆและที่เข้าใจได้ง่ายๆให้ฟัง  อตุลอุบาสกก็โกรธอีก 

ได้พาบริวารไปเฝ้าพระศาสดา  กราบทูลถึงพฤติกรรมของพระเถระแต่ละรูป  คือของ พระเรวตเถระที่ไม่ยอมพูดจาอะไร  ของพระสารีบุตรที่แสดงธรรมที่ยาวและยาก  และของพระอานนท์ที่แสดงธรรมที่สั้นและง่ายจนเิกินไป  พระศาสดาได้ตรัสว่า 
อตุละ  ข้อนั้น  เขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว  ชนทั้งหลายติเตียน  ทั้งคนนิ่ง  ทั้งคนพูดมาก  ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว  ด้วยว่า  ผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น  หรือว่า  ผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียว  ไม่มีเลย แม้พระราชาทั้งหลาย  คนบางพวกก็นินทา  บางพวกก็สรรเสริญ  แผ่นดินใหญ่ก็ดี  พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี  ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี  คนบางพวกนินทา  บางพวกสรรเสริญ  แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท 4  คนบางพวกนินทา  บางพวกสรรเสริญ  ก็การนินทาหรือสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ  แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน  จึงชื่อว่า  เป็นอันติเตียน  ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว  ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โปราณเมตํ  อตุล
เนตํ  อชชตนามิว
นินทนฺติ  ตุณฺหีมาสีนํ
นินฺทนติ  พหุภาณินํ
มิตภาณึปิ  นนฺทนฺติ
นตฺถิ โลเก  อนินฺทิโต ฯ

น  จาหุ  น  จ  ภวิสฺสติ
น  เตรหิ  วิชฺชติ
เอกนฺตํ  นินฺทิโต  โปโส
เอกนฺตํ  วา  ปสํสิโต
ยญเจ  วิญฺญู  ปสํสนฺติ
อนุวิจจ  สุเว  สุเว  ฯ

อจฺฉิทฺทวุตฺตึ  เมธาวึ
ปญญาสีลสมาหิตํ
นิกฺขํ  ชมฺโพนทสฺเสว
โก  ตํ  นินฺทิตุมรหติ
เทวาปิ  นํ  ปสํสนฺติ
พรหฺมุนาปิ   ปสํสิโต  ฯ


(อ่านว่า)
โปรานะเมตัง  อะตุละ
เนตัง  อัดชะตะนามิวะ
นินทันติ  ตุนฮีมาสีนัง
นินทันติ  พะหุภาณินัง
มิตะพานิงปิ  นินทันติ
นัดถิ โลเก  อะนินทิโต.

นะ  จาหุ  นะ  จะ  พะวิดสะติ
นะ  เจตะระหิ  วิดชะติ
เอกันตัง  นินทิโต  โปโส
เอกันตัง  วา  ปะสังสิโต
ยันเจ  วินยู  ปะสังสันติ
อะนุวิดจะ  สุเว  สุเว.

อัดฉิดทะวุดติง  เมทาวิง
ปันยาสีละสะมาหิตัง
นิกขัง  ชัมโพนะทัดเสวะ
โก  ตัง  นินทิตุมะระหะติ
เทวาปิ  นัง  ปะสังสันติ
พรัมมุนาปิ  ปะสังสิโต.

(แปลว่า)
อตุละ  การนินทาหรือการสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า
นั่นไม่ใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้
ชนทั้งหลาย  ย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง
ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง
ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง

ผู้ไม่ถูกนินทา  ไม่มีในโลก.
 
คนถูกนินทาโดยส่วนเดียว
หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วนเดียว
ไม่ได้มีแล้ว  จักไม่มี
และไม่มีอยู่ในบัดนี้  ฯ

 
หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆวัน
สรรเสริญผู้ใด  ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย
มีปัญญา  ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล

ใครเล่าย่อมควร  เพื่อติเตียนผู้นั้น
ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท
แม้เทพดาทั้งหลาย  ก็สรรเสริญเขา
ถึงพรหม  ก็สรรเสริญแล้ว.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  อุบาสกเหล่านั้นทั้ง  500  บรรลุโสดาปัตติผล.
 


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2012, 06:52:39 pm »



08. เรื่องพระฉัพพัคคีย์ (พระหมู่หก)

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กายปฺปโกปํ  เป็นต้น

พระฉัพพัคคีย์ (พระหมู่หก)  สวมเขียงเท้า(รองเท้าทำด้วยไม้)   ถือไม้เท้าทั้งสองมือ  เดินจงกรมบนหลังแผ่นดิน  เขียงเท้ากระทบแผ่นหินเสียงดังมาก  พระศาสดา ตรัสถามพระอานนทเถระว่า  เป็นเสียงอะไร พระเถระกราบทูลว่า เป็นเสียงเขียงเท้าที่พระฉัพพัคคีย์สวมใส่เดินจงกรมอยู่บนหลังแผ่นหิน  จึงทรงบัญญัติสิกขาบท  แล้วตรัสว่า  “ธรรมดาภิกษุ  ควรรักษาทวารมีกายทวารเป็นต้น” จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สี่พระคาถานี้ว่า

กยปฺปโกปํ  รกฺเขยย
กาเยน   สํวุโต  สิยา
กายทุจริตํ  หิตฺวา
กาเยน  สุจริตํ  จเร ฯ

วจีปโกปํ  รกฺเขยย
วาจาย  สํวุโต  สิยา
วจีทุจฺจริตํ  หิตฺวา
วาจาย  สุจริตํ  จเร ฯ

มโนปโกปํ  รกฺเขยฺย
มนสา  สํวุโต  สิยา
มโนทุจฺจริตํ  หิตฺวา
มนสา  สุจริตํ  จเร ฯ

กาเยน  สํวุตา  ธีรา
อโถ  วาจาย  สํวุตา
มนสา  สํวุตา  ธีรา
เต  เว  สุปริสํวุตา  ฯ


(อ่านว่า)
กายับปะโปปัง  รักเขยยะ
กาเยนะ  สังวุโต  สิยา
กายะทุดจะริตัง  หิดตะวา
กาเยนะ  สุจะริตัง  จะเร.

วะจีปะโกปัง  รักเขยยะ
วาจายะ  สังวุโต  สิยา
วะจีทุดจะริตัง  หิดตะวา
วาจายะ   สุจะริตัง  จะเร.

มะโนปะโกปัง  รักเขยยะ
มะนะสา  สังวุโต  สิยา
มะโนทุดจะริตัง  หิดตะวา
มะนะสา  สุจะริตัง  จะเร.

กาเยนะ   สังวุตา  ทีรา
อะโถ  วาจายะ  สังวุตา
มะนสา  สังวุตา  ทีรา
เต  เว  สุปะริสังวุตา.

(แปลว่า)
พึงรักษาความกำเริบทางกาย
พึงเป็นผู้สำรวมทางกาย
พึงละกายทุจริตแล้ว
ประพฤติสุจริตทางกาย.


พึงรักษาความกำเริบทางวาจา
พึงเป็นผู้สำรวมทางวาจา
พึงละวจีทุจริตแล้ว
ประพฤติสุจริตทางวาจา.


พึงรักษาความกำเริบทางใจ
พึงเป็นผู้สำรวมทางใจ
พึงละมโนทุจริต
แล้วประพฤติสุจริตทางใจ.


ธีรชนทั้งหลาย  สำรวมทางกาย
สำรวมทางวาจา  และสำรวมทางใจ
ธีรชนเหล่านั้นแล

ชื่อว่าสำรวมรอบคอบดีแล้ว.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page2