อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 16 : ปิยวรรค
ฐิตา:
06.เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ตณหาย ชายเต เป็นต้น
พราหมณ์ผู้หนึ่ง อยู่ที่เมืองสาวัตถี เป็นมิจฉาทิฏฐิ มืได้นับถือพุทธศาสนา ในเช้าวันหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้มาปรากฏอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และทรงทราบว่า เขามีภาวะสุกงอมที่จะได้บรรลุธรรม ดังนั้น พระองค์จึงได้เสด็จไปโปรด ในวันแรกที่เสด็จไป เป็นช่วงที่พราหมณ์นั้นกำลังไถนา ตรัสถามว่า กำลังทำอะไร กราบทูลว่า กำลังไถนา แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับ ในวันต่อมาๆ เสด็จไปที่นั่นอีก เป็นช่วงๆของการทำนา คือ ช่วงหว่าน ช่วงไขน้ำ ช่วงดูแลข้าวกล้า และก็ได้ตรัสถามในแต่ละช่งนั้น ซึ่งพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า กำลังไถนา ...กำลังไขน้ำ ...กำลังดูแลต้นข้าว เมื่อตรัสถามและได้รับคำตอบแล้วพระศาสดาก็เสด็จกลับเช่นเดิม มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จมา พราหมณ์ได้กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ ท่านมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้าแผ้วถางนา ถ้าข้าวกล้าของข้าพเจ้าจักเผล็ดผล ข้าพเจ้าจักแบ่งปันแก่ท่านบ้าง ยังไม่ให้ท่าน ข้าพเจ้าก็จักยังไม่กิน ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านเป็นสหายของข้าพเจ้า”
อยู่ต่อมา ข้าวกล้าของพราหมณ์นั้นก็สุกเต็มที่ พราหมณ์นั้นก็จะทำการเก็บเกี่ยว และคิดว่า “ข้าวกล้าของเราเผล็ดผลแล้ว เราจักให้เกี่ยวตั้งแต่พรุ่งนี้ไป” แต่ทว่า ในคืนนั้นเอง เกิดฝนตกหนักตลอดคืน น้ำพัดพาข้าวกล้าเสียหายหมด เหลือให้เห็นแต่ผืนดิน เมื่อพราหมณ์ไปดูนาในตอนเช้า พบว่าข้าวที่กะว่าจะเก็บเกี่ยวนั้นถูกน้ำฝนพัดมาไปจนหมดสิ้น ก็เกิดความเสียใจ ยิ่งมานึกถึงคำพูดของตนที่เคยทูลพระศาสดาเอาไว้ ก็ยิ่งเสียใจหนักขึ้น ถึงกับอดอาหาร นอนแซ่วอยูบนเตียงนอนในบ้าน
พระศาสดาได้เสด็จไปที่ประตูบ้านของพราหมณ์นั้น และพราหมณ์นั้นก็ได้สั่งคนในบ้านอัญเชิญพระศาสดาเข้ามาข้างในบ้าน เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว ทรงสอบถามถึงพราหมณ์ ทรงทราบว่าพราหมณ์นอนอดข้าวอยู่ในห้องนอน จึงรับสั่งให้คนไปเชิญออกมาพบ ทรงสอบถามถึงสาเหตุของการอดข้าว เมื่อทรงทราบแล้วก็ได้ตรัสถามว่า “อะไรทำให้เกิดความโศก” เมื่อพราหมณ์ทูลว่า “ไม่ทราบ” จึงตรัสว่า “พราหมณ์ ความจริง ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เมื่อจะเกิด ย่อมอาศัยตัณหาเกิดขึ้น”
จากนั้น พระศาสดา ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ตณฺหาย ชายเต โสโก
ตณฺหาย ชายเต ภยํ
ตณฺหาย วิปฺปมุตฺตสฺส
นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ฯ
(อ่านว่า)
ตันหายะ ชายะเต โสโก
ตันหายะ ชายะเต พะยัง
ตันหายะ วิบปะมุดตัดสะ
นัดถิ โสโก กุโต พะยัง.
(แปลว่า)
ความโศก เกิดเพราะตัณหา
ภัย ย่อมเกิดเพราะตัณหา
ความโศก ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากตัณหา
ภัยจักมีแต่ไหน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พราหมณ์ได้บรรลุโสดาปัตติผล.
ฐิตา:
07.เรื่องเด็ก 500 คน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภเด็ก 500 ในระหว่างทาง ตรัสพระธรรมเทศนาว่า สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ เป็นต้น
ในวันแสดงมหรสพวันหนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต พร้อมด้วยอสีติมหาสาวก ในระหว่างเสด็จได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก 500 คน ออกจากเมืองเข้าไปในสวน พวกเด็กเหล่านั้นกำลังยกตะกร้าขนมไปด้วย แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะถวายขนมแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะไม่นิมนต์เราและพวกเธอฉันขนมก็จริง แต่ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนมกำลังเดินทางมา ตามหลังมา เราและพวกเธอก็จะได้ฉันขนมกัน” ตรัสแล้วก็ทรงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งใต้ร่มเงา ที่ใต้โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง
ต่อมาไม่นาน พระมหากัสสปเถระก็เดินมาถึง พอพวกเด็กแลเห็น ก็พากันวางตะกร้าขนมลง เข้าไปนั่งกราบพระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วก็ยกกระเช้าขนมเข้าไปถวายพระเถระ พร้อมกับกล่าวว่า “นิมนต์รับเถิด ขอรับ”
พระเถระกล่าวกับเด็กเหล่านั้นว่า “โน่น พระศาสดาทรงพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ พวกเธอจงถือตะกร้าขนมไปแบ่งถวายภิกษุสงฆ์เถิด” พวกเด็กตอบว่า “ขอรับ” แล้วเดินตามพระเถระไปถวายขนมแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เมื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ฉันขนมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ถวายน้ำฉันอีกด้วย
ภิกษุทั้งหลายได้พูดตั้งเป็นข้อสังเกตว่า พวกเด็กมีความลำเอียง ไม่ยอมถวายขนมแด่พระศาสดาและพระอสีติมหาสาวก พอเห็นพระมหากัสสปะ ก็รีบถือกระเช้าขนมเข้าไปถวาย
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับมหากัสสปะ ผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบูชาด้วยปัจจัย 4 แก่เธอโดยแท้”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ
ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ
อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ
ตํ ชโน กุรุเต ปิยํ ฯ
(อ่านว่า)
สีละทัดสะนะสำปันนัง
ทำมัดถัง สัดจะวาทินัง
อัดตะโน กำมะกุบพานัง
ตัง ชะโน กุรุเต ปิยัง .
(แปลว่า)
ชน ย่อมทำท่านผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและทัสสนะ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้มีปกติกล่าววาจาสัตย์
ผู้กระทำการงานของตนนั้น ให้เป็นที่รัก.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง เด็กเหล่านั้นทุกคน บรรลุโสดาปัตติผล.
ฐิตา:
08. เรื่องพระอนาคามิเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระผู้อนาคามีองค์หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ฉนฺทชาโต เป็นต้น
วันหนึ่ง พวกสัทธิวิหาริก ถามพระเถะผู้อุปัชฌายะว่า “ท่านอาจารย์ ท่านบรรลุธรรมพิเศษอะไรแล้วหรือยัง ?” พระเถระผู้อุปัชฌายะไม่ได้ตอบอะไร ทั้งๆที่ท่านเป็นผู้ได้บรรลุอนาคามี ที่พระเถระไม่บอกเพราะตั้งใจไว้ว่าจะบอกก็ต่อเมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุดพระเถระได้มรณภาพโดยที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตผล และท่านก็ยังไม่ได้บอกเรื่องบรรลุคุณวิเศษแก่เหล่าสัทธิวิหาริก
พวกสัทธิวิหาริก คิดกันว่าอุปัชฌายะของพวกตนมรณภาพโดยที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ ก็มีความเสียใจ พากันไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลถามที่เกิดของอุปัชฌายะของพวกตน พระศาสดาตรัสว่า อุปัชฌายะของพระเหล่านั้น เป็นพระอนาคามีก่อนจะมรณภาพ และได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ในตอนท้ายได้ตรัสว่า “วางใจเสียเถิด ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะของพวกเธอ ถึงความเป็นผู้มีจิตไม่เกี่ยวเกาะในกามทั้งหลาย มีกระแสในเบื้องบน”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต
มนสา จ ผุโฏ สิยา
กาเมสุ อปฺปฏิพทฺธจิตฺโต
อุทฺธํโสโตติ วุจจติ ฯ
(อ่านว่า)
ฉันทะชาโต อะนักขาเต
มะนะสา จะ ผุโต สิยา
กาเมสุ อับปะติพัดทะจิดโต
อุดทังโสโตติ วุดจะติ.
(แปลว่า)
ภิกษุ ผู้มีฉันทะเกิดแล้ว
ในพระนิพพานอันใครๆบอกไม่ได้
พึงเป็นผู้อันใจถูกต้องแล้วก็ดี
ผู้มีจิตไม่เกี่ยวเกาะในกามทั้งหลายก็ดี
ท่านเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น บรรลุพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.
ฐิตา:
09.เรื่องนายนันทิยะ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในป่าอิสิปตนะ ทรงปรารภนายนันทิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า จิรปฺปวาสึ เป็นต้น
นายนันทิยะ เป็นบุตรเศรษฐี อยู่ที่กรุงพารณสี หลังจากที่เขาได้ฟังธรรมของพระศาสดา ว่าด้วยอานิสงส์ของการสร้างวัดวาอารามถวายภิกษุสงฆ์แล้ว นายนันทิยะก็ได้ก่อสร้างวัดใหญ่แห่งหนึ่งที่ป่าอิสิปตนะ และได้สร้างสิ่งก่อสร้างในวัด เป็นศาลาจัตุรมุขหลังหนึ่ง ประกอบด้วยห้องสี่ห้อง และอุปกรณ์ใช้สอยของพระสงฆ์มีเตียงและตั้งเป็นต้น ก่อนจะมอบถวายวัดใหญ่แห่งนี้ ก็ได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วหลั่งน้ำทักขิโณทกแด่พระศาสดา ทันทีที่ได้ถวายอาวาสแห่งนี้แด่พระศาสดา พระคัมภีร์บอกว่า ก็มีปราสาททิพย์ สำเร็จด้วยรัตนะ 7 ประการ พรั่งพร้อมด้วยนางอัปสร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 โยชน์ สูง 100 โยชน์ ผุดขึ้นในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับที่ได้หลั่งน้ำทักขิโณทกถวายแด่พระศาสดา
วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ได้ขึ้นไปที่เทวโลกชั้นดาวดึงส์ และได้เห็นปราสาททิพย์หลังนี้ เต็มไปด้วยหมู่นางเทพอัปสร ก็ได้เข้าไปสอบถามเทพบุตรทั้งหลายว่า เป็นปราสาททิพย์ของผู้ใด ก็ได้รับคำตอบจากเทพบุตรเหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ วิมานนั่น เกิดรอรับบุตรคฤหบดี ชื่อนันทิยะ ผู้ให้สร้างวิหารถวายพระศาสดา ในป่าอิสิปตนะ” ฝ่ายหมู่นางอัปสร เห็นพระเถระนั้นแล้ว ก็ลงจากปราสาทมากล่าวว่า พวกนางเกิดในปราสาทนี้เพื่อเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ แต่ไม่เห็นนายนันทิยะมาเสียที ได้แต่รอแล้วรอเล่า ขอฝากบอกพระคุณเจ้าไปถึงนายนันทิยะด้วยว่า มนุษยสมบัติเปรียบเหมือนถาดดิน ส่วนทิพยสมบัตินั้นเปรียบเหมือนถาดทองคำ
เมื่อพระมหาโมคคัลลานะ ลงจากเทวโลกแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ทิพยสมบัติเกิดรอบุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์มีหรือไม่” พระศาสดาตรัสว่า “เธอไปเห็นปราสาททิพย์ที่ผุดรอนายนันทิยะที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์มาแล้วมิใช่หรือ จะมาถามทำไม?” เมื่อพระเถระทูลว่า “พระเจ้าข้า” พระศาสดาตรัสว่า สภาพก็เหมือนกับคนเราในโลกมนุษย์ ยืนอยู่ที่ประตูบ้านเรือน เห็นบุตรหรือพีน้อง ที่เดินทางไปอยู่ต่างประเทศมานาน แล้วกลับมาถึงบ้านเรือนของตน ก็มีความยินดีปรีดา ร้องทักทาย ต้อนรับบุคคลผู้นั้น ข้อนี้ก็เหมือนกับเหล่าเทวดา ต่างถือเครื่องบรรณการอันเป็นทิพย์ 10 อย่าง แย่งชิงกันออกมาต้อนรับ แสดงความยินดีกับสตรีหรือบุรุษ ผู้ทำความดีไว้ในโลกมนุษย์ แล้วตายไปเกิดในปรโลก ฉันใดก็ฉันนั้น
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
จิรปฺปวาสึ ปุริสํ
ทูรโต โสตฺถิมาคตํ
ญาตี มิตฺตา สุหชฺชา จ
อภินนฺทติ อาคตํ ฯ
(อ่านว่า)
จิรับปะวาสิง ปุริสัง
ทูระโต โสดถิมาคะตัง
ยาตี มิดตา สุหัดชา จะ
อะพินันทะติ อาคะตัง.
ตเถว กตปุญฺญํปิ
อสฺมา โลกา ปรํ คตํ
ปุญญานิ ปฏิคฺคณฺหนฺติ
ปิยํ ญาตีว อาคตํ ฯ
(อ่านว่า)
ตะเถวะ กะตะปุนยังปิ
อัดสะหมา โลกา ปะรัง คะตัง
ปุนยานิ ปะติกคันหันติ
ปิยัง ยาตีวะ อาคะตัง.
(แปลว่า)
ญาติ มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย
เห็นบุรุษผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน
มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี
ย่อมยินดียิ่งว่า มาแล้ว ฉันใด
บุญทั้งหลาย ก็ย่อมต้อนรับ
แม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้
ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า
ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว
ต้อนรับอยู่ ฉะนี้แล.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/2008/11/17/entry-8
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version