ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

วันภาษาไทยแห่งชาติ-ใช้ให้ถูกต้อง

<< < (3/6) > >>

sithiphong:
คำง่ายๆ ในภาษาไทยที่มักใช้ผิด

-http://webboard.sanook.com/forum/?topic=3727963-




1. สำอาง
แปลว่า เครื่องแป้งหอม งามสะอาด ที่ทำให้สะอาด
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “สำอางค์” ค..การันต์(ค์) มาจากไหน?

2. พากย์
แปลว่า คำพูด คำกล่าวเรื่องราว ภาษา
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “พากษ์” ที่เขียนกันผิดประจำนี่ คงติดภาพมาจากคำว่า วิพากษ์(วิจารณ์)

3. เท่
แปลว่า เอียงน้อยๆ โก้เก๋
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “เท่ห์” …ติดมาจากคำว่า “สนเท่ห์” รึไงนะ?

4.โล่
แปลว่า เครื่องปิดป้องศัตราวุธ ชื่อแพรเส้นไหมโปร่ง
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “โล่ห์” สงสัยอยู่ในกรณีเดียวกับคำว่า “เท่”

5. ผูกพัน
แปลว่า ติดพัน เอาใจใส่ รักใคร่
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “ผูกพันธ์” ไม่ใช่คำว่า “สัมพันธ์” นะจ๊ะ

6. ลายเซ็น
แปลว่า ลายมือชื่อ
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “ลายเซ็นต์” ติดมาจาก “เปอร์เซ็นต์” รึเปล่า?

7. อีเมล
แปลว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
มักเขียนผิดเป็นคำว่า ”อีเมล์” คำนี้ผมก็เขียนผิดบ่อยๆ -*- มันติดอ่ะ

8. แก๊ง
แปลว่า กลุ่มคนที่ตั้งเป็นพวก(ในทางไม่ดี)
มักเขียนผิดเป็นคำว่า “แก๊งค์”หรือไม่ก็ “แกงค์”
เอ่อ…มันมาจากภาษาอังกฤษคำว่า gang นะ ควายการันต์มาจากไหน?


http://webboard.sanook.com/forum/?topic=3727963

.

sithiphong:
เรื่องใหญ่ ! ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ?
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1371182736&grpid=01&catid=&subcatid=-

มติชนออนไลน์ รายงานว่า  วันที่  ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖  ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่  ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด   ทั้งนี้ โดยที่ราชบัณฑิตยสถานเสนอว่าได้จัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๕๔ ขึ้นเสร็จแล้ว สมควรยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกดลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และเพื่อให้ทางราชการและสถาบันการศึกษามีแบบมาตรฐานสำหรับ ใช้ในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน จึงควรใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นมาตรฐานดังกล่าว

 

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบด้วย ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และต่อไปบรรดาหนังสือราชการ และการศึกษาเล่าเรียนให้ใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เสมอไป

 

หากกระทรวงทบวงกรมหรือบุคคลใดเห็นสมควรเปลี่ยนอักขรวิธีในคำใดแล้ว ให้ชี้แจงแสดงเหตุผลไปยังราชบัณฑิตยสถาน เมื่อราชบัณฑิตยสถานเห็นชอบด้วยและแก้ไขพจนานุกรมแล้ว จึงให้ใช้ได้ และให้ประกาศเพื่อทราบทั่วกัน

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี



sithiphong:
.

 วันภาษาไทยแห่งชาติ บน Google logo วันนี้
วันจันทร์, กรกฎาคม 29, 2556



 รู้กันหรือไม่ว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีวันที่ระลึกถึงภาษาไทยของเราด้วยเหมือนกัน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า"ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

           1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

           2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

           3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

           4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

           5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ

           1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

           2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

           3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
          กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ,การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

          ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้

sithiphong:
"ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ" ใครทำวิบัติ?
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375431026&grpid=&catid=19&subcatid=1904-



โดย ศิวพร อ่องศรี




ปรากฏการณ์ "ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น" ซีรีส์สุดฮิตที่ออกอากาศผ่านกล่องของแกรมมี่ หยิบยกเรื่องราวเเรงๆ ที่เป็นปัญหาสังคมมาถ่ายทอดผ่านจอโทรทัศน์ ทำเอาทั้งวัยรุ่นและอดีตเลยวัยรุ่นติดงอมเเงมกันทั่วบ้านทั่วเมือง

อีกด้านของกระเเส คือความร้อนเเรงของสังคม ที่ออกมาถามถึงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละคร

อาทิ ประโยคฮิตอย่าง "อยากกินสไปรท์ ต้องใส่ถุง...ถ้าไม่ใส่ถุงก็อด"

ยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่นรวมถึงภาษาสแลงที่ปรากกฏให้เห็นในหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็น "น่ารักจุงเบย" "เกี่ยวไหมอ่ะ" "เเซ่บเว่อร์" "เฟล บ่องตง" "อยู่ป่ะเนี่ย" "ออกตัวเเรง" ที่ตัวละครใช้ในการสนทนาและมีให้เห็นเป็นตัวหนังสือ ก็ถูกพูดถึงเช่นกัน

เพราะเรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นน่าสนใจเสมอ

ไม่แปลกที่ คณะมนุษยศาสตร์และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หยิบยกเรื่องการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่วัยใสกิ๊งมาพูดถึงในหัวข้อ "ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ"

เวทีนี้สะท้อนอะไรมากกว่าที่คิด ยิ่งก่อนหน้านี้ไม่นานเกิดประเด็นฮือฮาในเว็บไซต์ข่าวและโซเชียลมีเดีย เรื่องแบบฝึกหัดชุดภาษาวัยรุ่นของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การสอนภาษาไทยทั้งในแง่บวกและลบ

ไม่รวมการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนบนโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างรุนแรงว่า "สุดงง!! ข้อสอบสิ้นคิดจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง? ชี้เหมาะสมหรือไม่???"

อีกทั้งยังระบุอีกว่า เป็นข้อสอบสุดพิสดาร

ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ข้อสอบที่โพสต์กันทั่วอินเตอร์เน็ต เป็นเพียงแบบฝึกหัดประเด็นหนึ่งในหัวข้อภาษากับสังคม เรื่องภาษาวัยรุ่นไม่ใช่ข้อสอบ แบบฝึกหัดชุดนี้มีกระบวนการชัดเจนว่า เริ่มจากการอ่านบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษาวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน จากนั้นจึงทำแบบฝึกหัดเดี่ยวและแบบฝึกหัดกลุ่มอีกชุด สุดท้ายจึงสรุปเนื้อหาอีกครั้ง จึงจะจบกระบวนการเรียนการสอน



"การสอนภาษาไทยจะเน้นสอนให้ทันเหตุการณ์ จับประเด็นเรื่องสื่อ เรื่องละคร ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคม วัฒนธรรมมาเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ เราสอนให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์วิจารณ์ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันชีวิต และสามารถสร้างสรรค์ภาษา และใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.ดร.ธเนศอธิบาย

ก่อนจะชี้แจงถึงการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนว่า การพาดหัวข่าวที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่สืบค้นหรือไต่ถามก่อน จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา

"นี่เป็นกรณีเรื่องจริยธรรมของสื่อ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนควรเรียนรู้และตระหนักให้มาก ซึ่งปัจจุบันสื่อมวลชนหลายเเห่งยังไม่ได้เป็นผู้นำทางการใช้ภาษาในทางที่ถูกต้องหรือใช้ภาษาไม่ระมัดระวัง โดยไม่คิดว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้บริโภคสื่อจะได้รับผลกระทบอย่างไร ตลอดจนการทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงจากเดิม

"เมื่อสังคมเปลี่ยนภาษาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ภาษาวัยรุ่นเป็นภาษาที่เห็นชัดที่สุด เพราะมีคำสแลงใหม่ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ทั้งที่จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยวิบัตินั้นมีหลายประเด็น เช่น เกิดจากคนในสังคมสื่อสารล้มเหลว โดยใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ ใช้คำผิดความหมาย ผิดกาลเทศะ ใช้ภาษาทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

"อีกทั้งคนในสังคมรู้จักใช้ภาษาเพียงทำเนียบเดียว สับเปลี่ยนวงภาษาไม่ได้ สับชุดความคิดไม่เป็น คือใช้ภาษาราชการ ภาษาพูดและภาษาวัยรุ่นรวมกัน โดยใช้ภาษาแชตในเฟซบุ๊กกับข้อเขียนที่ต้องใช้ภาษาราชการ และมีคลังคำจำกัดใช้ถ้อยคำได้ไม่หลากหลาย" ผศ.ดร.ธเนศกล่าว



นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธเนศยังระบุอีกว่า การใช้ภาษาของสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้นำทางด้านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง และไม่มีความระมัดระวังการใช้ภาษา ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ง่าย

อีกทั้งคนในสังคมเข้าใจผิด คิดว่าครูภาษาไทยเป็นเจ้าของภาษา เป็นผู้ที่ต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง เป็นผู้ดูแลรักษาภาษาไทยเพียงผู้เดียว ทั้งที่อำนาจในการเป็นเจ้าของภาษา และผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เฉพาะครูภาษาไทย หรือราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น แต่สื่อมวลชนหรือกลุ่มวัยรุ่นเองล้วนมีบทบาทในการจะทำให้ภาษาไทยถูกต้อง

"ภาษาวัยรุ่นไม่ใช่ภาษาที่ผิดหรือภาษาวิบัติ แต่เป็นเพียงภาษาที่ใช้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และแปลความหมายได้ตรงกันเท่านั้น ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้นำไปใช้ในราชการ หรือใช้ได้อย่างเหมาะสมจะไม่มีปัญหา ฉะนั้น สิ่งที่ต้องสอนเด็กไทยในเรื่องของภาษา คือทำอย่างไรให้เด็กไทยสามารถใช้ภาษาที่หลากหลายให้ถูกต้องเหมาะสม กับกาลเทศะกับกลุ่มคนที่เขาจะสื่อสารด้วยมากกว่า"

ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีออนไลน์ และสื่อต่างๆ อย่างสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ล้วนมีผลต่อการเรียนรู้ การใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่ เช่น การพาดหัวข่าวสมัยก่อน คนทำงานหนังสือพิมพ์ล้วนเป็นนายของภาษา เพราะบางคนเป็นนักเขียน นักแปล แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อ ล้วนเป็นการพาดหัวข่าวโดยใส่ความรู้สึกของคนพาดเข้าไป ไม่ได้ทำตัวเป็นนายของภาษา หรือการที่ผู้ประกาศข่าวนั่งเล่าข่าว โดยใช้ความรู้สึกของตนเองตัดสินไปว่าคนในข่าวผิดถูก ทั้งที่คนเหล่านั้นอาจไม่ผิดจริง

"ก่อนนำเสนอข่าว สื่อมวลชนควรเลือกใช้คำและภาษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพราะเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงสื่อได้ง่าย ภาษาวัยรุ่นที่เกิดขึ้นมองว่าไม่ใช่ภาษาวิบัติ แต่เป็นภาษาที่มีชีวิต บางคำมีชีวิตยาวนาน บางคำมีชีวิตสั้น และภาษาพวกนี้ก็ใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น"

ส่วนประเด็นการเลือกใช้ภาษาในขณะกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น

ดร.ฐิตารีย์ ไชยเศรษฐ หัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเลือกใช้ภาษานั้นเป็นพลังมหาศาลในการสร้างความร่วมมือ หรือทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างประเทศได้

"คนไทยจำนวนมากยังยึดติดความเป็นชาตินิยม มองว่าเรายิ่งใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยดูได้จากการใช้คำพาดหัวข่าวว่า ไทยรุกประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำที่ใช้ในโทรทัศน์ เช่น ไอ้ลาว ไอ้บ้านนอก เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่เราจะรวมกันเป็นมิตร ซึ่งทุกประเทศล้วนมีความเชื่อแตกต่างกัน

"ดังนั้น โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจะต้องสอนเด็กให้มีทัศนคติมารยาทในการใช้ภาษา เป็นมนุษย์ที่เคารพนับถือซึ่งกันและกัน เพื่อบรรยากาศที่ดีของอาเซียน" ดร.ฐิตารีย์กล่าวปิดท้าย


การใช้ภาษา ไม่ว่าภาษาวัยรุ่นหรือภาษาในสื่อ จะต้องคิดวิเคราะห์อย่างรู้เท่าทัน

เพื่อที่จะได้เลิกเกรงกลัวกันว่า "ภาษา(จะ)วิบัติ" เสียที



หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่  2 สิงหาคม 2556

sithiphong:
ภูมิใจที่มีภาษาของตนเอง - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556 เวลา 00:00 น.









เพราะเป็นคนไทยจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่มีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นที่มาของแรงบันดาลใจของครูออน หรือ นางภัคประไพ มั่นจันทร์ อายุ 56 ปี ครูภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาที่ 5- 6 โรงเรียนวัดวังตะกู ( เสรีย์เริงฤทธิ์ ) อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งเริ่มรับราชการครูตั้งแต่ พ.ศ.2521 ที่โรงเรียนวัดดอกไม้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และย้ายไปรับราชการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศถึงปัจจุบันรวม 11 โรงเรียน ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง ทุกพื้นที่ไม่ใช่อุปสรรคกับการทำงาน อยู่ที่ไหนก็มีความสุข หากลูกหลานเราได้เรียนรู้และใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง วันไหนทำงานกลับมาเหนื่อย ๆ เข้าบ้านเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว หรือเห็นอยู่ที่บนปฏิทิน แค่นี้ก็มีความสุข หายเหนื่อยได้แล้ว

ครูภัคประไพ เล่าว่า เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านสติปัญญา ความพร้อม ฐานะครอบครัว สภาพสังคม นั่นหมายถึงการบ้านที่ครูจะต้องทำคือการเรียนรู้เด็กแต่ละคน โดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดวังตะกู โชคดีที่ได้พระธรรมเสนานี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด เป็นองค์อุปถัมภ์ด้านการศึกษา และนายกุญชร เหลืองสุดใจชื้น ผู้อำนวยการ ที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนและครูผู้สอนทุกคน ส่งเสริมให้ครูออกไปเยี่ยมเด็กนักเรียนถึงบ้าน พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครอง เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน

“ปัจจุบันแต่ละห้องเรียนจะจัดให้เด็กที่เรียนอ่อนนั่งเป็นไข่แดงในกลุ่มที่เรียนเก่งโดยที่เด็กไม่รู้ตัว เพื่อนคนเรียนเก่งจะได้ช่วยติว ส่วนครูก็คอยช่วยเหลือ ทำให้นักเรียนทั้งห้องก้าวหน้าไปพร้อมกัน และส่วนตัวก็คิดนำบทเรียนมาแต่งเป็นเพลง ร้องง่าย จำง่าย ซึ่งก็ได้ผลจริง เด็กทุกคนเข้าใจภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น และสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นหากครูไม่ศึกษาเด็กให้ดี บังคับ ดุด่า จะให้ได้ดั่งใจครู ก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการเรียนการสอน สุดท้ายเด็กก็จะเบื่อ ไม่อยากเรียนหนังสือ” ครูภัคประไพ กล่าว

ครูภัคประไพ ยังเล่าอีกว่า นอกจากเป็นครูประจำชั้นแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานห้องสมุด ซึ่งกำลังจัดทำโครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ หรือห้องสมุดมีชีวิต เพื่อรณรงค์ปลุกจิตสำนึกการอ่านให้แก่เด็ก เพราะอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเด็กทุกวันนี้จะแยกไม่ออกว่าเวลาไหนควรใช้ภาษาอย่างไร หากไม่ช่วยกันรักษาไว้ อนาคตภาษาไทยอาจผิดเพี้ยนไป ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเกิดจากผลกระทบทางสังคม จึงอยากให้สังคมใส่ใจภาษาไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นแบบอย่างของเยาวชน จะต้องเป็นผู้นำทางความคิด นำสิ่งดีมาให้กับบุตรหลานไทย
   
“ครูจะยึดหลักว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด จึงต้องศึกษาหลักสูตรให้กระจ่าง สอนให้ถูกต้อง ผู้เรียนมีความสุข สอดแทรกความสนุก วิชาการ หน้าที่ศีลธรรม เมื่อเด็กได้ยินคำว่าภาษาไทยแล้วเด็กอยากเรียน ส่วนการที่ได้รับเลือกให้เป็นครูภาษาไทยดีเด่นจากคุรุสภาและได้รับโล่และเข็มพระนามาภิไธยย่อ สธ. นับเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติประวัติกับวงศ์ตระกูล และจะถือปฏิบัติตลอดไป โดยมีเป้าหมายทำให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง” ครูภัคประไพ กล่าว .

บดินทร์ชัย เกรียงไกรชาญ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version