ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค  (อ่าน 4029 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
01.เรื่องบุรพกรรมของพระองค์


พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน   ทรงปรารภบุรพกรรมของพระองค์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มตฺตาสุขปริจจาคา  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในเมืองไพศาลี  จุดเริ่มต้นมาจากการเกิดภาวะฝนแล้งขึ้นก่อน   เมื่อเกิดภาวะฝนแล้งนี้ก็ทำให้การทำนาทำไร่ไม่ได้ผล   ประชาชนจึงไม่มีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ  ทำให้สูญเสียชีวิตเพราะความอดอยาก   ติดตามมาด้วยการเกิดโรคระบาด  เนื่องจากมีซากศพของคนตายมากจนไม่สามารถฝังหรือเผาได้ทัน  มีกลิ่นของซากศพเน่าเหม็นคละคลุ้งไปทั่วเมือง  กลิ่นเหม็นนี้จึงดึงดูดให้พวกอมนุษย์ให้เข้ามาเมืองเพื่อกินซากศพ  เพราะฉะนั้น ในตอนนั้น  ชาวเมืองจึงประสบกับภัย  3  อย่างพร้อมๆกัน  คือ 1. ภัยเกิดจากหาอาหารได้ยาก  2.ภัยเกิดจากอมนุษย์  และ 3.ภัยเกิดจากโรคระบาด 

เมื่อเกิดภัยเหล่านี้ขึ้นมา  ชาวเมืองไพศาลีต่างก็แสวงหาที่พึ่ง  จากแหล่งต่างๆที่พวกเขาคิดว่าจะมาช่วยเหลือเพื่อขจัดปัดเป่าภัยเหล่านี้ได้  และในที่สุดพวกเขาตัดสินใจไปทูลอัญเชิญพระศาสดาเสด็จมาสู่เมืองไพศาลี  ทั้งนี้ก็โดยเข้าใจว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมาก  ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์  เมื่อพระองค์เสด็จมาสู่เมืองไพศาลีแล้ว  ภัยต่างๆก็จะสงบลงได้   ดังนั้น  ชาวเมืองไพศาลีจึงได้ส่งคณะของเจ้ามหาลิเจ้าชายแห่งลิจฉวีและบุตรของปุโรหิตไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร   เพื่อขอประทานทานวโรกาสให้พระศาสดาเสด็จมาโปรดชาวเมืองไพศาลี   และพระศาสดาทรงรับคำอาราธนา  เพราะทรงทราบด้วยพระญาณพิเศษว่า  “ในเมืองไพศาลี  เมื่อเราสวดรัตนสูตร  อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล  ในกาลจบพระสูตร  การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน  ภัยเหล่านั้นก็จักสงบไป

เมื่อพระศาสดาทรงรับคำอาราธนาเสด็จเยือนเมืองไพศาลีครั้งนี้แล้ว  พระเจ้าพิมพิสารทรงรับสั่งให้ซ่อมแซมถนนหนทางระหว่างกรุงราชคฤห์กับฝั่งแม่น้ำคงคา   ทรงรับสั่งให้ตระเตรียมการต่างๆ  เช่น ที่ประทับของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ในทุกระยะทางหนึ่งโยชน์  เป็นต้น เมื่อการตระเตรียมต่างๆสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  พระศาสดาก็ได้เสด็จไปยังเมืองไพศาลี  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  จำนวน  500 รูป  โดยพระเจ้าพิมพิสารได้ตามเสด็จในครั้งนี้ด้วย  ในวันที่  5  คณะเสด็จของพระศาสดาก็มาถึงที่ฝั่งแม่น้ำคงคา  พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงส่งข่าวไปถึงพวกเจ้าลิจฉวีทั้งหลายเพื่อให้รับช่วงการเสด็จต่อไป   ซึ่งทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำคงคานั้น  พวกเจ้าลิจฉวีก็ได้มีการตระเตรียมต้อนรับพระศาสดาเช่นเดียวกันโดยได้ทำการซ่อมแซมถนนหนทางเสด็จจากฝั่งแม่น้ำคงคาถึงกรุงไพศาลี   ตลอดจนสร้างที่ประทับของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ไว้ตามจุดต่างๆทุกระยะทางหนึ่งโยชน์เหมือนอย่างที่ทางพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้าง  ครั้นพระศาสดาได้เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา  พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์แล้ว  พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้ประทับเพื่อรอรับการเสด็จกลับของพระศาสดา ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง

ทันทีที่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์เสด็จข้ามถึงอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำคงคา  ก็ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานก็ได้พลันมลายหายไป  เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก  น้ำฝนได้ไหลพัดพาเอาซากศพที่เน่าเหม็นมนุษย์ลงสู่แม่น้ำคงคา  ทำให้เมืองไพศาลีสะอาด  ปราศจากสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็นทั้งปวง  พระศาสดาได้ประทับที่เรือนพักรับรองที่ทางเจ้าลิจฉวีจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษที่กลางเมืองไพศาลี  ท้าวสักกเทวราช  พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย  ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์มาถวายบังคมพระศาสดา   ส่งผลทำให้พวกอมนุษย์บางพวกที่เข้ามาอยู่ในเมืองต้องหลบหนีออกไปอยู่ห่างจากเมืองไป  เพราะไม่สามารถอยู่ในที่ชุมนุมของเหล่าเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ได้  ในเย็นวันนั้นเอง  พระศาสดารับสั่งให้พระอานนท์เรียนพระปริตรชื่อ รัตนสูตร (ซึ่งคำสวดขึ้นต้นด้วย  ยานีธ  ภูตานิ  สมาคตานิฯลฯ) จากพระองค์จนจำได้ขึ้นใจก่อน จากรับทรงสั่งให้นำบาตรของพระองค์มาใส่น้ำพุทธมนต์   

ทรงให้พระอานนท์เดินตามพวกเจ้าลิจฉวีที่ถือบาตรน้ำมนต์นั้นนำหน้า แล้วทำการสวดรัตนสูตรและประพรมน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ในระหว่างกำแพงทั้งสามชั้นของเมืองไพศาลี  เมื่อพระอานนท์ทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลา 7  วัน  ด้วยอานุภาพของพระปริตรที่ชื่อ รัตนสูตร นี้  ทำให้คนป่วยเป็นจำนวนมากหายจากโรคระบาด  และเดินตามพระอานนท์ไปเฝ้าพระศาสดา  เมื่อถึงวันที่ 7  สถานการณ์ในเมืองไพศาลีก็กลับคืนสู่ภาวะปกติปกติ  ภัยทั้งสามก็ได้หายไปจนหมดสิ้น  พวกเจ้าลิจฉวีและประชาชนชาวเมืองไพศาลีต่างมีความยินดีปรีดา  ต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระศาสดา  และได้ตามเสด็จส่งพระศาสดาจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา  และพระเจ้าพิมพิสาร  ตลอดจนเหล่าทวยเทพ  พระพรหม  และพระยานาคทั้งหลาย  ก็ได้รอรับเสด็จพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์   จากนั้นพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเยือนนาคภพของพระยานาคเพื่อโปรดพระยานาคทั้งหลาย    เมื่อเสร็จสิ้นการเยือนนาคพิภพแล้วก็ได้เสด็จคืนสู่กรุงราชคฤห์

เมื่อคณะของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์กลับถึงกรุงราชคฤห์แล้ว  พวกภิกษุเมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว  ในเวลาเย็นวันหนึ่ง   ได้นั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า  “น่าชม!  อานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  น่าประหลาดใจ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสดา  พระราชาทั้งหลายทรงทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอในหนทาง 8 โยชน์  ทั้งฝั่งนี้ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา  เกลี่ยทรายลง  ลาดดอกไม้สีต่างๆ  โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า  ด้วยความเลื่อมใสอันไปแล้วในพระพุทธเจ้า  น้ำในแม่น้ำคงคาก็ดาดาษ  ด้วยดอกปทุม 5 สี  ด้วยอานุภาพนาค  เทวดาทั้งหลายก็ยกฉัตรซ้อนๆกันขึ้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ  ห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นเพียงดังว่ามีเครื่องประดับเป็นอันเดียว  และมีมหรสพเป็นอันเดียว”  พระศาสดาได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายที่สนทนากันนั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย  เครื่องบูชาและสักการะนี้  มิได้บังเกิดขึ้นแก่เราด้วยพุทธานุภาพ  มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพนาคเทวดาและพรหม  แต่ว่าเกิดด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีต”  จากนั้น  พระศาสดาได้ทรงนำเรื่อง  สุสิมมาณพ  มาตรัสเล่า  และได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

มตฺตาสุขปริจจาคา
ปสเส  เจ  วิปุลํ  สุขํ
จเช  มตตาสุขํ  ธีโร
สมฺปสสํ  วิปุลํ  สุขํ ฯ


ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์
เพราะสละสุขพอประมาณเสีย
ผู้มีปัญญา  เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์
ก็พึงสละสุขพอประมาณเสีย

(จึงจะได้พบสุขอันไพบูรณ์)


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2012, 12:02:54 pm »


02. เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน   ทรงปรารภกุมาริกาผู้กินไข่ไก่คนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปรทุกฺขูปธาเนน  ดังนี้

ในกาลครั้งหนึ่ง   สตรีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี  เลี้ยงแม่ไก่ไว้ในบ้านตัวหนึ่ง  ทุกครั้งที่แม่ไก่นั้นออกไข่  สตรีนั้นก็จะนำไข่ไก่ไปต้มรับประทาน  แม่ไก่คิดอาฆาตในสตรีนั้น  และตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าไปเกิดเป็นแม่ไก่  ที่สามารถกินลูกของหญิงนี้ให้ได้  เมื่อแม่ไก่ตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นแม่แมวในบ้านหลังนั้นเอง  ข้างสตรีนางนั้นเมื่อเสียชีวิตแล้ว  ก็ได้บังเกิดเป็นแม่ไก่ใบบ้านหลังนั้นเหมือนกัน  พอแม่ไก่ออกไข่  นางแมวก็มากินไข่ของแม่ไก่นั้น  ทำอยู่อย่างนี้ติดต่อกัน  2-3 ครั้ง  แม่ไก่จึงตั้งความปรารถนาว่า   เมื่อไปเกิดในภพชาติใหม่ ก็ขอให้ไปเกิดอยู่ในฐานะที่จะกินลูกของแม่แมวนี้บ้าง   ชาติต่อมา แม่ไก่ไปบังเกิดเป็นนางเสือเหลือง  ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ  เมื่อนางเนื้อนั้นคลอดลูก  นางเสือเหลืองก็มาคอยจับไปกิน  เป็นอยู่อย่างนี้ถึง 500 ชาติ กระทั่งในมาถึงสมัยของพระโคดมพุทธเจ้า  เมื่อนางหนึ่งมาเกิดเป็นนางยักษิณี  อีกนางหนึ่งมาเกิดเป็นสตรีในเมืองสาวัตถี 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง  สตรีนางนั้นเดินทางจากบ้านบิดามารดาจะกลับไปที่บ้านของสามี  พร้อมด้วยสามีและบุตรที่อุ้มอยู่ในอ้อมแขน  ขณะที่นางอุ้มลูกนั่งพักเหนื่อยอยู่ที่ใกล้หนองน้ำไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี  ส่วนสามีลงไปอาบน้ำในหนองน้ำอยู่นั้น   นางยักษิณีได้มาปรากฏร่าง  และสตรีนั้นก็จดจำได้ว่านางยักษิณีเป็นศัตรูเก่าจะจับลูกของนางไปกิน   นางจึงรีบอุ้มลูกวิ่งไปทางพระเชตวัน  ซึ่งขณะนั้นพระศาสดากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ในท่ามกลางมหาชน  เมื่อไปถึงก็ได้วางบุตรลงที่ข้างพระบาทของพระศาสดา  ข้างนางยักษิณีก็วิ่งติดตามหญิงนั้นไปถึงประตูวัดแต่ถูกเทวดาเฝ้าประตูวัดขัดขวางไม่ให้เข้าไปในวัดได้  พระศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น  ก็ได้ตรัสบอกพระอานนท์ให้ไปบอกเทวดาที่ซุ้มประตูให้อนุญาตนางยักษิณีเข้ามาได้  เมื่อนางยักษิณีเข้ามาอยู่เบื้องของพระศาสดาแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสสอนทั้งสตรีและนางยักษิณีว่า “หากเธอทั้งสองไม่มาหาเรา  เวรของเธอทั้งสองก็จะยังดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   เวรไม่มีวันระงับด้วยการจองเวร  เวรสามารถระงับได้ด้วยการไม่จองเวรเท่านั้น

จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ปรทุกฺขูปธาเนน
โย  อตฺตโน   สุขมิจฺฉติ
เวรสํสคฺคสํสฏฺโฐ
เวรา  โส  น  ปริมุจฺจติ ฯ


ผู้ใด  ปรารถนาสุขเพื่อตน  เพราะก่อทุกข์ในผู้อื่น
ผู้นั้น  เป็นผู้ระคนด้วยเครื่องระคนคือเวร
ย่อมไม่พ้นจากเวรได้.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   นางยักษิณีตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย  สมาทานศีล 5  พ้นแล้วจากเวร  ฝ่ายกุลธิดานั้น  ตั้งอยู่ในโสดาบัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์  แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกันแล้ว.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2012, 01:29:48 pm »


03. เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ

พระศาสดา  เมื่ออาศัยนครภัททิยะ  ประทับอยู่ในชาติยาวัน  ทรงปรารภภิกษุชาวนครภัททยะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   ยํ  หิ  กิญจิ  เป็นต้น

ในสมัยนั้น   พวกภิกษุนครภัททิยะ  ทำการประดับเขียงเท้าชนิดต่างๆ   โดยทำด้วยหญ้าปล้องบ้าง  ทำด้วยหญ้ามุงกระต่ายบ้าง  ทำด้วยต้นเป้งบ้าง  ทำด้วยผ้ากัมพลบ้าง  เมื่อมามัวแต่พะวงด้วยงานเหล่านี้อยู่  ก็ไม่เป็นอันศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย  การปฏิบัติธรรม  ทั้งฝ่ายสมถกัมมัฏฐาน  และวิปัสสนากัมมัฏฐาน   ภิกษุทั้งหลาย  ตำหนิโทษของการกระทำดังกล่าวของภิกษุเหล่านั้น  และได้กราบทูลพระศาสดา
พระศาสดา  ตรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น  ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายมาด้วยกิจอย่างหนึ่ง  แต่มาขวยขวายในกิจอีกอย่างหนึ่ง
จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

ยํ  หิ  กิจฺจํ  ตทปวิทฺธํ
อกิจฺจํ  ปน  กยีรติ
อุนฺนนาฬํ  ปมตฺตานํ
เตสํ  วฑฺฒนฺติ  อาสวา ฯ

เยสญฺจ   สุสมารทฺธา
นิจฺจํ  กายคตา  สติ
อกิจฺจํ  เต  น  เสวนฺติ
กิจฺเจ  สาตจฺจการิโน
สตานํ  สมปชานานํ
อตฺถํ  คจฺฉนฺติ  อาสวา ฯ


ก็  ภิกษุละทิ้งสิ่งที่ควรทำ
แต่ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลาย  ย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น

ผู้มีมานะประดุจไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว  ผู้ประมาทแล้ว.

ส่วนสติอันไปในกาย  อันภิกษุเหล่าใด  ปรารภด้วยดีเป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้น   มีปกติทำเนืองๆในกิจที่ควรทำ

ย่อมไม่เสพสิ่งที่ไม่ควรทำ 
อาสวะทั้งหลาย  ของภิกษุเหล่านั้น
ผู้มีสติ  มีสัมปชัญญะ   ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุอรหัตตผลแล้ว  พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์  แม้แก่บุคคลที่มาประชุมกัน.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 02:16:18 pm »


04. เรื่องพระลกุณฏกภัททยเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน  ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตวา  เป็นต้น

วันหนึ่ง  ภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน  เข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ซึ่งประทับนั่ง ณ  ที่ประทับกลางวัน  ถวายบังคมแล้ว  นั่ง ณ  ที่ควรข้างหนึ่ง  ขณะนั้น  พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลจากพระศาสดา
พระศาสดา  ทรงทราบวาระจิต(คือความคิด)  ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว  ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอเห็นหรือไม่ ?
ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว  เป็นผู้ไม่มีทุกข์  ไปอยู่ ?
”  เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกัน  เกิดความสงสัยว่า “พระศาสดา ตรัสอะไรอย่างนี้ ?”   พระศาสดาทรงทราบวารจิต  จึงตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

มาตรํ  ปิตรํ   หนฺตฺวา
ราชาโน  เทฺว  จ  ขตติเย
รฏฺฐํ   สานุจรํ   หนฺตฺวา
อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ ฯ

มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา
ราชาโน  เทฺว  จ  โสตฺถิเย
เวยยคฺฆปญฺจมํ  หนฺตฺวา
อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ ฯ


บุคคลฆ่ามารดาบิดา
ฆ่าพระราชาผู้กษัตริย์ 2 พระองค์
และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงาน
เก็บส่วยแล้ว  เป็นพราหมณ์

ไม่มีทุกข์  ไปอยู่.

บุคคลฆ่ามารดาบิดา
ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้ง  2  ได้แล้ว
และฆ่าหมวด 4 แห่งนิวรณ์มิวิจิกิจฉานิวรณ์
เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปที่  5

แล้ว  เป็นพราหมณ์  ไม่มีทุกข์  ไปอยู่
.

หมายเหตุ   ในพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ พระศาสดาหมายถึงอริยบุคคลผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ซึ่งได้กำจัด ตัณหา  อัสมิมานะ  ทิฏฐิ  อายตนะ 12   ที่ตรัสเช่นนั้นเป็นการใช้คำเชิงเปรียบเทียบ   คำว่า  “มารดา”  และ  “บิดา”  ทรงใช้หมายถึง ตัณหา  และอัสมิมานะ ตามลำดับ  ส่วนสัสสสทิฏฐิ  และ อุจเฉททิฏฐินั้น  ทรงเปรียบว่าเหมือนกษัตริย์ 2  พระองค์   ความกำหนัดด้วยความยินดี  ซึ่งอาศัยอายตนะ 12  นั้น  เป็นดุจคนเก็บส่วย  ส่วนอายตนะภายใน 6 และอายนตะภายนอก 6  รวมเป็นอายตนะ 12  นั้น  เปรียบกับ  แว่นแคว้น  เพราะมีความกว้างขวาง

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุอรหัตตผลแล้ว.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 02:31:01 pm »


05. เรื่องนายทารุสากฏิกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน   ทรงปรารภบุตรของนายทารุสากฏิกะ(คนขับเกวียนบรรทุกไม้)  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สุปฺปพุทฺธํ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ในกรุงราชคฤห์  ชายผู้หนึ่งขับเกวียนเข้าไปตัดไม้ในป่าพร้อมด้วยบุตร   เมื่อเดินทางจะกลับมาบ้านในตอนเย็น  ได้หยุดพักเกวียนที่เต็มไปด้วยไม้ต่างๆ ไว้ที่ใกล้ป่าช้า   เพื่อจะได้รับประทานอาหารเย็น  พวกเขาปลดโคออกจากแอกเกวียน ปล่อยให้มันและเล็มหญ้าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น  แต่โคสองตัวนั้นได้หายไป  ผู้เป็นบิดาจึงออกเที่ยวตามหาไปตามที่ต่างๆ   กว่าจะพบก็ตกเย็น    ประตูเมืองปิด  เข้าไปในตัวเมืองไม่ได้  จึงต้องปล่อยบุตรชายให้ต้องนอนอยู่ที่ใต้เกวียนแต่ลำพัง 

บุตรชายของคนขับเกวียนนั้น แม้ว่าจะยังเป็นเด็กอยู่  แต่เป็นเด็กสัมมาทิฏฐิ  ระลึกถึงพุทธานุสสติเสมอ  ในคืนนั้น  มีอมนุษย์ 2 ตนมาจะทำร้ายบุตรของชายขับเกวียนนั้น  โดยอมนุษย์ตนหนึ่งได้เข้ามาดึงที่ขาของเด็กนั้น  เด็กนั้นได้ร้องขึ้นมาว่า  “นโม  พุทฺธสฺส” (แปลว่า   ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระพุทธเจ้า)  เพราะเคยอุทานคำประโยคนี้อยู่เป็นประจำ   เมื่อได้ยินคำประโยคนี้ออกจากปากของเด็ก  พวกอมนุษย์ก็ตกใจ  และมีความรู้สึกว่าไม่ควรจะทำร้ายเด็กนี้  แต่ควรจะช่วยปกปักรักษา  อมนุษย์ตนหนึ่งจึงได้เข้าไปอยู่ใกล้ๆและช่วยระแวดระวังภัยให้เด็กนั้น  ส่วนมนุษย์อีกตนหนึ่งก็ได้ไปที่พระราชวังของพระเจ้าพิมพิสารและได้นำถาดทองบรรจุพระกระยาหารของพระราชามาให้เด็กนั้นรับประทาน โดยอมนุษย์ทั้งสองตนนั้นได้จำแลงกายเป็นบิดามารดามาคอยดูแลในขณะที่เด็กนั้นรับประทานอาหาร    เมื่อเด็กรับประทานอาหารอิ่มแล้ว  อมนุษย์ได้จารึกข้อความบรรยายเรื่องต่างๆลงที่ถาดทองนั้นทิ้งไว้  และให้อ่านออกได้เฉพาะพระราชาเท่านั้น 

เมื่อถึงรุ่งเช้า   พวกราชบุรุษพบว่าถาดทองใส่พระกระยาหารของพระราชาหายไป  ก็ตื่นตระหนกและพากันตามหา  ทั้งในเมืองและนอกเมือง   และก็ได้ไปพบถาดทองนั้นอยู่บนเกวียนบรรทุกฟืน  จึงจับเด็กคนนั้นไปถวายพระราชา  พระราชาทรงสอบถาม   เด็กนั้นได้กราบทูลว่า  เขาเห็นบิดามารดานำถาดอาหารนี้มาให้เขารับประทานในตอนกลางคืน  แล้วเขาก็นอนหลับสนิทโดยปราศจากสิ่งอื่นใดมารบกวน  พระราชาได้รับสั่งให้ไปตามหาบิดามารดาของเด็กนั้นจนพบและถูกนำตัวมาเฝ้าพระราชา   จากนั้น พระราชาจึงทรงนำคนทั้งสามเข้าเฝ้าพระศาสดา  ซึ่งพอถึงตอนนี้พระราชาได้ทรงทราบจากเด็กแล้วว่า  เขาเป็นผู้ระลึกถึงพุทธานุสสติและได้เปล่งอุทานว่า “นโม  ตสฺส”ในตอนที่มีอมนุษย์มาดึงที่ขาในคืนนั้น

พระราชากราบทูลถามพระศาสดาว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พุทธานุสสติ อย่างเดียวเท่านั้นหรือที่สามารถปกป้องคุ้มครองอันตรายได้ ?  หรือว่า   ธัมมานุสสติ ก็มีอานุภาพในการปกป้องคุ้มครองอันตรายได้เหมือนกัน ?”  พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร  มิใช่จะมีแต่พุทธานุสสติเท่านั้น  ที่จักสามารถปกป้องคุ้มครองภยันตรายได้
แต่ทว่ายังมีสิ่งอื่นอีก 6  อย่างที่สามารถปกป้องภยันตรายได้อีกเหมือนกัน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  หกพระคาถาเหล่านี้ว่า

สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
นิจฺจํ  พุทฺธคตา  สติ.


สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
นิจฺจํ  ธมฺมคตา  สติ.

สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
นิจฺจํ  สงฺฆคตา  สติ.


สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
นิจฺจํ  กายคตา  สติ.

สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
อหึสาย   รโต  มโน.


สุปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ
สทา  โคตมสาวกา
เยสํ   ทวา  จ  รตฺโต  จ
ภาวนาย  รโต  มโน.

สติของชนเหล่าใด
ไปแล้วในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ชนเหล่านั้น  เป็นสาวกของพระโคดม
ตื่นอยู่ด้วยดี    ในกาลทุกเมื่อ.

สติของชนเหล่าใด
ไปแล้วในพระธรรมเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ชนเหล่านั้น  เป็นสาวกของพระโคดม
ตื่นอยู่ด้วยดี  ในกาลทุกเมื่อ.

สติของชนเหล่าใด
ไปแล้วในพระสงฆ์เป็นนิตย์
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ชนเหล่านั้น  เป็นสาวกของพระโคดม
ตื่นอยู่ด้วยดี  ในกาลทุกเมื่อ.

สติของชนเหล่าใด
ไปแล้วในกายเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน 

ชนเหล่านั้น   เป็นสาวกของพระโคดม 
ตื่นอยู่ด้วยดี  ในกาลทุกเมื่อ.

ใจของชนเหล่าใด 
ยินดีแล้วในอันไม่เบียดเบียน
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ชนเหล่านั้น  เป็นสาวกของพระโคดม
ตื่นอยู่ด้วยดี  ในกาลทุกเมื่อ.

ใจของชนเหล่าใด 
ยินดีแล้วในภาวนา
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดม
ตื่นอยู่ด้วยดี   ในกาลทุกเมื่อ
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ทารกนั้น  บรรลุโสดาปัตติผล   พร้อมด้วยมารดาและบิดาแล้ว   ต่อมา  ชนแม้ทั้งหมด   บวชแล้วบรรลุอรหัตตผล   พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 02:38:20 pm »


06. เรื่องภิกษุวัชชีบุตร

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยกรุงไพศาลี   ประทับอยู่ในป่ามหาวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปหนึ่ง  ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์  กล่าวหมายเอาว่า

ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปหนึ่ง  อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง  ใกล้เมืองไพศาลี  ในสมัยนั้น  ในกรุงไพศาลี  มีการเล่นมหรสพเฉลิมฉลองเทศกาลตลอดคืนยังรุ่ง   ครั้งนั้น  ภิกษุนั้น  ได้ยินเสียงกึกก้องของดนตรีที่เขาตีและประโคม  จึงคร่ำครวญอยู่ว่า   “พวกเราผู้เดียว  ย่อมอยู่ในป่า  เหมือนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่า  ในราตรีเช่นนี้  บัดนี้  ใครเล่า? ที่เลวกว่าพวกเรา

เทวดาผู้สิงอยู่ในป่าแห่งนั้น  ได้ยินคำรำพึงรำพันของภิกษุรูปนั้นแล้ว   กล่าวว่า  “ท่านผู้เดียว อยู่ในป่า  เหมือนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า  ชนเป็นอันมากย่อมอิจฉาท่านนั้น  ราวกะว่าพวกสัตว์นรก  อิจฉาชนทั้งหลายผู้ไปสู่สวรรค์ ฉะนั้น

เทวดานั้น  มีความต้องการจะให้ภิกษุนั้นเกิดความสังเวชใจ  อยากอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป   ในวันรุ่งขึ้น  เข้าไปเฝ้าพระศาสดา   กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ  พระศาสดา  มีพระประสงค์จะตรัสบอก   ถึงความยากลำบากของการเป็นฆราวาส และคุณความดีของการมีเพศเป็นบรรพชิต  จึงตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

ทุปฺปพฺพชฺชํ  ทุรภิรมํ
ทุราวาสา  ฆรา  ทุกขา
ทุกฺโข  สมานสํวาโส
ทุกขานุปติตทฺธคู
ตสฺมา  น  จทฺธคู  สิยา
น  จ  ทุกฺขานุปติโต  สิยา
.

การบวชก็ยาก
การยินดีในการบวชก็ยาก
เรือนที่ปกครองไม่ดี  ให้เกิดทุกข์
การอยู่ร่วมกับผู้ไม่เสมอกันเป็นทุกข์
ผู้เดินทางไกล  ผู้ถูกทุกข์ติดตาม

เพราะฉะนั้น  ไม่พึงเป็นผู้เดินทางไกล
และพึงเป็นผู้อันทุกข์ิิติดตาม
.

เมื่อจบพระธรรมเทศนา  ภิกษุนั้นเบื่อหน่ายในทุกข์ที่พระองค์ตรัสในฐานะ 5  แล้ว  ทำลายสังโยชน์  อันเป็นเบื้องต่ำ  5  อันเป็นส่วนเบื้องสูง  5  บรรลุอรหัตตผลแล้ว.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 02:44:25 pm »


07. เรื่องจิตตคฤหบดี

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน  ทรงปรารภจิตตคฤหบดี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สทฺโธ  สีเลน  สมปนฺโน  เป็นต้น

จิตตคฤหบดี  ภายหลังจากฟังธรรมของพระสารีบุตรเถระแล้ว  ก็ได้บรรลุอนาคามิผล  วันหนึ่ง  จิตคฤหบดี  บรรทุกอาหารและสิ่งของอื่นๆลงในเกวียนจำนวน 500  เล่ม  เพื่อนำไปถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ที่วัดพระเชตวัน  เมื่อเดินทางมาด้วยความเร็ววันละ  1  โยชน์ก็ได้มาถึงกรุงสาวัตถีภายใน 1  เดือน  จากนั้นจิตตคฤหบดีพร้อมด้วยบริวารก็เดินทางต่อไปที่วัดพระเชตวัน  ขณะที่จิตตคฤหบดีและบริวารกำลังเข้าไปถวายบังคมพระศาสดาอยู่นั้น  ก็ได้มีดอกไม้หลากสีตกลงมาจากท้องฟ้าเหมือนห่าฝน   จิตตคฤหบดีได้พำนักอยู่ในวัดพระเชตวันเป็นเวลา 1  เดือน  และได้ถวายภัตตาหารแก่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ตลอดจนให้การเลี้ยงดูแก่บริวารจำนวน 3000 คน  และตลอดเวลานั้น  เทวดาทั้งหลายก็ได้นำอาหารและสิ่งของอื่นๆมาใส่ลงในเกวียนจนเต็มอยู่เสมอ

เมื่อถึงวันเดินทางกลับ  จิตตคฤหบดีได้ขนสิ่งของทั้งหมดในเกวียนทุกเล่มเข้าไปเก็บไว้ในห้องๆหนึ่งในวัดพระเชตวัน  เพื่อถวายแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์  พวกเทวดาก็ได้นำสิ่งที่มีค่าต่างๆมาบรรจุลงจนเต็มเกวียนทุกเล่มที่ว่างเปล่านั้น  พระอานนทเถระเห็นความร่ำรวยและลาภสักการะของจิตตคฤหบดีมีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา  จึงทูลถามพระศาสดาว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ก็สักการะนี้เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั่น  แม้ผู้มาสู่สำนักของพระองค์เท่านั้นหรือ ? หรือแม้ว่าไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ?

พระศาสดาตรัสว่า   “อานนท์  เมื่อจิตตคฤหบดี นั้น  มาสู่สำนักของเราก็ดี  ไปในที่อื่นก็ดี  สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น  เพราะอุบาสกนี้  เป็นผู้มีศรัทธา  เลื่อมใส  สมบูรณ์ด้วยศีล  อุบาสกผู้เห็นปานนี้  ย่อมไปประเทศใดๆ  ลาภสักการะย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้นๆทีเดียว
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สทโธ  สีเลน  สมปนฺโน
ยโสโภคสมปปิโต
ยํ  ยํ  ปเทสํ   ภชติ
ตตฺถ  ตตฺเถว  ปูชิโต  ฯ


ผู้มีศรัทธา  สมบูรณ์ด้วยศีล
เพียบพร้อมด้วยยศ และโภคะ
จะไปประเทศใดๆ
ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้ว

ในประเทศนั้นๆทีเดียว
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดปัตติผลเป็นต้น.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 02:58:47 pm »


08. เรื่องนางจูฬสุภัททา

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภธิดาของอถาถบิณฑิกเศรษฐี  ชื่อจูฬสุภัททา  ตรัสสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ทูเร  สนฺโต  ปกาเสนฺติ  เป็นต้น

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  และอุคคเศรษฐีแห่งอุคคนคร  เป็นสหายกัน  และเคยไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักของอาจารย์คนเดียวกัน   อุคคเศรษฐ๊มีบุตรชายในขณะที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาว  เมื่อบุตรสาวและบตรชายของสองเศรษฐีเติบโตเป็นสาวเป็นหนุ่มกันแล้ว   อุคคเศรษฐีก็ได้สู่ขอบุตรสาวของนาถบิณฑิกเศรษฐีมาแต่งงานกับบุตรชายของตน   เมื่อจัดงานแต่งงานกันเรียบร้อยแล้ว  บุตรสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  คือ  นางจูฬสุภัททา  นี้จำต้องไปอยู่ที่บ้านของบิดามารดาของฝ่ายสามีในอุคคนคร   อุคคเศรษฐีนับถือศาสนาของท่านนิครนถนาฏบุตรที่ จึงบางครั้งได้นิมนต์พวกอเจลกะ(ชีเปลือย)  มาที่บ้าน   และได้บังคับให้นางจูฬสุภัททาเข้าไปทำความเคารพแต่นางปฏิเสธ   นางได้เรียนมารดาของสามีว่า นางนับถือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์  และนางได้พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าว่า

ท่านมีอินทรีย์สงบ  มีใจสงบ  ท่านเดินยืนเรียบร้อย  มีจักษุทอดลง  พูดพอประมาณ  พวกสมณะของฉัน  เป็นเช่นนั้น.  กายกรรมของท่านสะอาด  วจีกรรมไม่มัวหมอง  มโนกรรมหมดจดดี  พวกสมณะของฉัน  เป็นเช่นนั้น.  ท่านไม่มีมลทินมีรัศมีดุจสังข์และมุกดา  บริสุทธิ์ทั้งภายใน  ภายนอก  เต็มแล้วด้วยธรรมอันหมดจดทั้งหลาย  พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.  โลกฟูขึ้นเพราะลาภ  และฟุบลงเพราะเสื่อมลาภ  ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะลาภและเสื่อมลาภ  พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.  โลกฟูขึ้นเพราะยศและฟุบลงเพราะเสื่อมยศ  ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะยศและเสื่อมยศ  พวกสมณะของฉัน  เป็นเช่นนั้น.  โลกฟูขึ้นเพราะสรรเสริญ  และฟุบลงแม้เพราะนินทา   ท่านผู้สม่ำเสมอในเพราะนินทาและสรรเสริญ  พวกสมณะของฉัน  เป็นเช่นนั้น.  โลกฟูขึ้นเพราะสุข  และฟุบลงแม้เพราะทุกข์  ท่านไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์  พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น

เมื่อภรรยาของอุคคเศรษฐีได้ฟังคำพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าเช่นนั้นแล้ว  ก็มีความกระตือรือร้นจะได้พบ นางยินยอมให้นางจูฬสุภัททาอาราธนาพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกมาที่บ้านของนางได้   นางจูฬสุภัททาจึงได้ขึ้นไปยืนอยู่บนปราสาทชั้นบน หันหน้าตรงไปทางวัดพระเชตวัน  ไหว้โดยเคารพด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว  ระลึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลาย  ทำการบูชาด้วยของหอม  เครื่องอบ  ดอกไม้และธูป  กล่าวอัญเชิญว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  เพื่อฉันเช้าในวันพรุ่งนี้  ด้วยสัญญาณของข้าพเจ้า   ขอพระศาสดาจงทราบว่าเป็นผู้อันข้าพเจ้านิมนต์แล้ว”  ว่าดังนี้แล้ว  ก็โยนดอกมะลิ 8  กำ ไปในอากาศ
ดอกมะลิ 8 กำนั้นก็ได้ลอยผ่านอากาศไปที่วัดพระเชตวันและไปหยุดอยู่เบื้องบนพระศาสดา  ขณะทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท 4

เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาจบลง   ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  บิดาของนางจูฬสุภัททา   เข้าไปทูลอาราธนาพระศาสดา  เพื่อเสด็จรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของท่านเศรษฐีในวันรุ่งขึ้น   แต่พระศาสดาไม่ทรงรับคำอาราธนานั้น   ด้วยตรัสว่า  พระองค์ได้รับคำอาราธนาของนางจูฬสุภัททาไว้แล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีความแปลกใจในพระดำรัสของพระศาสดา  จึงกราบทูลถามว่า “นางสุภัททา  อยู่ในที่ไกลในที่สุดประมาณ 120  โยชน์  แต่ที่นี้มิใช่หรือ  ? (จะมาอาราธนาพระองค์ได้อย่างไร)พระเจ้าข้า)”

พระศาสดาตรัสว่า  “เป็นความจริง  คฤหบดี!   ก็สัตบุรุษทั้งหลาย  แม้อยู่ในที่ไกล  ย่อมปรากฏเหมือนยืนอยู่เฉพาะหน้า
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ทูเร  สนฺโต  ปกาเสนฺติ
หิมวนฺโตว  ปพพโต
อสนฺเตตฺถ  น  ทสฺสนฺติ
รตตึ  ขิตฺตา  ยถา  สรา ฯ


สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์
ส่วนอสัตบุรุษ  ย่อมไม่ปรากฏในที่นี้
เหมือนลูกศรอันเขาซัด(ยิง)ไปในราตรี  ฉะนั้น
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอรยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตตผลเป็นต้น.

พอในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาก็ได้เสด็จไปที่บ้านของอุคคเศรษฐี บิดาของสามีของนางจูฬภัททา  ในการเสด็จครั้งนี้พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ประทับในเรือนยอด 500 หลัง  ที่วิศนุกรรมเทพบุตรเนรมิต ตามเทวบัญชาของท้าวสักกเทวราช   ล่องลอยไปทางอากาศสู่จุดหมายปลายทาง   เมื่อบิดามารดาของสามีของนางจูฬสุภัททาแลเห็นความตระการตาของขบวนเสด็จของพระศาสดา  ก็เกิดเกิดความประทับใจและเข้าไปถวายบังคม  และถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย    ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 7  วัน


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2012, 03:19:43 pm »


09. เรื่องพระเถระชื่อเอกวิหารี

พระศาสดา   เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน   ทรงปรารภพระเถระชื่อเอกวิหารี   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  เอกาสนํ  เป็นต้น

พระเอกวิหารีเถระ  ไม่ชอบสุงสิงกับภิกษุองค์อื่นๆ   ชอบอยู่องค์เดียว   จนเป็นที่ปรากฏและกล่าวขวัญในหมู่พุทธบริษัท 4   ต่อมาภิกษุทั้งหลายกราบทูลวัตรปฏิบัติของพระเถระนี้แด่พระศาสดา  พระศาสดาทรงประทานสาธุการว่า “สาธุ สาธุ”  แล้วทรงสั่งสอนว่า   “ธรรมดาภิกษุ  พึงเป็นผู้สงัด
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

เอกาสนํ  เอกเสยฺยํ
เอโก  จรมตนฺทิโต
เอโก  ทมยมตฺตานํ
วนนฺเต  รมิโต  สิยา  ฯ


ภิกษุพึงเสพที่นั่งคนเดียว  ที่นอนคนเดียว
พึงเป็นผู้เดียว  ไม่เกียจคร้านเที่ยวไป
เป็นผู้เดียว   ทรมานตน

เป็นผู้ยินดียิ่งในราวป่า
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดปัตติผลเป็นต้น   ตั้งแต่นั้นมา  มหาชน  ปรารถนาการอยู่คนเดียว.


-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1