เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
01.เรื่องบุรพกรรมของพระองค์พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรพกรรมของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
มตฺตาสุขปริจจาคา เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในเมืองไพศาลี จุดเริ่มต้นมาจากการเกิดภาวะฝนแล้งขึ้นก่อน เมื่อเกิดภาวะฝนแล้งนี้ก็ทำให้การทำนาทำไร่ไม่ได้ผล ประชาชนจึงไม่มีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ ทำให้สูญเสียชีวิตเพราะความอดอยาก ติดตามมาด้วยการเกิดโรคระบาด เนื่องจากมีซากศพของคนตายมากจนไม่สามารถฝังหรือเผาได้ทัน มีกลิ่นของซากศพเน่าเหม็นคละคลุ้งไปทั่วเมือง กลิ่นเหม็นนี้จึงดึงดูดให้พวกอมนุษย์ให้เข้ามาเมืองเพื่อกินซากศพ เพราะฉะนั้น ในตอนนั้น ชาวเมืองจึงประสบกับภัย 3 อย่างพร้อมๆกัน คือ
1. ภัยเกิดจากหาอาหารได้ยาก 2.ภัยเกิดจากอมนุษย์ และ 3.ภัยเกิดจากโรคระบาด เมื่อเกิดภัยเหล่านี้ขึ้นมา ชาวเมืองไพศาลีต่างก็แสวงหาที่พึ่ง จากแหล่งต่างๆที่พวกเขาคิดว่าจะมาช่วยเหลือเพื่อขจัดปัดเป่าภัยเหล่านี้ได้ และในที่สุดพวกเขาตัดสินใจไปทูลอัญเชิญพระศาสดาเสด็จมาสู่เมืองไพศาลี ทั้งนี้ก็โดยเข้าใจว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ เมื่อพระองค์เสด็จมาสู่เมืองไพศาลีแล้ว ภัยต่างๆก็จะสงบลงได้ ดังนั้น ชาวเมืองไพศาลีจึงได้ส่งคณะของเจ้ามหาลิเจ้าชายแห่งลิจฉวีและบุตรของปุโรหิตไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อขอประทานทานวโรกาสให้พระศาสดาเสด็จมาโปรดชาวเมืองไพศาลี และพระศาสดาทรงรับคำอาราธนา เพราะทรงทราบด้วยพระญาณพิเศษว่า “
ในเมืองไพศาลี เมื่อเราสวดรัตนสูตร อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในกาลจบพระสูตร การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน ภัยเหล่านั้นก็จักสงบไป”
เมื่อพระศาสดาทรงรับคำอาราธนาเสด็จเยือนเมืองไพศาลีครั้งนี้แล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงรับสั่งให้ซ่อมแซมถนนหนทางระหว่างกรุงราชคฤห์กับฝั่งแม่น้ำคงคา ทรงรับสั่งให้ตระเตรียมการต่างๆ เช่น ที่ประทับของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ในทุกระยะทางหนึ่งโยชน์ เป็นต้น เมื่อการตระเตรียมต่างๆสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระศาสดาก็ได้เสด็จไปยังเมืองไพศาลี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน 500 รูป โดยพระเจ้าพิมพิสารได้ตามเสด็จในครั้งนี้ด้วย ในวันที่ 5 คณะเสด็จของพระศาสดาก็มาถึงที่ฝั่งแม่น้ำคงคา พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงส่งข่าวไปถึงพวกเจ้าลิจฉวีทั้งหลายเพื่อให้รับช่วงการเสด็จต่อไป ซึ่งทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำคงคานั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ได้มีการตระเตรียมต้อนรับพระศาสดาเช่นเดียวกันโดยได้ทำการซ่อมแซมถนนหนทางเสด็จจากฝั่งแม่น้ำคงคาถึงกรุงไพศาลี ตลอดจนสร้างที่ประทับของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ไว้ตามจุดต่างๆทุกระยะทางหนึ่งโยชน์เหมือนอย่างที่ทางพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้าง ครั้นพระศาสดาได้เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์แล้ว พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้ประทับเพื่อรอรับการเสด็จกลับของพระศาสดา ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง
ทันทีที่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์เสด็จข้ามถึงอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำคงคา ก็ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานก็ได้พลันมลายหายไป เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำฝนได้ไหลพัดพาเอาซากศพที่เน่าเหม็นมนุษย์ลงสู่แม่น้ำคงคา ทำให้เมืองไพศาลีสะอาด
ปราศจากสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็นทั้งปวง พระศาสดาได้ประทับที่เรือนพักรับรองที่ทางเจ้าลิจฉวีจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษที่กลางเมืองไพศาลี ท้าวสักกเทวราช พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์มาถวายบังคมพระศาสดา
ส่งผลทำให้พวกอมนุษย์บางพวกที่เข้ามาอยู่ในเมืองต้องหลบหนีออกไปอยู่ห่างจากเมืองไป เพราะไม่สามารถอยู่ในที่ชุมนุมของเหล่าเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ได้ ในเย็นวันนั้นเอง พระศาสดา
รับสั่งให้พระอานนท์เรียนพระปริตรชื่อ รัตนสูตร (ซึ่งคำสวดขึ้นต้นด้วย
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิฯลฯ) จากพระองค์จนจำได้ขึ้นใจก่อน จากรับทรงสั่งให้นำบาตรของพระองค์มาใส่น้ำพุทธมนต์
ทรงให้พระอานนท์เดินตามพวกเจ้าลิจฉวีที่ถือบาตรน้ำมนต์นั้นนำหน้า แล้วทำการสวดรัตนสูตรและประพรมน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ในระหว่างกำแพงทั้งสามชั้นของเมืองไพศาลี เมื่อพระอานนท์ทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลา 7 วัน ด้วย
อานุภาพของพระปริตรที่ชื่อ รัตนสูตร นี้ ทำให้คนป่วยเป็นจำนวนมากหายจากโรคระบาด และเดินตามพระอานนท์ไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อถึงวันที่ 7 สถานการณ์ในเมืองไพศาลีก็กลับคืนสู่ภาวะปกติปกติ
ภัยทั้งสามก็ได้หายไปจนหมดสิ้น พวกเจ้าลิจฉวีและประชาชนชาวเมืองไพศาลีต่างมีความยินดีปรีดา ต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระศาสดา และได้ตามเสด็จส่งพระศาสดาจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา และพระเจ้าพิมพิสาร ตลอดจนเหล่าทวยเทพ พระพรหม และพระยานาคทั้งหลาย ก็ได้รอรับเสด็จพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ จากนั้นพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเยือนนาคภพของพระยานาคเพื่อโปรดพระยานาคทั้งหลาย เมื่อเสร็จสิ้นการเยือนนาคพิภพแล้วก็ได้เสด็จคืนสู่กรุงราชคฤห์
เมื่อคณะของพระศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์กลับถึงกรุงราชคฤห์แล้ว พวกภิกษุเมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ในเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้นั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า “
น่าชม! อานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าประหลาดใจ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสดา พระราชาทั้งหลายทรงทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอในหนทาง 8 โยชน์ ทั้งฝั่งนี้ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา เกลี่ยทรายลง ลาดดอกไม้สีต่างๆ โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ด้วยความเลื่อมใสอันไปแล้วในพระพุทธเจ้า น้ำในแม่น้ำคงคาก็ดาดาษ ด้วยดอกปทุม 5 สี ด้วยอานุภาพนาค เทวดาทั้งหลายก็ยกฉัตรซ้อนๆกันขึ้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ ห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นเพียงดังว่ามีเครื่องประดับเป็นอันเดียว และมีมหรสพเป็นอันเดียว” พระศาสดาได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายที่สนทนากันนั้นว่า “
ภิกษุทั้งหลาย เครื่องบูชาและสักการะนี้ มิได้บังเกิดขึ้นแก่เราด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพนาคเทวดาและพรหม แต่ว่าเกิดด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีต” จากนั้น พระศาสดาได้ทรงนำเรื่อง
สุสิมมาณพ มาตรัสเล่า และได้ตรัส
พระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
มตฺตาสุขปริจจาคา
ปสเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตตาสุขํ ธีโร
สมฺปสสํ วิปุลํ สุขํ ฯถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์
เพราะสละสุขพอประมาณเสีย
ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์
ก็พึงสละสุขพอประมาณเสีย
(จึงจะได้พบสุขอันไพบูรณ์)เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.